ตระพัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสระศรีตั้งอยู่กลางตระพังตระกวน
วัดตระพังทอง ตั้งอยู่กลางตระพังทอง

ตระพัง เป็นคำเรียกของอ่างเก็บน้ำหรือสระน้ำในบริเวณสถานที่หรือโบราณสถานที่เคยได้รับอิทธิพลจากขอมหรือเขมรโบราณในประเทศไทย คำว่า ตระพัง มีรากศัพท์มาจากภาษาเขมรว่า ตรฺพำง (เขมร: ត្រពាំង อ่านว่า ตรอเปียง) แปลว่า บ่อหรือสระน้ำที่ขุดขึ้น อาจเขียนในหลายรูปแบบ เช่น ตระพัง ตะพัง สะพัง กะพัง หรือ พัง[1]

ตระพังเป็นอ่างเก็บน้ำประจำปราสาทหรือชุมชนขนาดเล็ก ขณะที่คำว่า บาราย เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือระดับเมือง[2] คำว่า "ตระพัง" ปรากฏอยู่ในจารึกสุโขทัยหลายหลัก เช่น จารึกพ่อขุนรามคำแหง ความว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีน้ำตระพังโพยสีใสกินดี...ดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง"[3]

การปรากฏ[แก้]

ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ 4 แห่ง เรียกชื่อว่า ตระพังเงิน ตระพังทอง ตระพังสอ และตระพังตะกวน น้ำในตระพังกลางเมืองสุโขทัย เป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคของพระสงฆ์ และพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนขุนนางข้าราชการระดับสูง มีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่บนทิวเขาด้านทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย สร้างคันดินขวางทางน้ำในหุบเขา เพื่อกักเก็บน้ำป่าที่ไหลจากทิวเขา เจาะช่องทางน้ำไหลเป็นลำคลอง เรียกคลองเสาหอ ก่อแนวหินให้น้ำไหล มีประตูเปิดปิด ชักน้ำเข้าคูเมืองสุโขทัยด้านทิศตะวันตก แล้วกระจายทั่วทุกด้าน มีประตูน้ำชักน้ำไปเข้าตระพังต่าง ๆ ในเมือง[4] ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง เรียกชื่อว่า สะพังนาก[1]

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตระพังบริเวณปราสาท เช่น กู่พราหมณ์จำศีล ปราสาทหินนาแค ปราสาทตาดำ ปราสาทตาเล็ง ฯลฯ ตระพังเหล่านี้มักตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท เช่นเดียวกับตระพังที่ปรากฏในกัมพูชา[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ตระพัง (๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
  2. 2.0 2.1 สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. "ปราสาท ตระพัง และบารายของชุุมชนเขมรสมัยบาปวน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย".
  3. "เมืองสุโขทัยนี้ดีหนักหนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" (PDF).
  4. สุจิตต์ วงษ์เทศ. "ตระพังกลางเมืองสุโขทัย ไม่ได้ขุดไว้ลอยกระทง". มติชน.