ชมพูภูคา
ชมพูภูคา | |
---|---|
ชมพูภูคาในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Rosids |
อันดับ: | Brassicales |
วงศ์: | Akaniaceae |
สกุล: | Bretschneidera |
สปีชีส์: | B. sinensis |
ชื่อทวินาม | |
Bretschneidera sinensis Hemsl. | |
ชื่อพ้อง | |
Bretschneidera yunshanensis Chun & F.C.How |
ชมพูภูคา ชื่อวิทยาศาสตร์: Bretschneidera sinensis เป็นไม้ยืนต้นชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Bretschneideraceae เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10–25 เมตร ดอกออกเป็นช่อตั้งสีชมพู พบเฉพาะทางตอนใต้ของจีน เวียดนามตอนบน ไต้หวัน และภาคเหนือของไทย ที่ดอยภูคา จังหวัดน่าน
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
[แก้]ชมพูภูคาเป็นไม้ยืนต้น สูง 10–25 เมตร[2][3] เปลือกลำต้นเรียบสีเทาน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนก ยาว 30–80 ซม.[2] ใบรูปหอกถึงรูปไข่ กว้าง 2.5–6 ซม ยาว 8–25 ซม.[2] โคนใบรูปลิ่มหรือกลม ปลายใบแหลม ดอกสีขาว–ชมพู คล้ายรูประฆัง ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกยาวได้ถึง 20–40 ซม.[2] กลีบรองดอกขนาดใหญ่ รูปถ้วยขอบหยักตื้น ๆ กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กว้าง โคนกลีบเรียวยาว ปลายกลีบม้วนออกด้านนอก ขนาด 1.8–2 ซม. กลีบบนมักคว่ำลง เกสรผู้ 8 อัน ก้านเกสรเพศผู้ยาว 2.5–3 ซม. ปลายโค้ง รังไข่และก้านเกสรเพศเมียมีขนปกคลุม รังไข่ยาว 0.3–0.4 ซม. เกสรเพศเมียยาว 3–4 ซม. ปลายงอลง[3] ผลรูปกระสวยแก่แล้วแตก เมล็ดรูปรี กว้าง 12 มม. ยาว 20 มม.[2]
การค้นพบ
[แก้]ชมพูภูคา เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้หายาก ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ที่มณฑลยูนานประเทศจีน แต่ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วเนื่องด้วยการตัดไม้ทำลายป่า สำหรับในประเทศไทยมีรายงานการสำรวจพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้เมื่อมี พ.ศ. 2532 บริเวณป่าดงดิบเขาดอยภูคา อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อำเภอปัว และที่ บ้านสว่าง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน
การกระจายพันธุ์
[แก้]ชมพูภูคามีเขตการกระจายพันธุ์แคบ ๆ พบเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศจีน ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ไต้หวัน และไทย ในประเทศไทย พบที่ดอยภูคาในจังหวัดน่าน ขึ้นตามที่ลาดชันในป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 1,200–1,500 เมตร ในต่างประเทศพบจนถึงระดับความสูง 1,700 เมตร[2][3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Sun, W. (1998). "Bretschneidera sinensis". IUCN Red List of Threatened Species. 1998: e.T32324A9697750. doi:10.2305/IUCN.UK.1998.RLTS.T32324A9697750.en.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 ชมภูพูคา. ศูนย์ข้อมูลพืช สำนักวิชาการ-วิจัย องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 สารานุกรมพืชในประเทศไทย ชมพูภูคา. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2566.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สารานุกรมพืชในประเทศไทย - ชมพูภูคา เก็บถาวร 7 สิงหาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- IUCN Red List Species of the Day Bretschneidera sinensis เก็บถาวร 20 มกราคม 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2010.
- Bretschneidera page ที่ www.eFloras.org.