เทศกาลพ้อต่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก งานพ้อต่อ)

เทศกาลพ้อต่อ (ตัวเต็ม: 普渡, ตัวย่อ: 普渡, พินอิน: Pǔ dù ผูตู้, ฮกเกี้ยน: พ้อต่อ) จะจัดประมาณ วันสารทจีน เป็นงานที่จัดขึ้นตามความเชื่อของชาวจีน ในประเทศไทยมีการจัดงานนี้ขึ้นในจังหวัดภูเก็ต โดยได้รับอิทธิพลจากชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยจัดตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน (七月十五日) (ตรงกับเดือน 9 ปฏิทินจันทรคติไทย) ในช่วงเทศกาลดังกล่าวผู้คนจะหาของมาเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณเร่ร่อนทั้งหลาย

ชื่อเรียกต่าง ๆ[แก้]

งานเทศกาลพ้อต่อ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ 2 ชื่อ คือ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน เรียกว่า เทศกาลอุลลัมพน (ตัวเต็ม: 盂蘭勝會, ตัวย่อ: 盂兰胜会, พินอิน: Yú lán shèng huì หฺยฺวีหลันเซิ่งฮุ่ย, ฮกเกี้ยน: อูหลานเซ่งโห่ย ) ซึ่งคำว่า โห่ย หมายถึง ชุมนุม, งานชุมนุม, คณะ ฯลฯ รวมความแล้ว คำว่า อูหลานเซ่งโห่ย แปลว่า งานชุมนุมอุลลัมพน โดยคำว่า อุลลัมพน มาจากภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง "แขวนห้อยหัว" มีความหมายเชิงอุปมาว่า ทุกข์และภัยอันใหญ่ยิ่ง จะถูกช่วยให้หัวกลับขึ้นมา

ส่วนของลัทธิเต๋าจะเรียกเทศกาลนี้ว่า ตงหง่วนพ้อต่อ (ตัวเต็ม:中元普渡, ตัวย่อ: 中元普渡, พินอิน: Zhōng yuán Pǔ dù จงเหฺยฺวียนผูตู้, ฮกเกี้ยน: ตงหงวนพ้อต่อ)

ในระยะแรก ชื่อเรียกของเทศกาลดังกล่าวใช้คำเต็มวลีว่า อูหลานผูนเซ่งโห่ย (จีน:盂蘭盆勝會) แปลว่า งานเฉลิมฉลองเทศกาลอุลลัมพน จนมาภายหลังกร่อนเหลือเพียงว่า อูหลานเซ่งโห่ย (จีน:盂蘭勝會) ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีความหมาย ชาวเมืองจึงนิยมหันมาเรียกว่า เทศกาลพ้อต่อ ซึ่งคำว่า พ้อต่อ นั้นกร่อนมาจาก พ้อต่อจ่งเซ้ง (จีน:普渡眾生) ตามสำเนียงชาวจีนฮกเกี้ยนอันมีความหมายว่า กิจกรรมโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์โดยทั่วกัน

เทศกาลพ้อต่อ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเซ่นไหว้บูชาวิญญาณบรรพบุรุษแล้วนั้น ยังมีวัตถุประสงค์อีกประการคือการทำบุญอุทิศส่วนบุญให้กับวิญญาณไร้ญาติ จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ซีโกวกุ่ย (จีน:施餓鬼) มีความหมายตามภาษาจีนฮกเกี้ยนแปลว่า เทศกาลอุทิศส่วนบุญให้วิญญาณโดดเดี่ยวไร้ญาติ

ความเชื่อต่าง ๆ และที่มาของงาน[แก้]

ชาวจีนฮกเกี้ยนมีความเชื่อว่า ในเดือนเจ็ด โดยเริ่มตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืน ของวันที่สามสิบ เดือนหกนั้น ประตูผีจะเปิดออก เพื่อให้เหล่าดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้กลับมาเยี่ยมโลกมนุษย์ และดวงวิญญาณเหล่านี้ จะท่องเที่ยวอยู่ในโลกมนุษย์เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม ซึ่งดวงวิญญาณเหล่านี้ก็จะกลับมาเยี่ยมลูกหลาน ในขณะที่ดวงวิญญาณไร้ญาติก็ออกหากินไปเรื่อย จะมีการจุดหรือเปิดโคมไปไว้หน้าบ้าน ตามศาลเจ้า เพื่อเป็นการส่องทางให้แก่ดวงวิญญานที่ขึ้นมาจากปรภพให้มารับอาหารและทานที่ได้กระทำอุทิศให้

เกี่ยวข้องกับตำนานของพุทธมหายาน[แก้]

ในพระสูตรฝ่ายมหายาน โยคะตันตระอัคนีชวาลมุขเปรตพลีโยคกรรม หรือพระสูตรว่าด้วยพิธีเทกระจาด มีใจความกล่าวว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้า (พระศากยมุนีพุทธเจ้า) ทรงประทับ ณ วัดนิโครธาราม ในเมืองกรุงกบิลพัสดุ์ ขณะนั้น พระอานนท์ พุทธอนุชา ทรงปลีกวิเวกไปเข้าฌาณสมาบัติในป่า ขณะที่กำลังเข้าฌาณอยู่นั้น มีเปรตตนหนึ่ง สภาพน่าเกลียดร่างกายดำ ผอมแห้ง ในปากมีไฟพลุ่โพล่งอยู่ตลอดเวลา ได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า "หากพระคุณเจ้าไม่กระทำการกุศลอุทิศให้กับเหล่าฝูงเปรต แลคนยากคนจนทั้งหลาย อีก 3 วัน พระคุณเจ้าจักถึงกาลมรณภาพ" พระอานนท์พุทธอนุชาทรงหวาดกลัวอย่างยิ่ง จึงกับไปที่วัดนิโครธาราม แล้วได้ทรงถามพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องที่เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตอบกลับพระอานนท์ผู้เป็นพุทธอนุชาว่า "อย่าทรงหวาดกลัวไปไยเลยหนา เปรตตนนั้นไม่ใช่ใครอื่นใด ที่แท้คือพระอวโลกิเตศวร (เจ้าแม่กวนอิม) ที่ทรงนิรมาณกายให้พระอานนท์ทรงมาบอกเรื่องนี้ เพราะว่าสมัยก่อนนั้น เรา ตถาคตเคยเป็นศิษย์ของสำนักพระอวโลกิเตศวร ซึ่งพระองค์ทรงเคยสอนมหาธารณีมนตร์แก่เรา อันเรานำมาใช้โปรดเหล่าสรรพสัตว์และเพื่อโปรดเหล่าเปรต ซึ่งเป็นมหากุศลอันใหญ่ยิ่ง บัดนี้เรา ตถาคต จักแสดงเหล่าธารณีมนตร์ให้แก่เธอเพื่อใช้โปรดสัตว์"

ซึ่งในช่วงเดือนเจ็ด เป็นเทศกาลเปิดประตูนรก พิธีนี้จึงเกี่ยวข้องกับพิธีพ้อต่อ ซึ่งพ้อต่อหมายถึง"อนุเคราะห์คนยากจน" ซึ่งคำนี้มาจากพิธีนี้

พ้อต่อก้ง กวนอิมไต่ซู ไต่สือเอี้ย พระผู้คุมวิญญาณในพิธีพ้อต่อเดือนเจ็ด[แก้]

ไต่สือเอี้ย (大士爺) พ้อต่อก้ง (普渡公) กวนอิมไต่สือ(觀音大士) คือพระผู้คุมวิญญาณภูตผีปีศาจในพิธีเดือนเจ็ด ประวัติก็สืบเนืองจากในพระสูตรมหายาน โยคะตันตระอัคนีชวาลมุขเปรตพลีโยคกรรม ซึ่งไต่สือเอี้ยก็คือเปรตที่พระอวโลกิเตศวร (เจ้าแม่กวนอิม) แปลงกายมาให้พระอานนท์เห็น นั้นเอง ในพิธีเลยบูชารูปไต่สือเอี้ยเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเทกระจาด และในความเชื่อคนโบราณกล่าวว่า ไต่สือเอี้ย คือพระยายมราช เลยต้องมาตั้งบูชาเพื่อไม่ให้เหล่าภูตผีแย่งชิงอาหารหรือก่อกวนในปรัมพิธี เทวรูปของพระองค์ทำมาจากโครงไม้ไผ่ ประดับด้วยกระดาษสีสันต่าง ๆ พระวรกายกายสีน้ำเงิน ใส่ชุดเกราะทรงเครื่องแบบจีนเต็มยศ มีพระอวโลกิเตศวร (พระแม่กวนอิม) อยู่บนยอดศีรษะของ (บางที่ไม่มี) ไต่สือเอี้ย มือซ้ายที่ป้อก่าย (ธง) เขียนว่า 南無阿彌陀佛 "นำมอออนีถ่อฮุด" แต่บางที่จะเขียนว่า 慶讃中元 "เค่งจั๋นตงหงวน" นิ้วมือซ้ายชี้ลงเบื้องล่าง องค์ขนาดสูง 20 นิ้ว จนถึงสูงเท่าตึก 3 ชั้น ข้างองค์ไต่สือเอี้ย จะมีเทวรูปที่ทำจากกระดาษของยมทูตขาว และยมทูตดำ (หรือบางท้องถิ่น จะเป็นยมทูตขาว กับเจ้าพ่อหลักเมืองแทน)

แนวปฏิบัติ[แก้]

ในช่วงเทศกาล ผู้คนจะจัดโต๊ะตั้งสำรับอาหารเพื่อเซ่นไหว้ บูชาวิญญาณบรรพบุรุษเอาไว้ โดยทั่วไปแล้วจะทำกันในตอนบ่ายของวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจีน อาหารเซ่นไหว้โดยมาก มักประกอบไปด้วย ปลา หมู เป็ด ไก่ ผัก ผลไม้ และขนมต่าง ๆ ซึ่งข้าวของที่ตั้งบนโต๊ะบูชาทุกอย่าง จะต้องมีธูปปักไว้อย่างละ 1 เล่มและบางคนก็นำประทัดมาจุดจำนวนมากจนเมื่อทำการเซ่นไหว้เสร็จแล้ว ก็จะทำการเผากระดาษเงิน อันหมายถึงการแจกจ่ายค่าเดินทาง ให้แก่เหล่าดวงวิญญาณบรรพบุรุษเหล่านั้นด้วย โดยมักมีขนมรูปเต่าสีแดง เรียกว่า อั่งกู รวมอยู่ด้วยแทบทุกครั้งของการทำบุญ

ส่วนการทำบุญแก่วิญญาณไร้ญาติ ถ้าไหว้ที่มูลนิธิ หรือที่วัดที่ประกอบพิธีกรรม ผู้คนจะนำอาหารมาตั้งไว้ให้แก่วิญญาณเหล่านั้นที่โต๊ะ ซึ่งคณะกรรมการจะจัดงานเตรียมไว้ให้ หากเป็นการไหว้วิญญาณไร้ญาติที่บ้านเรือน จะนิยมไหว้หลังจากตอนบ่ายไปแล้ว หรือไหว้ตอนพลบค่ำ โดยจะตั้งอาหารเครื่องเซ่นบนโต๊ะขนาดเล็กหรือบนพื้น เมื่อไหว้เสร็จแล้วก็จะนำอาหารมารับประทาน บุคคลที่ถือเคล็ด มีครูบาอาจารย์ ก็จะไม่นิยมทานกัน

ไหว้วิญญานเร่ร่อน[แก้]

มีชื่อเรียกในภาษาฮกเกี้ยนว่า "ป้ายหมึงเข้า"(จีน: 拜門口)หรือ "ป่ายโฮ่เฮียตี่" (จีน: 拜好兄弟) ซึ่งโฮ่เฮียตี่ แปลว่า พี่น้องที่ดีใช่เรียกบรรดาดวงวิญญาณไม่มีญาติ หลังจากไหว้ที่ศาลเจ้า หรือ สถานที่จัดงานเสร็จ ตามบ้าน หรือ ตามชุมชน จะนำอาหารกระดาษเงินกระดาษทองจำนวนมากที่จัดเตรียมไว้ มาจัดกองไว้บนโต๊ะหรือที่พื้นหน้าบ้านที่เตรียมไว้ ช่วงเวลาไหว้คือตั้งแต่ตอนบ่าย ๆ ได้ถึงเวลา 3 ทุ่ม โดยการไหว้นั้นจะนำเอาปึกกระดาษเงินกระดาษทองวางไว้สี่มุมของโต๊ะ แล้วนำธูป 1 ดอก เทียน 2 เล่ม ปักลงปึกกระดาษทุกปึก และจะมีการจุดเทียน หรือ ตะเกียงหลาย ๆ ดวง อาหารทุกชนิดต้องปักธงที่มีการเขียนอักษรไว้ด้วย พอไหว้เสร็จจะนิยมเผากระดาษกันหลังพระอาทิตย์ตก โดยนำกระดาษมากองรวมกันแล้วจุดไฟเผา ห้ามดับไฟจนกว่ากระดาษจะมอดดับไปเอง

เนื่องจากการไหว้วิญญานเร่ร่อน ปัจจุบันมีการจัดร่วมในพิธีพ้อต่อตามศาลเจ้า หรือ สถานที่จัดงาน เพราะสะดวกไม่วุ่นวาย แล้วไม่เป็นการสิ้นเปลืองทรัพย์มาก จึงไม่ค่อยได้พบเห็นการไหว้ผีไม่มีญาติตามบ้านเรือนเหมือนในอดีตนัก

นอกจากนี้ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ประตูผีเปิดออก ผู้คนจะรีบกลับมาอยู่ในบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดิน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยง เคราะห์หามยามร้ายที่อาจเกิดขึ้น หากถูกดวงวิญญาณเหล่านั้น ชง (ทำให้เกิดสิ่งไม่ดี)

แต่ในปัจจุบัน เมื่อวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไป เรื่องความเชื่อที่จะอยู่กันภายในบ้านหลังพระอาทิตย์ตก ก็ค่อย ๆ เสื่อมคลายลง คงไว้แต่การเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และการทำทานแก่วิญญาณไร้ญาติ

การประดับด้วยโคมไฟ[แก้]

เทศกาลนี้เรียกอีกอย่าว่า เทศกาล ตงหงวน จะมีการประดับโคมไฟต่าง ๆ อย่างสวยงาม ตามท้องถนน บ้านเรือน ศาลเจ้า มีความเชื่อว่าเป็นส่องแสงสว่างให้แก่เหล่าวิญญาน ที่ขึ้นมาจากปรภพให้ได้เห็นแสงสว่าง ยิ่งสว่างเท่าไร ดวงวิญญานก็จะยิ่งมารับส่วนกุลศลได้มากขึ้น จึงทำให้สถานที่จัดงานเต้มไปด้วยสีแสงจากโคมไฟ

โคมแต่ละดวงและเขียนข้อความว่า (ตัวเต็ม: 普度陰光, ตัวย่อ: 普度阴光, พินอิน: Pǔ dù yīn guāng ผูตู้อินกวัง, ฮกเกี้ยน: พ้อต่อเย่งก่อง) (ตัวเต็ม: 慶讃中元, ตัวย่อ: 庆讃中元, พินอิน: Qìng zàn zhōng yuán ชิ่งจั้นจงเหฺยฺวียน, ฮกเกี้ยน: เค่งจั๋นตงหงวน ) (ตัวเต็ม: 超生普度, ตัวย่อ: 超生普度, พินอิน: Chāo shēng pǔ dù ชาวเซิงผูตู้, ฮกเกี้ยน: จ้าวเซ่งพ้อต่อ)

การเซ่นไหว้ด้วยอั่งกูโก้ย[แก้]

อั่งกูโก้ย (จีน: 紅龜糕 ตามศัพท์แปลว่า ขนมเต่าแดง) คือขนมที่มีลักษณะเป็นรูปเต่า ทำจากแป้งข้าวสาลี ผสมกับน้ำตาล ก่อนจะถูกปั้น หรืออัดเข้าแบบพิมพ์เป็นรูปเต่า แล้วทาสีแดงทั่วทั้งตัวเต่า อั่งกูมีขนาดหลากหลายทั้งเล็กทั้งใหญ่ ใช้เป็นของเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ โดยมีความเชื่อว่า เต่า เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามตำนานที่กล่าวว่าเต่าเป็นสัตว์ที่ช่วยให้พระถังซำจั๋งสามารถเดินทางไปแสวงบุญที่เกาะลังกาได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าการทำบุญด้วยอั่งกูนี้ จะช่วยให้ผู้ทำบุญมีอายุยืนเหมือนเต่าอีกด้วย

พ้อต่อในต่างประเทศ[แก้]

ตามที่ชุมชนชาวจีนในประเทศต่าง ๆ ที่มีกลุ่มชาวจีนอยู่ จะมีการจัดพิธีพ้อต่อกันเป็นประจำ

สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไต้หวัน[แก้]

ในสิงคโปร์และมาเลเซีย จะมีการจัดพิธีเดือนเจ็ดกันทุกปี มีพิธีคล้าย ๆ กับภูเก็ต แต่มีเกร็ดย่อยพิธีเยอะกว่า โดยแบ่งช่วงเป็นสองช่วงเหมือนกับภูเก็ต คือไหว้ที่ศาลเจ้า หรือ สถานที่จัดงาน เพื่อสักการะพระกวนอิมไต่สือ โดยจะมีผู้ประกอบพิธีจะเป็นเต๋า และมีการไหว้วิญญาณเร่ร่อน พอตกดึกจะจัดให้มีมหรสพต่าง ๆ ในอดีตจะเป็นงิ้ว หรือ หุ่นกระบอก แต่ปัจจุบันนิยมใช้วงดนตรี เสร็จแล้วจะเผากระดาษเป็นอย่างสุดท้าย

ฮ่องกง[แก้]

เนื่องจากที่ฮ่องกง โดยส่วนมากเป็นชาวจีนกวางตุ้ง จึงมีพิธีบางพิธี แตกต่างจาก ภูเก็ต มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน พิธีพ้อต่อ มีการไหว้วิญญาณเร่ร่อน โดยตอนเช้าประชาชนจะไปที่ศาลเจ้า หรือ วัดเต๋า ที่มีการประกอบพิธี และจะกลับมาไหว้วิญาญานเร่รอนกันเกือบทุกบ้าน ซึ่งชาวฮ่องกงให้ความสำคัญมาก แต่จะไหว้เป็นเครื่องกระดาษ มากกว่าอาหาร ทางด้านพิธีกรรม ตามหมู่บ้านต่าง ๆ จะจัดเด็กชายจำนวนหลายคน ถือโคมไฟและเคาะกระป๋องให้เกิดเสียง เดินไปทั่วหมู่บ้าน เพื่อเป็นการส่องแสงสว่างแก่วิญญาน จะต่างจากสิงคโปร์และมาเลเซีย คือ เวลากลางคืนที่ฮ่องกงไม่มีการจัดงานมหรสพผู้คนจะไม่ออกจากบ้าน

ประเทศไทย[แก้]

จะมีงานเทศกาลคล้าย ๆ เทศกาลพ้อต่อ เช่นกัน นั้นก็คือ เทศกาลทิ้งกระจาด หรือใน สำเนียงแต้จิ๋ว เรียกว่า ซิโกวโผวโต่ว ซึ่งจัดในเดือนจัดเดือนเจ็ดจีน ของทุกปี หรือ เทศกาลสารทจีน มีการไหว้วิญญานเร่ร่อน และ การทิ้งกระจาด เพื่อเป็นการอุทิศกุศลให้แก่วิญญาน และเป็นการทำทานช่วยเหลือผู้ยากไร้ แต่ลักษณะของพิธี และ เทศกาล จะต่างกับที่ ภูเก็ต ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง และไต้หวัน

ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้]

ภาษาอังกฤษ[แก้]

  • Hungry Ghosts festival แปลว่า เทศกาลผีผู้หิวโหย
  • Ghost festival แปลว่า เทศกาลผี
  • Yu land festival แปลว่า เทศกาลยูหลัน
  • Portor festival แปลว่า เทศกาลพ้อต่อ

ภาษาจีน[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • http://lib.kru.ac.th/bsru/48/rLocal04/stories.php?story=06/02/11/8698652 เก็บถาวร 2012-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • http://blog.tourismthailand.org/ninemot/?p=105[ลิงก์เสีย]
  • http://yutphuket.wordpress.com/2008/08/26/portor/
  • 中元普渡:台湾大祭祀 (组图)
  • กิเลน ประลองเชิง (2019-08-22). "ฮ้อเฮียตี๋". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2019-08-24.

http://www.somboon.info/default.asp?content=contentdetail&id=9696