ถนนฉางอาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถนนฉางอาน (จีนตัวย่อ: 长安街; จีนตัวเต็ม: 長安街; พินอิน: Cháng'ān Jiē, อังกฤษ: Chang'an Avenue) เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของถนนฉางอานตะวันตก และถนนฉางอานตะวันออกในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในความหมายกว้าง ๆ ยังรวมถึงเส้นทางส่วนต่อขยายไปทางตะวันตกและตะวันออกด้วย ถนนฉางอานเป็นถนนแนวตะวันตก–ตะวันออกสายสำคัญของกรุงปักกิ่ง และถือเป็นหนึ่งในถนนที่สำคัญที่สุดในประเทศจีน สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงราวปี ค.ศ. 1406–1420[1] พร้อม ๆ กับการสร้างพระราชวังต้องห้าม

ถนนฉางอานหน้าวังวัฒนธรรมแห่งชาติ
ถนนฉางอาน
การจราจรบนถนนฉางอาน

ฉางอาน (จีนตัวย่อ: 长安; จีนตัวเต็ม: 長安; พินอิน: Cháng'ān) เป็นชื่อเก่าของซีอาน ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ราชวงศ์ถัง และยุคอื่น ๆ ถนนนี้ยังถูกเรียกว่า ถนนสิบลี้ (จีนตัวย่อ: 十里长街; จีนตัวเต็ม: 十里長街; พินอิน: Shílǐ Chǎngjiē) และถนนหมายเลข 1 ของจีน[2][3]

ถนนฉางอานมีจุดเริ่มต้นที่เขตฉือจิ่งชาน ทางตะวันตก และไปสิ้นสุดที่เขตทงโจวทางตะวันออกของกรุงปักกิ่ง มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 46 กิโลเมตร (28.6 ไมล์) โดยมีจัตุรัสเทียนอันเหมินคั่นถนนสายนี้ให้แบ่งเป็นถนนฉางอานตะวันตกและตะวันออก[4]

เส้นทางส่วนต่อขยายทอดยาวไปทางทิศตะวันตกและตะวันออกโดยมีจัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นศูนย์กลาง ทอดยาวไปทางทิศตะวันตกไปยังพื้นที่โฉ่วกัง แม่น้ำหย่งติ้ง และเนินเขาตะวันตก และทอดยาวไปทางทิศตะวันออกไปยังศูนย์กลางย่อยของเมืองปักกิ่ง คลองใหญ่ และแม่น้ำเฉาไป๋ พื้นที่หลักของถนนฉางอานและส่วนต่อขยายอยู่ระหว่างสะพานกั๋วเม่าของถนนวงแหวนรอบที่สามฝั่งตะวันออก และสะพานซินซิงของถนนวงแหวนรอบที่ฝั่งสามตะวันตก (รวมถึงพื้นที่เทียนอันเหมิน)[5]

เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์และมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ถนนฉางอานจึงเป็นหนึ่งในสรรพนามของกรุงปักกิ่งและแม้แต่การเมืองจีนมาอย่างยาวนาน[6]

ประวัติ[แก้]

ถนนฉางอานเป็นที่จัดขบวนพาเหรดทางทหาร นี่คือรถหุ้มเกราะที่ออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมินระหว่างขบวนพาเหรดวันชาติปี 1999

ถนนฉางอานสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง เป็นถนนสายสำคัญที่สุดในระหว่างการก่อสร้างพระราชวังต้องห้าม นครจักรพรรดิ กำแพงเมืองชั้นในและชั้นนอกของปักกิ่ง ตามบันทึกที่เกี่ยวข้อง ถนนฉางอานถูกสร้างขึ้นพร้อมกับนครจักรพรรดิ ระหว่างปีที่ 4 ถึงปีที่ 18 (ค.ศ. 1406–1420) ในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการก่อสร้างเมืองปักกิ่งในสมัยราชวงศ์หมิงเมื่อ 600 ปีที่แล้ว ถนนฉางอานตั้งชื่อตาม "ฉางอาน" ซึ่งเป็นเมืองหลวงในราชวงศ์ฮั่นและราชวงศ์ถัง มีความหมายว่า "ความสงบสุขชั่วนิรันดร์"[7]

ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ถนนฉางอานมีความยาวเพียง 4 กิโลเมตร (8 ลี้) เท่านั้น และเป็นที่รู้จักในชื่อถนนสิบลี้ ในเวลานั้น ถนนจากประตูฉางอานตะวันออกถึงซุ้มประตูตงตานเรียกว่า ถนนฉางอานตะวันออก (จีน: 东长安街; พินอิน: Dōng Cháng'ān Jiē) ส่วนถนนจากประตูฉางอานตะวันตกถึงซุ้มประตูซีตานเรียกว่า ถนนฉางอานตะวันตก (จีน: 西长安街; พินอิน: Xī Cháng'ān Jiē) ในปี ค.ศ. 1912 สมัยสาธารณรัฐจีน ถนนระหว่างประตูฉางอานตะวันออกและตะวันตกได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนจงซาน" เพื่อรำลึกถึงซุน ยัตเซ็น

ในปี ค.ศ. 1940 หลังจากที่ประตูฟู่ซิงและประตูเจี้ยนกั๋วทางด้านตะวันตกและตะวันออกของกำแพงเมืองชั้นในถูกรื้อออก ถนนฉางอานตะวันตกและตะวันออกก็เชื่อมต่อกับถนนฟู่ซิงเหมินและเจี้ยนกั๋วเหมินตามลำดับ กลายเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างด้านในและด้านนอกของกำแพงเมืองชั้นใน ซึ่งเป็นต้นแบบของถนนฉางอานในยุคต่อมา[7] ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1952 ประตูฉางอานทั้งสองแห่งได้ถูกรื้อถอน เพื่อทำการขยายจัตุรัสเทียนอันเหมิน หลังจากนั้นถนนฉางอานทั้งสองแห่งกับถนนจงซานก็ถูกรวมเข้าด้วยกัน กลายเป็น "ถนนฉางอาน" สายเดียว[8] ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ถนนฉางอานได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนตงฟางหง" เพื่อทำลายสิ่งเก่าทั้งสี่[9]

ระหว่างเหตุการณ์การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1989 กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้เข้าไปในจัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อทำการสลายการชุมนุมหลัง 22.00 น. ของวันที่ 3 มิถุนายน การปะทะกันระหว่างทหารและพลเรือนเกิดขึ้นในถนนฉางอาน มู่ซีตี และสถานที่อื่น ๆ ส่งผลให้ผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บสาหัส และทำให้ประเทศต่าง ๆ ประณามการปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของจีน

ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2009 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 60 ปี กรุงปักกิ่งได้เริ่มโครงการบูรณะซ่อมแซมถนนฉางอาน และเสริมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานตามสองข้างทางให้มีความสะดวกและสวยงามมากยิ่งขึ้น โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ถนนฉางอานที่ซ่อมแซมใหม่นี้ได้รับการขยายช่องจราจรจากเดิม 8 ช่อง เป็น 10 ช่องจราจร[1]

ความสำคัญ[แก้]

ถนนฉางอานหน้าจัตุรัสเทียนอันเหมิน

ถนนฉางอานเป็นถนนที่ผ่านพลับพลาเทียนอันเหมินและจัตุรัสเทียนอันเหมิน จึงมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีน เช่น การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี ค.ศ. 1989 (รวมถึงการเผชิญหน้าอันโด่งดังของแทงค์แมน) ขบวนการ 4 พฤษภาคม และขบวนแห่ศพของโจว เอินไหล

ในระหว่างการเฉลิมฉลองที่สำคัญในสาธารณรัฐประชาชนจีน การสวนสนามของทหารจะถูกจัดขึ้นบนถนนฉางอาน โดยจะทหารเดินสวนสนามจากทางจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกไปตามแนวถนน ผ่านพลับพลาเทียนอันเหมิน ด้วยเหตุนี้ ถนนส่วนที่ผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมินจึงปูผิวทางด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้รถถังและยานพาหนะหนักอื่น ๆ ทำลายพื้นผิว

สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ที่ถนนฉางอาน เช่น มหาศาลาประชาชน จงหนานไห่ อาคารของรัฐบาลกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน โรงละครแห่งชาติ ตลาดคนเดินหวังฝูจิ่ง ปักกิ่งคอนเสิร์ตฮอลล์ สำนักงานใหญ่ธนาคารประชาชนจีน และพระราชวังวัฒนธรรมแห่งชาติ ส่วนสถานีรถไฟปักกิ่งและสถานีรถไฟปักกิ่งตะวันตกก็ตั้งอยู่ใกล้กับถนนฉางอาน และรถไฟใต้ดินปักกิ่งสาย 1 ก็วิ่งอยู่ใต้ถนนฉางอานอีกด้วย[10]

เนื่องจากทำเลที่ตั้งมีความละเอียดอ่อน จึงมีการใช้กฎระเบียบพิเศษกับถนนฉางอาน ตัวอย่างเช่น รถบรรทุกและยานพาหนะขนส่งสินค้าถูกห้ามวิ่งบนถนน[11] และไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาเชิงพาณิชย์บนถนน[12]

กฎระเบียบ[แก้]

ถนนฉางอานและส่วนต่อขยาย[แก้]

นี่คือรายชื่อถนนและส่วนต่อขยายที่เป็นส่วนหนึ่งของถนนฉางอาน จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก:

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 http://thai.cri.cn/221/2009/11/02/3s161589.htm
  2. 王天淇 (7 November 2020). "长安街沿线环境景观新规施行 建筑应保持原有色调风格". 北京日报. สืบค้นเมื่อ 1 December 2020.
  3. 张芽芽 (4 August 2008). ""神州第一街":长安街" (ภาษาจีนตัวย่อ). 新华网. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 August 2008. สืบค้นเมื่อ 27 April 2009.
  4. "ถนนฉางอาน -- ถนนสายสำคัญที่สุดของกรุงปักกิ่ิิ่ง - china radio international". thai.cri.cn.
  5. 北京市人民政府办公厅 (5 September 2020). 北京市长安街及其延长线市容环境景观管理规定  (ภาษาจีน). 北京市 – โดยทาง Wikisource.
  6. หู เจียเหิง, เจิ้ง ตงหยาง (27 พฤษภาคม 2009). "中国第一政治地标"大修"" (ภาษาจีนตัวย่อ) (第12期). ฟีนิกซ์รายสัปดาห์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2009. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2020. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  7. 7.0 7.1 จาง เจิ้ง (17 กุมภาพันธ์ 2006). "600 ปีถนนฉางอาน" (ภาษาจีนตัวย่อ). เป่ย์จิงเดลี. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 พฤษภาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2009.
  8. หวัง จฺวิน (5 เมษายน 2009). พงศาวดารเมือง (ภาษาจีนตัวย่อ). เป่ย์จิงซานเหลียน. ISBN 9787108018168. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 พฤษภาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2009.
  9. Ifeng.com ประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุม (2 มีนาคม 2009). "การปล้นโบราณวัตถุทางวัฒนธรรม: มี "หัวสัตว์" กี่ตัวที่ถูกทำลายโดยยุวชนแดง ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม" (ภาษาจีนตัวย่อ). ifeng.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มีนาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2009.
  10. Welch, Patricia Bjaaland (2008). Chinese art: a guide to motifs and visual imagery. Tuttle Publishing. p. 270.
  11. The Current Major Traffic Management Measures of Urban Roads เก็บถาวร 23 กรกฎาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Beijing Traffic Management Bureau. 15 May 2009.
  12. Beijing Bans Commercial Ads on Tian'anmen Square, Chang'an Avenue. Xinhua. March 27, 2006

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]