คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนี
![]() "ห้องศักดิ์สิทธิ์ของศักดิ์สิทธิ์" ในชั้นกลางของคูหา ภาพถ่ายโดยริชาร์ด เอลลิส ก่อน ค.ศ. 1910 | |
ชื่ออื่น | คูหาใต้ดินก่อนประวัติศาสตร์ฮัลซัฟลีนี (ชื่อทางการ) |
---|---|
ที่ตั้ง | ราฮัลจดีต มอลตา |
พิกัด | 35°52′10.5″N 14°30′24.5″E / 35.869583°N 14.506806°E |
พื้นที่ | 500 ตร.ม. |
ความเป็นมา | |
วัสดุ | หินปูน |
สร้าง | ประมาณ 4,000 ปีก่อน ค.ศ. (จากซากที่เก่าแก่ที่สุด) |
ละทิ้ง | ประมาณ 2,500 ปีก่อน ค.ศ. |
สมัย | ระยะฮัลซัฟลีนี |
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ | |
ขุดค้น | ค.ศ. 1903–1908, ค.ศ. 1990–1993 |
ผู้ขุดค้น | มานูเอล มากรี ทิมิสโตคลีส แซมมิต |
สภาพ | บูรณะแล้วเสร็จใน ค.ศ. 2017 |
ผู้ถือกรรมสิทธิ์ | รัฐบาลมอลตา |
ผู้บริหารจัดการ | เฮริทิจมอลตา |
การเปิดให้เข้าชม | เปิด (จำกัดผู้ชม) |
เว็บไซต์ | เฮริทิจมอลตา |
คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนี * | |
---|---|
![]() | |
![]() ลวดลายที่เพดาน "ห้องโหร" ในชั้นกลางของคูหา | |
ประเทศ | ![]() |
ภูมิภาค ** | ยุโรปและอเมริกาเหนือ |
ประเภท | มรดกทางวัฒนธรรม |
เกณฑ์พิจารณา | (iii) |
อ้างอิง | 130 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 1980 (คณะกรรมการสมัยที่ 4) |
พื้นที่ | 0.13 เฮกตาร์ (0.32 เอเคอร์) |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |

คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนี (มอลตา: Ipoġew ta' Ħal Saflieni) เป็นโครงสร้างใต้ดินยุคหินใหม่ในเมืองราฮัลจดีต ประเทศมอลตา มีอายุย้อนไปถึงระยะฮัลซัฟลีนี (3,300–3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมอลตา เชื่อกันว่าคูหาใต้ดินแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นทั้งบริเวณศักดิ์สิทธิ์และสุสาน โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบและบันทึกการมีอยู่ของซากมนุษย์ประมาณกว่า 7,000 คนภายในคูหา[1] ฮัลซัฟลีนีเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุดของวัฒนธรรมการสร้างวิหารมอลตาซึ่งยังก่อกำเนิดหมู่วิหารหินใหญ่และวงหินอิชชาราด้วย
ประวัติ
[แก้]คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนีได้รับการค้นพบโดยบังเอิญใน ค.ศ. 1902 เมื่อคนงานที่กำลังขุดโถงเก็บน้ำใต้ดินสำหรับโครงการที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ขุดทะลุหลังคาคูหาโดยไม่เจตนา[2][3] ในตอนแรกคนงานพยายามปกปิดการค้นพบนี้เอาไว้ แต่ในที่สุดก็ได้รับการเปิดเผย การศึกษาโครงสร้างของคูหาดำเนินการเป็นครั้งแรกโดยมานูเอล มากรี ซึ่งกำกับการขุดค้นในนามของคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1903[4] แต่ระหว่างการขุดค้น โบราณวัตถุส่วนหนึ่งของฮัลซัฟลีนี (เช่น สิ่งของในหลุมฝังศพ กระดูกมนุษย์) ถูกนำออกจากพื้นที่และทิ้งไปโดยไม่มีการขึ้นทะเบียนอย่างเหมาะสม[5] ยิ่งไปกว่านั้น มากรีเสียชีวิตใน ค.ศ. 1907 ระหว่างภารกิจเผยแผ่ศาสนาในตูนิเซีย และรายงานของเขาเกี่ยวกับฮัลซัฟลีนีก็สูญหายไป[2]
การขุดค้นยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การนำของทิมิสโตคลีส แซมมิต ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกอบกู้ทุกสิ่งเท่าที่เป็นไปได้ แซมมิตเริ่มเผยแพร่รายงานชุดหนึ่งใน ค.ศ. 1910 และดำเนินการขุดค้นต่อไปจนถึง ค.ศ. 1911 โดยฝากโบราณวัตถุที่ค้นพบไว้ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติในกรุงวัลเลตตา[6] ฮัลซัฟลีนีเปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1908 ระหว่างที่การขุดค้นยังดำเนินอยู่[7]
บ้านเรือนสมัยใหม่ 4 หลังที่สร้างขึ้นบนฮัลซัฟลีนีถูกรื้อถอนเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์[8] การขุดค้นเพิ่มเติมเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1990–1993 โดยแอนโทนี เพซ, นาแทเนียล คิวทาจาร์ และรูเบิน กรีมา จากนั้นฮัลซัฟลีนีถูกปิดไม่ให้เข้าชมระหว่าง ค.ศ. 1991–2000 เพื่อบูรณะและปรับปรุงคูหาสำหรับการเข้าชม[9] และตั้งแต่เปิดใหม่ เฮริทิจมอลตา (หน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่ดูแลโบราณสถาน) จำกัดให้มีผู้เข้าชมได้เพียง 80 คนต่อวัน ในขณะที่ภูมิอากาศระดับจุลภาคได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด[10][11] ใน ค.ศ. 2011 มีการเปิดตัวโครงการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อเฝ้าระวังความทรุดโทรมของคูหา[9] การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยฮัลซัฟลีนีกำลังดำเนินอยู่ และใน ค.ศ. 2014 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสวนศาสตร์[12]
ฮัลซัฟลีนีเปิดให้เข้าชมอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 หลังจากปิดไปหนึ่งปีเพื่อปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม[9]
ภาพรวม
[แก้]การขุดค้นทางโบราณคดีในสมัยหลังบ่งชี้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีสักการสถานบนพื้นผิวบริเวณทางลงไปยังคูหาใต้ดิน การพังทลายลงของสักการสถานในเวลาต่อมาคงทำให้โครงสร้างใต้ดินถูกซ่อนไว้เป็นเวลาหลายพันปี[2][13] อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันไม่เหลือซากกำแพงของโครงสร้างใด ๆ ที่อาจเคยใช้เป็นเครื่องหมายระบุตำแหน่งทางเข้าคูหา[9] โครงสร้างใต้ดินอาจมีต้นกำเนิดมาจากถ้ำธรรมชาติที่ได้รับการขยายต่อเติมเมื่อเวลาผ่านไปโดยใช้เครื่องมือหยาบ ๆ (ทำจากเขากวาง หินเหล็กไฟ หินเชิร์ต และหินออบซิเดียนเป็นต้น)[13] ตัดเข้าไปในหินโดยตรง ห้องฝังศพในชั้นบนของคูหามีอายุย้อนไปถึงระยะต้น ๆ ของยุควิหารมอลตา ส่วนห้องต่าง ๆ ในชั้นกลางและชั้นล่างสร้างขึ้นในภายหลัง[2] สันนิษฐานกันว่าอาจมีการใช้ประโยชน์จากแหล่งนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และน่าจะใช้ประโยชน์มาจนถึงประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาและการตรวจสอบซากมนุษย์[2][6][แหล่งอ้างอิงอาจไม่น่าเชื่อถือ]
ผังของฮัลซัฟลีนีได้รับการออกแบบมาให้แสงอาทิตย์จากด้านบนส่องลอดลงไปถึงห้องต่าง ๆ ที่อยู่ชั้นล่างได้อย่างชาญฉลาด ที่เพดานห้องหลายห้องมีการวาดลวดลายสลับซับซ้อน (เช่น ลายจุด ลายก้นหอย ลายรวงผึ้ง)[1][2] โดยใช้รงควัตถุโอเคอร์แดง ห้องหลักห้องหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า "ห้องศักดิ์สิทธิ์ของศักดิ์สิทธิ์" ดูเหมือนจะได้รับการวางตำแหน่งให้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ในวันเหมายัน เพื่อให้แสงอาทิตย์ส่องจากทางเข้าดั้งเดิมบนพื้นผิวลงมาถึงส่วนหน้าของห้องในวันนั้น[14]
ในห้องชั้นกลางห้องหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า "ห้องโหร" มีช่องเว้าที่เกิดจากการตัดเข้าไปในหินและสามารถก่อเสียงสะท้อนที่ทรงพลัง ช่องนี้อาจได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้เสียงสวดมนต์หรือเสียงตีกลองในห้องโหรก้องกังวานไปทั่วส่วนที่เหลือของคูหา[1][15][16]
มีการค้นพบโบราณวัตถุหลากชนิดในฮัลซัฟลีนี รวมถึงภาชนะดินเผาที่ตกแต่งอย่างประณีต ลูกปัดที่ทำจากหินและดินเหนียว กระดุมที่ทำจากเปลือกหอย เครื่องราง หัวขวาน และรูปแกะสลักที่แสดงภาพคนและสัตว์[2][13] การค้นพบที่โดดเด่นที่สุดคือ "สตรีนิทรา" ซึ่งเป็นรูปปั้นดินเหนียวที่คาดกันว่าเป็นตัวแทนของพระแม่องค์หนึ่ง รูปปั้นเหล่านี้มีลักษณะต่างกันตั้งแต่เหมือนจริงไปจนถึงเป็นนามธรรม โดยดูเหมือนว่ามีแก่นหลักอยู่ที่การเคารพผู้ตายและการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ[1] นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคทางศิลปะที่ซับซ้อน เช่นในกรณีอ่างดินเผาขนาดใหญ่ใบหนึ่งที่มีทั้งลวดลายเลียนธรรมชาติและลวดลายที่ปรุงแต่งขึ้น โดยด้านหนึ่งแสดงภาพวัว หมู และแพะอย่างสมจริง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งแสดงภาพสัตว์แฝงตัวอยู่ในแบบรูปเรขาคณิตที่ซับซ้อน[1]
ประมาณกันว่าพบซากของมนุษย์ราว 7,000 คนในคูหานี้ และแม้ว่ากระดูกหลายชิ้นจะสูญหายไปในช่วงแรก ๆ ของการขุดค้น แต่กะโหลกศีรษะส่วนใหญ่ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ[17] กะโหลกศีรษะส่วนน้อยมีลักษณะยืดยาวผิดปกติคล้ายกับกะโหลกศีรษะนักบวชจากอียิปต์โบราณ นำไปสู่การตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับผู้คนที่ครอบครองและใช้ประโยชน์จากคูหา ตลอดจนหลักปฏิบัติและความเชื่อของพวกเขา[17][18]
โครงสร้าง
[แก้]ฮัลซัฟลีนีเป็นโครงสร้างใต้ดินทั้งหมดและประกอบด้วยชั้นซ้อนเหลื่อมกัน 3 ชั้นที่สกัดเข้าไปในหินปูนแพลงก์ตอนโกลบิเจอไรนา มีโถงและห้องเชื่อมต่อกันผ่านขั้นบันได ทับหลัง และช่องประตูที่เป็นเขาวงกต[13] คาดกันว่าผู้ก่อสร้างคงเข้าครอบครองพื้นที่ชั้นบนเป็นชั้นแรก จากนั้นจึงขุดขยายลงเป็นชั้นกลางและชั้นล่างในภายหลัง ห้องชั้นกลางบางห้องดูเหมือนจะมีลักษณะร่วมกับวิหารหินใหญ่ร่วมสมัยที่พบทั่วมอลตา[13]
ชั้นบน
[แก้]ชั้นสุดท้ายโผล่พ้นพื้นผิวเพียงหนึ่งเมตรและแตกต่างจากสุสานที่ซ่อนอยู่ในมอลตาใกล้กับอีร์ราบัตมาก บางห้องเป็นถ้ำธรรมชาติที่ได้รับการขยายออกไปภายหลัง ชั้นนี้มีห้องหลายห้อง บางห้องในจำนวนนี้ใช้สำหรับฝังศพ[19]
ชั้นกลาง
[แก้]ชั้นที่สองเป็นชั้นที่ขยายลงมาในภายหลัง ชั้นนี้มีห้องเด่น ๆ หลายห้อง ได้แก่
- ห้องหลัก: ห้องนี้มีลักษณะเป็นทรงกลมและแกะสลักเข้าไปในหิน มีช่องทางเข้าเป็นโครงสร้างหินสามแท่งหลายช่อง บางช่องเป็นช่องหลอก และบางช่องพาไปสู่ห้องอื่น พื้นผิวผนังส่วนใหญ่ได้รับการเคลือบด้วยรงควัตถุโอเคอร์แดง รูปปั้นขนาดเล็ก "สตรีนิทรา" ได้รับการค้นพบที่ห้องนี้
- ห้องโหร: เป็นห้องที่มีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเป็นหนึ่งในห้องด้านข้างที่เล็กที่สุด มีความพิเศษตรงที่สามารถสร้างเสียงสะท้อนอันทรงพลังจากเสียงใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นภายในนั้น[ต้องการอ้างอิง] เพดานห้องมีการลงสีอย่างประณีต ประกอบด้วยลายก้นหอยและลายวงกลมทึบที่วาดโดยใช้รงควัตถุโอเคอร์แดง
- ห้องตกแต่ง: ใกล้กับห้องโหรมีห้องโถงกว้างอีกห้องหนึ่ง เป็นห้องทรงกลม มีผนังลาดเอียงเข้าหาด้านใน ตกแต่งอย่างหรูหราด้วยลายก้นหอยเรขาคณิต ที่ผนังด้านขวาของทางเข้าห้องมีภาพสลักหินรูปมือมนุษย์
- ห้องศักดิ์สิทธิ์ของศักดิ์สิทธิ์: บางทีอาจเป็นโครงสร้างที่สำคัญที่สุดของคูหาใต้ดินนี้ ห้องนี้ดูเหมือนจะสร้างให้หันไปทางดวงอาทิตย์วันเหมายันซึ่งจะส่องแสงลอดผ่านทางเข้าดั้งเดิมจากพื้นผิวมาที่ส่วนหน้าของห้อง[14] ไม่พบกระดูกมนุษย์ระหว่างการขุดค้นในห้องนี้[6] จุดสนใจของห้องคือช่องหน้าต่างภายในโครงสร้างหินสามแท่ง หรือโครงสร้างที่ประกอบด้วยหินแนวตั้งขนาดใหญ่สองแท่ง ล้อมกรอบอยู่ภายในโครงสร้างหินสามแท่งที่ใหญ่กว่า และยังล้อมกรอบอยู่ภายในโครงสร้างหินสามแท่งที่ใหญ่กว่าอีกทอดหนึ่ง บัวและเพดานโค้งแบบก่อยื่นบ่งชี้เป็นนัยว่าวิหารหินใหญ่บนพื้นดินของมอลตาซึ่งได้รับการค้นพบแล้วอาจเคยมีหลังคาคลุมในลักษณะเดียวกัน
ชั้นล่าง
[แก้]ชั้นล่างไม่พบกระดูกมนุษย์หรือเครื่องบูชาใด ๆ อาจเคยใช้เป็นที่เก็บเมล็ดธัญพืช
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Sagona, Claudia (2015). The Archaeology of Malta: From the Neolithic through the Roman Period. Cambridge University Press. ISBN 978-1107006690.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 McDonald, Neil (2016). Malta & Gozo A Megalithic Journey. lulu.com. ISBN 978-1326598358.
- ↑ Vella, Fiona (23 July 2019). "Hypogeum skulls to be studied". Times of Malta. p. 13.
- ↑ https://www.um.edu.mt/library/oar/bitstream/123456789/45738/1/Il-Għerien%20ta%27%20Ħal%20Saflieni.pdf [bare URL PDF]
- ↑ "The Death Cults of Prehistoric Malta". Scientific American. สืบค้นเมื่อ 10 March 2016.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Haughton, Brian (2008). Haunted Spaces, Sacred Places. New Page Books. p. 232. ISBN 978-1601630001.
- ↑ "Ħal Saflieni Hypogeum". Heritage Malta. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
- ↑ https://culture.gov.mt/en/culturalheritage/Documents/form/MAR1991.pdf เก็บถาวร 2021-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [bare URL PDF]
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 Stacey McKenna, Malta’s Hypogeum, One of the World’s Best Preserved Prehistoric Sites, Reopens to the Public, Smithsonianmag.com, 23 May 2017
- ↑ "The Hal Saflieni Hypogeum". maltassist.com. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
- ↑ Pace, Anthony (2004). The Ħal Saflieni Hypogeum Paola. Santa Venera: Midsea Books Ltd. ISBN 9993239933.
- ↑ "International team of scientists to study hypogeum acoustics". Times of Malta. 21 January 2014. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 "Ħal Saflieni Hypogeum". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
- ↑ 14.0 14.1 Magli, Giulio (2009). Mysteries and Discoveries of Archaeoastronomy: From Giza to Easter Island. Copernicus. ISBN 978-0387765648.
- ↑ Kelly, Lynne (2017). The Memory Code: The Secrets of Stonehenge, Easter Island and Other Ancient Monuments. Pegasus Books. ISBN 978-1681773254.
- ↑ Mysterious Ancient Temples Resonate at the 'Holy Frequency', Interestingengineering.com, 1 December 2016
- ↑ 17.0 17.1 "The Mysterious Disappearance of the Maltese Skulls". Hera Magazine, Italy. 1999.
- ↑ "Hypogeum skulls on display at the National Museum of Archaeology".
- ↑ UNESCO World Heritage List. "Ħal Saflieni Hypogeum." https://whc.unesco.org/en/list/130
- All articles with bare URLs for citations
- Articles with bare URLs for citationsตั้งแต่มีนาคม 2022
- Articles with PDF format bare URLs for citations
- บทความที่มีแหล่งอ้างอิงไม่น่าเชื่อถือตั้งแต่พฤษภาคม 2017
- บทความที่ขาดแหล่งอ้างอิงเฉพาะส่วนตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2023
- แหล่งโบราณคดีในประเทศมอลตา
- แหล่งมรดกโลกในประเทศมอลตา
- แหล่งยุคหินใหม่ในทวีปยุโรป
- สิ่งก่อสร้างในประเทศมอลตา
- ราฮัลจดีต