ปลาฉลามขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฉลามขาวยักษ์)
ปลาฉลามขาว
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนถึงปัจจุบัน[1]
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
โดเมน: Eukarya
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับ: Lamniformes
วงศ์: Lamnidae
สกุล: Carcharodon
Smith, 1838
สปีชีส์: C.  carcharias
ชื่อทวินาม
Carcharodon carcharias
(Linnaeus, 1758)
ถิ่นที่อยู่อาศัย (สีน้ำเงิน)

ปลาฉลามขาว (อังกฤษ: great white shark) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง มีขนาดตัวที่ค่อนข้างใหญ่ พบได้ตามเขตชายฝั่งแถบทะเลใหญ่ มีความยาวประมาณ 6 เมตร น้ำหนักประมาณ 2,250 กิโลกรัม ทำให้ปลาฉลามขาวเป็นปลากินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชี่ส์เดียวในสกุล Carcharodon ที่ยังคงสืบทอดเผ่าพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน[3] โดยเป็นปลาที่ถือกำเนิดมาแล้วนานกว่า 16 ล้านปี[1]

วิวัฒนาการ[แก้]

ภาพปลาฉลามขาวบนผิวน้ำ
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์

ปลาฉลามขาวมีความสามารถคล้ายกับปลาฉลามสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ว่ามีอวัยวะรับสัมผัสพิเศษซึ่งสามารถตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากปลาที่มีชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่ในน้ำ ทุกครั้งที่สิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ใต้ผิวน้ำจะสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา และปลาฉลามขาวมีสัมผัสไวเป็นพิเศษที่สามารถตรวจจับได้แม้มีความแรงเพียง 1/1,000,000,000 โวลต์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับสามารถตรวจจับแสงแฟลชได้ในระยะ 1,600 กิโลเมตร ปลาชนิดอื่น ๆ ส่วนมากไม่มีพัฒนาการถึงระดับนี้ แต่มีความสามารถที่คล้าย ๆ กันนี้ที่ลายด้านข้างลำตัว

การที่ปลาฉลามขาวจะประสบความสำเร็จในการล่าเหยื่อที่มีความว่องไวสูงอย่างสิงโตทะเลได้ ปลาฉลามขาวถือว่าเป็นปลาฉลามที่มีเลือดอุ่นหนึ่งในหกชนิดที่เป็นที่รู้จัก โดยปลาฉลามขาวมีระบบการเผาผลาญแตกต่างไปจากปลาฉลามทั่วไปที่ความร้อนจะสูญเสียไปในเหงือกและผิวหนัง แต่ปลาฉลามขาวมีการวางตัวของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่มีลักษณะเฉพาะช่วยในการถ่ายเทความร้อนระหว่างเลือดอุ่นและเลือดเย็น ทำให้แกนกลางลำตัวรักษาความร้อนไว้ได้ ประกอบกับมีการวางตัวกล้ามเนื้อแดงที่อุ่นที่บริเวณกลางลำตัว โดยมีระบบแลกเปลี่ยนความร้อนเป็นตัวช่วยลดการสูญเสียความร้อนผ่านผิวหนังลงช่วยให้ปลาฉลามขาวมีอุณหภูมิร่างกายอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส อย่างคงที่แม้ว่าสภาวะแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็ตามจึงสามารถทำให้ว่ายน้ำและล่าเหยื่อในที่ที่ลึกหรือมีอุณหภูมิต่ำเย็นยะเยือกอย่างเขตอาร์กติกได้[4]

ขนาด[แก้]

ปลาฉลามขาวตัวเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 4–4.8 เมตร[5] หนักประมาณ 880–1,100 กิโลกรัม[6] ตัวเมียมักจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ขนาดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบยังเป็นที่สงสัยอยู่ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้พยายามรวบรวมข้อมูลเท่าทีมีแต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้[7] ทุกวันนี้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ขนาดตัวปกติของปลาฉลามขาวที่โตเต็มที่จะอยู่ราว ๆ 6 เมตร หนักประมาณ 1,900 กิโลกรัม[8] ในช่วง 10 ปีนี้ กินเนสบุ๊ค ออฟ เวิลด์เรคคอร์ด (Guinness Book of World Records) ได้บันทึกปลาฉลามขาวที่ตัวใหญ่ที่สุดไว้ได้ 2 ตัว ซึ่งตัวหนึ่งยาว 11 เมตร จับได้ที่ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย ใกล้กับ พอท แฟร์รี่ (Port Fairy) ในปี 1870 และอีกตัวหนึ่งยาว 11.3 เมตร ติดอวนชาวประมงที่เมือง New Brunswick ประเทศแคนาดา ในปี 1930

จากข้อมูลนี้เอง จึงนำมาประเมินขนาดมาตรฐานของปลาฉลามขาวปกติที่โตเต็มวัย นักวิทยาศาสตร์บางท่านได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือในการวัดทั้งสองครั้งนั้น ซึ่งไม่มีบันทึกใดมีขนาดที่ใกล้เคียงกับ 2 กรณีที่พบนี้เลย ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจึงมีข้อสงสัยที่ว่า การบันทึกที่เมือง New Brunswick อาจเป็นการบันทึกที่มีการเข้าใจผิดในสายพันธุ์ ซึ่งสงสัยว่าน่าจะเป็นปลาฉลามสายพันธุ์อื่น (Basking shark) มากกว่า และทั้งสองตัวที่ถูกบันทึกก่อนหน้านี้ก็มีขนาดที่ใกล้เคียงกัน ข้อสงสัยนี้ได้รับการพิสูจน์โดย เจ.อี. โรนัลด์ (J.E. Reynolds) การประเมินขนาดด้วยกรามซึ่งหลักฐานที่เหลือจากค้นพบครั้งนั้นคือ กระดูกกรามที่เก็บรักษาไว้ซึ่งผลการประเมินคาดว่าขนาดของฉลามที่พบใน พอท แฟร์รี่ น่าจะยาวประมาณ 5 เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่าจะมีการบันทึกขนาดผิดพลาดในบันทึกต้นฉบับ

ถิ่นที่อยู่อาศัย[แก้]

ภาพปลาฉลามขาว

ปลาฉลามขาวอาศัยอยู่ตามแถบทะเลชายฝั่งเกือบทั่วทุกมุมโลกที่มีอุณหภูมิระหว่าง 12–24 °C แต่จะอาศัยอยู่หนาแน่นบริเวณอ่าวประเทศออสเตรเลีย ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา แคลิฟอร์เนีย และตอนกลางของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่บริเวณหนึ่งที่หนาแน่นที่สุดอยู่ที่ ไดร์เออร์ ไอร์แลนด์ (Dyer Island, South Africa) ที่แอฟริกาใต้ทั้งยังสามารพบได้ในเขตร้อนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ปลาฉลามขาวเป็นปลาน้ำลึกแต่ที่บันทึกจำนวนส่วนมากจะมาจากแถบทะเลชายฝั่งบริเวณที่มีสิงโตทะเล แมวน้ำ และโลมาอาศัยอยู่ ได้มีความพยายามที่จะสำรวจในบริเวณน้ำลึก ถึงระดับ 1,280 เมตร ผลปรากฏว่าจะพบมากบริเวณผิวน้ำมากกว่า

พฤติกรรมการล่า[แก้]

ภาพปลาฉลามขาวบนผิวน้ำ

ฉลามขาวเป็นสัตว์กินเนื้อ[9] เหยื่อที่มันเลือกจะล่ามี ปลา (รวมทั้งปลากระเบนและฉลามที่ตัวเล็กกว่า) โลมา แมวน้ำ สิงโตทะเล และเต่าทะเล ทั้งยังมีชื่อในเรื่องกินไม่เลือกแม้กระทั่งของที่กินไม่ได้[10] ฉลามขาวที่ยาวประมาณ 3.4 เมตร จะเลือกเหยื่อที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม ปีเตอร์ คลิมลี (Peter Klimley) ได้ทำการทดสอบโดยใช้เหยื่อเป็นซากแมวน้ำ หมู และแกะ ผลปรากฏว่าฉลามจู่โจมทุกครั้งแต่กลับปฏิเสธซากเหยื่อทั้ง 3 ชนิดที่ให้พลังงานน้อยกว่าและยังมีข้อถกเถียงว่าระหว่างปลาฉลามขาวกับวาฬเพชฌฆาตว่าตัวไหนจู่โจมมนุษย์มากกว่ากัน[11]

ฉลามขาวจะใช้สัมผัสพิเศษในการหาตำแหน่งเหยื่อจากระยะไกล และใช้สัมผัสในด้านการดมกลิ่น และการฟังเพื่อยืนยันตำแหน่งอีกที ในระยะประชิดฉลามจะใช้สายตาเป็นหลัก ฉลามขาวมีชื่อเสียงในเรื่องเป็นนักล่าที่โหดร้าย เป็นเครื่องจักรสังหาร และมีเทคนิคในการซุ่มโจมตี โดยจู่โจมเหยื่อจากด้านล่าง จากการศึกษาพฤติกรรมพบว่า ฉลามขาวจะจู่โจมบ่อยครั้งในช่วงตอนเช้าภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากพระอาทิตย์ขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการพบเห็นฉลามขาวน้อยลงหลังจากผ่านช่วงเวลานั้นไป อัตราความสำเร็จในการล่าช่วงเช้าอยู่ที่ 55% ในช่วง 2 ชั่วโมงแรกและตกลงเหลือ 40% ในช่วงต่อมา หลังจากพ้นช่วงเช้าไปแล้วก็จะหยุดล่า

เทคนิคการล่าของฉลามขาวแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของเหยื่อ[12] ในการล่าแมวน้ำฉลามขาวจะจู่โจมแมวน้ำจากด้านล่างด้วยความเร็วสูงเล็งตรงกลางลำตัวซึ่งความเร็วในการจู่โจมจะสูงจนกระทั่งฉลามกระโจนขึ้นเหนือผิวน้ำได้ และยังจะตามล่าต่อหลังจากที่จู่โจมครั้งแรกพลาดเป้าอีกด้วย สำหรับแมวน้ำบางชนิดปลาฉลามขาวจะใช้วิธีลากลงมาใต้น้ำจนกระทั่งแมวน้ำหมดแรงดิ้น สำหรับสิงโตทะเลจะใช้วิธีจู่โจมที่ลำตัว แล้วค่อย ๆ ลากมากิน ทั้งยังมีวิธีกัดส่วนสำคัญที่ใช้ในการเคลื่อนไหวแล้วรอให้เลือดไหลจนตายอีกด้วย ซึ่งวิธีนี้ใช้จู่โจมแมวน้ำบางชนิด ส่วนในการล่าโลมา ปลาฉลามขาวจะจู่โจมจากด้านบนหรือด้านล่างเพื่อหลบหลีกการตรวจจับด้วยโซนาร์ของโลมา

พฤติกรรมทั่วไป[แก้]

ภาพปลาฉลามขาวเหนือผิวน้ำ ที่บริเวณประเทศเม็กซิโก

พฤติกรรมและรูปแบบสังคมของปลาฉลามขาวยังไม่เป็นที่แน่ชัด จากการทดลองล่าสุดพบว่า ปลาฉลามขาวเป็นสัตว์สังคมมากกว่าที่เราคาด ที่แอฟริกาใต้ ปลาฉลามขาวจะเหมือนมีลำดับชั้นทางสังคมโดยขึ้นอยู่กับขนาด เพศ และตำแหน่งจ่าฝูง ตัวเมียจะมีอำนาจมากกว่า ตัวผู้ตัวใหญ่กว่าจะมีอำนาจมากกว่าตัวเล็กกว่า เจ้าถิ่นจะมีอำนาจมากกว่าผู้มาเยือน เมื่อมีการล่าจะสั่งการกันอย่างเป็นระบบ และเมื่อมีความขัดแย้งก็จะมีวิธีการเพื่อหาทางออกแทนที่จะสู้กันถึงตาย ฉลามที่สู้กันเองพบเห็นน้อยมาก แต่บางครั้งก็พบฉลามตัวที่มีรอยกัดซึ่งเป็นขนาดรอยฟันฉลามตัวอื่น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าปลาฉลามขาวเป็นสัตว์ที่หวงแหนอาณาเขต เมื่อมีผู้รุกรานก็จะทำการเตือนด้วยการกัดเบา ๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นเจ้าของอาณาเขต

ปลาฉลามขาวเป็นฉลามไม่กี่สายพันธุ์ที่พบว่าสามารถโผล่หัวขึ้นมาเหนือน้ำและมองหาเหยื่อได้และยังสามารถกระโจนขึ้นเหนือน้ำได้ (spy-hopping) มีข้อสงสัยว่าพฤติกรรมนี้อาจเป็นพฤติกรรมที่เรียนรู้มาจากมนุษย์เนื่องจากฉลามมีประสาทรับกลิ่นที่ไวมาก เมื่อปลาฉลามขาวพบกับนักท่องเที่ยวที่มีกลิ่นตัวแรง มันก็มีความอยากรู้อยากเห็นและแสดงความฉลาดของมันออกมาเมื่อสถานการณ์อำนวย

ฉลามขาวมีจมูกที่ไวต่อกลิ่นเลือดเป็นอย่างมาก เพราะฉลามขาวสามารถได้กลิ่นเลือดเพียง 1 หยดที่อยู่ไกลออกไปถึง 3 กิโลเมตร[13][14]

ปลาฉลามขาวกับมนุษย์[แก้]

ภาพปลาฉลามขาวใต้น้ำ

เรื่องของปลาฉลามขาวจู่โจมมนุษย์ เป็นที่รู้จักกันมากผ่านทางภาพยนตร์ อย่างเช่นเรื่อง จอวซ์ (Jaws) ผลงานของสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) แสดงให้เห็นถึงภาพฉลามที่โหดร้าย กินคน และเป็นอันตรายอย่างยิ่งกับมนุษย์ให้ฝังในใจของผู้ชม[15][16][17] ซึ่งอันที่จริงแล้วมนุษย์ไม่ใช่เหยื่อของฉลามตามธรรมชาติ[18] ตัวอย่างเช่น ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีรายงานยืนยันฉลามจู่โจมมนุษย์เพียง 31 รายในรอบ 200 ปี และเป็นส่วนน้อยที่เสียชีวิต[19] กรณีที่เสียชีวิตจะเป็นกรณีที่ฉลามลองกัดดูมากกว่า เพราะอยากรู้อยากเห็น ปลาฉลามขาวยังลองกัดพวกสิ่งของอื่น ๆ เช่น ทุ่นลอยน้ำ และของที่มันไม่คุ้นเคยอื่น ๆ และบางครั้งก็จะใช้เพียงริมฝีปากกัดโดนนักเล่นเซิร์ฟเพราะอยากรู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่

ในกรณีอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นมาจากความเข้าใจผิด ที่จู่โจมนักเล่นเซิร์ฟจากด้านล่างเพราะเห็นเพียงเงาดูแล้วคล้ายกับแมวน้ำ หลายกรณีเกิดขึ้นในช่วงที่ทัศนะวิสัย ไม่เอื้ออำนวยกับการมองเห็นและในกรณีที่ประสาทสัมผัสด้านอื่นมีประสิทธิภาพลดลงหรืออาจเป็นเพราะว่าสายพันธุ์ของปลาฉลามขาวไม่ค่อยถูกปากกับรสชาติของมนุษย์ หรือรสชาติไม่ค่อยคุ้นเคย[20]

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีที่ว่า ทำไมอัตราการจู่โจมมนุษย์ที่ร้ายแรงถึงต่ำ ไม่ใช่เพราะว่าปลาฉลามขาวไม่ชอบเนื้อมนุษย์ แต่เป็นเพราะมนุษย์สามารถหนีขึ้นจากน้ำได้หลังจากถูกจู่โจมครั้งแรก ในปี 1980 มีรายงานของ จอห์น แม็คคอสเกอร์ (John McCosker) บันทึกว่า นักดำน้ำที่ดำเดี่ยวคนหนึ่งถูกปลาฉลามขาวจู่โจมจนสูญเสียอวัยวะบางส่วนไปแต่ยังว่ายน้ำหนีมาจนได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ให้ขึ้นมาจากน้ำได้ก่อนที่จะถูกปลาฉลามขาวเผด็จศึก จึงสันนิษฐานได้ว่ารูปแบบการจู่โจมของปลาฉลามขาว คือ จู่โจมสร้างบาดแผลสาหัสก่อนในครั้งแรกแล้วรอให้เหยื่อหมดแรงหรือเสียเลือดจนตายแล้วค่อยเข้าไปกิน แต่มนุษย์สามารถขึ้นจากน้ำได้ (อาจหนีขึ้นเรือ) ด้วยความช่วยเหลือของคนอื่นซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่คุ้นเคยสำหรับเหยื่อของปลาฉลามขาวทำให้การจู่โจมครั้งนั้นล้มเหลวไป[21]

ข้อสันนิษฐานอีกประการก็คือ มนุษย์ไม่มีคุณค่าทางอาหารมากพอสำหรับปลาฉลามขาว เพราะว่าปลาฉลามขาวมีระบบการย่อยที่ค่อยข้างช้า และร่างกายของมนุษย์มีกระดูก กล้ามเนื้อและไขมันมากเกินไป ส่วนใหญ่ปลาฉลามขาวจะเป็นฝ่ายหมดความสนใจมนุษย์ที่ถูกโจมตีครั้งแรกก่อนเอง และเหตุที่มนุษย์สียชีวิตก็เพราะสูญเสียเลือดมากเกินไปจากการสูญเสียอวัยวะบางส่วนมากกว่าที่จะเป็นการสูญเสียอวัยวะสำคัญหรือถูกกินทั้งตัว[22]

นักชีววิทยาบางคนให้ความเห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากถูกปลาฉลามขาวจู่โจมในรอบ 100 ปี มีน้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่ถูกสุนัขกัดเสียอีก แต่ความเห็นนี้ยังไม่ค่อยถูกต้องนักเพราะว่ามนุษย์มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสุนัขมากกว่าปลาฉลามขาวจึงมีโอกาสมากกว่าเมื่อเทียบกับฉลาม มนุษย์ได้มีความพยายามที่จะประดิษฐ์ชุดป้องกันฉลามแต่ในปัจจุบันอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันปลาฉลามขาวคือ อิเล็กทรอนิค บีคอน (electronic beacon) ซึ่งนักประดาน้ำและนักเล่นเซิร์ฟจะใช้กัน โดยมันจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปรบกวนสัมผัสพิเศษของปลาฉลามขาว

ทัวร์ปลาฉลามขาว[แก้]

การล่อปลาฉลามขาว

การดำน้ำในกรงกลายเป็นธุรกิจทัวร์ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ต้องการความตื่นเต้นแบบใหม่[23] และผู้ที่ต้องการศึกษาปลาฉลามขาวอย่างใกล้ชิด ผู้มาชมปลาฉลามขาวจะอยู่ในกรงที่มั่นคงแข็งแรงซึ่งจะเป็นจุดที่เห็นปลาฉลามขาวได้ชัดเจนที่สุดโดยที่ยังปลอดภัยอยู่[24] และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัตว์นักล่าที่ตัวใหญ่ และดุร้ายอย่างปลาฉลามขาวย่อมเป็นสถานการณ์ที่ทำให้อดรีนาลีนฉีดพล่านไปทั่วร่างกาย เป็นประสบการณ์ที่น่าค้นหา ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นอย่างมากในแถบอ่าวของออสเตรเลียที่มีพบปลาฉลามขาวบ่อยครั้ง วิธีการล่อปลาฉลามขาว คือ การใช้เหยื่อที่ชุ่มไปด้วยเลือดไปเป็นเป้าล่อ เรียกความสนใจของปลาฉลามขาว ซึ่งการกระทำดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าจะทำให้ปลาฉลามขาวเริ่มคุ้นเคยกับมนุษย์มากขึ้น และจะมีพฤติกรรมเข้าหามนุษย์แลกกับอาหารซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่อันตราย มีการกล่าวหาว่า การใช้เหยื่อที่ชุ่มด้วยเลือดล่อให้ปลาฉลามขาวเข้ามาใกล้กรงอาจเป็นการยั่วโมโหให้ปลาฉลามขาวจู่โจมกรงจึงได้มีการเลี่ยงให้ใช้เหยื่อล่อให้ค่อนข้างห่างกรงออกไปเพื่อที่ปลาฉลามขาวจะได้ว่ายผ่านไปเฉย ๆ[25]

บริษัทที่ทำธุรกิจทัวร์ประเภทนี้กล่าวว่า พวกเขาต้องตกเป็นแพะรับบาปด้วยเหตุที่ผู้คนพยายามหาเหตุผลใส่ร้ายว่าทำไมปลาฉลามขาวจึงจู่โจมมนุษย์ และยังบอกอีกว่ามีอัตราคนถูกฟ้าผ่าตายมากกว่าอัตราคนที่ถูกฉลามเล่นงานเสียอีก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในประเด็นนี้อย่างจริงจัง และสรุปผลให้ได้ว่าการล่อฉลามแบบนี้จะทำให้พฤติกรรมของปลาฉลามขาวเปลี่ยนไปก่อนที่จะออกกฎหมายห้ามการกระทำเช่นนี้

ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคำแนะนำให้ผู้ที่ต้องการดำน้ำเพื่อชมปลาฉลามขาว ต้องทำการล่อในเขตที่ปลาฉลามขาวจะออกล่าเหยื่อเท่านั้น และต้องห่างจากเขตของคนทั่วไป ไม่ใช่ล่อให้ฉลามมาหาถึงที่ โดยฉลามที่มาจะเป็นเพียงฉลามที่ต้องการล่าซากที่เหลือเท่านั้น และเมื่อมันไม่ได้รับอาหารมันก็จะจากไปเอง และจะไม่คิดว่าการล่อแบบนี้จะทำให้มันได้อาหาร เพื่อตัดสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับปลาฉลามขาวออกจากกันซึ่งนโยบายนี้ได้ถูกนำเสนอไปที่ทางรัฐบาล

ธุรกิจทัวร์ปลาฉลามขาวทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อเทียบกับการทำประมงที่มีรายได้จำกัด กรามของปลาฉลามขาวคู่เดียวมีค่าถึง 20,000 ยูโร นับเป็นรายได้ที่สูงมากเมื่อเทียบกับการทำประมงต่อวัน อย่างไรก็ตามสัตว์ที่ตายแล้วก็ทำได้เพียงเศษเงินเมื่อเทียบกับสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทัวร์ปลาฉลามขาวเป็นธุรกิจที่มั่นคงกว่าและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ตัวอย่างของบริษัททัวร์บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเรืออยู่ในสังกัด 6 ลำ เรือแต่ละลำบรรทุกคนได้ราว 30 คนต่อวัน หากคนหนึ่งต้องจ่ายค่าชมราว ๆ 50 ยูโรถึง 150 ยูโร ดังนั้นในเวลา 1 วัน บรรดาฉลามที่มาแวะเวียนที่เรือนี้จะทำกำไรให้พวกเขามากถึง 9,000 ยูโรถึง 27,000 ยูโรต่อเรือแต่ละลำ

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Gottfried, M. D.; Fordyce, R. E. (2001). "An associated specimen of Carcharodon angustidens (Chondrichthyes, Lamnidae) from the Late Oligocene of New Zealand, with comments on Carcharodon interrelationships". Journal of Vertebrate Paleontology. 21 (4): 730–739. doi:10.1671/0272-4634(2001)021[0730:AASOCA]2.0.CO;2.
  2. Fergusson, I., Compagno, L.; Marks, M. (2000). "Carcharodon carcharias in IUCN 2012". IUCN Red List of Threatened Species, Vers. 2009.1. International Union for Conservation of Nature and Natural Resources. สืบค้นเมื่อ 28 October 2009.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) (Database entry includes justification for why this species is vulnerable)
  3. Knickle, Craig. "Tiger Shark". Florida Museum of Natural History Ichthyology Department. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-07. สืบค้นเมื่อ 2 July 2009.
  4. หน้า 76-92, ฉลามขาวยักษ์จอมลี้ลับ โดย เอริก แวนซ์. นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย: ฉบับที่ 180 กรกฎาคม 2559
  5. "Great White Shark Dimensions & Drawings | Dimensions.com". www.dimensions.com (ภาษาอังกฤษ).
  6. "Great white sharks". Animals (ภาษาอังกฤษ). 2010-09-10.
  7. "white shark | Size, Diet, Habitat, Teeth, Attacks, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  8. BlueCadet (2012-12-07). "Fun Facts About Great White Sharks". Oceana USA (ภาษาอังกฤษ).
  9. "ฉลาม…นักล่าผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเล". Greenpeace Thailand (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  10. https://seaworld.org/animals/all-about/sharks-and-rays/behavior/
  11. "Shark Behaviour Facts - Research & Characteristics" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  12. "StackPath". www.tourismtattler.com.
  13. "Shark sensory facts". Save Our Sharks (ภาษาอังกฤษ).
  14. Contributor, D. T. S. (2021-01-31). "How Far Away Can Sharks Smell Blood". DOWN TO SCUBA (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  15. Ebert, Roger. "Jaws movie review & film summary (1975) | Roger Ebert". rogerebert.com (ภาษาอังกฤษ).
  16. Haden, Jeff (2020-08-18). "Steven Spielberg's Making of 'Jaws' Provides a Master Class in Effective (and Visionary) Leadership". Inc.com (ภาษาอังกฤษ).
  17. Jaws (1975) (ภาษาอังกฤษ), สืบค้นเมื่อ 2021-06-24
  18. "ธรรมชาติมหัศจรรย์ ฟิสิกส์ราชมงคล". www.rmutphysics.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-18. สืบค้นเมื่อ 2021-06-24.
  19. "'มนุษย์' กับ 'ฉลาม' ความเชื่อ ความกลัว และความจริง". dailynews. 2015-07-26.
  20. "นี่คือคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ ว่าเหตุใดเราจึงกลัว ฉลาม - National Geographic Thailand". ngthai.com.
  21. prachachat (2018-04-17). "ทะเลคือบ้านของฉลาม! "ดร.ธรณ์" ชี้ไม่ได้ตั้งใจทำร้ายคน". ประชาชาติธุรกิจ.
  22. "รายงานชิ้นใหม่ เกี่ยวกับการจู่โจมของฉลามทั่วโลก". VOA.
  23. Charters, Captain Adventure Bay. "Shark Cage Diving with Great White Sharks. Port Lincoln, South Australia". adventurebaycharters.com.au (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  24. "Great White Shark Tours". Cape Town Travel (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  25. "Shark Cage Diving". Shark Cage Diving with Great White Shark Tours (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Carcharodon carcharias ที่วิกิสปีชีส์