ชินมหานิทาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชินมหานิทาน  
ผู้ประพันธ์ไม่ทราบ
ประเทศสยาม
ภาษาอักษรขอมภาษาบาลี
ประเภทคัมภีร์ศาสนาพุทธ
ชนิดสื่อใบลาน

ชินมหานิทาน เป็นคัมภีร์ประเภทตำนานหรือประวัติ เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าตั้งแต่อดีตครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์จนกระทั่งถึงเสด็จดับขันธปรินิพพานและแจกพระบรมสารีริกธาตุเป็นที่สุด คำว่าชินมหานิทานแยกได้ 3 คำ คำว่า ชิน อ่านว่า ชินะ เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า คำว่า มหา แปลว่าใหญ่ พิสดาร คำว่า นิทาน แปลว่า เรื่องประวัติ รวมกันเป็น "ชินมหานิทาน" หมายถึง พุทธประวัติ คือ ประวัติของพระพุทธเจ้า[1]

คัมภีร์นี้เดิมเป็นอักษรขอมภาษาบาลี มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง แต่ส่วนมากเป็นร้อยแก้ว จารลงในใบลานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1–3 มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ 9 ฉบับ มีเนื้อเรื่องเหมือนกันทุกฉบับ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง สันนิษฐานว่าแต่งโดยปราชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา[2] แต่งขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20–ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 สันนิษฐานว่าแต่งก่อน ตำนานเมืองเชียงแสน เนื่องจากเนื้อความใน ชินมหานิทาน ตอนที่กล่าวถึงการเสด็จออกจากครรภ์มารดาของพระโพธิสัตว์นั้น ผู้แต่งได้เปรียบพระองค์ประดุจดังบุรุษก้าวลงจากบันได และปรากฏเป็นเหมือนมีพระชนม์ 16 พรรษา การเปรียบดังบุรุษนี้ปรากฏใน ตำนานเมืองเชียงแสน ด้วย กรมศิลปากรได้พิมพ์เป็นอักษรไทยโดยแปลเป็นภาษาบาลีก่อน มีนายวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูล ถ่ายทอดและมอบให้นักภาษาโบราณ 7 คน แปลเป็นภาษาไทย และได้มอบให้นายสุวัฒน์ โกพลรัตน์ เป็นผู้ตรวจสอบและค้นหาที่มาในภาคภาษามคธพิมพ์คู่กัน[2]

ชินมหานิทาน มีทั้งหมด 85 ตอน แต่ละตอนมีเนื้อหาไม่ยาวมาก เรียงไปตามลำดับตั้งแต่ประสูติกระทั่งปรินิพพาน เชื่อว่าผู้แต่งได้ตรวจสอบเนื้อหาพุทธประวัติจากพระไตรปิฎก เพราะได้ตัดส่วนที่ต่างออกไปจากพระไตรปิฎก คือ ประวัติพระพุทธเจ้าอันไกลโพ้นอย่างที่ปรากฏอยู่ในสัมภารวิบากคงเหลือเพียงประวัติพระพุทธเจ้า 28 พระองค์อย่างที่ปรากฏในพระไตรปิฎก อีกทั้งยังเพิ่มขยาย อธิบาย เนื้อหาสาระธรรม ให้มากขึ้น[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ชินมหานิทาน". วัดบวรนิเวศวิหาร.
  2. 2.0 2.1 "ชินมหานิทาน เล่ม ๑ ภาคภาษาบาลี". กรมศิลปากร กองหอสมุดแห่งชาติ.
  3. "พัฒนาการวรรณกรรมพุทธประวัติ". มหาวิทยาลัยทักษิณ.