เพลงเพื่อชีวิต
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
เพลงเพื่อชีวิต | |
---|---|
แหล่งกำเนิดทางรูปแบบ | ดนตรีโฟล์กตะวันตก, ร็อก, เพลงลูกทุ่ง, ดนตรีพื้นเมืองไทย, คันทรี |
แหล่งกำเนิดทางวัฒนธรรม | ประเทศไทย (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516) |
เครื่องบรรเลงสามัญ | เสียงร้อง, กีตาร์เบส, กีตาร์, กลองชุด เครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้แก่ คีย์บอร์ด, ฮาร์โมนิก้า, เพอร์คัชชัน, ไวโอลิน, เปียโน, เครื่องดนตรีไทย |
เพลงเพื่อชีวิต แต่แรกเริ่มหมายถึงเพลงที่มีเนื้อหากล่าวถึงชีวิตของคน โดยเฉพาะคนชนชั้นล่าง กล่าวถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิต การถูกเอารัดเอาเปรียบ เพลงแนวเพื่อชีวิตในยุคนี้โดยมากจะเป็นเพลงลูกทุ่ง เช่น เพลง กลิ่นโคลนสาบควาย ของชาญ เย็นแข, จักรยานคนจน ของยอดรัก สลักใจ, น้ำมันแพง ของสรวง สันติ, น้ำตาอีสาน แต่งโดยชลธี ธารทอง และขับร้องโดยสายัณห์ สัญญา เป็นต้น
เพลงเพื่อชีวิตในประเทศไทยเริ่มเฟื่องฟูเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางโดยแพร่หลายช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยเนื้อหาของเพลงไม่จำกัดเฉพาะชีวิตของคนชั้นล่างอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยและการเหน็บแนมการเมืองอีกด้วย[1] และแนวดนตรีได้เปิดกว้างขึ้นเป็นแนวอะคูสติกหรือร็อก โดยได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากศิลปินต่างประเทศ เช่น บ็อบ ดิลลัน, บ็อบ มาร์เลย์, นีล ยัง, ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล เป็นต้น เทียบได้กับ เพลงประท้วง (Protest song) ของสหรัฐอเมริกา โดยคำว่า "เพลงเพื่อชีวิต" นั้น มาจากคำว่าศิลปะเพื่อชีวิต หรือวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ว่าถึงชีวิตและการต่อสู้ของมนุษย์ในสังคม ในยุคนี้เพลงเพื่อชีวิตเฟื่องฟูมาก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น "เพชรเม็ดงามของวรรณกรรมเพื่อชีวิต"[2]
เพลงเพื่อชีวิตมักจะรวมเอาองค์ประกอบของดนตรีตะวันตกเหมือนกันเช่นเพลงบัลลาด และเพิ่มเป็นจังหวะของดนตรีไทย เช่น สามช่า หมอลำ และลูกทุ่ง และมีองค์ประกอบของดนตรีคลาสสิกไทยบ้างเช่นกัน เพลงเพื่อชีวิตในยุคแรกจะเป็นดนตรีโฟล์กตะวันตกพร้อมกับการใช้เครื่องดนตรีอะคูสติก ซึ่งต่อมาได้เพิ่มดนตรีร็อกพร้อมกับกีตาร์ไฟฟ้า เบส และกลองชุด บางศิลปินยังได้รับอิทธิพลของเร้กเก้ สกา และเพลงละตินบ้างและบางศิลปินยังใช้เครื่องดนตรีไทยเซ่น พิณ ขลุ่ย และซออู้
โดยวงดนตรีเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียง ได้แก่ คาราวาน, แฮมเมอร์, โคมฉาย เป็นต้น โดยมีวงดนตรีและนักร้องเพลงเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน เช่น
- คาราบาว
- พงษ์สิทธิ์ คำภีร์
- พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
- อินโดจีน
- คนด่านเกวียน
- ศุ บุญเลี้ยง
- ฤทธิพร อินสว่าง
- โฮป
- ซูซู
- ตีฆอลาซู
- มาลีฮวนน่า
- คันไถ
เป็นต้น อีกทั้งยังมีศิลปินบางคนหรือบางกลุ่มที่ไมได้เป็นเพื่อชีวิตอย่างเต็มตัว แต่เนื้อหาของเพลงหลายเพลงมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับเพื่อชีวิตหรือจัดให้อยู่ประเภทเพื่อชีวิตได้ เช่น
- จรัล มโนเพ็ชร
- เสกสรร ทองวัฒนา
- ธนพล อินทฤทธิ์
- หนู มิเตอร์
- นิค นิรนาม
- พลพล พลกองเส็ง
- กะท้อน
- สิบล้อ
- สลา คุณวุฒิ
จุดกำเนิด
[แก้]แต่เริ่มเดิมทีในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ยังไม่มีการบัญญัติคำว่า “เพลงเพื่อชีวิต”แยกออกมาจากเพลงไทยสากลอย่างชัดเจนนัก โดยในยุคนั้น ครูนารถ ถาวรบุตร บรมครูนักแต่งเพลงได้แบ่งเพลงไทยออกเป็น 3 ประเภท ตามเนื้อหาของเพลง ได้แก่ กลุ่มเพลงปลุกใจให้รักชาติ รักความเป็นไทย กลุ่มเพลงรัก หรือที่เรียกว่า เพลงประโลมโลกย์ กลุ่มเพลงชีวิต ที่หยิบยกเอารายละเอียดชีวิตของคนในอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะชนชั้นล่างที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก มาบอกเล่าผ่านคำร้องที่เรียบง่ายและกินใจ ซึ่งกลุ่มเพลงชีวิตนั้นก็ได้กลายมาเป็นรากฐานให้กับ เพลงลูกทุ่ง และเพื่อชีวิตในเวลาต่อมา แนวดนตรีเพื่อชีวิตถูกแยกออกมาอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2516 หลัง เหตุการณ์ 14 ตุลา นำโดย แสงนภา บุญราศรี โดยเนื้อหานั้นนอกจากจะกล่าวถึงชีวิตที่ลำบากยากเข็ญของประชนหาเช้ากินค่ำแล้ว ยังมีการเพิ่มเนื้อหาเสียดสี ยั่วล้อสังคม รวมไปถึงการโกงกินของผู้แทนและนักการเมืองอีกด้วย แหล่งกำเนิดของเพลงเพื่อชีวิตสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แหล่งกำเนิดทางรูปแบบ คือ ดนตรีโฟล์คตะวันตก ร็อค เพลงลูกทุ่ง ดนตรีพื้นเมืองไทย คันทรี แหล่งกำเนิดทางวัฒนธรรม คือ หลัง เหตุการณ์ 14 ตุลา โดยเครื่องดนตรีหลักๆจะมี นักร้อง กีตาร์ กีตาร์เบส กลองชุด และอาจมีเครื่องดนตรีอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นมาเช่น คีย์บอร์ด ฮาร์โมนิก้า เพอร์คัชชัน ไวโอลิน เปียโน และ เครื่องดนตรีไทย เป็นต้น
ที่มาของคำว่าเพลงเพื่อชีวิต
[แก้]เพลงเพื่อชีวิตคือประวัติศาสตร์ในทุกช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งความหมายของคำว่าเพลงเพื่อชีวิตเองก็แตกต่างกันไปในแต่ละยุค แต่กระนั้นก็ยังคงไว้ซึ่งแกนแห่งการสร้างสรรค์ซึ่งมีเนื้อเพลงที่โดดเด่นในรูปแบบที่เรียบง่ายฟังสบาย โดยก่อนที่จะมาเป็นคำว่าเพลงเพื่อชีวิตนั้น เพลงเหล่านี้ถูกเรียกว่า “เพลงชีวิต” มาก่อน จากนั้นจึงได้มีการบัญญัติชื่อใหม่ในปีพ.ศ. 2480 ซึ่งหมายถึง “เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน” จนกระทั่งเข้าสู่ทศวรรษ 2500 เพลงเพื่อชีวิตซบเซาจนถึงขีดสุด ต่อมานักเขียนนาม จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้ให้กำเนิดเพลงเพื่อชีวิตอีกแนวหนึ่งภายในกำแพงคุกในฐานะของนักโทษทางการเมืองและได้กลายมาเป็นต้นแบบของเพลงเพื่อชีวิต ภายใต้แนวคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อชีวิต” ซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในยุคต่อๆมา และในช่วงปี พ.ศ. 2516 เพลงเพื่อชีวิตก็แบ่งตัวออกมาเป็นเอกเทศอย่างชัดเจน จึงกล่าวได้ว่าเพลงเพื่อชีวิตคือเพชรเม็ดงามทางด้านวัฒนธรรมอันเกิดจากเหตุการณ์ 14 ตุลา นั่นเอง
เพลงเพื่อชีวิตกับเหตุการณ์ 14 ตุลา
[แก้]เพลงเพื่อชีวิตในยุคก่อน 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
[แก้]เส้นทางของเพลงเพื่อชีวิตนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อน เหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งเป็นยุคแห่งการสั่งสมความกดดันของการเมืองไทยภายใต้ระบบเผด็จการทหารของ จอมพล ถนอม กิตติขจร, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพล ประภาส จารุเสถียร สิทธิเสรีภาพของประชนถูกจำกัด เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา และผู้ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ของเพลงเพื่อชีวิตก็คือ แสงนภา บุญราศรี อดีตราชาละครร้องในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงปีพ.ศ. 2475 เขาได้บุกเบิกการแต่ง เพลงไทยสากล ที่สะท้อนชีวิตชนชั้นล่างของสังคมเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 2480 โดยเรียกว่าเป็น "เพลงชีวิต” อาทิ เช่น คนปาดตาล คนลากขยะ และอื่นๆ ต่อมาในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2490 เรื่องราวการซื้อเสียงของ ส.ส. และการคอร์รัปชั่นโกงกินกระทั่งจอบและเสียมของเสนาบดีผู้ฉ้อฉลก็ได้ปรากฏขึ้นในเนื้อหาเพลง “เป๊ะเจี๊ยะ” และ “พรานกระแช่” แต่เนื้อหาของเพลงยังไม่ได้เสียดสีนักการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมานัก ทำให้ผู้คนยอมรับเพลง “มนต์การเมือง” ที่ ครูสุเทพ โชคสกุล ประพันธ์ให้ คำรณ สัมบุณณานนท์ ขับร้อง ในราวปีพ.ศ. 2490 เป็นเพลงเสียดสีนักการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาเป็นเพลงแรกเสียมากกว่า ไม่เพียงขับร้องและประพันธ์เพลงเองเท่านั้น แสงนภา บุญราศรี ยังนำเอาประสบการณ์จากการที่เคยเป็นนักแสดงมาใช้ประกอบกับบทเพลงอีกด้วย เช่น เมื่อร้องเพลงคนปาดตาลก็จะแต่งกายชุดคนปาดตาลอย่างสมจริงสมจัง หรือเมื่อร้องเพลงคนลากขยะก็จะนำรถขยะขึ้นมาประกอบการแสดงบนเวที ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบให้กับศิลปินรุ่นหลังเช่น เสน่ห์ โกมารชุน และคำรณ สัมบุณณานนท์ เป็นต้น
เพลงเพื่อชีวิตในยุค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน
[แก้]เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชนนักศึกษาและประชาชน เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ส่งผลให้เพลงเพื่อชีวิตพัฒนาขึ้นมาอย่างถึงขีดสุด โดยหลังจากที่จิตร ภูมิศักดิ์ผู้ถูกคุมขังในฐานะนักโทษทางการเมืองได้เผยแพร่ผลงานของเขาแล้ว คนก็เริ่มเขียนกลอน กวี ภายใต้อุดมการณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้เพลงเพื่อชีวิตในรูปแบบของปัญญาชนถือกำเนิดขึ้น อีกทั้งกวีของเขาต่อมาได้ถูกนำไปใส่ทำนอง ได้แก่ แสงดาวแห่งศรัทธา และ เปิบข้าว เป็นต้น
จากเหตุการณ์ทุ่งใหญ่ที่จังหวัดกาญจนบุรีที่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่พาดาราสาวไปเที่ยวป่าล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเกิดเหตุเครื่องบินตก เป็นผลให้พบซากสัตว์ป่าที่ถูกล่ามากมายนั้น สื่อมวลชนและนักศึกษาได้นำเหตุการณ์ดังกล่าวไปเผยแพร่และได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก ส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาล จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่งออกหนังสือในนาม ชมรมคนรุ่นใหม่ ชื่อว่า มหาวิทยาลัยยังไม่มีคำตอบ ตีพิมพ์ข้อความเกี่ยวกับปัญหาการต่ออายุราชการของจอมพล ประภาส จารุเสถียร ที่กล่าวว่าสถานการณ์ต่างประเทศไม่น่าไว้วางใจ หนังสือดังกล่าวมีถ้อยคำเสียดสี สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี จากการกระทำนี้ ส่งผลให้นักศึกษาทั้ง 15 คนถูกตั้งกรรมการสอบสวน และ 9 คน ถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัย นักศึกษาและประชาชานจึงรวมตัวกันประท้วงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับเป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมประท้วงข้ามวันข้ามคืน
ในยุคนั้นได้ให้กำเนิดศิลปินเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมาอย่างมากมายผ่านเวทีทางการเมือง มีการแต่งบทเพลง สู้ไม่ถอย โดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และได้รับการยอมรับว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตเพลงแรก ลักษณะเป็นเพลงมาร์ชที่ปลุกเร้าสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนที่มาชุมนุม นอกจากนี้ยังมีศิลปินเพลงเพื่อชีวิตผู้ยิ่งใหญ่ ถือกำเนิดบทบาทขึ้นมา นั่นก็คือ สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน เขาเป็นผู้ที่อยู่ร่วมในการประท้วง คอยแต่งบทกลอนต่างๆให้โฆษกบนเวทีอ่านเพื่อปลุกเร้ากำลังใจและรวบรวมความคิดให้เป็นหนึ่งเดียว เขาได้แต่งเพลง สานสีทอง โดยนำทำนองมาจากเพลง Find The Cost Of Freedom ของวง Crosby Still Nash & Young เพลงนี้เกิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกันกับเพลงสู้ไม่ถอย ทำให้เพลงเพื่อชีวิตกลายเป็นบทเพลงทางวัฒนธรรมที่ขับขานเพื่อเล่าเรื่องราวของสังคมในสมัยนั้น ทั้งยังให้กำเนิดวงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกที่สร้างความประทับใจให้แก่คนรุ่นนั้นเป็นอย่างมาก คือวง คาราวาน
สุรชัย จันทิมาธร นามปากกา ท.เสน กับ วีรศักดิ์ สุนทรศรี นามปากกา สัญจร ได้ก่อตั้งวงดนตรี ท.เสนและสัญจร ขึ้น เพื่อร่วมแสดงดนตรีในการชุมนุมประท้วง บทเพลงของพวกเขาได้นำเอาพื้นฐานดนตรีตะวันตกที่มีเครื่องดนตรีอะคูสติก เช่น กีตาร์ ฮาร์โมนิกา และเครื่องดนตรีเคาะจังหวะ ตามสไตล์ของ Bob Dylan ศิลปินอเมริกันที่โด่งดังอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน มาประยุกต์เข้ากับเนื้อร้องภาษาไทยและได้ครองใจประชาชนทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังวงอื่นๆ เช่น คุรุชน, กงล้อ, รวมฆ้อน และโคมฉาย ที่ใช้รูปแบบดนตรีเดียวกัน มีกลุ่มอื่นที่ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า เพื่อปลุกเร้าให้เกิดความคึกคัก เช่น วงกรรมาชน, วงรุ่งอรุณ และวงไดอะเล็คติค และกลุ่มที่มีท่วงทำนองเพลงไทยเดิมและพื้นบ้าน ใช้เครื่องดนตรีไทย เช่น วงต้นกล้า มีเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์เป็นสมาชิกรุ่นที่หนึ่ง วงลูกทุ่งสัจธรรม และวงอื่นๆอีกมากมายเกิดขึ้นมา ในการแสดงของ ท.เสน และสัญจรจะมีการบันทึกแถบเสียงทุกครั้งเพื่อใช้ไว้เผยแพร่ในโอกาสต่างๆทำให้บทเพลงของพวกเขาเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้น ท.เสนและสัญจรได้มีโอกาสรู้จักกับวงดนตรีบังคลาเทศแบนด์ ที่มี ทองกราน ทานา และมงคล อุทก มงคล อุทก และได้รวมตัวขึ้นเป็นวงดนตรีคาราวาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวของดนตรีเพื่อชีวิต ด้วยผลงานและความสามารถของพวกเขาทำให้บทเพลงเพื่อชีวิตสามารถเปิดการแสดงร่วมกับวงดนตรีในเชิงธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง หรือเปิดการแสดงตามโรงภาพยนตร์ได้
หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาผ่านพ้นไป นายสัญญา ธรรมศักดิ์ รัฐบาลพลเรือนที่สนับสนุนบทบาทของนักศึกษาในเรื่องประชาธิปไตย ให้เสรีกับประชาชนอย่างเต็มที่ มีการจัดนิทรรศการจีนแดง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการชี้นำลัทธิคอมมิวนิสต์ มีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ลัทธิของมาร์กซ-เลนิน นำเสนอประเด็น ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน และอื่นๆ เปิดเผยสู่สายตาสาธารณชนอย่างกว้างขวาง เรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำความคิดทางการเมืองซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามในอดีต เช่น จิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคนอื่นๆก็ได้รับการกล่าวถึง และแตกหน่อเป็นความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับสังคมไทยเช่นกัน โดยเผยแพร่ออกมาในรูปแบบคล้างกับเพลงเพื่อชีวิตที่ประท้วงสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกา
ช่วงปี พ.ศ. 2517 - 2519 เป็นช่วงที่เพลงเพื่อชีวิตได้รับความนิยมถึงขีดสุดในแวดวงนักศึกษาและปัญญาชน เพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้นมีมากกว่า 2,000 เพลง เนื้อหาทั้งหมดครอบคลุมกิจกรรมที่นักศึกษาปัญญาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง คาบเกี่ยวระหว่างการสะท้อนปัญหาบ้านเมืองกับการแสดงออกซึ่งอุดมคติในการสร้างสรรค์สังคมใหม่ ผ่านวรรณกรรม ภาพยนตร์ และบทเพลง ซึงเพลงเพื่อชีวิตเองก็มีบทบาทที่สำคัญในการบ่มเพาะความคิดความอ่านเกี่ยวกับตนเองและสังคมส่วนรวมให้กับหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้น
จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการปราบปรามนิสิตนักศึกษาครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิสิตนักศึกษาบางส่วนจึงได้หลบหนีเข้าป่าเพื่อร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไป
เพลงเพื่อชีวิตยุคปฏิวัติ
[แก้]สืบเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา ภายหลังจากเหตุการณ์นั้น ประชาธิปไตยก็ได้สิ้นสุดลง สังคมไทยกลับเข้าสู่การเป็นสังคมเผด็จการณ์อีกครั้ง กิจกรรมนักศึกษาทุกชนิดถูกระงับ นักศึกษาในช่วงเวลานั้นเห็นว่าสังคมไทยจะไม่สามารถมีความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริงหากสังคมยังเป็นเผด็จการอยู่ จึงได้เข้าร่วมกับ พคท. ที่ปฏิบัติงานกันอยู่ในเขตพื้นที่ป่าเขาในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บริเวณเทือกเขาภูพาน ภูซาง เขาค้อ ภูหินร่องเกล้า ดอยยาว เป็นต้น และได้มีการแต่งบทกวีโดยวัฒน์ วรรลยางกูร ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งภายหลังบทกวีนี้ได้กลายมาเป็นเพลงเพื่อชีวิตที่ชื่อจากลานโพธิ์ถึงภูพาน มีเป้าหมายในการปลุกขวัญกำลังใจเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลและเป็นการเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมอีกด้วย เพลงเพื่อชีวิตในยุคนี้จึงสามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าเพลงปฏิวัติ (Rebellion Song) ในขณะนั้นวงคารานซึ่งมีพงษ์เทพ กระโดนชำนาญร่วมเป็นสมาชิกแล้ว และวงเพื่อชีวิตอีกหลายวง เช่น โคมฉาย กงล้อ คุรุชน รวมฆ้อน กรรมาชน และอื่นๆ ก็ได้เข้าร่วมปฏิบัติงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย เมื่อการปฏิวัติผ่านไปจนถึงช่วงสุดท้าย เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ นำไปสู่การเกิดวิกฤตศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค จึงก่อให้เกิดบทเพลงที่แสดงออกถึงความท้อแท้ สับสน และท้อถอยในแนวทางการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวที่มีต่อสังคมในอุดมคติ ทำให้มีการปรากฏของบางบทเพลงที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ เช่น เขาไฟ บ้านนาสะเทือน รวมไปถึงเพลง คิดถึงบ้าน หรือ เดือนเพ็ญ ของ นายอัศนี พลจันทร์ หรือ นายผี และเพลงอื่นๆอีกมากมาย
ภายหลังการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ที่มีเนื้อความนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดในช่วงเวลาของความขัดแย้ง บรรดาคนที่เข้าร่วมการปฏิวัติก็กลับคืนสู่สังคมเมือง โดยก่อนจากกันได้มีการแต่งเพลงกำลังใจ เพื่อเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาที่รักษาอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมต่อสู้ต่อไปก่อนที่จะออกจากป่า
เพลงเพื่อชีวิตยุคธุรกิจเพลง พ.ศ. 2525 - ปัจจุบัน
[แก้]หลังจากการกลับมาของคาราวานและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ คาราวานได้ทำสัญญากับบริษัทเพลง อีเอ็มไอ ประเทศไทย และบันทึกเสียงเพื่อออกอัลบัมอีกครั้ง โดยเพลงที่อยู่ในอัมบั้มเป็นเพลงที่เกิดขึ้นในยุคเพลงเพื่อชีวิต และ เพลงปฏิวัติ และด้วยเครื่องเสียงและเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพมากกว่าแต่ก่อน ทำให้คาราวานได้ไปแสดงคอนเสิร์ตฟอร์ยูนิเซฟ ในปีพ.ศ. 2525 จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแสดงเพลง คืนรัง ซึ่งถือเป็นการเริ่มกระแสปรับเข้าสู่ระบบธุรกิจดนตรียุคใหม่ โดยในยุคนี้เพลงเพื่อชีวิตมีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่าย ต่างจากสมันก่อนที่แต่งเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมือง และยังมีการทดลองแนวทางดนตรีใหม่ๆ เช่น สุรชัย จันทิมาธร ใช้วงร็อคเป็นแบ็คอัพ ทำให้คาราวานถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในเรื่องของความบกพร่องไม่สมบูรณ์ทางการแสดง และเรื่องของอุดมการณ์ แต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้และฝึกฝนตัวเองให้ยืนอยู่ได้ในการแข่งขันของธุรกิจเพลงไทยทำให้คาราวานยืนหยัดในฐานะมืออาชีพและความอิสระในวิถีทางของตนที่ชัดเจนและได้รับการยอมรับในที่สุด
ต่อมาได้มีวงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการจัดการระบบธุรกิจ และกลายเป็นวงเพื่อชีวิตที่ประสบความสำเร็จสูงสุด นั่นก็คือวงคาราบาวที่เกิดไล่หลังแฮมเมอร์ได้ไม่นาน เพลงวณิพก ถือเป็นความสำเร็จที่ปลุกกระแสเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมากลายเป็นกระแสใหญ่ของวงการเพลงไทยอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ทั้ง พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, คาราวาน, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, คาราบาว, โฮป, คนด่านเกวียน, ฤทธิพร อินสว่าง, ศุ บุญเลี้ยง, นิรนาม, ซูซู, อินโดจีน,คันไถ และอีกหลายวงเอง ก็มีส่วนเกื้อหนุนให้กระแสเพลงเพื่อชีวิตถาถมรุนแรงจนถึงที่สุด
เพลงเพื่อชีวิตนี้ได้เปลี่ยนเนื้อหาจากบทเพลงประท้วง เพลงแห่งอุดมการณ์ กลายมาเป็นเพลงสะท้อนสังคม ที่คลายความรุนแรงลงไปตายกระแสการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบทุนนิยม และ บริโภคนิยม เพลงเพื่อชีวิตเองก็ได้เข้ามามีพื้นที่ในตลาดเพลงไทย ถือเป็นความสำเร็จในทางยุทธศาสตร์ที่ขยายวงกว้างออกไปแล้ว
อีกด้านหนึ่งเพลงที่มุ่งเน้นที่ปรัชญาความคิดพร้อมกับดนตรีที่เรียบง่ายไม่แพรวพราว ออกมาจากความรู้สึกกับน้ำเสียงและคำร้องที่มีเนื้อหาที่มีสาระต่อสังคม ก็ได้กลายมาเป็นเพลงใต้ดิน ซึ่งควบคู่มากับกระแสการต่อสู้ของนักศึกษาภายหลังยุค 14 ตุลาคมเป็นต้นมา เพื่อแสวงหาแนวร่วมทางความคิด และถูกทำเป็นเทปออกมาขายกันใต้ดิน ไม่มีการเปิดตามสถานีวิทยุ ไม่มีค่ายเทปวางแผนโปรโมทและจัดจำหน่าย มีเพียงโปสเตอร์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่กล่าวถึงเท่านั้น เพื่อเป็นการขยายแนวคิดและส่งผลสะเทือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ฟังมีตัวเลือกใหม่ในการซื้อ แนวเพลงของแต่ละคนต่างมีความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สนใจว่าต้องมีบุคลิคหน้าตาดี หรือเพลงเพลงต้องมีแนวดนตรีที่เร็วและกระชับ แต่เน้นไปทางการนำเสนอความคิดมากกว่า
ถึงแม้กระแสสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่เพลงเพื่อชีวิตก็ยังคงไว้ซึ่งบทบาทในเนื้อหาทางสาระทางสังคมไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเสมือนบันทึกเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ของสังคมไทยในแต่ละยุคสมัยและสะท้อนความคิดความรู้สึกของคนในเหตุการณ์สำคัญต่างๆได้เป็นอย่างดี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ books.google.com Pongsit Kamphee (อังกฤษ)
- ↑ ถนนสายนี้ชื่อประชาธิปไตย ?, "หากไม่มีวันนั้น 14 ตุลา" เก็บถาวร 2013-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556
บรรณานุกรม
[แก้]- ปฐมบทเพลงเพื่อชีวิต www.kreenjairadio.com Link เก็บถาวร 2009-02-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ประวัติเพลงเพื่อชีวิต Link
- ก่อนจะถึง 14 ตุลา www.14tula.com Link
- www.positioningmag.com/content/เพลงเพื่อชีวิตจาก-14-ตุลา-ถึงเมืองไทยรายสัปดาห์ Link[ลิงก์เสีย]
- ตำนานเพลงเพื่อชีวิต Link
- 14 ตุลา Link
- เพลงเพื่อชีวิต.. Link[ลิงก์เสีย]
- เพลงเพื่อชีวิต ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (2516-2519) Link เก็บถาวร 2016-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- หนูรักเพลงปฏิวัติ Link
- ดนตรี: ตำนานเพลงเพื่อชีวิต ฉบับย่อ – การผ่านพ้นของบทเพลงไทยที่ไม่ไร้สาระ (2) Link
- เพลงเพื่อชีวิตยุคธุรกิจเทปเพลง (พ.ศ. 2525-ปัจจุบัน) Link เก็บถาวร 2016-04-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน