จาง หฺวา
จาง หฺวา | |
---|---|
張華 | |
เสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) | |
ดำรงตำแหน่ง ป. มีนาคม ค.ศ. 296 – 7 พฤษภาคม ค.ศ. 300 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ |
ผู้กำกับสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書監 จงชูเจียน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 291 – ป. มีนาคม ค.ศ. 296 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ |
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 291–296 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ |
ขุนนางที่ปรึกษาผู้ใหญ่ฝ่ายขวา (右光祿大夫 โย่วกวางลู่ต้าฟู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 291–296 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ |
สมุหราชพิธี (太常卿 ไท่ฉางชิง) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–ค.ศ. 290 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ขุนพลสงบภาคเหนือ (安北將軍 อานเป่ย์เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
นายกองพันพิทักษ์ชนเผ่าออหวน (護烏桓校尉 ฮู่อูหฺวานเซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ?–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ราชเลขาธิการ (尚書 ช่างขู) | |
ดำรงตำแหน่ง 280–? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
เจ้าพนักงานสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง) | |
ดำรงตำแหน่ง กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 หรือภายหลัง – ? | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 232 อำเภอกู้อาน มณฑลเหอเป่ย์ |
เสียชีวิต | 7 พฤษภาคม ค.ศ. 300 (68 ปี) |
คู่สมรส | บุตรสาวของเล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง) |
บุตร |
|
บุพการี |
|
อาชีพ | กวี, ขุนนาง |
ชื่อรอง | เม่าเซียน (茂先) |
บรรดาศักดิ์ | กว๋างอู่โหว (廣武侯) จฺว้างอู่กง (壮武公) |
จาง หฺวา (จีน: 張華; พินอิน: Zhāng Huá; ค.ศ. 232 – 7 พฤษภาคม ค.ศ. 300[a]) หรือ เตียโฮ้[b] ชื่อรอง เม่าเซียน (จีน: 茂先; พินอิน: Màoxiān) เป็นกวีและขุนนางชาวจีนในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตกและเดิมเป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก จาง หฺวาเป็นนักกวีผู้มีความสามารถ เป็นผู้เขียนปั๋วอู้จื้อ (博物志) ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติและปรากฏการณ์เหนือธรรชาติ การรับราชการของจาง หฺวาขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 291 ถึง ค.ศ. 300 เมื่อจาง หฺวามีบทบาทเป็นเสนาบดีผู้นำในสมัยการสำเร็จราชการของจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิง (賈南風) ซึ่งว่าราชการแทนจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ (晉惠帝) พระสวามี จาง หฺวาถือเป็นเสนาบดีผู้มีความสามารถ และร่วมกับเผย์ เหว่ย์ (裴頠) ที่เป็นเพื่อนขุนนางที่การช่วยราชสำนักราชวงศ์จิ้นมีความมั่นคงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อราชสำนักตกอยู่ในภาวะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ระหว่าง ค.ศ. 299 ถึง ค.ศ. 300 จาง หฺวาปฏิเสธการทาบทามจากซือหม่า หลุน (司馬倫) ผู้เป็นปู่น้อยของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ในการก่อกบฏ และในที่สุดจาง หฺวาจึงถูกประหารชีวิตเมื่อซือหม่า หลุนยึดอำนาจจากจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิง
ภูมิหลังและการรับราชการกับวุยก๊ก
[แก้]บิดาของจาง หฺวาคือจาง ผิง (張平) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองยีหยง (漁陽郡 ยฺหวีหยางจฺวิ้น) ในรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก จาง ผิงเสียชีวิตเมื่อจาง หฺวายังอยู๋ในวัยเยาว์ ครอบครัวของจาง หฺวายากจนลง และจาง หฺวาต้องทำงานเลี้ยงแกะขณะอยู่ในวัยเยาว์ ขุนนางเล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง) ซึ่งเป็นชาวเมืองเดียวกันกับจาง หฺวาประทับใจในความสามารถของจาง หฺวาจึงจัดให้จาง หฺวาได้สมรสกับบุตรสาวของตน[3] หลู ชิน (盧欽) หลานปู่ของโลติด (盧植 หลู จื๋อ) ซึ่งเป็นชาวเมืองเดียวกันกับจาง หฺวา ก็ประทับใจจาง หฺวาเช่นกัน[4]
จาง หฺวาเป็นที่รู้จักจากความสามารถด้านวรรณกรรมและได้เขียนรวมกวีนิพนธ์ กวีนิพนธ์เหล่านี้โดยภายนอกมีเนื้อหาเกี่ยวกับนก แต่ความจริงมีเนื้อหาเกี่ยวกับนิสัยของมนุษย์ กวีนิพนธ์ของจาง หฺวามีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก รฺเหวี่ยน จี๋ (阮籍) ถอนใจพูดว่า "คนผู้นี้มีสามารถช่วยเจ้าแผ่นดินได้!" การประเมินของรฺเหวี่ยน จี๋ยิ่งทำให้จาง หฺวามีชื่อเสียงมากขึ้น[5] เซียน-ยฺหวี ซื่อ (鲜于嗣) ผู้มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองเสนอชื่อให้จาง หฺวามีตำแหน่งเป็นบัณฑิตในกรมราชพิธี (太常博士 ไท่ฉางปั๋วชื่อ) แต่หลู ชินเข้าพบผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียวเพื่อพูดเรื่องตำแหน่งของจาง หฺวา ในที่สุดสุมาเจียวก็ตั้งให้จาง หฺวาเป็นเลขานุการคนหนึ่งของตน จาง หฺวามีความโดดเด่นในการทำหน้าที่[6]
การรับราชการกับราชวงศ์จิ้น
[แก้]เมื่อ ค.ศ. 266 หลังสุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียวชิงบัลลังก์จากโจฮวนจักรพรรดิแห่งวุยก๊กลำดับสุดท้ายและก่อตั้งราชวงศ์จิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พระองค์ทรงแต่งตั้งจาง หฺวาเป็นเจ้าพนักงานสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง) และตั้งให้จาง หฺวามีบรรดาศักดิ์ระดับกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) จาง หฺวาได้เลื่อนขึ้นมามีตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) ในภายหลัง เมื่อขุนพลเอียวเก๋าทูลโน้มโน้าวจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนให้พิชิตง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของราชวงศ์จิ้น ขุนนางส่วนใหญ่คัดค้านอย่างหนัก แต่จาง หฺวาเห็นด้วยกับเอียวเก๋าแและภายหลังได้มีส่วนร่วมอย่างมากในการวางกลยุทธ์และการจัดการการส่งกำลังบำรุงเบื้องหลังการศึกกับง่อก๊ก เมื่อประมาณเดือนธันวาคม ค.ศ. 278 เอียวเก๋าป่วยหนัก จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงส่งจาง หฺวาไปเยี่ยมเพื่อปรึกษาเรื่องกลยุทธ์ในการพิชิตง่อก๊ก เอียวเก๋าแนะนำให้เริ่มเปิดศึกอย่างรวดเร็ว เกรงว่าหากปล่อยเวลาล่วงไป ซุนโฮจักรพรรดิแห่งง่อก๊กจะถูกแทนที่ด้วยผู้ปกครองที่มีความสามารถมากกว่า จาง หฺวาเห็นด้วยกับการคาดการณ์ของเอียวเก๋า เอียวเก๋ายังกล่าวด้วยว่าจาง หฺวาจะเป็นบุคคลที่ทำให้เป้าหมายของเอียวเก๋า (ในการพิชิตง่อก๊ก) สำเร็จ[7] หลังราชวงศ์จิ้นพิชิตง่อก๊กได้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 280 จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงแต่งตั้งให้จาง หฺวามีบรรดาศักดิ์เป็นกว๋างอู่โหว (廣武侯) เพื่อตอบแทนความดีความชอบ หลิว น่า (劉訥) ลุงของหลิว เหว่ย์ (劉隗) มีชื่อเสียงในเรื่องการประเมินลักษณะบุคคล เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับจาง หฺวาว่า "ข้าไม่อาจเข้าใจจาง เม่าเซี่ยน"[8][c]
ในเวลาต่อมาไม่นาน จาง หฺวาก็สูญเสียความโปรดปรานจากจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน เมื่อจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนเคยตรัสถามจาง หฺวาใครสามารถเป็นสำเร็จราชการแทนพระองค์ให้กับซือหม่า จง (司馬衷; ภายหลังคือจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้) พระโอรสของพระองค์ จาง หฺวาทูลเสนอสุมาฮิว (司馬攸 ซือหม่า โยว) ผู้เป็นเจอ๋อง (齊王 ฉีหวาง) และเป็นพระอนุชาของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน แม้ว่าสุมาฮิวทรงมีความสามารถอย่างชัดเจนที่จะทำหน้าที่นี้ได้ แต่จักพรรดิสุมาเอี๋ยนกลับกริ้วจาง หฺวา เพราะพระองค์ทรงเกรงว่าสุมาฮิวจะทรงแย่งชิงบัลลังก์จากซือหม่า จงในอนาคตเพราะสุมาฮิวทรงได้รับการสนับสนุนจากมวลชนเป็นอย่างมาก เหล่าขุนนางที่ก่อนหน้านี้เคยคัดค้านการรบกับง่อก๊กฉวยโอกาสนี้ในพูดไม่ดีเกี่ยวกับจาง หฺวาต่อหน้าจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน ทำให้จาง หฺวาสูญเสียความโปรดปรานจากจักรพรรดิ จากนั้นจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนจึงทรงส่งจาง หฺวาออกไปที่ชายแดนภาคเหนือในมณฑลอิวจิ๋วเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นนายกองพันพิทักษ์ชนเผ่าออหวน (護烏桓校尉 ฮู่อูหฺวานเซี่ยวเว่ย์) และขุนพลสงบภาคเหนือ (安北將軍 อานเป่ย์เจียงจฺวิน) จาง หฺวาปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดีโดยการสยบกลุ่มชนที่ไม่ใช่ชาวฮั่นจำนวนมากอย่างชนเผ่าออหวน (烏桓 อูหฺวาน) และเซียนเปย์ (鮮卑) ในภูมิภาคนั้น แม้ว่าจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงพิจารณาจะเรียกตัวจาง หฺวากลับมารับราชการเป็นเสนาบดีในนครหลวงลกเอี๋ยง (洛陽) แต่พระองค์ก็ทรงเปลี่ยนพระทัยทุกครั้งหลังทรงฟังคำของขุนนางที่ไม่ชอบจาง หฺวา ภายหลังจาง หฺวาได้รับการเรียกตัวกลับมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) แต่จาง หฺวาก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งในข้อหาละเลยหน้าที่หลังจากที่คานอันหนึ่งในศาลบรรพชนของราชวงศ์หักลง ดังนั้นตลอดช่วงเวลาที่เหลือในรัชสมัยของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน จาง หฺวาจึงเข้าร่วมในการประชุมราชสำนักในฐานะผู้มีบรรดาศักดิ์เฮา (侯 โหว)[9]
หลังจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนสวรรคตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 290 จาง หฺวาถูกเรียกตัวกลับลกเอี๋ยงเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหราชพิธี (太常卿 ไท่ฉางชิง) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง บทบาทหลักของจาง หฺวาคือการถวายการสอนแก่ซือหม่า ยฺวี่ (司馬遹) พระโอรสองค์เดียวและเป็นรัชทายาทของซือหม่า จง (จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้) ที่ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่ หลังจากจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิง (賈南風) โค่นอำนาจจักรพรรดินีพันปีหลวงหยาง จื่อ (楊芷) และหยาง จฺวิ้น (楊駿) ผู้เป็นบิดาในการก่อรัฐประหารในเดือนเมษายน ค.ศ. 291 จักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงทรงแต่งตั้งให้จาง หฺวาดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่สูงขึ้นคือเป็นขุนนางที่ปรึกษาผู้ใหญ่ฝ่ายขวา (右光祿大夫 โย่วกวางลู่ต้าฟู), ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และผู้กำกับสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書監 จงชูเจียน) เหตุผลบางประหารเบื้องหลังการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วของจาง หฺวา ก็คือทั้งจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงและเจี่ย มี่ (賈謐) เห็นว่าจาง หฺวาไม่ได้มาจากตระกูลที่มีอำนาจ ไม่ได้ต่อต้านการสำเร็จราชการของจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิง และยังมีชื่อเสียงในหมู่ขุนนางในราชสำนักคนอื่น ๆ[d] แม้ว่าจาง หฺวามีความภักดี แต่จาง หฺวาก็กังวลเรื่องที่ตระกูลของจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงขึ้นมามีอำนาจ และจาง หฺวาได้เขียนบทความชื่อ "หนฺีว์ฉื่อเจิน" (女史箴) เพื่อเสียดสีในเรื่องนี้ ในที่สุดจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงทรงตัดสินพระทัยตั้งให้จาง หฺวามีบรรดาศักดิ์เป็นจฺว้างอู่กง (壮武公) ตอนแรกจาง หฺวาปฏิเสธการรับบรรดาศักดิ์หลายครั้ง แต่หลังจากมีพระเสาวนีย์จากจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิง มาถึง จาง หฺวาจึงตัดสินใจรับบรรดาศักดิ์[10]
เมื่อประมาณเดือนมีนาคม ค.ศ. 296[11][e] จาง หฺวาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) แทนที่ซือหมา หฺว่าง (司馬晃) ผู้เป็นอ๋องแห่งแห้ฝือ (下邳王 เซี่ยพีหวาง) และสิ้นพระชนม์ก่อนหน้านี้ในเดือนเดียวกัน ในช่วงเวลาหลายปีต่อมาที่จักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงกุมอำนาจ (จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้เป็นเพียงจักรพรรดิหุ่นเชิด) จาง หฺวาใช้ทักษะทางการเมืองของตนในการควบคุมกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ที่ช่วงชิงกัน โดยจาง หฺวาร่วมมือกับเผย์ เหว่ย์ (裴頠) ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิง
การเสียชีวิตและผลสืบเนื่อง
[แก้]ช่วงต้น ค.ศ. 300 ความผันผวนทางการเมืองใหญ่โตเกินกว่าจาง หฺวาจะรับมือได้ หลังจากจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงทรงกล่าวหาว่าซือหม่า ยฺวี่เป็นกบฏในเดือนกุมภาพันธ์และทรงมีรับสั่งให้ปลดซือหม่า ยฺวี่ออกจากตำแหน่ง ในเดือนเมษายน จักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงทรงเกรงว่าซือหม่า ยฺวี่จะกลับมามีอำนาจ จึงทรงมีรับสั่งให้ปลงพระชนม์ซือหม่า ยฺวี่ ด้วยชื่อเสียงในทางร้ายของจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงจากเหตุฆาตกรรมซือหม่า ยฺวี่ จึงทำให้ซือหม่า หลุน (司馬倫) ผู้เป็นอ๋องแห่งเตียว (趙王 เจ้าหวาง) และเป็นปู่น้อยของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ ทรงวางแผนจะก่อรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิง พระองค์ทรงพยายามโน้มน้าวจาง หฺวาให้เข้าร่วมในการก่อรัฐประหาร แต่จาง หฺวาไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วม ในเดือนพฤษภาคม หลังซือหม่า หลุนทรงโค่นอำนาจจักรพรรดินีเจี่ยเป็นผลสำเร็จ ซือหม่า หลุนทรงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตผู้สนับสนุนจักรพรรดินีเจี่ยและผู้เกี่ยวข้องพร้อมกับครอบครัว ซึ่งรวมถึงจาง หฺวาด้วย
ต่อมาซือหม่า หลุนทรงชิงราชบัลลังก์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 301 และขึ้นปกครองในฐานะจักรพรรดิเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนถูกโค่นล้มในเดือนพฤษภาคม ซือหมา จฺหย่ง (司馬冏) ผู้เป็นโอรสและทายาทของสุมาฮิวได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขุนนางชื่อจื้อ ยฺหวี (挚虞) ยื่นคำร้องต่อซือหมา จฺหย่งขอให้ฟื้นฟูเกียรติยศย้อนหลังให้จาง หฺวา มีขุนนางอีกคนจากเขตศักดินาของจาง หฺวาที่จฺว้างอู่ (壮武) ชื่อจู๋ เต้า (竺道) ก็ส่งคำร้องที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันไปยังซือหม่า อี้ (司馬乂) ผู้เป็นอ๋องแห่งเตียงสา (長沙王 ฉางชาหวาง) ระหว่างที่ซือหมา จฺหย่งทรงเริ่มการอภิปรายเรื่องสถานะของจาง หฺวา และขุนนางหลายคนมีความเห็นว่าจาง หฺวาได้รับความอยุติธรรม แต่ก็มีขุนนางบางคนที่มีความเห็นว่าการลงโทษที่จาง หฺวาได้รับนั้นสมเหตุสมผลอยู่แล้ว จึงยังไม่มีการตัดสินใด ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การฟื้นฟูเกียรติยศให้จาง หฺวามาถึงเมื่อ ค.ศ. 303 ในสมัยสำเร็จราชการของซือหม่า อี้[f] จาง หฺวาได้รับตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ดั้งเดิม แม้ว่าจะไม่มีการตั้งสมัญญานามก็ตาม[12][g]
กวีนิพนธ์
[แก้]กวีนิพนธ์ของจาง หฺวาได้รับการชื่นชมจากหลายบุคคลเช่นรฺเหวี่ยน จี๋และเฉิน หลิว (陳留) จาง หฺวาเป็นคนที่อ่านหนังสือมาก เมื่อจาง หฺวาย้ายบ้านนั้นต้องใช้เกวียนถึง 30 คันในการขนหนังสือ จาง หฺวาเป็นผู้เขียนปั๋วอู้จื้อ (博物志) ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความในหัวข้อต่าง ๆ ในความสนใจของจาง หฺวา หนังสือน่าจะสูญหายในยุคราชวงศ์ซ่ง ผลงานสมัยใหม่ที่สืบทอดต่อมาในชื่อเดียวกันนี้น่าจะรวบรวมมาจากบทความที่หลงเหลือซึ่งพบในหนังสือเล่มอื่น ๆ
ครอบครัวและทายาท
[แก้]จาง หฺวามีบุตรชาย 2 คน ได้แก่ จาง อี (張禕) ผู้รับราชการในตำแหน่งนายทหารม้ามหาดเล็ก (散騎常侍 ซานฉีฉางชื่อ) และจาง เหว่ย์ (張韙) ผู้รับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานทหารม้ามหาดเล็ก (散騎侍郎 ซ่านฉีชื่อหลาง) ทั้งสองเสียชีวิตพร้อมกับบิดาและคนในครอบครัวคนอื่น ๆ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 300 มีเพียงหลานชายของจาง หฺวาชื่อจาง ยฺหวี (張輿) ที่รอดชีวิตจากการกวาดล้างมาได้ และได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ของจาง หฺวาผู้ปู่เมื่อ ค.ศ. 303 หลังจาง หฺวาได้รับการฟื้นฟูเกียรติยศย้อนหลัง
จาง ช่างโหรว (张尚柔) พระมารดาของจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (梁武帝) เป็นผู้สืบเชื้อสายรุ่นที่ 6 ของจาง หฺวา[13]
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ บทพระราชประวัติซือหม่า จง (司馬衷) ในจิ้นชูบันทึกว่าจาง หฺวาถูกสังหารใรวันกุ่ยซื่อ (癸巳) ในเดือน 4 ของศักราชหย่งคาง (永康) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของซื่อหม่า จง เทียบได้กับวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 300 ในปฏิทินจูเลียส[1] บทชีวประวัติจาง หฺวาในจิ้นชูชุดเดียวกันนี้บันทึกว่าจาง หฺวาเสียชีวิตขณะอายุ 69 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)
- ↑ "เตียโฮ้" เป็นชื่อที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องไซจิ้นซึ่งแปลเป็นภาษาไทยในปี พ.ศ. 2410[2]
- ↑ บุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ ที่หลิว น่าเคยประเมิน ได้แก่ หวาง เหยี่ยน (王衍) ชื่อรอง อี๋ฝู่ (夷甫), เยฺว่ กว่าง (樂廣) ชื่อรอง เยี่ยนฝู่ (彥輔), ตู้ ยฺวี่ (杜毓) ชื่อรอง ฟางชู (方叔) หลานปู่ของตู้ สี (杜襲), โจว ฮุย (周恢) ชื่อรอง หงอู่ (弘武) ในอนาคตเป็นตาของซือหม่า ถาน (司馬覃) และเป็นหนึ่งใน "สหายยี่สิบสี่คนแห่งจิงกู่" (金谷二十四友 จิงกู่เอ้อร์ฉือซื่อโหย่ว) ที่มีความเกี่ยวข้องกับเจี่ย มี่ (賈謐) ร่วมกับตัวหลิว น่าเองและตู้ ยฺวี่
- ↑ แม้ว่าเป็นเรื่องแปลกที่จักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงทรงไว้วางพระทัยจาง หฺวา เพราะกาอุ้น (賈充 เจี่ย ชง) ที่เป็นบิดาผู้ล่วงลับของจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงเคยสนับสนุนให้ประหารชีวิตจาง หฺวาในช่วงการพิชิตง่อก๊กโดยราชวงศ์จิ้น ตามที่ระบุในบทชีวประวัติกาอุ้นและบทชีวประวัติจาง หฺวาในจิ้นชู
- ↑ จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 82 บันทึกเหตุการณ์โดยระบุในเดือนเดียวกันกับที่ระบุในจิ้นชู ซึ่งเทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ถึง 20 มีนาคม ค.ศ. 296 ในปฏิทินจูเลียส
- ↑ ซือหม่า จฺหย่งถูกปลงพระชนม์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 303 ในเดือน 12 ของศักราชไท่อาน (太安) ปีที่ 1
- ↑ แม้ว่าจาง หฺวาไม่ได้รับสมัญญายาม แต่ชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "จฺว้างอู่" ก็อาจถือว่าเป็นสมัญญานามอย่างไม่เป็นทางการตามที่ระบุในอี้โจวชู (逸周書) ทั้ง จฺว้าง และ อู่ ถือเป็นสมัญญานามที่มีความหมายเชิงบวก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ [(永康元年夏四月)癸巳,梁王肜、赵王伦矫诏废贾后为庶人,司空张华、尚书仆射裴𬱟皆遇害...)] จิ้นชู เล่มที่ 4.
- ↑ ("พระเจ้าซีโจบู๊ฮ่องเต้ได้ทรงฟังก็นิ่งอยู่มิได้ตรัสประการใด ตั้งแต่นั้นมาไม่สบาย พระทัยทรงรำลึกถึงเตียโฮ้เจ้าเมืองฮิวจิวด้วยเป็นคนซื่อตรงเคยใช้สอยเชื่อถือมาแต่ก่อน จึงรับสั่งให้ข้าหลวงไปเมืองฮิวจิวหาตัวเตียโฮ้เข้ามาเฝ้า") ไซจิ้น, พิมพ์ครั้งที่ 5, สำนักพิมพ์โฆษิต, 2551, หน้า 77.
- ↑ (乡人刘放亦奇其才,以女妻焉。) จิ้นชู เล่มที่ 36.
- ↑ (华少孤贫,自牧羊,同郡卢钦见而器之。) จิ้นชู เล่มที่ 36
- ↑ (陈留阮籍见之,叹曰:“王佐之才也!”由是声名始著.) จิ้นชู เล่มที่ 36.
- ↑ (郡守鲜于嗣荐华为太常博士。卢钦言之于文帝,转河南尹丞,未拜,除佐著作郎。顷之,迁长史,兼中书郎。) จิ้นชู เล่มที่ 36.
- ↑ (祜寝疾,求入朝。既至洛阳,会景献宫车在殡,哀恸至笃。中诏申谕,扶疾引见,命乘辇入殿,无下拜,甚见优礼。及侍坐,面陈伐吴之计。帝以其病,不宜常入,遣中书令张华问其筹策。祜曰:“今主上有禅代之美,而功德未著。吴人虐政已甚,可不战而克。混一六合,以兴文教,则主齐尧舜,臣同稷契,为百代之盛轨。如舍之,若孙皓不幸而没,吴人更立令主,虽百万之众,长江未可而越也,将为后患乎!”华深赞成其计。祜谓华曰:“成吾志者,子也。”) จิ้นชู เล่มที่ 34.
- ↑ ([刘]隗伯父讷,字令言,有人伦鉴识。初入洛,见诸名士而叹曰:“王夷甫太鲜明,乐彦辅我所敬,张茂先我所不解,周弘武巧于用短,杜方叔拙于用长。) จิ้นชู เล่มที่ 69.
- ↑ (顷之,征华为太常。以太庙屋栋折,免官。遂终帝之世,以列侯朝见。) จิ้นชู เล่มที่ 36.
- ↑ (贾谧与后共谋,以华庶族,儒雅有筹略,进无逼上之嫌,退为众望所依,欲倚以朝纲,访以政事。疑而未决,以问裴𬱟,𬱟素重华,深赞其事。华遂尽忠匡辅,弥缝补阙,虽当暗主虐后之朝,而海内晏然,华之功也。华惧后族之盛,作《女史箴》以为讽。贾后虽凶妒,而知敬重华。久之,论前后忠勋,进封壮武郡公。华十馀让,中诏敦譬,乃受。数年,代下邳王晃为司空,领著作。) จิ้นชู เล่มที่ 36.
- ↑ ([元康六年]春正月,大赦。司空、下邳王晃薨。以中书监张华为司空,...) จิ้นชู เล่มที่ 4.
- ↑ (后伦、秀伏诛,齐王冏辅政,挚虞致笺于冏曰:“间于张华没后入中书省,得华先帝时答诏本草。先帝问华可以辅政持重付以后事者,华答:“明德至亲,莫如先王,宜留以为社稷之镇。”其忠良之谋,款诚之言,信于幽冥,没而后彰,与苟且随时者不可同世而论也。议者有责华以湣怀太子之事不抗节廷争。当此之时,谏者必得违命之死。先圣之教,死而无益者,不以责人。故晏婴,齐之正卿,不死崔杼之难;季札,吴之宗臣,不争逆顺之理。理尽而无所施者,固圣教之所不责也。”冏于是奏曰:“臣闻兴微继绝,圣王之高政;贬恶嘉善,《春秋》之美义。是以武王封比干之墓,表商容之闾,诚幽明之故有以相通也。孙秀逆乱,灭佐命之国,诛骨鲠之臣,以斫丧王室;肆其虐戾,功臣之后,多见泯灭。张华、裴𬱟各以见惮取诛于时,解系、解结同以羔羊并被其害,欧阳建等无罪而死,百姓怜之。今陛下更日月之光,布维新之命,然此等诸族未蒙恩理。昔栾郤降在皂隶,而《春秋》传其违;幽王绝功臣之后,弃贤者子孙,而诗人以为刺。臣备忝在职,思纳愚诚。若合圣意,可令群官通议。”议者各有所执,而多称其冤。壮武国臣竺道又诣长沙王,求复华爵位,依违者久之。太安二年,诏曰:“夫爱恶相攻,佞邪丑正,自古而有。故司空、壮武公华竭其忠贞,思翼朝政,谋谟之勋,每事赖之。前以华弼济之功,宜同封建,而华固让至于八九,深陈大制不可得尔,终有颠败危辱之虑,辞义恳诚,足劝远近。华之至心,誓于神明。华以伐吴之勋,受爵于先帝。后封既非国体,又不宜以小功逾前大赏,华之见害,俱以奸逆图乱,滥被枉贼。其复华侍中、中书监、司空、公、广武侯及所没财物与印绶符策,遣使吊祭之。”) จิ้นชู เล่มที่ 36.
- ↑ (太祖献皇后张氏,讳尚柔,...父穆之,字思静,晋司空华六世孙。) เหลียงชู เล่มที่ 7.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ฝาง เสฺวียนหลิง (บก.) (648). จิ้นชู.
- Giles, Herbert (1898). "Chang Hua". A Chinese Biographical Dictionary. London: Bernard Quaritch.