คิริตสึโบะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คิริสึโบะ)

คิริตสึโบะ (ญี่ปุ่น: 桐壺โรมาจิKiritsubo; ตำหนักคิริ) เป็นบทแรกของ ตำนานเก็นจิผลงานของ มุราซากิ ชิคิบุ ที่มีทั้งหมด 54 บท

ต้นคิริ
ดอกและใบคิริ

ที่มาของชื่อบท คิริตสึโบะ[แก้]

คิริ (桐 - kiri ) นั้น มากจากชื่อต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ต้นคิริ ( 桐 kiri) ในภาษาไทยเรียกว่า ต้นทัง ภาษาอังกฤษเรียกว่า เพาโลว์เนีย ( Paulownia )

ไม้สกุลเพาโลว์เนียเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นสีเทาน้ำตาลหรือดำ เปลือกต้นเรียบเมื่อยังอ่อน แต่จะแตกเป็นร่องตามยาวเมื่อต้นแก่และเป็นโพรงภายใน

ใบ จะรวมอยู่เป็นพุ่มตรงปลายยอดคล้ายร่ม ใบส่วนใหญ่แตกแบบตรงกันข้ามเป็นคู่ๆ (opposite leaf let) กิ่งก้านแตกแบบ Pseudo-dichotomous ใบของต้นอ่อนจะมีขนาดใหญ่ ลักษณะใบกว้างรูปร่างคล้ายหัวใจ ปลายใบแหลม รูป elongale deltiod ovate หรือ cordate ovate ใบมีความยาวประมาณ 24 เซนติเมตร กว้าง 20 เซนติเมตร ก้านใบยาวมีขนอ่อนๆ เต็มไปหมด หูใบยาว ขอบใบหยักแบบฟันปลา ต้นแก่จะมีใบขนาดเล็กกว่าและขอบใบจะเรียบหรือเกือบเรียบมีขนปกคลุม ใบที่เกิดจากหน่อที่แข็งแรงจะมีขนน้อยกว่าใบที่เกิดจากกิ่งแขนงที่เจริญเต็มที่แล้ว และใบที่เกิดตามข้อต่ำๆ ของกิ่ง จะมีขนน้อยกว่าข้อที่อยู่สูงขึ้นไป ใบที่อยู่ใกล้ดอกจะมีขนมากที่สุด

ดอก เป็นช่อแบบ pedunculate หรือ subsessile ประกอบด้วยดอกเล็กๆ จำนวน 3-5 ดอก ช่อดอกอยู่ระหว่างกิ่งกับก้านใบ ดอกมีสีม่วงอ่อน เหลืองอ่อนและขาว ลักษณะเป็นกะเปาะตรงโคนยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ดอกบานตรงปลายคล้ายรูปแตรมี 5 กลีบ เป็นรูปคลื่น เกสรตัวผู้มี 4 อัน อันใหญ่ 2 และเล็ก 2 อัน เส้นใยของดอกไม่เรียบยาวและกลม มีขน มีก้านเกสรยาว ดอกจะบานจากโคนไปปลายช่อ ดอกจะออกเมื่อมีอายุประมาณ 8-10 ปี ในถิ่นกำเนิดออกดอกในเดือนสิงหาคม ส่วนที่ปลูกในไทยปรากฏว่า ออกดอกราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และบานในราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน[1]


สึโบะ (壺 - tsubo) นั้น หมายถึง บริเวณสวนเล็กๆระหว่างหมู่ตึกในพระราชวัง

ดังนั้น คิริสึโบะ ชื่อบทที่ 1 ในตำนานเก็นจินั้น หมายถึง

1. บริเวณสวนที่มีต้นทังปลูกอยู่ ณ. ที่นี้เป็นชื่อเรียกตำหนักแห่งหนึ่ง ภายในพระราชวัง เฮอันเคียว

2. ชื่อเรียกแทนชื่อจริงของตัวละครที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง และอาศัยอยู่ในตำหนักคิริ เช่น คิริสึโบะ โนะ โคอิ - นางกำนัลตำหนักคิริ ( kiritsubo no koi ) มารดาของเก็นจิ และ จักรพรรดิคิริสึโบะ พระราชบิดาของเก็นจิ


ตัวละครหลักในบท คิริสึโบะ[แก้]

  • เก็นจิ ตั้งแต่เกิดจนอายุ 12 ปี
  • นางกำนัลตำหนักคิริ (คิริสึโบะ โนะ โคอิ kiritsubo no koui) มารดาของเก็นจิ
  • จักรพรรดิคิริสึโบะ พระราชบิดาของเก็นจิ
  • ยายของเก็นจิ
  • องค์รัชทายาท พระโอรสองค์โต พี่ชายต่างมารดาของเก็นจิ พระชนมายุ 7 พรรษาในขณะที่เก็นจิอายุได้ 4 ปี
  • พระชายาตำหนักโคคิ ( โคคิเด็ง โนะ เนียวโกะ kokoden no nyogo ) พระราชมารดาขององค์รัชทายาท
  • ยูเงย์ โนะ เมียวบุ (Yugei no Myoubu ) นางในผู้ถวายการรับใช้พระจักรพรรดิ โดยเมียวบุ (命婦) เป็นชื่อตำแหน่งของนางในราชสำนักที่มีระดับอยู่ในขั้น 5 หรือเป็นขุนนางชั้นกลาง ๆ[ต้องการอ้างอิง]
  • โหราจารย์จากเกาหลี
  • อุไดเบ็น ( Udaiben ) พันเอกฝ่ายขวา
  • ไนชิโนะสุเกะ ( 典侍 Naishi no suke ) ตำแหน่งของนางในราชสำนัก ในราชสำนักจะมีตำแหน่งนี้ 4 คน โดยธรรมดาแล้วจะเป็นธิดาของขุนนางตำแหน่งไดนะกอน และ จูนากอน บางนางรับรู้กันว่าเป็น 1 ในสนมของพระจักรพรรดิ บางที แม่นมของจักรพรรดิก็สามารถจะได้รับตำแหน่งไนชิโนะสุเกะนี้[ต้องการอ้างอิง]
  • พระชายาฟุจิทสึโบะ ( Fujitsubo ) พระราชธิดาของจักรพรรดิองค์ก่อน เข้าวังเมื่ออายุได้ 16 ปี ในขณะที่เก็นจิอายุได้ 11 ปี
  • เฮียวบุเคียวโนะมิยะ ( Hyoubukyou no Miya ) องค์ชายเจ้ากรมกลาโหม เป็นพี่ชายคนโตของ ฟุจิทสึโบะ
  • สะไดจิน ( sadaijin ) เสนาบดีฝ่ายขวา ต่อมาเป็นพ่อตาของเก็นจิ ตอนเขาอายุได้ 46 ปี
  • อาโออิ ( aoi ) บุตรีของสะไดจิน ต่อมาแต่งงานกับเก็นจิ เมื่อนางอายุได้ 16 และ เก็นจิอายุได้ 12 ปี
  • โทโนะจูโจ ( Tou no Chuujou ) บุตรคนโตของสะไดจิน พี่ชายของอาโออิ
  • องค์หญิงโอมิยะ ( Omiya ) ภรรยาของสะไดจิน น้องสาวของจักรพรรดิคิริสึโบะ มารดาของอาโออิ และ โทโนะจูโจ
  • อุไดจิน ( Udaijin ) เป็นตาขององค์ชายรัชทายาท และ เป็นบิดาของพระชายาตำหนักโคคิ


เรื่องย่อ[แก้]

ในรัชสมัยของจักรพรรดิพระองค์หนึ่ง ยังมีนางกำนัลฐานันดรต่ำต้อยผู้เป็นที่สนิทเสน่หาขององค์จักรพรรดิเหนือผู้ใด พระชายาพระสนมศักดิ์สูงต่างคิดว่านางใฝ่สูงเกินศักดิ์ ด้านนางในที่มีฐานันดรต่ำกว่า ต่างพากันริษยานาง ทุกสิ่งที่นางกำนัลตำหนักคิริทำดูเหมือนจะไปทำให้ผู้คนต่างๆไม่พอใจนางเสมอ จนนางเครียดและล้มป่วย ใช้เวลาอยู่ที่บ้านเดิมมากว่าในราชสำนัก และโชคชะตาก็บันดาลให้นางคลอดพระโอรสที่งดงามเกินพรรณนาหนึ่งพระองค์ พระจักรพรรดิแทบอดพระทัยไม่ไหวที่จะรับโอรสน้อยเข้าวังตั้งแต่แรกเกิด ยามเมื่อพระองค์นำทารกน้อยเข้าวังนั้น ดอกคิริพากันบานสะพรั่งเต็มสวน นางกำนัลตำหนักคิริถูกกลั่นแกล้งอย่างโหดร้ายจนกระทั่งตายไปในที่สุด

พระโอรสองค์โตของจักรพรรดิคิริสึโบะนั้นเป็นหลานของอุไดจินผู้เรืองอำนาจ ด้วยอำนาจสนับสนุนอันยิ่งใหญ่นี้ ทุกคนต่างพากันคิดว่า เขาต้องได้เป็นรัชทายาทแน่นอน แม้ว่า พระโอรสที่เกิดกับนางกำนัลตำหนักคิริจะเป็นเด็กชายที่งดงามเหนือกว่าเพียงใดก็ตาม

ลมในฤดูใบไม้ร่วงพัดพาให้ยามเย็นค่ำหนาวจับใจ องค์จักรพรรดิจมอยู่ในความโศกเศร้า พระองค์ส่งนางใน นาม ยูเงย์โนะเมียวบุ ส่งพระราชสาส์นไปให้ยายของเก็นจิ ในค่ำคืนจันทร์สาดแสงงดงาม

เมียวบุนั่งรถเทียมวัวไปถึงหน้าบ้านของยายของเก็นจิ หนทางสู่ตัวบ้านนั้นเต็มไปด้วยหญ้ารกเรื้อ ลมยามฤดูสาร์ทพัดกรรโชกน่ากลัว ท่านยายไม่อาจข่มกลั้นน้ำตา หลังจากนางได้อ่านพระราชสาร์น

ในความนั้น กล่าวว่า พระองค์เศร้าโศกเสียพระทัยอย่างลึกซึ้งต่อการจากไปของนางกำนัลตำหนักคิริและประสงค์จะรับตัวพระโอรสไปอยู่กับพระองค์ในวัง

เมื่อเมียวบุกลับวัง นางยิ่งสะเทือนใจเมื่อพบว่าจักรพรรดิรอคอยการกลับมาของนางอยู่ พระองค์ทรงชมสวนที่ตบแต่งอย่างวิจิตรเบื้องหน้า ใบไม้แดงเต็มที่ในฤดูใบไม้ร่วง ดอกไม้ต่างแข่งกันเบ่งบาน พระองคตรัสกับนางใน 2-3นางอยู่ เรื่องบทกวีประกอบภาพเรื่อง ลำนำโศกนิรันดร์ ของไป๋จวีอี้ ที่วาดโดยองค์จักรพรรดิอุดะ กวีที่กล่าวถึงองค์จักรพรรดิถังเสวียนจงอาลัยถึงพระชายา หยางกุ้ยเฟย ผู้วายชนม์ นั้นช่างเตือนพระทัยของจักรพรรดิคิริสึโบะให้อาลัยถึงนางกำนัลกำหนักคิริ

พระองค์ยินดีนักที่ได้รับจดหมายตอบจากยายของเก็นจิที่เมียวบุนำมาประทานพระองค์ ใจความว่า ยายของเก็นจินั้นห่วงใยในอนาคตของหลานชาย

เมียวบุนำของที่ระลึกถึงคนตายที่ยายของเก็นจิมอบให้ มาให้พระจักรพรรดิทอดพระเนตร พระองค์ยิ่งพิศ ความทรงจำเกี่ยวกับนางกำนัลเรือนคิริยิ่งย้อนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่วันแรกพบ

วันเดือนเคลื่อนไป องค์ชายน้อยๆได้เข้ามาประทับในราชวังเมื่ออายุได้ 7 ปี อุปทูตจากเกาหลี ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงด้านดาราศาสตร์และการพยากรณ์เดินทางมาถึง จักรพรรดิทรงเรียกตัวเขาเพื่อปรึกษาหารือ

โดยพระองค์ส่งเก็นจิไปที่หอโคโระ (โคโระคัง) ซึ่งเป็นสถานที่จัดเลี้ยง โดยอ้างว่าเก็นจิเป็นบุตรของอุไดเบ็น โหรชาวเกาหลีโคลงศีรษะด้วยความประหลาดใจ "เด็กคนนี้มีลักษณะที่จะได้ดำรงฐานันดรสูงสุด และอาจจะเป็นถึงบิดาแห่งราชอาณาจักร " เขาพึมพำกับตัวเองต่อว่า "สงสัยข้าจะทำนายผิด ลักษณะของเด็กคนนี้ไม่ใช่ลักษณะของคนที่จะมีตำแหน่งเพียงขุนนางเท่านั้น" อุไดเบ็นสนใจกวีจีนและสนทนากับชาวเกาหลีอย่างถูกคอ เด็กชายแต่งบทกวีจนได้รับคำชมมากมาย

ต่อมาจักรพรรดิรับพระชายาใหม่ที่มีหน้าตาคล้ายนางกำนัลเรือนคิริผู้ล่วงลับเข้าวัง พระองค์ทรงโปรดปรานนางมาก ผู้คนพากันตั้งฉายาพระโอรสน้อยว่า เก็นจิผู้เจิดจรัส และ พระชายาฟุจิทสึโบะว่า พระชายาสุรีย์ฉาย ส่วนตัวพระจักรพรรดิทรงประสงค์ให้ทั้งสองสนิทสนมกลมเกลียวกัน

เมื่อเก็นจิอายุได้ 12 ปี เขาเข้าพิธีเกมปุกุ ( พิธีบรรลุนิติภาวะของเด็กชาย ) ที่จัด ณ ตำหนักเซย์เรียว ( Seiryouden ) ด้วยใบหน้าที่อ่อนเยาว์ และทรงผมแบบเด็กชายเล็กๆ ทำให้องค์จักรพรรดิทรงไม่อาจหักพระทัยที่จะเห็นผมไว้ยาวนั้นถูกตัดออกเป็นทรงผมแบบผู้ใหญ่ เมื่อปอยผมถูกตัดออก จักรพรรดิทรงคิดถึงนางกำนัลที่ล่วงลับอย่างสุดหัวใจ พิธีผ่านพ้นไป เด็กชายเปลี่ยนการแต่งกายเป็นแบบผู้ใหญ่ และออกร่ายรำเพื่อขอบคุณเทพเจ้า ณ ลานพระราชวัง

องค์จักรพรรดิทรงปลาบปลื้มพระทัยใหญ่หลวง ถึงแม้พระองค์จะเคยลืมอดีตขมขื่นไปได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่บัดนี้อดีตนั้นย้อนกลับมา หลังพิธีจบสิ้น เด็กชายกลายเป็นผู้ใหญ่ องค์จักรพรรดิพบว่า พระโอรสในเครื่องแต่งกายและทรงผมแบบผู้ใหญ่กลับรูปงามขึ้นอีกมากจนน่าประหลาดใจ เก็นจิสมรสกับท่านหญิงอาโออิ บุตรีของสะไดจิน ผู้มีอายุแก่กว่า และนางไม่พอใจที่ต้องแต่งงานกับเด็กน้อยอายุ 12 ปี ทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่เย็นชาต่อกัน สำหรับเก็นจิแล้ว พระชายาฟุจิทสึโบะคนเดียวเท่านั้นที่งดงามที่สุดในใจของเขา[2]

แผนผังของเขตพระราชฐานเฮอันเคียว[แก้]

ลำนำโศกนิรันดร์[แก้]

ลำนำโศกนิรันดร์ ( A Song of Unending Sorrow ) หรือ ฉางเฮิ่นเกอ (長恨歌) เป็นกวีนิพนธ์ของ ไป๋จวีอี้ ((BAI JU YI ค.ศ. 7207-846 ) หนึ่งในรัตนกวีแห่งราชวงศ์ถัง มีความยาว 120 วรรค ขนาดยาว 847 ตัวอักษร ที่ไป๋จวีอี้ได้พรรณนาถึงความรักที่จักรพรรดิถังเสวียนจงมีต่อหยางกุ้ยเฟย นับเป็นบทกวีขึ้นชื่อที่มีขนาดยาวที่สุดในสมัยราชวงศ์ถัง ที่ผู้เขียนได้บรรยายภาพของความรัก และความอาลัยอาวรณ์ของทั้งสองได้อย่างสวยงามและเจ็บปวดที่สุด [3]


長恨歌


白居易


漢王重色思傾國,御宇多年求不得.楊家有女出長成,養在深閨人未識.

天生麗質難自棄,一朝選在君王側.回眸一笑百媚生,六宮粉黛無顏色.

春寒賜浴華清池,溫泉水滑洗凝脂.侍兒扶起嬌無力,於是新承恩澤時.

雲鬢花顏金布搖,芙蓉帳暖度春宵.春宵苦短日高起,從此君王不早朝.

承歡侍宴無閑暇,春從春遊夜專夜.後宮佳麗三千人,三千寵愛在一身.

金屋妝成嬌侍夜,玉樓宴罷醉和春.姊妹弟兄皆列土,可憐光彩生門戶.

遂令天下父母心,不重生男重生女.驪宮高處入青雲,仙樂風飄處處聞.

暖歌慢舞凝絲竹,盡日君王看不足.漁陽瞽鼓動地來,驚破霓裳羽衣曲.

九重城闕煙塵生,千乘萬騎西南行.翠華搖搖行復止,西出都門百餘里.

六軍不發無奈何,宛轉蛾眉馬前死.花鈿委地無人收,翠翹金雀玉搔頭.

君王掩面救不得,回頭血淚相和流.黃埃散漫風蕭索,雪棧縈紆登劍閣.

峨嵋山下少人行,旌旗無光日色薄.蜀江水碧蜀山青,聖主朝朝暮暮情.

行宮見月傷心色,夜雨聞鈴腸斷聲.天旋地轉迴龍馭,到此躊躇不能去.

馬嵬坡下泥土中,不見玉顏空死處.君臣相顧盡沾衣,東望都門信馬歸.

歸來池苑皆依舊,太液芙蓉未央柳.芙蓉如面柳如眉,對此如何不淚垂?

春風桃李花開日,秋雨梧桐葉落時.西宮南內多秋草,落葉滿街紅不掃.

梨園弟子白髮新,椒房阿監青娥老.夕殿螢飛思悄然,孤燈挑盡未成眠.

遲遲鐘鼓初長夜,耿耿星河欲曙天.鴛鴦瓦冷霜華重,翡翠衾寒誰與共.

悠悠生死別經年,魂魄不曾來入夢.臨邛道士鴻都客,能以精誠致魂魄.

為感君王輾轉思,遂教方士殷情覓.排雲馭氣奔如電,升天入地求之偏.

上窮碧落下黃泉,兩處茫茫皆不見.忽聞海上有神仙,山在虛無縹緲間.

樓閣玲瓏五雲起,其中綽約多仙子.中有一人字太真,雲膚花貌參差是.

金闕西廂叩玉扃,轉教小玉報雙成.聞道漢家天子使,九華帳裏夢魂驚.

攬衣推枕起徘徊,珠箔銀瓶迤邐開.雲髻半偏新睡覺,花冠不整下堂來.

風吹仙袂飄飄舉,猶似霓裳羽衣舞.玉容寂寞淚闌干,梨花一支春帶雨.

含情凝睇謝君王,一別音容兩渺茫.朝陽殿裏恩愛絕,蓬萊宮中日月長.

回頭下望人寰處,不見長安見塵霧.惟將舊物表深情,鈿合金釵將寄去.

釵留一股留一扇,釵擘黃金合分鈿.但教心似金鈿堅,天上人間會相見.

臨別殷情重寄調,詞中有誓兩心知.七月七日長生殿,夜半無人私語時.

在天願作比翼鳥,在地願為連理枝,天長地久有時盡,此恨綿綿無絕期.[4]



ลำนำโศกนิรันดร์


ราชาฮั่นกระสันสาวงามล่มชาติ

ดำรงค์ราชย์หลายวัสสาหาบ่ได้

สาวบ้านหยางย่างรุ่นดรุณวัย

เลี้ยงอยู่ในเรือนยุพาลับตาคน

ด้วยโฉมงามตามกำเนิดเริดเองยาก

วันสรรฝากเฝ้าใกล้ในเรือนต้น

เพียงชม้ายอายสรวลแสนยวนยล

สาววิมลหกวังในไร้สิรี

วสันต์หนาวท้าวโปรดให้โสรจสนาน

อุณหธารอุทกลื่นชื่นฉวี

กำนัลต้องประคองพระแน่งแรงบ่มี

เริ่มเป็นที่โปรดปรานพระกรุณา

นิลเกศาผกาแก้มก้าวไหวทอง

วิสูตรยองอุ่นนงพรรณวสันต์นิสา

นิสาสั้นตะวันสูงสุดระอา

แต่นั้นมาภูวไนยไม่ออกขุนนาง

วสันต์รามตามประพาสราตรร่วมนิทรา

กัลยาอยู่งานเสวยมิเคยว่าง

วังในมีนรีงามสามพันสะอาง

ปฏิพันธ์เพียงสุภางค์ผกาพรรณ

เสร็จภูษิตเป็นมิตรแรมเรือนสุวรรณ

หลังโภชนันท์สุขมัทน์หอรัตนา

มวลพี่น้องครองที่มียศศักดิ์

พระเสาวลักษณ์เชิดคามงามสง่า

จนพ่อแม่ทั่วไปในใต้ฟ้า

ไม่ปรารถนาบุตรชายหมายบุตรี

ปราสาทหลีมียอดสอดเมฆิน

ลมโชยเสียงสังคีตยินทุกถิ่นที่

เริงรำร่ายร้องซอคลอดนตรี

ภูบดีมิจุมนัสทัศนา

เสียงเภรีหยีหยางห่มพ่างมา

เพลง "อันทรธนูภูษา" สลายไป

เชียงเก้าชั้นชระมุ่นเกิดฝุ่นคลี

มุ่งหรดีพันรัถหมื่ออัศว์ไต่

ราชวัชหย่อยหย่อยค่อยเคลื่อนค่อยไคล

จากเวียงชัยออกมากว่าร้อยลี้

หกทัพไม่เคลื่อนนพหลจนจิตตี

โศภินีต้องม้วยหน้าอาชาพลัน

จุฑารัตน์กลาดกล่นไร้คนครอง

ล้วนเป็นปิ่นหยกทองของจอมขวัญ

พระปิดพักตร์สุดจักช่วยป้องกัน

กันแสงศัลย์เลือดระคนชลนัยน์

ฝุ่นละอองต้องลมชายกระจายว่อน

ขัวไม้ขอนวังก์วนด้นขึ้นไศล

เชิงเอ๋อร์หมีมีน้อยคนคลาไคล

ธงทิวไร้รัศมีสีสูรย์ซม

เสฉวนคีรีขจีงามน้ำซึ้งใส

ทุกคำเช้าพระทรงชัยฝืนใจข่ม

แสงศศีที่พลับพลาโศกอารมณ์

เสียงกระดึงคืนฝนพรมบาดทรวงใน

นภาผันตะวันผวนหวนราชพ่าห์

กลับถึงนี่รีรอช้าหาจากได้

ในดินโคลนที่เชิงโนนเนินม้าไว

มิพบร่างอรทัยแหล่งวายชีวี

ราชอำมาตย์ชลเนตรชุ่มพัสตรา

เชื่อม้าเร็วรุดมุ่งกลับกรุงศรี

กลับมาชมสวนสะพังดังก่อนนี้

กุมุทในวาปีหลิวที่วัง

งามโกมุทรดุจพักตร์หลิวภมู

ยามพิศดูสุดจะทนชลเนตรหลั่ง

วสันต์เพราเถาหลีคลี่มาลย์มลัง

ฝนศารทหลั่งอู๋ถงทอดใบระนาว

ทั้งวังใต้ตำหนักตกรกตฤนศารท

ร้างการกวาดบันไดใบหล่นศยาว

ลูกศิษย์สวนสาลี่เกศีสกาว

กำนัลสาวชาวแม่แก่ตามกาล

มณเทียรค่ำหิ่งห้อยบินจินดาเปลี่ยว

ตะเกียงเดี่ยวเขี่ยหมดไส้ไป่ศยาน

กลองระฆังดังเฉื่อยช้านิสาจะนาน

ชุติธารสนัดไสวใกล้รุ่งสาง

กระเบื้องแฝดเยือกเย็นหยาดเหมยหนัก

นวมห่มหนาวใครจักร่วมอุ่นบ้าง

ตายจากนานแรมปีที่อ้างว้าง

วิญญาณนางบ่เข้าฝันรันทดใจ

เต้าสือถิ่นหลินฉงหงตูเขต

มีไสยเวทเรียกเจตภูตได้

สงสารท้าวเฝ้าคะนึงถึงอรไท

นักสิทธิ์จึงเพียรไปเสาะนงคราญ

เหินเวหาด้นเมฆเฉกวิชุดา

ระเห็จฟ้าแทรกดินทุกถิ่นผ่าน

เบื้องบนสุดนภางค์ล่างยมธาร

ล้วนไพศาลไม่ประสบพบยุพิน

บัดดลยินกลางชลธีมีภูธร

อยู่หว่างตอนสุญตะทูระถิร

ทั้งหอห้องเรืองรองเบญจเมฆิน

มีอัปสรโศภินอยู่มากครัน

และนางหนึ่งซึ่งชื่อไท่เจินนั้น

ผุดผ่องพรรณเพราพริ้มประพิมประพาย

หน้าห้องทิมริมทวารเคาะดาลดำรู

วานเสี่ยวยู่สู่ซวงเฉิงเชิญโฉมฉาย

ได้ยินว่าทูตราชาเยี่ยมกราย

ตะลึงฉงายในวิสูตรอลงกรณ์

ผลักเขนยรวบภูษิตจิตรอรี

ฉากมณีมู่ลราพลอยค่อยเผยผ่อน

เมาลีเฉียงเอียงเกิ่งเพิ่งตื่นนอน

มาลาอรคลอนเคลื่อนลงเรือนมา

พลิ้วพระพายชายพัดทิพอาภรณ์

ยังเหมือนฟ้อน "อินทรธนูภูษา"

พักตร์นงเยาว์เศร้าหมองนองชลนา

ช่อผกาสาลี่พิรุณปราย

เปี่ยวอารมณ์คมเนตรนบราชา

แต่จากมาพระโฉมศัพท์ลับห่างหาย

การุณย์ที่จาวหยาวร้างมลาย

วันคืนในเผิงหลานแสนนานช้า

ผินพักตร์มองลงมายังแดนนรานต์

มองไม่เห็นฉางอานเห็นฝุ่นฝ้า

ใช้ของเก่าแสดงซึ่งหทยา

ฝากปิ่นทองกล่องมัณฑนาพากลับไป

ปิ่นเหลือไว้หนึ่งข้างกล่องบางกัณฑ์

ปิ่นหักทองกล่องปันบางส่วนให้

ขอจิต ธ ขะแข้นแม้นปิ่นไร

แดนชนาสุราลัยได้พบน้อง


ตอนจากลายังน้อมฝากพจมาน

ในวาจามีสาบานสองมานสนอง

ณ เดือนเจ็ดเจ็ดค่ำตำหนักทอง

มัชฌิมยามเราเพียงสองกระซิบกัน

อยู่ฟากฟ้าขอเป็นนกเคียงปีกบิน

อยู่พื้นดินขอเป็นกิ่งร่วมแก่นมั่น

แม้ฟ้าถิรดินทีฆ์มียุคันต์

แต่เจ็บช้ำเนื่องอนันต์นิรันดร

[5]


ประโยคสุดท้ายดัดแปลง คำว่า แค้นนี้ จากต้นฉบับเปลี่ยนเป็น เจ็บช้ำ เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น

อ้างอิง[แก้]