ข้ามไปเนื้อหา

จักรพรรดิหงซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรพรรดิหงซี
จักรพรรดิจีน
จักรพรรดิแห่ง ราชวงศ์หมิง พระองค์ที่ 4
ครองราชย์7 September 1424 - 29 May 1425
ก่อนหน้าจักรพรรดิหย่งเล่อ
ถัดไปจักรพรรดิซวนเต๋อ
ประสูติ16 สิงหาคม ค.ศ. 1378(1378-08-16)
สวรรคต29 พฤษภาคม ค.ศ. 1425(1425-05-29) (46 ปี)
ฝังพระศพXianling, Ming Dynasty Tombs, Beijing
จักรพรรดินีสมเด็จพระจักรพรรดินีเฉิงเซี่ยวเจา พระบรมราชอัยยิกาพันปีหลวง
พระราชบุตรZhu Zhanji, Xuande Emperor
พระนามเต็ม
Family name: Zhu (朱)
Given name: Gaochi (高熾)
รัชศก
Hongxi (洪熙) 20 January 1425 – 7 February 1426
พระสมัญญานาม
จักรพรรดิ จิงเถียน Tidao Chuncheng จื้อเต๋อ หงเหวิน ฉินหวู่ Zhangsheng Daxiao Zhao
敬天體道純誠至德弘文欽武章聖達孝昭皇帝
พระอารามนาม
Ming Renzong
明仁宗
ราชวงศ์ราชวงศ์หมิง
ราชสกุลHouse
พระราชบิดาจักรพรรดิหย่งเล่อ
พระราชมารดาEmpress Ren Xiao Wen

สมเด็จพระจักรพรรดิหมิงเหยินจง จู เกาชื่อ (อังกฤษ: Hongxi Emperor; จีน: 洪熙帝; xʊ̌ŋɕí) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์หมิง ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1424 ถึง ค.ศ. 1425 พระองค์สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาคือจักรพรรดิหย่งเล่อในปี ค.ศ. 1424 นามศักราชของพระองค์คือ "หงซี" แปลว่า "สว่างไสว" แม้จะครองราชย์เพียง 9 เดือนแต่ทรงได้รับการยกย่องในแง่การใช้เมตตาธรรมต่อราษฎรและใช้เหตุผลในการปกครองอย่างชัดเจน ผ่านนโยบายฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรและนโยบายปฏิรูปที่ลดความฟุ่มเฟือยและความรุนแรงเด็ดขาดในรัชสมัยหย่งเล่อ เป็นจุดเริ่มต้นช่วงเวลา 11 ปีที่นักประวัติศาสตร์ยกย่องว่าเป็นยุคทองของราชวงศ์หมิงคือการปกครองแห่ง"รัชสมัยเหริน-ซวน" (仁宣之治)

พระราชประวัติ

[แก้]

เจ้าชายจู เกาชื่อ ประสูติเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1378 ในปีที่ 10 ในรัชสมัยของจักรพรรดิหงอู่ และได้รับการศึกษาจากอาจารย์ที่มีชื่อเสียง พระองค์มักจะทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในนานกิงหรือปักกิ่งในระหว่างการรบทางเหนือของพระราชบิดา โดยหย่งเล่อมักเสด็จฯนำทัพไปรบทางเหนือหรือตรวจราชการนอกเมืองหลวงเป็นเวลานาน(บางครั้งนานถึง 1-2 ปี) จู เกาชื่อในฐานะรัชทายาทถูกมอบหมายให้ดูแลราชการในหนานจิง(เมืองหลวงเดิม)ตั้งแต่ปี 1404 เป็นต้นมา โดยหมิงสื่อ(明史) บันทึกว่าหงซีทรงแก้ปัญหาการคลังและคดีความที่สะสมอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างนโยบายหย่งเล่อ หย่งเล่อเน้นการทหารและการใช้งบประมาณมหาศาล เช่น สร้างพระราชวังต้องห้าม หรือเดินเรือเจิ้งเหอ ซึ่งสร้างภาระหนี้สิน ขณะที่หงซีทรงเป็นฝ่ายรั้งไม่ให้โครงการเหล่านี้กระทบประชาชนเกินไป เช่น จัดระบบการเกณฑ์แรงงานให้เป็นธรรม ลดการทุจริตในท้องถิ่น อีกทั้งหย่งเล่อทรงไว้ใจขุนนางฝ่ายทหารและขันที แต่หงซีกลับสร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ ขุนนางนักปราชญ์สายขงจื๊อ เช่น "สามหยาง" (หยางหรง, หยางผู่, หยางสื้อฉี) ซึ่งต่อมากลายเป็นกำลังหลักในรัชสมัยของพระองค์และรัชสมัยซวนเต๋อ กลุ่มขุนนางเหล่านี้ช่วยประสานนโยบายของหย่งเล่อกับความเป็นจริงทางการคลัง เช่น การรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดเก็บภาษีอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจ

พระองค์ไม่สนพระทัยเรื่องการทหารแต่พระองค์สนพระทัยเรื่องการยิงธนู[1] เนื่องจากปัญหาสุขภาพและความพิการส่วนขาตั้งแต่วัยเด็ก จู เกาชื่อจึงไม่มีโอกาสติดตามหย่งเล่อออกสู่สนามสนามรบดังเช่นพระอนุชาของพระองค์ แค่ก็เป็นโอกาสให้ฝึกฝนและใช้ความสามารถในด้านการบริหารราชการทดแทน โดยทรงตรัสกับพระราชบิดาว่า "儿臣体胖,不擅骑射,然治国安民乃儿臣之志" ("ลูกอ้วน ขี่ม้าไม่คล่อง แต่ตั้งใจจะปกครองให้ประชาชนสงบสุข")

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1421 ในรัชสมัยของพระราชบิดา มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ระงับการเดินเรือของเจิ้งเหอ เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก (แม้ว่าพระราชโองการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางครั้งที่ 6 ของเจิ้งเหอ)[2] ในวันราชาภิเษกเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1424 พระองค์รับสั่งให้ยกเลิกการเดินทางสำรวจทางทะเลของเจิ้งเหออย่างถาวร โดยเผากองเรือหรือทิ้งเรือให้ย่อยสลาย และให้ยกเลิกการค้าใบชาสำหรับม้าที่ชายแดน[3]

จักรพรรดิหงซี ทรงได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่ามีคุณธรรมสูง เมตตาต่อราษฎร และใช้เหตุผลในการปกครองอย่างชัดเจน แม้ตำนานบางส่วนอาจถูกเสริมเติมให้สมบูรณ์แบบตามอุดมคติของขงจื๊อ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็สนับสนุนว่าแนวทางปกครองของพระองค์สอดคล้องกับภาพลักษณ์ดังกล่าว ดังตัวอย่างเหตุการณ์เหล่านี้

1. ลดภาษี-บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย ในปี ค.ศ. 1424 (ต้นรัชสมัย) พระองค์ทรงออกพระราชโองการ "ลดภาษี 3 ปี" ในมณฑลที่ประสบภัยธรรมชาติ เช่น เหอหนานและซานตง รวมทั้งสั่งแจกจ่ายข้าวจากคลังหลวงให้ผู้ยากไร้ รวมทั้งให้ทำสำมะโนประชากรใหม่เพื่อลดภาระภาษีของราษฎรที่ถูกเก็บเกินควร

2. คืนสถานะให้ขุนนางฝ่ายบุ๋น ที่ถูกกดดันและหลายคนถูกลงโทษอย่างรุนแรงในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (ผู้เน้นการทหาร) เช่น แต่งตั้งขุนนางสายปฏิรูปขึ้นเป็นที่ปรึกษาชั้นสูง เมื่อขุนนางบางกลุ่มคัดค้านการย้ายเมืองหลวงกลับหนานจิง พระองค์ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจบังคับและลงโทษ แต่เปิดให้อภิปรายตามหลักการปกครองร่วมกันระหว่างจักรพรรดิและขุนนาง

3. ยุติโครงการใหญ่ของหย่งเล่อโดยใช้เหตุผลแก้ปัญหา โดยทรงวิจารณ์โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และนโยบายขยายอำนาจผ่านสงครามว่าทำให้คลังร่อยหรอ กำลังราษฎรอ่อนล้า บั่นทอนประชาชนและทรัพย์สิน

4. ความอ่อนโยนแม้ต่อศัตรู แม้พระอนุชาจู เกาซู (朱高煦) พยายามแย่งชิงบัลลังก์หลายครั้งในสมัยหย่งเล่อ แต่แทนที่จะประหารหรือเนรเทศ จักรพรรดิหงซีกลับพระราชทานตำแหน่งและที่ดินให้

5. เรียบง่ายและใกล้ชิดประชาชน หมิงสื่อ(明史) บันทึกว่าพระองค์ ไม่โปรดงานเลี้ยงฟุ่มเฟือย ทรงใช้ชีวิตสมถะ และมักเสด็จฯ ตรวจสอบการทำงานของข้าราชการด้วยพระองค์เอง ครั้งหนึ่งมีขุนนางถวายเครื่องบรรณาการเป็นหยกหายาก พระองค์ทรงปฏิเสธพร้อมตรัสว่า "与其献玉,不如献稻谷" ("แทนที่จะถวายหยก ควรถวายข้าวให้ราษฎรมากกว่า")

6. ส่งเสริมหลักการปกครองที่เป็นธรรม ลดอำนาจขันทีที่เคยแทรกแซงการปกครองในสมัยหย่งเล่อ ยกเลิกบทลงโทษที่รุนแรงเช่นการทรมานและการประหารหมู่ของข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่ากบฏ ทรงให้ขุนนางฝ่ายปกครองเน้นความเมตตาและใช้เหตุผลในการบริหารประชาชน แทนที่จะใช้มาตรการที่รุนแรง

จักรพรรดิหงซีประชวรและสวรรคตอย่างกะทันหันในปี 1425 (พระชนมายุ 47 ปี) ด้วยพระโรคอ้วนและโรคเกาต์เรื้อรัง ร่วมกับความเหนื่อยล้าจากการแก้ปัญหาสืบทอดจากยุคพระราชบิดา ทำให้นโยบายหลายอย่างยังไม่บรรลุผลที่ชัดเจน อย่างไรก็ดีภาพรวมของพระองค์ยังคงเป็น "ปราชญ์ผู้เปี่ยมเมตตา" ตามที่ 明仁宗实录 (บันทึกประวัติศาสตร์รัชสมัยหงซี) ยกย่องว่า "在位虽短,德化深远" ("ครองราชย์สั้น แต่คุณธรรมแผ่ไพศาล")

อ้างอิง

[แก้]
  1. Frederick W. Mote; Denis Twitchett (26 February 1988). The Cambridge History of China: Volume 7, The Ming Dynasty, 1368-1644. Cambridge University Press. pp. 277–. ISBN 978-0-521-24332-2.
  2. Dreyer 2006, p. 90.
  3. Dreyer 2006, p. 137.
ก่อนหน้า จักรพรรดิหงซี ถัดไป
จักรพรรดิหย่งเล่อ จักรพรรดิจีน
(ค.ศ. 1424 - 1425)
จักรพรรดิซวนเต๋อ