จังหวัดเลย
จังหวัดเลย | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Changwat Loei |
![]() จากซ้ายไปขวาและบนลงล่าง : พระธาตุศรีสองรัก - วัดศรีโพธิ์ชัย - เชียงคาน - ผีตาโขน - ภูลมโล - สกายวอร์คพระใหญ่ภูคกงิ้ว | |
คำขวัญ: เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด | |
แผนที่ประเทศไทย จังหวัดเลยเน้นสีแดง | |
ประเทศ | ![]() |
การปกครอง | |
• ผู้ว่าราชการ | ทวี เสริมภักดีกุล (ตั้งแต่ พ.ศ. 2565) |
พื้นที่[1] | |
• ทั้งหมด | 11,424.612 ตร.กม. (4,411.067 ตร.ไมล์) |
อันดับพื้นที่ | อันดับที่ 14 |
ประชากร (พ.ศ. 2564)[2] | |
• ทั้งหมด | 638,732 คน |
• อันดับ | อันดับที่ 40 |
• ความหนาแน่น | 55.91 คน/ตร.กม. (144.8 คน/ตร.ไมล์) |
• อันดับความหนาแน่น | อันดับที่ 71 |
รหัส ISO 3166 | TH-42 |
ชื่อไทยอื่น ๆ | ชุมชนแฮ่ |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด | |
• ต้นไม้ | สนสามใบ |
• สัตว์น้ำ | ปลาเพ้าชนิด Bangana lippus |
ศาลากลางจังหวัด | |
• ที่ตั้ง | ภายในศูนย์ราชการจังหวัดเลย ถนนมลิวรรณ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย 42000 |
• โทรศัพท์ | 0 4281 2142 |
• โทรสาร | 0 4281 1746 |
เว็บไซต์ | http://www.loei.go.th |
![]() |
เลย เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน หรือภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ตั้งอยู่ในแอ่งสกลนครและอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 540 กิโลเมตร มีสภาพภูมิประเทศที่งดงาม อากาศหนาวเย็น เป็นแหล่งเพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และยังเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกด้วย
ประวัติศาสตร์[แก้]
ก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้มีผู้คนอพยพจากอาณาจักรโยนกเชียงแสนที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา ซึ่งมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย) ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย ต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคู และได้นำนามหมู่บ้านด่านซ้าย มาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่ เป็น "เมืองด่านซ้าย" อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางในที่สุด โดยมีพ่อขุนผาเมืองอพยพผู้คนติดตามไปตั้งเมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) และตั้งเมืองด่านซ้าย เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของเมืองบางยาง
นอกจากนี้แล้ว ยังมีชาวโยนกอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขต ล้านนา ต่อแดนล้านช้างอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้งเมืองเซไลขึ้น (สันนิษฐานว่าอยู่ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง) จากหลักฐานในสมุดข่อยที่มีการค้นพบ เมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตก จึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลถึงบริเวณที่ราบระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นขนานนามว่า "บ้านแห่" (บ้านแฮ่) ส่วนลำห้วยให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน"
ในปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่า หมู่บ้านแฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมืองเรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า เมืองเลย ขึ้นต่อเมืองเพชรบูรณ์อีกทีหนึ่ง ต่อมา พ.ศ. 2440 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ ร.ศ. 116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ (เดิมตำบลอาฮีเป็นอำเภอ แต่ถูกลดบทบาทลงเป็นตำบลเพราะอยู่ใกล้กับแม่น้ำเหือง เป็นผลมาจากการเสียดินแดนให้ลาวโดยประเทศฝรั่งเศส) อำเภอนากอก (ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว) อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง ต่อมา พ.ศ. 2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น บริเวณลำน้ำเลย พ.ศ. 2449-2450 เปลี่ยนชื่อบริเวณลำน้ำเลยเป็นบริเวณลำน้ำเหือง และใน พ.ศ. 2450 ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะ "เมืองเลย" โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น "อำเภอเมืองเลย"
ในปี พ.ศ. 2445 กรมมหาดไทย นำใบบอกพระยาสุริยวงษา เจ้าเมืองหล่มศัก กราบบังคมทูลว่ามีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ขึ้นไปว่า เมืองเลย เมืองแก่นท้าว เมืองขึ้นเมืองเพชรบูรณ ร้องกล่าวโทษเมืองเพชรบูรณ จึงโปรดให้เมืองหล่มศักดูแลเมืองเลย เมืองแก่นท้าว ไปจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ ในกรณีนี้พระยาสุริยวงษา เห็นว่าพระศรีสงคราม เจ้าเมืองเลย ชราภาพ อายุ 80 ปี เกรงจะรับราชการต่อไปไม่ได้ จึงได้ขอพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นจางวางกำกับดูแลราชการ และได้ขอพระราชทานท้าววรบุตร ว่าที่อุปฮาด เป็นพระศรีสงครามเจ้าเมืองเลย รับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป[3]
ภูมิศาสตร์[แก้]
ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]
จังหวัดเลยตั้งอยู่ทางตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 11,424.612 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,140,382 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.77 ของพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะทางจากกรุงเทพมหานคร 540 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับแขวงไชยบุรีและแขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองไหลกั้นพรมแดนระหว่างกัน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองบัวลำภู
- ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดเพชรบูรณ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก
ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]
จังหวัดเลยตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูงโคราช หรือที่เรียกกันว่า แอ่งสกลนคร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทิวเขาในแนวทางทิศเหนือใต้ และจะมีพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาที่ไม่ใหญ่มากนัก สลับกันอยู่ในแนวเทือกเขา จังหวัดเลยมีภูเขาสูงกระจัดกระจาย โดยเฉพาะทางตะวันตกและทางด้านใต้ของจังหวัด ทั้งนี้ยังมีแหล่งน้ำสำคัญคือแม่น้ำโขงในบริเวณตอนบนของจังหวัด
ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]
จังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่เรียกได้ว่าหนาวที่สุดของประเทศ เคยมีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ -1.3 องศาเซลเซียส (2 มกราคม พ.ศ. 2517) อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 43.5 องศาเซลเซียส (25 เมษายน พ.ศ. 2517) อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 25.5-26.5 องศาเซลเซียส และจะมีอุณหภูมิที่หนาวจัดในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 5.5 องศาเซลเซียส (พ.ศ. 2557)
ข้อมูลภูมิอากาศของจังหวัดเลย (พ.ศ. 2504-2533) | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 29 (84) |
32 (90) |
34 (93) |
35 (95) |
33 (91) |
32 (90) |
32 (90) |
31 (88) |
31 (88) |
30 (86) |
29 (84) |
28 (82) |
31.3 (88.4) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 14 (57) |
17 (63) |
19 (66) |
22 (72) |
23 (73) |
23 (73) |
23 (73) |
23 (73) |
22 (72) |
21 (70) |
18 (64) |
15 (59) |
20 (68) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 6 (0.24) |
17 (0.67) |
37 (1.46) |
95 (3.74) |
213 (8.39) |
164 (6.46) |
159 (6.26) |
177 (6.97) |
226 (8.9) |
117 (4.61) |
17 (0.67) |
3 (0.12) |
1,231 (48.46) |
[ต้องการอ้างอิง] |
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด[แก้]
- ต้นไม้ประจำจังหวัด: สนสามใบ (Pinus kesiya)
- คำขวัญประจำจังหวัด: เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด
- ลักษณะรูปร่างของจังหวัดเลย: ลักษณะรูปร่างของจังหวัดเลยมีรูปร่างคล้ายกับ "ศีรษะของลูกไดโนเสาร์พันธุ์ไทรเซอราทอปส์ที่ไม่มีเขา"
หน่วยการปกครอง[แก้]
การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]
จังหวัดเลยแบ่งการปกครองออกเป็น 14 อำเภอ 90 ตำบล 840 หมู่บ้าน
แผนที่ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
หมายเลขในแผนที่ | ชื่ออำเภอ | อักษรโรมัน | พื้นที่ (ตร.กม.) |
ประชากร (คน) |
ความหนาแน่น (คน/ตร.กม.) |
ระยะห่างจาก ศาลากลางจังหวัด (กม.) |
จำนวนตำบล | จำนวนหมู่บ้าน | รหัสไปรษณีย์ |
1 | เมืองเลย | Mueang Loei | 1480.49 | 123,560 | 83.46 | 0 | 14 | 135 | 42000,42100 |
2 | นาด้วง | Na Duang | 590.00 | 26,432 | 44.80 | 37 | 4 | 40 | 42210 |
3 | เชียงคาน | Chiang Khan | 867.00 | 60,828 | 70.16 | 48 | 8 | 82 | 42110 |
4 | ปากชม | Pak Chom | 957.00 | 42,276 | 44.18 | 92 | 6 | 50 | 42150 |
5 | ด่านซ้าย | Dan Sai | 1732.00 | 51,693 | 29.85 | 82 | 10 | 99 | 42120 |
6 | นาแห้ว | Na Haeo | 628.00 | 11,689 | 18.61 | 117 | 5 | 34 | 42170 |
7 | ภูเรือ | Phu Ruea | 880.00 | 22,587 | 25.67 | 49 | 6 | 47 | 42160 |
8 | ท่าลี่ | Tha Li | 683.00 | 27,932 | 40.90 | 46 | 6 | 41 | 42140 |
9 | วังสะพุง | Wang Saphung | 1145.00 | 111,116 | 97.05 | 22 | 10 | 144 | 42130 |
10 | ภูกระดึง | Phu Kradueng | 709.00 | 34,526 | 48.70 | 74 | 4 | 54 | 42180 |
11 | ภูหลวง | Phu Luang | 595.00 | 25,046 | 42.09 | 50 | 5 | 46 | 42230 |
12 | ผาขาว | Pha Khao | 463.00 | 42,055 | 90.83 | 63 | 5 | 64 | 42240 |
13 | เอราวัณ | Erawan | 262.00 | 34,004 | 129.79 | 42 | 4 | 47 | 42220 |
14 | หนองหิน | Nong Hin | 435.00 | 24,988 | 57.44 | 47 | 3 | 34 | 42190 |
การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเลยมีทั้งหมด 101 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย, เทศบาลเมือง 2 แห่ง คือ เทศบาลเมืองเลย และเทศบาลเมืองวังสะพุง, เทศบาลตำบล 27 แห่ง, และองค์การบริหารส่วนตำบล 101 แห่ง
ประชากรศาสตร์[แก้]
ลักษณะทางสังคม[แก้]
จังหวัดเลยมีโครงสร้างทางสังคมแบบจารีตประเพณี คนพื้นเมืองส่วนใหญ่จะต่างจากคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่ว ๆ ไปซึ่งมีเชื้อสายชาวลาวเวียงจันทน์และชาวลาวจำปาศักดิ์ แต่เป็นเชื้อสายชาวลาวหลวงพระบาง จึงมีประเพณี ศิลปะ และวัฒนธรรมหลายอย่างที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานของประเทศไทย
กลุ่มเชื้อชาติประชากร[แก้]
ชาวไทเลย[แก้]
ไทเลย เป็นชื่อเรียกคนเมืองเลย ในประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า คนเมืองเลยคือกลุ่มชนที่อพยพจากชายแดนตอนเหนืออาณาจักรสุโขทัย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากไทหลวงพระบาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเซไล (บ้านทรายขาว อำเภอวังสะพุง ปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2396 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านแห่ (บ้านแฮ่ปัจจุบัน) ได้ตั้งบ้านเรือนเรียกว่าเมืองเลย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมืองเลยก็รวมตัวกันเป็นเมืองใหญ่ โดยการรวมตัวของ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ ซึ่งขึ้นกับมณฑลอุดร อำเภอด่านซ้าย ซึ่งขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก เมืองเชียงคาน ซึ่งขึ้นกับเมืองพิชัย อำเภอต่าง ๆ เหล่านี้จึงโอนขึ้นกับเมืองเลยทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา
ชาวไทเลยจะมีนิสัยใจคอเหมือนกับชนเชื้อชาติโบราณซึ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากดั้งเดิม มีสำเนียงพูดที่แปลกและนิ่มนวล พูดสุภาพและไม่ค่อยพูดเสียงดัง กิริยามารยาทดีงาม อารมณ์เยือกเย็นไม่วู่วาม มีนิสัยรักความสงบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักถิ่นที่อยู่ไม่ค่อยอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนทางด้านวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ได้แก่ “ฮีตสิบสอง–คองสิบสี่” คือการทำบุญตามประเพณีทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี
บ้านชาวไทเลยเป็นเรือนหลังใหญ่ ยกพื้นสูงมีระเบียงหรือชานยื่นออกมาหน้าเรือน มีเรือนครัวซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างแยกต่างหากโดยมีชานต่อเชื่อมติดกัน สำหรับหลังคาของเรือนนอนมุงด้วยหญ้าคาหรือไม้แป้นเก็ด ฝาเรือน พื้นเรือนนิยมทำด้วยไม้แผ่นเรียกว่า ไม้แป้น ส่วนเสาจะใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นต้นๆ หรืออิฐก่อเป็นเสาใหญ่ มีบันไดไม้พาดไว้สำหรับขึ้นลง ส่วนเรือนครัวมุงด้วยหญ้าคา ฝาและพื้น จะนิยมทำด้วยฟากไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นแผ่น และเสาจะทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่นกัน
จังหวัดเลย มีคนพื้นเมืองที่มีเชื้อชาติไทย ซึ่งเรียกตัวเองว่า ไทเลย เป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ก็มีคนเชื้อชาติจีน ชาวเขา ไทดำ ไทพวน
ชาวไทดำ[แก้]
ชาวไทดำหรือไทยทรงดำอพยพมาจากแคว้นพวน ในประเทศลาวปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นอยู่ที่แคว้นสิบสองจุไท ซึ่งเป็นบ้านเกิดเดิมของชาวไทดำ ในอดีตแคว้นสิบสองจุไทเป็นเขตอาณาจักรสยาม ปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม เมื่อปี พ.ศ. 2417 เมื่อพวกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญในแคว้นพวน จึงได้เริ่มอพยพลงมาตามเส้นทางเรื่อยๆ จนได้มาพักที่บ้านน้ำก้อใหญ่ ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมามีชาวไทยดำกลุ่มหนึ่ง ได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขง ไปยังบ้านน้ำกุ่ม แขวงเวียงจันทน์ แต่ในขณะนั้นเขตเวียงจันทน์มีปัญหาการเจรจากับฝรั่งเศส ไทดำจึงข้ามแม่น้ำโขงกลับมาตั้งหมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิม และถาวรจนถึงปัจจุบัน ที่หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน เมื่อปี พ.ศ. 2438 มี 15 ครัวเรือน ปัจจุบันชาวไทดำ มีจำนวน 825 ครัวเรือน มีอาชีพส่วนใหญ่ทางการเกษตรกรรม
ชาวไทพวน[แก้]
ชาวไทพวน ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุฮมและบ้านกลาง อำเภอเชียงคาน จากถิ่นฐานเดิมที่เมืองเตาไห หลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อครั้งพวกจีนฮ่อ กลา เวียง รุกรานเมืองเตาไห
ชาวไทใต้[แก้]
ชาวไทใต้ อพยพมาจากภาคอีสานเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเลย ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดยโสธร เมื่อ พ.ศ. 2506 จะพบชาวไทใต้จำนวนมากที่อำเภอเอราวัณ และอำเภอนาด้วง ภาษาพูด แตกต่างจากภาษาไทเลย เพราะได้สืบทอดมาจากถิ่นเดิมของตน เช่น ภาษาไทยอีสาน ภาษาถิ่นอุบล ภาษาไทยโคราช
ภาษาของคนจังหวัดเลย[แก้]
มีสำเนียงภาษาแตกต่างจากภาษาพูดของคนในจังหวัดภาคอีสานอื่น ๆ เพราะกลุ่มคนที่อาศัยปัจจุบันนี้มีประวัติการอพยพเคลื่อนย้ายจากเมืองหลวงพระบางแห่งอาณาจักรล้านช้าง ต่อมาต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ชาวหลวงพระบางและชาวเมืองบริเวณใกล้เคียงที่อพยพมาเมืองเลยได้นำวัฒนธรรมด้านภาษาอีสานถิ่นอื่นเข้ามาด้วย โดยภาษาเลยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มหลวงพระบางอันประกอบด้วยภาษาเมืองแก่นท้าว ภาษาอำเภอด่านซ้าย และภาษาอำเภอเมืองเลย ดังนั้นสำเนียงพูดของชาวไทเลยจึงมีลักษณะการพูดเหมือนชาวหลวงพระบาง แต่บางพยางค์ออกเป็นเสียงสูงคล้ายสำเนียงพูดของชาวปักษ์ใต้ ฟังดูไพเราะนุ่มนวลจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคนเมือง ส่วนคนในวังสะพุงจะพูดเสียงห้วนกว่าชาวเลยถิ่นอื่น
การขนส่ง[แก้]
จังหวัดเลยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 540 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดเลยได้ทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทาง
- การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพมหานคร สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ
- ใช้ถนนพหลโยธิน ผ่านจังหวัดสระบุรี แล้วแยกใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ จนถึงอำเภอหล่มสัก ต่อด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 203 เดิม) ผ่านอำเภอหล่มเก่า อำเภอภูเรือ เข้าสู่จังหวัดเลย
- ใช้ถนนพหลโยธิน จนถึงจังหวัดสระบุรี แล้วแยกใช้ถนนมิตรภาพ จนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ อำเภอแก้งคร้อ อำเภอภูเขียว อำเภอชุมแพ อำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน อำเภอวังสะพุง จนถึงจังหวัดเลย
- การเดินทางโดยทางเครื่องบิน โดยลงที่ท่าอากาศยานเลย มีสายการบิน นกแอร์ และไทยแอร์เอเชีย จาก ท่าอากาศยานดอนเมือง - ท่าอากาศยานเลย และ ท่าอากาศยานเลย - ท่าอากาศยานดอนเมือง สายการบินไทยสมายล์ จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - ท่าอากาศยานเลย และท่าอากาศเลย - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้บริการทุกวัน
- การเดินทางโดยรถโดยสาร รถโดยสารจากกรุงเทพมหานคร สายกรุงเทพฯ-เมืองเลย (สาย 29 และ 938) มีผู้ประกอบการหลายราย เช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด(สาย 29) แอร์เมืองเลย (สาย29),ขอนแก่นทัวร์ (สาย 938),ชุมแพทัวร์(สาย 29),ภูกระดึงทัวร์,ศิขรินทร์ทัวร์ และสาย 14 กรุงเทพ - ภูเรือ ของ บริษัท เพชรประเสริฐ จำกัด และมีรถโดยสารระหว่างภาค สาย 808 นครราชสีมา-เชียงคาน และสาย 824 เลย-พัทยา-ระยอง ของบริษัทนครชัยขนส่ง สาย 636 เชียงใหม่-อุดรธานี ของบริษัทจักรพงษ์ทัวร์และอ.ศึกษาทัวร์ สาย 661 เชียงราย-นครพนม ของบริษัทสมบัติทัวร์ และจักรพงษ์ทัวร์ และมีสายอุดรธานี-พิษณุโลก ของนครไทยแอร์
- การเดินทางโดยรถไฟ จังหวัดเลยไม่มีเส้นทางรถไฟ ต้องเดินทางมาลงที่อุดรธานีแล้วต่อรถโดยสารมาจังหวัดเลย
ทางหลวงแผ่นดิน[แก้]
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (ถนนสีคิ้ว–เชียงคาน, ถนนมลิวรรณ)
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 210
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2195
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2014
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2113
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2114
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2138 (ถนนเลย–นาด้วง)
![]() | ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ทางถนน[แก้]
(จังหวัดเลยไปกรุงเทพฯ) จังหวัดเลยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 543 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 (ถนนสระบุรี-หล่มสัก ) ถึงจังหวัดสระบุรี ตรงแยกพุแค แยกซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านจังหวัดอยุธยา(วังน้อย)มาถึงกรุงเทพมหานคร
แหล่งท่องเที่ยว[แก้]
อุทยานแห่งชาติ/วนอุทยาน/เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า[แก้]
จังหวัดเลยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งภูเขาและป่าไม้มากมาย จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งทะเลภูเขา เป็น1ใน5จังหวัด(5จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ;จังหวัดนครราชสีมา-แม่น้ำมูล-ลำมูลบน-ลำตะคอง,จังหวัดชัยภูมิ-แม่น้ำชี-ลำน้ำพรหม-ลำน้ำเชิญ,จังหวัดเลย-แม่น้ำเลย-ลำน้ำพอง-แม่น้ำเหือง,จังหวัดอุดรธานี-แม่น้ำสงคราม-แม่น้ำปาว-ลำน้ำห้วยหลวงและจังหวัดสกลนคร-แม่น้ำสงคราม-ลำน้ำพุง-ลำน้ำก่ำ) ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุทยาน/วนอุทยาน/เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญดังนี้
- อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง
- อุทยานแห่งชาติภูเรือ ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยูที่ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ
- อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย (ชื่อเดิมคืออุทยานแห่งชาตินาแห้ว) ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่อำเภอนาแห้ว
- อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าที่ทำการอุทยานฯตั้งอยุ่ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก(พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย)ภูลมโล อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
- อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น(ขอนแก่น-เลย)
- อุทยานแห่งชาตินายูง-น้ำโสม ที่ทำการอุทยานฯตั้งอยู่ที่บ้านสว่าง ตำบลนายูง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี(อุดรธานี-เลย-หนองคาย)
- วนอุทยานถ้ำแสงธรรมพรหมมาวาส ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลเจริญ อำเภอปากชม
- วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง
- วนอุทยานผางาม ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหิน
- วนอุทยานภูบ่อบิด ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลนาอาน อำเภอเมือง
- วนอุทยานภูผาล้อม ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง
- วนอุทยานหริรักษ์ ที่ทำการวนอุทยานฯตั้งอยูที่ตำบลกกทอง อำเภอเมือง
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯตั้งอยู่ที่ตำบลสานตม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ-ภูกระแต ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯตั้งอยู่ที่อำเภอวังสะพุง
สวนสาธารณะ/สวนพฤกษศาสตร์[แก้]
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ[แก้]
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
- สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ อำเภอภูเรือ
- สวนหินผางาม อำเภอหนองหิน
- วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา อำเภอภูหลวง
- เมืองเก่าเชียงคาน อำเภอเชียงคาน
- แก่งคุดคู้ อำเภอเชียงคาน
- หมู่บ้านไททรงดำ อำเภอเชียงคาน
- ศูนย์ศิลป์สิรินธร โรงเรียนศรีสงครามวิทยา อำเภอวังสะพุง
- สวนรุกขชาติ 100 ปี (กรมป่าไม้) อำเภอวังสะพุง
- ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
- ห้วยกระทิง อำเภอเมืองเลย
- พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย
- วัดพระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย
- วัดเนรมิตรวิปัสสนา อำเภอด่านซ้าย
- ภูลมโล อำเภอด่านซ้าย
- พระธาตุสัจจะ อำเภอท่าลี่
พระตำหนักที่สำคัญ[แก้]
สนามกีฬา[แก้]
- ศูนย์กีฬาครบวงจร มหาวิทยาลัยราชภัฎเลย อำเภอเมืองเลย
ประเพณีและเทศกาลรื่นเริง[แก้]
- งานฤดูหนาววังสะพุง
- งานประเพณีผีตาโขน (อำเภอด่านซ้าย)
- งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก(อำเภอด่านซ้าย)
- งานดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย
- งานแสดงไม้ดอกเมืองหนาว (อำเภอภูเรือ)
- งานออกพรรษาเชียงคาน
- งานแห่ผีขนน้ำ
- งานบุญบั้งไฟล้าน (อำเภอเอราวัณ)
- งานประเพณีสงกรานต์ไทยลาว (อำเภอท่าลี่)
- งานแห่ต้นดอกไม้บุญเดือนหกบ้านอาฮี
- งานแก้วมังกร(ตำบลร่องจิกอำเภอภูเรือ)
- งานประเพณีพญาช้างนางผมหอม (อำเภอภูหลวง)
การศึกษา[แก้]
- อุดมศึกษา
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์เลย
- มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านช้าง
- โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา
- โรงเรียนศรีจันทร์วิทยา วัดศรีสุทธาวาส ต.กุดป่อง อ.เมือง
- โรงเรียนวัดศรีภูเรือ วัดศรีภูเรือ ต.หนองบัว อ.ภูเรือ
- โรงเรียนโกวิทวิทยา วัดจันทรังษี ต.วังสะพุง อ.วังสะพุง
- โรงเรียนวัดวังสะพุงพัฒนาราม วัดวังสพุงพัฒนาราม ต.วังสะพุง อ.วังสะพุง
- โรงเรียนธรรมนิเทศก์วิทยา วัดเอราวัณพัฒนาราม ต.ผาอินทร์แปลง อ.เอราวัณ
- โรงเรียนวัดศรีวิชัยวนาราม วัดศรีวิชัยวนาราม ต.กุดป่อง อ.เมือง
- โรงเรียนวัดศรีสุวรรณวนารามวิทยา วัดศรีสุวรรณวนาราม ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง
- โรงเรียนวัดศรีภูกระดึง วัดศรีภูกระดึงพัฒนาราม ต.ภูกระดึง อ.ภูกระดึง
- โรงเรียนวัดสันติวนารามวิทยา วัดสันติวนาราม ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน
- โรงเรียนวัดศรีบุญเรืองปริยัติศึกษา วัดศรีบุญเรือง ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย
- โรงเรียนวัดลาดปู่ทรงธรรมวิทยา วัดลาดปู่ทรงธรรม ต.ท่าลี่ อ.ท่าลี่
- โรงเรียนปริยัติสามัญวัดโพนชัย วัดโพนชัย ต.ด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย
- โรงเรียนวัดศรีบุญเรืองวิทยา วัดศรีบุญเรือง ต.วังสะพุง อ.วังสะพุง
- โรงเรียนวัดถิ่นฐานรังสิตวิทยา วัดถิ่นฐานรังสิต ต.ภูกระดึง อ.ภูกระดึง
- โรงเรียนวัดขามชุมวิทยาสรรพ์ วัดขามชุม ต.หนองหิน อ.หนองหิน
พระภิกษุ/บุคคลมีชื่อเสียง[แก้]
- พระเถระ/ภิกษุสามเณร
- พระครูวารีศรีสวัสดิ์อินทร (หลวงปู่ถิน) พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่ญาท่านบุดดา สุธมฺมา พระอริยสงฆ์
- พระครูสันทัดคณานุการ(หลวงปู่จัน)พระอริยสงฆ์
- พระครูโอภาสสิริคุณ เกจิอาจารย์
- หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พระอริยสงฆ์
- พระธรรมวราลังการ พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่คำดี ปภาโส พระอริยสงฆ์
- หลวงปู่หลุย จนทสาโร พระอริยสงฆ์
- พระราชญาณวิสุทธิโสภณ พระอริยสงฆ์
- หลวงพ่อขันตี ญาณวโร พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่
- พระครูวิสุทธิ์โพธิสาร มหาเถระชั้นผู้ใหญ่
- หลวงปู่ดาด สิริปุญโญ พระอริยสงฆ์ ศิษย์เอกหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
- พระอาจารย์พิชัยภูษิต ธมฺมวิชโยนักเทศน์นักบรรยาย
- พระศรีวชิราภรณ์ (เกรียงไกร กิตฺติเมธี ป.ธ.9 ,ดร.) รองเจ้าคณะภาค8
- นักแสดง/บุคคลมีชื่อเสียง
- ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- อัสนี โชติกุล นักร้อง, นักดนตรี
- วสันต์ โชติกุล นักร้อง, นักดนตรี
- ครูสังคม ทองมี ครูสอนศิลปะ
- มีศักดิ์ ปักษ์ชัยภูมิ อดีตนักจักรยานทีมไทย
- รุ้งลาวัลย์ โทนะหงษา (หนูหิ่น) นักแสดง
- ยุทธเลิศ สิปปภาค (ต้อม) ผู้กำกับภาพยนตร์
- ประจวบ บัวระภา อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย
- ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- พิยะดา หาชัยภูมิ (หมอเอิ้น) นักแต่งเพลง
- เชิดชัย สุวรรณนัง อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย
- กิตติพงษ์ เสนานุช ดีเจโน๊ต นักจัดรายการวิทยุ
- อภิวัฒน์ ชินอักษร (ป๊อบ) นักร้อง-แร็ปเปอร์
- เบนซ์ เมืองเลย นักร้อง
- กระต่าย พรรณิภา นักร้องเพลงลูกทุ่ง
- วรรณปิยะ ออมสินนพกุล นักแสดง
- ธนัตถ์ศรันย์ ซำทองไหล นักแสดง
อ้างอิง[แก้]
- ↑ กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร. สำนักงานจังหวัดเลย. "ข้อมูลจังหวัดเลย: สภาพทั่วไป สิ่งแวดล้อม และการวิเคราะห์." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.loei.go.th/data/POP40.DOC [ม.ป.ป.]. สืบค้น 18 เมษายน 2553.
- ↑ กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_64.pdf 2564. สืบค้น 7 กุมภาพันธ์ 2565.
- ↑ บอกหัวเมืองขอตั้งตำแหน่ง ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 5 หน้า 123
ดูเพิ่ม[แก้]
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- เว็บไซต์กลางของทุกธุรกิจในจังหวัดเลย
- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
- เว็บไซต์ข้อมูลที่พักร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเลย
- ท่าอากาศยานเลย เก็บถาวร 2011-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สายการบิน นกแอร์ เก็บถาวร 2011-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สายการบิน Solar Air เก็บถาวร 2017-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สายการบิน Happy Air เก็บถาวร 2016-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หมอเอิ้น พิยะดา
- จังหวัดเลย - อีสานร้อยแปด
พิกัดภูมิศาสตร์: 17°29′N 101°44′E / 17.49°N 101.73°E
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จังหวัดเลย
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย