งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิกัดภูมิศาสตร์: 42°21′13″N 71°03′09″W / 42.3536°N 71.0524°W / 42.3536; -71.0524 (Boston Tea Party)

งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน
ส่วนหนึ่งของ การปฏิวัติอเมริกา
Boston Tea Party w.jpg
ภาพ งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน โดย ดับลิว. ดี คูเปอร์
วันที่16 ธันวาคม ค.ศ.1773
สถานที่บอสตัน, รัฐแมสซาชูเซตส์
สาเหตุพระราชบัญญัติชา
เป้าหมายเพื่อประท้วงรัฐสภาอังกฤษเรื่องภาษีของชา "ไม่จ่ายภาษีถ้าไม่มีผู้แทน"
วิธีการโยนหีบชาทิ้งลงในท่าเรือบอสตัน
ผลพระราชบัญญัติเหลือทน
คู่ขัดแย้ง
ผู้นำ

งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (อังกฤษ: Boston Tea Party) เป็นการประท้วงทางการเมืองของกลุ่มซันส์ออฟลิเบอร์ตี (Sons of Liberty) ในบอสตันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1773 เพื่อต่อต้านพระราชบัญญัติชา ลงวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1773 ของรัฐสภาบริเตนใหญ่ ผู้ประท้วง ซึ่งบางคนแต่งกายเป็นชาวอเมริกันพื้นเมือง ทำลายการลำเลียงชาทั้งหมดที่บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) จัดส่งมา โดยขึ้นเรือและโยนหีบชาลงทะเลที่ท่าบอสตัน รัฐบาลบริเตนโต้ตอบอย่างรุนแรง จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นการปฏิวัติอเมริกา งานเลี้ยงน้ำชานี้จึงเป็นเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกา และนับแต่นั้นก็มีผู้ประท้วงทางการเมืองหลายรายอ้างตนเป็นผู้สืบทอดเชิงประวัติศาสตร์ของการประท้วงที่บอสตัน เช่น กลุ่มขบวนการงานเลี้ยงน้ำชา (Tea Party movement)

งานเลี้ยงน้ำชาดังกล่าวเป็นความสุกงอมของขบวนการต่อต้านพระราชบัญญัติชาที่เกิดขึ้นทั่วดินแดนอเมริกาของบริเตน ชาวอาณานิคมต่อต้านพระราชบัญญัตินี้ เพราะเชื่อว่า ขัดต่อสิทธิของพวกเขาในฐานะชาวอังกฤษ ที่จะ "ไม่จ่ายภาษีถ้าไม่มีผู้แทน" กล่าวคือ จะยอมจ่ายภาษีให้แก่ผู้แทนที่พวกตนเลือกตั้งมาเท่านั้น ไม่ใช่แก่รัฐสภาบริเตนที่พวกตนไม่มีผู้แทนอยู่เลย เหล่าผู้ประท้วงประสบความสำเร็จในการขัดขวางไม่ให้ขนถ่ายชาภาษีจากบริเตนเข้าสู่อาณานิคมสามแห่ง แต่ในอาณานิคมบอสตัน ธอมัส ฮัตชิงสัน (Thomas Hutchinson) ผู้ว่าการซึ่งเตรียมพร้อมรบอยู่แล้ว ได้สั่งห้ามส่งชากลับคืนไปยังบริเตน

ใน ค.ศ. 1774 รัฐสภาบริเตนตอบสนองด้วยการตรากฎหมายที่เรียก "พระราชบัญญัติเหลือทน" (Intolerable Acts) หรือ "พระราชบัญญัติบีบคั้น" (Coercive Acts) ซึ่งให้การปกครองตนเองในแมสซาชูเซตส์สิ้นสุดลง และเลิกการค้าในบอสตัน นอกเหนือไปจากบทบัญญัติอื่น ๆ พลเมืองทั่วทั้งสิบสามอาณานิคมตอบโต้พระราชบัญญัติดังกล่าวโดยประท้วงหนักขึ้น และเรียกประชุมใหญ่ประจำทวีปครั้งที่หนึ่ง (First Continental Congress) ซึ่งมีมติให้ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์บริเตนให้ทรงยกเลิกพระราชบัญญัติและไกล่เกลี่ยการต่อต้านพระราชบัญญัติเหล่านั้น ทว่า วิกฤติการณ์ยากจะยุติ นำไปสู่สงครามปฏิวัติอเมริกาใน ค.ศ. 1775

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]