ตำบลยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำบลยม
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันTambon Yom
คำขวัญ: 
สร้างท้องถิ่นให้ก้าวหน้า พัฒนาคนให้ก้าวไกล
ความสุขของประชาชนยิ่งใหญ่ คือหัวใจของ ... อบต.ยม
ประเทศไทย
จังหวัดน่าน
อำเภอท่าวังผา
พื้นที่
 • ทั้งหมด32.48 ตร.กม. (12.54 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)[1]
 • ทั้งหมด4,545 คน
 • ความหนาแน่น141.37 คน/ตร.กม. (366.1 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 55140
รหัสภูมิศาสตร์550604
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ยม เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของตัวอำเภอ

ประวัติการก่อตั้งเมือง[แก้]

ตำบลยม หรือ เมืองยมในสมัยพญาภูคาคือพื้นที่บริเวณเมืองย่างหรือเมืองล่าง (ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ ตำบลยม , ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา และตำบลศิลาเพชร , ตำบลอวน อำเภอปัว) โดยพบบริเวณชุมชนโบราณเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำย่างและลำน้ำบั่ว

ตามประวัติการก่อตั้งกล่าวว่าเมื่อปี พ.ศ. 1820 พญาภูคา พร้อมด้วยราชเทวีคือ พระนางจำปาชายา (นางแก้วฟ้า) และราษฎรประมาณ 220 คน ได้เดินทางมาจากเมืองเงินยาง มาพักอยู่ที่บริเวณบ้านเฮี้ย (ตำบลศิลาแลง) จากนั้นได้ออกสำรวจหาพื้นที่สำหรับที่จะตั้งบ้านเมือง จนได้พบเมืองร้างลุ่มแม่น้ำย่างที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยภูคา ซึ่งเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ มีชื่อว่า "บ้านกำปุง" หรือ "บ่อตอง" (ปัจจุบันคือ บ้านป่าตอง ตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว) ราษฎรที่อาศัยเดิมอยู่นั่นเป็นชาวลัวะ บริเวณชุมชนมีวัดร้างอยู่วัดหนึ่งชื่อ "วัดมณี" อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านกำปุง

พญาภูคาเห็นว่าบริเวณที่ได้สำรวจนี้เหมาะสมที่จะตั้งเมือง จึงได้พาราษฎรอพยพจากบ้านเฮี้ยมาสร้างบ้านเรือนอยู่ติดกับบ้านกำปุงทางทิศเหนือ และเนื่องด้วยพญาภูคาเป็นผู้มีความเมตตาโอบอ้อมอารี ราษฎรจึงได้ยกย่องขึ้นเป็นเจ้าเมืองล่าง เมื่อเดือน 3 เหนือ ขึ้น 2 ค่ำ พ.ศ. 1840 นับว่าท่านได้เป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ภูคา

เมื่อชาวเมืองเชียงแสนและเมืองใกล้เคียงได้ทราบข่าวว่าพญาภูคาได้ตั้งและได้ปกครองเมืองล่าง ก็พากันอพยพถิ่นฐานมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ตลอดจนชาวไทยลื้อสิบสองปันนาก็ได้อพยพมาอยู่เพิ่มขึ้นอีก จึงทำให้เกิดการตั้งชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณลุ่มน้ำย่างและน้ำบั่ว ครอบคลุมบริเวณตำบลศิลาเพชร ตำบลยม ตำบลจอมพระ ตำบลอวนในปัจจุบัน

พญาภูคามีราชบุตรกับนางจำปา 2 องค์ องค์โตชื่อ ขุนนุ่น องค์เล็กชื่อ ขุนฟอง เมื่อขุนนุ่นอายุได้ประมาณ 18 ปี พญาภูคาจึงให้ขุนนุ่นพาราษฎรจำนวนหนึ่งไปหาที่ตั้งเมืองใหม่ ขุนนุ่นจึงไปหาพญาเถรแตงที่ดอยติ้ว ดอยวาว (เขตติดต่อระหว่างอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน กับอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาปัจจุบัน)

พญาเถรแตงจึงได้พาขุนนุ่นข้ามแม่น้ำโขงไปทางฝั่งตะวันออกไปสร้างเมืองหลวงพระบางและปกครองอยู่ที่นั่น ส่วนขุนฟองผู้น้องให้ไปสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่งชื่อว่า "วรนคร" อยู่ทางทิศเหนือของเมืองล่าง (ปัจจุบันคือตำบลวรนคร) ขุนฟองท่านมีราชบุตร 1 องค์ชื่อ เจ้าเก้าเกื่อน พญาภูคาปกครองเมืองล่างได้ 40 ปี ก็ถึงอนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 1890

เจ้าเก้าเกื่อนซึ่งมีศักด์เป็นหลานได้ปกครองเมืองล่างสืบแทน ในสมัยนั้นพญางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา ได้ยกทัพมาตีเมืองวรนคร เจ้าเก้าเกื่อนได้ช่วยพ่อคือขุนฟองปราบข้าศึกจนพ่ายแพ้ไป ในครั้งนั้นได้รับสนับสนุนกองกำลังจากกรุงสุโขทัย ก่อนที่จะชิงเมืองคืนนั้นได้จัดทำสนามไว้สำหรับชุมชนช้างม้าที่เป็นพาหนะออกทำศึกในที่ดอนแห่งหนึ่ง (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านดอนไชย) มีการสร้างคูเมืองและป้อมปราการเมืองเพื่อป้องกันข้าศึกมากมาย บริเวณข้างพระธาตุจอมพริกและบนสันดอยม่อนหลวง (บ้านลอมกลางปัจจุบัน)

เมื่อได้รับชัยชนะต่อพญางำเมืองแล้ว เจ้าเก้าเกื่อนปกครองเมืองล่างอยู่นั้น ท่านได้พาราษฎรสร้างเจดีย์ขึ้นที่ม่อนพักหรือม่อนป่าสัก (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านดอนมูล) และได้สร้างองค์พระธาตุจอมพริกบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบจากกรุงสุโขทัยคราวไปขอกำลังเพื่อชิงเมืองจากพญางำเมือง เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่รบชนะพญางำเมือง และเจ้าเก้าเกื่อนได้นำต้นโพธิ์ที่ได้รับมาจากสุโขทัย มาปลูกไว้ใกล้กับบ้านบ่อตองทางทิศตะวันตก พร้อมทั้งสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ 1 องค์ใกล้กับต้นโพธิ์ นำเอาเพชรนิลจินดาแก้วแหวนเงินทองของมีค่าต่าง ๆ บรรจุไว้ในเจดีย์ ปัจจุบันไม่ปรากฏเจดีย์ให้เห็น เนื่องจากต้นโพธิ์โตขึ้นครอบเจดีย์องค์เล็กจมหายลงไปในดินนานนับหลายร้อยปีแล้ว คงเหลือแต่ต้นโพธิ์ใหญ่ที่สุดในตำบลศิลาเพชร

พ.ศ. 1921 ต่อจากนั้นเมืองล่างจึงไปขึ้นกับเมืองวรนคร อยู่ในความปกครองของพญาผานองซึ่งเป็นราชวงค์ภูคาด้วยกัน พญาผานองได้เปลี่ยนชื่อเมืองล่าง เป็น "เมืองย่าง" โดยเรียกตามลำน้ำย่างที่ไหลผ่าน แล้วได้แต่งตั้งเจ้าผาฮ่องขึ้นปกครองเมืองย่างซึ่งปกครองได้ไม่นานก็สุรคต

ต่อมาพญากานเมือง กษัตริย์วรนครองค์ที่ 5 แห่งราชวงค์ภูคาได้ย้ายเมืองวรนครไปตั้งที่เมืองภูเพียงแช่แห้ง เมื่อ พ.ศ. 1902 ราษฎรเมืองย่างบางส่วนได้อพยพตามพญากานเมืองไปอยู่ที่ภูเพียงแช่แห้งด้วย เมืองย่างจึงอยู่ในความปกครองของกษัตริย์เมืองน่าน

ปี พ.ศ. 2246 สมัยพระเมืองราชาได้มีการฟื้นม่าน (ต่อต้านพม่า) แต่สุดท้ายพ่ายแพ้แก่กองทัพพม่า เมืองน่านทั้งเมืองถูกเผา และเมืองย่างก็เช่นกัน ถูกพม่าทำลายจนย่อยยับ ราษฏรถูกพม่าจับกุมและนำไปคุมขังไว้ที่ห้วยต้อและห้วยมัดเป็นจำนวนมาก (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ตำบลอวน) ในครั้งนั้นเจ้าเมืองเล็นถูกพม่ายกทัพมาตีเมือง เจ้าเมืองเล็นทราบข่าวจึงพาชาวเมืองหลบหนีมาอยู่ที่เมืองล่างที่บ้านหัวทุ่ง ปัจจุบันคือบ้านนาคำ ตำบลศิลาเพชร และเจ้าเมืองเล็นได้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองล่างนับแต่นั้นมา

ในสมัยนั้นเมืองย่างมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีการสร้างวัดวาอาราม และศาสนสถานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อีกทั้งสร้างเหมืองฝายต่าง ๆ บริเวณน้ำบั่ว เมื่อเจ้าเมืองเล็นได้ถึงแก่กรรม เจ้าเมืองน่านแต่งตั้งแสนปั๋นขึ้นปกครองเมืองย่าง สมัยนั้นเมืองน่านสงบสุข แสนปั๋นกับชาวเมืองได้สร้างเหมืองฝาย สร้างนาเหล่าหม่อนเปรต (หม่อนเผด บ้านดอนมูล) บูรณะองค์พระธาตุจอมพริก บริเวณบนดอยสันจ้าง บนวัดทุ่งฆ้อง (ปัจจุบันพระธาตุจอมพริกอยู่ในเขตบ้านเสี้ยว)

ครั้นถึงสมัยที่มีการฟื้นม่านเมื่อราวปี พ.ศ. 2330 เกิดนโยบายเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมืองของเจ้ากาวิละ กองทัพเจ้าเจ็ดตน กองทัพเมืองน่านโดยเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองลำปาง สยาม และหลวงพระบาง เจ้าจอมหงแห่งเชียงตุง ได้นำกองทัพขึ้นไปโจมตีหัวเมืองไทลื้อแถบสิบสองปันนา ทำให้หัวเมืองลื้อทั้งหมดพ่ายแพ้แก่กองทัพล้านนาและสยาม จึงเป็นเหตุให้มีการอพยพชาวไทลื้อ เมืองยอง เมืองยู้ เมืองเชียงลาบ จำนวนมากมาอยู่ในจังหวัดน่าน

ปี พ.ศ. 2345 แสนปั๋น เจ้าเมืองย่างถึงแก่กรรม เมืองย่างเกิดน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ โดยครั้งนั้นพญาอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านได้มาตรวจสภาพพื้นที่เมืองย่าง เห็นว่ามีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ดี มีพื้นที่ราบกว้างขวาง ประกอบกับในบริเวณเมืองย่างนั้นมีชาวไทลื้อที่เจ้าเมืองเล็นอพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนบางส่วน อีกทั้งมีชาวไทลื้อที่อพยพมาในสมัยพญาภูคามาตั้งบ้านเรือนอยู่แล้วนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปกครอง จึงพิจารณาเห็นสมควรโปรดให้ชาวไทลื้อที่ได้อพยพมาจากเมืองยอง เมืองยู้ เมืองเชียงลาบ ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งริมสองฟากฝั่งแม่น้ำย่าง โดยโปรดให้นำช่างปั้นหม้อชาวไทลื้อให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านดอนไชย (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลศิลาเพชร) เมืองเชียงลาบให้ตั้งบ้านเรือนที่บริเวณลุ่มน้ำย่างใกล้พระธาตุจอมพริก ลื้อเมืองยองให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้พระธาตุจอมนาง และลื้อเมืองยู้ให้ตั้งบ้านเรือนที่ท้ายแม่น้ำย่าง

ในครั้งนั้นเจ้าอัตถวรปัญโญได้แต่งตั้งให้แสนจิณปกครองเมืองย่างสืบต่อจากแสนปั๋น

แต่ภายหลังเมื่อมีการจัดระเบียบหัวเมืองการปกครองนครน่านใหม่ในสมัยของพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ จึงแยกเมืองยมออกจากเมืองย่าง โดยให้ท้าวเมืองยมเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองยม และจัดระเบียบเมืองยมขึ้นอยู่กับแขวงน้ำปัว ซึ่งประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองปัว เมืองริม เมืองอวน เมืองยม เมืองย่าง (ภายหลังเมืองย่างเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลศิลาเพชร) เมืองแงง เมืองบ่อ ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปัว

พ.ศ. 2486 ทางการได้มีประกาศยุบเลิกตำบลศิลาเพชรให้ไปขึ้นอยู่กับการปกครองของตำบลยม อำเภอปัวในขณะนั้น ซึ่งมีนายอิทธิ อิ่นอ้าย เป็นกำนัน และให้ตำบลศิลาเพชร เป็นตำบลยม 2 อำเภอปัว

พ.ศ. 2490 จึงมีประกาศจากทางราชการให้กลับมาเป็นตำบลศิลาเพชรเหมือนเดิม

ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ทางราชการประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอท่าวังผา โดยแยกตำบลยม อำเภอปัว ให้มาขึ้นกับกิ่งอำเภอท่าวังผา

ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2524 ได้ประกาศแยกตำบลยมออกเป็นอีกหนึ่งตำบล คือ ตำบลจอมพระ

ปัจจุบันตำบลยมแบ่งการปกครองออกเป็น 10 หมู่บ้าน ดังนี้

  1. บ้านก๋ง
  2. บ้านสบบั่ว
  3. บ้านลอมกลาง
  4. บ้านเชียงยืน
  5. บ้านทุ่งฆ้อง
  6. บ้านเสี้ยว
  7. บ้านหนอง
  8. บ้านพร้าว
  9. บ้านน้ำไคร้
  10. บ้านนานิคม

สภาพทั่วไป[แก้]

สภาพภูมิศาสตร์มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา แม่น้ำย่าง และลำน้ำบั่ว ลำน้ำหมู ลำน้าฮาว ลำน้ำไคร้ และภูเขาสูง คือดอยภูคา มีการประกอบอาชีพด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่

อาณาเขต[แก้]

ประชากร[แก้]

จำนวนประชากรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล 4,545 คน และจำนวนหลังคาเรือน 1,558 หลังคาเรือน[3]

หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน ประชากรชาย ประชากรหญิง ประชากรทั้งหมด จำนวนครัวเรือน
1 บ้านก๋ง 506 532 1,038 366
2 บ้านสบบั่ว 231 239 470 154
3 บ้านลอมกลาง 189 191 380 125
4 บ้านเชียงยืน 192 193 385 134
5 บ้านทุ่งฆ้อง 228 219 447 146
6 บ้านเสี้ยว 169 150 319 110
7 บ้านหนอง 174 194 378 125
8 บ้านพร้าว 312 325 637 230
9 บ้านน้ำใคร้ 191 160 351 113
10 บ้านนานิคม 72 82 154 55
รวม 2,259 2,286 4,545 1,558

กลุ่มชาติพันธุ์[แก้]

ประชากรในเขตพื้นที่ตำบลยม สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มชาติพันธุ์ ดังนี้

  1. กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนเชียงแสน ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน ดังนี้
    1. บ้านก๋ง หมู่ที่ 1
    2. บ้านสบบั่ว หมู่ที่ 2
    3. บ้านพร้าว หมู่ที่ 8
    4. บ้านน้ำใคร้ หมู่ที่ 9
    5. บ้านนานิคม หมู่ที่ 10
  2. กลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ประกอบด้วย 5 หมู่ ดังนี้
    1. บ้านลอมกลาง หมู่ที่ 3
    2. บ้านเชียงยืน หมู่ที่ 4
    3. บ้านทุ่งฆ้อง หมู่ที่ 5
    4. บ้านเสี้ยว หมู่ที่ 6
    5. บ้านหนอง หมู่ที่ 7

อาชีพ[แก้]

อาชีพหลัก ทำนา ทำสวน/ ทำไร่

สถานที่สำคัญ[แก้]

สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ภายในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลยม มีดังนี้

  1. สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลยม (บ้านสบบั่ว หมู่ 2)
  2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยม (บ้านก๋ง หมู่ 1)
  3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยม (บ้านพร้าว หมู่ 8)
  4. พระธาตุลอมตั้ง (สะดือเมืองยม) (บ้านพร้าว หมู่ 8)
  5. เสาหลักเมืองยม (บ้านพร้าว หมู่ 8)
  6. พระธาตุจอมพริก (บ้านเสี้ยว หมู่ 6)
  7. อ่างเก็บน้ำชลสิงห์ (บ้านเสี้ยว หมู่ 6)
  8. น้ำตกน้ำไคร้ (บ้านน้ำไคร้ หมู่ 9)
  9. คือเมืองย่าง (บ้านเสี้ยว หมู่ 6)
  10. คือเมืองย่าง (บ้านลอมกลาง หมู่ 3)
  11. อ่างเก็บน้ำห้วยเมี่ยง (บ้านลอมกลาง หมู่ 3)

ศาสนสถาน[แก้]

ตำบลยม มีศาสนสถานที่สำคัญ ประกอบด้วยวัด 9 แห่ง และโบสถ์คริสตจักร 1 แห่ง ดังนี้

  1. วัดศรีมงคล : บ้านก๋ง หมู่ 1
  2. วัดโพธิ์ไทร : บ้านสบบั่ว หมู่ 2
  3. วัดลอมกลาง : บ้านลอมกลาง หมู่ 3
  4. วัดเชียงยืน : บ้านเชียงยืน หมู่ 4
  5. วัดทุ่งฆ้อง : บ้านทุ่งฆ้อง หมู่ 5
  6. วัดพระธาตุจอมพริก : บ้านเสี้ยว หมู่ 6
  7. วัดหนองช้างแดง : บ้านหนอง หมู่ 7
  8. วัดสันติการาม : บ้านพร้าว หมู่ 8
  9. วัดน้ำใคร้ : บ้านน้ำใคร้ หมู่ 9
  10. โบสถ์คริสตจักรพันธสัญญา : บ้านนานิคม หมู่ 10

สถานศึกษา[แก้]

สถานศึกษาในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลยม มีดังนี้

  • ระดับชั้น : ประถมศึกษา มี 4 แห่ง ดังนี้
    • โรงเรียนบ้านก๋งมงคลประชารังสรรค์ : บ้านก๋ง หมู่ที่ 1
    • โรงเรียนไตรราษฎร์วิทยา : บ้านทุ่งฆ้อง หมู่ที่ 5
    • โรงเรียนบ้านเสี้ยว : บ้านเสี้ยว หมู่ที่ 6
    • โรงเรียนบ้านพร้าว : บ้านพร้าว หมู่ที่ 8
  • โรงเรียนพระปริยัติธรรม (แผนกสามัญศึกษา) มี 1 แห่ง ดังนี้
    • โรงเรียนวัดน้ำใคร้นันทชัยศึกษา : บ้านน้ำใคร้ หมู่ที่ 9

อ้างอิง[แก้]