ถนนจารุเมือง
ถนนจารุเมือง เป็นถนนสายสั้น ๆ ในพื้นที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยเป็น 1 ใน 3 สายที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย ตัดขึ้นหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ตำบลวัดแค (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแขวงรองเมือง) เมื่อ พ.ศ. 2470 และพระองค์พระราชทานนามให้ล้อไปกับถนนจรูญเวียง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สายที่ตัดขึ้นในย่านตรอกซุง อำเภอสาธร (ปัจจุบันคือเขตบางรัก) เมื่อ พ.ศ. 2467 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับอีก 2 สายคือถนนเจริญเมือง (ตั้งชื่อล้อกับถนนเจริญเวียง) และถนนจรัสเมือง (ตั้งชื่อล้อกับถนนจรัสเวียง) โดยทุกสายแสดงความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมือง[1] อย่างไรก็ตาม เดิมนั้นกรมพระอาลักษณ์ (ปัจจุบันคือกรมราชเลขานุการในพระองค์) คิดชื่อถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงเลือกพระราชทานชื่อถนนว่า "ถนนจรูญเมือง" แต่พระองค์มีพระราชกระแสว่า นาม "เจริญเมือง" กับ "จรูญเมือง" ใกล้กันมาก ควรคิดให้ต่างกัน กรมพระอาลักษณ์จึงคิดชื่อถนนใหม่ว่า "จารุเมือง" และพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยกับนามนี้ จึงพระราชทานเป็นนามของถนนแทนชื่อ "จรูญเมือง" ในที่สุด[2]
ถนนจารุเมืองมีระยะทางประมาณ 675 เมตร แนวเส้นทางเริ่มต้นถนนจรัสเมือง โดยเป็นแนวต่อเนื่องจากถนนพระรามที่ 6 มุ่งหน้าไปทางทิศใต้เลียบทางพิเศษศรีรัช ตัดกับถนนเจริญเมืองที่ทางแยกวัดดวงแข และสิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 4 บริเวณทางแยกมหานคร[3] โดยมีแนวถนนที่ตรงต่อเนื่องต่อไปคือถนนมหานคร
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ตรีน้อยใส, ปริญญา (30 สิงหาคม 2022). ""เจริญ จรัส จรูญ และจารุ" ความงามทางภาษาบนถนน". มองบ้านมองเมือง. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ชูชัยยะ, กนกวลี (2005). พจนานุกรมวิสามานยนามไทย: วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม (PDF) (2nd ed.). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. p. 42. ISBN 974958838X. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2025.
- ↑ ตรีน้อยใส, ปริญญา (20 กันยายน 2022). "ย่านวัดดวงแข". มองบ้านมองเมือง. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2025.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)