คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรีกับณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คำพิพากษาฎีกาที่ 6374/2556)
คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ ณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ จำเลย
หน้าแรกของสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกา
สาระแห่งคดี
คำฟ้อง ข้อความของจำเลยเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต
คำขอ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีดังกล่าว
คู่ความ
โจทก์ พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี
จำเลย ณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์
ศาล
ศาล ศาลฎีกา
ผู้พิพากษา
  • ทวีป ตันสวัสดิ์
  • พศวัจน์ กนกนาก
  • ศิริชัย วัฒนโยธิน
คำพิพากษา
คำพิพากษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556
พิพากษา
" จำคุก 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง "
ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556
กฎหมาย ประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 112, เทียบเคียงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 (บางส่วน)

คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรีกับณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ เป็นคดีอาญาระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี กับณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ ซึ่งเป็นผู้จัดรายการวิทยุ ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี (จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง) และให้รอลงอาญา 2 ปี เนื่องจากมีข้อความบางตอนดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึงศาลฎีกาพิเคราะห์ว่าเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย สาวตรี สุขศรีวิเคราะห์ว่าคำพิพากษานี้ขัดต่อหลักกฎหมายอาญา และเทียบเคียงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327 บางส่วนอย่างไม่ถูกต้อง

ข้อเท็จจริงแห่งคดี[แก้]

พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จัดรายการสถานีวิทยุชุมชน กล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า "เพราะศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในสิ่งใดที่เราคิดว่า เราเสียไปแล้วเนี๊ยะ ถ้าเราทำด้วยความอิสระ ทำด้วยความคิดเสรี เพื่อพี่น้องประชาชน เราไปครับ แต่ถ้าเราต้องไปแล้วต้องเป็นเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ ๔ เราไม่เป็นครับท่าน ยุคนั้นหมดไปแล้ว" เป็นการใส่ความดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เนื่องจากทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าในสมัยนั้นคนตกเป็นทาส เป็นการปกครองที่ไม่ดี จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 1237/2550 ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฯ

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า กฎหมายไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งยังครองราชย์อยู่ และเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์กระทบถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน หากตีความเฉพาะพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาทให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน อีกทั้งการดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนได้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

บทวิเคราะห์[แก้]

การตีความขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย[แก้]

สาวตรี สุขศรีตีความเห็นว่า ผู้พิพากษาแห่งคดีนี้ไม่ได้พิจารณาเจตนารมณ์แห่งข้อกฎหมายนั้น ๆ เนื่องจากกฎหมายอาญาให้ความคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งพิเศษ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐย่อมไม่มีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษแก่บุคคลที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คำพิพากษานี้จึงเป็นไม่เป็นการอ้างอิงยึดถือคำอธิบายใด ๆ ที่เคยมีมาก่อนปี 2556[1]: 222–3  เลย นอกจากนี้เมื่อเทียบเคียงกับฐานความผิดอื่น ๆ ในหมวด 1 "ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" จะเห็นได้ว่าความผิดอื่นก็เป็นความผิดที่เกิดขึ้นได้แก่พระมหากษัตริย์องค์ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่เท่านั้น[1]: 224 

คำพิพากษายังขัดต่อหลักกฎหมายอาญา "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย" ห้ามยกจารีตประเพณี และห้ามใช้เทียบเคียงกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือ ในคำพิพากษานี้มีการยกบางส่วนของมาตรา 327 ในหมวด "ความผิดฐานหมิ่นประมาท" ว่าด้วยการใส่ความผู้ตายจนกระทบต่อผู้ที่ยังอยู่[1]: 224–5 

การบังคับใช้ความบางส่วนของมาตรา 327 ของประมวลกฎหมายอาญา[แก้]

สาวตรีตีความเห็นว่า มาตรา 327 แห่งประมวลกฎหมายอาญาคุ้มครองไม่อาจใช้เป็นเหตุผลในการลงโทษจำเลยในคดีนี้ ข้อหนึ่งเพราะมาตราดังกล่าวคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลที่ยังอยู่ หาใช่ของบุคคลที่ตายไปแล้ว[1]: 226  ข้อสอง คำอธิบายว่าถ้อยคำของจำเลยที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 4 เป็นเหตุให้กระทบต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาหลายประการ หนึ่งคือคำพิพากษาไม่เจาะจงว่าการกระทำของจำเลยกระทบต่อสิ่งใดของใคร ประการที่สอง จะกลายเป็นว่าศาลรับพิจารณาและพิพากษาคดีโดยมีฐานมาจากคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายองค์ประกอบความผิด มาตรา 112 ไม่ถูกต้อง และประการที่สาม เป็นการตีความเกินกว่าเจตนารมณ์ของมาตรา 327 ที่ตุ้มครองวงศ์ญาติของผู้ตายชั้นเดียวเท่านั้น[1]: 227 

ถ้อยคำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่[แก้]

สาวตรีตีความว่า ถ้อยคำของจำเลยไม่ได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 4 โดยตรง เพียงแต่กล่าวถึง "สมัยรัชกาลที่ 4" ในเชิงเปรียบเทียบความแตกต่างของระบอบการเมืองการปคกรองเท่านั้น ในตำราเรียนเองก็สอนกันว่าทาสเพิ่งมายกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่เห็นว่ามีความผิด[1]: 230–1 

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 สุขศรี, สาวิตรี (2557). "คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๓๗๔/๒๕๕๖ (พระมหากษัตริย์ที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๑๒)" (PDF). นิติศาสตร์. 43 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-06-05.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]