ครอบครัวของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชู ชูกระมล)

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีนามเดิมว่า สังวาลย์ เป็นบุตรของชูและคำ[note 1] มีพี่ชายและพี่สาวไม่ปรากฏนามสองคน และมีน้องชายหนึ่งคนชื่อ ถมยา ชูกระมล[1] เมื่อสังวาลย์เข้าศึกษาต่อต่างประเทศซึ่งจำต้องใช้ชื่อสกุลในหนังสือเดินทาง จึงได้ใช้นามสกุลของขุนสงขลานครินทร์ (หลี ตะละภัฏ) ข้าราชบริพารคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์[2]

หลังการอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ จึงมีบรรดาศักดิ์เป็น "หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา" และได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศสูงสุดที่ สมเด็จพระบรมราชชนนี พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระชนกและพระชนนี[แก้]

วัดอนงคาราม ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนที่ครอบครัวของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยพำนัก

ชู — เกิดปีใดไม่ปรากฏ เป็นบุตรคนโตของคหบดีชุ่มแต่ไม่ปรากฏนามมารดา แหล่งข้อมูลบางแห่งว่ามารดาชื่อ ใย[3] มีพี่น้องร่วมมารดาจำนวนหนึ่ง และมีพี่น้องต่างมารดาอีกสองคน[1] ชูมีอาชีพเป็นช่างทอง[4] มีนิวาสถานเดิมใกล้วัดอนงคาราม ฐานะของครอบครัวค่อนข้างดี ชูเสียชีวิตลงขณะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังเยาว์ชันษา[5][6]

คำ — เกิดปีใดหรือชื่อสกุลเดิมใดไม่ปรากฏ มีมารดาชื่อผาแต่ไม่ปรากฏนามบิดา เป็นบุตรคนเล็กจากพี่น้องทั้งหมด 5 คน[1] ฐานะทางการเงินของครอบครัวไม่ดีนักเมื่อเทียบกับครอบครัวสามี[5] คำถือเป็นคนเดียวในกระบวนพี่น้องที่อ่านออกเขียนได้และสอนให้บุตรทั้งสองอ่านหนังสือ[4] คำล้มป่วยที่บ้านของพี่สาวชื่อมา โสพจน์ ย่านมีนบุรีก่อนกลับมาสิ้นใจที่บ้านฝั่งธนบุรีช่วงปี พ.ศ. 2452 ขณะนั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชันษาได้เพียง 9 ปี[2][6]

ธุรกิจ[แก้]

ชู ประกอบอาชีพเป็นช่างทอง มีห้องยกพื้นและเตากลม ๆ หนึ่งเตาสำหรับทำทองโดยมีคำ และซ้วย (พี่สาวของคำ) เป็นลูกมือทำทอง[3] แต่หลังการมรณกรรมของชู ทางครอบครัวก็มิได้ทำทองอีกต่อไป ครอบครัวก็มีฐานะยากจน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจำต้องออกจากโรงเรียนศึกษานารีเพราะไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเล่าเรียน[4] และเมื่อจำเริญวัยขึ้นก็ทรงช่วยซ้วยซึ่งเป็นป้ามวนบุหรี่ขาย[4]

บุตร[แก้]

ชูและคำ มีบุตรทั้งหมด 4 คน ดังนี้[5][6]

  1. บุตรสาว เสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์
  2. บุตรชาย เสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์
  3. สังวาลย์ ตะละภัฏ (21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 — 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538) สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยซิมมอนส์ สหรัฐอเมริกา อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระราชโอรส-ธิดาสามพระองค์
  4. ถมยา ชูกระมล (ราวปี พ.ศ. 2445 — ราวปี 2471) พิการหลังค่อม สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนบ้านสมเด็จ และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ส่งเรียนด้านภาษาที่โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยหวังใจว่าอยากเรียนแพทย์ แต่ไม่สมประสงค์เพราะถมยาได้เสียชีวิตจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเสียก่อน[5]

เครือญาติ[แก้]

ฝ่ายพระชนก

ชุ่ม บิดาของชู และเป็นปู่ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนั้นเป็นคหบดี มีเชื้อสายผู้ดีเก่าย่านตึกขาว ธนบุรี[7] ติดกับตรอกช่างทอง เชื่อว่าต้นสายของครอบครัวน่าจะมาจากนโยบายรวบรวมช่างทองและนากของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้สืบสันดานจึงประกอบกิจสืบทอดมา[3] ครอบครัวมีฐานะดี[5] ชุ่มมีบุตรจำนวนหนึ่งหาทราบจำนวนได้ บุตรสาวคนหนึ่งของชุ่มที่ชื่อจาดสมรสกับชาวจีนที่มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสโมสรฯ และลูกคนหนึ่งของจาดชื่อชื่นเป็นพ่อค้าสุรา[1]

ฝ่ายพระชนนี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงระบุว่า พระญาติของพระชนนีคำบางคนบอกว่าต้นสายตระกูลมาจากเวียงจันทน์ ทั้งยังทรงเห็นว่าที่บ้านของพระองค์ก็นิยมรับประทานข้าวเหนียว[1] ทั้งนี้ชุมชนที่ทรงพำนักในวัยเยาว์นั้นก็เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวลาวที่มีฝีมือเชิงช่างทองและนาก อาจเป็นไปได้ที่พระองค์จะมีเชื้อสายลาว[8] ครอบครัวของผาเป็นครอบครัวใหญ่ ผามีพี่น้อง 6 คน และมีลูก 5 คน โดยคำเป็นบุตรคนเล็ก[1] ฐานะของครอบครัวไม่ดีนักเมื่อเทียบกับครอบครัวของชูสามีของคำ ด้วยเหตุนี้ครอบครัวทั้งสองจึงไม่ไปมาหาสู่กัน เพราะไม่พอใจที่ชูมาสมรสกับคำที่ยากจนกว่า[5]

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีลูกของลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งเมื่อนับจากฝ่ายพระมารดาที่ทรงรับมาอุปการะคือ บุญเรือน โสพจน์[1] ที่ต่อมาได้สมรสกับ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ

เชิงอรรถ[แก้]

  1. อนึ่ง ชู, คำ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไม่มีนามสกุลใช้เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการบัญญัตินามสกุล ภายหลังถมยาได้จดทะเบียนใช้ชื่อสกุลว่า "ชูกระมล" จึงถือว่าครอบครัวของชูและคำใช้นามสกุลนี้โดยอนุโลม (ดูเพิ่มที่: กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. "แม่เล่าให้ฟัง (6)". Mother of Mine. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์))

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. "แม่เล่าให้ฟัง (1)". Mother of Mine. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. "แม่เล่าให้ฟัง (5)". Mother of Mine. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 3.2 "เยือนนิวาสถานสมเด็จย่า เยี่ยมถิ่นช่างทอง". ทองคำ. 7:27 (กันยายน-ตุลาคม 2553), หน้า 21
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. "แม่เล่าให้ฟัง (3)". Mother of Mine. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. "แม่เล่าให้ฟัง (2)". Mother of Mine. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 6.2 "สมเด็จย่าของเรา". อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "พระราชประวัติ". มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-16. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.
  8. สุเจน กรรพฤทธิ์. ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว. กรุงเทพฯ: สารคดี, หน้า 166-167

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]