ถนนเจริญเมือง (กรุงเทพมหานคร)
ถนนเจริญเมือง เป็นถนนสายสั้น ๆ ขนาด 4 ช่องจราจร ในพื้นที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยเป็น 1 ใน 3 สายที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย ตัดขึ้นหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ตำบลวัดแค (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแขวงรองเมือง) เมื่อ พ.ศ. 2470 และพระองค์พระราชทานนามให้ล้อไปกับถนนเจริญเวียง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สายที่ตัดขึ้นในย่านตรอกซุง อำเภอสาธร (ปัจจุบันคือเขตบางรัก) เมื่อ พ.ศ. 2467 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับอีก 2 สายคือถนนจรัสเมือง (ตั้งชื่อล้อกับถนนจรัสเวียง) และถนนจารุเมือง (ตั้งชื่อล้อกับถนนจรูญเวียง) โดยทุกสายแสดงความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมือง[1]
ถนนเจริญเมืองมีระยะทางประมาณ 525 เมตร แนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนรองเมืองบริเวณด้านข้างสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ปัจจุบันรถยนต์ทุกสายที่ขับมาในถนนรองเมืองทั้งขาล่องมาทางทิศใต้จากถนนพระรามที่ 1 และขาขึ้นมาทางทิศเหนือจากถนนพระรามที่ 4 จะถูกบังคับให้เลี้ยวเข้าสู่ถนนเจริญเมืองทั้งหมดและวิ่งไปทางทิศตะวันออกทางเดียว จากนั้นผ่านวัดดวงแข แล้วลอดผ่านทางพิเศษศรีรัช ตัดกับถนนจารุเมืองที่ทางแยกวัดดวงแข จากนัั้นจะปรับให้สามารถวิ่งสวนกันได้ฝั่งละ 2 ช่องจราจร และสิ้นสุดที่ถนนบรรทัดทองบริเวณทางแยกสะพานอ่อน ด้านหลังอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2] ทั้งนี้ ก่อนการก่อสร้างอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ นั้น เคยมีแนวถนนที่ตรงต่อเนื่องต่อไปคือซอยจุฬาลงกรณ์ 22 ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ตรีน้อยใส, ปริญญา (30 สิงหาคม 2022). ""เจริญ จรัส จรูญ และจารุ" ความงามทางภาษาบนถนน". มองบ้านมองเมือง. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ตรีน้อยใส, ปริญญา (20 กันยายน 2022). "ย่านวัดดวงแข". มองบ้านมองเมือง. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)