ข้ามไปเนื้อหา

จุดผลิตน้ำมันสูงสุด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กราฟแสดงการผลิตน้ำมันโลก ทั้งข้อมูลตามประวัติและข้อมูลอนาคตตามที่คาดหมาย และตามที่เสนอโดยนักธรณีวิทยา ดร. คิง ฮับเบิร์ต ได้ถึงจุดสูงสุดที่ 1.5 ล้านล้านลิตร (12,500 ล้านบาร์เรล) ต่อปีที่ประมาณปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543)
การผลิตน้ำมันดิบของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงลักษณะคล้ายคลึงกับเส้นโค้งฮับเบิร์ต (Hubbert curve) แต่ให้สังเกตความแตกต่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กีปีมานี้

จุดผลิตน้ำมันสูงสุด (อังกฤษ: Peak oil) เป็นเหตุการณ์ตามทฤษฎีจุดสูงสุดฮับเบิร์ต (Hubbert peak theory) ของ ดร. คิง ฮับเบิร์ต เป็นจุดเวลาที่การขุดเจาะปิโตรเลียมจะถึงระดับสูงสุด แล้วการผลิตน้ำมันก็จะเริ่มลดระดับลง จนกระทั่งหมดไป[1] ทฤษฎีนี้สังเกตได้จากการเพิ่มขึ้น จุดสูงสุด การลดลง (บางครั้งอย่างรวดเร็ว) และความสูญสิ้นของอัตราการผลิตมวลรวม ในแหล่งบ่อน้ำมัน ตามกาลเวลา แต่เนื่องจากมีเทคนิคการผลิตใหม่ ๆ และการขุดเจาะจากแหล่งไม่สามัญอื่น ๆ จุดเวลาที่พยากรณ์ไว้เบื้องต้นของฮับเบิร์ตจึงปรากฏว่า ก่อนเวลาอันควร[2]

แต่ว่า เวลาพยากรณ์ของฮับเบิร์ต เกี่ยวกับจุดผลิตน้ำมันสูงสุดของสหรัฐอเมริกาที่ปี ค.ศ. 1970 นั้น ถูกต้อง คือ อัตราการผลิตถึงจุดสูงสุดในปีนั้น ที่ 1,145 ล้านลิตร (9.6 ล้านบาร์เรล) ต่อวัน[3] แต่ว่า หลังจากระดับการผลิตลดลงมาเป็นทศวรรษ ๆ การใช้เทคนิค hydraulic fracturing กับบ่อที่น้ำมันเริ่มน้อยลงแล้ว เสริมการผลิตให้สูงขึ้น เพิ่มขึ้นเป็น 1,097 ล้านลิตร (9.2 ล้านบาร์เรล) ต่อวันเมื่อต้นปี ค.ศ. 2015[4]

ปรากฏการณ์จุดผลิตน้ำมันสูงสุด (peak oil) มักจะสับสนกับความสูญสิ้นของน้ำมัน (oil depletion) แต่จุดผลิตน้ำมันสูงสุดเป็นจุดที่เกิดการผลิตสูงสุด ในขณะที่ความสูญสิ้นหมายถึงช่วงเวลาที่น้ำมันเริ่มมีลดลง ทั้งในแหล่งผลิต ทั้งที่มีขาย

นักวิชาการบางท่าน เช่นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมน้ำมัน Kenneth S. Deffeyes และแมตทิว ซิมมอนส์ พยากรณ์ผลลบต่อเศรษฐกิจโลก หลังจากผ่านจุดผลิตน้ำมันสูงสุด โดยจะมีการผลิตน้ำมันที่ลดลงและราคาที่สูงขึ้น เพราะระบบการขนส่งทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และระบบอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต้องอาศัยราคาที่ต่ำและความล้นเหลือของน้ำมันเป็นอย่างยิ่ง แต่ว่า การพยากรณ์ผลลบโดยเฉพาะที่จะเกิดขึ้น จะแตกต่างกันไป

การประเมินแบบดีที่สุด[2] พยากรณ์ว่าการผลิตน้ำมันจะเริ่มลดจำนวนลงหลังปี ค.ศ. 2020 และสมมุติว่า จะมีการลงทุนเพียงพอเพื่อประยุกต์ใช้พลังงานทางเลือก ก่อนจะถึงจุดวิกฤต และจะไม่ต้องมีการเปลี่ยนวิถีชีวิตที่สำคัญในกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคใช้น้ำมันระดับสูง แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ แสดงราคาของน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะต้น ๆ แล้วจะเริ่มลดลงเมื่อมีการใช้เชื้อเพลิงและแหล่งพลังงานอื่น ๆ[5]

ส่วนพยากรณ์ในแง่ร้ายที่สุดที่ทำหลังจากปี ค.ศ. 2007 กล่าวว่า จุดสูงสุดได้เกิดขึ้นแล้ว[6][7][8][9] หรือว่า การผลิตกำลังอยู่ที่จุดยอด หรือว่าจะเกิดขึ้นภายในเร็ว ๆ นี้[10][11]

ทฤษฎี

[แก้]

จากการสังเกตการค้นพบแหล่งน้ำมันและระดับการผลิตในอดีต พร้อมกับการพยากรณ์แนวโน้มการค้นพบแหล่งผลิตในอนาคต ดร. ฮับเบิร์ต ได้ใช้แบบจำลองทางสถิติที่ทำในปี ค.ศ. 1956 เพื่อพยากรณ์อย่างแม่นยำว่า[12] ระดับการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาจะถึงจุดสูงสุดระหว่างปี ค.ศ. 1965–1971[13] แบบจำลองนั้นพร้อมกับแบบที่ปรับปรุงอื่น ๆ ปัจจุบันเรียกว่า ทฤษฎีจุดสูงสุดฮับเบิร์ต (Hubbert peak theory) ซึ่งใช้อธิบายและพยากรณ์จุดสูงสุดและการลดการผลิต สำหรับแหล่งผลิตตามภูมิภาคต่าง ๆ รวมทั้งระดับประเทศ หรือระดับหลาย ๆ ประเทศ[14] และใช้อธิบายการผลิตทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัดอย่างอื่น ๆ รวมทั้งแร่ธาตุ ไม้ และน้ำจืด

ในงานปี ค.ศ. 1956 ดร. ฮับเบิร์ตได้ใช้แบบทางสถิติ semi-logistic curved model ที่บางครั้งเปรียบเทียบกันผิด ๆ กับการแจกแจงปรกติ (normal distribution) และได้สมมุติว่า อัตราการผลิตของทรัพยากรที่จำกัด จะมีการกระจายตัวแบบสมมาตรโดยคร่าว ๆ และขึ้นอยู่กับความกดดันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และความกดดันทางตลาด การเพิ่มหรือการลดการผลิตตามกาลเวลา อาจจะเป็นแบบกระทันหัน หรือเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นแบบเชิงเส้น หรือเป็นเส้นโค้ง[14]

งานวิเคราะห์ทฤษฎีฮับเบิรต์ในปี ค.ศ. 2006 ตั้งข้อสังเกตว่า ความไม่แน่นอนของจำนวนการผลิตของโลกจริง ๆ และความสับสนเกี่ยวกับนิยามต่าง ๆ เพิ่มความไม่แน่นอนของการพยากรณ์อัตราการผลิตโดยรวม ๆ แต่เมื่อเทียบกับทฤษฎีพยากรณ์รูปแบบอื่น ๆ ก็พบว่า วิธีของ ดร. ฮับเบิร์ต ใกล้เคียงกับความจริงที่สุด แต่ว่า ไม่มีแบบจำลองไหนที่แม่นยำจริง ๆ[14] ในปี ค.ศ. 1956 ตัว ดร. ฮับเบิร์ตเอง ก็ได้แนะนำให้ใช้เส้นโค้งการผลิตที่เป็นไปได้หลาย ๆ อย่าง เพื่อพยากรณ์จุดสูงสุด และอัตราการลดการผลิตหลังจากนั้น[13]

นักธรณีวิทยา ดร. คอลิน แคมป์เบลล์ และ Kjell Aleklett ได้เพิ่มความนิยมของศัพท์ว่า "peak oil" เมื่อช่วยก่อตั้ง Association for the Study of Peak Oil and Gas (สมาคมเพื่อการศึกษาจุดผลิตน้ำมันและแก๊สสูงสุด ตัวย่อ ASPO)[15] แต่ว่าในงานที่ตีพิมพ์ของ ดร. ฮับเบิร์ต เขาได้ใช้คำว่า "peak production rate (จุดยอดอัตราการผลิต)" และ "peak in the rate of discoveries (จุดยอดในอัตราการค้นพบ)"

ความต้องการน้ำมัน (อุปสงค์)

[แก้]
ประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุด ปี ค.ศ. 1960–2008

การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอุปสงค์ เป็นการศึกษาปริมาณน้ำมัน ที่ตลาดโลกจะเลือกใช้สอยตามราคาตลาด และความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของเส้นอุปสงค์นั้น ปริมาณความต้องการน้ำมัน เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.76% ต่อปีระหว่างปี ค.ศ. 1994–2006 โดยมีอัตราสูงที่ 3.4% ระหว่างปี ค.ศ. 2003–2004 แต่หลังจากที่ถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2007 ที่ 10,206 ล้านลิตร (85.6 ล้านบาร์เรล) ต่อวัน การบริโภคน้ำมันโลก ลดลงทั้งในปี ค.ศ. 2008 และ 2009 โดยประมาณ 1.8% แม้ว่าราคาจะตกลงในปี ค.ศ. 2008[16] แม้ว่าจะมีการพักรบเช่นนี้ แต่ก็มีการพยากรณ์ว่า ความต้องการน้ำมันของโลกจะเพิ่มขึ้น 21% ของระดับที่ใช้ในปี ค.ศ. 2007 โดยปี ค.ศ. 2030 คือจาก 10,255 ล้านลิตรต่อวัน ไปเป็น 12,401 ล้านลิตรต่อวัน โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.8% ต่อปีโดยเฉลี่ย เพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการขนส่ง[17][18][19] แต่ตามการคาดการณ์ของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency ตัวย่อ IEA) ในปี ค.ศ. 2013 ความสามารถการผลิตที่เพิ่มขึ้น จะมากเกินกว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นใน 5 ปีต่อไปอย่างสำคัญ[20][21]

โลกเพิ่มการบริโภคน้ำมันจาก 7,512 ล้านลิตรต่อวัน ในปี ค.ศ. 1980 ไปเป็น 10,135 ล้านลิตรต่อวัน ในปี ค.ศ. 2006

ความต้องการทางพลังงาน แจกได้ตามผู้บริโภคใหญ่ ๆ 4 พวกคือ การขนส่ง ที่พักอาศัย ธุรกิจ และอุตสาหกรรม[22][23] ตามจำนวนการใช้สอย การขนส่งเป็นผู้บริโภคใหญ่ที่สุด และมีการเพิ่มความต้องการมากที่สุด ในทศวรรษที่ผ่าน ๆ มา โดยมากมาจากการใช้ยานพาหนะส่วนตัวที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน[24] เป็นผู้บริโภคน้ำมันในอัตราส่วนถึง 68.9% ในปี ค.ศ. 2006 ในประเทศสหรัฐอเมริกา[25] และถึง 55% ในปี ค.ศ. 2005 ทั่วโลก ดังที่รายงานใน Hirsch report ซึ่งเป็นงานศึกษาทำโดยกระทรวงพลังงาน (สหรัฐอเมริกา) ดังนั้น การขนส่งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับบุคคลที่สนใจเรื่องการบรรเทาผล ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการถึงจุดผลิตน้ำมันสูงสุด

การผลิตปิโตรเลียมในสหรัฐอเมริกาถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 1970 และในปี ค.ศ. 2005 มีการนำเข้าเป็นปริมาณสองเท่าของการผลิต

แม้ว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในประเทศกำลังพัฒนา[26] แต่สหรัฐอเมริกา ก็ยังเป็นประเทศบริโภคน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก ในระหว่างปี ค.ศ. 1995–2005 ปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 2,110 ล้านลิตรต่อวัน ไปเป็น 2,468 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 358 ล้านลิตรต่อวัน โดยเปรียบเทียบกับประเทศจีนคือ มีปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 405 ล้านลิตรต่อวัน ไปเป็น 835 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 430 ล้านลิตรต่อวัน[27] องค์การบริหารข้อมูลพลังงาน (Energy Information Administration ตัวย่อ EIA) ของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า จุดบริโภคสูงสุดของสหรัฐอาจจะอยู่ที่ปี ค.ศ. 2007 ส่วนหนึ่งเพราะทั้งการเพิ่มความสนใจ ทั้งมีอาณัตเพื่อให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ และให้ปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน[28][29]

เมื่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ พัฒนาขึ้น ทั้งระบบอุตสาหกรรมและระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งสองล้วนเพิ่มการใช้พลังงาน ซึ่งโดยส่วนมากก็คือน้ำมัน ดังนั้น ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่นประเทศจีน และอินเดีย ก็กำลังกลายมาเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างรวดเร็ว[30] การบริโภคน้ำมันของจีนได้เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8 ต่อปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 1996 ถึงปี 2006[26] ในปี ค.ศ. 2008 การขายรถในประเทศจีนคาดว่า จะเพิ่มขึ้นถึง 15-20% ส่วนหนึ่งเพราะอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 10% เป็นเวลา 5 ปีต่อ ๆ กัน[31]

แม้ว่าจะมีการพยากรณ์ถึงการเจริญเติบโตของจีนที่รวดเร็วอย่างนี้ว่า จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้อื่นก็พยากรณ์เศรษฐกิจ ที่เกิดจากการส่งออกเป็นส่วนใหญ่เช่นนี้ว่า จะไม่สามารถดำรงความโน้มเอียงในการเจริญเติบโตอย่างนี้ได้ เพราะว่า ทั้งค่าจ้างที่สูงขึ้น ทั้งราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น จะลดระดับความต้องการสินค้าจากสหรัฐอเมริกา[32] ส่วนการนำเข้าน้ำมันของอินเดียคาดว่า จะขยายขึ้นเป็น 3 เท่าโดยปี ค.ศ. 2020 จากระดับที่ปี ค.ศ. 2005 โดยเพิ่มขึ้นเป็น 596 ล้านลิตรต่อวัน[33]

จำนวนประชากร

[แก้]
ประวัติจำนวนประชากรของโลก

ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งต่อความต้องการน้ำมันก็คือ การเติบโตของจำนวนประชาการ เห็นได้จาก ปริมาณผลิตน้ำมันต่อประชากรที่ถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 1979[34] สำนักงานสำมะโนแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Census Bureau) พยากรณ์ว่า จำนวนประชากรโลกในปี ค.ศ. 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปี 1980[35]

ปริมาณผลิตน้ำมันต่อประชากรลดลงจาก 627 ลิตรต่อปี ในปี ค.ศ. 1980 ไปเป็น 529 ลิตรต่อปี ในปี ค.ศ. 1993[35][36] แต่หลังจากนั้นก็เพิ่มไปอยู่ที่ 571 ลิตรต่อปี ในปี ค.ศ. 2005[35][36] ในปี ค.ศ. 2006 การผลิตน้ำมันของโลกลดลงจาก 10,091 ล้านลิตรต่อวัน ไปเป็น 10,087 ล้านลิตรต่อวัน แม้ว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น ปริมาณผลิตน้ำมันต่อประชากรจึงลดลงอีกเป็น 564 ลิตรต่อปี[35][36]

ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดอิทธิพลต่อการเพิ่มความต้องการก็คือ การลดอัตราเพิ่มจำนวนประชากร เริ่มตั้งแต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 คือ ในปี ค.ศ. 1970 อัตราเพิ่มจำนวนประชากรอยู่ที่ 2.1% แต่โดยปี ค.ศ. 2007 อัตราได้ลดไปที่ 1.2%[37] แต่ว่า จนถึงปี ค.ศ. 2005 การเพิ่มการผลิต มีมากกว่าการเพิ่มจำนวนประชากร คือ จากปี ค.ศ. 2000–2005 ประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 6,070 ล้านคน ไปเป็น 6,450 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 6.2%[35] แต่ตามบริษัทน้ำมันบีพี มีการเพิ่มการผลิตน้ำมันจาก 8,931 ล้านลิตรต่อวัน ไปเป็น 9,670 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 8.2%[38] หรือตาม EIA เพิ่มจาก 9,272 ล้านลิตรต่อวัน ไปเป็น 10,091 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 8.8%

อุปทาน

[แก้]

นิยาม

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1956 ดร. ฮับเบิร์ตได้จำกัดการพยากรณ์จุดผลิตน้ำมันสูงสุด โดยวิธีการผลิตที่มีใช้ในขณะนั้น[13] แต่ว่า โดยปี ค.ศ. 1962 การวิเคราะห์ของเขาได้รวมพัฒนาการทางการสำรวจและการผลิตในอนาคตด้วย[39] แต่ว่างานวิเคราะห์ทั้งหมดของเขา ไม่รวมน้ำมันที่ผลิตจากหินน้ำมัน หรือจากทรายน้ำมัน

น้ำมันแบ่งออกเป็นแบบเบาและแบบหนัก แบบหนักหมายถึงน้ำมันที่เหนียวไม่ไหลได้ง่าย ๆ แบบเบาเป็นน้ำมันที่สามารถไหลขึ้นมาสู่พื้นโดยธรรมชาติ หรือสามารถขุดเจาะได้โดยใช้เครื่องสูบน้ำมัน (pumpjack) ซึ่งสามารถใช้สูบเอาน้ำมันหนักออกจากพื้นได้ด้วย และสามารถขุดเจาะเอาได้ จากทั้งในพื้นดินและในทะเล[40]

แหล่งน้ำมันนอกสามัญ

[แก้]
  • หินน้ำมัน เป็นชื่อสามัญของหินตะกอนเช่นหินดินดาน หรือหินมาร์ล ซึ่งมีเคโรเจน ซึ่งเป็นสารก่อนน้ำมัน ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นน้ำมันดิบโดยแรงดันและอุณหภูมิสูงที่เกิดจากการอยู่ในดินลึก เพราะว่าหินอยู่ใกล้พื้นผิว จะมีการขุดเอาหิน บด แล้วกลั่น มีผลผลิตเป็นน้ำมันสังเคราะห์จากเคโรเจน แต่ว่า พลังงานสุทธิที่ได้จากหิน น้อยกว่าน้ำมันปกติมาก จนกระทั่งว่า พลังงานสุทธิประเมินจากการค้นพบหินน้ำมัน พิจารณาว่าเชื่อถือไม่ได้[41][42]
  • ทรายน้ำมัน (Oil sands) เป็นหินทรายที่ยังไม่จับก้อน ที่มียางมะตอยดิบ หรือน้ำมันดิบ ที่หนักและเหนียวมาก ซึ่งสามารถขุดเจาะได้ผ่านวิธีการทำเหมืองผิวดิน (surface mining), การขุดบ่อน้ำมันโดยใช้กระบวนการฉีดไอน้ำ (steam injection), หรือเทคนิคอื่น ๆ แล้วทำให้กลายเป็นของเหลวโดยโรงงาน upgrader ที่เปลี่ยนยางมะตอยเป็นน้ำมัน โดยผสมกับสารทำให้เจือจาง หรือโดยใช้ความร้อน แล้วจึงเข้าผ่านกระบวนการกลั่นน้ำมันทั่ว ๆ ไป กระบวนการสกัดน้ำมันเช่นนี้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าการสกัดน้ำมันจากหินน้ำมัน
  • การแปรสภาพถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลว (Coal liquefaction) หรือกระบวนการเปลี่ยนแก๊สธรรมชาติเป็น เชื้อเพลิงเหลว (Gas to liquids) เป็นวิธีการสังเคราะห์น้ำมันจากถ่านหินหรือแก๊สธรรมชาติ

ระดับน้ำมันที่มีขายโดยทั่วไป

[แก้]
การผลิตน้ำมันโลก ปี ค.ศ. 1980–2012
กราฟแสดงประเทศผลิตน้ำมันอันดับใหญ่ที่สุด ปี ค.ศ. 1960–2006
ความสามารถในการผลิตน้ำมันเพิ่ม ของประเทศกลุ่มโอเปก (ข้อมูลจาก EIA)

งานวิเคราะห์ของเราบอกเป็นนัยว่า ยังมีน้ำมันและเชื้อเพลิงเหลวอีกเป็นจำนวนมาก สำหรับอนาคตที่ยังพอมองเห็นได้ แต่ว่า ทั้งอัตราการพัฒนาแหล่งผลิตใหม่ ๆ และราคาขายเพื่อให้คุ้มทุนการพัฒนา กำลังเปลี่ยนไป

— ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency)[43]

ตามรายงานตลาดน้ำมันของ IEA เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2011 ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลก ได้ทำสถิติใหม่ที่ 10,731 ล้านลิตรต่อวัน โดยเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011 และจากปริมาณนี้ ที่มาจากประเทศกลุ่มโอเปกเป็นเพียงแค่ 3,658 ล้านลิตรต่อวัน คือ 34.1%[44]

การค้นพบใหม่ ๆ

[แก้]
ในปี ค.ศ. 2011 น้ำมันสำรองที่พิสูจน์ได้ของสหรัฐอเมริกามีเพิ่มถึง 3,800 ล้านบาร์เรล โดยไม่รวมน้ำมันที่ผลิตออกมาแล้ว 2,070 ล้านบาร์เรล และเพียงแค่ 8% จากทั้งหมด 5,840 ล้านบาร์เรล ที่ได้ลงบัญชีเป็นน้ำมันที่เพิ่มขึ้น คือ 480 ล้านบาร์เรล มาจากแหล่งน้ำมันใหม่ ๆ (EIA)

แหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่หาขุดเจาะได้ง่าย ๆ ในโลกนี้ โดยมากค้นพบเจอหมดแล้ว ตอนนี้เหลือแต่งานที่ต้องทำหนักขึ้น เพื่อที่จะหาและผลิตน้ำมัน จากสิ่งแวดล้อมและภูมิภาคการทำงานที่ท้าท้ายมากขึ้น

— โฆษกบริษัทน้ำมันเอ็กซอนโมบิล ธันวาคม ค.ศ. 2005[45]

มันค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้วว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะพบน้ำมันแบบถูก ๆ ใหม่ ๆ ที่มีปริมาณพอเป็นนัยสำคัญ น้ำมันที่พบใหม่ ๆ หรือน้ำมันจากแหล่งไม่สามัญ จะมีราคาแพง

— ประธานบริษัทเก่าคนหนึ่งของบริษัทเชลล์ – เดือนตุลาคม ค.ศ. 2008[46]

ส่วนจุดค้นพบน้ำมันสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1965[47] ที่ 6,558,226 ล้านลิตร (55,000 ล้านบาร์เรล) ต่อปี[48] ตามสมาคมเพื่อการศึกษาจุดผลิตสูงสุดของน้ำมันและแก๊ส (ASPO) อัตราการค้นพบแหล่งน้ำมันได้ตกลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่นั้นมา มีการค้นพบแหล่งน้ำมันน้อยกว่า 1,192,405 ล้านลิตร (10,000 ล้านบาร์เรล) ต่อปี ในแต่ละปีระหว่างปี ค.ศ. 2002–2007[49] แต่ตามบทความของรอยเตอร์ส อัตราการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ ๆ ค่อนข้างที่จะสม่ำเสมอที่ 15,000-20,000 ล้านบาร์เรลต่อปี[50]

นักวิจัยคนหนึ่งที่ EIA ชี้ว่า หลังจากคลื่นลูกแรกของการค้นพบแหล่งใหม่ ๆ ในเขต ๆ หนึ่ง น้ำมันและแก๊สธรรมชาติสำรองที่มีเพิ่มขึ้น จะไม่ใช่มาจากแหล่งใหม่อื่นอีกที่พบ แต่จะมาจากการค้นพบน้ำมันและแก๊สเพิ่มขึ้นจากแหล่งเดิม[51]

แหล่งสำรอง

[แก้]
แหล่งน้ำมันสำรองที่พิสูจน์ได้ ปี ค.ศ. 2009

น้ำมันสำรองแบบสามัญ (ที่ไม่ใช่มาจากแหล่งนอกสามัญ) ทั้งหมด แบ่งเป็นน้ำมันดิบที่มีความมั่นใจทางเทคนิค 90-95% ว่าสามารถขุดได้ (โดยการเจาะบ่อโดยใช้วิธีการปฐมภูมิ วิธีการทุติยภูมิ วิธีการปรับปรุง [improved] วิธีการเพิ่มผล [enhanced] หรือวิธีการตติยภูมิ), น้ำมันที่มีความน่าจะเป็น 50% ว่าจะขุดได้ในอนาคต, และน้ำมันที่มีโอกาส 5-10% ว่าจะขุดได้ในอนาคต ซึ่งมีการหมายเรียกว่า 1P/Proven (90-95%), 2P/Probable (50%), และ 3P/Possible (5-10%)[52] และยังไม่รวมเชื้อเพลิงเหลวที่สกัดมาจากหิน ทราย หรือแก๊ส (ดังที่กล่าวแล้วในหัวข้อ แหล่งน้ำมันนอกสามัญ)[53]

การคำนวณแหล่งสำรองแบบ 2P พยากรณ์ว่ามีน้ำมันระหว่าง 1,150,000-1,350,000 ล้านบาร์เรล แต่นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า เพราะให้ข้อมูลผิด เพราะไม่ให้ข้อมูล และเพราะการคำนวณที่บิดเบือน แหล่งสำรองแบบ 2P น่าจะอยู่ใกล้ ๆ 850,000-900,000 ล้านบาร์เรลมากกว่า[7][11] Energy Watch Group (กลุ่มจับตามองเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน) กล่าวว่า แหล่งสำรองที่พบ ถึงจุดสูงสุดเมื่อปี ค.ศ. 1980 เป็นจุดที่การผลิตน้ำมัน มากกว่าการค้นพบแหล่งน้ำมันเป็นครั้งแรก และน้ำมันสำรองที่เพิ่มขึ้นหลังจากนั้นเป็นเรื่องไม่ชัดเจน และสรุปในปี ค.ศ. 2007 ว่า "การผลิตน้ำมันของโลกน่าจะผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว แต่เรายังไม่สามารถมั่นใจได้เต็มร้อย"[7]

ในปี ค.ศ. 2005 บทความในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถขุดเจาะน้ำมันประมาณ 40% จากบ่อโดยมาก และอ้างรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย และผู้ชำนาญในอุตสาหกรรมน้ำมันว่า เทคโนโลยีในอนาคตจะสามารถขุดเจาะน้ำมันได้มากกว่านั้น[54]

ในประเทศผู้ผลิตสำคัญหลายประเทศ น้ำมันสำรองที่อ้างว่ามี ไม่ได้รับการตรวจสอบจากบุคคลภายนอก แต่ว่า น้ำมันที่สามารถขุดเจาะได้ง่าย ส่วนมากได้ค้นพบแล้ว[45] ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ได้บันดาลใจ ให้หาน้ำมันในเขตที่การขุดเจาะจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เช่นในบ่อที่ลึกมาก บ่อที่มีอุณหภูมิสูง และเขตภูมิภาคที่มีสิ่งแวดล้อมที่อ่อนไหว หรือในที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อขุดเจาะ อัตราการค้นพบที่ลดลงต่อการสำรวจหาแต่ละครั้ง ทำให้เครื่องเจาะพื้นขาดแคลน เพิ่มราคาของเหล็กกล้า และเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยองค์รวม เพราะการสำรวจซับซ้อนยิ่งขึ้น[55][56]

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับแหล่งน้ำมันสำรอง

[แก้]

น้ำมันสำรองของโลกเป็นเรื่องสับสนและจริง ๆ แล้ว เกินความจริง ที่เรียกว่าน้ำมันสำรองในที่หลายที่ จริง ๆ แล้ว เป็นเพียงทรัพยากรที่มี (แต่ว่า) เป็นทรัพยากรที่กำหนดปริมาณไม่ได้ เข้าถึงไม่ได้ ไม่สามารถใช้เพื่อการผลิต

— อดีตรองประธานของบริษัทน้ำมัน Aramco ในปาฐกถากล่าวที่งานประชุมน้ำมันและเงินตราในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007[8]

อดีตรองประธานของบริษัทน้ำมัน Aramco ประเมินว่า น้ำมันสำรองปริมาณ 1,200,000 ล้านบาร์เรลที่บอกว่าพิสูจน์ได้ ประมาณ 300,000 ล้านบาร์เรล (25%) ควรจะจัดใหม่ว่าเป็นทรัพยากรที่เป็นเพียงการคาดคะเน[8]

กราฟแสดงน้ำมันสำรองของประเทศกลุ่มโอเปก ที่เพิ่มปริมาณโดยที่ไม่พบแหล่งใหม่ ๆ และก็ไม่หมดสิ้นไปแม้ว่าจะผลิตต่อ ๆ กันทุกปีอีกด้วย

ปัญหายากอย่างหนึ่งในการพยากรณ์เวลา ที่การผลิตน้ำมันจะถึงจุดสูงสุดก็คือ ความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับน้ำมันสำรองที่อ้างว่า "พิสูจน์ได้" (proven) ตัวบ่งชี้ที่น่ากังวลใจ เกี่ยวกับการสูญสิ้นน้ำมันสำรองส่วนที่พิสูจน์ได้ ได้เริ่มปรากฏในปีที่ผ่าน ๆ มา[57][58] ตัวอย่างก็คือ เกิดเรื่องอื้อฉาวในปี ค.ศ. 2004 เกี่ยวกับการหายไปเฉย ๆ ของน้ำมันสำรองถึง 20% ที่อ้างโดยบริษัทเชลล์[59]

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว บริษัทน้ำมันด้วย ประเทศผู้ผลิตด้วย และประเทศผู้บริโภคด้วย จะเป็นผู้แสดงว่า มีน้ำมันสำรองอยู่เท่าไร แต่ทั้งสามพวก ล้วนมีเหตุผลที่จะแสดงปริมาณที่เกินความจริง คือ บริษัทน้ำมันอาจจะต้องการเพิ่มมูลค่าบริษัทของตน ประเทศผู้ผลิตอาจจะได้รับการยกย่องที่สูงกว่าในความสัมพันธ์กับประเทศอื่น และรัฐบาลของประเทศบริโภค อาจจะต้องการที่จะแสดงความมั่นคงและความเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กับประชาชนของตน

มีข้อมูลไม่ลงรอยกันหลัก ๆ หลายอย่างในตัวเลขที่ประเทศกลุ่มโอเปกรายงานเอง นอกจากความเป็นไปได้ที่จะกล่าวเกินความจริง (เมื่อไม่มีการค้นพบใหม่ ๆ) มีประเทศกว่า 70 ประเทศ ที่ไม่ลดปริมาณน้ำมันสำรองที่กล่าวเพราะเหตุผลทางการเมือง แม้ว่าจะขุดเจาะน้ำมันอยู่ทุกปี พวกนักวิเคราะห์เสนอว่า สมาชิกกลุ่มโอเปกมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่จะกล่าวเกินความจริง เพราะว่าระบบโควตาของโอเปก อนุญาตประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากกว่า ให้ผลิตน้ำมันมากกว่า[54]

ยกตัวอย่างเช่น นิตยสาร Petroleum Intelligence Weekly (ข่าวกรองปิโตรเลียมรายสัปดาห์) เดือนมกราคม ค.ศ. 2006 รายงานว่า ประเทศคูเวตมีน้ำมันสำรองเพียงแค่ 48,000 ล้านบาร์เรลโดยมีเพียงแค่ 24,000 ล้านบาร์เรลเท่านั้นที่พิสูจน์ได้ เป็นรายงานที่มาจากเอกสารลับที่ได้รั่วไหลเมื่อปี ค.ศ. 2001 ซึ่งแม้แต่รัฐบาลคูเวตเอง ก็ไม่ได้ออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการ[60] เป็นตัวเลขที่รวมน้ำมันที่ผลิตออกมาแล้วตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งเป็นประมาณ 5,000 ล้านบาร์เรลต่อปี[27] แต่ไม่รวมตัวเลขที่แก้ไขเพิ่ม หรือการค้นพบใหม่ ๆ หลังจากนั้น แต่รัฐบาลคูเวตกลับแถลงทุก ๆ ปีว่า มีน้ำมันสำรองอีกประมาณ 100,000 ล้านบาร์เรล[60] นอกจากนั้นแล้ว น้ำมันที่ถูกเผาทิ้งไปปริมาณ 1,500 ล้านบาร์เรลในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก[61] ก็ยังไม่ลบออกจากตัวเลขที่เป็นทางการอีกด้วย

มีนักข่าวสืบสวนบางท่านอ้างว่า บริษัทน้ำมันมีแรงจูงใจ ที่จะทำให้น้ำมันมีเหมือนน้อยกว่าความจริง เพื่อที่จะโก่งราคาน้ำมัน[62] แต่มุมมองนี้ก็มีนักข่าวทางนิเวศวิทยาที่ไม่เห็นด้วย[63] และก็มีนักวิเคราะห์ท่านอื่น ๆ อีกที่อ้างว่า ประเทศผู้ผลิตจะบอกค่าน้ำมันของตนต่ำเกินไปเพื่อจะโก่งราคา[64]

แต่ว่าในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2009 เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งที่ IEA อ้างว่า สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้ IEA เปลี่ยนอัตราการสูญสิ้นของน้ำมัน และข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันสำรอง เพื่อจะกดราคา[65] เช่นในปี ค.ศ. 2005 IEA พยากรณ์ว่า อัตราการผลิตในปี ค.ศ. 2030 จะถึง 120 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ต่อจากนั้นก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลงจนเหลือ 105 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้นั้นกล่าวว่า คนในวงในของอุตสาหกรรมมีมติร่วมกันว่า แม้ปริมาณ 90 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็ไม่สามารถที่จะเป็นได้แล้ว แม้ว่า จะมีคนนอกองค์กรที่ได้เคยตั้งความสงสัยกับตัวเลขของ IEA ในอดีต แต่นี่เป็นครั้งแรก ที่แม้แต่คนในองค์กร ก็ตั้งความสงสัยกับตัวเลขเหล่านั้นเช่นกัน[65] งานวิเคราะห์การพยากรณ์ของ IEA ในปี ค.ศ. 2008 ตั้งความสงสัยเกี่ยวกับข้อสมมุติต่าง ๆ ของ IEA แล้วอ้างว่า การผลิตในปี ค.ศ. 2030 น่าจะใกล้ความจริงมากกว่าที่ 75 ล้านบาร์เรลต่อวัน (รวมน้ำมันดิบที่ 55 ล้านบาร์เรลต่อวัน และน้ำมันจากแหล่งนอกสามัญและจากแก๊สธรรมชาติที่ 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน)[9]

ส่วนค่าประเมินน้ำมันที่จะขุดออกมาได้โดยที่สุด (EUR) ขององค์กรสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USGS) ที่ค่า 2,300,000 ล้านบาร์เรล ถูกวิจารณ์ว่า มีการสมมุติอย่างไม่ตรงกับความจริงว่า แนวโน้มการค้นพบแหล่งใหม่ ๆ ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะเป็นเหมือนกับ 40 ปีที่ผ่าน ๆ มา คือ ความมั่นใจที่ 95% ของค่าประเมิน EUR มีข้อสมมุติว่า ระดับการค้นพบแหล่งใหม่ ๆ จะเสถียร ทั้ง ๆ ที่การค้นพบได้ลดระดับมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 และก็ยังลดระดับลงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี ให้หลังจากที่องค์กร USGS ใช้ข้อสมมุตินั้น นอกจากนั้นแล้ว รายงานในปี 2000 ยังถูกวิจารณ์อีกด้วยว่า ใช้วิธีการที่ผิดพลาดอย่างอื่น ๆ และมีการสมมุติอัตราการผลิต ที่ไม่สอดคล้องกับระดับน้ำมันสำรองที่คาดหมาย[7]

แหล่งไม่สามัญ

[แก้]
เหมืองและโรงงานผลิตน้ำมันสังเคราะห์ ในรัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา

ถ้าแหล่งน้ำมันสามัญเริ่มเข้าถึงได้ยาก จะสามารถทดแทนได้โดยการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากทรายน้ำมัน จากน้ำมันที่ข้นมาก จากแก๊สธรรมชาติ จากถ่านหิน จากเทคโนโลยีเชื้อเพลิงชีวภาพ และจากหินน้ำมัน[66] รายงาน International Energy Outlook (ท่าทีพลังงานระหว่างประเทศ) ของ IEA เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ได้แทนคำว่า น้ำมัน ด้วยคำว่า เชื้อเพลิงเหลว ในกราฟที่แสดงการใช้พลังงานของโลก[67][68] ในปี ค.ศ. 2009 เชื้อเพลิงชีวภาพรวมอยู่ในส่วนของเชื้อเพลิงเหลว ไม่ได้อยู่ในส่วนของพลังงานทดแทน[69]

ประมาณการสำรองขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรซึ่งขึ้นอยู่กับทั้งราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิต ดังนั้น อาจรวมแหล่งที่มาที่ไม่สามัญ เช่น น้ำมันดิบที่ข้นมาก ทรายน้ำมัน และหินน้ำมัน เนื่องจากเทคนิคใหม่ช่วยลดต้นทุนการสกัด[70] แต่เพราะว่า กฎที่เปลี่ยนไปขององค์กรตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (U.S. Securities and Exchange Commission)[71] บริษัทน้ำมันในปัจจุบันสามารถลงบัญชีทรัพยากรเหล่านั้นว่า เป็นแหล่งน้ำมันสำรองที่พิสูจน์ได้ หลังจากที่สร้างเหมืองผิวดิน หรือโรงทำความร้อน ที่ใช้เพื่อขุดเจาะ แหล่งพลังงานเหล่านี้นอกจากต้องใช้แรงงาน พลังงาน และทรัพยากรมากในการผลิต ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตสูงขึ้นแล้ว ยังปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่ออัตราการผลิตมากถึง 3 เท่า "จากบ่อไปถึงถังน้ำมันรถ" หรือ 10–45% มากกว่า "จากบ่อจนถึงรถวิ่ง" ซึ่งรวมคาร์บอนที่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงนั้นด้วย[72][73]

แม้ว่าจะใช้พลังงานและทรัพยากรมาก และมีผลต่อสิ่งแวดล้อมสูง แต่ก็มีแหล่งน้ำมันไม่สามัญ ที่กำลังรับการพิจารณาเพื่อขุดเจาะเพื่อการผลิตใหญ่ รวมทั้ง น้ำมันที่ข้นเป็นพิเศษในประเทศเวเนซุเอลา[74] น้ำมันทรายในประเทศแคนาดา[75] และหินน้ำมันของแม่น้ำกรีนในรัฐโคโลราโด ยูทาห์ ไวโอมิง ในสหรัฐอเมริกา[76][77] บริษัทพลังงานเช่น Syncrude และ Suncor ได้สกัดน้ำมันจากยางมะตอยมาเป็นทศวรรษ ๆ แล้ว แต่ว่า การผลิตเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่มีพัฒนาการของเทคโนโลยี Steam Assisted Gravity Drainage (ที่ใช้ไอน้ำฉีดละลายน้ำมันในบ่อหนึ่ง ให้ไหลลงไปในอีกบ่อหนึ่ง) และเทคโนโลยีการขุดเจาะอื่น ๆ เพิ่มขึ้น[78][79] นักธรณีวิทยาของ USGS คนหนึ่งได้ประเมินว่า "รวม ๆ กันแล้ว ทรัพยากรเหล่านี้ในซีกโลกตะวันตก (โลกด้านตะวันออกของเส้นแอนติเมริเดียน จนถึงเส้นเมริเดียนแรก) ประมาณเท่ากับน้ำมันดิบสำรอง ที่ได้ค้นพบแล้วของตะวันออกกลาง"[80] เจ้าหน้าที่ที่คุ้นเคยกับทรัพยากรเหล่านี้เชื่อว่า น้ำมันจากแหล่งไม่สามัญของโลก มีปริมาณหลายเท่าของแหล่งสามัญ และจะเป็นทรัพยากรที่ให้ผลกำไรมหาศาลกับบริษัทน้ำมัน สืบเนื่องจากราคาที่สูงขึ้นในศตวรรษนี้[81] ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2009 USGS ได้แก้ไขค่าประเมินเฉลี่ย ของน้ำมันที่สามารถสกัดได้จากทรายน้ำมันจากประเทศเวเนซุเอลา ไปเป็น 513,000 ล้านบาร์เรล โดยมีโอกาส 90% ที่จะอยู่ในระหว่าง 380,000–652,000 ล้านบาร์เรล จึงเรียกเขตนี้ได้ว่า "เป็นกองสั่งสมน้ำมันที่สามารถนำออกมาใช้ได้ ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก"[82]

แหล่งน้ำมันนอกสามัญ มีปริมาณ 70% ของแหล่งน้ำมันที่มีทั้งหมด[83]

แม้ว่าจะมีน้ำมันมหาศาลอยู่ในแหล่งที่ไม่สามัญ แมตทิว ซิมมอนส์ อ้างว่า ข้อจำกัดต่าง ๆ ในการผลิต จะทำให้ไม่สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดิบจากแหล่งสามัญ คือกล่าวโดยเฉพาะไว้ว่า "โปรเจ็กต์เหล่านี้ล้วนแต่ใช้พลังงานมาก ที่ไม่สามารถจะผลิตในปริมาณสูงได้" เพื่อจะทดแทนการสูญเสียอย่างสำคัญจากแหล่งอื่น ๆ[84] ส่วนงานศึกษาอีกงานหนึ่งอ้างว่า แม้แต่ในข้อสมมุติที่มองในแง่ดีสุด ๆ "ทรายน้ำมันของแคนาดา จะไม่สามารถป้องกันจุดผลิตน้ำมันสูงสุดได้" แม้ว่า การผลิตอาจจะถึงระดับ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปี ค.ศ. 2030 ถ้าเริ่มโปรแกรมพัฒนาอย่างเร่งด่วน[85]

นอกจากนั้นแล้ว น้ำมันที่สกัดจากทรัพยากรเหล่านี้ มักจะมีสิ่งเจือปน เช่น กำมะถัน และโลหะหนัก ที่ต้องใช้พลังงานมากที่จะเอาออก และอาจจะเหลือเป็นบ่อหางแร่ (tailings) คือเป็นกากตะกอนไฮโดรคาร์บอนในบางกรณี[72][86] ซึ่งก็เป็นจริงเช่นกันด้วย สำหรับแหล่งน้ำมันสำรองที่ยังไม่ได้ขุดเจาะแหล่งต่าง ๆ ที่มีน้ำมันที่หนัก ข้น และเจือปนไปด้วยกำมะถันและโลหะ จนกระทั่งว่าใช้ไม่ได้[87] แต่ว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ทำให้แหล่งเหล่านี้ดูน่าสนใจเพิ่มขึ้น[54] งานศึกษาโดยบริษัทปรึกษาน้ำมัน Wood Mackenzie บอกเป็นนัยว่า ภายใน 15 ปี น้ำมันส่วนเพิ่มทั้งหมดในโลก จะมาจากแหล่งไม่สามัญ[88]

แหล่งสังเคราะห์

[แก้]

ในปัจจุบัน มีบริษัทสองบริษัทคือ SASOL และบริษัทเชล์ล ที่มีเทคโนโลยีน้ำมันสังเคราะห์ ที่สามารถผลิตเพียงพอเพื่อการค้าได้ ธุรกิจหลักของ SASOL ก็คือการเปลี่ยนถ่านหินและแก๊สธรรมชาติเป็นน้ำมัน ซึ่งมีรายได้ 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2009 ส่วนบริษัทเชล์ลได้ใช้กระบวนการเหล่านี้ เพื่อแปรรูปแก๊สที่ใช้ไม่ได้ (ปกติจะเผาทิ้งที่บ่อหรือที่โรงกลั่นน้ำมัน) ให้กลายเป็นน้ำมันสังเคราะห์ บทความปี ค.ศ. 2003 ในนิตยสาร Discover อ้างว่า เทคนิค thermal depolymerization สามารถใช้ผลิตน้ำมันได้โดยไม่จำกัด จากขยะ น้ำเสีย และของเสียทางเกษตรกรรม โดยมีค่าใช้จ่ายที่ 15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล[89] แต่ว่า บทความในปี ค.ศ. 2006 ต่อมา ได้ปรับค่าใช้จ่ายไปที่ $80 ต่อบาร์เรล เพราะว่า วัตถุดิบที่ในตอนแรกคิดว่า เป็นของเสียอันตราย กลับเป็นของมีมูลค่า[90]

ส่วนข่าวที่รายงานในปี ค.ศ. 2007 ของ Los Alamos National Laboratory (แล็บประจำชาติของสหรัฐอเมริกา) เสนอว่า ไฮโดรเจน (ซึ่งอาจจะผลิตได้โดยใช้ความร้อนจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน) ร่วมกับคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่แยกออกและเก็บไว้โดยระบบต่าง ๆ) สามารถใช้ผลิตเมทานอล (CH3OH) แล้วแปรรูปเป็นน้ำมัน แต่เพื่อที่จะคุ้มทุน ราคาน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันในสหรัฐอเมริกา จะต้องมีราคา $4.60 ต่อแกลลอนก่อน (ราคาเฉลี่ยที่ $2.66 ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2558[91]) แต่ว่า การลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้นไม่แน่นอน โดยมากเพราะว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อแยกและเก็บคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ยังไม่แน่นอน[92] ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การแยกเก็บคาร์บอนและการแยกน้ำ ทั้งสองล้วนแต่ต้องใช้พลังงาน

การผลิต

[แก้]
ปริมาณผลิตน้ำมันดิบของประเทศกลุ่มโอเปก (พันบาร์เรลต่อวัน) จาก Middle East Economic Survey

จุดที่การผลิตน้ำมันในโลกสูงสุด เป็นนิยามของคำว่า จุดผลิตน้ำมันสูงสุด ผู้ที่เชื่อเรื่องจุดผลิตน้ำมันสูงสุดเชื่อว่า สมรรถภาพในการผลิตจะเป็นจุดจำกัดของอุปทาน และดังนั้นเมื่อการผลิตลดลง ก็จะเป็นจุดติดขัดแก่อุปสงค์และอุปทาน แต่ว่า คำพยากรณ์ที่แสดงว่าจุดนี้ใกล้จะเกิดขึ้น ก็ยังไม่เคยถูกต้อง และก็ยังไม่รู้ว่า การผลิตน้ำมันที่จะลดลงในอนาคต จะมีสาเหตุจากอุปสงค์หรืออุปทาน

ปริมาณน้ำมันที่ค้นพบน้ำมันใหม่ ๆ ทั่วโลก มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่ผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980[7] ตามแหล่งอ้างอิงต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 2006-2007 การผลิตทั่วโลกอยู่ใกล้จุดสูงสุดหรือผ่านมาแล้ว[6][7][8][10] เพราะว่าประชากรของโลกเติบโตเร็วกว่าการผลิตน้ำมัน ดังนั้น ปริมาณผลิตน้ำมันต่อประชากรจึงได้ถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 1979[34]

การลงทุนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแหล่งน้ำมันที่เข้าถึงได้ยาก เป็นตัวชี้ว่า บริษัทน้ำมันเชื่อว่า น้ำมันที่เข้าถึงได้ง่าย ๆ ได้หมดลงแล้ว[45] ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าจะเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นการผลิตน้ำมัน แต่ว่า บุคคลในวงในเดี๋ยวนี้เชื่อว่า แม้ว่าจะมีราคาที่สูงขึ้น การผลิตน้ำมันก็ยังมีโอกาสน้อย ที่จะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างสำคัญ มากกว่าในระดับที่ปี ค.ศ. 2010 (ที่ 85.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน[16]) เหตุผลต่าง ๆ ที่อ้างก็คือ มีข้อจำกัดทางธรณีวิทยา และปัจจัยจำกัดเหนือดินอื่น ๆ เช่น ความสามารถและความมุ่งมั่น ที่จะขุดเจาะเอาน้ำมัน และนี่จะทำให้เกิดผลเป็นความคงที่ในระดับการผลิตน้ำมัน เป็นชั่วระยะหนึ่งก่อนที่จะลดระดับลง[93]

ในปี ค.ศ. 2008 การวิเคราะห์ของวารสาร Journal of Energy Security (วารสารความมั่นคงทางพลังงาน) เกี่ยวกับพลังงานที่เป็นผลคืนมา ในการขุดเจาะหาน้ำมันในสหรัฐอเมริกา สรุปว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะเพิ่มกำลังการผลิตทั้งแก๊สธรรมชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน คือเมื่อดูผลการผลิตที่ได้ เทียบกับความพยายามในการขุดเจาะ งานวิเคราะห์พบว่า ไม่มีการเพิ่มผลผลิตที่เป็นผลจากการเพิ่มความพยายาม นี่เป็นเพราะความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างผลได้ที่ลดระดับลงเรื่อย ๆ (diminishing return) เทียบกับการเพิ่มความพยายาม คือ เมื่อความพยายามเพิ่มขึ้น พลังงานที่ได้จากแท่นขุดเจาะน้ำมันแต่ละแท่น จะลดลงตามกฎยกกำลัง ซึ่งลดลงรวดเร็วมาก งานศึกษาสรุปว่า แม้การเพิ่มความพยายามในการขุดเจาะอย่างยิ่งยวด ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะเพิ่มผลผลิตของน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ในเขตผลิตน้ำมันที่เจริญเต็มที่แล้ว เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา[94] แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่งานวิเคราะห์นี้ได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2008 การผลิตน้ำมันในสหรัฐได้เพิ่มขึ้น 30% และการผลิตแก๊สธรรมชาติเพิ่มขึ้น 19% เทียบกับปี ค.ศ. 2012[95]

แนวโน้มการผลิตทั่วโลก

[แก้]
การผลิตน้ำมันดิบจากบ่อ ไม่รวมที่ได้จากแหล่งไม่สามัญ ระหว่างปี ค.ศ. 1930–2012

ตามรายงานในปี ค.ศ. 2007 ของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) น้ำมันที่มีขายทั้งหมดในโลก (ไม่รวมเชื้อเพลิงชีวภาพ น้ำมันจากแหล่งไม่สามัญ และการใช้น้ำมันจากที่เก็บน้ำมันสำรอง) เฉลี่ยแล้วมีประมาณ 85.24 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี ค.ศ. 2006 ซึ่งเพิ่มขึ้น 760,000 บาร์เรลต่อวัน (0.9%) จากปี ค.ศ. 2005[96] ส่วนการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีต่อปีระหว่างปี ค.ศ. 1987–2005 ก็คือ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (1.7%)[96] ในปี ค.ศ. 2008 IEA เพิ่มการลดระดับการผลิตน้ำมันจากแหล่งสามัญ หลังจากถึงจุดสูงสุดแล้ว จากปีละ 3.7% ไปเป็น 6.7% เพราะมีการใช้วิธีการลงบัญชีที่ดีกว่า และเพราะการใช้ข้อมูลที่ได้จากงานศึกษาแหล่งน้ำมันแต่ละแหล่ง ๆ ทั่วโลก ที่เดิมเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น[97]

การลดระดับการผลิต
[แก้]
การผลิตน้ำมันในรัฐเท็กซัสได้ลดลง 58% โดยปี ค.ศ. 2012 จากจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 1972

ในแหล่งผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก 21 แห่ง 9 แห่งได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และการผลิตอยู่ในช่วงที่กำลังตกลง[98] ในปี ค.ศ. 2006 รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของบริษัทน้ำมัน Saudi Aramco (ของซาอุดีอาระเบีย) ท่านหนึ่งประเมินว่า แหล่งน้ำมันของบริษัททั้งหมดกำลังลดลงที่อัตรา 5%-12% ต่อปี[99] คำกล่าวนี้ได้ใช้เป็นข้ออ้างว่า แหล่งน้ำมัน Ghawar ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปริมาณถึง 50% ของประเทศซาอุดีอาระเบียใน 50 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มลดการผลิตลงอีกไม่นาน[54] ส่วนแหล่งน้ำมันใหญ่ที่สุดที่สองของโลกคือ Burgan Field ในประเทศคูเวต เริ่มลดการผลิตลงเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 แล้ว[100]

ตามงานศึกษาแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุด 811 แห่งในปี ค.ศ. 2008 ของบริษัทให้คำปรึกษา Cambridge Energy Research Associates (CERA) อัตราการลดการผลิตโดยเฉลี่ยของแหล่งน้ำมันอยู่ที่ 4.5% ต่อปี แต่ IEA กล่าวในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008 ว่า งานวิเคราะห์แหล่งน้ำมัน 800 แห่งที่ผ่านจุดสูงสุดในการผลิตมาแล้ว มีอัตราลดการผลิตที่ 6.7% ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8.6% ต่อปีในปี ค.ศ. 2030[101] แต่ก็ยังมีโปรเจ็กต์ที่คาดว่า จะเริ่มการผลิตภายในทศวรรษหน้าที่หวังว่า จะช่วยทดแทนการลดการผลิตที่กล่าวมานี้ เช่น รายงานของ CERA พยากรณ์การผลิตน้ำมันในปี ค.ศ. 2017 ที่ปริมาณกว่า 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน[102]

เจ้าหน้าที่ของ ASPO คือ Kjell Aleklett เห็นด้วยกับอัตราลดการผลิตที่รายงานโดย CERA แต่คิดว่า อัตราการผลิตน้ำมันจากแหล่งใหม่ ๆ ของ CERA คือ 100% ของโปรเจ็กต์ใหม่ทั้งหมดที่กำลังดำเนินการ โดยมี 30% มีความล่าช้า บวกกับมีแหล่งใหม่ ๆ แต่ขนาดเล็ก และการขยายแหล่งที่มีอยู่ ว่า มองในแง่ดีมากเกินไป[103]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2006 ประเทศเม็กซิโกประกาศว่า ปริมาณที่ผลิตจากแหล่งน้ำมันยักษ์ Cantarell Field เริ่มจะลดลง[104] ในปี ค.ศ. 2000 บริษัทน้ำมันของเม็กซิโก PEMEX ได้สร้างโรงงานผลิตไนโตรเจนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อใช้ฉีดเข้าไปในแหล่งน้ำมัน เป็นความพยายามที่จะรักษาระดับการผลิตไว้[105] แต่ว่าโดยปี ค.ศ. 2006 ผลผลิตก็เริ่มลดลงที่อัตราร้อยละ 13 ต่อปี[106]

การผลิตน้ำมันดิบในรัฐอะแลสกาได้ลดลงถึง 70% ตั้งแต่ถึงจุดยอดในปี ค.ศ. 1988

ในปี ค.ศ. 2000 ประเทศกลุ่มโอเปกได้ปฏิญาณที่จะรักษาระดับการผลิต เพื่อจะรักษาราคาน้ำมันให้อยู่ระหว่าง $22-28 ต่อบาร์เรล แต่ว่านี่ปรากฏว่าเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในรายงานประจำปี ค.ศ. 2007 โอเปกพยากรณ์ว่า องค์กรจะสามารถรักษาระดับการผลิต เพื่อสร้างความเสถียรให้ราคาน้ำมันระหว่าง $50-60 ต่อบาร์เรล จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2030[107] วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 เมื่อน้ำมันมีราคาสูงกว่า $98 ต่อบาร์เรล สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด แห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย ผู้ได้ทรงสนับสนุนให้รักษาความเสถียรของราคาน้ำมันมาเนิ่นนานแล้ว ได้ทรงประกาศว่า ซาอุดีอาระเบียจะไม่เพิ่มระดับการผลิตอีกเพื่อรักษาราคาน้ำมัน[108] แม้ซาอุดีอาระเบียจะเป็นประเทศผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาความเสถียรของราคาน้ำมันโดยการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงปรากฏว่า ไม่มีประเทศไหนหรือองค์กรใด ที่มีสมรรถภาพการผลิตที่ยังไม่ได้ใช้ ซึ่งสามารถลดราคาน้ำมัน ซึ่งอาจจะหมายความ บรรดาผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดที่ระดับการผลิตยังไม่ได้ผ่านจุดยอด กำลังผลิตเต็มพิกัด หรือใกล้จะเต็มพิกัดอยู่แล้ว[54]

มีผู้ที่ชี้ว่า บ่อน้ำมันน้ำลึก Jack 2 ซึ่งเป็นบ่อทดสอบในอ่าวเม็กซิโก (ประกาศโดยบริษัทในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2006)[109] เป็นหลักฐานว่า จุดผลิตน้ำมันสูงสุดของโลก ยังไม่ใช่เรื่องที่จวนตัว ตามการประเมินแหล่งหนึ่ง แหล่งนี้สามารถให้น้ำมันเป็นส่วนผลิต 11% ของสหรัฐอเมริกาภายใน 7 ปี[110] แต่ว่า แม้จะมีการค้นพบใหม่ ๆ ตามที่คาดหวัง หลังจากที่การผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุดแล้ว[111] แหล่งใหม่ ๆ เหล่านี้ จะยากขึ้นที่ค้นพบและขุดเจาะ ยกตัวอย่างเช่น แหล่งน้ำมัน Jack 2 อยู่ใต้พื้นทะเล 6.1 กม. ซึ่งอยู่ใต้ผิวทะเลอีก 2.1 กม. ดังในจึงต้องใช้ท่อส่งยาว 8.5 กม. นอกจากนั้นแล้ว ระดับน้ำมันประเมินแบบสูงสุดที่ 15,000 ล้านบาร์เรล ก็ใช้ได้แค่ไม่ถึงสองปี ในอัตราการบริโภคของสหรัฐในปัจจุบัน[112] การผลิตเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2014 และคาดว่าจะเพิ่มระดับขึ้นเป็น 94,000 บาร์เรลต่อวันสำหรับน้ำมันดิบ และ 595 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับแก๊สธรรมชาติ[113]

การควบคุมการผลิต

[แก้]

องค์กรต่าง ๆ เช่นรัฐบาลหรือกลุ่มธุรกิจผูกขาด สามารถลดระดับอุปทานของน้ำมันในตลาดโลก โดยการยึดเป็นของชาติ การลดระดับการผลิต การจำกัดสัมปทาน การเพิ่มภาษี เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว การคว่ำบาตรของสหประชาชาติ คอร์รัปชั่น และสงคราม อาจจะลดระดับน้ำมันได้อีกด้วย

การยึดเป็นของชาติ

[แก้]

ปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อระดับอุปทานของน้ำมันก็คือ การยึดเป็นของชาติโดยประเทศที่ผลิตน้ำมัน แล้วไม่ส่งออก บรรณาธิการของบริษัทสารสนเทศพลังงานท่านหนึ่งได้ชี้ว่า ค่าประเมินน้ำมันจริง ๆ ก็หลากหลายอยู่แล้ว แต่ว่าในปัจจุบัน การเมืองได้กลายมาเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับอุปทานของน้ำมัน คือ "ประเทศบางประเทศ เริ่มกลายเป็นแหล่งน้ำมันที่ไม่อยู่ในวิสัย (เช่น) บริษัทน้ำมันที่ดำเนินการอยู่ในประเทศเวเนซุเอลา เริ่มมีสถานการณ์ที่ลำบากขึ้น เพราะเริ่มมีการยึดทรัพยากรนั้นเป็นของชาติ ประเทศเหล่านี้ปัจจุบันไม่เต็มใจ ที่จะให้คนอื่นใช้น้ำมันของตน"[114]

ตามบริษัทให้คำปรึกษา PFC Energy มีแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในโลกประมาณ 7% เท่านั้น ที่อยู่ในประเทศที่ให้โอกาสกับบริษัทน้ำมัน เช่นเอ็กซอนโมบิล อย่างเต็มที่ ส่วนอีก 65% อยู่ในกำมือของบริษัทที่มีรัฐเป็นเจ้าของเช่น Saudi Aramco และส่วนที่เหลืออยู่ในประเทศ เช่น รัสเซียและเวเนซุเอลา ที่บริษัทยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือเข้าถึงได้ยาก งานศึกษาของ PFC แสดงว่า ปัจจัยทางการเมืองเป็นตัวจำกัดการเพิ่มผลผลิตในประเทศเม็กซิโก เวเนซุเอลา อิหร่าน อิรัก คูเวต และรัสเซีย นอกจากนั้นแล้ว ซาอุดีอาระเบียยังจำกัดการเพิ่มผลผลิต ที่ทำเอง ไม่เหมือนกับประเทศอื่น ๆ[115] เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงประเทศที่ให้ขุดเจาะน้ำมัน บริษัทเอ็กซอนโมบิล จึงไม่ลงทุนหาน้ำมันเท่ากับที่ทำในช่วงปี ค.ศ. 1981[116]

กลุ่มธุรกิจผูกขาด

[แก้]

กลุ่มประเทศโอเปก เป็นการร่วมมือกันของประเทศผลิตน้ำมัน 12 ประเทศ รวมทั้งประเทศแอลจีเรีย แองโกลา เอกวาดอร์ อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวเนซุเอลา มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมอุปทานของน้ำมัน อิทธิพลของโอเปกได้เพิ่มมากขึ้นเมื่อประเทศต่าง ๆ ยึดน้ำมันเป็นทรัพยากรของชาติ ลดทอนอิทธิพลของบริษัทน้ำมัน 7 บริษัทที่เคยควบคุมอุปทานของน้ำมันมากถึง 85% ของโลก แล้วตั้งบริษัทประจำชาติของตนเอง โอเปกพยายามกดดันราคา โดยจำกัดการผลิต โดยกำหนดโควตาการผลิต ให้แก่ประเทศสมาชิก ดังนั้น สมาชิกทั้ง 12 ประเทศได้ตกลงที่จะรักษาราคาน้ำมันให้สูง โดยผลิตน้อยกว่าที่ปกติจะผลิต แต่ว่า เพราะไม่มีวิธีตรวจสอบว่า สมาชิกผลิตตามโควตาหรือไม่ ดังนั้น แต่ละประเทศล้วนแต่มีแรงจูงใจ ที่จะโกงโควตาของตน[117]

สหรัฐขายอาวุธและช่วยปกป้องระบอบการปกครองของประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็เพื่อรักษาการส่งต่อน้ำมัน และเพื่อให้ได้นโยบายที่เป็นใจจากโอเปก นักสังคมศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ต่อต้านสงครามอิรักท่านหนึ่งได้กล่าวว่า จุดประสงค์ของสงครามอิรักครั้งที่สองก็คือ เพื่อทำลายอำนาจของประเทศกลุ่มโอเปก และเพื่อเปลี่ยนการควบคุมน้ำมันไปให้แก่บริษัทชาวตะวันตก[118]

ส่วนนักเขียนผู้เป็นคนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ผู้หนึ่งกล่าวว่า โอเปกได้ฝึกลูกค้าให้เชื่อว่า น้ำมันมีจำกัดกว่าความเป็นจริง แล้วยกการเตือนภัยที่ไม่จริง และการร่วมหัวกันในอดีต เป็นหลักฐาน[64] และเขาก็เชื่อด้วยว่า นักวิเคราะห์เรื่องจุดผลิตน้ำมันสูงสุด ร่วมหัวกับโอเปกและบริษัทน้ำมัน เพื่อสร้าง "เรื่องกุที่ตื่นเต้นเกี่ยวกับจุดผลิตน้ำมัน" เพื่อโก่งราคาน้ำมันและผลกำไร แต่ว่า ต่อจากนั้น ผู้ก่อตั้งองค์กร ASPO ก็โต้แย้งคำเหล่านั้น หลังจากการอภิปรายผ่านโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล[119]

ช่วงเวลา

[แก้]
เวลาประเมินจุดผลิตน้ำมันของโลกสูงสุด จากแหล่งข้อมูล 36 แห่ง (US EIA)
การผลิตน้ำมัน ทั้งจากแหล่งสามัญและไม่สามัญ จนถึงปี ค.ศ. 2013 เทียบกับแบบจำลองหลายแบบ ดังที่เสนอโดยนักวิเคราะห์จุดสูงสุดทั้งหลาย

มีมติที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทั้งกับผู้นำการผลิตน้ำมันและนักวิเคราะห์ว่า การผลิตจะถึงจุดสูงสุดในระหว่างปี ค.ศ. 2010–2030 โดยมีโอกาสสูงที่จะถึงก่อนปี ค.ศ. 2020 ส่วนการถึงหลังปี ค.ศ. 2030 เชื่อกันว่า เป็นไปไม่ได้[120][121][122] แต่จะกำหนดให้ละเอียดยิ่งกว่านี้เป็นเรื่องยาก เพราะไม่รู้ขนาดแหล่งน้ำมันสำรองที่แน่นอน[123] ส่วนน้ำมันที่มาจากแหล่งไม่สามัญไม่เชื่อกันว่า จะสามารถทดแทนน้ำมันที่หมดไปได้ แม้แต่ในมุมมองที่ดีที่สุด[120] เพื่อจะทดแทนน้ำมันได้โดย "ไม่มีผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก" การผลิตต้องเสถียรหลังกจากถึงจุดสูงสุดแล้ว จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2035 เป็นอย่างน้อย[124]

ในนัยตรงกันข้าม EIA พยากรณ์ในปี ค.ศ. 2014 ว่า การผลิต "เชื้อเพลิงเหลวทั้งหมด" ของโลก ซึ่งรวมทั้งน้ำมันเหลว เชื้อเพลิงชีวภาพ เชื้อเพลิงเหลวจากแก๊สธรรมชาติ และน้ำมันสกัดจากทรายน้ำมัน จะมีอัตราการผลิตสูงขึ้นปีละ 1% จนถึงปี ค.ศ. 2040 โดยไม่ถึงจุดยอด โดยประเทศกลุ่มโอเปกจะเพิ่มอัตราการผลิตได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ[125]

เพราะว่างาน meta-study แสดงพิสัยที่ค่อนข้างจะต่างกัน งานศึกษาพิมพ์หลังปี ค.ศ. 2010 ค่อนข้างจะมองในแง่ร้าย เช่น งานศึกษาปี ค.ศ. 2010 ที่มหาวิทยาลัยคูเวตพยากรณ์ว่า จุดผลิตน้ำมันสูงสุดจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2014[126] ส่วนงานศึกษาในปี ค.ศ. 2010 ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดพยากรณ์ว่า จุดสูงสุดจะเกิดขึ้นก่อนปี ค.ศ. 2015[11] ส่วนงานปี ค.ศ. 2014 ที่ทดสอบข้อมูลกับแบบจำลองที่สำคัญเสนอในปี ค.ศ. 2004 พิมพ์ในวารสาร Energy (พลังงาน) เสนอว่า ตามนิยามแบบต่าง ๆ จุดผลิตน้ำมันสูงสุดได้เกิดขึ้นแล้ว ในระหว่างปี ค.ศ. 2005–2011 และแบบจำลองที่แสดงการผลิตที่สูงขึ้น อาจจะรวมการผลิตทั้งจากแหล่งสามัญและแหล่งไม่สามัญ[127] แบบจำลองต่าง ๆ ที่เสนอในวิทยานิพนธ์ในปี ค.ศ. 2014 พยากรณ์ว่า จุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2012 จะติดตามมาด้วยราคาน้ำมันที่ลดลง ที่ในบางสถานการณ์ อาจจะกลายเป็นการเพิ่มราคาอย่างรวดเร็วในภายหลัง[128]

บริษัทน้ำมันหลัก ๆ ได้ถึงจุดสูงสุดในการผลิตเมื่อปี ค.ศ. 2005[129][130] หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่องค์กร IEA ยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า "การผลิตน้ำมันดิบของโลกได้ถึงจุดสูงสุดแล้วในปี ค.ศ. 2006"[131]

เมื่อปี ค.ศ. 1962 ฮับเบิร์ตได้พยากรณ์ว่า จุดผลิตน้ำมันสูงสุดจะเกิดขึ้นที่อัตรา 12,500 ล้านบาร์เรลต่อปี ราว ๆ ปี ค.ศ. 2000[132] ต่อมาในปี ค.ศ. 1974 ฮับเบิร์ตได้พยากรณ์ว่า จุดสูงสุดจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1995 "ถ้าแนวโน้มในปัจจุบันจะดำเนินต่อไป"[133]

แต่ว่าในปี ค.ศ. 2012 โอเปกก็ยังยืนยันว่า การผลิตน้ำมันดิบของโลก และแหล่งน้ำมันสำรองที่เหลือ ยังอยู่ในระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์[134]

ส่วนอดีตประธานธนาคารการลงทุนในธุรกิจพลังงาน แมตทิว ซิมมอนส์ กล่าวว่า "จุดผลิตน้ำมันสูงสุดเป็นเหตุการณ์คลุมเครืออย่างหนึ่ง ที่จะเห็นได้อย่างแจ่มชัดก็ต่อเมื่อมองผ่านกระจกหลัง ซึ่งกว่าจะเห็น การแก้ปัญหาโดยทางเลือกโดยทั่วไป ก็จะสายไปเสียแล้ว"[135]

ผลที่อาจจะเกิดขึ้น

[แก้]

เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ของการเจริญขึ้นทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์สามารถบริโภคใช้พลังงานในระดับที่สูงกว่าที่จะทดแทนได้ บางคนเชื่อว่า เมื่อการผลิตน้ำมันลดลง วัฒนธรรมและสังคมเทคโนโลยีของมนุษย์ จะต้องเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ โดยมีผลมากน้อยขึ้นอยู่กับอัตราการลดระดับการผลิต และการพัฒนาและประยุกต์ใช้พลังงานทางเลือก ถ้าไม่มีทางเลือก ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากน้ำมันรวมทั้งปุ๋ย ผงซักฟอก ตัวทำละลาย กาว และพลาสติกโดยมาก จะหายากและแพง

ในปี ค.ศ. 2005 กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาได้พิมพ์รายงานชื่อ Peaking of World Oil Production: Impacts, Mitigation, & Risk Management (จุดผลิตน้ำมันสูงสุด - การบริหารผล การบรรเทา และความเสี่ยง)[136] หรือรู้จักกันว่า "Hirsch report (รายงานเฮิรส์ช)" ซึ่งรายงานว่า "จุดผลิตน้ำมันสูงสุดของโลก จะทำให้สหรัฐอเมริกาและโลก ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาบริหารความเสี่ยง ในระดับความรุนแรงที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อจุดสูงสุดใกล้เข้ามา ทั้งราคาและความผันผวนของราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และถ้าไม่บรรเทาความเสียหายอย่างทันท่วงเวลา จะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางการเมือง ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน มาตรการบรรเทาความเสียหายที่เป็นไปได้ มีทั้งในส่วนอุปสงค์และอุปทาน แต่ถ้าจะมีผลที่เป็นรูปธรรม จะต้องเริ่มดำเนินการก่อนหนึ่งทศวรรษ ที่จุดสูงสุดจะเกิดขึ้น" หลังจากรายงานนั้น ก็มีข้อมูลที่ปรับปรุงแก้ไขในปี ค.ศ. 2007[137]

ราคาน้ำมัน

[แก้]

ประวัติ

[แก้]
ราคาเฉลี่ยของน้ำมัน WTI ระหว่างปี ค.ศ. 1995–2011
ราคาน้ำมันระยะยาว จากปี ค.ศ. 1861-2008 เส้นบนปรับตามเงินเฟ้อ

ราคาน้ำมันตามประวัติค่อนข้างจะต่ำ จนกระทั่งถึงวิกฤตการณ์น้ำมันในปี พ.ศ. 2516 และวิกฤตการณ์พลังงานในปี พ.ศ. 2522 ที่ราคาเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10 เท่าในช่วงเวลา 6 ปี และแม้ว่าต่อจากเหตุการณ์เหล่านั้น ราคาจะตกลงอย่างสำคัญ แต่ก็ไม่ได้กลับไปที่ราคาเดิมอีก ต่อมาเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ราคาก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดที่ 143 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (โดยปรับตามเงินเฟ้อที่ปี ค.ศ. 2007) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551[138] เนื่องจากราคาน้ำมันที่จุดสูงสุด สูงกว่าในช่วงวิกฤตการณ์ จึงเกิดความวิตกว่า จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เหมือนกับที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์ก่อน ๆ[139] ความกลัวเช่นนี้ไม่ได้ไร้เหตุผล เพราะว่า ราคาน้ำมันที่สูงก็เริ่มจะมีผลต่อเศรษฐกิจ เช่น ที่เห็นได้จากอัตราการใช้น้ำมันที่ลดลง 6% ในปี พ.ศ. 2551 ในประเทศสหรัฐอเมริกา[140]

พิจารณากันว่า เหตุผลหลักของราคาที่สูงขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2005–2008 เป็นเพราะมีความต้องการน้ำมันในระดับสูง[141] ยกตัวอย่างเช่น การบริโภคใช้น้ำมันเพิ่มจาก 30,000 ล้านบาร์เรลในปี ค.ศ. 2004 ไปเป็น 31,000 ล้านบาร์เรลในปี ค.ศ. 2005 การบริโภคมากกว่าน้ำมันใหม่ที่ค้นพบในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งลดลงเป็น 8,000 ล้านบาร์เรล[142]

ราคาที่เพิ่มขึ้นของน้ำมันส่วนหนึ่ง มีเหตุจากการมีรายงานว่า การผลิตอยู่ที่จุดสูงสุด[6][7][8] หรือใกล้จุดสูงสุด[10][143][144]

ในเดือนมิถุนายน 2005 โอเปกกล่าวว่า สมาชิกจะ "ดิ้นรน" ที่จะขุดเจาะน้ำมันเพื่อแก้ปัญหาน้ำมันแพงที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลก ในไตรมาสที่สี่[145] จากปี ค.ศ. 2007-2008 ราคาที่ตกลงของดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินสำคัญอื่น ๆ เช่นมีมูลค่าตกลง 14% เทียบกับยูโร ก็พิจารณาด้วยว่าเป็นเหตุผลที่สำคัญต่อราคาน้ำมันที่สูงขึ้น[146]

นอกจากเหตุผลทางอุปสงค์และอุปทานแล้ว ปัจจัยทางความมั่นคงอาจมีผลทำให้ราคาสูงขึ้น[144] เช่นสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การยิงขีปนาวุธของประเทศเกาหลีเหนือ[147] สงครามเลบานอน พ.ศ. 2549[148] การต่อสู้ท้าทายทางการเมือง ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา กับอิหร่าน[149] และรายงานจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ที่แสดงระดับน้ำมันสำรองที่ลดลง[150]

แต่ว่า ในปี ค.ศ. 2013–2014 ราคาน้ำมันเสถียรอยู่ที่ระหว่าง $100–$110 ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะตกลงไปถึงน้อยกว่า $70

ผลของราคาที่สูงขึ้น

[แก้]
การบริโภคใช้พลังงานของโลก โดยประเภทพลังงาน[151]

ในอดีต ราคาน้ำมันได้ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น ที่เกิดในวิกฤตการณ์น้ำมันในปี พ.ศ. 2516 และวิกฤตการณ์พลังงานในปี พ.ศ. 2522 ในประเทศยุโรปหลายประเทศที่มีภาษีน้ำมันสูง ผลอาจจะบรรเทาได้โดยการระงับภาษี อย่างชั่วคราวหรืออย่างถาวร[152] แต่เป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้ในประเทศที่มีภาษีต่ำ เช่น สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์พื้นฐานตามความคาดหมายของงานศึกษาปี ค.ศ. 2012 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็คือ การเพิ่มผลผลิตในระดับ 0.8% แทนที่ 1.8% ซึ่งเป็นอัตราที่ได้สืบ ๆ มาตามประวัติ จะมีผลลดระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในอัตรา 0.2–0.4%[153]

นักวิจัยที่ Stanford Energy Modeling Forum (สภาแบบจำลองพลังงานสแตนฟอร์ด) พบว่า ระบบเศรษฐกิจจะสามารถปรับตัวเข้ากับ การเพิ่มราคาน้ำมันแบบขึ้นเรื่อย ๆ ได้ดีกว่าแบบที่ขึ้น ๆ ลง ๆ[154] นักเศรษฐศาสตร์บางท่านพยากรณ์ว่า ปรากฏการณ์ทดแทน (substitution effect) จะสร้างความต้องการพลังงานทดแทน เช่น ถ่านหิน หรือแก๊สธรรมชาติแปรเป็นเชื้อเพลิงเหลว แต่ว่า การทดแทนเช่นนี้ก็จะทำได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะว่า ทรัพยากรเหล่านี้ก็มีจำกัดเช่นกัน

ก่อนที่ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนขับรถเป็นจำนวนมากเลือกรถที่กินน้ำมันสูง เช่น รถยนต์เอนกประสงค์สมรรถนะสูง (SUV) หรือรถกระบะ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศอื่น ๆ แต่ว่า แนวโน้มเช่นนี้ได้ลดถอยลงเรื่อย ๆ เพราะราคาน้ำมันที่สูงและยั่งยืน ข้อมูลการขายรถในเดือนกันยายน พ.ศ. 2005 สำหรับบริษัทรถทุกบริษัท อย่างน้อยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ยอดขายรถ SUV ตกลง ในขณะที่ยอดขายรถที่เล็กกว่าสูงขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ยานพาหนะไฮบริดและเครื่องยนต์ดีเซล ก็กำลังได้รับความนิยม[155]

EIA และ CNBC รายงานว่า ค่าน้ำมันเฉลี่ยต่อปีต่อครอบครัว สำหรับการเดินทางของคนอเมริกัน เพิ่มขึ้นจาก $1,520 ในปี ค.ศ. 2004 เป็น $4,155 ในปี ค.ศ. 2004[156][157]

ส่วนรายงานปี ค.ศ. 2008 โดยบริษัท CERA กล่าวว่า ปี ค.ศ. 2007 เป็นปีที่มีการใช้น้ำมันสูงสุดในสหรัฐ และราคาพลังงานที่สูงเป็นประวัติศาสตร์ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานที่ถาวร[158] รายงานพบว่า การใช้น้ำมันในเดือนเมษายนอยู่ในระดับที่ต่ำเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการลดการบริโภคเป็นเวลา 6 เดือนต่อ ๆ กัน และแจ้งว่า ปี ค.ศ. 2008 จะเป็นปีแรกใน 17 ปีที่การบริโภคใช้น้ำมันในสหรัฐจะลดลง นอกจากนั้น การขับรถได้ถึงระดับสูงสุดในสหรัฐในปี ค.ศ. 2006[159]

แบบจำลอง Export Land Model แสดงว่า หลังจากถึงจุดสูงสุด ประเทศส่งออกน้ำมันจะต้องลดการส่งออก อย่างรวดเร็วกว่าที่ระดับการผลิตจะลดลง เนื่องจากการเพิ่มความต้องการภายในประเทศ ดังนั้น ประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันจะรับผลกระทบก่อน และรุนแรงมากกว่าประเทศส่งออก[160] ประเทศเม็กซิโกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้แล้ว ในประเทศส่งออกที่ใหญ่ที่สุด 5 ประเทศ การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น 5.9% ในปี ค.ศ. 2006 และการส่งออกลดลง 3% ในปี ค.ศ. 2010 มีการประเมินว่า ความต้องการภายในประเทศ จะลดระดับการส่งออกทั่วโลกโดย 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน[161]

นักเศรษฐศาสตร์ชาวแคนาดาท่านหนึ่งกล่าวว่า ราคาสูงของน้ำมันน่าจะมีผลเป็นการใช้น้ำมันที่สูงขึ้น ในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากจะผลิตสินค้าโดยตนเองเพิ่ม เพราะการผลิตจะย้ายไปอยู่ใกล้ ๆ กับผู้บริโภคมากขึ้นเพื่อจะลดค่าขนส่งสินค้า ที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ลดประโยชน์ที่ได้ในการผลิตสินค้าในประเทศที่มีค่าแรงถูก[162][163] ข้อมูลส่งออกของประเทศจีน ที่เผยแพร่เมื่อ 10 มีนาคม ค.ศ. 2012 ยืนยันการส่งออกที่ลดลงอย่างมาก ทำให้จีนขาดดุลทางการค้าอย่างไม่คาดฝัน[164]

งานวิจัยทางเศรษฐกิจโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศแสดง price elasticity of demand ที่ −0.025 (แสดงว่า อุปสงค์ของน้ำมันจะลดลง 2.5% ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 1%) ในระยะสั้น และที่ −0.093 ในระยะยาว (แสดงว่า อุปสงค์ของน้ำมันจะลดลง 9.3% ถ้าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 1%)[165]

ผลต่อเกษตรกรรมและจำนวนประชากร

[แก้]

เนื่องจากน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำเกษตรกรรม ระดับน้ำมันที่ลดลงในตลาดโลก อาจจะเพิ่มราคาอาหารอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดทุพภิกขภัยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในอนาคต[166][note 1] นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันท่านหนึ่งอ้างว่า ระดับประชากรโลกในปัจจุบันไม่สามารถยั่งยืนอยู่ได้ และเพื่อที่จะมีระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยปราศจากปัญหา สหรัฐอเมริกาต้องลดระดับประชากรอย่างน้อย 1/3 และประชากรโลกต้องลดลง 2/3[167][168]

กระบวนการเกษตรกรรมที่ใช้น้ำมันมากที่สุดก็คือ การผลิตแอมโมเนียเพื่อทำปุ๋ย ผ่านกระบวนการ Haber process ซึ่งสำคัญต่อการเกษตรมุ่งเน้น (intensive agriculture) ที่ให้ผลผลิตมาก จุดการผลิตปุ๋ยที่ใช้น้ำมันก็คือ การใช้แก๊สธรรมชาติเพื่อผลิตไฮโดรเจน ผ่านกระบวนการ steam reforming แต่ว่า ถ้ามีพลังงานทดแทนเป็นไฟฟ้าที่เพียงพอ ก็จะสามารถผลิตไฮโดรเจนได้ โดยไม่ใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ โดยผ่านกรรมวิธีเช่น การแยกสลายน้ำด้วยไฟฟ้า (electrolysis) ยกตัวอย่างเช่นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Vemork) แห่งหนึ่งของประเทศนอร์เวย์ ได้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเกิน เพื่อทำแอมโมเนียระหว่างปี ค.ศ. 1911–1971[169]

ส่วนประเทศไอซ์แลนด์ปัจจุบันผลิตแอมโมเนีย โดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพและแหล่งพลังงานน้ำ เพราะมีทรัพยากรเหล่านั้น แต่ไม่มีทรัพยากรแบบไฮโดรคาร์บอน และมีค่าใช้จ่ายสูงในการนำเข้าแก๊สธรรมชาติ[170]

ผลต่อแบบการดำเนินชีวิตในสหรัฐ

[แก้]

คนอเมริกันส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชานเมือง ซึ่งเป็นเขตอยู่อาศัยมีความหนาแน่นต่ำ และต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวทุกครัวเรือน มีคนที่กล่าวว่า เพราะว่าการขนส่งถึง 90% ในสหรัฐต้องอาศัยน้ำมัน ดังนั้นการต้องพึ่งรถยนต์ เป็นแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ยั่งยืน จุดผลิตน้ำมันสูงสุด จะทำให้คนอเมริกันไม่สามารถรับราคาน้ำมันเพื่อใช้ในรถ และจะบังคับให้ใช้จักรยานและพาหนะไฟฟ้า ทางเลือกอื่น ๆ ก็คือ การทำงานทางไกล (telecommuting) การย้ายไปอยู่ในเขตชนบท หรือการย้ายไปอยู่ในที่แออัดมากขึ้น ที่ ๆ สามารถเดินหรือใช้การขนส่งมวลชนได้ ถ้าผลออกมาเป็นกรณีสองอย่างสุดท้าย ชานเมืองอาจจะกลายเป็น "สลัมในอนาคต"[171][172] นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาทางอุปสงค์และอุปทานของน้ำมัน ก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง สำหรับเมืองที่กำลังใหญ่โตขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะเป็นจุดรับประชากรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2,300 ล้านคนโดยปี ค.ศ. 2050 การเน้นความสำคัญเรื่องพลังงาน เป็นประเด็นเร่งด่วนในการวางแผนการพัฒนาในอนาคต[173]

ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จะมีผลต่อค่าอาหารและค่าไฟฟ้า และสิ่งจำเป็นที่มีราคาสูงขึ้นเช่นนี้ จะมีผลที่สำคัญต่อครอบครัวที่มีรายได้ต่ำหรือมีรายได้ปานกลาง ในช่วงที่เศรษฐกิจจะหดตัวเพราะมีรายได้ที่จับจ่ายได้ต่ำ และอัตราการจ้างงานที่ลดลง รายงาน Hirsch Report สรุปว่า "ถ้าไม่มีมาตรการบรรเทาที่ทันท่วงเวลา ความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันโลก จะเกิดโดยมีระดับอุปสงค์ที่สูงมาก ตามมาด้วยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งสองจะทำให้เกิดความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ เป็นระยะเวลานานทั่วโลก"[174]

วิธีการบรรเทาปัญหาทั้งในเมืองและนอกเมืองที่เสนอ รวมทั้งการใช้รถยนต์ไฟฟ้า พาหนะไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ แผนการพัฒนาที่เน้นการขนส่ง เมืองไร้รถยนต์ การใช้จักรยาน การใช้รถไฟแบบใหม่ ๆ แผนการพัฒนาที่เน้นคนเดินเท้า และอื่น ๆ รายงานใหญ่ในปี ค.ศ. 2009 เกี่ยวกับผลการพัฒนาชุมชมอาศัยที่หนาแน่น โดยสภางานวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (United States National Research Council) ที่เป็นส่วนของวิทยาศาสตร์บัณฑิตยสถานสหรัฐอเมริกา (United States National Academy of Sciences) และเป็นงานมอบหมายโดยรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา แสดงประเด็น 6 อย่างด้วยกัน[175]

ประเด็นแรกคือ การพัฒนาชุมชนหนาแน่น น่าจะลดจำนวนไมล์ที่เดินทาง (VMT) ทั่วประเทศ ประเด็นที่สองคือ การเพิ่มความหนาแน่นของชุมชนเป็นทวีคูณ สามารถจะลดจำนวนไมล์ที่เดินทางได้ถึง 25% ถ้าควบกับมาตรการการทำงานในที่ที่หนาแน่นขึ้น และกับการปรับปรุงการขนส่งมวลชน ประเด็นที่สามคือ ความหนาแน่นของชุมชน ที่ไม่แบ่งเป็นเขต ๆ เช่น เขตที่อยู่และเขตพาณิชย์เป็นต้น จะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ โดยตรงเพราะมีการขับรถน้อยลง และโดยอ้อม ที่เป็นผลจากการใช้วัสดุน้อยลงเพื่อสร้างที่อยู่ การควบคุมอุณหภูมิภายในที่อยู่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า รถที่ใช้ได้นานกว่า และประสิทธิภาพที่สูงกว่าในการส่งสินค้าและการให้บริการ ประเด็นที่สี่คือ แม้ว่า การลดการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จะมีผลไม่มากในเบื้องต้น แต่จะมีผลที่สำคัญในระยะยาว ประเด็นที่ห้าคือ อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาชุมชนหนาแน่นในประเทศสหรัฐอเมริกา จะมาจากการต่อต้านของผู้ควบคุมการจัดแบ่งพื้นที่ในท้องถิ่น ซึ่งจะขัดขวางการทำงานของรัฐบาลส่วนรัฐและส่วนอื่น ๆ ไม่ให้สามารถร่วมมือวางแผนการใช้ที่ดิน และประเด็นที่หกคือ คณะกรรมการมีมติร่วมกันว่า ความเปลี่ยนแปลงในวิธีการพัฒนาชุมชน จะเปลี่ยนรูปแบบการขับรถ และประสิทธิภาพของอาคาร แต่จะมีค่าใช้จ่ายและประโยชน์อย่างอื่น ๆ ที่ยังไม่สามารถคาดได้ รายงานสรุปโดยแนะนำว่า ควรส่งเสริมนโยบายการสร้างชุมชนหนาแน่น ที่ช่วยลดการขับรถ การใช้พลังงาน และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เสนอใช้เป็นการแก้ปัญหาเรียกว่า steady state economy (เศรษฐกิจคงตัว) ที่มีระดับประชากรและการบริโภคที่เสถียร ระบบเช่นนี้จะเปลี่ยนการเก็บภาษีจากรายได้ ไปเก็บภาษีจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการปล่อยมลพิษ และจำกัดการโฆษณาที่เพิ่มการบริโภคและการเติบโตของประชากร และอาจจะรวมนโยบายที่ลดกระบวนการโลกาภิวัตน์ (globalization) ไปเป็นการทำการในท้องถิ่น (localization) เพื่อรักษาทรัพยากรพลังงาน ส่งเสริมงานในท้องถิ่น และรักษาอำนาจการตัดสินใจไว้ในพื้นที่ นโยบายการจัดเขต อาจปรับเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อกำจัดการขยายเมืองไปเรื่อย ๆ[176][177]

มาตรการบรรเทา

[แก้]

เพื่อจะหลีกเลี่ยงผลลบรุนแรงทางเศรษฐกิจและทางสังคม ที่เกิดจากการผลิตน้ำมันที่ลดลงทั่วโลก รายงาน Hirsch Report ในปี ค.ศ. 2005 เน้นความจำเป็นในการหาพลังงานทางเลือก อย่างน้อยสิบถึงยี่สิบปีก่อนจะถึงจุดผลิตสูงสุด และการค่อย ๆ ลดการใช้น้ำมันในระยะเวลาเดียวกัน[136] คำแนะนำนี้ เหมือนกับแผนการลดใช้น้ำมันในประเทศสวีเดน ที่เสนอในปีเดียวกัน มาตรการบรรเทาอาจรวมทั้งการประหยัดพลังงาน การทดแทนพลังงาน และการใช้น้ำมันจากแหล่งไม่สามัญ เพราะว่ามาตรการบรรเทาสามารถลดระดับการใช้น้ำมันจากแหล่งสามัญ ดังนั้น ก็จะมีผลต่อทั้งช่วงเวลาที่จะถึงจุดยอด และรูปร่างของเส้นโค้งฮับเบิร์ตด้วย[178] คือ ถ้าใช้น้อยยิ่งเท่าไร น้ำมันก็จะมีให้ใช้นานขึ้นเท่านั้น

ประเทศไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรก ที่เสนอการเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่เกิดต่อเนื่อง (renewable energy) แบบ 100% ในปี ค.ศ. 1998[179] มีการเสนอว่า โดยปี ค.ศ. 2009 ควรใช้แต่พลังงานลม น้ำ และแสงอาทิตย์ แต่จะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ สำหรับการขนส่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าได้ เช่น เรือใหญ่และเครื่องบิน

ผลดีที่เกิดจากจุดสูงสุด

[แก้]

นักวิชาการในสาขา Permaculture ที่ออกแบบวางแผนเพื่อเกษตรกรรมและสังคมที่ยั่งยืน เห็นจุดผลิตน้ำมันสูงสุดว่า เป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดี ถ้าประเทศต่าง ๆ มีนโยบายที่เห็นการไกล นักวิชาการอ้างว่า การสร้างเครือข่ายการผลิตอาหารและพลังงานในพื้นที่ขึ้นใหม่ และการสร้างวัฒนธรรมที่ลดระดับการใช้พลังงาน เป็นการตอบสนองที่ถูกต้องตามจริยธรรม ต่อความจริงว่า เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์มีจำกัด[180] เกาะ Majorca ในประเทศสเปนเป็นที่ ๆ หนึ่งที่กำลังเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ ไปเป็นพลังงานทางเลือกอื่น ๆ และกำลังตรวจสอบวิธีการก่อสร้างและเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ที่เคยทำได้มาก่อน ๆ[181]

ขบวนการ Transition Towns (เมืองเปลี่ยนแปลง) ที่เริ่มในเมือง Totnes มณฑลเดวอน ประเทศอังกฤษ[182] และเผยแพร่อย่างสากลผ่านคู่มือ "The Transition Handbook (คู่มือการเปลี่ยนแปลง)" และเครือข่าย Transition Network (เครือข่ายการเปลี่ยนแปลง) เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม เพื่อสร้างสมรรถภาพการฟื้นฟูสภาพแก่พื้นที่ และความเป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติ ว่าเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติ ต่อปัญหาของจุดผลิตน้ำมันสูงสุด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ[183]

ข้อวิจารณ์

[แก้]
น้ำมันจากแหล่งสามัญของประเทศแคนาดา ถึงจุดยอดการผลิตในปี ค.ศ. 1973 แต่น้ำมันจากทรายน้ำมัน ทำให้ผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สีแดงเป็นประวัติการผลิต สีน้ำเงินเป็นค่าคาดหมาย

ข้อโต้ตอบโดยรวม

[แก้]

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีจุดผลิตน้ำมันสูงสุด บ่อยครั้งอ้างแหล่งน้ำมันใหม่ ๆ ที่ค้นพบ ซึ่งขัดขวางไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะก็คือ บางพวกเชื่อว่า การผลิตน้ำมันทั้งจากแหล่งใหม่ ทั้งจากแหล่งที่มีอยู่ จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าอัตราเพิ่มความต้องการ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้จนกระทั่งเราค้นพบพลังงานทางเลือก ซึ่งจะทดแทนพลังงานซากดึกดำบรรพ์ที่เราต้องอาศัยอยู่ในขณะนี้[184]

ข้อวิจารณ์อื่นรวมทั้ง ความเชื่อมั่นในพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จะสามารถทดแทนน้ำมันได้[185] และจริง ๆ ก็ดูเหมือนจะมีทางเลือกที่มีอนาคตแจ่มใส ในการลดหรือแก้ผลลบที่เกิดจากเหตุการณ์จุดผลิตน้ำมันสูงสุด ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา ได้ให้ทุนงานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงสาหร่าย เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ[186] และก็ยังมีโปรเจ็กต์อื่น ๆ อีกมากมายที่ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และในที่อื่น ๆ[187] และแม้บริษัทเอกชน ก็เริ่มจะเริ่มลงทุนทำงานวิจัยในเรื่องนี้[186] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2014 นักวิจัยที่แล็บวิจัยนาวีสหรัฐอเมริกา (NRL) ประกาศว่า ได้ค้นพบกระบวนการเปลี่ยนน้ำทะเล เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบิน คือได้สกัดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั้งที่ละลายอยู่ในน้ำ และทั้งที่เป็นส่วนประกอบของน้ำ และสกัดไฮโดรเจน (H) ผ่านกระบวนการแยกสลายน้ำด้วยไฟฟ้า แล้วจึงเปลี่ยน CO2 และ H ไปเป็นโซ่ไฮโดรคาร์บอน[188]

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ รวมทั้ง ไบโอแอลกอฮอล์ (คือ เมทานอล เอทานอล บูทานอล), ไฟฟ้าที่เก็บโดยกระบวนการเคมี (แบตเตอรี่ เซลล์เชื้อเพลิง), ไฮโดรเจน, มีเทนที่ไม่ได้มาจากฟอสซิล, แก๊สธรรมชาติที่ไม่ได้มาจากฟอสซิล, น้ำมันพืช, โพรเพน, และมวลชีวภาพอื่น ๆ

จากมุมมองของบริษัทน้ำมัน

[แก้]

ผู้แทนจากอุตสาหกรรมน้ำมันได้วิจารณ์ทฤษฎีนี้ อย่างน้อยในรูปแบบที่เสนอโดยแมตทิว ซิมมอนส์ เช่น แม้ว่าจะเห็นด้วยว่า การผลิตน้ำมันจากแหล่งสามัญ จะต้องลดลงโดยไม่ช้า แต่ประธานบริษัทรอยัลดัตช์เชลล์สหรัฐอเมริกา วิจารณ์การวิเคราะห์ของซิมมอนส์ว่า "เพ่งความสนใจมากเกินไปไปยังประเทศเดียว คือ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสมาชิกโอเปกที่สามารถเปลี่ยนราคาน้ำมันได้"

เขายังชี้ไปที่แหล่งพลังงาน ที่ไหล่ทวีปส่วนนอกของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่ประมาณ 100,000 ล้านบาร์เรล ที่โดยถึงปี ค.ศ. 2008 ยังสามารถขุดเจาะได้เพียงแค่ 15% จากฝั่งของรัฐลุยเซียนา แอละแบมา มิสซิสซิปปี และเท็กซัส

เขายังเห็นด้วยว่า ซิมมอนส์ผิดพลาด ที่ไม่รวมแหล่งน้ำมันที่ไม่สามัญ เช่น จากทรายน้ำมันในประเทศแคนาดา ซึ่งเชลล์ดำเนินงานอยู่ เพราะว่า ทรายน้ำมัน ซึ่งหมายถึงทั้งทราย น้ำ และน้ำมัน ที่พบโดยมากที่รัฐแอลเบอร์ตาและซัสแคตเชวัน เชื่อกันว่า มีน้ำมันถึงประมาณ 1,000,000 ล้านบาร์เรล และยังมีน้ำมันอีก 1,000,000 ล้านบาร์เรลในหินของ รัฐโคโลราโด ยูทาห์ และไวโอมิง (สหรัฐอเมริกา)[189] ในรูปแบบของหินน้ำมัน ถึงแม้ว่า แหล่งน้ำมันเหล่านี้ จะทำให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ในการขุดเจาะ[190][191]

เขายังอ้างอีกด้วยว่า ถ้าบริษัทน้ำมันได้อนุญาตที่จะขุดเจาะ จะสามารถผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และราคาน้ำมันในช่วงท้ายทศวรรษ 2000 และ 2010 จะไม่สูงขนาดนั้น เขาคิดในปี ค.ศ. 2008 ว่า ราคาพลังงานที่สูง จะทำให้เกิดความไม่สงบทางสังคม เหมือนกับที่เกิดขึ้นในการจลาจลในนครลอสแอนเจลิสในปี ค.ศ. 1992[192]

ในปี ค.ศ. 2009 หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทน้ำมันบีพี วิจารณ์ทฤษฎีจุดผลิตน้ำมันสูงสุดว่า[193]

จุดผลิตน้ำมันสูงสุดที่จริง ๆ เป็นทฤษฎีที่ไม่ปรับตามราคาน้ำมัน เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลที่ผมจะยอมรับ ไม่ว่าจะทางทฤษฎี ทางวิทยาศาสตร์ หรือทางความคิด (...) จริงอย่างนั้น ทฤษฏีนี้ ซึ่งก็คือมีน้ำมันจำนวนจำกัดอยู่ในดิน มีการบริโภคที่อัตราหนึ่ง ๆ แล้วในที่สุดก็จะหมดไป เป็นกระบวนการที่ (ตามทฤษฎี)ไม่มีปฏิกิริยาต่อสิ่งอื่น ๆ... ดังนั้น จะไม่มีวันที่โลกมีน้ำมันหมดไปจริง ๆ เพราะว่า จะมีราคาที่น้ำมันหยดสุดท้ายจะสามารถขายในตลาดได้ และเราสามารถเปลี่ยนอะไรหลาย ๆ อย่างไปเป็นน้ำมัน ถ้าเรายินดีจะจ่ายโดยเป็นเงิน หรือเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ปรากฏการณ์โลกร้อน) น่าจะเป็นจุดจำกัดทางธรรมชาติจริง ๆ ไม่ใช่ประเด็นที่มาจากทฤษฎีจุดผลิตน้ำมันสูงสุดเหล่านี้ แม้มารวมกันทั้งหมด ... จุดผลิตน้ำมันสูงสุดพยากรณ์กันมาแล้วกว่า 150 ปี ซึ่งก็ไม่ได้เคยเกิดขึ้นเลยจริง ๆ และก็จะเป็นเช่นนี้ต่อไป

ตามหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์นั้น ข้อจำกัดของการผลิตน้ำมันมาจากปัจจัยที่อยู่ "เหนือดิน" ซึ่งก็คือ บุคลากร ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี ความปลอดภัยในการลงทุน เงินทุน และปรากฏการณ์โลกร้อน ปัญหาของน้ำมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับราคา ไม่ใช่ว่ามีหรือไม่มี มุมมองนี้ ได้รับการสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ผู้ต่อยอดอีกว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเร็ว ๆ นี้ อาจมีผลทำลายอุตสาหกรรมน้ำมัน แต่ไม่ใช่เป็นการหมดสิ้นน้ำมันอย่างไม่มีเหลือ หรือเป็นผลแบบทำลายโลก แต่จะเป็นการสร้างฐานให้กับพลังงานทางเลือก ที่ทันท่วงทีและเป็นไปอย่างราบรื่น[194]

ส่วนกรรมการผู้จัดการของบริษัทเชลล์แคนาดากล่าวว่า ไฮโดรคาร์บอนจากยางมะตอยที่มีอยู่ในโลก "มีแทบไม่หมดสิ้น" โดยหมายถึงไฮโดรคาร์บอนจากทรายน้ำมัน[195]

จากบุคคลอื่น ๆ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 2007 นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในวงการพลังงานคนหนึ่ง เขียนบทความใน The Review of Austrian Economics ว่า ทฤษฎี Austrian institutional theory ของ Austrian School เป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายความขาดแคลนแร่ธาตุ ได้ดีกว่า neoclassical depletionism[196] และในปี ค.ศ. 2012 ก็เสนอด้วยว่า ในระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติมีคุณค่าที่เป็นอัตวิสัย ไม่ใช่ปรวิสัย แล้วสรุปว่า "ทรัพยากรที่มาจากดิน ขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่มีอยู่ในใจ"[197]

ในปี ค.ศ. 2006 ทนายและวิศวะเครื่องกล ผู้เชี่ยวชาญทางสิ่งแวดล้อมผู้หนึ่งชี้ว่า น้ำมันราคาถูกกำลังหมดไปจากโลก และเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น พลังงานจากแหล่งไม่สามัญก็จะเริ่มขายได้ เขาพยากรณ์ว่า "ทรายน้ำมันดินจากรัฐแอลเบอร์ตาเพียงอย่างเดียว ก็มีไฮโดรคาร์บอนที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงของทั้งโลก เป็นเวลากว่า 100 ปี"[195]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. รายชื่อบทความและหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์กว่า 20 เล่มจากแหล่งข้อมูลของรัฐบาล และวารสารที่เป็นแหล่งอ้างอิงของวิทยานิพนธ์นี้รวบรวมไว้ที่ Dieoff.org ในหัวข้อ "Food, Land, Water, and Population."

อ้างอิง

[แก้]
  1. "peak oil definition from Financial Times Lexicon". Financial Times Lexicon. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-18. สืบค้นเมื่อ 2013-08-26.
  2. 2.0 2.1 Miller, R. G.; Sorrell, S. R. (2 ธันวาคม 2013). "The future of oil supply". Philosophical Transactions of the Royal Society A: Mathematical; Physical and Engineering Sciences. 372 (2006): 20130179. doi:10.1098/rsta.2013.0179. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2014.
  3. "US Field Production of Crude Oil". Energy Information Administration.
  4. Snyder, Benjamin (11 กุมภาพันธ์ 2015). "U.S. oil production reaches all-time high amid depressed crude prices". Fortune. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015.
  5. "CERA says peak oil theory is faulty". Energy Bulletin. Cambridge Energy Research Associates (CERA). 14 พฤศจิกายน 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มิถุนายน 2008. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  6. 6.0 6.1 6.2 Deffeyes, Kenneth S (19 มกราคม 2007). "Current Events - Join us as we watch the crisis unfolding". มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 Zittel, Werner; Schindler, Jorg (ตุลาคม 2007). Crude Oil: The Supply Outlook (PDF). EWG-Series No 3/2007 (Report). Energy Watch Group. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 31 กรกฎาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Cohen, Dave (31 ตุลาคม 2007). "The Perfect Storm". Association for the Study of Peak Oil and Gas. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  9. 9.0 9.1 Aleklett, Kjell; Höök, Mikael; Jakobsson, Kristofer; Lardelli, Michael; Snowden, Simon; Söderbergh, Bengt (9 พฤศจิกายน 2009). "The Peak of the Oil Age" (PDF). Energy Policy. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 26 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009.
  10. 10.0 10.1 10.2 Koppelaar, Rembrandt H.E.M. (กันยายน 2006). World Production and Peaking Outlook (PDF) (Report). Peakoil Nederland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 28 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  11. 11.0 11.1 11.2 Owen, Nick A.; Inderwildi, Oliver R.; King, David A. (2010). "The status of conventional world oil reserves—Hype or cause for concern?". Energy Policy. 38 (8): 4743. doi:10.1016/j.enpol.2010.02.026.
  12. Deffeyes, Kenneth S (2002). Hubbert's Peak: The Impending World Oil Shortage. Princeton University Press. ISBN 0-691-09086-6.
  13. 13.0 13.1 13.2 Hubbert, Marion King (มิถุนายน 1956). Nuclear Energy and the Fossil Fuels 'Drilling and Production Practice' (PDF). Spring Meeting of the Southern District. Division of Production. American Petroleum Institute. แซนแอนโทนีโอ รัฐเท็กซัส: Shell Development Company. pp. 22–27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 พฤษภาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2008.
  14. 14.0 14.1 14.2 Brandt, Adam R. (พฤษภาคม 2007). "Testing Hubbert" (PDF). Energy Policy. Elsevier. 35 (5): 3074–3088. doi:10.1016/j.enpol.2006.11.004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2011. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  15. Wakeford, Jeremy. "Peak oil is no myth". Engineering News. สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2014.
  16. 16.0 16.1 "BP, Statistical Review of World Energy 2010" (XLS). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 12 พฤษภาคม 2015.
  17. "World oil demand 'to rise by 37%'". BBC News. 20 มิถุนายน 2006. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2008.
  18. "2007 International Energy Outlook" (PDF). Petroleum and other liquid fuels. United States Energy Information Administration. พฤษภาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  19. "International Energy Outlook 2009" (PDF). Energy Information Administration, U.S. Department of Energy. 2009. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2015.
  20. "Supply shock from North American oil rippling through global markets". International Energy Agency. 14 พฤษภาคม 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  21. "The IEA Says Peak Oil Is Dead. That's Bad News for Climate Policy". Time Magazine. 15 พฤษภาคม 2013.
  22. Annual Energy Review 2008 (PDF). DOE/EIA-0384 (2008) (Report). United States Energy Information Administration. 29 มิถุนายน 2009. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  23. "Global Oil Consumption". United States Energy Information Administration. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  24. Wood, John H.; Long, Gary R.; Morehouse, David F. (18 สิงหาคม 2004). "Long-Term World Oil Supply Scenarios: The Future Is Neither as Bleak or Rosy as Some Assert". United States Energy Information Administration. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  25. "Domestic Demand for Refined Petroleum Products by Sector". United States Bureau of Transportation Statistics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2007.
  26. 26.0 26.1 "International Petroleum (Oil) Consumption Data". United States Energy Information Administration. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2007.
  27. 27.0 27.1 BP Statistical Review of Energy (PDF) (Report). BP. มิถุนายน 2008. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  28. Gold, Russell; Campoy, Ana (13 เมษายน 2009). "Oil Industry Braces for Drop in U.S. Thirst for Gasoline". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2009.
  29. Associated Press (21 ธันวาคม 2010). "US Gas Demand on Long-Term Decline After Hitting '06 Peak". Jakarta Globe. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2011.
  30. "Oil price 'may hit $200 a barrel'". BBC News. 7 พฤษภาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  31. Mcdonald, Joe (21 เมษายน 2008). "Gas guzzlers a hit in China, where car sales are booming". USA Today. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  32. O'Brien, Kevin (2 กรกฎาคม 2008). "China's Negative Economic Outlook". Seeking Alpha. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  33. "China and India: A Rage for Oil". Business Week. 25 สิงหาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2008.
  34. 34.0 34.1 Duncan, Richard C (พฤศจิกายน 2001). "The Peak of World Oil Production and the Road to the Olduvai Gorge". Population and Environment. Springer Netherlands. 22 (5): 503–522. doi:10.1023/A:1010793021451. ISSN 1573-7810. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มิถุนายน 2009. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 "Total Midyear Population for the World: 1950-2050". United States Census Bureau. 18 มิถุนายน 2008. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2007.
  36. 36.0 36.1 36.2 "International Petroleum (Oil) Production Data". United States Energy Information Administration. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2008.
  37. "The World Factbook". United States Central Intelligence Agency. 20 มีนาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มกราคม 2010. สืบค้นเมื่อ 31 มีนาคม 2008.
  38. BP Statistical Review of Energy (PDF). Table of World Oil Production 2006 (Report). BP. มิถุนายน 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 3 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2007.
  39. Hubbert, M. King (1962). Energy Resources. Publication 1000-D. Washington: National Academy of Sciences. pp. 73–75.
  40. "conventional oil definition from Canadian Association of Oil Producers". Crude Oil. 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มีนาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2014.
  41. McGlade, Christophe; Speirs, Jamie; Sorrell, Steve (กันยายน 2013). "Methods of estimating shale gas resources - Comparison, evaluation and implications". Energy. 59: 116–125. doi:10.1016/j.energy.2013.05.031.
  42. Philipp, Richter (13 กุมภาพันธ์ 2014). From Boom to Bust? A Critical Look at US Shale Gas Projections (pdf). IAEE International Conference. Lisbon. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2014.
  43. "FAQs Oil". International Energy Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 ธันวาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2013.
  44. "IEA's Oil Market Report" (Press release). International Energy Agency. 13 ธันวาคม 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2012.
  45. 45.0 45.1 45.2 Donnelly, John (11 ธันวาคม 2005). "Price rise and new deep-water technology opened up offshore drilling". Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2008.
  46. "The Next Crisis: Prepare for Peak Oil". เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล. 11 กุมภาพันธ์ 2010.
  47. Campbell, C. J. (ธันวาคม 2000). "Peak Oil Presentation at the Technical University of Clausthal". energycrisis.org. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2008.
  48. Longwell, Harry J. (2002). "The Future of the Oil and Gas Industry: Past Approaches, New Challenges" (PDF). World Energy Magazine. Loomis Publishing Services. 5 (3): 100–104. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 3 ตุลาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2008.
  49. "The General Depletion Picture" (PDF). No. 80. Ireland: Association for the Study of Peak Oil and Gas. 2007. p. 2. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2009. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2008.
  50. Christopher Johnson (11 กุมภาพันธ์ 2010). "Oil exploration costs rocket as risks rise". Reuters. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2010.
  51. Morehouse, David F. (กรกฎาคม 1997). "The intricate puzzle of oil and gas reserve growth" (PDF). Natural Gas Monthly. US Energy Information Administration. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 6 สิงหาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  52. Webber, John (กันยายน 2007). "UK Oil Reserves and Estimated Ultimate Recovery 2007". Department of Energy and Climate Change. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  53. Herbert, Jozef (16 กรกฎาคม 2007). "Oil industry report says demand to outpace crude oil production". BLNZ. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  54. 54.0 54.1 54.2 54.3 54.4 Maass Peter (21 สิงหาคม 2005). "The Breaking Point". เดอะนิวยอร์กไทมส์. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2008.
  55. "Briefing: Exxon increases budget for oil exploration". International Herald Tribune. 7 มีนาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2008.
  56. "Shell plans huge spending increase". International Herald Tribune. 14 ธันวาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2008.
  57. Boxell, James (10 ตุลาคม 2004). "Top Oil Groups Fail to Recoup Exploration". เดอะนิวยอร์กไทมส์. Energy Bulletin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 พฤษภาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2008.
  58. Gerth, Jeff (24 กุมภาพันธ์ 2004). "Forecast of Rising Oil Demand Challenges Tired Saudi Fields". เดอะนิวยอร์กไทมส์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มีนาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2008.
  59. Morsfeld, Carl (10 ตุลาคม 2004). "How Shell blew a hole in a 100-year reputation". The Times. London. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2008.
  60. 60.0 60.1 Darwish, Badrya (16 มิถุนายน 2008). "What lies beneath?". Kuwait Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2008.
  61. Javed, Ali (1 ธันวาคม 2000). "The Economic and Environmental Impact of the Gulf War on Kuwait and the Persian Gulf". American University Trade and Environment Database. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2007.
  62. Palast, Greg (23 พฤษภาคม 2006). "No Peaking: The Hubbert Humbug". Guerrilla News Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2010.
  63. Heinberg, Richard (กรกฎาคม 2006). "An Open Letter to Greg Palast on Peak Oil". สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2010.
  64. 64.0 64.1 Learsy, Raymond J. (4 ธันวาคม 2003). "OPEC Follies - Breaking point". National Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2008. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2008.
  65. 65.0 65.1 Macalister, Terry (10 พฤศจิกายน 2009). "Whistleblower: key oil figures were distorted by US pressure". The Guardian. London. pp. 1–2. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2009.
  66. "IEO 2004" (PDF). p. 37.
  67. "IEO 2006" (PDF). 2006. Figure 3. pg. 2.
  68. "IEO 2007" (PDF). 2007. Figure 3. pg. 2.
  69. "IEO 2009" (PDF). 2009. Figure 2. pg. 1.
  70. Owen, Nick A.; และคณะ (2010). "The status of conventional world oil reserves—Hype or cause for concern?". Energy Policy. 38 (8): 4743–4749. doi:10.1016/j.enpol.2010.02.026.
  71. "Modernization of Oil and Gas Reporting" (PDF). Rule changes. U.S. Securities and Exchange Commission. 1 มกราคม 2010. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2010.
  72. 72.0 72.1 Bob Weber (10 ธันวาคม 2009). "Alberta's oilsands: well-managed necessity or ecological disaster?". The Moose Jaw Times Herald. The Canadian Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 มกราคม 2013. สืบค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2010.
  73. Duarte, Joe (28 มีนาคม 2006). "Canadian Tar Sands: The Good, the Bad, and the Ugly". RigZone. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  74. "Environmental Challenges of Heavy Crude Oils". Battelle Memorial Institute. 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มิถุนายน 2007. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  75. Sexton, Matt (2003). "Tar Sands: A brief overview". สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  76. Dyni, John R. (2003). "Geology and resources of some world oil-shale deposits (Presented at Symposium on Oil Shale in Tallinn, Estonia, 18-21 November 2002)" (PDF). Oil Shale. A cientific-Technical Journal. Estonian Academy Publishers. 20 (3): 193–252. ISSN 0208-189X. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2007.
  77. Johnson, Harry R.; Crawford, Peter M.; Bunger, James W. (2004). "Strategic significance of America's oil shale resource. Volume II: Oil shale resources, technology and economics" (PDF). Office of Deputy Assistant Secretary for Petroleum Reserves, Office of Naval Petroleum and Oil Shale Reserves, United States Department of Energy. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2007.
  78. "Clean enough for California? The promise of steam-assisted gravity drainage in the oil sands". Financial Post. 12 เมษายน 2014.
  79. "Athabasca Oil Sands, Canada". mining-technology.com. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2015.
  80. Kovarik, Bill. "The oil reserve fallacy: Proven reserves are not a measure of future supply". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 มิถุนายน 2010. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  81. Dusseault, Maurice (2002). Emerging Technology for Economic Heavy Oil Development (PDF) (Report). Alberta Department of Energy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008.
  82. Schenk, Christopher J.; Cook, Troy A.; Charpentier, Ronald R.; และคณะ (11 มกราคม 2010). "An Estimate of Recoverable Heavy Oil Resources of the Orinoco Oil Belt, Venezuela" (PDF). USGS. สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2010.
  83. Alboudwarej, Hussein; และคณะ (Summer 2006). "Highlighting Heavy Oil" (PDF). Oilfield Review. Schlumberger. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มีนาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008.
  84. Wood, Tim (5 พฤศจิกายน 2005). "Oil Doomsday is Nigh, Tar Sands Not a Substitute". Resource Investor. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มิถุนายน 2017. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  85. Söderbergh B, Robelius F, Aleklett K (2007). "A crash programme scenario for the Canadian oil sands industry". Energy Policy. Elsevier. 35 (3): 1931–1947. doi:10.1016/j.enpol.2006.06.007.
  86. Weissman, Jeffrey G.; Kessler, Richard V. (20 มิถุนายน 1996). "Downhole heavy crude oil hydroprocessing". Applied Catalysis A: General. 140 (1): 1–16. doi:10.1016/0926-860X(96)00003-8. ISSN 0926-860X.
  87. Fleming, David (2000). "After Oil". Prospect Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 ธันวาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2009.
  88. Hoyos, Carola (18 กุมภาพันธ์ 2007). "Study sees harmful hunt for extra oil". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  89. Brad, Lemley (1 พฤษภาคม 2003). "Anything Into Oil". Discover magazine. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  90. Lemley Brad (2 เมษายน 2006). "Anything Into Oil". Discover magazine. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  91. "Daily Fuel Gauge Report". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 พฤษภาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2015.
  92. Martin, F. Jeffrey; Kubic, William L. (2007). "Green Freedom: A Concept for Producing Carbon Neutral Synthetic Fuels and Chemicals" (PDF). Los Alamos National Laboratory. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 17 กันยายน 2008.
  93. Mackey, Peg; Lawler, Alex (9 มกราคม 2008). "Tough to pump more oil, even at $100". Reuters. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  94. Kailing, Timothy D (14 ธันวาคม 2008). "Can the United States Drill Its Way to Energy Security?". Journal of Energy Security. Institute for the Analysis of Global Security. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  95. "US crude oil production". US Energy Information Administration. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013.
  96. 96.0 96.1 World oil supply and demand (PDF) (Report). International Energy Agency. 18 มกราคม 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 19 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009.
  97. Monbiot, George (15 ธันวาคม 2008). "When will the oil run out?". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009.
  98. "Peak Oil and Energy Resources". Workers Solidarity Movement. 23 มิถุนายน 2006. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009.
  99. "Country Analysis Briefs: Saudi Arabia". United States Energy Information Administration. สิงหาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 เมษายน 2007. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2008.
  100. Cordahi, James; Critchlow, Andy (9 พฤศจิกายน 2005). "Kuwait oil field, world's second largest, 'Exhausted'". Bloomberg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 เมษายน 2012. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009.
  101. "New Energy Realities - WEO Calls for Global Energy Revolution Despite Economic Crisis". IEA Press Release. International Energy Agency. 12 พฤศจิกายน 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2009.
  102. Mortishead, Carl (18 มกราคม 2008). "World not running out of oil, say experts". เดอะไทมส์. London. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009.
  103. Aleklett, Kjell (2006). "Review: CERA's report is over-optimistic" (DOC). Association for the Study of Peak Oil and Gas. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2009.
  104. "Canales: Output will drop at Cantarell field". El Universal. 10 กุมภาพันธ์ 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 มิถุนายน 2008. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009.
  105. Höök, Mikael (2007). "The Cantarell Complex: The dying Mexican giant oil field" (PDF). The Svedberg Laboratory, Uppsala University. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 17 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008.
  106. Arai, Adriana (1 สิงหาคม 2006). "Mexico's Largest Oil Field Output Falls to 4-Year Low". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009.
  107. World Oil Outlook 2007 (PDF). โอเปก. 2007. ISBN 978-3-200-00965-3. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2011.
  108. "OPEC Summit Roundup Production hike prospects fade as Abu Dhabi summit looms". ฟอบส์. 18 พฤศจิกายน 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2009.
  109. "Chevron Announces Record Setting Well Test at Jack" (Press release). เชฟรอน. 5 กันยายน 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มิถุนายน 2008. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2009.
  110. Mufson, Steven (6 กันยายน 2006). "U.S. Oil Reserves Get a Big Boost". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2009.
  111. Greg, Geyer (19 กันยายน 2006). "Jack-2 Test Well Behind The Hype". Association for the Study of Peak Oil and Gas. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2009.
  112. "Petroleum Basic Statistics". United States Energy Information Administration. กุมภาพันธ์ 2009. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  113. "Chevron reports start of production from Jack-St. Malo fields". Oil&Gas Journal. ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2015.
  114. "Non-OPEC peak oil threat receding". Arabian Business. 6 กรกฎาคม 2007.
  115. Sheila, McNulty (9 พฤษภาคม 2007). "Politics of oil seen as threat to supplies". Financial Times.
  116. Justin, Fox (31 พฤษภาคม 2007). "No More Gushers for ExxonMobil". ไทม์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  117. Gaurav Sodhi (24 มิถุนายน 2008). "The myth of OPEC". Australian Financial Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2008.
  118. Schwartz, Michael (30 ตุลาคม 2007). "Why Did We Invade Iraq Anyway? Putting a Country in Your Tank". Global Policy. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2008.
  119. "Rejecting the Real 'Snake Oil'". Huffington Post. 29 มิถุนายน 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มีนาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  120. 120.0 120.1 Madureira, Nuno Luis (2014). Key Concepts in Energy. London: Springer International Publishing. pp. 125–6. doi:10.1007/978-3-319-04978-6_6. ISBN 978-3-319-04977-9.
  121. Sorrell, Steve; Miller, Richard; Bentley, Roger; Speirs, Jamie (กันยายน 2010). "Oil futures: A comparison of global supply forecasts". Energy Policy. 38 (9): 4990–5003. doi:10.1016/j.enpol.2010.04.020.
  122. Henke, Petter (2014). IEA and Oil : Track record analysis and assessment of oil supply scenarios in WEO 2000-2013 (Report). Digitala Vetenskapliga Arkivet.
  123. Chapman, Ian (มกราคม 2014). "The end of Peak Oil? Why this topic is still relevant despite recent denials". Energy Policy. 64: 93–101. doi:10.1016/j.enpol.2013.05.010.
  124. Miller, R. G.; Sorrell, S. R. (2014). "The future of oil supply". Philosophical Transactions of the Royal Society A: Mathematical, Physical and Engineering Sciences. 372 (2006): 20130179–20130179. doi:10.1098/rsta.2013.0179. [W]e estimate that around 11-15 mb per day of non-conventional liquids production could be achieved in the next 20 years . . . If crude oil production falls, then total liquids production seems likely to fall as well, leading to significant price increases and potentially serious impacts on the global economy.
  125. "International energy module, Assumptions to the Annual Energy Outlook 2014" (PDF). US Energy Information Administration. เมษายน 2014.
  126. Nashawi, Sami; Malallah, Adel; Al-Bisharah, Mohammed. "Forecasting World Crude Oil Production Using Multicyclic Hubbert Model". Energy Fuels. 24 (3): 1788–1800. doi:10.1021/ef901240p.
  127. Hallock, John L.; Wu, Wei; Hall, Charles A.S.; Jefferson, Michael (มกราคม 2014). "Forecasting the limits to the availability and diversity of global conventional oil supply: Validation". Energy. 64: 130–153. doi:10.1016/j.energy.2013.10.075.
  128. McGlade, Christophe (2014). Uncertainties in the outlook for oil and gas (Ph.D.). University College London.
  129. Auzanneau, Matthieu (17 มีนาคม 2014). "Nouvelle chute en 2013 de la production de brut des " majors ", désormais contraintes à désinvestir". Le Monde. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2014.
  130. "Oil and Economic Growth: A Supply-Constrained View" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 22 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  131. Inman, Mason (5 พฤษภาคม 2011). "The World has Passed Peak Oil, says Top Economist". National Geographic (blog). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2014.
  132. Hubbert, M. King (1962). "Energy Resources" (PDF). Publication 1000-D. Washington: National Academy of Sciences. pp. 73–75. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มกราคม 2015. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2015.
  133. Grove, Noel (มิถุนายน 1974). "Oil, the Dwindling Treasure". National Geographic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  134. "Annual Statistical Bulletin, 2013". OPEC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 เมษายน 2014. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2015.
  135. K., Aleklett; Campbell, C.; Meyer, J. (26–27 พฤษภาคม 2003). "Matthew Simmons Transcript". Proceedings of the 2nd International Workshop on Oil Depletion. Paris, France: The Association for the Study of Peak Oil and Gas. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2008.
  136. 136.0 136.1 Hirsch, Robert L.; Bezdek, Roger; Wendling, Robert (กุมภาพันธ์ 2005). "Peaking of World Oil Production: Impacts, Mitigation, & Risk Management" (PDF). Science Applications International Corporation. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2009.
  137. Hirsch, Robert L. (กุมภาพันธ์ 2007). "Peaking of World Oil Production: Recent Forecasts" (PDF). Science Applications International Corporation/U.S.Department of Energy, National Energy Technology Laboratory. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 13 สิงหาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2013.
  138. "What is driving oil prices so high?". BBC News. 5 พฤศจิกายน 2007.
  139. Bruno, Joe Bel (8 มีนาคม 2008). "Oil Rally May Be Economy's Undoing". USA Today. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  140. "U.S. Oil Consumption, 1965-2008" (XLS). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2015.
  141. Hamilton, James D. (2013). "Historical Oil Shocks". ใน Parker, Randall E.; Whaples, Robert (บ.ก.). Routledge Handbook of Major Events in Economic History. New York: Routledge Taylor and Francis. pp. 239–265. doi:10.3386/w16790. ISBN 978-1-135-08080-8. S2CID 129123578.
  142. "Oil Market Report - Demand" (PDF). International Energy Agency. 12 กรกฎาคม 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 19 ตุลาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  143. Gold, Russell; Davis, Ann (19 พฤศจิกายน 2007). "Oil Officials See Limit Looming on Production". The Wall Street Journal. สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2009.
  144. 144.0 144.1 "Global oil prices jump to 11-month highs". Petroleum World. Agence France-Presse. 9 กรกฎาคม 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  145. "Oil prices rally despite OPEC output hike". MSNBC. 15 มิถุนายน 2005.
  146. Wilen, John (21 พฤษภาคม 2008). "Oil prices pass $132 after government reports supply drop". Associated Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  147. "Missile tension sends oil surging". CNN. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2011.
  148. "Oil hits $100 barrel". BBC News. 2 มกราคม 2008.
  149. "Iran nuclear fears fuel oil price". BBC News. 6 มิถุนายน 2006. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2015.
  150. "Record oil price sets the scene for $200 next year". AME. 6 กรกฎาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2007.
  151. "BP Statistical Review of World Energy June 2013" (XLS). London. 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2015.
  152. James Kanter (9 พฤศจิกายน 2007). "European politicians wrestle with high gasoline prices". International Herald Tribune.
  153. "IMF study: Peak oil could do serious damage to the global economy". The Washington Post. 27 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2015.
  154. Plumer, Brad (28 กุมภาพันธ์ 2012). "Rick Santorum thinks gas prices caused the recession. Is he right?". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2012.
  155. Fildes M, Nelson S, Sener N, Steiner F, Suntharasaj P, Tarman RT, Harmon RR (2007). "Marketing Opportunity Analysis for Daimler Chrysler's Sprinter Van Plug-in Hybrid Electric Vehicle". Portland International Center for Management of Engineering and Technology: 1797–1810.
  156. "Household Vehicles Energy Use: Latest Data and Trends". US Government. พฤศจิกายน 2005.
  157. "Missing $4,155? It Went Into Your Gas Tank This Year". CNBC. Associated Press. 19 ธันวาคม 2011.
  158. Campoy, Ana (20 มิถุนายน 2008). "Prices Curtail U.S. Gasoline Use". The Wall Street Journal. p. A4.
  159. Clifford Krauss (19 มิถุนายน 2008). "Driving Less, Americans Finally React to Sting of Gas Prices, a Study Says". เดอะนิวยอร์กไทมส์.
  160. "Articles tagged with "Export Land Model"". TheOilDrum.com.
  161. Krauss, Clifford (9 ธันวาคม 2007). "Oil-Rich Nations Use More Energy, Cutting Exports". เดอะนิวยอร์กไทมส์.
  162. Gregg, Allan (13 พฤศจิกายน 2009). "Jeff Rubin on Oil and the End of Globalization". YouTube.
  163. Thomas, Joe (8 สิงหาคม 2008). "Viewpoint -- High Oil Prices Could Help U.S. Manufacturing". Cornell University's Johnson School of Management. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มีนาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  164. "China Posts Massive Trade Deficit". wall street journal. 10 มีนาคม 2012.
  165. International Monetary Fund (7 พฤษภาคม 2011). "Oil Demand Price And Income Elasticities". The Oil Drum.
  166. Goodchild, Peter (29 ตุลาคม 2007). "Peak Oil And Famine:Four Billion Deaths". Countercurrents. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2008.
  167. Pfeiffer, Dale Allen (2004). "Eating Fossil Fuels". From The Wilderness Publications. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2008.
  168. Crabbè, P.; และคณะ (2012). Implementing ecological integrity: restoring regional and global environmental and human health. Springer Science & Business Media. p. 411. ISBN 978-94-011-5876-3.
  169. Bradley, David (6 กุมภาพันธ์ 2004). "A Great Potential: The Great Lakes as a Regional Renewable Energy Source" (PDF). Buffalo's Green Gold Development Corporation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 มีนาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2008.
  170. Hirsch, Tim (24 ธันวาคม 2001). "Iceland launches energy revolution". BBC News. สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2008.
  171. Kunstler, James Howard (1994). Geography of Nowhere: The Rise And Decline of America's Man-Made Landscape. New York: Simon & Schuster. ISBN 0-671-88825-0.
  172. James Howard Kunstler (กุมภาพันธ์ 2004). The tragedy of suburbia. Monterey, CA: TED.
  173. Pareto, Vittorio E.; Pareto, Marcos P. "The Urban Component of the Energy Crisis" (PDF). สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2008.
  174. "Peak Oil UK - PowerSwitch Energy Awareness". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2016.
  175. Driving the Built Environment: The Effects of Compact Development on Motorized Travel, Energy Use, and CO2 Emissions - Special Report 298. Committee for the Study on the Relationships Among Development Patterns, Vehicle Miles Traveled, and Energy Consumption. National Academies Press. 2009. ISBN 0-309-14422-1.
  176. "Center for the Advancement of the Steady State Economy". สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2015.
  177. "How to talk about the end of growth: Interview with Richard Heinberg". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มีนาคม 2012.
  178. Robert L. Hirsch. "The Shape of World Oil Peaking: Learning From Experience" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มิถุนายน 2007. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2007.
  179. "Implementation of Green Bookkeeping at Reykjavik Energy" (PDF).
  180. "Future Scenarios - Introduction". สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2009.
  181. Islands of the Future (video) (ภาษาอังกฤษ และ สเปน). Vimeo. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2014.
  182. "Totnes". Transition Network.
  183. Rob Hopkins' Transition Handbook. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2011.
  184. "Death of peak oil". Business Insider. มีนาคม 2013.
  185. "No peak oil is really dead". Forbes. 17 กรกฎาคม 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 เมษายน 2014. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  186. 186.0 186.1 "National Algal Biofuels Technology Roadmap" (PDF). US Department of Energy, Office of Energy Efficiency and Renewable Energy, Biomass Program. พฤษภาคม 2010. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2015.
  187. Pienkos, P. T.; Darzins, A. (2009). "The promise and challenges of microalgal-derived biofuels". Biofuels, Bioproducts and Biorefining. 3 (4): 431. doi:10.1002/bbb.159.
  188. "Scale Model WWII Craft Takes Flight With Fuel From the Sea Concept". U.S. Naval Research Laboratory. 4 กรกฎาคม 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 สิงหาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  189. Kenneth Stier (20 มีนาคม 2008). "The 'Peak Oil' Theory: Will Oil Reserves Run Dry?". CNBC. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2011.
  190. Gillentine, Amy (9 มิถุนายน 2006). "Oil shale exploration near Rangely: Bonanza or bust?". The Colorado Springs Business Journal. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2015.
  191. John Laumer (26 ธันวาคม 2007). "A Return To Colorado Oil Shale?". TreeHugger. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  192. Charlie Rose. "A conversation with John Hofmeister". PBS. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 ตุลาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2015.
  193. "BP: Preisschwankungen werden wahrscheinlich zunehmenen, Interview (in English) mit Dr. Christoph Rühl, Mittwoch 1". Euractiv. ตุลาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มิถุนายน 2009. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2009.
  194. Yergin, Daniel (29 พฤษภาคม 2008). "Öl am Wendepunkt" [Oil at the turning point]. Financial Times Germany (ภาษาเยอรมัน).
  195. 195.0 195.1 "Myth: The World Is Running Out of Oil". ABC News. 12 พฤษภาคม 2006. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2011.
  196. "Resourceship: An Austrian theory of mineral resources" (PDF).
  197. Bradley, Robert L. Jr. (7 พฤษภาคม 2012). "Resourceship: Expanding "Depletable" Resources". Liberty Fund, Inc. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2015. The mineral economist should never forget that what resources come from the ground ultimately depend on the resources in the mind

บรรณานุกรม

[แก้]

หนังสือ

[แก้]
  • Aleklett, Kjel (2012). Peeking at Peak Oil. Springer Science. ISBN 978-1-4614-3423-8.
  • Campbell, Colin J (2004). The Essence of Oil & Gas Depletion. Multi-Science Publishing. ISBN 0-906522-19-6.
  • Campbell, Colin J (1997). The Coming Oil Crisis. Multi-Science Publishing. ISBN 0-906522-11-0.
  • Campbell, Colin J (2005). Oil Crisis. Multi-Science Publishing. ISBN 0-906522-39-0.
  • Deffeyes, Kenneth S (2002). Hubbert's Peak: The Impending World Oil Shortage. Princeton University Press. ISBN 0-691-09086-6.
  • Deffeyes, Kenneth S (2005). Beyond Oil: The View from Hubbert's Peak. Hill and Wang. ISBN 0-8090-2956-1.
  • Goodstein David (2005). Out of Gas: The End of the Age of Oil. WW Norton. ISBN 0-393-05857-3.
  • Greer, J. M. (2013). Not the Future We Ordered: The Psychology of Peak Oil and the Myth of Eternal Progress. Karnac Books. ISBN 978-1-78049-088-5.
  • Herold, D. M. (2012). Peak Oil. Hurstelung und Verlag. ISBN 978-3-8448-0097-5.
  • Heinberg Richard (2003). The Party's Over: Oil, War, and the Fate of Industrial Societies. New Society Publishers. ISBN 0-86571-482-7.
  • Heinberg, Richard (2004). Power Down: Options and Actions for a Post-Carbon World. New Society Publishers. ISBN 0-86571-510-6.
  • Heinberg, Richard (2006). The Oil Depletion Protocol: A Plan to Avert Oil Wars, Terrorism and Economic Collapse. New Society Publishers. ISBN 0-86571-563-7.
  • Heinberg, Richard; Lerch, Daniel (2010). The Post Carbon Reader: Managing the 21st Century's Sustainability Crises. Watershed Media. ISBN 978-0-9709500-6-2.
  • Herberg, Mikkal (2014). Energy Security and the Asia-Pacific: Course Reader เก็บถาวร 7 ธันวาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. United States: The National Bureau of Asian Research.
  • Huber Peter (2005). The Bottomless Well. Basic Books. ISBN 0-465-03116-1.
  • Kunstler James H (2005). The Long Emergency: Surviving the End of the Oil Age, Climate Change, and Other Converging Catastrophes. Atlantic Monthly Press. ISBN 0-87113-888-3.
  • Leggett Jeremy K (2005). The Empty Tank: Oil, Gas, Hot Air, and the Coming Financial Catastrophe. Random House. ISBN 1-4000-6527-5.
  • Leggett, Jeremy K (2005). Half Gone: Oil, Gas, Hot Air and the Global Energy Crisis. Portobello Books. ISBN 1-84627-004-9.
  • Leggett Jeremy K (2001). The Carbon War: Global Warming and the End of the Oil Era. Routledge. ISBN 0-415-93102-9.
  • Lovins, Amory; และคณะ (2005). Winning the Oil Endgame: Innovation for Profit, Jobs and Security. Rocky Mountain Institute. ISBN 1-881071-10-3.
  • Pfeiffer Dale Allen (2004). The End of the Oil Age. Lulu Press. ISBN 1-4116-0629-9.
  • Newman Sheila (2008). The Final Energy Crisis (2nd ed.). Pluto Press. ISBN 978-0-7453-2717-4. OCLC 228370383.
  • Roberts Paul (2004). The End of Oil. On the Edge of a Perilous New World. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 978-0-618-23977-1.
  • Ruppert Michael C (2005). Crossing the Rubicon: The Decline of the American Empire at the End of the Age of Oil. New Society. ISBN 978-0-86571-540-0.
  • Simmons Matthew R (2005). Twilight in the Desert: The Coming Saudi Oil Shock and the World Economy. Hoboken, N.J.: Wiley & Sons. ISBN 0-471-73876-X.
  • Simon Julian L (1998). The Ultimate Resource. Princeton University Press. ISBN 0-691-00381-5.
  • Stansberry, Mark A; Reimbold, Jason (2008). The Braking Point. Hawk Publishing. ISBN 978-1-930709-67-6.
  • Tertzakian Peter (2006). A Thousand Barrels a Second. McGraw-Hill. ISBN 0-07-146874-9.
  • Vassiliou, Marius (2009). Historical Dictionary of the Petroleum Industry. Scarecrow Press (Rowman & Littlefield). ISBN 0-8108-5993-9.

บทความ

[แก้]

ภาพยนตร์สารคดี

[แก้]
  • The End of Suburbia: Oil Depletion and the Collapse of the American Dream (2004)
  • Crude Awakening: The Oil Crash (2006)
  • The Power of Community: How Cuba Survived Peak Oil (2006)
  • Crude Impact (2006)
  • What a Way to Go: Life at the End of Empire (2007)
  • Crude (2007) Australian Broadcasting Corporation documentary [3 x 30 minutes] about the formation of oil, and humanity's use of it
  • PetroApocalypse Now? (2008)
  • Blind Spot (2008)
  • Gashole (2008)
  • Collapse (2009)
  • Oil Education TV เก็บถาวร 11 มกราคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: Series of video interviews with international oil industry experts
  • Peak Oil: A Staggering Challenge to “Business As Usual”

พอดแคสต์

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]