สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จวน นาถ)
สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี
(ชวน ณาต โชตญาโณ)
สมเด็จพระสังฆราช ในคณะมหานิกาย
สถาปนาพ.ศ. 2492
ก่อนหน้าสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ปรัก ฮิน สุธมฺมตฺเถโร)
ถัดไปสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ฮวต ตาต วชิรปญฺโญ)
สถิตวัดอุนาโลม
นิกายมหานิกาย
ประสูติ11 มีนาคม พ.ศ. 2426
สิ้นพระชนม์25 กันยายน พ.ศ. 2512 (86 ปี)

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) (เขมร: សម្ដេច​ព្រះ​មហា​សុមេធាធិបតី ជួន ណាត ជោតញ្ញាណោ; อังกฤษ: Chuon Nath; ค.ศ. 1883–1969) เป็นสมเด็จพระสังฆราชกัมพูชาในคณะสงฆ์มหานิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ เป็นนักปราชญ์ที่บทบาทในการนิพนธ์หนังสือและองค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น พจนานุกรมเขมร แต่งเพลงชาติกัมพูชา มีบทบาทด้านการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บาลี โดยเฉพาะตัวท่านเองมีความรู้หลายภาษา เช่น บาลี สันสกฤต อังกฤษ ฝรั่งเศส ไทย เป็นต้น เป็นพระผู้มีบทบาทในการก่อตั้งสถาบันพุทธศาสนบัณฑิตย์ (Institut Bouddhique)[1] ซึ่งก่อตั้งโดยฝรั่งเศสและมีเป้าหมายเพื่อการปกป้องอิทธิพลสยามที่มาพร้อมกับธรรมยุติกนิกายในประเทศกัมพูชา

ประวัติ[แก้]

หนังสือพจนานุกรมเขมร ที่นิพนธ์โดยสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี ชวน ณาต โชตญาโณ เป็นหนังสือที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและจัดพิมพ์เป็นจำนวนหลายครั้ง

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) ประสูติเมื่อวันขึ้น 11 ค่ำ เดือนผัคคุณะ (เดือน 4) ปีวอก พ.ศ. 2427 ตรงกับวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1883 ตามปฏิทินสากล ณ หมู่บ้านกอมเรียง ตำบลระกาเกาะ อำเภอคงพิสี จังหวัดกำปงสปือ สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดีประสูติในตระกูลเกษตรกร พระชนนีชื่อว่า นางชวน ยก พระชนกชื่อว่า ชวน พรหม เมื่อมีพระชันษา 12 ปี พระบิดาได้นำไปฝากฝังเรียนวิชาอักษรเขมรในสำนักเรียนของท่านพระอาจารย์แก มน พระกรรมวาจาจารย์เบื้องขวา ณ วัดโพธิพฤกษ์ (เรียกกันทั่วไปว่า วัดโพธิ์ลอย) ตำบลระลังแกน อำเภอกันดาลสตึง จังหวัดกันดาล ต่อมาเมื่อมีพระชันษา 14 ปี จึงได้ผนวชเป็นสามเณร ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6) ปีจอ พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1897) อยู่ศึกษาในวัดโพธิพฤกษ์ เป็นเวลา 2 ปี จนสำเร็จการศึกษา จึงได้กราบลาพระครูจากสำนักเรียนวัดโพธิพฤกษ์ไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดอุณาโลม ที่กรุงพนมเปญ ในสำนักเรียนท่านพระพุทธครู (เทพ โส) ในกุฎิปกครองชั้นต้น เมื่อปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1899)

เมื่อพระชันษา 21 ปี จึงผนวชเป็นพระ ณ วัดโพธิพฤกษ์ ซึ่งเป็นวัดที่เคยเรียนพระสูตรในช่วงแรก โดยมีพระพุทธโฆษาจารย์ (มา เกต สุวณฺณปฺปญฺโญ) (ព្រះពុទ្ធឃោសាចារ្យ ម៉ា កេត សុវណ្ណប្បញ្ញោ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระแก มน มิสฺสนาโค (កែ ម៉ន មិស្សនាគោ) เป็นพระกรรมวาจารย์เบื้องขวา มีพระเอิม เคิม ติกฺขปฺปญฺโญ (អ៊ឹម ខឹម តិក្ខប្បញ្ញោ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ผนวชเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนเชฏฐะ (เดือน 7) ปีมะโรง พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1904) ได้รับฉายาเป็นภาษาบาลีว่า "โชตญาโณ" (ជោតញ្ញាណោ) เมื่อผนวชแล้ว จึงเสด็จกลับมาประทับยังวัดอุณาโลม มาศึกษาคันถธุระต่อ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ ในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1944) และได้รับพระราชทานพระสมณศักดิ์ตามลำดับชั้นเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1950) จึงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสุรามฤตให้เป็น "สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี สังฆนายกแห่งคณะมหานิกาย" อันเป็นตำแหน่งประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (ชวน ณาต โชตญาโณ) มีพระอาการประชวรในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1969 สมเด็จพระนโรดม สีหนุ สมเด็จพระประมุขรัฐในขณะนั้น ได้มีพระราชบัญชาให้ทางรัฐบาลจัดหาแพทย์กัมพูชาและแพทย์ฝรั่งเศสที่เชี่ยวชาญมาช่วยกันถวายการรักษาพระองค์ แต่ก็สิ้นพระชนม์อย่างสงบเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1969 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 14 ค่ำ เดือนภัทรบท (เดือน 10) ปีระกา จ.ศ. 1330 พ.ศ. 2512 ด้วยพระโรคชรา สิริพระชันษา 86 ปี 65 พรรษา

สมณศักดิ์[แก้]

  • พ.ศ. 2454/ค.ศ. 1910 พระปลัดศากยบุตร ฐานานุกรมของพระศากยวงศ์ (นุต) วัดอุณาโลม
  • พ.ศ. 2456/ค.ศ. 1912 พระครูสังฆสัตถา ฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสังฆราช (เนิล เตียง สุวณฺณเกสโร) วัดอุณาโลม
  • พ.ศ. 2475/ค.ศ. 1931 พระศาสนโสภณ พระราชาคณะชั้นสามัญ (រាជាគណៈ​កិត្តិយស; ราชาคณะกิตติยศ)
  • พ.ศ. 2484/ค.ศ. 1944 พระราชโพธิวงศ์ พระราชาคณะชั้นราช (រាជាគណៈ​ថ្នាក់​ទី ​២; ราชาคณะชั้นที่ 2)
  • พ.ศ. 2488/ค.ศ. 1944 พระเทพโพธิวงศ์ พระราชาคณะชั้นเทพ (រាជា​គណៈ​ថ្នាក់​ទី​ ១; ราชาคณะชั้นที่ 1)
  • พ.ศ. 2492/ค.ศ. 1948 พระมหาสุเมธาธิบดี (ព្រះមហាសុមេធាធិបតី) พระราชาคณะชั้นพรหม สังฆนายกคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
  • พ.ศ. 2494/ค.ศ. 1950 สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (សម្ដេច​ព្រះ​មហា​សុមេធាធិបតី) สังฆนายกคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

พระกรณียกิจ[แก้]

อนุสาวรีย์สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี ชวน ณาต โชตญาโณ หน้าสถาบันพุทธศาสนบัณฑิต (Buddhist Institute) กรุงพนมเปญ

สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี ชวน ณาต โชตญาโณ มีพระปรีชาสามารถ ในการฟัง สนทนา อ่าน เขียนภาษาต่าง ๆ ได้เข้าใจอย่างแตกฉานถึง 7 ภาษา อันได้แก่ ภาษาลาว ภาษาไทย ภาษาเวียดนาม ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต จนได้รับการยอมรับให้เป็นพระอาจารย์สอนภาษาต่าง ๆ ในสถาบันการศึกษาของประเทศ รวมถึงการเดินทางไปเป็นพระอาจารย์สอนในต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลงานนิพนธ์ที่เป็นผลงานการแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาเขมรมากมาย ซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ๆ รวมไปถึงบทสวดมนต์ต่าง ๆ สำหรับพระภิกษุสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนชาวกัมพูชา เช่น กัจจายะนูปถัมภก (ไวยากรณ์บาลี), สามเณรวินัย, ปาติโมกข์สังวรสังเขป, คิหิปฏิบัติ เป็นต้น และที่สำคัญคือการเรียบเรียงพจนานุกรมภาษาเขมร เป็นพจนนุกรมที่พระองค์รวมกับคณะกรรมการจัดทำขึ้นโดยรวบรวมคำศัพท์ภาษาเขมรเอาไว้พร้อมอธิบายความหมาย โดยพจนานุกรมภาษาเขมรจัดพิมพ์เป็นสองภาค ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับการจัดพิมพ์มาหลายครั้งแล้วจนได้รับความนิยมกว้างขวาง และในปัจจุบันได้รับการยอมรับให้จัดทำเป็นโปรแกรมพจนานุกรมภาษาเขมรสำหรับการใช้งานในคอมพิวเตอร์และใช้งานในระบบอินเทอร์เน็ต รวมทั้งแต่งเพลงชาติกัมพูชาไว้ด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. เดวิด แชนด์เลอร์, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำรามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์, 2546, หน้า 249.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]