จิม แคร์รีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จิม แคร์รี่)
จิม แคร์รีย์
(Jim Carrey)
สารนิเทศภูมิหลัง
ชื่อเกิดJames Eugene Carrey
เกิด (1962-01-17) มกราคม 17, 1962 (62 ปี)
นิวมาร์เก็ต, รัฐออนแทรีโอ, แคนาดา
คู่สมรส
  • เมลิซซา โวเมอร์ (สมรส 1987; หย่า 1995)
  • ลอเรน ฮอลลี​ (สมรส 1996; หย่า 1997)
บุตรเจน เอริน แคร์รีย์
อาชีพนักแสดง, นักเขียนบท, โปรดิวเซอร์
ผลงานเด่นบท เอซ เวนทูรา
จากชุดภาพยนตร์ เอซ เวนทูรา (ค.ศ.1994–95)
บท แสตนลีย์ อิปคิส
จาก หน้ากากเทวดา (ค.ศ.1994)
บท ลอยด์ คริสต์มาสต์
จาก ใครว่าเราแกล้งโง่ หือ? (ค.ศ.1994)
บท ทรูแมน เบอร์แบงค์
จาก ชีวิตมหัศจรรย์ ทรูแมน โชว์ (ค.ศ.1998)
บท ดร.โรบอทนิกส์
จาก โซนิค เดอะ เฮดจ์ฮ็อก (ค.ศ.2020)
รางวัล
ลูกโลกทองคำนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดรามา
1999 ชีวิตมหัศจรรย์ ทรูแมน โชว์
นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์เพลงหรือตลก
2000 Man on the Moon -​ ดังก็ดังวะ

จิม แคร์รีย์
ลายมือชื่อ

เจมส์ ยูจีน แคร์รี (อังกฤษ: James Eugene Carrey เกิดวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2505) เป็นนักแสดง, ผู้เขียนบทและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ชาวแคนาดา-อเมริกัน เป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จจากบทบาทการแสดงในภาพยนตร์แนวตลกหลายเรื่อง[1] โดยเขาเคยได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม 2 สมัยติดต่อกัน ในปี ค.ศ.1999 และ ค.ศ.2000

จิม แคร์รีย์ เริ่มได้รับความสนใจจากวงการบันเทิงสหรัฐ เมื่อได้เป็นหนึ่งในนักแสดงหลักของละครโทรทัศน์เรื่อง อิน ลีฟวิง คัลเลอร์ ทางช่องฟ็อกซ์ (1990–1994) ก่อนที่เขาจะมาโด่งดังในแวดวงภาพยนตร์ฮอลลีวูดในยุคคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อได้รับบทเป็นนักแสดงนำในภาพยนตร์แนวตลกที่ประสบความสำเร็จทางรายได้หลายเรื่อง เช่น เอซ เวนทูร่า นักสืบซูเปอร์เก๊ก, ใครว่าเราแกล้งโง่ หือ?, หน้ากากเทวดา (ค.ศ.1994), ซูเปอร์เก็ก กวนเทวดา (ค.ศ.1995) และ ขี้จุ๊เทวดาฮากลิ้ง (ค.ศ.1997) นอกจากนี้เขายังเคยได้รับบทตัวละครวายร้ายอย่าง "เดอะ ริดเลอร์" ในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรเรื่อง แบทแมน ฟอร์เอฟเวอร์ ศึกจอมโจรอมตะ (ค.ศ.1995) ที่กำกับการแสดงโดยโจเอล ชูมาเกอร์ ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเขาจะโด่งดังมาจากบทบาทการแสดงในแนวตลกแต่กลับมาประสบความสำเร็จจากการแสดงในภาพยนตร์แนวดราม่าเรื่อง ชีวิตมหัศจรรย์ ทรูแมน โชว์ (ค.ศ.1998) ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดราม่า ต่อมาเขามีผลงานการแสดงในภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง ดังก็ดังวะ (ค.ศ.1999) ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นสมัยที่ 2 รวมถึงได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลแซกอวอร์ดส์

ในยุคคริสต์ทศวรรษ 2000 เขามีผลงานการแสดงเรื่อง เดี๋ยวดี เดี๋ยวเพี้ยน เปลี่ยนร่างกัน, เดอะกริ๊นช์ ตัวเขียวป่วนเมือง (ค.ศ. 2000), ผู้ชาย 2 อดีต (ค.ศ. 2001) และประสบความสำเร็จกับภาพยนตร์เรื่อง 7 วันนี้ พี่ขอเป็นพระเจ้า (ค.ศ.2003) ที่เขาทำหน้าที่เป็นทั้งโปรดิวเซอร์และแสดงนำคู่กับ เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดที่เขาเคยแสดง เมื่อทำรายได้ทั่วโลกถึง 484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นได้มีผลงานการแสดงนำในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องเช่นการแสดงนำคู่กับเคต วินสเล็ตในภาพยนตร์ไซไฟ-ดราม่า เรื่อง ลบเธอ...ให้ไม่ลืม ที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลแบฟตาและรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, เลโมนี สนิกเก็ต อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย (ค.ศ.2004) โดยในปี ค.ศ.2005 เขาได้ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์และนักแสดงนำอีกครั้งในภาพยนตร์ตลกเรื่อง โดนอย่างนี้ พี่ขอปล้น ก่อนจะพลิกบทบาทมาแสดงนำในภาพยนตร์แนวระทึกขวัญ-สืบสวนสอบสวนเรื่อง 23 รหัสช็อคโลก (ค.ศ.2007) ซึ่งเป็นการกลับมาร่วมงานกับผู้กำกับโจเอล ชูมาเกอร์ อีกครั้งหลังจากที่เคยร่วมงานกันมาก่อนในแบทแมน ฟอร์เอฟเวอร์ ต่อมาในปี ค.ศ.2008 เขาได้กลับมามีผลงานในภาพยนตร์แนวตลกอีกครั้งใน คนมันรุ่ง เพราะมุ่งเซย์เยส รวมถึงการพากย์เสียงตัวละครในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องฮอร์ตัน กับ โลกจิ๋วสุดมหัศจรรย์

ในปี ค.ศ.2009 จิม แคร์รีย์ รับบทนักแสดงนำคู่กับยวน แม็คเกรเกอร์ในภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง รักนะ นายมอริส โดยเป็นครั้งแรกที่เขารับบทชายรักชาย ถึงแม้การแสดงของเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์และสื่อต่างๆ แต่ด้วยเนื้อหาของภาพยนตร์ทำให้ถูกฉายแบบจำกัดในหลายประเทศรวมทั้งถูกสั่งห้ามเผยแพร่ในบางประเทศ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้ อย่างไรก็ดีการแสดงของเขากลับมาทำรายได้อย่างสูงอีกครั้งในภาพยนตร์แอนิเมชันแฟนตาซีของวอลต์ดิสนีย์เรื่อง อาถรรพ์วันคริสต์มาส (ค.ศ.2009) ที่ทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่เขาจะมีผลงานการแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง เพนกวินน่าทึ่งของนายพ็อพเพอร์ (ค.ศ.2011) และภาพยนตร์เรื่อง ใครว่าเราแกล้งโง่...วะ (ค.ศ.2014) ซึ่งเป็นภาคต่อของ ใครว่าเราแกล้งโง่...หือ? โดยทิ้งช่วงห่างจากภาคแรกที่เขาเคยแสดงไว้นานถึง 20 ปี

ในปี ค.ศ.2016 เขาแสดงในภาพยนตร์แนวอาชญากรรม-ดราม่าเรื่อง วิปริตจิตฆาตกร แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้และถูกวิจารณ์ในเชิงลบจากสื่อต่างๆเป็นจำนวนมาก หลังจากล้มเหลวกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเขาจึงหันไปมีผลงานทางละครโทรทัศน์กับช่องโชว์ไทม์ โดยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการผลิตให้กับละครชุดเรื่อง แอม ดายอิง อัพ เฮียร์ ที่ออกอากาศในปี 2017–2018 และแสดงนำในละครชุดเรื่อง โลกจริง ไม่อิงนิทาน (ค.ศ.2018) ซึ่งนับเป็นการกลับไปรับบทนักแสดงนำทางละครโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ของตัวเขาเอง โดยเขาได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากการแสดงในละครชุดเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทละครโทรทัศน์แนวเพลงหรือตลก โดยนับเป็นการเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำเป็นครั้งที่ 7 ของเขา และเดอะการ์เดียนของสหราชอาณาจักรได้จัดให้เขาอยู่ในรายชื่อนักแสดงที่ดีที่สุดที่ไม่เคยได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ เช่นเดียวกับมาริลิน มอนโรและเดนนิส เควด[2]

ประวัติ[แก้]

จิม แคร์รีย์ เกิดที่เมืองนิวมาร์เก็ต, รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา เป็นบุตรชายของคาทลีน และ เพอร์ซี แคร์รีย์ มีพี่ชาย 1 คน และพี่สาว 2 คน คือ จอห์น, แพทริเซีย และริต้า โดยเพอร์ซี แคร์รีย์ พ่อของเขามีอาชีพเป็นนักบัญชี และแม่ของเขาทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน[3][4] ครอบครัวของเขานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก[5][6] แม่ของเขามีเชื้อชาติฝรั่งเศส, ไอริชและสกอตติช ส่วนพ่อของเขามีบรรพบุรุษเป็นชาวฝรั่งเศส-แคนาดา (นามสกุลเดิมของครอบครัวคือ คาร์เร (Carré))

จิม แคร์รีย์ เคยใช้ชีวิตอยู่ที่เบอร์ลิงตัน ในรัฐออนแทรีโอ เป็นเวลา 8 ปี และศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมัธยมอัลเดอร์ช็อต โดยใน พ.ศ 2550 เขาเคยให้สัมภาษณ์ผ่านทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เดอะ แฮมิลตัน สเปคเตเตอร์ เล่าถึงช่วงเวลาในอดีตว่า หากเขาไม่ได้งานแสดงโชว์ เขาคงจะไปทำงานอยู่ในโรงงานผลิตเหล็กที่ชื่อโดฟาสโก ซึ่งตั้งอยู่ในย่านแฮมิลตัน, เมืองโตรอนโต โดยเขาเคยมองข้ามฟากจากอ่าวเบอร์ลิงตันที่เขาอยู่ไปยังแฮมิลตัน และเห็นโรงงานผลิตเหล็กตั้งอยู่ ทำให้เขาคิดว่ามันน่าจะเป็นงานที่ดีที่สุดในขณะนั้น

จิม แคร์รีย์ มีนิสิยทะลึ่งทะเล้นตั้งแต่เด็ก ในสมัยเป็นนักเรียนเขาได้เล่นตลกหน้าชั้นเรียนอยู่เสมอจนแม้แต่ครูยังให้แครีย์ฉายเดี่ยวเล่นตลกให้เพื่อนดูทุกวัน วันละ 15 นาทีในชั่วโมงสุดท้ายของการเรียน จนอายุ 14 ปี พ่อของเขาถูกปลดออกจากงานบัญชี ต้องย้ายครอบครัวจากเมืองโตรอนโตไปอีกเมืองเพื่อรับงานด้านรักษาความปลอดภัยในโรงงาน เป็นช่วงที่แคร์รีเครียดมาก และยังต้องช่วยพ่อทำงานในโรงงานด้วยวันละ 8 ชั่วโมง ทำให้ผลงานเรียนตกลง เขาจึงลาออกจากโรงเรียนและเลิกทำงานที่โรงงาน จากนั้นจึงกลับไปยังโตรอนโต เพื่อไปสมัครเล่นตลกตามร้านอาหาร

การแสดง[แก้]

ช่วงเริ่มต้น[แก้]

การแสดงตลกของจิม แคร์รีย์ บนเวทีได้รับความสนใจและเริ่มเป็นที่ชื่นชอบ จนได้รับคำชมเชยจากนักสือพิมพ์โตรอนโต สตาร์ ก่อนที่การแสดงของเขาจะไปสะดุดตา รอดนี แดนเจอร์ฟิลด์ นักแสดงตลกชื่อดัง โดยแดนเจอร์ฟิลด์ได้ให้จิม แคร์รีย์ มาแสดงเปิดในการแสดงของเขาบนเวที และต่อมาได้ชักชวนให้ไปแสดงร่วมกันที่เมืองลาส เวกัส สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามจิม แคร์รีย์ ตัดสินใจย้ายไปแสวงหาโชคจากการเล่นตลกที่ฮอลลีวูดแทน โดยเขาได้งานแสดงตลกที่ เดอะ คอมเมดี สโตร์ ซึ่งเป็นคลับในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

ต่อมา จิม แคร์รีย์ ได้ให้ความสนใจในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์จึงไปสมัครออดิชัน​เพื่อเข้าร่วมในรายการแซตเทอร์เดย์ ไนต์ ไลฟ์ ใน พ.ศ. 2523 แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก ก่อนที่ในปีต่อมาเขาจะได้แสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในฐานะตัวประกอบของภาพยนตร์แคนาดาเรื่อง All in Good Taste แต่เมื่อถ่ายทำเสร็จกลับไม่ได้เข้าฉาย (ภายหลังภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำกลับมาฉายในโรงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526)

ในปี พ.ศ. 2526 เขาได้รับบทบาทนักแสดงนำเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Copper Mountain และยังได้แสดงในภาพยนตร์ที่ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่องซีบีซีของประเทศแคนาดาในเรื่อง Introducing Janet (ภายหลังเมื่อจิม แคร์รีย์มีชื่อเสียง ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำกลับมาผลิตและจำหน่ายในรูปแบบวิดีโอเทปและเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น Rubber Face โดยในประเทศไทยใช้ชื่อว่า วัยหวาน สู้เพื่อฝัน)

จากนั้นในปี พ.ศ. 2527 เขาได้แสดงในละครโทรทัศน์แนวซิตคอมที่ออกอากาศผ่านทางบริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งชาติ (เอ็นบีซี) ของสหรัฐอเมริกา เรื่อง The Duck Factory และหลังจากที่ละครโทรทัศน์เรื่องดังกล่าวจบลง เขาได้แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Once Bitten ในปี พ.ศ. 2528 ก่อนจะได้รับบทบาทตัวประกอบในภาพยนตร์ที่กำกับโดยฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เรื่อง รักนั้น หากเลือกได้ (Peggy Sue Got Married) ที่นำแสดงโดยนิโคลัส เคจ ในปี พ.ศ. 2529 จากนั้นได้รับบทเป็นดาราติดยาในภาพยนตร์ของคลิ้นต์ อีสต์วู้ดเรื่อง โพยสั่งตาย (The Dead Pool) ในปี พ.ศ. 2531

จิม แคร์รีย์ ได้รับบทเด่นในภาพยนตร์เรื่อง Earth Girls Are Easy (พ.ศ. 2532) ที่แสดงร่วมกับเจฟ โกลบลูม และจีนา เดวิส แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก จนกระทั่งในปีต่อมาเขาหันกลับไปเล่นละครแนวซิตคอมทางโทรทัศน์อีกครั้งในเรื่อง In Living Color ที่ออกอากาศทางสถานีฟ็อกซ์นานถึง 4 ปี และได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้จิม แคร์รีย์ เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะนักแสดงตลก

โด่งดัง[แก้]

จากบทบาทการแสดงของเขาในซิตคอมเรื่อง In Living Color ทำให้ในปี พ.ศ. 2537 เขาได้แสดงนำในภาพยนตร์ระดับฮอลลีวู้ดเป็นครั้งแรกในเรื่อง เอซ เวนทูร่า นักสืบซูเปอร์เก๊ก (Ace Ventura:Pet Detective) ของค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์ส และยังได้แสดงนำเรื่อง ใครว่าเราแกล้งโง่ หือ? (Dumb and Dumber) รวมถึงเรื่อง หน้ากากเทวดา (The Mask) ของค่ายนิวไลน์ซินีมา ที่ออกฉายในปีเดียวกัน ซึ่งนับว่าภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยสามารถทำรายได้รวมกันมากถึง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปี พ.ศ 2538 เขาได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ที่กำกับโดยโจเอล ชูมาเกอร์ อย่าง แบทแมน ฟอร์เอฟเวอร์ ศึกจอมโจรอมตะ โดยเขารับบาทเป็นริดเลอร์ตัวละครวายร้าย ที่ต้องต่อกรกับแบทแมน และในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้แสดงภาพยนตร์ภาคต่อของเอซ เวนทูร่า อย่าง เอซ เวนทูร่า 2:ซูเปอร์เก๊กกวนเทวดา (Ace Ventura :When Nature Calls) ซึ่งได้รับคำชมเชยและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเมื่อทำรายได้ถึง 212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จิม แคร์รีย์ ได้มีโอกาสแสดงในภาพยนตร์แนวตลกร้ายหรือ Black Comedy ที่กำกับโดยเบน สติลเลอร์เรื่อง เป๋อ จิตไม่ว่าง (The Cable Guy) ในปี พ.ศ. 2539 โดยเขาแสดงเป็นช่างติดเคเบิลโทรทัศน์ที่มีบุคลิกเป็นคนเก็บกด, ขี้เหงาและไร้เพื่อน ซึ่งหวังจะใช้ลูกค้าของเขา (แสดงโดยแมททิว บรอเดริก) มาเติมเต็มชีวิตในส่วนที่ขาด ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการแสดงบทบาทตลกที่ต่างไปจากเรื่องก่อนๆที่เขาเคยแสดง ทำให้ทำรายได้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับเรื่องก่อนๆที่เขาเคยเล่น โดยทำรายได้ทั่วโลกไปเพียง 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามเขาได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นครั้งแรก โดยใช้เพลง Somebody to Love ซึ่งต้นฉบับเดิมเป็นงานเพลงของวง Jefferson Airplane

ปี พ.ศ. 2540 เขาได้แสดงในเรื่อง ขี้จุ๊ เทวดาฮากลิ้ง (Liar Liar) ซึ่งรับบทเป็นทนายความที่เคยชินกับการโกหกทุกๆคนรอบตัว แต่กลับต้องพบกับสภาวะที่ไม่สามารถโกหกได้เป็นเวลา 1 วันจากพรที่ลูกชายของเขาขอในวันเกิด นำมาซึ่งเรื่องราวยุ่งยากต่างๆมากมาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จและทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำในฐานะนักแสดงชายยอดเยี่ยม

ประสบความสำเร็จ[แก้]

จิม แคร์รีย์ ได้แสดงนำในภาพยนตร์ตลกแนวเสียดสีเรื่อง ชีวิตมหัศจรรย์ ทรูแมน โชว์ ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลเอ็มทีวีมูวีอะวอดส์ในฐานะนักแสดงชายยอดเยี่ยม และได้รับรางวัลลูกโลกทองคำเป็นครั้งแรกในฐานะ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทดรามา อีกทั้งยังประสบความสำเร็จทางรายได้เมื่อทำรายได้ทั่วโลกมากกว่า 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างเพียง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่เขาจะคว้ารางวัลนี้ได้เป็นสมัยที่ 2 ในฐานะ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์เพลงหรือตลก จากการแสดงนำในภาพยนตร์ชีวประวัติของแอนดี คอฟแมน เรื่อง ดังก็ดังวะ (Man on the Moon) ในปี พ.ศ. 2542

วางมือ[แก้]

ในเดือนเมษายน พศ.2565 จิม แคร์รีย์ ประกาศขอวางมือการแสดงถาวรในวงการภาพยนตร์ ให้เหตุผลว่า เค้าพอแล้วกับวงการนี้ เว้นแต่ว่าจะมีบทภาพยนตร์ระดับนางฟ้า ที่ทำให้เค้ามีไฟอยากกลับมาทำงานนี้อีกครั้ง [7]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

จิม แคร์รีย์ แต่งงานมาแล้ว 2 ครั้ง โดยเขาแต่งงานครั้งแรกกับเมลิซ่า โวเมอร์ และมีลูกสาว 1 คน คือเจน เอริน แคร์รี่ย์ ก่อนที่ทั้งคู่จะหย่าขาดจากกัน จากนั้นได้แต่งงานเป็นครั้งที่สองกับ ลอเรน ฮอลลี นางเอกที่เคยร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่อง ใครว่าเราแกล้งโง่ หือ? (Dumb and Dumber) ต่อมาจิม แคร์รีย์ ก็ได้หย่าร้างกัน [8]

ผลงานภาพยนตร์[แก้]

ปี ชื่อ ชื่อไทย บทบาท หมายเหตุ
พ.ศ. 2526 Copper Mountain บ็อบบี ทอดด์
พ.ศ. 2526 All in Good Taste ราล์ฟ พาร์เกอร์ ถ่ายทำในปี พ.ศ. 2524
พ.ศ. 2529 Peggy Sue Got Married เพ็กกี้ ซู รักนั้นหากเลือกได้ วอลเตอร์ เก็ทซ์
พ.ศ. 2531 The Dead Pool โพยสั่งตาย จอห์นนี สแควร์ ใช้ชื่อ เจมส์ แคร์รีย์
พ.ศ. 2532 Earth Girls Are Easy วิพลอค
พ.ศ. 2532 Pink Cadillac ใหญ่ล่าใหญ่ นักแสดงตลกในเลาจ์ นักแสดงรับเชิญ ใช้ชื่อ เจมส์ แคร์รีย์
พ.ศ. 2534 High Strung คนบ่นผีเบื่อ มัจจุราช
พ.ศ. 2535 Itsy Bitsy Spider พนักงานกำจัดปลวก การ์ตูนสั้นระยะเวลา 7 นาที (พากย์เสียงตัวการ์ตูน)
พ.ศ. 2537 Ace Ventura: Pet Detective เอซ เวนทูร่า นักสืบซูเปอร์เก็ก เอซ เวนทูร่า ร่วมเขียนบทภาพยนตร์
พ.ศ. 2537 The Mask หน้ากากเทวดา แสตนลีย์ อิปคิส/เดอะ มาส์ก
พ.ศ. 2537 Dumb and Dumber ใครว่าเราแกล้งโง่ หือ? ลอยด์ คริสต์มาสต์
พ.ศ. 2538 Batman Forever แบทแมน ฟอร์เอฟเวอร์ ศึกจอมโจรอมตะ ดร.เอ็ดเวิร์ด นิกมา/ริดเลอร์
พ.ศ. 2538 Ace Ventura 2: When Nature Calls ซูเปอร์เก็ก กวนเทวดา เอซ เวนทูร่า
พ.ศ. 2539 The Cable Guy เป๋อ จิตไม่ว่าง ชิพ ดักลาส
พ.ศ. 2540 Liar Liar ขี้จุ๊ เทวดาฮากลิ้ง เฟล็ตเชอร์ รีด
พ.ศ. 2541 The Truman Show ชีวิตมหัศจรรย์ ทรูแมน โชว์ ทรูแมน เบอร์แบงค์
พ.ศ. 2541 Simon Birch ไซมอน เบิร์ช เด็กชายหัวใจมหัศจรรย์ โจ เวนท์เวิร์ธ (ตอนโต)
พ.ศ. 2542 Man on the Moon ดังก็ดังวะ แอนดี คอฟแมน/โทนี คลิฟตัน ภาพยนตร์ชีวประวัติของ
แอนดี คอฟแมน
พ.ศ. 2543 Me, Myself & Irene เดี๋ยวดี เดี๋ยวเพี้ยน เปลี่ยนร่างกัน ชาร์ลี ไบลีย์เกตส์/แฮงค์ อีแวนส์
พ.ศ. 2543 Dr. Seuss' How The Grinch Stole Christmas เดอะกริ๊นช์ ตัวเขียวป่วนเมือง เดอะกริ๊นช์
พ.ศ. 2544 The Majestic ผู้ชาย 2 อดีต ปีเตอร์ แอพเพิลตัน
พ.ศ. 2546 Pecan Pie คนขับรถ ภาพยนตร์สั้นระยะเวลา 2 นาที (ภายหลังนำมาใส่เป็นวีดีโอโบนัสแทร็คในดีวีดีเรื่อง ลบเธอให้ไม่ลืม)
พ.ศ. 2546 Bruce Almighty 7 วันนี้ พี่ขอเป็นพระเจ้า บรู๊ซ โนแลน โปรดิวเซอร์
พ.ศ. 2547 Eternal Sunshine of the Spotless Mind ลบเธอให้ไม่ลืม โจเอล เบอร์ริช
พ.ศ. 2547 Lemony Snicket's A Series of Unfortunate Events เลโมนี สนิกเก็ต อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย เคาท์ โอลาฟ
พ.ศ. 2548 Fun with Dick and Jane โดนอย่างนี้ พี่ขอปล้น ริชาร์ด "ดิ๊ก" ฮาร์เปอร์ โปรดิวเซอร์
พ.ศ. 2550 The Number 23 23 รหัสช็อคโลก วอลเตอร์ สแปร์โรว์ / นักสืบฟิงเกอร์ลิง
พ.ศ. 2551 Horton Hears a Who! ฮอร์ตัน กับ โลกจิ๋วสุดมหัศจรรย์ ช้างฮอร์ตัน พากย์เสียงตัวการ์ตูน
พ.ศ. 2551 Yes Man คนมันรุ่งเพราะมุ่งเซย์เยส คาร์ล อเลน
พ.ศ. 2552 I Love You Phillip Morris รักนะ...นายมอริส ผู้ชายลั่นล้า สตีเวน เจย์ รุสเซลล์
พ.ศ. 2552 A Christmas Carol อาถรรพ์วันคริสต์มาส เอเบนีเซอร์ สครูจ / ให้เสียงวิญญาณคริสต์มาสต์
พ.ศ. 2554 Mr. Popper's Penguins เพนกวินน่าทึ่งของนายพ็อพเพอร์ ทอม พ๊อพเพอร์
พ.ศ. 2556 The Incredible Burt Wonderstone ศึกเวทมนตร์ป่วนลาสเวกัส สตีฟ เกรย์
พ.ศ. 2556 Kick-Ass 2 เกรียนโคตรมหาประลัย 2 ผู้พันสตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส ฉบับพากย์ไทยใช้ชื่อตัวละครว่าผู้พันชัยเฉลิมพล
พ.ศ. 2556 Anchorman 2: The Legend Continues แองเคอร์แมน 2 ขำข้นคนข่าว สก็อต รีลส์ (ผู้ประกาศข่าว) นักแสดงรับเชิญ[9]
พ.ศ. 2557 Dumb and Dumber To ใครว่าเราแกล้งโง่ วะ? ลอยด์ คริสต์มาส
พ.ศ. 2559 The Bad Batch ฤๅษี
พ.ศ. 2559 Dark Crimes วิปริตจิตฆาตกร นักสืบทาเด็ค
พ.ศ. 2563 Sonic The Hedgehog โซนิค เดอะ เฮดจ์ฮ็อก ดร.อิโว โรบอตนิค

อ้างอิง[แก้]

  1. Shanlin, Calum. "Throwback Thursday: Jim Carrey at 20". Canadian Broadcasting Corporation. สืบค้นเมื่อ April 25, 2012.
  2. https://www.theguardian.com/film/filmblog/2009/feb/19/best-actors-never-nominated-for-oscars
  3. "USA WEEKEND Magazine". USA Weekend. May 25, 2003. สืบค้นเมื่อ November 21, 2009. [ลิงก์เสีย]
  4. "Jim Carrey Biography (1962–)". Filmreference.com. สืบค้นเมื่อ November 21, 2009.
  5. Puig, Claudia (May 27, 2003). "Spiritual Carrey still mighty funny". USA Today. สืบค้นเมื่อ November 21, 2009.
  6. "Jim Carrey: Carrey'd Away". Movieline. January 7, 1994. สืบค้นเมื่อ October 8, 2010.
  7. Sharf, Zack; Sharf, Zack (2022-04-01). "Jim Carrey 'Fairly Serious' About Retiring From Acting: 'I Have Enough. I've Done Enough'". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  8. จิม แคร์รี่ เก็บถาวร 2008-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คอลัมน์รู้ไปโม้ด น้าชาติ ประชาชื่น
  9. Zuckerman, Esther (Dec 18, 2013). "A Definitive Ranking of All the 'Anchorman 2' Cameos". Atlantic Monthly Group. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-11. สืบค้นเมื่อ July 8, 2014.