ช้างแมรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ช้างแมรี
ภาพช้างแมรีถูกประหารในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1916
เกิดราว ค.ศ. 1894
เสียชีวิต13 กันยายน ค.ศ. 1916(1916-09-13) (21–22 ปี)
เทนเนสซี สหรัฐ
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ
สัญชาติสหรัฐ
อาชีพนักแสดงละครสัตว์
องค์การคณะละครสปากส์เวิลด์เฟมัสโชวส์

แมรี (อังกฤษ: Mary; ราว ค.ศ. 1894 – 13 กันยายน ค.ศ. 1916) บางทีเรียก แมรีจอมฆ่า (Murderous Mary)[1] เป็นช้างเอเชีย เพศเมีย หนักห้าตัน[2] ซึ่งทำการแสดงอยู่ที่คณะละคร "สปากส์เวิลด์เฟมัสโชวส์" (Sparks World Famous Shows) ของชาร์ลี สปากส์ (Charlie Sparks) ในสหรัฐ และถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเมื่อ ค.ศ. 1916 ใกล้เมืองเออร์วิน (Erwin) รัฐเทนเนสซี เพราะสังหารครูฝึกคนหนึ่งตายที่เมืองคิงสปอร์ต (Kingsport) เทศมณฑลซัลลิแวน (Sullivan) รัฐเดียวกัน

การสังหารครูฝึก[แก้]

ชายเร่ร่อนคนหนึ่งนาม เรด เอลดริดจ์ (Red Eldridge) มีอาชีพเป็นเสมียนชั่วคราวอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง[3] วันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1916 เอลดริดจ์มารับจ้างเป็นผู้ช่วยฝึกช้างที่คณะละครข้างต้น แม้ไม่มีคุณสมบัติจะเป็นผู้ฝึกช้างก็ตาม เอลดริดจ์ถูกช้างแมรีสังหารตายที่เมืองคิงสปอร์ตในเย็นวันถัดมา ระหว่างที่นำโขลงช้างออกฝึกเดินขบวน แล้วขึ้นขี่หลังช้างแมรีซึ่งเดินนำขบวนในฐานะดาวเด่นของการแสดงชุดนั้น[4] ส่วนเรื่องเอลดริดจ์ถูกสังหารเช่นไรนั้น มีผู้ให้ถ้อยคำไว้หลายประการ เช่น

ดับเบิลยู.เอช. โคลแมน (W.H. Coleman) อ้างว่า อยู่ในเหตุการณ์ และระบุว่า ช้างแมรีย่อตัวลงแทะซีกแตงโม เอลดริดจ์เอาตะขอสับช้างแมรีที่บริเวณหลังใบหู ช้างโกรธ เอางวงฉุดเอลดริดจ์ขึ้น แล้วโยนเอลดริดจ์ใส่แท่นวางเครื่องดื่ม ก่อนกระทืบและขยี้ที่ศีรษะของเอลดริดจ์ ทำให้เอลดริดจ์ถึงแก่ความตาย[3]

ส่วนรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์สมัยนั้นฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุว่า ได้ข้อมูลมาจาก "เจ้าหน้าที่นครจอห์นสัน" (Johnson City Staff) พรรณนาว่า ช้างแมรี "เอางวงพันร่าง (ของเอลดริดจ์) ชูเขาขึ้นสูงกว่า 10 ฟุตกลางอากาศ แล้วทุ่มเขาลงพื้นอย่างเกรี้ยวกราด... ว่ากันว่า จากนั้น (มัน) เอางาใหญ่ยักษ์แทงทะลุทั้งร่างเขาเต็มแรงแห่งความเกรี้ยวโกรธเยี่ยงสัตว์ป่าเถื่อน และสัตว์ตัวนั้นกระทืบร่างอันใกล้ตายของเอลดริดจ์เหมือนหนึ่งจะแสวงหาชัยชนะในการเข่นฆ่า แล้วแกว่งตีนขนาดใหญ่ของมันในทันใด...เตะร่างเขาเข้าไปในฝูงชน"[3]

การถูกประหาร[แก้]

เหตุการณ์ต่อมาเป็นอย่างไรนั้น รายละเอียดค่อนข้างยุ่งเหยิงปนเปอยู่ในเรื่องเล่าขานของชาวบ้านและรายงานมากมายบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่เน้นขายข่าวแบบจับกระแส เนื้อหาส่วนใหญ่ระบุว่า หลังจากนั้น ช้างแมรีสงบอารมณ์ลงได้ และมิได้เข้าโจมตีผู้คนที่มุงดูอยู่ ส่วนผู้คนเหล่านั้นเริ่มกู่ร้องว่า "ฆ่าช้างเสีย เอาช้างไปฆ่าเสีย" (Kill the elephant! Let's kill it.) ไม่กี่นาทีให้หลัง ช่างตีเหล็กคนหนึ่งนาม เฮนช์ คอกซ์ (Hench Cox) ตรงเข้ามาจะฆ่าช้างแมรี โดยยิงปืนขึ้นฟ้าห้านัด แต่ไม่เกิดผลอันใดมากนัก[3] ขณะเดียวกัน ผู้บริหารเมืองหลายแห่งในแถบนั้นพากันแถลงว่า จะไม่ให้คณะละครนี้เข้าเมือง ถ้ามีช้างแมรีมาด้วย ชาร์ลี สปากส์ เจ้าของคณะละคร จึงฝืนใจตัดสินให้เอาช้างแมรีไปฆ่าในที่สาธารณะ สถานการณ์จะได้คลี่คลายโดยเร็ว ดังนั้น ในวันถัดมา คือ 13 กันยายน ค.ศ. 1916 ซึ่งมีฝนตกและหมอกจัด ช้างแมรีก็ถูกขนขึ้นรถรางไปยังเทศมณฑลยูนิคอย (Unicoi) รัฐเทนเนสซี เพื่อประหารชีวิตที่ลานของการรถไฟคลินช์ฟีลด์ (Clinchfield Railroad) มีผู้คนมาคอยชมกว่า 2,500 คน ในจำนวนนี้รวมถึงเด็กเกือบทั้งหมดของเมืองด้วย

ช่วงเวลาระหว่าง 16–17 นาฬิกาของวันที่ 13 กันยายนนั้น ช้างแมรีถูกเชือกคล้องคออยู่บนปั้นจั่นการรถไฟเพื่อประหารชีวิต[5] ในการลงมือครั้งแรก เชือกขาด ช้างแมรีร่วงลงมากระแทกพื้นอย่างแรงจนช่วงสะโพกหัก เด็กที่ยืนชมอยู่เบื้องล่างแตกหนีกันจ้าละหวั่น จึงมีการพยายามแขวนคอฆ่าช้างแมรีที่บาดเจ็บหนักอยู่แล้วนั้นอีกครั้ง และครั้งนี้ ฆ่าช้างสำเร็จ มีการเรียกสัตวแพทย์มาชันสูตรยืนยันการตาย แพทย์ตรวจพบว่า ช้างแมรีมีอาการปวดอย่างหนักอยู่แล้วในงาใกล้กับบริเวณที่ครูฝึกเอาตะขอสับลงไป เมื่อโดนตะขอสับ จึงกระตุ้นความเจ็บปวด และเกิดเกรี้ยวโกรธขึ้น จนนำไปสู่เหตุการณ์สังหารครูฝึก เมื่อฆ่าช้างแมรีกันแล้ว ได้นำซากช้างไปฝังไว้ริมทางรถไฟ[6]

มีภาพถ่ายการช้างแมรีถูกประหารอยู่ภาพหนึ่งซึ่งได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง แต่ก็ผ่านการตกแต่ง (retouch) มาแล้วอย่างยิ่ง ดังนั้น หลายปีหลังจากการประหาร นิตยสาร อาร์โกซี (Argosy) จึงออกมาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแท้จริงของภาพดังกล่าว[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Murderous Mary". สืบค้นเมื่อ 2015-05-25.
  2. Olson, Ted (2009). The Hanging of Mary, a Circus Elephant. Knoxville, Tennessee: University of Tennessee Press. pp. 219–227.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Joan V. Schroeder (February 13, 2009). "The Day They Hanged Mary The Elephant in Tennessee - BlueRidgeCountry.com". BlueRidgeCountry.com.
  4. Hodge, Randy; Price, Charles Edwin (1992). The Day they Hung the Elephant. Johnson City, Tennessee: Overmountain Press.
  5. Brummette, John (2012). "Trains, Chains, Blame, and Elephant Appeal: A Case Study of the Public Relations Significance of Mary the Elephant". Public Relations Review 38: 341–346.
  6. "Big Mary". SnapJudgement. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-15. สืบค้นเมื่อ 2013-08-21.