ค่ายมรณะแตรบลิงกา
ค่ายมรณะแตรบลิงกา (อังกฤษ: Treblinka extermination camp) เป็นค่ายมรณะ[a] ที่สร้างขึ้นและดำเนินการโดยนาซีเยอรมนีในเขตการยึดครองโปแลนด์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[1] ตั้งอยู่ในป่าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงวอร์ซอ ห่างจากสถานีรถไฟแตรบลิงกาไปทางทิศใต้เพียง 4 กิโลเมตร (2.5 ไมล์) ในเขตจังหวัดมาซอฟแชปัจจุบัน ค่ายแห่งนี้ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1942 ถึง 19 ตุลาคม ค.ศ. 1943 ในฐานะส่วนหนึ่งของปฏิบัติการไรน์ฮาร์ท ช่วงที่เลวร้ายที่สุดของการแก้ปัญหาสุดท้าย (Final Solution)[2] คาดกันว่าในช่วงเวลานั้น ชาวยิวจำนวนประมาณ 700,000–900,000 คนถูกสังหารในห้องรมแก๊ส[3][4] ร่วมกับชาวโรมานีกว่า 2,000 คน[5] มีชาวยิวถูกสังหารในแตรบลิงกามากกว่าในค่ายมรณะของนาซีอื่น ๆ นอกเหนือจากค่ายกักกันเอาช์วิทซ์
ค่ายแตรบลิงกาได้รับการบริหารจัดการโดยหน่วยเอ็สเอ็สและทหารตรัฟนีกี (Trawniki) (ถูกเกณฑ์ด้วยความสมัครใจจากหมู่เชลยศึกชาวโซเวียตเพื่อร่วมรบกับชาวเยอรมัน) ประกอบไปด้วยหน่วยสองหน่วยแยกจากกัน[6] แตรบลิงกาที่ 1 เป็นค่ายบังคับแรงงาน (Arbeitslager) นักโทษในค่ายจะทำงานในเหมืองกรวดทรายหรือพื้นที่ชลประทาน และในป่าที่พวกเขาจะเข้าไปตัดไม้เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาศพ[7] ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1941–1944 จำนวนกว่าครึ่งของนักโทษ 20,000 คนได้เสียชีวิตจากการประหารชีวิตอย่างรวบรัด ความหิวโหย โรคภัย และการปฏิบัติที่ไม่ดี[8][9]
หน่วยที่สอง แตรบลิงกาที่ 2 เป็นค่ายมรณะ (Vernichtungslager) ซึ่งถูกนาซีเรียกอย่างสวยหรูว่า SS-Sonderkommando Treblinka ชายชาวยิวจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ถูกสังหารทันทีที่เดินทางมาถึงก็จะกลายเป็นหน่วยแรงงานทาสที่ถูกเรียกว่า ซ็อนเดอร์ค็อมมันโด (Sonderkommando; "หน่วยพิเศษ")[10] ซึ่งจะถูกบังคับให้ฝังศพเหยื่อไว้ในหลุมศพ ศพเหล่านี้ถูกขุดขึ้นในปี ค.ศ. 1943 และนำไปเผาในกองไฟกลางแจ้งขนาดใหญ่พร้อมกับศพเหยื่อรายใหม่[11] ปฏิบัติการการรมแก๊สสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1943 หลังจาก ซ็อนเดอร์ค็อมมันโด ก่อการจลาจลในต้นเดือนสิงหาคม ทหารตรัฟนีกีหลายนายถูกสังหารและนักโทษ 200 คนได้หลบหนีออกจากค่าย;[12][13] มีจำนวนเกือบร้อยคนที่รอดชีวิตจากการถูกไล่ล่า[14][15] ค่ายแห่งนี้ได้ถูกรื้อถอนออกก่อนที่การรุกของกองทัพโซเวียตจะมาถึง โรงนาสำหรับยามเฝ้าสังเกตการณ์ได้ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่และพื้นดินได้ถูกไถ่ปราบให้เรียบเพื่อซ่อนหลักฐานของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[16]
ในโปแลนด์หลังสงคราม รัฐบาลได้กว้านซื้อที่ดินส่วนใหญ่ที่ค่ายนั้นเคยตั้งอยู่ และสร้างอนุสรณ์สถานศิลาขนาดใหญ่ ณ ที่แห่งนั้นระหว่าง ค.ศ. 1959–1962 ใน ค.ศ. 1964 แตรบลิงกาได้รับการประกาศให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติของมรณสักขีชาวยิวในพิธีการที่จัดขึ้นบริเวณอดีตห้องรมแก๊ส[17] ในปีเดียวกัน ได้มีการพิจารณาคดีเยอรมันครั้งที่หนึ่งว่าด้วยอาชญากรรมสงครามที่อดีตสมาชิกหน่วยเอ็สเอ็สก่อขึ้นที่แตรบลิงกา ภายหลังการสิ้นสุดของระบอบคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ใปี ค.ศ. 1989 จำนวนผู้เข้ามาเยี่ยมชมแตรบลิงกาจากต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ่น ศูนย์นิทรรศการที่ค่ายได้เปิดทำการใน ค.ศ. 2006 ต่อมาได้ขยายและกลายเป็นสาขาหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ภูมิภาคแชดล์แซ (Siedlce)[18][19]
เชิงอรรถ[แก้]
- ↑ คำว่า "แตรบลิงกา" ในเอกสารข้อมูลต่าง ๆ หมายถึงทั้งค่ายบังคับแรงงานแตรบลิงกาที่ 1 และค่ายมรณะแตรบลิงกาที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายที่ 2
อ้างอิง[แก้]
- ↑ Arad 1987, p. 37.
- ↑ Sereny 2013, p. 151.
- ↑ Roca, Xavier (2010). "Comparative Efficacy of the Extermination Methods in Auschwitz and Operation Reinhard" (PDF). Equip Revista HMiC (Història Moderna i Contemporània). University of Barcelona. 8. p. 204 (4/15 in current document).
- ↑ Kopówka & Rytel-Andrianik 2011, p. 114.
- ↑ Huttenbach, Henry R. (1991). "The Romani Porajmos: The Nazi Genocide of Europe's Gypsies". Nationalities Papers: The Journal of Nationalism and Ethnicity. Routledge: 380–381. doi:10.1080/00905999108408209.
- ↑ Browning 2017, pp. 52, 77, 79, 80.
- ↑ Webb & Chocholatý 2014, p. 90.
- ↑ Maranda, Michał (2002). Prisoners of the extermination camp in Treblinka [Więźniowie obozu zagłady w Treblince] (PDF). Nazistowskie Obozy Zagłady. Opis i próba analizy zjawiska (ภาษาโปแลนด์). University of Warsaw, Instytut Stosowanych Nauk Społecznych. pp. 160–161. OCLC 52658491. คลังข้อมูลเก่า เก็บจาก แหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 21 September 2013. สืบค้นเมื่อ 7 January 2018 – โดยทาง Internet Archive, direct download.
- ↑ Cywiński 2013, Treblinka.
- ↑ Webb & Chocholatý 2014, pp. 153, 370.
- ↑ Rees 2005, BBC.
- ↑ Weinfeld 2013, p. 43.
- ↑ Kopówka & Rytel-Andrianik 2011, p. 110.
- ↑ Śląski, Jerzy (1990). VII. Pod Gwiazdą Dawida [Under the Star of David] (PDF). Polska Walcząca, Vol. IV: Solidarni (ภาษาโปแลนด์). PAX, Warsaw. pp. 8–9. ISBN 83-01-04946-4. สืบค้นเมื่อ 15 August 2013.
- ↑ Easton, Adam (4 August 2013), Treblinka survivor recalls suffering and resistance, BBC News, Treblinka, Poland
- ↑ Grossman 1946, p. 405.
- ↑ Kopówka & Rytel-Andrianik 2011, p. 122.
- ↑ Memorial Museums.org (2013). "Treblinka Museum of Struggle and Martyrdom". Remembrance. Portal to European Sites of Remembrance. สืบค้นเมื่อ 14 September 2013.
- ↑ Kopówka, Edward (4 February 2010). "The Memorial". Treblinka. Nigdy wiecej, Siedlce 2002, pp. 5–54. Muzeum Walki i Męczeństwa w Treblince. Oddział Muzeum Regionalnego w Siedlcach [Museum of Struggle and Martyrdom at Treblinka. Division of the Regional Museum in Siedlce]. สืบค้นเมื่อ 31 October 2013.