คิงกิโดราห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คิงกิโดราห์ในยุคเฮเซ

คิงกิโดราห์ (อังกฤษ: King Ghidorah; ญี่ปุ่น: キングギドラ; Kingu Gidora) เป็นสัตว์ประหลาดหรือไคจูตัวหนึ่งที่ปรากฏกายในภาพยนตร์ซีรีส์ก็อตซิลลา คิงกิโดราห์มีชื่อเรียกอย่างสั้น ๆ ในประเทศแถบตะวันตกว่า กิดราห์ (Ghidrah)[1][2] นอกจากนี้แล้วยังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า มอนสเตอร์ซีโร (Monster Zero)

คิงกิโดราห์ เป็นมังกรประเภทมังกรยุโรป มีจุดเด่น คือ มีสามหัว มีปีกคล้ายค้างคาวขนาดใหญ่ มีเกล็ดตามลำตัวสีทอง มีขาสองขา ไม่มีขาหน้าคล้ายไวเวิร์น มีหางสองหาง จัดเป็นคู่ปรับตัวฉกาจตัวหนึ่งของก็อตซิลลา กำเนิดมาจากมนุษย์ดาวคิระส่งมายังโลกมนุษย์เพื่อทำลายล้างโลก แต่ก็ถูกขัดขวางโดยก็อตซิลลา ในภาพยนตร์เรื่อง Ghidorah, the Three-Headed Monster ในปี ค.ศ. 1964 โดยโตโฮ และปรากฏตัวตามมาอีกหลายภาคตั้งแต่ยุคโชวะ จนถึงยุคเฮเซ รวมถึงการเป็นไซบอร์กหรือหุ่นยนต์ใน Godzilla vs. King Ghidorah ในปี ค.ศ. 1991 [1][2]

คิงกิโดราห์ บินด้วยความเร็ว 3 มัค มีอาวุธที่ร้ายกาจคือ ลำแสงที่ปล่อยจากปาก, ปีกที่กระพือสร้างพายุ รวมถึงลำคอที่ยาวใช้รัดลำตัวคู่ต่อสู้

ในตอนแรกที่คิงกิโดราห์ถูกปล่อยสู่สาธารณะ ได้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการออกแบบโดยมีที่มาจากความหวาดกลัวการคุกคามโดยอาวุธนิวเคลียร์จากจีน[3] แต่ทว่า ผู้กำกับ อิชิโระ ฮนดะ ได้ปฏิเสธและกล่าวว่า มันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน เพียงแต่คิงกิโดราห์เป็นภาพลักษณ์ที่ทันสมัยของยะมะตะ โนะ โอะโระชิ (八岐の大蛇; Yamata no Orochi) มังกรในเทพปกรณัมของญี่ปุ่น[4]

นอกจากนี้แล้ว คิงกิโดราห์ ยังจะเป็นหนึ่งในไคจูที่ปรากฏบทบาทในก็อตซิลลาฉบับฮอลลีวูดของวอร์เนอร์บราเธอส์ Godzilla: King of the Monsters ที่มีกำหนดฉายในปี ค.ศ. 2019 อันเป็นภาคต่อของ Godzilla ในปี ค.ศ. 2014 โดยมีการกล่าวอ้างถึงในตอนท้ายของ Kong: Skull Island ในปี ค.ศ. 2017 ร่วมกับมอธรา และโรดอน[5]

ใน Godzilla: King of the Monsters คิงกิโดราห์ ถูกเรียกสั้น ๆ ว่า "กิโดราห์" มีความสูง 521 ฟุต นับว่าสูงใหญ่กว่าก็อตซิลลามาก โดยถูกกำหนดให้เป็นไคจูที่ถูกแช่แข็งไว้ที่ทวีปแอนตาร์กติกา และปรากฏตัวมาพร้อมกับพายุฝนฟ้าคะนอง และดนตรีประกอบมีบทสวดปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรของมหายานเพื่อตอกย้ำความเป็น "มอนสเตอร์ซีโร" ซึ่งหมายถึง ความว่างเปล่า หรือสุญญตา [6] [7] และเมื่อหัวข้างใดข้างหนึ่งขาดไปแล้วยังงอกใหม่ได้เหมือนกับไฮดราอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "North American poster for GHIDRAH". Continental Releasing-1965. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ September 12, 2014.
  2. 2.0 2.1 "Ghidorah Original Motion Picture Soundtrack". Toho. สืบค้นเมื่อ September 12, 2014.
  3. Jess-Cooke, C. (2009), Film Sequels: Theory and Practice from Hollywood to Bollywood, Edinburgh University Press, p. 38, ISBN 0748689478
  4. David Milner, "Ishiro Honda Interview" เก็บถาวร 2017-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Kaiju Conversations (December 1992)
  5. "Warner Bros. Pictures' and Legendary Pictures' MonsterVerse Kicks Into Gear as the Next Godzilla Feature Gets Underway" (Press release). June 19, 2017.
  6. "ประเมินพลัง ไคจู "มอธร่า-โรดัน-คิง กิโดร่าห์" จักรวาลมอนสเตอร์ รุม Godziila". เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์. July 19, 2018. สืบค้นเมื่อ June 15, 2019.
  7. WaterTower Music (May 23, 2019). "Godzilla KOTM - Ghidorah Theme - Bear McCreary (Official Video)". youtube. สืบค้นเมื่อ June 15, 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]