ชั่วฟ้าดินสลาย (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2553)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชั่วฟ้าดินสลาย
กำกับหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล
เขียนบท
อำนวยการสร้างสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
นักแสดงนำ
กำกับภาพธีระวัฒน์ รุจินธรรม
ตัดต่อ
ดนตรีประกอบจำรัส เศวตาภรณ์
ผู้จัดจำหน่ายสหมงคลฟิล์ม
วันฉาย16 กันยายน พ.ศ. 2553
ความยาว190 นาที
ประเทศไทย ประเทศไทย
ภาษา
ทำเงิน35 ล้านบาท
ข้อมูลจากสยามโซน

ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นภาพยนตร์โศกนาฏกรรมความรัก กำกับโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ มาลัย ชูพินิจ[1] นำแสดงโดย อนันดา เอเวอริ่งแฮม, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, เพ็ญเพชร เพ็ญกุล และ ดารณีนุช โพธิปิติ ชั่วฟ้าดินสลายเป็นการกลับร่วมงานกันอีกครั้งระหว่างหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพกับสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล[2] หลังจากผลงานเรื่องแรกคือ เพลิงพิศวาส ที่สร้างชื่อให้กับ สินจัย เปล่งพานิช ถึง 26 ปี และห่างจากผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุด อันดากับฟ้าใส ที่อนันดาแสดงเป็นพระเอก ถึง 13 ปี ออกฉายวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นผลงานกำกับและเขียบทภาพยนตร์เรื่องที่ 9 ของหม่อมน้อยในรอบ 26 ปี ซึ่งจะโดดเด่นด้วยการออกแบบงานสร้างในรูปแบบศิลปกรรมล้านนาโบราณและเครื่องแต่งกายตามขนบธรรมเนียมล้านนา ได้รับเรตติ้ง "น 18+" (ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) ได้เปิดตัวรอบสื่อมวลชน ณ บริเวณชั้น 6 โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ [3] เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553[4]

ซึ่งหม่อมน้อยเคยดัดแปลงและกำกับบทประพันธ์ของ มาลัย ชูพินิจ มาแล้วจากเรื่อง แผ่นดินของเรา ในรูปแบบละครโทรทัศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2539[5]

ใบปิดภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ช่างภาพมืออาชีพและนักแสดงนำของเรื่องอย่าง ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ นอกจากจะเป็นนักแสดงมารับบท พะโป้ แล้ว ยังได้ถ่ายภาพใบปิดภาพยนตร์[5] มีสโลแกนว่า "เสน่หาชั่วข้ามคืน ความขมขื่นชั่วนิรันดร์"

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลสถาบันต่าง ๆ และสามารถกวาดรางวัลจากสถาบันใหญ่ ๆ ทั้งสาขาภาพยนตร์, นักแสดง และทีมงานเบื้องหลัง

เรื่องย่อ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2475 ยุพดี (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ม่ายสาวหัวสมัยใหม่จากพระนคร เธอรักการอ่านหนังสือ รักดนตรี และศิลปะร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง และจากอาชีพเลขานุการที่ทำให้เธอสมาคมกับชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย ทำให้แนวความคิดของเธอสมัยใหม่กว่าสตรีชาวสยามในยุคสมัยนั้น ยุพดีกำพร้าทั้งบิดามารดา เธอต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้ส่วนลึกในใจของเธอนั้นแสวงหาซึ่งความรัก แล้วเธอได้สมรสกับ "พะโป้" (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) คหบดีม่ายชาวพม่าอายุคราวพ่อ ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายชั้นสูงในรัฐฉาน เจ้าของกิจการป่าไม้อันมั่งคั่งแห่งกำแพงเพชร มีนางบำเรอหลายสิบนางอยู่ในอาณาจักรแห่งเขาท่ากระดานของเขา ทั้งคู่ได้เดินทางไปใช้ชีวิตฉันท์สามีภรรยาที่ปางไม้เขาท่ากระดาน ซึ่งยุพดีคิดว่าชีวิตของเธอได้ถูกเติมเต็มแล้วในทุกๆ ด้านจาก "พะโป้" สามีที่เธอรัก

เมื่อยุพดีได้มาพบเจอกับ "ส่างหม่อง" (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) หนุ่มพม่าผู้หล่อเหลาแต่แสนบริสุทธิ์ในกามโลกีย์ผู้เป็นหลานชายของพะโป้ ส่างหม่องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเด็กและได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากพะโป้ผู้เป็นอา ทำให้เขาเคารพรักและบูชาพะโป้ประดุจบิดา และ "ทิพย์" (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ชายชาวพระนครวัยกลางคน ผู้ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน เขาเป็นผู้จัดการปางไม้ของพะโป้ที่เขาท่ากระดาน ทิพย์เป็นคนเปิดเผยซื่อตรง และน่าเชื่อถือ ทำให้พะโป้ไว้วางใจเขายิ่งนัก

"มะขิ่น" (ดารณีนุช โพธิปิติ) เป็นอดีตนางบำเรอเอกของพะโป้ที่ถูกปลดระวางไปเป็นแม่บ้านในอาณาจักรปางไม้เขาท่ากระดาน เธอรักและซื่อสัตย์ต่อพะโป้อย่างสุดจิตสุดใจ แม้จะถูกทิ้งขว้างอย่างไม่ใยดี นั่นทำให้มะขิ่นรู้สึกอิจฉาที่ยุพดีเข้ามาเป็นนายหญิงคนใหม่และได้ครองทั้งตัวและหัวใจของพะโป้ไปเสียทั้งหมด ส่างหม่องและยุพดีต่างก็เกิดความเสน่หาต่อกัน ยิ่งทั้งคู่ได้ชิดใกล้กันมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดอาการหวั่นไหว และอยากอยู่ด้วยกันมากขึ้นเท่านั้นตามสัญชาตญาณหนุ่มสาวที่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ

ในที่สุด ทั้ง "ส่างหม่อง" และ "ยุพดี" ก็มิอาจต้านทานความปรารถนาของตนและยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาอย่างถึงที่สุด ทั้งคู่ก้าวล้ำเส้นของการเป็นหลานและอาสะใภ้โดยลอบเป็นชู้กัน และแล้วเมื่อพะโป้ได้ล่วงรู้ความจริงอันน่าอัปยศเช่นนี้ เขาดูเหมือนจะสงบนิ่งอย่างผู้ผ่านประสบการณ์และเข้าใจโลกยิ่งนัก แต่จริง ๆ แล้วในใจเขากลับร้อนรุ่มด้วยโทสะจริต อย่างไม่คาดฝัน พะโป้ตัดสินให้ยุพดีเมียสุดที่รักได้อยู่กินกับส่างหม่องหลานรักอย่างเปิดเผย ภายใต้เงื่อนไขอันแสนโหดร้ายด้วยการล่ามโซ่ตรวนคล้องแขนติดกัน

ในเวลาต่อมา ส่างหม่องและยุพดี หมดความอดทน ต้องการที่จะปลดโซ่ตรวนออก แต่พะโป้ไม่ยอมปลดออก ทั้งคู่จึงหนีตายดาบหน้า จากบ้านผาจันไปที่ปางนางรอ ใกล้ปางช้าง ทุกคนพากันตามหา ไล่ตามจับได้ ต่อมายุพดีได้ตั้งท้องกับส่างหม่อง ทั่งคู่จึงเข้าไปหาพะโป้ เพื่อขอกุญแจปลดโซ่ตรวนออก พะโป้จึงเสนอทางออกให้ด้วยปืน ส่างหม่องได้เลือกทางนั้น โดยยุพดีเต้นรำกับส่างหม่องเป็นครั้งสุดท้าย ส่างหม่องให้ยุพดียิงเขา แต่ยุพดียิงตัวเองตายแทน

ส่างหม่องอุ้มร่างยุพดีมาเพื่อรับกุญแจ แต่พะโป้กล่าวว่า "ชั่วฟ้าดินสลาย" ทิพย์ทนไม่ได้ที่เห็นเป็นแบบนี้ จึงเข้าไปขอกุญแจกับพะโป้ พะโป้กลับปฏิเสธ ส่างหม่องจึงนอนกับร่างศพของยุพดี เช้ารุ่งขึ้น ร่างของยุพดีเน่าเปื่อย ส่างหม่องตกใจเสียงดัง มะขิ่นจึงเอาดาบมาฟันมือของยุพดี ส่างหม่องวิ่งเตลิดเปิดเปิง กระเจิดกระเจิง กระเซอะกระเซิง คล้ายเป็นคนบ้า เข้าป่าหายไป และร่างศพของยุพดีก็ฝังอยู่ในป่าโดยไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ในที่สุดพะโป้ได้นำส่างหม่องกลับมา หลังจากที่หายเข้าป่าไปหลายวัน

10 ปีต่อมา ใน พ.ศ. 2486 "นิพนธ์" (เพ็ญเพชร เพ็ญกุล) นักเขียนหนุ่มวัย 35 ประจำที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวันและรายสัปดาห์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์อันเป็นที่นิยมใน พุทธศักราช 2486 บิดามารดาของเขามีอาชีพค้าไม้ ทำให้ครอบครัวของเขาได้ทำธุรกิจ และสนิทสนมกับพะโป้ ในวันหนึ่ง เมื่อเขากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่กำแพงเพชร ได้รับการเชิญจากพะโป้ให้เข้าป่าล่าสัตว์ที่ค่ายพักเขาท่ากระดาน ในระหว่าที่ได้พักนั้น เขาได้ยินเสียงคร่ำครวญก้องจากป่า ทำให้นิพนธ์สงสัย จึงไปถามทิพย์ นิพนธ์ได้รับรู้เรื่องราวอันน่าพิศวงในโศกนาฏกรรมรักของส่างหม่องและยุพดี ที่มีกิเลสตัณหาเป็นที่ตั้ง อันนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ให้นิพนธ์ได้รับรู้ ซึ่งเป็นเรื่องราวจากปากของทิพย์

นิพนธ์ได้เก็บข้าวของจะรีบกลับ ในระหว่างที่กลับไปบ้านเกิดนั้น เขาได้เห็นส่างหม่องในรูปร่างคนบ้า ที่เสียสติอยู่ ในท้ายเรื่อง

นักแสดง[แก้]

นักแสดงหลัก[แก้]

หนุ่มชาวพม่า หลานชายของพะโป้ คหบดีใหญ่เจ้าของสัมปทานป่าไม้ผู้ทรงอิทธิพล เป็นกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเด็ก และได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากพะโป้ผู้เป็นอา ทำให้เขาเคารพรักและบูชาพะโป้ แต่ตกหลุมรักอาสะใภ้ ยุพดี
สาวชาวพระนครผู้เลอโฉมผู้รักการอ่านหนังสือ รักดนตรี รักเสรีภาพและความเป็นปัจเจกชน และศิลปะร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง มีอาชีพเลขาที่ทำให้เธอสมาคมกับชาวต่างชาติมากกว่าคนไทย ยุพดีกำพร้าทั้งบิดามารดา เธอต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวตั้งแต่วัยเยาว์ พะโป้ และ ส่างหม่อง จึงหลงรักเธอ
มหาเศรษฐีหม้ายชาวพม่าผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายชั้นสูงในรัฐฉาน คหบดีใหญ่เจ้าของสัมปทานป่าไม้ผู้ทรงอิทธิพล เป็นผู้มีเมตตากรุณายึดมั่นในพระพุทธศาสนและเป็นเพลย์บอยอย่างหาตัวจับยาก และมีนางบำเรอหลายสิบนางของเขา พะโป้ให้ความรักและเมตตากับส่างหม่อง หลานชายของเขา และมีภรรยาคนใหม่ชื่อยุพดี โดยเขาไม่รู้ว่ายุพดีแอบเป็นชู้กับส่างหม่อง
ชายชาวพระนครวัยกลางคน ผู้ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน เขาเป็นผู้จัดการปางไม้ของพะโป้ที่เขาท่ากระดาน ทิพย์เป็นคนเปิดเผยซื่อตรงและน่าเชื่อถือ ทำให้พะโป้ไว้วางใจเขายิ่งนัก เป็นผู้กุมความลับและเปิดเผยเรื่องราวความรักของส่างหม่องกับยุพดี เรื่องลอบเป็นชู้กัน
นักเขียนหนุ่มวัย 35 ผู้มีหัวก้าวหน้าและอนาคตไกล เขาทำงานประจำที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวันและรายสัปดาห์ ในพุทธศักราช 2486 บิดามารดาของเขามีอาชีพค้าไม้ ทำให้ครอบครัวของเขาได้ทำธุรกิจและสนิทสนมกับพะโป้
อดีตนางบำเรอเอกของพะโป้ที่ถูกปลดระวางไปเป็นแม่บ้านในอาณาจักรปางไม้เขาท่ากระดาน รักและซื่อสัตย์ต่อพะโป้อย่างสุดจิตสุดใจ นั่นทำให้มะขิ่นรู้สึกอิจฉาที่ยุพดี เข้ามาเป็นนายหญิงคนใหม่และเป็นภรรยาของพะโป้

นักแสดงรับเชิญ[แก้]

งานสร้างภาพยนตร์[แก้]

นักแสดงและผู้กำกับ[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการหวนกลับมาเขียนบทและกำกับอีกครั้ง ของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หลังจากห่างหายจากวงการไปนาน 13 ปี หลังจากกำกับภาพยนตร์เรื่อง อันดากับฟ้าใส [6]

หม่อมน้อยเคยร่วมงานกับ สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ และ สหมงคลฟิล์ม มาแล้ว เมื่อครั้งที่หม่อมเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจากเรื่อง เพลิงพิศวาส ปี พ.ศ. 2527 ที่ได้สร้างชื่อให้กับ สินจัย เปล่งพานิช ถึง 26 ปี และหม่อมน้อยจะกลับมาร่วมงานกับสหมงคลฟิล์ม อีกครั้งในรอบ 26 ปี กับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานกำกับเรื่องที่ 9 ของหม่อมน้อย[7][5]

ซึ่งชั่วฟ้าดินสลายฉบับในปี พ.ศ. 2553 การสร้างชั่วฟ้าดินสลายในปี พ.ศ. 2553 เป็นการสร้างเป็นครั้งที่ 4 นำแสดงโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม รับบท ส่างหม่อง, เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์ รับบทเป็น ยุพดี และ ธีรพงษ์ เหลียวรักวงษ์ และ ช่างภาพมืออาชีพ มารับบทเป็น พะโป้ ร่วมด้วย ศักราช ฤกษ์ธำรง เป็นนักแสดงคู่บุญที่แสดงในภาพยนตร์ของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล มาแล้วแทบทุกเรื่อง[5] ซึ่งเรื่องนี้เขามารับบทเป็น ทิพย์, เพ็ญเพชร เพ็ญกุล, และ ดารณีนุช โพธิปิติ

ที่มาของภาพยนตร์[แก้]

ชั่วฟ้าดินสลาย (2498) เวอร์ชันที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของผู้ชม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างจากวรรณกรรมอมตะของ เรียมเอง (มาลัย ชูพินิจ) หม่อมน้อยได้ให้ความเคารพในบทประพันธ์และสร้างอย่างใกล้เคียงต้นฉบับมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งจะให้ทั้งความบันเทิงและสะท้อนแง่คิดคติสอนใจอย่างร่วมสมัยด้วย โดยการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล เป็นการนำกลับมาสร้างใหม่เป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 30 ปี ถัดจากเวอร์ชันท้ายสุดเมื่อปี พ.ศ. 2523[8]

โดยบทประพันธ์นี้ได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือนิกร ฉบับวันอาทิตย์เมื่อ พ.ศ. 2486[5] ในลักษณะเรื่องสั้น และต่อมาจึงได้รับการแก้ไขและขยายเป็นนวนิยายขนาดเล็ก และตีพิมพ์โดยสำนักงานพิทยาคม เมื่อปี พ.ศ. 2494 และเคยสร้างเป็นละครเวทีโดย คณะศิวารมย์ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์มาก่อนหน้านี้ 3 ครั้ง ในชื่อเดียวกับบทประพันธ์ ได้แก่ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2496 (สี, 16 ม.ม.) , ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2498 (35 ม.ม.) เป็นเวอร์ชันที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดของผู้ชม และ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2523[5]

โดยหม่อมน้อย ได้กลับไปศึกษางานของ ครูมาลัย ชูพินิจ อีกครั้งหนึ่ง โดยที่คิดว่าจะรักษาวรรณกรรมเรื่องสั้นนี้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยคงบทประพันธ์เดิมไว้ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยหม่อมน้อยกล่าวว่า การดำเนินเรื่องเลยจะใกล้เคียงกับในหนังสือมากกว่าในเวอร์ชันอื่นๆ ที่เคยทำมา" [9]

สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์[แก้]

ฉากและสถานที่ถ่ายทำในภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากฉากสำคัญของเรื่องเกิดขึ้นที่ปางไม้ในป่าลึกที่เขาท่ากระดานจังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นอาณาจักรส่วนตัวของ “พะโป้” คหบดีใหญ่ผู้มั่งคั่งชาวพม่า ซึ่งผู้ประพันธ์ได้บรรยายไว้ว่า “ปลูกบ้านอยู่กว้างขวางใหญ่โต ราวกับปราสาทราชสำนักของเจ้าครองนครในสมัยโบราณ” ทางทีมงานภาพยนตร์ได้จัดฉากซึ่งเป็นคฤหาสน์ของพะโป้ขึ้นกลางป่าริมลำธารของวนอุทยานแห่งชาติขุนแจ อำเภอเวียงป่าเป้า โดยยึดถือการออกแบบตกแต่งจากศิลปกรรมล้านนาโบราณ เพื่อให้ตรงกับบทประพันธ์[8]

ส่วนภูมิประเทศรอบด้านนั้น ทางทีมงานได้เลือกภูมิทัศน์อันงดงามของจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่หลักในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เกือบทั้งเรื่อง ทั้งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ส่วนในป่าลึกและบนยอดเขาที่บ้านเย้าเล่าสิบ อำเภอแม่ฟ้าหลวง, บ้านปางผึ้ง ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า เป็นต้น

เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ย้อนยุคไปในปี พ.ศ. 2476 จนถึงปี พ.ศ. 2486 และเรื่องราวเกิดขึ้นในภูมิภาคทางเหนือของประเทศไทยในระหว่างยุคนั้น ประกอบกับภูมิภาคของตัวละครผู้มีอิทธิพลสูงสุด คือ พะโป้ คหบดีม่ายชาวพม่า ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของทุกชีวิตในอาณาจักรเข่าท่ากระดาน ถือขนบประเพณีและวัฒนธรรมอันมีแบบแผน แบบราชสำนักไทยใหญ่และพม่า อันเป็นวัฒนธรรมอันมีอิทธิพลสูงในวัฒนธรรมล้านนาไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีฉากสำคัญหลายฉากที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมอันสูงส่งและประณีตงดงาม เช่นฉากพีธีกรรม ฉากงานฉลองรับขวัญคู่สมรส ฉากงานบุญฉองวันเกิด หรือฉากงานเลี้ยงต้อนรับข้าหลวง ซึ่งมีการแสดงนาฏศิลป์และการละเล่นหุ่นกระบอก[10][8]

นอกเหนือจากการกำกับและการแสดงแล้ว ชั่วฟ้าดินสลายเวอร์ชันใหม่นี้ยังโดดเด่นด้วยการออกแบบงานสร้างในรูปแบบศิลปกรรมล้านนาโบราณและเครื่องแต่งกายตามขนบล้านนา รวมถึงพิธีกรรมยุคโบราณที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม[11]

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะสร้างฉากในหลากหลายสถานที่ ของจังหวัดเชียงราย ที่กล่าวว่าไม่มีใครไปถ่ายหนังจริงจังมากนัก[8]

เครื่องแต่งกาย[แก้]

การออกแบบเครื่องแต่งกาย ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ย้อนยุค เครื่องแต่งกายออกแบบเข้ากับยุคสมัย อารมณ์ และบรรยากาศของเรื่อง หลากหลายแบบทั้งสากล, ไทย และพม่า[12]

วัฒนธรรมการแต่งกายที่ถูกต้องตามขนบประเพณีและยุคสมัยของตัวละครเอกทุกตัว และจะสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผาต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรของตัวละครพะโป้ ที่เขากระดาน ตามที่ผู้ประพันธ์ได้ระบุไว้ว่า "มีบ่าวไพร่ทั้งที่เป็นพม่า ขมุ และมอญนับร้อย" ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกในยุคหลังๆ นี้ ที่นำเสนอภาพขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของอาณาจักรล้านนาไทย[8]

ฉากรักในภาพยนตร์[แก้]

ฉากรักในภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากจะมีเครื่องแต่งกายและสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์แล้ว ยังมีฉากรักในภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย ซึ่งอนันดา เอเวอริงแฮม เปลือยกายเล่นจริงให้สมบทบาทตัวละคร การที่อนันดาเข้าฉากรักในภาพยนตร์นั้น มีเทคนิกคือด้วยการใช้ผ้าผืนเล็กๆ แล้วเอาเทปใสแปะไว้ เป็นเทคนิกที่ใช่ในแต่ละฉาก[13]

ส่วนเรื่องคนจะวิจารณ์นั้นอนันดาก็ได้ชี้แจงว่าตนเองมองว่าเป็นการทำงานตามบทบาทเท่านั้น และไม่ได้คิดว่าเสียหายอะไร อนันดา กล่าวว่า ผมว่าหนังมันก็คือหนัง แล้วผมว่าเราควรจะโตกันได้แล้ว ผมว่าผมไม่ได้ทำในสิ่งที่คนอื่นๆ ในชีวิตจริงเขาไม่ได้ทำกัน กลับกัน ถ้าผมเล่นเป็นตัวที่เลวๆ ยิงคนตายอะไรแบบเนี้ย ผมว่าอันนั้นยังแรงกว่าการที่มาแก้ผ้าอีกนะ ผมว่าเรื่องแก้ผ้า เรื่องเซ็กซ์มันเป็นเรื่องธรรมชาติ[14]

เป็นภาพยนตร์ที่มีฉากรักจนเป็นประเด็นให้ที่พูดถึงด้วยความฮือฮา ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล อยากให้มองภาพยตร์ที่พูดถึง ตัณหาราคะโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดกับตัวละครที่มีความรู้มีการศึกษา รู้ดีรู้ชั่ว รู้จักศีลธรรม แต่บุคคลเหล่านี้ได้กระทำในสิ่งที่เรียกได้ว่าผิดต่อศีลธรรมในพุทธศาสนา คือจะพูดง่ายๆ หนังเรื่องนี้จะพูดถึงความหายนะของผู้ที่กระทำบาป"”[15]

เพลงประกอบและดนตรีประกอบ[แก้]

เพลง ชั่วฟ้าดินสลาย ประพันธ์คำร้องโดย ครูมารุต ผู้กำกับภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2498 ทำนองโดย แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ขับร้องโดย พูลศรี เจริญพงษ์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงเงินพระราชทาน โดยภาพยนตร์ปีเรื่องนี้ ได้ เจนนิเฟอร์ คิ้ม มาร้องเพลงในภาพยนตร์เรื่องนี้[16]

การสร้างสรรค์ดนตรีประกอบเรื่องนี้ โดยนักประพันธ์ดนตรีมือรางวัลคือ จำรัส เศวตาภรณ์ ที่เคยได้รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมแห่งเอเชียจากภาพยนตร์ของหม่อมน้อยเรื่อง นางนวล ในปี พ.ศ. 2530 [5]

การตอบรับ[แก้]

การออกฉายและรายได้[แก้]

ชั่วฟ้าดินสลาย ได้ฉายรอบปฐมทัศน์การกุศล เพื่อมูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ องค์ประธานมูลนิธิ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพยนตร์

ภาพยนตร์ออกฉายรอบปกติเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553 เปิดฉาย 4 วันแรกด้วยรายได้ 12.5 ล้านบาท[17] ภาพยนตร์ทำรายได้รวม 35 ล้านบาท[18]

คำวิจารณ์[แก้]

อภินันท์ บุญเรืองพะเนา จากผู้จัดการออนไลน์ กล่าวถึงภาพรวมหนังว่า "ทำออกมาในลักษณะที่กล่าวได้ว่า “ดี” ถึง “ดีมาก”"[19] ในขณะที่วิชช์ญะ ยุติ จากโพสต์ทูเดย์กล่าวว่า "วางทิศทางผิดและดูจะเทน้ำหนักไม่เท่ากัน ระหว่างก่อนรักและหลังรัก...ถึงอย่างนั้น ด้วยความเข้มข้นของบทดั้งเดิมและการดัดแปลงบทใหม่ที่เป็นไปอย่างลื่นไหล โดยยังคงเค้าโครงเรื่องไว้ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด ในแง่ความเป็นหนังบันเทิงก็ถือว่าพอไปไหวอยู่"[20]

รางวัล[แก้]

ผู้มอบรางวัล สาขารางวัล ผล
คมชัดลึก อวอร์ด[21][22] สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) ได้รับรางวัล
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ดารณีนุช โพธิปิติ) เสนอชื่อเข้าชิง
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ธีรพงษ์ เหลียวรักวงศ์) เสนอชื่อเข้าชิง
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) เสนอชื่อเข้าชิง
สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) ได้รับรางวัล
สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) ได้รับรางวัล
สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ได้รับรางวัล
สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล
ท็อปอวอร์ด 2010 สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) เสนอชื่อเข้าชิง
สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) เสนอชื่อเข้าชิง
สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ได้รับรางวัล
รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) เสนอชื่อเข้าชิง
ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) ได้รับรางวัล
ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ได้รับรางวัล
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ธีรพงษ์ เหลียวรักวงศ์) เสนอชื่อเข้าชิง
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) เสนอชื่อเข้าชิง
ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ดารณีนุช โพธิปิติ) เสนอชื่อเข้าชิง
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) เสนอชื่อเข้าชิง
กำกับภาพยอดเยี่ยม (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม) เสนอชื่อเข้าชิง
ลำดับภาพยอดเยี่ยม (สุนิตย์ อัศวินิกุล) (พรรนิภา กบิลลิกกะวานิชย์) เสนอชื่อเข้าชิง
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (สิรนัท รัชชุศานติ) ได้รับรางวัล
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (จำรัส เศวตาภรณ์) ได้รับรางวัล
รางวัลสุพรรณหงส์ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ได้รับรางวัล
รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) ได้รับรางวัล
รางวัลผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ดารณีนุช โพธิปิติ) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลบันทึกเสียงและผสมเสียงยอดเยี่ยม
(ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์) (ณพวัฒน์ ลิขิตวงศ์) (บริษัท กันตนา แลบบอราทอรี่ส จำกัด)
เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม (สุนิตย์ อัศวินิกุล) (พรรนิภา กบิลลิกกะวานิชย์) ได้รับรางวัล
รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (สิรนัท รัชชุศานติ) ได้รับรางวัล
รางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
(นพดล เตโช) (ทศฤทธิ์ สามิภักดิ์) (ธีระพันธ์ จันทร์เจริญ)
ได้รับรางวัล
รางวัลเทคนิคการแต่งหน้ายอดเยี่ยม (พิชานนทท์ รัตนกมลกานต์) เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม (โอเรียนทัล โพสท์)
(บริษัท กันตนา แอนิเมชั่น สตูดิโอ จำกัด)
เสนอชื่อเข้าชิง
ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์[23] รางวัลภาพยนตร์แห่งปี ได้รับรางวัล
รางวัลสตาร์พิคส์ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2553 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) เสนอชื่อเข้าชิง
ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (ธีรวงศ์ เหลี่ยวรักวงศ์) เสนอชื่อเข้าชิง
ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (อนันดา เอเวอริ่งแฮม) เสนอชื่อเข้าชิง
ผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) เสนอชื่อเข้าชิง
นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) เสนอชื่อเข้าชิง
ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (ดารณีนุช โพธิปิติ) เสนอชื่อเข้าชิง
บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) เสนอชื่อเข้าชิง
กำกับภาพยอดเยี่ยม (ธีระวัฒน์ รุจินธรรม) เสนอชื่อเข้าชิง
ลำดับภาพยอดเยี่ยม (สุนิตย์ อัศวินิกุล) (พรรนิภา กบิลลิกกะวานิชย์) เสนอชื่อเข้าชิง
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (สิรนัท รัชชุศานติ) ได้รับรางวัล
ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม (จำรัส เศวตาภรณ์) ได้รับรางวัล

ดีวีดี[แก้]

ดีวีดี ชั่วฟ้าดินสลาย วางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554 จัดจำหน่ายโดย บริษัท แฮปปี้ โฮม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ระบบเสียงภาษาไทยดอลบีดิจิตอล 5.1 รูปแบบ Anamorphic Widescreen 16 : 9 และ Widescreen 1.85 : 1 ในราคาปก 250 บาท ลดในราคา 180 บาท

ชั่วฟ้าดินสลาย Director’s cut[แก้]

ชั่วฟ้าดินสลาย ไดเร็กเตอร์คัท (ชั่วฟ้าดินสลาย Director’s cut) เป็นภาพยนตร์เรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ฉบับสมบูรณ์ที่สุด มีความยาว 3 ชั่วโมง 10 นาที ซึ่งยาวกว่าเดิม 1 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งจะมีฉากที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งจะฉายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554 เท่านั้น ซึ่งจะฉายเฉพาะที่โรงภาพยนตร์ HOUSE RCA เท่านั้น เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ที่โรงภาพยนตร์ HOUSE RCA [24]

ปัจจุบัน ชั่วฟ้าดินสลาย Director’s cut ได้จัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีโดย แฮปปี้ โฮม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 มีความยาว 3 ชั่วโมง 10 นาที และมี Making of, Photo Gallery, บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ และ 5 นักแสดง รวมถึงฉากที่ไม่เคยเห็นในเวอร์ชันปกติ[25] ในระบบเสียง Thai Dolby Digital 5.1 ระบบภาพ Anamorphic Widescreen 1.65:1 ซึ่งในดีวีดีมีอยู่ 2 แผ่น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. หม่อมน้อย เคารพต้นฉบับ ครูมาลัย ชูพินิจ[ลิงก์เสีย]
  2. หม่อมน้อย คืนจอเงินในรอบสิบปี เตรียมโปรแกรมทองให้ค่ายใบโพธิ์[ลิงก์เสีย]
  3. พันธนาการแห่งรักที่ตรึงเขาและเธอไว้ ชั่วฟ้าดินสลาย
  4. สิ้นสุดการรอคอย ชั่วฟ้าดินสลาย เปิดรอบปฐมทัศน์ ร่วมพิสูจน์โศกนาฏกรรม ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 http://www.siamzone.com/movie/m/5861/trivia
  6. อนันดา-พลอย ดี๊ด๊าควงคู่ลงจอหนังครั้งแรก ใน ชั่วฟ้าดินสลาย[ลิงก์เสีย]
  7. หม่อมน้อยหวนคืนเก้าอี้ผู้กำกับภาพยนตร์อีกครั้งในรอบ 13 ปี[ลิงก์เสีย]
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 http://thaicinema.org/kits238chuafah.asp
  9. "หม่อมน้อย...จับวรรณกรรมอมตะชั่วฟ้าดินสลายสร้างใหม่...เน้นเคารพต้นฉบับตามบทประพันธ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-17. สืบค้นเมื่อ 2011-12-29.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2011-12-27.
  11. http://www.sahamongkolfilm.com/th/filmdetail.php?id=398[ลิงก์เสีย]
  12. อนันดา-พลอย ชื่นชมแฟชั่นย้อนยุค ได้เปลี่ยนลุคใหม่ไม่ซ้ำแนว[ลิงก์เสีย]
  13. นิตยสาร เมาท์ซี่ ฉบับเดือนกันยายน 2553.
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-10. สืบค้นเมื่อ 2011-12-27.
  15. หม่อมน้อย ย้ำชัด เลิฟซีน ชั่วฟ้าดินสลาย ไม่หยาบโลน เปลือยอารมณ์รักและตัณหาของมนุษย์
  16. http://www.sahamongkolfilm.com/th/indexSiteNews.php?id=312[ลิงก์เสีย]
  17. Resident Evil : Afterlife ยึดแชมป์ต่อ, ชั่วฟ้าดินสลาย เปิด 12.5 ล้าน[ลิงก์เสีย]
  18. รายได้หนังปีเสือ ไม่ดุไม่แรงแต่โดน[ลิงก์เสีย] เดลินิวส์
  19. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-25. สืบค้นเมื่อ 2010-09-23.
  20. "รักไม่ช่วยอะไร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-27. สืบค้นเมื่อ 2010-09-23.
  21. ""พลอย-อนันดา"เยี่ยมคมชัดลึกอวอร์ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-18. สืบค้นเมื่อ 2011-01-14.
  22. ค่าย ใบโพธิ์ เฮลั่น!! กวาดรางวัลยอดเยี่ยมเรียบงาน คมชัดลึกอวอดส์[ลิงก์เสีย]
  23. ""พลอย-ชาคริต"คว้านักแสดงแห่งปี,"บี้"ซิวขวัญใจมหาชน 3 ปีซ้อน ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ 2011". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-03-20.
  24. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-16.
  25. "ชั่วฟ้าดินสลายฉบับไดเร็กเตอร์คัท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-16.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]