ตูแซ็ง ลูแวร์ตูร์
ตูแซ็ง ลูแวร์ตูร์ | |
---|---|
ภาพวาดลูแวร์ตูร์ในปี ค.ศ. 1813 หลังจากเขาเสียชีวิต | |
ผู้สำเร็จราชการแซ็ง-ดอแม็งก์ | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1797 – 1801 | |
แต่งตั้งโดย | เอเตียน เมย์นอด |
ก่อนหน้า | ประเดิมตำแหน่ง |
ถัดไป | ตำแหน่งถูกยกเลิก |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1743 กัป-ฟร็องซัว, แซ็ง-ดอแม็งก์ |
เสียชีวิต | 7 เมษายน ค.ศ. 1803 ฟอร์เดอจู, สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 | (59 ปี)
คู่สมรส | เซซีล ซูว์ซาน ซีมอน บาติสต์ ลูแวร์ตูร์ |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ |
|
สังกัด | |
ประจำการ | ค.ศ. 1791–1803 |
ยศ | พลเอก |
ผ่านศึก | การปฏิวัติเฮติ |
ฟร็องซัว-ดอมีนีก ตูแซ็ง ลูแวร์ตูร์ (ฝรั่งเศส: François-Dominique Toussaint Louverture, 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1743 – 7 เมษายน ค.ศ. 1803) หรือ ตูแซ็ง ลูแวร์ตูร์ (Toussaint L'Ouverture) หรือ ตูแซ็ง เบรดา (Toussaint Bréda) เป็นนายพลชาวเฮติ เขาเป็นผู้นำคนสำคัญในการต่อสู้กับฝรั่งเศสในการปฏิวัติเฮติ ลูแวร์ตูร์เป็นผู้นำทางทหารและการเมืองผู้ปราดเปรื่องที่เปลี่ยนกลุ่มกบฏทาสให้กลายเป็นขบวนการปฏิวัติจนเฮติได้รับเอกราช ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งเฮติ"[2]
ลูแวร์ตูร์เกิดในแซ็ง-ดอแม็งก์ อาณานิคมของฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะฮิสปันโยลา เขาเป็นทาสชาวคาทอลิกที่เคร่งศาสนาผู้กลายเป็นเสรีชนระหว่างค.ศ. 1772–1776 ก่อนเกิดการปฏิวัติเฮติ[3][4] ลูแวร์ตูร์ถือตนเป็นชาวฝรั่งเศสเมื่อได้รับอิสรภาพ[5] หลังจากนั้นเขาทำงานเป็นชาวไร่ นายทาส คนขับรถม้า คนขับล่อและเจ้าของโรงสีให้แก่พื้นที่เพาะปลูกหลายแห่ง ลูแวร์ตูร์มีอายุเกือบ 50 ปีเมื่อเกิดการปฏิวัติ เขาเริ่มต้นเป็นนายทหารของฌอร์ฌ เบียซู ผู้นำช่วงต้นของสงครามเพื่อเอกราชของแซ็ง-ดอแม็งก์ในปี ค.ศ. 1791[6] เดิมลูแวร์ตูร์เป็นพันธมิตรกับฝ่ายสเปนในเขตผู้ว่าการซานโตโดมิงโก (Captaincy General of Santo Domingo) ซึ่งเป็นอาณานิคมใกล้เคียง[7] แต่ภายหลังเขาหันมาสวามิภักดิ์ต่อฝรั่งเศสเมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐใหม่ประกาศการเลิกทาส จากนั้นลูแวร์ตูร์ใช้อิทธิพลทางการเมืองและทหารจนค่อย ๆ มีอำนาจเหนือคู่แข่งคนอื่น ๆ[5]
ตลอดเวลาที่อยู่ในอำนาจ ลูแวร์ตูร์พยายามรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของแซ็ง-ดอแม็งก์ เขาฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบนิคมเกษตรกรรมโดยใช้แรงงานรับจ้าง เจรจาความตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรและสหรัฐเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงปรับปรุงกองทัพให้มีประสิทธิภาพ[8] ลูแวร์ตูร์ไม่ได้ตัดความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1800 หลังเอาชนะคู่แข่งในขบวนการปฏิวัติ เขาประกาศใช้รัฐธรรมนูญปกครองตนเองโดยมีตนเป็นผู้ว่าการตลอดชีพในปี ค.ศ. 1801 ซึ่งขัดประสงค์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1[9]
ในปี ค.ศ. 1802 ลูแวร์ตูร์ได้รับเชิญจากฌ็อง บาติสต์ บรูเนต์ พลตรีของกองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสให้ไปร่วมประชุม แต่เขาถูกจับตัวแล้วถูกส่งไปคุมขังที่ป้อมฟอร์เดอจูในจังหวัดดูทางตะวันออกของฝรั่งเศส ก่อนจะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1803 แม้ลูแวร์ตูร์จะเสียชีวิตก่อนการปฏิวัติเฮติจะมาถึงจุดสำคัญ แต่ผลงานของเขาได้ปูทางไปสู่ชัยชนะของฝ่ายเฮติในท้ายที่สุด เมื่อฝรั่งเศสซึ่งสูญเสียอย่างหนักจากการสู้รบและไข้เหลืองตัดสินใจยอมจำนนและถอนทัพจากแซ็ง-ดอแม็งก์ในปลายปีเดียวกัน[10] หลังจากนั้นฌ็อง-ฌัก เดซาลีน นายทหารของลูแวร์ตูร์ประกาศเอกราชในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1804 เกิดเป็นจักรวรรดิเฮติที่หนึ่ง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Fombrun, Odette Roy, บ.ก. (2009). "History of The Haitian Flag of Independence" (PDF). The Flag Heritage Foundation Monograph And Translation Series Publication No. 3. p. 13. สืบค้นเมื่อ 24 December 2015.
- ↑ Lamrani, Salim (2021-04-30). "Toussaint Louverture, In the Name of Dignity. A Look at the Trajectory of the Precursor of Independence of Haiti". Études caribéennes (ภาษาอังกฤษ) (48). doi:10.4000/etudescaribeennes.22675. ISSN 1779-0980. S2CID 245041866.
- ↑ de Cauna, Jacques. 2004. Toussaint L'Ouverture et l'indépendance d'Haïti: Témoignages pour une commémoration. Paris: Ed. Karthala.
- ↑ "Toussaint Louverture". Britannica. สืบค้นเมื่อ August 5, 2023.
- ↑ 5.0 5.1 Girard, Philippe (2016). Toussaint Louverture: A Revolutionary Life (ภาษาอังกฤษ). Basic Books. ISBN 978-0465094134.
- ↑ Vulliamy, Ed, บ.ก. (28 August 2010). "The 10 best revolutionaries". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 15 December 2015.
- ↑ Bell, Madison Smartt (2008) [2007]. Toussaint L'Ouverture: A Biography. New York: Vintage Books. ISBN 978-1400079353.
- ↑ Cauna, pp. 7–8
- ↑ Popkin, Jeremy D. (2012). A Concise History of the Haitian Revolution. John Wiley & Sons. p. 114. ISBN 978-1405198219.
- ↑ "The Slave Rebellion of 1791". สืบค้นเมื่อ 27 November 2006.