ชอร์ต (การเงิน)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนผังแสดงการขายชอร์ตในสองขั้นตอน ผู้ขายชอร์ตยืมและขายหุ้นทันที จากนั้นผู้ขายชอร์ตคาดว่าราคาจะลดลง และสามารถทำกำไรได้ จึงซื้อหุ้นเพื่อคืนให้กับผู้ให้ยืม

ชอร์ต (อังกฤษ: short) ในทางการเงิน หมายถึง การลงทุนในลักษณะที่นักลงทุนจะได้กำไรหากมูลค่าของสินทรัพย์ลดลง ตรงกันข้ามกับ "ลอง" ที่นักลงทุนจะได้กำไรหากมูลค่าของสินทรัพย์สูงขึ้น

การชอร์ตมีหลายวิธี ซึ่งวิธีการพื้นฐานที่สุดคือการยืมสินทรัพย์ (มักเป็นหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หรือพันธบัตร) และขายในทันที จากนั้นนักลงทุนจะซื้อหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันในจำนวนเดียวกันเพื่อส่งคืนให้กับผู้ให้ยืม หากราคาลดลงระหว่างการขายครั้งแรกและการซื้อคืนหลักทรัพย์ นักลงทุนจะทำกำไรได้จากส่วนต่างนี้ ในทางกลับกัน หากราคาสูงขึ้นนักลงทุนจะต้องแบกรับผลขาดทุน โดยปกติผู้ขายชอร์ตจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการยืมหลักทรัพย์ (เรียกเก็บในอัตราเฉพาะเมื่อเวลาผ่านไป คล้ายกับการจ่ายดอกเบี้ย) และคืนเงินให้กับผู้ให้ยืมสำหรับผลตอบแทนเป็นเงินสดที่ผู้ให้ยืมจะได้รับ หากหลักทรัพย์ไม่ถูกยืมออก เช่น เงินปันผลใด ๆ ที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ให้ยืมหากพวกเขายังคงเป็นผู้ถือหุ้นที่พวกเขาให้ยืมไป

แนวคิด[แก้]

การชอร์ตด้วยหลักทรัพย์ที่ยืม[แก้]

หากต้องการทำกำไรจากการลดลงของราคาหลักทรัพย์ ผู้ขายชอร์ตสามารถยืมหลักทรัพย์และขายได้ โดยคาดหวังว่าจะมีราคาถูกกว่าเมื่อซื้อคืนในอนาคต การซื้อหลักทรัพย์ที่ถูกขายชอร์ตเรียกว่า "การคืนหุ้นหลังขายชอร์ต" ซึ่งสามารถทำได้ตลอดเวลาก่อนที่หลักทรัพย์จะถึงกำหนดส่งคืน เมื่อปิดสัญญาแล้วผู้ขายชอร์ตจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นหรือลงของราคาหลักทรัพย์ในภายหลัง เนื่องจากถือหลักทรัพย์ซึ่งจะส่งคืนให้กับผู้ให้ยืมอยู่แล้ว

กระบวนการนี้ขึ้นอยู่กับความจริงที่ว่า หลักทรัพย์ (หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ถูกขายชอร์ต) สามารถทดแทนกันได้ ดังนั้นนักลงทุนจึง "ยืม" หลักทรัพย์ในความหมายเดียวกับเงินสดที่ยืมมาโดยที่เงินสดที่ยืมสามารถใช้ได้อย่างอิสระ และสามารถคืนเป็นธนบัตรหรือเหรียญต่าง ๆ ให้กับผู้ให้ยืมได้ ตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่ว่า คนหนึ่งยืมจักรยานโดยที่จะต้องคืนจักรยานคันเดิม ไม่ใช่จักรยานคันใหม่ที่เป็นรุ่นเดียวกัน

ในทางทฤษฎี ราคาของหุ้นมีไม่จำกัด ความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นของผู้ขายชอร์ตจึงมีไม่จำกัดในทางทฤษฎีด้วย

ตัวอย่างการขายชอร์ตที่ทำกำไรได้[แก้]

หุ้นบริษัท ACME มีราคาปัจจุบันที่ 10 บาทต่อหุ้น

  1. ผู้ขายชอร์ตยืมหุ้น ACME จากผู้ให้ยืม 100 หุ้น และขายทันทีในราคารวม 1,000 บาท
  2. ต่อมา ราคาหุ้นตกลงมาที่ 8 บาทต่อหุ้น
  3. ผู้ขายชอร์ตซื้อหุ้น ACME 100 หุ้นในราคา 800 บาท
  4. ผู้ขายชอร์ตคืนหุ้นให้กับผู้ให้ยืม ซึ่งจะต้องยอมรับการคืนหุ้นจำนวนเดียวกันกับที่ให้ยืม แม้ว่ามูลค่าของหุ้นจะลดลงก็ตาม
  5. ผู้ขายชอร์ตเก็บกำไรส่วนต่าง 200 บาท จากราคาที่ผู้ขายชอร์ตขายหุ้นที่ยืมมา และราคาที่ผู้ขายชอร์ตซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่า (หักลบกับค่าธรรมเนียมการยืมที่จ่ายให้กับผู้ให้ยืม)

ตัวอย่างการขายชอร์ตที่ขาดทุน[แก้]

หุ้นบริษัท ACME มีราคาปัจจุบันที่ 10 บาทต่อหุ้น

  1. ผู้ขายชอร์ตยืมหุ้น ACME จากผู้ให้ยืม 100 หุ้น และขายทันทีในราคารวม 1,000 บาท
  2. ต่อมา ราคาหุ้นขึ้นมาที่ 25 บาทต่อหุ้น
  3. ผู้ขายชอร์ตจะต้องคืนหุ้นและถูกบังคับให้ซื้อหุ้น ACME 100 หุ้นของ ราคา 2,500 บาท
  4. ผู้ขายชอร์ตคืนหุ้นให้กับผู้ให้ยืม ซึ่งยอมรับการคืนหุ้นจำนวนเดียวกันกับที่ให้ยืม
  5. ผู้ขายชอร์ตเสียส่วนต่าง 1,500 บาท จากราคาที่ผู้ขายชอร์ตขายหุ้นที่ยืมมา และราคาที่ผู้ขายชอร์ตซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่า (บวกค่าธรรมเนียมการยืมที่จ่ายให้กับผู้ให้ยืม)