ข้ามไปเนื้อหา

วันไหล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ก่อพระทรายวันไหล ณ ชายหาดบางแสน

แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล คือ เป็นวันทำบุญขึ้นปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติต่อๆกันมาในภาคตะวันออก และเขตภาคกลางบางจังหวัด โดยจะกำหนดหลังวันสงกรานต์ประมาณ 5-6วัน ชาวบ้านจะนิยมก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา การก่อเจดีย์ทรายก็คือการขนทราย หาบทรายมากองสูงแล้วรดน้ำเอาไม้ปั้นกลึงเป็นรูปทรงเจดีย์ ปักธงทิวต่าง ๆ ตกแต่งกันอย่างวิจิตบรรจง องค์ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง สุดแต่กำลัง บ้างก็ทำเป็นรูปทรงกรวยเล็ก ๆ เพื่อก่อให้ครบ 84,000 กอง เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ เมื่อก่อเสร็จพระเจดีย์ทรายแต่ละกองก็จะมีธงทิว พร้อมด้วยผ้าป่า ตลอดจนสมณบริขารถวายพระ พระสงฆ์ก็จะพิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ เลี้ยงพระเสร็จก็เลี้ยงคนที่ไปร่วมงานเป็นการสนุกสนานในเทศกาลตรุษ ผลที่ได้เมื่องานเสร็จแล้ว ทางวัดก็ได้ทรายไว้สำหรับสร้างเสนาสนะ ปูชนียสถานในวัดหรือถมบริเวณวัดพระสงฆ์ก็ได้เครื่องปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ช่วงปลายฤดูร้อนจะย่างเข้าฤดูฝน วัดใดที่ใกล้ห้วย หนอง คลอง บึง ญาติโยมอุบาสกอุบาสิกา วัดก็จัดประเพณีก่อพระทรายน้ำไหลขึ้น วิธีการก็คือขุดลอกทรายที่ฝนซัดไหลมาลงรวมขังอยู่ตามคลอง หนอง บึง เป็นการขนทรายเข้าวัด และเป็นการพัฒนาท้องถิ่นด้วย การรวมแรงคนเพื่อร่วมบุญขุดลอก ให้สะอาดเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน น้ำฝนจะได้ไหลสะดวก คู คลอง หนอง บึง ไม่ตื้นเขิน หมู่บ้านสะอาด น้ำก็ไหลได้ตามปกติ ไม่ขังเจิ่งท่วมที่นั่นที่นี่ นี่คือประโยชน์ที่ได้จากการก่อพระทรายน้ำไหลในเทศกาล งานประเพณีนี้ชี้ให้เห็นความเจริญของวัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นอย่างดี แต่ด้วยสภาพของบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ความเจริญทางวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น การขนทราย โกยทราย หาบทราย เข้าวัดคนละหาบสองหาบก็เปลี่ยนสภาพมาเป็นซื้อทรายเป็นรถ ๆ ขนกันอย่างสะดวกสบาย และหลายวัดก็หมดความจำเป็นที่จะต้องใช้ทราย คู คลอง หนอง บึง ที่ทรายเคยซัดไหลมารวมกันก็ตัดเป็นถนนแปรสภาพจาก คู คลอง หนอง บึง ไปเกือบหมด จนแทบไม่มีการลอก คู คลอง หนอง บึง ในบริเวณใกล้ ๆ วัด งานก่อพระทรายน้ำไหลก็เปลี่ยนสภาพไป วัดต่าง ๆ หลายวัดไม่มีเจดีย์เป็นพุทธบูชา มีแต่เจดีย์ใส่กระดูกผี คำว่าเจดีย์ทรายก็หมดความหมายไป ก่อพระทรายเอาบุญก็เปลี่ยนสภาพไปพัฒนาไปตามกาลเวลา ก่อพระทรายน้ำไหล จึงเรียกสั้น ๆ ลงเหลือแค่ “วันไหล” หรือ “ประเพณีวันไหล”

จังหวัดจันทบุรี

[แก้]
  • พิธีฉุดพระ แห่เกวียนผ้าพระบาท และการชักเย่อเกวียนพระบาท

(14-17 เมษายน) งานประเพณีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้ชื่อ มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ้าพระบาท อนุรักษ์ส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวประเพณีสงกรานต์เมืองรอง โดยพิธีบวงสรวงพระบาทผ้า และประเพณีการแห่พระบาทผ้าทางเกวียน เป็นประเพณี และศรัทธาของชุมชนเพื่อความเป็นสิริมงคล ตามประวัติในอดีตที่เคยเกิดโรคอหิวาตกโรค หรือ โรคห่าระบาดและชาวบ้านได้อัญเชิญ รอยพระพุทธบาทผ้า ขึ้นเกวียนแห่ไปตามชุมชนต่าง ๆ และโรคห่าก็ได้หายไปจากชุมชนจึงเกิดความศรัทธาและความเชื่อในการปัดเป่าภัยอันตรายสร้างความร่วมเย็นเป็นสุขแก่ชาวบ้านที่เคารพบูชา โดยหลังจากพิธีอัญเชิญพระพุทธบาทผ้าออกจากโบสถ์วัดตะปอนน้อยแล้ว ได้มีการอัญเชิญแห่ขบวนเกวียนผ้าพระบาทออกไปรอบชุมชน ถนนสายวัฒนธรรมเชื่อมโยงงานประเพณีและกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ของ 3 วัด คือ วัดตะปอนน้อย วัดตะปอนใหญ่ และวัดเกวียนหัก นำเสนอวิถีชีวิตชุมชนชาวตะปอน อำเภอขลุง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ต้องห้ามพลาด โดยงานจะมีไปจนถึงวันที่ 17 เมษายน สิ้นสุดงานในการชักเย่อเกวียนพระบาท ที่วัดตะปอนใหญ่ การก่อพระเจดีย์ทราย รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าอาหารพื้นเมืองของดีเมืองขลุงที่ตลาดโบราณ 270 ปี ตะปอนใหญ่ อิ่มอร่อยอาหารพื้นเมือง ร้อยรสพันอย่างที่ชาวบ้านนำมาร่วมงาน

จังหวัดชลบุรี

[แก้]

เมืองชลบุรี

[แก้]
  • งานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ และงานสงกรานต์จังหวัดชลบุรี

(11-19 เมษายน) ซึ่งเปรียบเสมือนงานประจำปีของจังหวัดชลบุรี เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 2475 ภายหลังจากคณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "งานฉลองสันติภาพ" ซึ่งจัดขึ้นโดยสโมสรคณะราษฎร์ประจำจังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมกันชื่นชมยินดีที่บ้านเมืองเข้าสู่ความเป็นปกติสุขภายหลังจากมีการก่อเหตุความวุ่นวายภายในบ้านเมืองอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง งานปีนี้ ได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมายเหมือนทุกปี อาทิ งานนมัสการพระพุทธสิหิงค์ฯ พระคู่บ้านคู่เมืองชลบุรี การทำบุญ-สรงน้ำพระ การออกร้านของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และอำเภอ การจัดแสดงนิทรรศการโบราณวัตถุและศิลปวัฒนธรรมไทย การจัดริ้วขบวนแห่ฉลองสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ การประกวดนางสงกรานต์ การแข่งขันกีฬาไทยและกีฬาพื้นเมือง ประกอบด้วย การแข่งขันศิลปะมวยไทย การแข่งขันเซปักตระกร้อ และตระกร้อลอดบ่วง การจำหน่ายสินค้า OTOP และสินค้าราคาถูกจากโรงงานอุตสาหกรรม การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งมหรสพไทย-จีน อาทิ ภาพยนตร์จอยักษ์ ลิเก งิ้ว การแสดงคอนเสิร์ตศิลปินดังทุกคืน [1]

  • งานก่อพระทรายวันไหลบางแสน

(16-17 เมษายน) ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิเช่น การทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระพุทธรูป การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การก่อพระเจดีย์ทรายรูปทรงต่างๆสวยงามวิจิตรตระการตา เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ตลอดแนวชายหาดบางแสน การประกวดขวัญใจวันไหล นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ได้แก่ การแข่งขันสะบ้าและช่วงรำ การแข่งขันชักเย่อ การแข่งขันวิ่งเปี้ยว การแข่งขันวิ่งกระสอบ การแข่งขันมวยทะเล การแข่งขันตะกร้อลอดห่วง การแข่งขันมอญซ่อนผ้าของเยาวชน และการแข่งขันอาชีพท้องถิ่นและชุมชน ได้แก่ การแข่งขันแกะหอยนางรม การแข่งขันเรือสกู๊ตเตอร์และเรือลากกล้วย การจำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นเมือง โดยมีการกวนขนมเปียกที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวตำบลแสนสุขให้ได้ชม และสนุกสนานกับศิลปินนักร้องที่มาให้ความบันเทิงทั้งภาคกลางวันและกลางคืน นับเป็นประเพณีท้องถิ่นที่จัดแตกต่างไปจากที่อื่นที่มีลักษณะเฉพาะตามสภาพท้องถิ่น ที่คงคุณค่าควรอนุรักษ์ไว้

เมืองพัทยา

[แก้]
  • งานประเพณีวันไหลนาเกลือ

(18 เมษายน) ณ สวนสาธารณะลานโพธิ์นาเกลือ มีการทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พระสงฆ์ จำนวน 99 รูป สรงน้ำพระพุทธรูปและรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ จากนั้นจะมีการเคลื่อนขบวนแห่พระพุทธรูปออกจากสวนสาธารณะลานโพธิ์ไปรอบตลาดนาเกลือเพื่อให้ผู้คนที่อยู่โดยรอบได้สรงน้ำพระเพื่อเป็นศิริมงคลในงานวันไหล พัทยา

  • งานประเพณีวันไหลพัทยา

(19 เมษายน) ณ วัดชัยมงคล พัทยาใต้ จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำขอพรจากผู้สูงอายุ จากนั้นจะมีการเคลื่อนขบวนแห่พระพุทธรูปและพระสงฆ์จาก วัดชัยมงคลไปตามถนนเลียบชายหาดพัทยาใต้สิ้นสุดที่วงเวียนปลาโลมาและมุ่งหน้ากลับสู่วัดชัยมงคล เป็นอันจบกิจกรรม งานวันไหล พัทยา ในวันนั้น

(20 เมษายน) ณ สวนสาธารณะลานโพธิ์นาเกลือ ภายในงานมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกมากมาย อาทิ การแข่งขันยิงหนังสติ๊ก,แข่งขันตะกร้อลอดบ่วง, แข่งขันปริศนาคำกลอน (ทายโจ๊ก) มวยทะเล, ปีนเสาน้ำมัน, เล่นเกม/ทายปัญหา, การแสดงศิลปะการต่อสู้ ในช่วงเย็นจะมีพิธีบวงสรวงกองข้าวและขบวนแห่เทวดา/นางฟ้า ขบวนแห่ผีป่า, การออกร้านอาหารของชุมชนและหน่วยงานราชการ, การแสดงดนตรีลูกทุ่ง ฯลฯ

อำเภอเกาะสีชัง

[แก้]
  • ประเพณีวันไหลเกาะสีชัง-ขามใหญ่

(18 เมษายน) ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ เป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติต่อๆกันมา ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ณ บริเวณชายหาดเกาะขามใหญ่ ถือได้ว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ที่ปฏิบัติกันมายาวนาน ในโอกาสของเทศกาลที่ทุกคนจะได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และได้เล่นน้ำด้วยกัน โดยผู้ชายจะเลือกสาวที่ชอบแล้วขออนุญาตอุ้มลงเล่นน้ำทะเล บางครอบครัว ลูกหลานก็จะอุ้มผู้สูงอายุลงน้ำเช่นกัน เสมือนเป็นการสร้างความสัมพันธ์มิตรไมตรีจิตให้กันและกัน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมมีการร้องรำทำเพลงตามชายหาด กิจกรรมปีนเสาน้ำมัน ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีที่สร้างความสนุกสนานและสร้างความประทับใจให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

อำเภอบ้านบึง

[แก้]
  • ประเพณีบุญบ้านบึง และประเพณีสงกรานต์

(21-23 เมษายน) งานบุญบ้านบึงนั้นตามตำนานที่เล่าขานกันมาถึงที่มา กล่าวไว้ว่า ที่ผ่านมาชาวอำเภอบ้านบึงต่างประกอบอาชีพเกษตรกรรมกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพอถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไปแล้วนั้น ชาวบ้านก็จะนำเอาข้าวเปลือกมาตากรวมกันที่บริเวณลานกว้างของวัดบึงบวรสถิตย์หรือวัดบึงล่าง อันถือเป็นชุมนุมเพียงแห่งเดียวในสมัยก่อน พอข้าวแห้งได้ที่จึงทยอยเก็บเข้ายุ้งฉางต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะแบ่งให้วัดไปด้วย แต่พิธีกรรมที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ก่อนที่ชาวบ้านจะนำข้าวเข้าเก็บที่ยุ้งฉาง จะมีการ "ทำขวัญข้าวเปลือก" ก่อน ด้วยความเชื่อที่ว่า เป็นการทำให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่เจ้าของข้าวและชาวบ้าน รวมทั้งยังเชื่อกันว่าจะทำให้มีผลผลิตที่ดียิ่งๆ ขึ้น ในการเพาะปลูกครั้งต่อไปๆ ด้วย พิธีกรรมทำขวัญข้าวเปลือกนั้น ชาวบ้านจะนัดหมายกันนำข้างปลาอาหาร ของหวาน ของคาวต่างๆ มากองรวมกัน แล้วเชิญภูตผีทั้งหลายมากินซึ่งก็มาจากความเชื่ออีกเหมือนกันว่าต่อไปภูตผีจะไม่ทำร้าย ไม่เข้ามาข้องเกี่ยวกับครอบครัวและทรัพย์สิน เสร็จพิธีกรรมตรงนี้แล้ว ชาวบ้านก็จะมาร่วมกันรับประทานอาหารกันระหว่างนี้อาจมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เช่นการละเล่นพื้นบ้าน การร้องรำทำเพลง กิจกรรมทั้งหมดนี้ ชาวอำเภอบ้านบึงทำสืบต่อกันมายาวนาน จนกลายเป็นประเพณีที่ต้องจัดขึ้นในเดือนห้าของทุกปี เรียกว่า "งานบุญกองข้าว" ซึ่งปัจจุบันได้ผันมากลายเป็น ”งานบุญบ้านบึง”

อำเภอศรีราชา

[แก้]
  • ประเพณีสงกรานต์ศรีมหาราชา และประเพณีกองข้าว

(19-21 เมษายน) กองข้าว เป็นประเพณีท้องถิ่นของ จ.ชลบุรี โดยแท้ที่สืบทอดต่อกันมาตามประวัติ เล่าว่าประเพณีกองข้าวจัดในหลายอำเภอ อาทิเช่น อ.เมืองชลบุรี, อ.ศรีราชา, อ.บางละมุง, อ.พนัสนิคม ฯลฯ ครั้นกาลเวลาล่วงเลยผ่านไปในบางพื้นที่ประเพณีนี้ได้เลือนหายไป ในอดีต เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวบ้านจะนัดหมายกันนำสำรับข้าวปลาอาหารทั้งคาวหวานมากองรวมกันแล้วเชิญภูติผีทั้งหลายมากินปีละครั้ง โดยเชื่อว่าภูตผีจะไม่ทำอันตราย ชีวิตครอบครัวหรือทรัพย์สินของตนเอง หลังพิธีเซ่นไหว้ชาวบ้านจะล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกันมีการร้องรำทำเพลง การละเล่นสนุกสนาน มีเกร็ดว่าทุกคนจะไม่นำอาหารที่เหลือกลับบ้าน แต่จะทิ้งไว้เพื่อเป็นทานแก่สัตว์ เทศบาลเมืองศรีราชาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงานประเพณีกองข้าว นอกจากการกองข้าวอันเป็นหัวใจของงานแล้ว ยังได้เพิ่มกิจกรรมเพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันเป็นสีสันของงาน อาทิ มวยตับจาก, เพลงพื้นบ้าน, ดนตรีไทยประยุกต์, ประกวดเทพีกองข้าว, กีฬาพื้นบ้าน และซุ้มอาหารไทย ฯลฯ ประเพณีกองข้าว จึงได้รับการยกระดับปรับตัวให้เป็นเอกลักษณ์ประเพณีที่โดดเด่น ชาวศรีราชาทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและอนุรักษ์ประเพณีกองข้าว

  • ประเพณีแห่พญายม และวันไหลบางพระ

(18 เมษายน) ผู้นำชุมชนและชาวชุมชนในเขตเทศบาลตำบลบางพระ ได้จัดขบวนแห่ องค์พญายม จากบริเวณคอเขาบางพระไปบนถนนสุขุมวิท แล้วเลี้ยวเข้ารอบตลาดบางพระ ลงไปที่ชายทะเลบางพระ ซึ่งในขบวนแห่นั้นมีประชาชนจากชุมชนต่างๆ และหน่วยงานเอกชนได้ส่งรถตบแต่งสวยงามมาเข้าร่วมขบวนแห่พญายมในครั้งนี้จำนวนมาก ซึ่งมีประชาชนทั้งใกล้และไกลต่างพากันมาเข้าชมขบวนแห่ และร่วมเดินในงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ขบวนแห่นั้นยาวถึง 2 กิโลเมตร ซึ่งในขบวนแห่นั้นมีชุมชนและหน่วยงานเอกชน ต่างส่งรถแห่เข้าร่วมขบวนแห่ในครั้งนี้ จำนวน 20 ขบวน โดยตลอดทางก็จะมีการสาดน้ำสงกรานต์กันตลอดสองข้างทาง เนื่องจากเป็นวันไหลบางพระ ก็จะมีประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมสาดน้ำสงกรานต์ และร่วมแห่องค์พญายมอีกด้วย ซึ่งเมื่อแห่องค์พญายมไปถึงชายทะเลบางพระ แล้วทำพิธีบวงสรวงองค์พญายม ก็จะมีการตั้งบวงสรวงด้วยข้าวปลาอาหาร ให้ชาวบ้านกราบไหว้ขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข หลังจากที่พระอาทิตย์ใกล้ตกดินก็จะนำองค์พญายมลงไปลอยทะเลปล่อยทุกข์ ปล่อยโศก ให้ลอยไป ซึ่งก็จะมีชาวบ้านในพื้นที่ตำบลบางพระจำนวนมากเข้าร่วมบวงสรวงสำหรับประเพณีแห่องค์พญายม สงกรานต์บางพระนั้น ถือว่าเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นแห่งเดียวในโลก

จังหวัดตราด

[แก้]

อำเภอเกาะช้าง

[แก้]

อำเภอแหลมงอบ

[แก้]

จังหวัดระยอง

[แก้]
  • อำเภอเมืองระยอง (13 เมษายน)
  • ตะพง (15 เมษายน)
  • บ้านเพ-ถนนข้าวคลุกกะปิ (16 เมษายน)
  • ปลวกแดง, บ้านฉาง (17 เมษายน)
  • นิคมพัฒนา (18 เมษายน)
  • ห้วยโป่ง (19 เมษายน)
  • บ้านค่าย, มาบตาพุด (21 เมษายน)

จังหวัดสมุทรปราการ

[แก้]

อำเภอพระประแดง

[แก้]
  • งานประเพณีสงกรานต์ปากลัด

(20-23 เมษายน) เป็นรูปแบบสงกรานต์ที่คงรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เอกลักษณ์ของสงกรานต์พระประแดงคือจะจัดในวันสุดท้ายของเทศกาลมหาสงกรานต์เท่านั้น ทุกหมู่บ้านจะรวมใจกันจัดขบวนแห่ที่มีความยิ่งใหญ่และความสวยงามตระการตาของขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผชาติ ขบวนสาวรามัญ-หนุ่มลอยชาย ที่ยังคงรักษาประเพณีเก่า ๆ ไว้อย่างมั่นคงตลอดถึงเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยชุดไทยรามัญ และชุดลอยชาย เพื่อแห่นก-แห่ปลาไปทำพิธีปล่อยนก-ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกิริยาท่าทีที่สุภาพรดแต่พองาม ซึ่งท่านผู้สนใจควรจะได้ไปชมด้วยตนเองซึ่งชาวพระประแดงได้รักษาประเพณีไว้โดยเคร่งครัดตลอดมา จนถึงทุกวันนี้

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  1. http://www.bangsaensook.com/NEWS/6004-Songkran-Chonburi-2560.html