ข้ามไปเนื้อหา

ซีไวส์ไจแอนต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทีที ซีไวส์ไจแอนต์ (อังกฤษ: TT Seawise Giant) ซึ่งเดิมมีชื่อว่า ออปปามะ (Oppama) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แฮปปีไจแอนต์ (Happy Giant) ยาห์เรไวกิง (Jahre Viking) น็อกเนวิส (Knock Nevis) และมอนต์ (Mont) เป็นเรือบรรทุกน้ำมันดิบขนาดใหญ่พิเศษ (ULCC) และเป็นเรือขับเคลื่อนด้วยตนเองที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1974–1979 โดยบริษัท ซูมิโตโมะ เฮฟวี อินดัสตรีส์ จำกัด ที่เมืองโยโกซูกะ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น เรือลำนี้มีระวางบรรทุกสูงสุดที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา เมื่อบรรทุกพิกัดแล้วจะมีระวางขับน้ำ 657,019 ตัน

ในช่วงเวลาที่ถูกสร้างขึ้น เรือลำนี้ถือเป็นเรือที่เคลื่อนที่ด้วยกำลังของตนเองที่มีน้ำหนักมากที่สุดในบรรดาเรือทุกประเภท ด้วยความลึกของตัวเรือเมื่อบรรทุกเต็มที่ 24.6 เมตร (81 ฟุต) และมีความยาว 458.45 เมตร (1,504.10 ฟุต) เรือลำนี้จึงไม่สามารถผ่านช่องแคบอังกฤษ คลองสุเอซ หรือคลองปานามาได้[1] โดยรวมแล้ว เรือลำนี้ถือเป็นเรือขับเคลื่อนด้วยกำลังของตนเองที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา[2][3] ในปี ค.ศ. 2013 ความยาวรวมของเรือลำนี้ถูกแซงหน้าไป 30 เมตรโดยสถานีผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ เชลล์ พรีลูด (Shell Prelude FLNG) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าชนิดโมโนฮัลล์ มีความยาว 488 เมตร (1,601 ฟุต) และมีระวางขับน้ำ 600,000 ตัน เครื่องยนต์ของซีไวส์ไจแอนต์ใช้กำลังจากกังหันแบบยุงสตรอม

เรือได้รับความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศในปี ค.ศ. 1988 ระหว่างสงครามอิรัก–อิหร่าน แต่ต่อมาได้รับการซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง[4] เรือลำลี้ได้รับการดัดแปลงให้เป็นหน่วยเก็บและขนถ่ายน้ำมันลอยน้ำ (Floating Storage and Offloading Unit: FSO) ในปี ค.ศ. 2004 และถูกจอดเทียบท่าอยู่ห่างจากชายฝั่งของประเทศกาตาร์ ในอ่าวเปอร์เซีย บริเวณแหล่งน้ำมันอัลชาฮีน[5]

เรือได้ถูกขายให้แก่บริษัทรับซื้อเรือเก่าเพื่อนำไปรื้อถอนในประเทศอินเดีย และได้มีการเปลี่ยนชื่อเรือเป็น มอนต์ สำหรับการเดินทางครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2009 เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรของอินเดียเรียบร้อยแล้ว เรือได้แล่นไปยังอู่ตัดเรืออลัง เมืองอลัง รัฐคุชราต เพื่อทำการปลดระวางโดยการนำเรือไปเกยตื้นบนชายหาดเพื่อรื้อถอน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ. 2010[5][6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The remarkable story of the largest ship ever built". telegraph.co.uk. 1 March 2018. สืบค้นเมื่อ 6 October 2022.
  2. Baljit Singh (11 July 1999). "The world's biggest ship". The Tribune. สืบค้นเมื่อ 4 June 2010.
  3. Rich Galiano. "Artifacts & Shipwrecks: Tanker". NJScuba.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2010. สืบค้นเมื่อ 4 June 2010.
  4. "Iraq Bombs 5 Huge Tankers at Iran Oil Site". Los Angeles Times. 15 May 1988.
  5. 5.0 5.1 "The world's largest ship to be scrapped". Bluepulz. 5 September 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 March 2010. สืบค้นเมื่อ 4 June 2010.
  6. Bhavnagar (19 December 2009). "Crude oil carrier Mont awaits clearance to dock at Alang". The Indian Express. สืบค้นเมื่อ 4 June 2010.