ชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ

พ.ศ. 2310–พ.ศ. 2312
สถานะเมืองประเทศราช
เมืองหลวงเมืองพุทไธมาศ
พระมหากษัตริย์ 
• 2310–2312
เจ้าฟ้าจุ้ย
ยุคประวัติศาสตร์ยุคใหม่
• สถาปนา
พ.ศ. 2310
• พ่ายกองทัพฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พ.ศ. 2312
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรธนบุรี
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ

ชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ เป็นชุมนุมอิสระหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ตั้งอยู่ที่เมืองพุทไธมาศ[1][2] นอกเขตอาณาจักรธนบุรี ผู้นำชุมนุม คือ สมเด็จพระโสร์ทศ พระนามเดิม เจ้าฟ้าจุ้ย หรือ เจ้าจุ้ย ในฐานะเป็นองค์รัชทายาทราชวงศ์บ้านพลูหลวง โดยมีจักรพรรดิเฉียนหลง พระเจ้ากรุงจีน ให้การรับรองสถานะความเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรสยาม (เสียมหลอ) อย่างเป็นทางการเพื่อสืบพระราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์

พระราชประวัติ[แก้]

สมเด็จพระโสร์ทศ[3][หมายเหตุ 1] มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุ้ย หรือ เจ้าจุ้ย[7] ภาษาจีนเอ่ยพระนามว่า เจาจุ้ย[8] (จีน: 昭翠)[9] เป็นพระราชโอรสของเจ้าฟ้าอภัย[10]: 210  ส่วน จดหมายเหตุรัชกาลเกาจง "เกาจงสือลู่" บรรพ ๘๖๔ ว่า เจ้าจุ้ย (เจาชุ่ย) เป็นพระโอรสของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์[11]: 150  และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วจึงเสด็จลี้ภัยไปยังเมืองพุทไธมาศ (หรือ ฮาเตียน ปัจจุบันคือ ราชรัฐห่าเตียน)[12] ขณะนั้นเมืองพุทไธมาศอยู่ในอำนาจของจีนกวางตุ้ง[7] มีคนไทยจำนวนมากทั้งชายและหญิงไปรวมอยู่กันกว่าสามหมื่นคน[7] จักรพรรดิเฉียนหลงได้ให้การสนับสนุนเจ้าฟ้าจุ้ยให้ขึ้นปกครองกรุงสยาม โดยพระราชทานตราตั้งพระราชลัญจกรตราหยก[13] เมื่อปี พ.ศ. 2310 เพื่อรับรองสถานะความเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรสยาม (เสียมหลอ)

ชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย)[แก้]

ภูมิหลัง[แก้]

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เจ้าจุ้ย พระราชโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าอภัย กับเจ้าศรีสังข์ พระราชโอรสของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หนีรอดจากทัพพม่าแล้วเสด็จลี้ภัยไปเมืองเขมร[14] ณ เมืองพุทไธมาศ มีพระยาราชาเศรษฐี (จีน เรียกว่า ม่อซื่อหลิน หรือ Mac Thien Tu) บุตรของม่อจิ่ว (Mac Cuu)[15] ขุนนางเชื้อสายญวนเป็นเจ้าเมืองอยู่ในขณะนั้น ส่วนพระอุไทยราชา (นักองค์ตน) พระเจ้ากรุงกัมพูชาให้การต้อนรับการเสด็จลี้ภัยด้วยเช่นกัน

ในเวลานั้น พระยาตากสินคิดตั้งตัวเป็นกษัตริย์เป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองพุทไธมาศทราบข่าวจึงแต่งพระราชสาส์นในนาม เจ้าจุ้ย ถวายจักรพรรดิเฉียนหลง มีเนื้อความว่า เจ้าจุ้ยกับเจ้าศรีสังข์ เชื้อพระวงศ์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงได้เสด็จลี้ภัย ณ เมืองพุทไธมาศนี้ และยังกล่าวโทษพระยาตากสินคิดตั้งตนเป็นกษัตริย์ไม่นับถือราชวงศ์บ้านพลูหลวง จักรพรรดิเฉียนหลงทรงทราบจึงมีพระราชโองการออกตราตั้งรับรองสถานะเจ้าจุ้ยเป็นกษัตริย์สืบราชบัลลังก์ตามครรลองครองธรรม หลังพระยาตากสินตั้งตนเป็นกษัตริย์แล้วทรงแต่งพระราชสาส์นถวายจักรพรรดิเฉียนหลง พระเจ้ากรุงจีน เพื่อให้รับรองสถานะพระมหากษัตริย์ แต่จักรพรรดิเฉียนหลงทรงปฏิเสธ :-

"...ทั้งนี้เพราะท่านมิได้เป็นองค์รัชทายาท ท่านควรจะเคารพต่อกษัตริย์บรรพบุรุษเดิม ดังนั้นจึงขอให้ท่านสืบค้นหาองค์รัชทายาท และช่วยพระองค์กอบกู้ประเทศชาติ..."[16]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงแจ้งต่อราชสำนักจีนว่า :-

"ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังไม่พบพระอนุชาของกษัตริย์พระองค์ก่อนที่จะอัญเชิญกลับมาครองราชย์"[16]

แต่ไม่เป็นผล ราชสำนักจีนทราบว่าเกิดก๊กหรือชุมนุมอิสระต่างๆ อีก 3 แห่งที่ยังคงต่อสู้และต่อต้านสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างชัดเจน เช่น หูซื่อลู่[17] ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ข้าหลวงนำศุภอักษรมาทูลพระนารายน์ราชารามาธิบดี (นักองค์ตน) พระเจ้ากรุงกัมพูชา ให้นำดอกไม้เงินทองไปถวายพระเจ้าตากสินให้เป็นพระราชไมตรีตามจารีตเหมือนแต่โบราณ แต่พระนารายน์ราชารามาธิบดี (นักองค์ตน) ทรงมีพระราชดำริไม่ยอมรับเช่นกัน[18]: 241 

ปรากฏใน พงศาวดารเขมร (ฉบับหอหลวง) แปลเมื่อจุลศักราช ๑๒๑๗ (5 กรกฎาคม พ.ศ. 2398) และ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับพันตรี หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) หรือ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่[19] แปลเมื่อ พ.ศ. 2459 ความว่า :-

พระเจ้าตากนี้ เป็นเสมอเพียงแต่บุตรจีนไหหง ตระกูลราษฎรสามัญ แลมาตั้งตัวเองขึ้นเป็นกระษัตริย์ จะให้เรานำเครื่องราชบรรณาการดอกไม้ทองเงินไปถวายยอมเป็นเมืองขึ้นเช่นนี้ดูกระไรอยู่ เห็นจะไม่เป็นการสมควร[18]: 242 [3]: 135 

เพื่อความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ และเพื่อให้พระเจ้ากรุงจีนยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำริสืบหาและกวาดล้างองค์รัชทายาทแห่งกรุงศรีอยุธยาที่หลงเหลืออยู่ จึงพยายามติดต่อพระราชาเศรษฐีให้ส่งตัวเจ้าจุ้ยกับเจ้าศรีสังข์แต่ถูกปฏิเสธและทรงยกทัพตีเมืองพุทไธมาศในภายหลัง พระราชาเศรษฐีหนีลงเรือรอดไปได้ส่วนเจ้าศรีสังข์สิ้นพระชนม์ก่อนถูกจับ

ปรากฏใน อักษรสารของพระยาพิชัยไอศวรรย์ แม่ทัพหน้า ถึงพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ความว่า :-

...ตัวเจ้าเสสังข์ เจ้าจุ้ย และข้าหลวงชาวกรุงฯ ซึ่งไปอยู่เมืองใดจะเอาให้สิ้น ถ้าและพระยาราชาเศรษฐีเห็นว่าจะต้านทานสู้รบได้ ให้แต่งป้อมต้ายค่ายคูไว้จงสรรพ ถ้าเห็นจะสู้มิได้ ยังทรงพระกรุณาโปรดพระยาราชาเศรษฐีให้ออกมาถวายบังคม เราจะช่วยถึงว่าแก่แล้วจะมามิได้ ก็ให้แต่งหุเอี๋ยบุตรออกมาโดยฉับพลัน ถ้าช้าจะทรงพระพิโรธให้ฆ่าเสียให้สิ้น[20]


และใน พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า :-

...จะเอาตัวเจ้าจุ้ย เจ้าศรีสังข์ แลข้าหลวงชาวกรุงเทพซึ่งไปอยู่ ณ หัวเมืองใด ๆ จงสิ้น ถ้าพระยาราชาเศรษฐีญวนมิได้สวามิภักดิ์อ่อนน้อม เห็นว่าจะต่อยุทธนาการได้ก็ให้แต่งการป้องกันเมืองจงสรรพ แม้นเห็นว่าจะสู้รบมิได้ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดอยู่ ให้ออกมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์โดยดี เราจะช่วยพิดทูลให้ทรงพระกรุณา แม้นถึงว่าตัวชราแล้วก็ออกมามิได้ ก็ให้แต่งหูเอี๋ยผู้บุตรออกมาถวายบังคมฉับพลัน ถ้าช้าอยู่จะทรงพระพิโรธให้พลทหารเข้าหักเอาเมืองฆ่าเสียให้สิ้นทั้งเมือง[21]

ปราบพระเจ้าตากสินด้วยทัพพม่าจากกรุงอังวะ[แก้]

ในระหว่างที่สมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ประทับที่เมืองพุทไธมาศมีพระราชดำริวางแผนทำสงครามปราบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีลำดับเหตุการณ์ดังนี้[13][3] แผนขั้นแรก ทรงใช้กำลังพลจากกองทัพพม่า 200,000 นาย บุกเข้ายึดกรุงธนบุรี ซึ่งสมเด็จพระโสร์ทศทรงแต่งพระราชสาส์นถึงพระเจ้ามังระ แห่งกรุงอังวะเมื่อปลายปี พ.ศ. 2310 ในขณะเดียวกัน พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต อาณาจักรล้านช้าง ทรงแต่งพระราชสาส์นรายงานถึงพระเจ้ามังระ เรื่อง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสถาปนาตั้งตัวเป็นใหญ่ที่กรุงธนบุรี และเสนอให้พระเจ้ากรุงอังวะจัดกองทัพพม่าสนับสนุนสมเด็จพระโสร์ทศเช่นกัน พระเจ้ามังระจึงมีรับสั่งโปรดให้พระยาทวาย จัดทัพพม่าพร้อมกำลังพล 3,000 นาย ครั้นเคลื่อนพลไปถึงกรุงธนบุรีจึงได้เข้าปะทะกับกองทัพฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ บางกุ้ง เมืองราชบุรี แต่ทัพพม่าพ่ายแพ้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถยึดศาสตราวุธทางบกและทางน้ำจากพม่าได้เป็นจำนวนมาก ครั้นสมเด็จพระโสร์ทศทราบข่าวการพ่ายแพ้ของทัพพม่าแล้ว จึงทรงปรับแผนการรบใหม่

เมื่อปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีรับสั่งโปรดให้จัดกองทัพเข้าตีเมืองพุทไธมาศซึ่งที่ประทับของสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) โปรดให้พระยาโกษาธิบดี (เฉินเหลียง) เป็นแม่ทัพใหญ่พร้อมกำลังพล 1,481 นาย กองทัพพระยาพิชัยไอศวรรค์ (หยางจิ้งจง) กำลังพล 1,686 นาย เป็นกองหนุน และกองทัพพระยายมราช (บุญชู) กำลังพล 689 นาย เป็นกองหลัง ครั้นพระยาโกษาธิบดี (เฉินเหลียง) มีรี้พลไปถึงเมืองพุทไธมาศและเมืองบันทายมาศ[22] แล้ว จึงเกิดการปะทะกับกองทัพญวนและเขมร กองทัพฝ่ายพระยาโกษาธิบดี (เฉินเหลียง) กำลังไม่แข้มแข็งนักจึงต้องถอยทัพออกมา ส่งผลให้การศึกครั้งแรกจึงไม่สามารถเข้ายึดเมืองได้ แต่หลังจากกองทัพญวนและเขมรถอยทัพกลับไปแล้ว พระยาโกษาธิบดี (เฉินเหลียง) จึงยกทัพเข้ายึดเมืองพุทไธมาศและเมืองบันทายมาศอีกครึ้งจนสำเร็จ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งโปรดตั้งขุนนางไทยปกครองเมืองทั้งสอง ส่วนสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) นั้นเสด็จลี้ภัยไปยังเขมร

เมื่อสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) เสด็จลี้ภัยมาถึงเขมรจึงขอความช่วยเหลือโดยให้เจ้าพระยาราชาเศรษฐี (ม่อซื่อเทียน) ให้จัดกองทัพญวนเข้ายึดเมืองพุทไธมาศและเมืองบันทายมาศคืนจนเป็นผลสำเร็จ สมเด็จพระโสร์ทศจึงเสด็จกลับไปประทับที่เมืองพุทไธมาศดังเดิม จึงทรงวางแผนขั้นที่สองเพื่อปราบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

วางแผนการปราบพระเจ้าตากสินรอบที่สอง[แก้]

แผนขั้นที่สอง สมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ทรงวางแผนโดยจัดกองทัพใหญ่ มีกำลังพล 200,000 นาย แบ่งเป็น ทัพเรือ 100,000 นาย โดยรวบรวมกำลังพลจากทัพญวนและเขมร ไพร่พลเมืองพุทธไทมาศ เมืองบันทายมาศ เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองนครศรีธรรมราช ตามลำดับ และทางทางบก 100,000 นาย รวบรวมกำลังพลจากล้านช้าง เมืองนครราชสีมา เมืองพิมาย เมืองพิษณุโลก เมืองเชียงใหม่ และกรุงอังวะ

เมื่อปี พ.ศ. 2311 ราวต้นปี สมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ทรงแต่งพระราชสาส์นถึงเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เจ้าเมืองพระพิษณุโลก โดยขอให้จัดทัพร่วมกับกองทัพฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศ แต่ระหว่างทางพระราชสาส์นของสมเด็จพระโสร์ทศถูกพระยาอนุรักษ์ภูธร เจ้าเมืองนครสวรรค์ (เดิมคือ หลวงพรหมเสนา เจ้าเมืองพรหมบุรี)[23] จับได้แล้วถูกรายงานถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ นอกจากนี้ สมเด็จพระโสร์ทศทรงแต่งพระราชสาส์นถึงพระเจ้ามังระแต่กรุงอังวะไม่สามารถจัดกองทัพจากพม่าได้เนื่องจากติดศึกสงครามชายแดนกับจีน พระเจ้ากรุงอังวะจึงมีรับสั่งโปรดให้โป่มะยุง่วน ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ จัดทัพรวมกำลังพลไปสมทบทัพสมเด็จพระโสร์ทศต่อไป

พระเจ้าตากสินสกัดกองทัพสนับสนุนฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศ[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2311 เดือนตุลาคม ฤดูน้ำหลาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งทัพเข้าโจมตีชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) แต่ไม่สำเร็จต้องล่าทัพกลับไปยังกรุงธนบุรี ซึ่งพระราชสาส์นของสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) เป็นเหตุจุดชนวนให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพตีเมืองพระพิษณุโลก ชุมนุมหัวเมืองเหนือที่ใหญ่ที่สุดเป็นชุมนุมแรกเพื่อหวังทำลายฐานอำนาจของสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ต่อมาเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ถึงแก่พิราลัย พระยาไชยบูรณ์ (จัน) หรือ พระอินทรอากร (จัน) น้องชายได้ขึ้นครองเมืองแทน พระยาไชยบูรณ์ (จัน) ทราบข่าวว่าพระราชสาส์นของสมเด็จพระโสร์ทศถูกจับได้ จึงตัดสินใจจัดกองทัพจากเมืองพระพิษณุโลกเพื่อสมทบกองทัพฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศ

เมื่อปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ทรงแต่งพระราชสาส์นถึงพระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ เพื่อขอให้จัดกองทัพบกจำนวน 100,000 นาย สมทบกองทัพเรือของสมเด็จพระโสร์ทศ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข่าว จึงแต่งพระราชสาส์นถึงพระเจ้าสิริบุญสาร ห้ามมิให้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมกับกองทัพพม่าและกองทัพของสมเด็จพระโสร์ทศ จึงเกิดความขัดแย้งภายในอาณาจักรล้านช้างระหว่างพระวรปิตากับพระเจ้าศิริบุญสารเรื่องไม่เห็นด้วยที่จะส่งกองทัพสนับสนุนฝ่ายพม่าและสมเด็จพระโสร์ทศ จึงขอมาปกครองเมืองอุบลราชธานีภายใต้พระราชอำนาจสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแทน

เมื่อปี พ.ศ. 2311 เดือนตุลาคม สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้พระยาอนุรักษ์ภูธร เจ้าเมืองนครสวรรค์ เตรียมกำลังพลสกัดกองทัพฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ในเดือนธันวาคม ซึ่งขณะนี้พระยาไชยบูรณ์ (จัน) เป็นผู้ครองเมืองแทนพี่ชายซึ่งพิราลัยไปแล้วนั้น เพื่อมิให้กองทัพฝ่ายเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เข้าช่วยเหลือกองทัพของสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ได้

เมื่อแผนของสมเด็จพระโสร์ทศที่ทรงวางไว้ไม่ประสบความสำเร็จ ทรงวางแผนใหม่โดยไม่ให้หัวเมืองฝ่ายใต้สนับสนุนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระโสร์ทศจึงมอบหมายให้ เจ้าขรัวเงิน (สามีของนางแก้วซึ่งเป็นพี่สาวของพระราชวรินทร์ (ทองด้วง)) เข้าเจรจากับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) พระยาสงขลา พระยาพัทลุง และพระยาปัตตานีศรีสุลต่าน ผลการเจรจาครั้งนั้นส่งผลให้หัวเมืองใต้เข้าร่วมกับฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) เจ้าเมืองทั้ง 4 หัวเมืองใต้ จึงจัดกองทัพเรือของตน โดยมีกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช 20,000 นาย เมืองพัทลุง 10,000 นาย เมืองสงขลา 10,000 นาย และกองทัพจากเมืองปัตตานี 10,000 นาย รวมกำลังพลทั้งสิ้น 50,000 นาย แล้วเตรียมเคลื่อนทัพเรือเข้ายึดกรุงธนบุรี

ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบข่าวการจัดกองทัพของหัวเมืองฝ่ายใต้ จึงมีรับสั่งโปรดให้เจ้าพระยาจักรี (บุญชู) รวบรวมไพร่พลที่เมืองไชยาเตรียมเข้าสกัดทัพเมืองนครศรีธรรมราช และยังมีรับสั่งโปรดให้พระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยณรงค์ (หวัง) เจ้าเมืองไชยา ซึ่งเป็นบุตรชายของเจ้าพระยาจักรี (บุญชู) เข้าเจรจากับพระยาปัตตานีศรีสุลต่านซึ่งเป็นญาติสนิท ไม่ให้ร่วมมือส่งกองทัพสนับสนุนฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ผลการเจรจาครั้งนั้นส่งผลให้พระยาปัตตานีศรีสุลต่านยุติการส่งกองทัพช่วยเหลือสมเด็จพระโสร์ทศ

แต่งทัพเข้าตีกรุงธนบุรี[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2311 หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียึดเมืองเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ ทรงทราบข่าวว่าสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) เตรียมแต่งทัพเรือมีกำลังพล 110,000 นาย เตรียมเข้ายึดกรุงธนบุรี และทรงทราบข่าวจากพระยาพิชัยไอศวรรค์ (หยางจิ้งจุง) ราชทูตกรุงธนบุรีที่เพิ่งกลับจากกรุงจีนแล้วลี้ภัยมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ว่าเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชกับพวกจัดกองทัพกำลังพล 40,000 นาย เพื่อเข้าร่วมกองทัพเรือของสมเด็จพระโสร์ทศอีกด้วย

เมื่อปี พ.ศ. 2312 เดือนมกราคม สมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) แต่งกองทัพหลวงรวมกับเมืองนครศรีธรรมราชและพวกมีรี้พลเข้าตีกรุงธนบุรี แบ่งเป็นทัพเรือ 110,000 นาย แบ่งเป็นกองทัพหัวเมืองฝ่ายใต้ 40,000 นาย และกองทัพสมเด็จพระโสร์ทศ 70,000 นาย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวางแผนรับการสงคราม โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยากรมขุนอนุรักษ์วงศา สมุหนายก อยู่รักษากรุงธนบุรี ให้สมเด็จเจ้าพระยาอินทร์วงศากับพระยาจินดาพล ดูแลดินแดนเสียมราฐและฝั่งทะเลตะวันตก และโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยากรมขุนเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามวงศา (เจ้าฟ้าไข่แดง) ดูแลเมืองถลาง ฝั่งตะวันตก และโปรดให้พระยาพิชัยไอศวรรค์ (หยางจิ้งจุง) พระยาจันทร์บูรณ์ (เฉินหลง) พระยาราชบังสัน (จุ้ย) พระยาระยอง(บุญเมือง) และพระยาเพชรบุรี (คง) สร้างป้อมจำนวน 4 แห่งบริเวณปากแม่น้ำพระประแดง ปากน้ำสมุทรปราการ ปากแม่น้ำท่าจีน และปากแม่น้ำแม่กลอง เพื่อเตรียมรบกับกองทัพฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศ

เมื่อปี พ.ศ. 2312 เดือนเมษายน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงแต่งทัพและโปรดให้พระยาจักรี (บุญชู) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพไปปราบเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) และพรรคพวกที่เมืองนครศรีธรรมราช และโปรดให้พระยาโกษาธิบดี (เฉินเหลียง) ยกทัพบกมีรี้พลเข้ายึดเมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองพุทไธมาศ ผลการทำศึกครั้งนี้ส่งผลให้กองทัพเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) และพวกไม่สามารถจัดกองทัพส่งไปช่วยกองทัพฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศได้

ทัพฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศปราชัย[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2312 เดือนสิงหาคม สมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) เคลื่อนกำลังพล 50,000 นาย ประกอบด้วย ทัพหน้ามีพระยาราชาเศรษฐี(ม่อเทียนซื่อ) เป็นแม่ทัพ กำลังพล 20,000 นาย กองทัพหลวงสมเด็จพระโสร์ทศทรงเป็นแม่ทัพ มีกำลังพล 20,000 นาย ทัพหลังมีเจ้าศรีสังข์ พระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (เจ้าฟ้ากุ้ง) เป็นผู้คุมทัพ พร้อมกำลังพล 10,000 นาย มีรี้พลทางเรือเข้าตีกรุงธนบุรีโดยผ่านเมืองตราด เมืองจันทร์บูรณ์ เมืองระยอง และเมืองชลบุรี มุ่งหน้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างรี้พลนั้น เจ้าเมืองตราด ยอมสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระโสร์ทศ เมื่อเคลื่อนทัพถึงเมืองจันทร์บูรณ์ ทัพฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศได้เข้าปิดล้อมกองทัพพระยาจันทร์บูรณ (เฉินหลง) หรือ ขุนนางเฉิน (หลิวเต็งเฉิน) เข้ายึดเมืองจันทร์บูรณ์ได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศถูกกองทัพฝ่ายพระยาราชบังสัน (จุ้ย) และพระยาพิชัยไอศวรรค์ (หยางจิ้งจุง) เข้าโจมตี ส่งผลให้กองพลฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก เหลือกำลังพลที่กลับเมืองพุทไธมาสเพียง 1,000 นายเท่านั้น ทัพฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศจึงพ่ายแพ้แล้วเสด็จหนีกลับ กองทัพฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียึดศาสตราวุธและเรือได้เป็นจำนวนมาก

ใน พระราชพงศาวดารเขมร กล่าวว่า :-

พวกกองทัพไทยออกมาสู้รบมีชัยชนะแก่กองทัพสมเด็จพระโสร์ทศๆ พ่ายแพ้แก่กองทัพไทย แตกหนีทิ้งเครื่องศัสตราวุธ และเรือรบเสียเป็นอันมาก จึงพากันล่าถอยกลับคืนมายังเมืองเปียม [เมืองพุทไธมาศ][24]

และ พระราชพงศาวดารเขมร ในหนังสือของทวิช สุภาภรณ์ กล่าวว่า :-

ลุศักราช ๑๑๓๒ ศกขาลนักษัตร สมเด็จพระโสทัตผู้เปนใหญ่ในเมืองเปียม [พุทไธมาศ] คิดตามอำเภอใจด้วยความโลภเจตนา เหมือนตักกะแตนเข้าดับเพลิงละเลิงใจ เกณฑ์ไพร่พลในแขวงเมืองบันทายมาศ เมืองตรังยกเปนกองทัพไปจับคนเมืองทุ่งใหญ่ [ตราด] เมืองจันทบุรี จึงพวกกองทัพไทยยกออกมาสู้รบชนะ แม่ทัพแม่กองสมเด็จพระโสทัตหนีกระจัดกระจายถอยทัพกลับมาเมืองเปียม[25]

เหตุการณ์สืบเนื่อง[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริตามล่าเจ้าศรีสังข์และเจ้าจุ้ย ทรงแต่งทัพบกทัพเรือตีเมืองกัมพูชานำไปสู่สงครามสงครามตีเมืองกัมพูชาและบันทายมาศ[26] สมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ถูกจับได้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2314 และเรื่องราวเจ้าฟ้าจุ้ยต่อจากนี้ไม่มีอีกเลยในพงศาวดารไทย[27] มีเพียง จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี กล่าวว่า :-

อนึ่งเจ้าจุ้ยบุตรเจ้าฟ้าอภัยมาอยู่ด้วยราชาเศรษฐีลงเรือหนีไป ได้ตัวมาให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนยกหนึ่งแล้วให้จำไว้[28][29]

และ จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ยังมีกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า :-

พระยาพิพัฒโกษาได้เอาหนังสือบอกและศุภอักษรนั้น กราบบังคมทูลพระกรุณา ครั้นทรงฟังหนังสือบอกนั้นแล้ว จึงตรัสให้หาลูกขุน (คือ) พระครูพิเชษ ขุนหลวงพระไกรศรี พระเกษม และผู้มีชื่อ (คือ) เจ้าจุ้ย ๑ หลวงสงขลา ๑ พระยาจันทบูร ๑ จีนบุนเส็ง ๑ ขุน............... ๑ (รวม) ๕ เข้ามาเฝ้าพร้อมกัน จึงตรัสสั่งให้ลูกขุนปรึกษาโทษผู้มีชื่อ ๔ คน ลูกขุนเอาคำปรึกษากราบบังคมทูลพระกรุณา ใจความให้ประหารชีวิตสิ้นทั้งโคตรโดยบทพระอัยการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งให้ออกไปปรึกษากันก่อน ว่าอย่างไรที่รอดจากความตายนั้น ให้............ถ้าผู้ใดคิดได้อย่างไร ก็ให้ทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวาย ถ้าเห็นชอบด้วย จะพระราชทานชีวิตให้ทำราชการแก้ตัวสืบไป ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ตามโทษานุโทษโดยลูกขุนปรึกษา[30]

หากยึดพงศาวดารไทยจะไม่สามารถกล่าวได้ว่าสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าฟ้าจุ้ย) ถูกต้องโทษให้สิ้นพระชนม์หรือยังมีพระชนม์อยู่นับตั้งแต่ถูกจับ แต่เอกสารเวียดนามชื่อ Gia Dinh Thong Chi หรือ Gia Dinh Gazetteer (เวียดนาม: Gia Định Thành Thông Chí) เล่ม 5 ฉบับแก้ไขในรัชกาลจักรพรรดิมิญ หมั่ง กล่าวว่า เจ้าจุ้ย (Prince Chui หรือ Chieu Chuy) ถูกสำเร็จโทษสิ้นพระชนม์ที่กรุงสยาม ความว่า :-

He [Taksin] thus left the chieu khoa Lien to hold Ha Tien and returned to Siam by dap [battleship] with his main force, the captive Mac family and Chieu Chuy [Prince Chui]. The last-named was killed in Siam.[31][32]

ดูเพิ่ม[แก้]

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]

  • ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับพันตรี หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์)[3]
  • ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๐[19]

อ้างอิง[แก้]

หมายเหตุ
  1. พงศาวดารเขมรเรียกชื่อตำแหน่งผู้ครองเมืองพุทไธมาศ (เมืองเปียม คันเคา หรือบันทายมาส)[4] ว่า สมเด็จพระโสร์ทศ หรือ สมเด็จพระโสทัต[5][6] ขณะนั้นมีผู้ครองเมืองพุทไธมาศ 2 คนที่เกี่ยวข้องกับชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ คือ พระยาราชาเศรษฐีญวน (นามเดิม: หมักเทียนตื๊อ แต่จีนเรียกว่า ม่อ ซื่อหลิน) กับพระยาราชาเศรษฐีจีน (เฉิน เหลียน) เมื่อเจ้าจุ้ยได้รับการรับรองสถานะความเป็นกษัตริย์จากพระเจ้ากรุงจีน เจ้าจุ้ยจึงสถานะเป็น สมเด็จพระโสร์ทศ ผู้ครองเมืองพุทไธมาศอีกผู้หนึ่ง จึงเรียกว่า ชุมนุมสมเด็จพระโสร์ทศ
เชิงอรรถ
  1. ศานติ ภักดีคำ. เขมรรบไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554. 344 หน้า. หน้า 257. ISBN 978-974-0208-10-5
  2. สนั่น เมืองวงษ์. ประวัติศาสตร์ ธนบุรี - รัตนโกสินทร์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2518. 450 หน้า. หน้า 54–57.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), พันตรี หลวง. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. (พิมพ์ครั้งที่ 2). นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 362 หน้า. ISBN 978-974-8825-40-3
  4. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. "มองซิเออร์อาโตด์ ไปเมืองเขมร," ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๒๓ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙ (ต่อ)-๔๐). กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2511. หน้า 80.
  5. กรมศิลปากร. "พงศาวดารเขมร," ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑. พระนคร : โรงพิมพ์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, 2499. หน้า 236.
  6. เกริกฤทธิ์ เชื้อมงคล. กัมพูชา จากอาณาจักรฟูนันพนม สู่เขมร-กัมพูชา. กรุงเทพฯ : เพชรประกาย, 2558. 368 หน้า. หน้า 193. ISBN 978-616-3447-75-3
  7. 7.0 7.1 7.2 นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 174.
  8. ต้วน ลี เซิง. พลิกต้นตระกูลไทย: ประวัติศาสตร์ไทยในทัศนะของชาวจีน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : พิราบ, 2538. 253 หน้า. หน้า 141.
  9. จดหมายเหตุรายวันแห่งไดนัม (大南实录) เล่มที่ 32. 大南寔錄/大南正編列傳初集/卷32.
  10. ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๐ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕-๖๖) พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี และจดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2512. 278 หน้า.
  11. กรมศิลปากร. (2565). ความสัมพันธ์ไทย-จีน จากเอกสารสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 264 หน้า. ISBN 978-616-283-585-8
  12. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. "พระศรีสรรเพชญ์ สมัยกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์," ใน พระศรีสรรเพชญ์ : ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560. 183 หน้า. หน้า 63. ISBN 978-974-0215-43-1
  13. 13.0 13.1 เสนีย์อนุชิต ถาวรเศรฐ. พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : สยามอภิวัฒน์, 2555.
  14. "จดหมายมองซิเออร์คอร์ ถึง มองซิเออร์ดารากองเมืองเขมรวันที่ ๓ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๖๘ (พ.ศ.๒๓๑๑) ว่าด้วยเจ้าศรีสังข์หนีไปอยู่เขมร," ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙. พระนคร : ศรีหงส์, 2469.
  15. คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563. 470 หน้า. หน้า 399. ISBN 978-974-0217-21-3
  16. 16.0 16.1 ณัฏฐภัทร จันทวิช. (2523, พฤษภาคม). "ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาตอนปลายและกรุงธนบุรีจากจดหมายเหตุจีน," ใน วารสารศิลปากร, 24(2): 21.
  17. กรมศิลปากร (2523). วารสารศิลปากร, 24(2): 24.
  18. 18.0 18.1 "พงศาวดารเขมร", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑ (ประชุมพงศาวดาร ภาค ๑ ตอนต้น). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 358 หน้า.
  19. 19.0 19.1 หอพระสมุดวชิรญาณ. (2460). ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณแปลใหม่. จางวางตรี พระยาไกรเพ็ชรรัตนสงคราม สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พิมพ์แจกในงานศพ พระตำรวจตรี พระยากำแหงรณฤทธิ จางวางตำรวจผู้บิดา พ.ศ. ๒๔๖๐. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. 362 หน้า.
  20. "อักษรสารของพระยาพิชัยไอศวรรย์ แม่ทัพหน้า ถึงพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ," ใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๐ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ - ๖๖). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2512. 324 หน้า. หน้า 210.
  21. จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ และวงศาธิราชสนิท, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวง (ชำระ). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาคที่ ๓. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ., 2455. หน้า 60–62.
  22. บริหารเทพธานี, พระ. ประวัติชาติไทย: ความเป็นมาของชาติไทยตั้งแต่ยุคดึกดําบรรพ์ เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : ศิลปบรรณาคาร, 2517. หน้ 324–332.
  23. เจริญ ตันมหาพราน. ตำนานวังหน้า : ตำนานเก่าเล่าถึง วังหน้า มหาอุปราช ผู้จงรักภักดีต่อเจ้าฟ้ามหากษัตริย์. กรุงเทพฯ : ปราชญ์, 2555. 272 หน้า. หน้า 65. ISBN 978-616-7521-78-7
  24. นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 179. อ้างใน พระราชพงศาวดารเขมร (๑๓๓ : ๑๕๔๘ และ ๙๘ : ๑๔๑).
  25. ทวิช สุภาภรณ์. ประวัติศาสตร์ ไทย ขอม เขมร. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2508. 832 หน้า. หน้า 395.
  26. สุเจน กรรพฤทธิ์. (2561, มกราคม-มิถุนายน). "ศึกชิง "กัมพูชา" และ "ฮาเตียน" ระหว่างราชสำนักสยามและตระกูลเหงวียน ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19," ใน วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์, 5(1).
  27. ปรามินทร์ เครือทอง. (2565, 22 ตุลาคม). "ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา," ใน ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2565.
  28. "จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี", ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๐ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ - ๖๖). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2512. 324 หน้า. หน้า 217.
  29. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช. กรุงเทพฯ : รวมการพิมพ์, 2528. 447 หน้า. หน้า 48.
  30. ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๖๕-๖๗. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย ณ สพานยศเส, 2457. หน้า 37–38.
  31. Breazeale, Kennon. "Taksin's Return to Thonburi," in From Japan to Arabia : Ayutthaya's Maritime Relations with Asia เก็บถาวร 2012-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Bangkok : the Foundation for the Promotion of Social Sciences and Humanities Textbooks Project, 1999. pp. 196–197. ISBN 974-87183-5-2
  32. Yumio Sakurai and Takako Kitagawa. Ha Tien or Banteay Meas in the Time of the Fall of Ayutthaya. cited in Trịnh Hoài Đức. (1820-1822). Gia Định Thành Thông Ch : Quyển VI - Thành trì chí.
บรรณานุกรม
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ : มติชน, 2547. 632 หน้า. ISBN 978-974-3230-56-1

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]