จุดผ่านแดนถาวรระนอง
จุดผ่านแดนถาวรระนอง–เกาะสอง | |
---|---|
จุดตรวจท่าเทียบเรืออันดามันคลับ (ด้านหน้า) และ จุดตรวจท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง (ประภาคารด้านหลัง) | |
พื้นที่พรมแดนไทย (ขวา) และพม่า (ซ้าย) | |
ที่ตั้ง | |
ประเทศ | ไทย, พม่า |
ที่ตั้ง |
|
พิกัด | 9°56′53″N 98°35′42″E / 9.9480°N 98.5949°E |
รายละเอียด | |
เปิดทำการ | พ.ศ. 2540 จุดผ่านแดนถาวร |
ดำเนินการโดย | • กรมศุลกากร • สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง |
ประเภท | จุดผ่านแดนถาวร |
จุดผ่านแดนถาวรระนอง หรือ จุดผ่านแดนถาวรระนอง–เกาะสอง[1][2] เป็น 1 ใน 2 จุดผ่านแดนหลักระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่าในพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งประกอบไปด้วยจุดตรวจทางน้ำ 4 แห่ง ฝั่งไทยตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง มีร่องน้ำลึกของแม่น้ำกระบุรี เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเกาะสอง จังหวัดเกาะสอง ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า
ประวัติ
[แก้]ก่อนจัดตั้งจุดผ่านแดน
[แก้]แต่เดิม การค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่านั้นกระทำผ่านด่านศุลกากรกระบุรี ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำกระบุรี ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอมะริด ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 ในชื่อของด่านตรวจกระบุรี ขึ้นตรงต่อด่านศุลกากรระนอง จากนั้นได้ยกฐานะขึ้นเป็น ด่านศุลกากรกระบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยดำเนินงานมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการยกเลิกด่านศุลกากรกระบุรี เนื่องจากภารกิจและการค้าขายจุดดังกล่าวลดลง รวมถึงด่านศุลกากรระนองที่มีศัยภาพในการดูแลพื้นที่ครอบคลุมมาถึงบริเวณดังกล่าว[3]
จุดผ่านแดนถาวรระนอง–เกาะสอง
[แก้]จุดผ่านแดนถาวรระนอง–เกาะสอง มีการก่อตั้งและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการครั้งแรกตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540 พร้อมกันกับจุดผ่านแดนถาวรด้านจังหวัดเชียงราย และจังหวัดตาก โดยในช่วงแรกเปิดทำการระหว่างเวลา 06.30–18.30 น. ต่อมาได้มีการขยายเวลาปิดเปิดการผ่านแดนเป็นระหว่างเวลา 06.30–24.00 น. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2543[4]
ต่อมา จังหวัดระนองได้กำหนดจุดตรวจเพิ่มเติมสำหรับใช้ผ่านแดนเพิ่มขึ้นเป็น 3 จุด และแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอเปิดจุดตรวจดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2540 โดยเพิ่มจุดตรวจบริเวณท่าเทียบเรือสะพานปลา และบริเวณปากน้ำระนอง และกำหนดเพิ่มอีก 1 จุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 คือบริเวณท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง ทำให้ปัจจุบัน จุดผ่านแดนถาวรระนอง–เกาะสอง ประกอบไปด้วยจุดตรวจทางเรือจำนวน 4 แห่ง[4]
การผ่านแดน
[แก้]จุดผ่านแดนถาวรถาวรระนอง–เกาะสอง เปิดทำการตั้งแต่เวลา 06.30 - 24.00 น.[5] ซึ่งสาเหตุที่เปิดถึงเวลา 24.00 น. นั้นก็เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้า[6] สำหรับผู้ที่ต้องการจะเดินทางผ่านแดนนั้นจะต้องมีเอกสารประจำตัว อย่างใดอย่างหนึ่ง[7][8] คือ
- หนังสือเดินทาง
- บัตรผ่านแดน
- บัตรผ่านแดนชั่วคราว มีอายุใช้งานได้ครั้งละ 7 วัน โดยเดินทางไปได้แค่ในพื้นที่เกาะสองเท่านั้น[9]
- หนังสือเดินทางชั่วคราว คือเอกสารที่ออกโดยรัฐบาลพม่าให้กับชาวพม่าที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว มีอายุ 6 ปี ปัจจุบันไม่มีการออกเพิ่มเติมแล้ว[10]
- เอกสารรับรองบุคคล คือหนังสือรับรองจากรัฐบาลพม่า ออกให้กับบุคคลสัญชาติพม่าเพื่อพำนักและทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทย ส่วนของกระทรวงแรงงาน กับรัฐบาลพม่า สถานะเหมือนกันกับหนังสือเดินทาง (passport) แต่จะใช้งานได้เพียงในประเทศไทยและประเทศพม่าเท่านั้น[11]
กิจกรรม
[แก้]จุดผ่านแดนถาวรถาวรระนอง–เกาะสอง มีกิจกรรมหลักคือการผ่านแดนสำหรับการท่องเที่ยวในฝั่งเกาะสอง ประเทศพม่าเป็นหลัก และการค้า[12] ทั้งอาหารทะเล และสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ[13]
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเมืองเกาะสอง[14][15][16] อาทิ จุดชมวิววิกตอเรีย ที่ตั้งของอนุสาวรีย์ จุดกำเนิดแห่งพม่า วัดปยีดอเอ อนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง และตลาดเกาะสอง
ด่านศุลกากร
[แก้]จุดผ่านแดนถาวรระนอง–เกาะสอง และจุดตรวจทั้ง 4 แห่ง อยู่ภายใต้การดูแลของด่านศุลกากรระนอง ตั้งอยู่ที่เลขที่ 90/221 ถนนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง[4]
ด่านตรวจคนเข้าเมือง
[แก้]จุดตรวจปากน้ำระนอง จุดตรวจท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง จุดตรวจท่าเทียบเรือบริษัทอันดามันคลับ และจุดตรวจท่าเทียบเรือสะพานปลา อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง[17]
จุดตรวจ
[แก้]จุดผ่านแดนถาวรระนอง–เกาะสอง ประกอบไปด้วยจุดตรวจต่าง ๆ สำหรับเดินทางผ่านแดนทางน้ำ 4 แห่ง ประกอบไปด้วย
จุดตรวจท่าเทียบเรือสะพานปลาระนอง
[แก้]จุดตรวจท่าเทียบเรือสะพานปลาระนอง ตั้งอยู่ที่ท่าเทียบเรือเทศบาลตำบลปากน้ำ (ท่าเรือระนอง–เกาะสอง, ท่าเรือสะพานปลา[18]) ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง รองรับการเดินทางผ่านแดนไปยังฝั่งพม่าทั้งด้านการท่องเที่ยว[19] และการค้าชายแดน[20]
สำหรับบริการด้านการตรวจคนเข้าเมืองจุดตรวจท่าเทียบเรือสะพานปลานั้น ประกอบไปด้วยการผ่านแดนเข้าออกประเทศไทยและพม่าโดยใช้เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้[7]
จุดตรวจปากน้ำระนอง
[แก้]จุดตรวจปากน้ำระนอง ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เป็นจุดตรวจที่ตั้งอยู่บนท่าน้ำ บริเวณปากน้ำระนอง โดยได้รับการปรับปรุงอาคารจุดผ่านแดนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558 ภายใต้งบประมาณ 1,833,000 บาท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านจุดตรวจดังกล่าวซึ่งมีปริมาณสูง เฉลี่ยปีละประมาณ 1,070,000 คน แทนที่อาคารเดิมที่คับแคบและไม่สะดวก[22] ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับจุดตรวจด่านศุลกากรระนอง[13] ซึ่งตั้งอยู่บนท่าน้ำบริเวณปากน้ำระนองเช่นกัน
สำหรับบริการด้านการตรวจคนเข้าเมืองจุดตรวจปากน้ำระนองนั้น ประกอบไปด้วยการผ่านแดนเข้าออกประเทศไทยและประเทศพม่าโดยใช้เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้[8]
- บัตรผ่านแดน
- บัตรผ่านแดนชั่วคราว
ซึ่งเอกสารทั้งสองประเภทนั้นออกให้สำหรับบุคคลสัญชาติไทย และสัญชาติเมียนมา[8]
จุดตรวจท่าเทียบเรืออันดามันคลับ
[แก้]จุดตรวจท่าเทียบเรือบริษัทอันดามันคลับ[23] (ท่าเรือแกรนด์อันดามัน) ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง การเดินทางผ่านแดนในจุดนี้จะโดยสารด้วยเรือของบริษัท แกรนด์อันดามัน ซึ่งต้องเดินทางไปเปลี่ยนเรือบริเวณเกาะสน (เกาะตะเทจูน อังกฤษ: Thahtay Kyun, พม่า: သူဌေးကျွန်း) ก่อนจะเดินทางเข้ามายังพื้นที่เกาะสองได้ผ่านการว่าจ้างไกด์นำเที่ยวแบบเหมาราคาในการเดินทาง[24]
สำหรับบริการด้านการตรวจคนเข้าเมืองบริเวณจุดตรวจท่าเทียบเรือบริษัทอันดามันคลับนั้น ประกอบไปด้วยการผ่านแดนเข้าออกประเทศไทยและประเทศพม่าโดยใช้เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้[25]
- หนังสือเดินทาง
- หนังสือเดินทางชั่วคราว
- เอกสารรับรองบุคคล
- บัตรผ่านแดน
จุดตรวจท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง
[แก้]จุดตรวจท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง ตั้งอยู่ที่บ้านเขานางหงส์ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[2] เพื่อส่งเสริมด้านการค้าและการท่องเที่ยว โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 85 ล้านบาท ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ ความยาว 334 เมตร ความกว้าง 10 เมตร และประภาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ความสูง 48.5 เมตร[26] ซึ่งตัวท่ารองรับเรือท่องเที่ยวของเอกชนที่บริการข้ามแดนและท่องเที่ยวไปยังเกาะต่าง ๆ ในฝั่งพม่า และเป็นสำหรับจอดเรือตรวจการณ์ของศุลกากรระนอง[2]
สำหรับบริการด้านการตรวจคนเข้าเมืองบริเวณจุดตรวจท่าเทียบเรือศุลกากรระนองนั้น ประกอบไปด้วยการผ่านแดนเข้าออกประเทศไทยและประเทศพม่าโดยใช้เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- หนังสือเดินทาง
- หนังสือเดินทางชั่วคราว
- เอกสารรับรองบุคคล
- บัตรผ่านแดน[27]
การเดินทาง
[แก้]จุดผ่านแดนถาวรระนอง–เกาะสอง ประกอบด้วยจุดตรวจจำนวน 4 แห่ง โดย 3 แห่ง คือ จุดตรวจท่าเทียบเรือสะพานปลาระนอง จุดตรวจท่าเทียบเรืออันดามันคลับ และจุดตรวจท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง สามารถเดินทางเข้าไปถึงได้ด้วยรถยนต์และขนส่งมวลชนท้องถิ่น และโดยสารเรือรับจ้างทั้งท้องถิ่นและเอกชนข้ามไปยังฝั่งพม่า[16] และอีก 1 แห่ง คือ จุดตรวจปากน้ำระนอง ที่ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำระนอง[22] เข้าถึงได้ด้วยเรือเท่านั้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ระงับการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร". ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง (ตม.จว.ระนอง). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-04. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "ระนองเร่งส่งเสริมการค้าการลงทุนเปิดจุดตรวจผ่านแดนถาวรแห่งใหม่". mgronline.com. 2014-04-09.
- ↑ "ด่านศุลกากรกระบุรีรำลึก - ด่านศุลกากรระนอง". ranong.customs.go.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 4.0 4.1 4.2 "จุดนำเข้า-ส่งออก และ จุดผ่านแดน - ด่านศุลกากรระนอง". ranong.customs.go.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล (2022-05-03). ""ระนอง"เปิดด่านหนุนค้าชายแดน-เที่ยวหมู่เกาะตอนใต้เมียนมาพุ่ง". thansettakij.
- ↑ "ข้อมูลช่องทางผ่านแดนและความตกลงเรื่องการสัญจรข้ามแดน - ตารางจุดผ่านแดนทั่วประเทศ 7 พ.ย. 2562 (ด้านเมียนมา)". www.fad.moi.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-06. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ 7.0 7.1 "จุดตรวจท่าเทียบเรือสะพานปลา - หน่วยงานในสังกัด ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง (ตม.จว.ระนอง)". www.ranongimmigration.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-01. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 "จุดตรวจปากน้ำระนอง - หน่วยงานในสังกัด ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง (ตม.จว.ระนอง)". www.ranongimmigration.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-01. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ "ตารางเปรียบเทียบรายละเอียดความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน" (PDF). www.fad.moi.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-10-15. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ กรมการจัดหางาน. "ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป - กระทรวงแรงงาน แจ้งข่าวดี !! ต่างด้าวกลุ่มพาสปอร์ตเล่มสีม่วงที่วีซ่ายังไม่หมดอายุ ยังทำงานในไทยต่อได้ : กรมการจัดหางาน". www.doe.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-01. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ Kangsaworn, Setthawut (2021-06-21). "passport CI พาสปอร์ตสัญชาติพม่าเล่มสีเขียว หรือ เอกสาร CI คืออะไร". บนจ.พรจินดา กรุ๊ป.
- ↑ "ค้าชายแดนระนอง-เกาะสองทะลุพันล้าน". bangkokbiznews. 2014-05-19.
- ↑ 13.0 13.1 "ขอ 'หลวงปู่ทวด' คุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภยันตราย". bangkokbiznews. 2021-03-22.
- ↑ "เกาะสอง เที่ยวเกาะฝั่งพม่าแบบเช้าไป-เย็นกลับ". www.sanook.com.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ทริปครึ่งวันเกาะสองประเทศพม่า เจซีทัวร์ระนอง ให้บริการท่องเที่ยวเกาะหัวใจมรกต หรือเกาะค๊อกคอม เกาะดันกิ้น อ่าวค้อน เกาะเกือกม้า เกาะสน น้ำตก น้ำพุร้อน และทัวร์ภายในระนองหรือพม่าทั้งหมด". www.jctour-ranong.com.
- ↑ 16.0 16.1 "แผนที่ท่องเที่ยวรวม 10 ที่ที่น่าไปสไตล์วันเดียวเที่ยวเกาะสอง (Kawthoung) ของพม่า". www.touronthai.com.
- ↑ "หน่วยงานในสังกัด ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง (ตม.จว.ระนอง)". www.ranongimmigration.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-01. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ 18.0 18.1 "เกาะสอง , วิคตอเรียพอยท์". www.paiduaykan.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-02. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ "เกาะสอง หรือ วิคตอเรียพอยท์". www.annaontour.com.
- ↑ "ขอ 'หลวงปู่ทวด' คุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภยันตราย". bangkokbiznews. 2021-03-22.
- ↑ "เกาะสอง หรือ วิคตอเรียพอยท์". www.annaontour.com.
- ↑ 22.0 22.1 "ระนองเปิดอาคารจุดผ่านแดนใหม่อำนวยความสะดวกคนใช้บริการ". mgronline.com. 2015-03-24.
- ↑ "หน่วยงานในสังกัด ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง (ตม.จว.ระนอง)". www.ranongimmigration.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-01. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ "เส้นทางท่องเที่ยวระนอง-เกาะสอง". Chula Creative Tourism (ภาษาอังกฤษ). 2019-12-27.
- ↑ "จุดตรวจท่าเทียบเรือบริษัทอันดามันคลับ - หน่วยงานในสังกัด ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง (ตม.จว.ระนอง)". www.ranongimmigration.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-01. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.
- ↑ "อาคารประภาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา". thai.tourismthailand.org (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "จุดตรวจท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง - หน่วยงานในสังกัด ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง (ตม.จว.ระนอง)". www.ranongimmigration.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-01. สืบค้นเมื่อ 2023-02-04.