ญ้อ
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
120,000 | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
บางส่วนของภาคอีสานของไทย, ตอนกลางของประเทศลาว, ทางตะวันตกของประเทศกัมพูชา | |
ภาษา | |
ภาษาญ้อ, ภาษาอีสาน/ภาษาลาว, ภาษาไทย ภาษาเขมร | |
ศาสนา | |
พุทธเถรวาท |
ญ้อ (หรือ ย้อ, ญ่อ, โย้, ไทญ้อ) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กัมพูชา และลาว
ประวัติ
[แก้]มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของลาวแถบเมืองมะหาไซ แขวงคำม่วน ประเทศลาว[1] หรือเมืองหงสา แขวงไชยบุรี ตอนเหนือของเมืองหลวงพระบาง ภายหลังได้อพยพออกจากเมือง โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่นำโดยท้าวหม้อ ได้ล่องแพมาตามแม่น้ำโขงเข้าสู่เวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองไชยบุรี ปากแม่น้ำสงครามฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (ปัจจุบันคือ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม) ส่วนกลุ่มที่สอง นำโดยขุนบรม ได้นำพาผู้คนอพยพไปยังเมืองคำเกิด ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทั้งสองเมืองนี้ขึ้นตรงต่อเจ้าอนุวงศ์ จนเมื่อเกิดสงครามสยามกับเวียงจันทน์ กองทัพสยามได้เกลี้ยกล่อมให้ชาวเมืองคำม่วน คำเกิด ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองไชยบุรี ซึ่งเป็นเมืองเดิมที่ชาวญ้อกลุ่มของท้าวหม้อเคยสร้างบ้านสร้างเมือง ได้มาตั้งบ้านเรือนกันที่นี่
หลังจากนั้นมีการย้ายถิ่นฐานหลายครั้งจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวา จากหลากหลายเมือง หลากชาติพันธุ์ ส่งผลให้เมืองที่บุกเบิกโดยชาวญ้อที่เป็นผู้บุกเบิกตั้งถิ่นฐานในช่วงแรกเริ่มขยับขยายโยกย้ายกระจัดกระจายออกไป ครัวญ้อขนาดใหญ่ นำโดยพระคำก้อนและพระคำแดงได้ตั้งบ้านเรือนบริเวณตำบลบึงกระดาน ส่วนครัวชาวเมืองคำเกิดได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำชี ชื่อบ้านท่าขอนยาง และให้ย้ายมาสังกัดแขวงเมืองกาฬสินธุ์ ปัจจุบันชาวญ้อในประเทศไทยตั้งถิ่นฐานกระจายในหลายพื้นที่ โดยตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มใหญ่ในหลายจังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี และสระแก้ว[2]
วัฒนธรรม
[แก้]ญ้อพูดภาษาญ้อ ชาวญ้อมีอาหารประจำถิ่น เช่น หมกเจ๊าะ ปิ้งอั่วปลา แกงหน่อเลา ซึ่งเป็นอาหารคล้ายอาหารลาวหรืออาหารอีสานของไทย มีประเพณีดั้งเดิม อย่างบุญส่วงเฮือไฟโบราณ บุญแห่ดอกไม้ บุญตูบ เป็นต้น[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กฤษดากร บรรลือ. "รำมวยโบราณสกลนคร" (PDF).
- ↑ "ญ้อ". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
- ↑ "วิถีชีวิตและสัมพันธ์ริมฝั่งโขงของชาวญ้อสองดินแดน". สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).