ซิมโฟนีหมายเลข 3 (เบทโฮเฟิน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หน้าปก Eroica Symphony มีร่องรอยจากการที่เบทโฮเฟินขูดชื่อนโปเลียนออกไป

ซิมโฟนีหมายเลข 3 ในบันไดเสียง อี แฟลต เมเจอร์ (อังกฤษ: Symphony No. 3 in E flat major) ของลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน รู้จักกันในชื่อ อีรอยกา ซิมโฟนี (Eroica Symphony; Eroica มาจากภาษาอิตาลี หมายถึง "heroic", วีรบุรุษ) เป็นผลงานซิมโฟนีของเบทโฮเฟินที่บางครั้งถูกอ้างถึงว่าเป็นจุดสิ้นสุดของดนตรียุคคลาสสิก และเป็นจุดเริ่มต้นของดนตรียุคโรแมนติก [ต้องการอ้างอิง]

เบทโฮเฟินเริ่มแต่งซิมโฟนีบทนี้ด้วยความเลื่อมใสในตัวนโปเลียน โบนาปาร์ต (1769-1821) ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เดิมเมื่อเริ่มแต่ง เขาอุทิศผลงานชิ้นนี้ให้กับนโปเลียน พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า Bonaparte เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 1803 แล้วเสร็จเมื่อต้นปี ค.ศ. 1804

ต่อมาเมื่อนโปเลียนสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ พระนามว่า จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1804 เบทโฮเฟินผิดหวังในความมักใหญ่ใฝ่สูงของนโปเลียน ถึงกับใช้มีดกรีดกระดาษโน้ตเพลงต้นฉบับเพื่อขูดชื่อโบนาปาร์ตออก จนทำให้ต้นฉบับเป็นรอยฉีกขาด [1] เบทโฮเฟินได้เปลี่ยนชื่อซิมโฟนีบทนี้เป็น Sinfonia eroica, composta per festeggiare il sovvenire d'un grand'uomo ("heroic symphony, composed to celebrate the memory of a great man") หรือเรียกสั้นๆ ว่า Sinfonia eroica [2]

ซิมโฟนีบทนี้ออกบรรเลงครั้งแรกเป็นการภายในต่อเจ้าชายล็อพโควิทซ์ ผู้อุปถัมภ์เบทโฮเฟิน และแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Theater an der Wien กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1805

ซิมโฟนีบทนี้แบ่งออกเป็น 4 ท่อน ได้แก่

  • I. Allegro con brio
  • II. Marcia funebre: Adagio assai in C minor
  • III. Scherzo: Allegro vivace
  • IV. Finale: Allegro molto

มูฟเมนต์ที่ 2 มีชื่อเรียกว่า funeral march นิยมใช้บรรเลงในงานศพ หรืองานรำลึกถึงบุคคลที่เสียชีวิต เช่นในงานศพของเฟลิคส์ เม็นเดิลส์โซน [3]. พิธีรำลึกถึงตัวอาตูโร ตอสกานินี [4] แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ [5] และพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมที่มิวนิกในช่วงโอลิมปิกฤดูร้อน 1972

อ้างอิง[แก้]

  1. Steinberg, Michael. "The Symphony: a listeners guide". p. 12. Oxford University Press, 1995.
  2. Eroica, Napoleon Series.
  3. Wilfrid Blunt, On Wings of Song, a biography of Felix Mendelssohn, London 1974.
  4. "Music and Arts". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-08. สืบค้นเมื่อ 2010-07-09.
  5. "American Heritage". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-02-02. สืบค้นเมื่อ 2010-07-09.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]