ข้ามไปเนื้อหา

ซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดัชชีซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์

Herzogtum Sachsen-Coburg-Saalfeld (เยอรมัน)
ค.ศ. 1735–ค.ศ. 1826
ซัคเซิน-ซาลเฟ็ลท์ (ประมาณ ค.ศ. 1680)
ซัคเซิน-ซาลเฟ็ลท์ (ประมาณ ค.ศ. 1680)
ซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์ในเครือดัชชีแอร์เน็สท์
ซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์ในเครือดัชชีแอร์เน็สท์
สถานะรัฐในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
รัฐในสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์
รัฐในสมาพันธรัฐเยอรมัน
เมืองหลวง
การปกครองดัชชี
ดยุก 
• ค.ศ. 1735–1745
คริสทีอัน แอ็นสท์ที่ 2 (องค์แรก)
• ค.ศ. 1806–1826
แอ็นสท์ที่ 3 (องค์สุดท้าย)
ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ตอนต้น
• การแบ่งแยกแอร์ฟวร์ท
ค.ศ. 1572

6 สิงหาคม ค.ศ. 1735
• เปลี่ยนชื่อโดยจักรพรรดิอันเกี่ยวเนื่องกับสืบทอดของสายตระกูลแอร์เน็สท์


ค.ศ. 1735
• เสียซาลเฟ็ลท์,
    ได้รับโกทา,
    เปลี่ยนชื่อ

11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1826
ก่อนหน้า
ถัดไป
ซัคเซิน-โคบวร์ค
ซัคเซิน-ซาลเฟ็ลท์
ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
ซัคเซิน-ไมนิงเงิน

ซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์ (เยอรมัน: Sachsen-Coburg-Saalfeld) เป็นหนึ่งในดัชชีของเครือดัชชีซัคเซินซึ่งปกครองโดยสายแอร์เน็สท์ของราชวงศ์เว็ททีน สถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1699 และดำรงอยู่จนถึงการจัดสรรใหม่ของดินแดนแอร์เน็สท์ภายหลังการสิ้นสายของตระกูลซัคเซิน-โกทาใน ค.ศ. 1825[1] โดยซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์ได้รับเขตโกทา แต่ต้องสูญเสียซาลเฟ็ลท์ให้แก่ซัคเซิน-ไมนิงเงิน

ซัคเซิน-ซาลเฟ็ลท์ (ค.ศ. 1680–1735)

[แก้]
วังซาลเฟ็ลท์ สร้างหลัง ค.ศ. 1677 เป็นที่ประทับของดยุก

หลังจากแอ็นสท์ที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-โกทา สิ้นพระชนม์ในเมืองโกทา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1675 แคว้นของพระองค์ถูกแบ่งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1680 แก่พระโอรสทั้งเจ็ดที่ยังมีชีวิตอยู่ เขตแดนของซัคเซิน-ซาลเฟ็ลท์ตกเป็นของพระโอรสองค์สุดท้อง คือ โยฮัน แอ็นสท์ที่ 4 ซึ่งได้รับตำแหน่งดยุกแห่งซัคเซิน-ซาลเฟ็ลท์ อย่างไรก็ตาม ราชรัฐใหม่นี้ยังไม่มีอิสระโดยสมบูรณ์ ต้องพึ่งพาอำนาจจากเมืองโกทาในการบริหาร 3 เขต ได้แก่ ซาลเฟ็ลท์, กราฟเฟินทาล และพร็อบส์เซลลา ซึ่งเรียกรวมกันว่า “เน็กซัส โกธานัส” (Nexus Gothanus) เนื่องจากเมืองโกทาเป็นที่ประทับของพระเชษฐาพระองค์โตของพระองค์ คือ ฟรีดริชที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทินบวร์ค โดยซาลเฟ็ลท์เป็นที่ประทับของดยุกซัคเซิน-ซาลเฟ็ลท์ระหว่าง ค.ศ. 1680 ถึง 1735

เมื่ออัลแบร์ทที่ 5 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1699 โดยไม่มีทายาท การสืบมรดกกลายเป็นข้อพิพาท โดยเฉพาะกับแบร์นฮาร์ทที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-ไมนิงเงิน และข้อพิพาทนี้ไม่ได้รับการยุติจนถึง ค.ศ. 1735 โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่ของซัคเซิน-โคบวร์คตกเป็นของสายแอร์เน็สท์ใหม่แห่งซัคเซิน-ซาลเฟ็ลท์ และก่อตั้งราชรัฐใหม่ชื่อว่า ซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์ โดยมีโยฮัน แอ็นสท์เป็นดยุก แต่เขตซ็อนเนอแบร์คและน็อยเฮาส์อัมเรินเว็คต้องยกให้ซัคเซิน-ไมนิงเงิน และเขตซ็อนเนอเฟ็ลท์ให้แก่ซัคเซิน-ฮิลด์บวร์คเฮาเซิน ส่วนหนึ่งในสามของเขตเริมฮิลท์และห้าในสิบสองของเขตทีมาร์ยังคงอยู่กับซัคเซิน-โคบวร์ค

ซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์ (ค.ศ. 1735–1826)

[แก้]
ดัชชีซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์ (สีส้ม) ใน ค.ศ. 1820

หลังการสิ้นพระชนม์ของดยุกโยฮัน แอ็นสท์ที่ 4 ใน ค.ศ. 1729 พระโอรสของพระองค์ ได้แก่ คริสทีอัน แอ็นสท์ที่ 2 และฟรันทซ์ โยซีอัส ทรงปกครองร่วมกัน โดยแยกกันอยู่คนละเมือง โดยคริสทีอัน แอ็นสท์ประทับที่ซาลเฟ็ลท์ ส่วนฟรันทซ์ โยซีอัสทรงเลือกโคบวร์คเป็นที่ประทับ เมื่อคริสทีอัน แอ็นสท์ที่ 2 สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1745 โดยไม่มีพระโอรส ดินแดนของพระองค์ตกทอดแก่ฟรันทซ์ โยซีอัส ใน ค.ศ. 1747 ฟรันทซ์ โยซีอัสสามารถกำหนดสิทธิการสืบราชสมบัติแบบบุตรชายคนโต (สิทธิของบุตรหัวปี) ไว้ในกฎหมายและส่งต่อให้สายราชวงศ์ของตนเพื่อความมั่นคงในระยะยาว เเจ้าชายฟรีดริช โยซีอัส พระโอรสองค์เล็กของพระองค์ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองและราชรัฐในฐานะจอมพลแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จากการรบในสงครามออสเตรีย-เติร์กและสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หนึ่งในการต่อต้านฝรั่งเศส ในขณะที่พระอนุชาของพระองค์และผู้สำเร็จราชการ ดยุกแอ็นสท์ ฟรีดริช มีชื่อเสียงน้อยกว่าจากสถานะการคลังที่ย่ำแย่ของราชรัฐ ซึ่งตั้งแต่ ค.ศ. 1773 เป็นต้นมา อยู่ภายใต้การควบคุมหนี้จากคณะกรรมาธิการหนี้จากจักรวรรดิจนถึง ค.ศ. 1802 และส่งผลกระทบถึงทายาทของพระองค์

ดยุกฟรันทซ์ ฟรีดริช อันโทน ซึ่งครองราชย์เพียงหกปี (ค.ศ. 1800–1806) ถูกกดดันใน ค.ศ. 1805 โดยเฉพาะจากมุขมนตรีธีโอดอร์ ค็อนราด ฟ็อน เครชท์ชมัน ให้ปรับปรุงราชรัฐ ด้วยการทำสนธิสัญญาระหว่างโคบวร์คและซาลเฟ็ลท์ เพื่อสร้างระบบรัฐเดียวกันและฟื้นความเป็นอิสระสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1806 หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ปราสาทโคบวร์ค

เหล่าโอรสธิดาของดยุกฟรันทซ์ ฟรีดริช อันโทน ทำให้ราชวงศ์ประสบความสำเร็จและอยู่รอดในระยะยาวโดยชื่อเสียงของเจ้าชายฟรีดริช โยซีอัสทำให้เจ้าหญิงยูลีอาเนอ (ภายหลังคือแกรนด์ดัชเชสอันนา เฟโอโดรอฟนา) ได้สมรสกับแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน ปาฟโลวิช แห่งรัสเซีย และพระธิดาอีกพระองค์ คือ เจ้าหญิงมารีอา ลูอีเซอ วิคโทรีอาได้สมรสกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรธเอิร์นใน ค.ศ. 1818 และเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ส่วนเจ้าชายเลโอพ็อลท์พระโอรสองค์เล็กได้รับเลือกใน ค.ศ. 1831 ให้เป็นพระเจ้าเลออปอลที่ 1 แห่งเบลเยียม ส่วนใน ค.ศ. 1816 เจ้าชายแฟร์ดีนันท์ พระเชษฐาของเลโอพ็อลท์ ได้สมรสกับมารีอา แอนโตนีอา คอฮารี เดอ คซาบรากซึ่งมาจากครอบครัวขุนนางผู้มั่งคั่งแห่งฮังการี และก่อตั้งราชวงศ์สายคาทอลิกแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-โคฮารี และพระโอรสของพระองค์ เจ้าชายแฟร์ดีนันท์ ได้เป็นพระเจ้าฟือร์นังดูที่ 2 แห่งโปรตุเกสใน ค.ศ.1837 ส่วนพระโอรสอีกพระองค์ เจ้าชายเอากุสท์ ได้เป็นพระราชบิดาของเฟอร์ดินานด์ที่ 1 ซึ่งได้เป็นเจ้าผู้ครองบัลแกเรียใน ค.ศ. 1887 และขึ้นเป็นพระเจ้าซาร์ใน ค.ศ. 1908 ยังมีอีกพระองค์ คือ รัชทายาทแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค คือ เจ้าชายแอ็นสท์ ซึ่งได้ขึ้นเป็นดยุกแอ็นสท์ที่ 3 ใน ค.ศ. 1806 พระองค์คือพระบิดาของเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ใน ค.ศ. 1840 และได้เป็นพระราชสวามีแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1806 ซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์ พร้อมกับดัชชีแอร์เน็สท์อื่น ๆ ได้เข้าร่วมสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ ราชรัฐถูกกองทัพฝรั่งเศสยึดครองตั้งแต่พฤศจิกายน ค.ศ. 1806 จนถึงสนธิสัญญาทิลซิทในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1807 เมื่อดยุกแอ็นสท์ที่ 1 สามารถกลับจากการลี้ภัยที่เคอนิชส์แบร์คในปรัสเซียตะวันออก สนธิสัญญาเขตแดนกับราชอาณาจักรบาวาเรียใน ค.ศ. 1811 ทำให้มีการแลกเปลี่ยนดินแดน ได้แก่ ฟือร์ทอัมแบร์ค, ฮ็อฟอันแดร์ชไตนา, นีเดอร์ฟึลล์บาค และทรีปส์ดอร์ฟ มายังซัคเซิน-โคบวร์ค ส่วนกลอยเซิน, โรงสีชไลเฟินฮาน, บุคอัมฟอร์สท์ และเฮอร์เรท ตกเป็นของบาวาเรียใน ค.ศ. 1815 ผลจากการที่ราชรัฐเข้าร่วมฝ่ายสหพันธมิตรในการต่อต้านนโปเลียน การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้มอบดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำไรน์ให้ ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “ราชรัฐลีชเทินแบร์ค” และให้สถานะเป็นสมาชิกสมาพันธรัฐเยอรมัน และดัชชีได้รับรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1821

เมื่อสายซัคเซิน-โกทา-อัลเทินบวร์คสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1825 ได้เกิดข้อพิพาทในการสืบราชสมบัติอีกครั้งระหว่างสายอื่น ๆ ของสายตระกูลแอร์เน็สท์ จนวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1826 พระเจ้าฟรีดริช เอากุสท์ที่ 1 แห่งซัคเซิน ในฐานะประมุขสูงสุดของราชวงศ์ ได้ตัดสินให้มีการจัดสรรดินแดนใหม่ โดยดินแดนส่วนใหญ่ของซัคเซิน-ฮิลด์บวร์คเฮาเซินและซาลเฟ็ลท์พร้อมกับเมืองต่างๆ[2] ถูกมอบให้กับซัคเซิน-ไมนิงเงิน ส่วนซัคเซิน-โกทาสูญเสียเขตครานิชเฟลด์และเริมฮิลท์ให้แก่ซัคเซิน-ไมนิงเงิน และเสียอาณาเขตอัลเทินบวร์ค (เขตอัลเทินบวร์ก, ร็อนเนอบวร์ก, ไอเซินแบร์ค, โรดา และคาห์ลา) ซึ่งทำให้ซัคเซิน-ฮิลด์บวร์คเฮาเซินกลายเป็นซัคเซิน-อัลเทินบวร์ค ขณะที่ซัคเซิน-โคบวร์คได้รับเขตเคอนิชส์แบร์คและซ็อนเนอเฟ็ลท์จากซัคเซิน-ฮิลด์บวร์คเฮาเซิน

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดดัชชีใหม่ขึ้นคือ ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา ซึ่งเป็นรัฐร่วมประมุขของซัคเซิน-โคบวร์คและซัคเซิน-โกทา โดยแอ็นสท์ที่ 3 ดยุกองค์สุดท้ายแห่งแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์ ได้กลายเป็นแอ็นสท์ที่ 1 ดยุกองค์องค์แรกแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา

ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟ็ลท์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. (ในภาษาเยอรมัน) Harold Sandner, Das Haus von Sachsen-Coburg und Gotha 1826 bis 2001 [The House of Saxe-Coburg and Gotha 1826 to 2001], with a preface from Andreas, the Prince of Saxe-Coburg and Gotha (Coburg: Neue Presse GmbH, 2004). ISBN 3-00-008525-4, page 32
  2. G. Long, บ.ก. (1841). The penny cyclopædia. p. 481.