ชิซูเอะ คาโต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชิซูเอะ คาโต
สมาชิกราชมนตรีสภา
สำหรับเขตทั่วประเทศ
ดำรงตำแหน่ง
4 มิถุนายน 2493 – 7 กรกฎาคม 2517
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น
สำหรับโตเกียวเขตที่สอง
ดำรงตำแหน่ง
10 เมษายน 2489 – 23 ธันวาคม 2491
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด ชิซูเอะ ฮิโรตะ
2 มีนาคม พ.ศ. 2440
โตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
เสียชีวิต 22 ธันวาคม พ.ศ. 2544 (104 ปี)
โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
เชื้อชาติ ญี่ปุ่น
พรรค พรรคสังคมนิยม (2489–2494, 2498–2522)
พรรคสังคมนิยมฝ่ายขวา (2494–2498)
คู่สมรส อิชิโมโตะ เคกิจิ (2457–2487)
คันจู คาโต (2487–2544)

ชิซูเอะ คาโต (ญี่ปุ่น: 加藤 シヅエโรมาจิKatō Shizue; 2 มีนาคม พ.ศ. 2440 – 22 ธันวาคม 2544) หรือมักได้รับการตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ ชิซูเอะ อิชิโมโตะ เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อคตินิยมสิทธิสตรีชาวญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในรัฐสภาญี่ปุ่น คาโตเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกขบวนการเคลื่อนไหวการคุมกำเนิด

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

ชิซูเอะ คาโต เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2440 ในครอบครัวอดีตซามูไรที่ร่ำรวย บิดาของคาโต ริตาโร ฮิโรตะ [ja] เป็นวิศวกรที่ประสบความสำเร็จ เขาได้รับการศึกษาและการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยจักรวรรดิโตเกียว มารดาของเธอ โทชิโกะ สึรูมิ มาจากครอบครัวที่มีชื่อเสียงและมีการศึกษาสูง[1] ฮิโรตะมักเดินทางไปยังประเทศตะวันตกเพื่อการทำงานของเขา และด้วยเหตุนี้ คาโตและครอบครัวของเธอเติบโตขึ้นมาด้วยความคุ้นชินกับวัฒนธรรมตะวันตก[2] ขณะที่อายุ 17 ปี คาโตสมรสกับ บารอน อิชิโมโตะ เคกิจิ (ญี่ปุ่น: 石本恵吉โรมาจิKekichi Ishimoto) นักมนุษยนิยมคริสเตียนที่สนใจในการปฏิรูปสังคม[3] เคกิจิเป็นลูกชายของชินโรกุ อิชิโมโตะ

การย้ายถิ่นไปสหรัฐอเมริกา[แก้]

เพียงไม่นานหลังการสมรสของทั้งสอง คาโต (ต่อมาเปลี่ยนเป็นอิชิโมโตะ) และสามีของเธอย้ายไปยังเหมืองถ่านหินมิอิเกะในภูมิภาคคีวชู ตลอดระยะเวลา 3 ปี พวกเขาได้พบเห็นสภาวะการทำงานอันหดหู่ของทั้งชายและหญิง ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้คาโตและสามีของเธอมีสภาพจิตใจย่ำแย่ จึงตัดสินใจย้ายถิ่นไปสหรัฐอเมริกาในปี 2462[3] ที่สหรัฐฯ บารอน อิชิโมโตะ เริ่มเปลี่ยนทิศทางความคิดจากมนุษยนิยมคริสต์ศาสนาสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์เชิงมูลวิวัติ[3] คาโตเริ่มที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระมากขึ้นหลังสามีของเธอย้ายออกไปที่วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและล่ามสำหรับคณะผู้แทนชาวญี่ปุ่นในการประชุมองค์การแรงงานนานาชาติ[2] ระหว่างนี้คาโตอาศัยอยู่ในตึกพักอาศัยแบ่งเช่าและสมัครเข้าวิชาเรียนงานด้านเลขานุการและภาษาอังกฤษ[2] ช่วงเวลานี้ตาโตเริ่มที่จะเข้าสังคมกับคนรู้จักของสามีเธอ ซึ่งนำไปสู่การพบเจอกับมาร์กาเร็ต แซงเจอร์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คาโตในการริเริ่มขบวนการเคลื่อนไหวการคุมกำเนิดหลังการกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นของเธอ[2]

การกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นและการเคลื่อนไหว[แก้]

หลังจากการกลับสู่ประเทศญี่ปุ่นของคาโตในปี 2464 คาโตพยายามผลักดันความอิสระในอิสรภาพทางเศรษฐกิจ และเริ่มภารกิจของเธอในการเผยแพร่ความรู้ด้านการคุมกำเนิด คาโตได้รับงานเลขานุการส่วนตัวสำหรับสหพันธ์สมาคมไวดับเบิลยูซีเอ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการแนะนำผู้เยี่ยมชมชาวตะวันตกให้รู้จักกับวัฒนธรรมและชาวญี่ปุ่น[1]

ระหว่างนี้คาโตยังได้ตีพิมพ์งานเขียนหลากหลายเพื่อช่วยเหลือการเข้าถึงการคุมกำเนิดสำหรับสตรี เธอโต้เถียงว่าปัญหาประชากรที่เพิ่มขค้นอย่างต่อเนื่องในประเทศญี่ปุ่นสามารถแก้ไขได้โดยสตรีเอง คาโตเชื่อว่าการให้สตรีคุมกำเนิดจะสามารถทำให้มีอิสระที่มากกว่า[2] อีกส่วนหนึ่งของข้อโต้เถียงคือการคุมกำเนิดจะช่วยให้ชาวญี่ปุ่นเลี้ยงบุตรหลานของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น คาโตคิดว่าการมีลูกในจำนวนที่น้อยกว่าจะช่วยให้สตรีสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาและทางการเงินที่ดีกว่า[2]

รัฐบาลญี่ปุ่นฝ่ายขวาที่สนับสนุนการคลอดบุตรจับกุมคาโตในปี 2480 โทษฐานการเผยแพร่ "ความคิดที่อันตราย" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้มีการคุมกำเนิดและสิทธิในการทำแท้ง คาโตถูกกักขังในเรือนจำเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์[2] จากเหตุนี้ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวการคุมกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นหยุดชะงักจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง[4]

รัฐสภาญี่ปุ่น (2489–2517)[แก้]

คาโตเป็นสตรีคนแรกที่หาเสียงลงสมัครเลือกตั้งในประเทศญี่ปุ่นภายใต้ฐานสนับสนุนของพรรคสังคมนิยมประกอบกับการเน้นยำประชาธิปไตยแบบอเมริกัน[5] ในปี 2489 คาโตได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในรัฐสภาญี่ปุ่น การหาเสียงของเธอให้ความสำคัญไปที่การวางแผนครอบครัวและการพัฒนาความก้าวหน้าทางการเงินของสตรี[1][6] ในปีเดียวกัน คาโตได้เขียนถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวการคุมกำเนิดและประชาธิปไตยในประเทศญี่ปุ่นว่า:

การคลอดบุตรมากคนและทำให้พวกเขาหลายคนตาย — การกระทำเช่นนั้นอย่างซ้ำ ๆ ของสตรีชาวญี่ปุ่นจะส่งผลถึงความเหนื่อยล้ากายของผู้เป็นแม่ รวมถึงความเจ็บปวดทางจิตใจและความเสียหายต่อสถาบันครอบครัว หากไม่มีอิสรภาพและการพัฒนาสตรี มันจะเป็นไปไม่ได้เลยในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงในประเทศญี่ปุ่น[7]

แม้ว่าคาโตจะเป็นผู้สร้างความหวังในการเติบโตของสตรีในบทบาททางการเมืองก็ตาม แต่ไม่นานเธอก็ถูกนักการเมืองชายคนอื่น ๆ ครอบงำความสนใจของเธอไป อย่างไรก็ตาม คาโตพยายามมองหาทางอื่น ๆ ในการทำให้ความตั้งใจในการปฏิรูปการเมืองของเธอนั้นสำเร็จ ในปี 2489 คาโตได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานชุมนุม "สำหรับผู้หญิง" เป็นครั้งแรกในโตเกียว การชุมนุมนี้เป็นการเรียกร้องทรัพยากรทางเศรษฐกิจสำหรับสตรีที่เพิ่มมากขึ้น[5]

หลังจากนั้นคาโตได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในสภาสูงญี่ปุ่น 4 วาระ (วาระละ 6 ปี) เธอยังคงสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปสิทธิสตรีและการวางแผนครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาโตสามารถทำภารกิจของเธอให้เกิดขึ้นจริงได้ในหลากหลายเรื่อง เช่น การตรากฎหมายการคุมกำเนิด การยกเลิกประมวลกฎหมายครอบครัวที่มีความเป็นศักดินา และการก่อตั้งสำนักงานสตรีและผู้เยาว์ภายใต้กรมแรงงานและปัญหาสภาพแวดล้อม[5] คาโตยังได้ช่วยก่อตั้งสมาพันธ์การวางแผนครอบครัวแห่งญี่ปุ่น ซึ่งทำงานเพื่อบรรลุ "สังคมที่ทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงการบริการทางสุขภาพด้านการมีบุตรอย่างสมัครใจ"[8]

เกียรติยศ[แก้]

หลังจากที่คาโตได้ออกจากแวดวงการเมือง เธอยังคงมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง คาโตยังคงจัดการบรรยายเกี่ยวกับปัญหาคตินิยมสิทธิสตรี รวมถึงการเป็นประธานของสมาพันธ์การวางแผนครอบครัวแห่งญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง[9]

ในปี 2531 คาโตได้รับรางวัลประชากรแห่งสหประชาชาติ

การเสียชีวิตและมรดก[แก้]

คาโตเสียชีวิตในวันที่ 22 ธันวาคม 2544 ด้วยอายุ 104 ปี มีผู้เขียนข่าวการเสียชีวิตของเธอบนเว็บไซต์สมาพันธ์การวางแผนผู้ปกครองนานาชาติ (อังกฤษ: International Planned Parenthood Federation) ว่า "ความพยายามอย่างต่อเนื่องของคาโตในการพยุงกุลบุตรกุลธิดาในสังคมญี่ปุ่น การทำให้ตัวเลขการทำแท้ง อัตราการตายของทารก และการเสียชีวิตของมารดาลดลง ขณะที่เพิ่มการใช้วิธีต่าง ๆ ในการคุมกำเนิดนั้นเพิ่มขึ้นถึง 80% แบบแผนการวางแผนครอบครัวชาวญี่ปุ่นนั้นได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนเป็นที่สนใจต่างประเทศและถูกนำไปใช้เป็นแบบแผนตัวอย่าง"[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 M., Hopper, Helen (1996) [1995]. A new woman of Japan : a political biography of Katō Shidzue. Boulder: Westview Press. ISBN 0813389712. OCLC 33048252.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Tipton, Elise (1997). "Ishimoto Shizue: The Margaret Sanger of Japan". Women's History Review. 6:3 (3): 337–355. doi:10.1080/09612029700200151.
  3. 3.0 3.1 3.2 Blacker, Carmen (1 February 2002). "Shizue Kato". The Guardian.
  4. 4.0 4.1 "Kato, Shidzue 1897-2001 - Dictionary definition of Kato, Shidzue 1897-2001 | Encyclopedia.com: FREE online dictionary". www.encyclopedia.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-02-15.
  5. 5.0 5.1 5.2 Gelb, Joyce (1997). "Review of A "New Woman" of Japan: A Political Biography of Kato Shidzue". The Journal of Asian Studies. 56 (1): 208–209. doi:10.2307/2646389. JSTOR 2646389.
  6. "KATO Shizue". National Diet Library Japan (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-03-17.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. Kano, Ayako (November 2017). Japanese feminist debates : a century of contention on sex, love, and labor (Paperback ed.). Honolulu. ISBN 9780824873813. OCLC 992540964.
  8. "Japan Family Planning Association, Inc. | IPPF". IPPF (ภาษาอังกฤษ). 2016-03-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-07. สืบค้นเมื่อ 2018-02-20.
  9. "Feminism Reaches Japan". The Economist. Vol. 339. June 1996. pp. 81–82.

หนังสืออ่านเพิ่ม[แก้]