ตาตะนาไบง์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตาตะนาไบง์ (พม่า: သာသနာပိုင်; อักษรโรมัน: Thathanabaing/Thathanapaing) เป็นชื่อตำแหน่งประมุขของคณะสงฆ์พม่าจนรัฐบาลบริติชที่เข้ายึดพม่าเป็นอาณานิคมยกเลิกเสียใน ค.ศ. 1938 ตาตะนาไบง์มีหน้าที่บริหารลำดับการบังคับบัญชาในคณะสงฆ์และการศึกษาเล่าเรียน ณ ศาสนสถาน ตาตะนาไบง์มีที่พำนักอยู่ ณ อารามหลวงใกล้กับราชธานีของประเทศ[1] ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นตาตะนาไบง์มักเป็นสามัญชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับราชวงศ์[1] การแต่งตั้งเป็นไปตามความรู้ความสามารถทางพุทธศาสนาและวรรณกรรม[1]

ศัพทมูล[แก้]

เดิมประมุขคณะสงฆ์เรียกว่า "มะฮาตังคะยาซา" (မဟာသံဃရာဇာ มหาสังฆราชา) คำนี้นิยมใช้มากในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1300–1400 แต่หลังจากนั้นก็เสื่อมความนิยมลง[1] หันไปใช้คำว่า "ตาตะนาไบง์" ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า "ผู้รักษาศาสนา" และเป็นที่นิยมขึ้นในช่วงราชวงศ์โกนบอง[1]

ตำแหน่งประมุขคณะสงฆ์นี้แปลเป็นภาษาอังกฤษหลายอย่าง เช่น primate, archbishop, หรือ supreme patriarch[2]

ประวัติ[แก้]

บันทึกเหตุการณ์พม่าระบุว่า ตำแหน่งตาตะนาไบง์นี้ย้อนหลังไปได้ถึงสมัยพระเจ้าฝรั่งมังศรีชวา (ค.ศ. 1367–1400)[3] นักประวัติศาสตร์ชาวบริติชหลายคนจัดลำดับตาตะนาไบง์ในช่วงอาณาจักรพุกามเอาไว้ โดยระบุว่า ตาตะนาไบง์คนแรกคือชีน อะระฮัน (ရှင်အရဟံ; Shin Arahan)[4]

ราชวงศ์โกนบอง[แก้]

รูปแบบสุดท้ายของตำแหน่งตาตะนาไบง์ปรากฏในสมัยพระเจ้าปดุงเมื่อ ค.ศ. 1784 หลังจากที่มีการจัดตั้งสุธรรมสภา (Sudhamma Council) ซึ่งประกอบด้วยพระเถระผู้ใหญ่ 4 รูป มีตาตะนาไบง์เป็นประธาน[5] พระมหากษัตริย์รัชกาลถัด ๆ มาขยายองค์ประกอบของสุธรรมสภาขึ้นเป็นมีสมาชิก 8 รูปและ 12 รูปตามลำดับ[5][6] สมาชิกสภาดังกล่าวเรียกว่า "ตะเซะยะซะยาดอ" (တံဆိပ်ရဆရာတော်) และมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์[6] เช่นเดียวกับตาตะนาไบง์ที่มีผู้แต่งตั้งคือพระมหากษัตริย์ แต่ตาตะนาไบง์มีอำนาจสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ และรับผิดชอบกิจการศาสนาในประเทศ[6] รวมถึงอำนาจแต่งตั้งภิกษุในภาคส่วนต่าง ๆ ตามพระวินัย จัดการกับการละเมิดพระวินัย เตรียมรายงานประจำปีเกี่ยวกับคณะสงฆ์ และบริหารการสอบภาษาบาลี[5] ตาตะนาไบง์ยังมีอำนาจบริหารกิจการของข้าราชการสองฝ่าย คือ มะฮาดานวาน (မဟာဒါန်ဝန်) ซึ่งควบคุมการกุศลของพระมหากษัตริย์ กำกับดูแลให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัย และขึ้นทะเบียนนักบวชทุกรูปในศาสนาพุทธ กับวะเมียวาน (ဝတ်မြေဝန်) ซึ่งดูแลศาสนสมบัติ เช่น ที่ดินที่ได้รับบริจาค และพระธาตุเจดีย์ต่าง ๆ[7][8]

ราชอาณาจักรพม่ายังแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็นเขตสงฆ์ต่าง ๆ แต่ละเขตมีผู้ดูแลเรียกว่า gaing-gyok ซึ่งควบคุมผู้ปกครองชั้นรองอีกกลุ่มหนึ่ง เรียก gaing-ok และ gaing-ok นี้มีผู้ช่วยอีกกลุ่ม เรียก gaing-dauk[7] gaing-gyok มีอำนาจระงับข้อพิพาททางสงฆ์ แต่คำวินิจฉัยของ gaing-gyok สามารถอุทธรณ์ต่อไปยังสุธรรมสภา[7]

สมัยอาณานิคม[แก้]

ใน ค.ศ. 1895 หลังจากที่พระเจ้าธีบอ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของประเทศ พ้นจากราชสมบัติได้ไม่นาน ตองดอซะยาดอ (Taungdaw Sayadaw) ซึ่งดำรงตำแหน่งตาตะนาไบง์อยู่ก็ถึงแก่มรณภาพ[9] มีการเลือกตาตะนาไบง์รูปใหม่ ผู้ได้รับเลือก คือ Pakhan Sayadaw แต่เจ้าหน้าที่บริติชที่ปกครองพม่าไม่รับรองตำแหน่ง[9]

ต่อมาใน ค.ศ. 1903 ฮิว เชกสเปียร์ บานส์ (Hugh Shakespear Barnes) ข้าหลวงผู้ปกครองอาณานิคมพม่า นำตำแหน่งตาตะนาไบง์กลับคืนมาใหม่ โดยตราธรรมนูญให้ตาตะนาไบง์มีอำนาจแต่ในนามในการปกครองคณะสงฆ์แห่งพม่าตอนบนและในกิจการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายศาสนาพุทธ[9] ส่วนพม่าตอนล่างที่ผนวกเข้ามาใน ค.ศ. 1852 นั้นยังคงไร้ผู้ปกครองคณะสงฆ์ต่อไป[10] ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นตาตะนาไบง์คือตองควีนซะยาดอ (တောင်ခွင်ဆရာတော်; Taunggwin Sayadaw) แต่เมื่อตองควีนซะยาดอมรณภาพแล้ว ก็ไม่มีการแต่งตั้งผู้สืบตำแหน่งต่อมาอีกเลย[11]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Kyaw, Aye (1984). "The Sangha Organization in Nineteenth Century Burma and Thailand" (PDF). Journal of the Siam Society.
  2. Twomey 1904.
  3. Mendelson, E. Michael (1975). Sangha and State in Burma: A Study of Monastic Sectarianism and Leadership (ภาษาอังกฤษ). Cornell University Press. ISBN 9780801408755.
  4. James 2005, p. 81.
  5. 5.0 5.1 5.2 James 2005, p. 81-84.
  6. 6.0 6.1 6.2 Scott 1900, p. 3.
  7. 7.0 7.1 7.2 Scott 1900, p. 4.
  8. Scott 1900, p. 6.
  9. 9.0 9.1 9.2 Long 1906.
  10. Aung San Suu Kyi 2010.
  11. Ghosh 2000, p. 38-39.

บรรณานุกรม[แก้]