ชมรมบริการโลหิตและสังคมสงเคราะห์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในพระบรมราชินูปถัมภ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ชมรมบริการโลหิตและสังคมสงเคราะห์ (ในพระบรมราชินูปถัมภ์) หรือ ชมรมโลหิต เป็นชมรมในสังกัดฝ่ายพัฒน์ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน ชมรมโลหิตเป็นการรวมตัวของกลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงนักเรียน นักศึกษาผู้มีความสนใจ เพื่อใช้เวลาว่างจากการเรียนไปกับการปฏิบัติกิจกรรมหลากหลายประเภท โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือการก่อประโยชน์ต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท การรับบริจาคโลหิต การเยี่ยมเยียนเด็กผู้ด้อยโอกาสตามสถานสงเคราะห์ ฯ เป็นการเปิดโลกทัศน์แก่เหล่าหนุ่มสาว ให้เห็นสภาพสังคมที่หลากหลายนอกรั้วมหาวิทยาลัย และเปิดโอกาสให้เหล่านิสิตได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรค์ผลงาน ฝึกประสบการณ์ทำงาน การแสดงออกและการถ่ายทอด อันจะเป็นการบ่มเพาะเหล่าสมาชิกชมรมให้เป็นสมาชิกที่ตอบแทนสังคมได้ เมื่อพวกเขาจบการศึกษา

ประวัติ[แก้]

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2506 ได้เกิดการพิพาทกันระหว่างนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ 9 คนกับรองอธิการบดีฝ่ายปกครอง ทำให้นิสิตคณะวิศวะฯ 2 คน ถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนมหาวิทยาลัย กลุ่มนิสิตคณะวิศวะดังกล่าวจึงถือโอกาสในวันดังกล่าว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมายังจุฬาฯ มาดักรอรถยนต์พระที่นั่งบริเวณถนนพระราม 5 เพื่อทูลเกล้าถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานอภัยโทษ และด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมก็ทำให้นิสิตกลุ่มนั้นได้กลับมาเป็นนิสิตจุฬาฯ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกันนั้นเอง นิสิตคณะวิศวะฯ จำนวนมากจึงร่วมใจกันมาบริจาคโลหิตให้แก่ ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย รวมไปถึงในปีต่อมานิสิตคณะวิศวะฯ ยังได้ร่วมกันจัดสัปดาห์แห่งการบริจาคเลือดขึ้น เพื่อเป็นการถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีผู้มาบริจาคกว่า 800 คนเลยทีเดียว ในปีพ.ศ. 2508 ยังคงมีการจัดสัปดาห์แห่งการบริจาคเลือดขึ้นอีก โดยเริ่มมีการขยายงานออกเป็น 2 ครั้ง คือ ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีนิสิตบริจาคโลหิตในปีนั้นถึง 1629 คนด้วยกัน ต่อมาในปีการศึกษา 2509 ทางสโมสรนิสิต จุฬาฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญ และผลงานที่นิสิตร่วมใจกันบริจาคโลหิต จึงได้อนุมัติจัดตั้ง “แผนกบริการโลหิต” ขึ้นมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2511 ทางมหาวิทยาลัยได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบต่างๆ มีการอนุมัติให้นิสิตสามารถดำเนินกิจกรรมอันเป็นสาธารณะได้ จึงมีการประกาศตั้งแผนกบริการโลหิตขึ้นเป็น “ชมรมบริการโลหิต” ขึ้น ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2511 หลังจากก่อตั้งเป็นชมรมก็ได้มีการขยายงานในด้านสังคมสงเคราะห์เพิ่มขึ้นมา โดยมีการออกค่ายพัฒนาชนบท รวมถึงการไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ ชื่อของชมรมจึงยาวขึ้นเป็น “ชมรมบริการโลหิตและสังคมสงเคราะห์ในพระบรมราชินูปถัมภ์”

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]