ข้ามไปเนื้อหา

ถนนรองเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถนนรองเมือง เป็นถนนสายสั้น ๆ ที่เป็นที่มาของชื่อแขวงรองเมือง ในพื้นที่เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตั้งชื่อตามบรรดาศักดิ์ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง ในขณะนั้นของเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (หม่อมราชวงศ์ลพ สุทัศน์) ซึ่งเป็นหนึ่งในขุนนางที่ร่วมสร้างถนนหลายแห่งในเขตบางรักเพื่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ถนนสี่พระยา, ถนนเดโช, ถนนสุรวงศ์ เป็นต้น โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2445 จนแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดถนนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2447[1]

ถนนรองเมืองระยะทางประมาณ 900 เมตร แนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนพระรามที่ 4 บริเวณหัวมุมตะวันออกเฉียงใต้ของสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) บริเวณจุดแยกจากทางขึ้นทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือในแนวขนานกับทางรถไฟทางฝั่งตะวันออก โดยมีถนนเจริญเมืองและถนนจรัสเมืองแยกออกมาทางทิศตะวันออก แล้วไปสิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 1 เชิงสะพานกษัตริย์ศึก บริเวณวัดสระบัว โดยอาคารที่ตั้งอยู่ริมถนนรองเมืองส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นตึกแถว และมักเป็นอาคารสำนักงานของบริษัทที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และเนื่องจากถนนรองเมืองมีความกว้างเพียง 2 จราจร การจราจรจึงให้รถวิ่งได้ทางเดียวตลอดทั้งสาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เส้นทางจากถนนพระรามที่ 1 ให้รถวิ่งไปทางทิศใต้เท่านั้น ส่วนเส้นทางจากถนนพระรามที่ 4 ให้รถวิ่งไปทางทิศเหนือเท่านั้น โดยทั้ง 2 ส่วนจะบรรจบกันที่สามแยกที่แยกออกไปยังถนนเจริญเมือง และจะบังคับให้เดินรถไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่ถนนเจริญเมือง เพื่อไปออกที่ถนนจารุเมืองหรือถนนบรรทัดทอง[2]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kanthika Sriudom, 2006. “King Chulalongkorn’s Blessings for Modern Bangkok.” วารสารเมืองโบราณ 32, 1 (Jan.-Mar. 2006): 36-49.
  2. huineken (6 มิถุนายน 2013). "มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟใต้ดิน: MRT หัวลำโพง". คิดเรื่องอยู่. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2025.