ถ้วน หลีกภัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถ้วน หลีกภัย
เกิดกิมถ้วน จูห้อง
พ.ศ. 2458
อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
เสียชีวิต2 มีนาคม พ.ศ. 2554 (96 ปี)
กรุงเทพมหานคร
สัญชาติไทย
อาชีพแม่ค้า
คู่สมรสนิยม หลีกภัย
บุตรกิจ หลีกภัย
สวัสดิ์ หลีกภัย
ชวน หลีกภัย
ถาวร หลีกภัย
ภิญโญ หลีกภัย
จงจิตต์ หลีกภัย
ระลึก หลีกภัย
จงใจ พุทธสุวรรณ
จำเนียร ดุริยะประณีต
บุพการีจุง จูห้อง
ซุ่นกี่ จูห้อง

ถ้วน หลีกภัย (นามเดิม: กิมถ้วน จูห้อง; พ.ศ. 2458 — 2 มีนาคม พ.ศ. 2554) หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันดีในชื่อ แม่ถ้วน เป็นมารดาของ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ประวัติ[แก้]

ถ้วน หลีกภัย เกิดที่บ้านท่าจีน ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง[1] เมื่อ พ.ศ. 2458 ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ แต่ทางครอบครัวนับตามตำราจีน พ.ศ. 2455[2] มีชื่อเดิมว่า กิมถ้วน จูห้อง[1] เป็นบุตรคนห้าจากทั้งหมดเจ็ดคนของจุง และซุ่นกี่ จูห้อง[3] บิดาและมารดามีเชื้อสายฮกเกี้ยน และใช้นามสกุลว่า "จูห้อง" ซึ่งเป็นหนี่งใน 35 สกุลเก่าแก่ของชาวฮกเกี้ยนในจังหวัดตรัง[4] แต่เดิมมีชื่อว่า "กิมถ้วน" แต่ภายหลังเหลือเพียงว่า "ถ้วน" ตามคำเรียกของคนใต้[5] เธอมีน้องต่างมารดาอีกสี่คน

ถ้วนเป็นหลานตาของหลวงผดุงชนเกษม (พันตี้) ซึ่งเป็นกำนันตำบลบางรัก[3] และมีศักดิ์เป็นหลานลุงของจัง จริงจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คนแรกของจังหวัดตรัง เมื่อจังลงสมัครเลือกตั้ง ถ้วนในขณะนั้นยังเป็นเด็ก ๆ อยู่ ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้ เนื่องจากมีความสนใจในการเมือง จนได้รับเลือกตั้งในที่สุด [6]

ในวัยเด็กถ้วนอยากจะเป็นนางพยาบาล แต่ไม่สมหวังเนื่องจากไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะเป็นบุตรคนโต คอยดูแลมารดาที่เป็นอัมพาตโดยให้น้อง ๆ ได้เรียนหนังสือ[5] ทั้งช่วยบิดาทำมาหากินตลอด เช่น ทำกระเบื้องปูหลังคาแบบโบราณ, สวนยาง, ค้าขายต่าง ๆ เป็นต้น จนกระทั่งสามารถตั้งตัวได้ขณะที่มีอายุเพียง 15 ปี

ถ้วนได้แต่งงานกับครูประชาบาลในโรงเรียนวัดควนวิเศษ คือ ครูเฮิด หรือ นิยม หลีกภัย ภาษาฮกเกี้ยนมีชื่อว่า ตันฮวด แซ่ลิ (ชื่อจีนกลาง: หลี่เฉินฟา)[1] มีลูกกับสามีทั้งสิ้น 9 คนเป็นชาย 6 หญิง 3 โดยนายชวนเป็นคนที่ 3 แต่แม้กระทั่งแต่งงานไปแล้ว นางถ้วนมิได้เป็นแค่แม่บ้านอย่างเดียว ก็ยังคงประกอบอาชีพค้าขายตามเดิม[6]

วิถีชีวิต[แก้]

ถ้วน เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เมื่อชวน หลีกภัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเป็นแม่ที่ผลักดันลูกมาตลอด เช่น ช่วยหาเสียงให้ ถ้วนเป็นที่เคารพรักของชาวตรังอย่างยิ่ง มักจะมีชาวบ้านแวะเวียนมาพบปะขอคำแนะนำหรือขอคำปรึกษาให้ช่วยแก้ปัญหาตลอด จนมีผู้เรียกนางถ้วนว่าคือผู้แทนตัวจริงของจังหวัดตรัง จนได้รับรางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2536

เมื่อมีผู้มาเยือน ถ้วนในฐานะเจ้าของบ้านก็จะออกมาต้อนรับเสมอ จนกระทั่งบ้านเลขที่ 183 ตำบลทับเที่ยง ถนนวิเศษกุล ซึ่งเป็นบ้านที่เธอพักอาศัยอยู่กับกิจ หลีกภัย บุตรชายคนโต กลายเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไปจนเรียกขานกันว่า "บ้านแม่ถ้วน" และกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง [7] และถึงแม้นายชวน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่นางถ้วนก็ยังคงดำรงชีวิตเหมือนเดิม คือ เป็นแม่ค้าขายแกงพุงปลาในตลาดสด แต่ก็ได้เลิกในเวลาต่อมา เนื่องจากอายุมากขึ้น ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ลูก ๆ หลาน ๆ ต้องการให้พักผ่อนอยู่กับบ้าน

บั้นปลายของชีวิต[แก้]

ถ้วน หลีกภัย ถึงแก่กรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา ขณะนอนหลับที่บ้านของจงจิตต์ หลีกภัย ลูกสาวคนที่ 6 ที่ถนนเสรีไทย เมื่อวันพุธ ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554[8] สิริอายุ 96 ปี และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554 ณ วัดควนวิเศษ ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "อาลัยแม่ทัพ หลีกภัย". กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 4 มีนาคม 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ชาวตรังฮือฮาหวย 96 ตรงอายุ "คุณแม่ถ้วน" ให้ลาภ". mgronline.com. 2011-03-16.
  3. 3.0 3.1 ชีวประวัติแม่ถ้วน หลีกภัย. 2554. p. 49.[ลิงก์เสีย]
  4. ชาวไทยเชื้อสายจีนในตรัง 35 ตระกูล http://www.sator4u.com/paper/947
  5. 5.0 5.1 กิเลน ประลองเชิง (7 มีนาคม 2554). "บ้านนั้นชื่อบางรัก". ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 กินอยู่เรียบง่าย สบายแบบชาวบ้าน ชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้าขายพุงปลา โดย เริงศักดิ์ กำธร (พ.ศ. 2545) ISBN 974-85645-2-5
  7. โพสต์ทูเดย์-รายงานพิเศษ : อาลัย แม่ถ้วน จากโพสต์ทูเดย์
  8. ปิดตำนาน“แม่ถ้วน หลีกภัย”สิ้นลมโรคชรา [ลิงก์เสีย]
  9. "คนนับหมื่นร่วมพระราชทานเพลิง"แม่ถ้วน หลีกภัย" "ปลื้ม"บวชทดแทนคุณย่า". มติชนออนไลน์. 12 มีนาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • หนังสือกินอยู่เรียบง่าย สบายแบบชาวบ้าน ชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้าขายพุงปลา โดย เริงศักดิ์ กำธร (พ.ศ. 2545) ISBN 974-85645-2-5