กาโรลึส กลือซียึส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คาโรลัส คลูเซียส)
กาโรลึส กลือซียึส
กาโรลึส กลือซียึส
เกิด19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1526
เสียชีวิต4 เมษายน ค.ศ. 1609
สัญชาติชาวเบลเยียม
อาชีพแพทย์และนักพฤกษศาสตร์
ผลงานเด่นExoticorum libri decem
ตำแหน่งนักพฤกษศาสตร์
นักพฤกษศาสตร์

กาโรลึส กลือซียึส (ดัตช์: Carolus Clusius) หรือ ชาร์ล เดอ เลกลูซ (ฝรั่งเศส: Charles de L'Écluse, Charles de L'Escluse; 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1526 - 4 เมษายน ค.ศ. 1609) เป็นนายแพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวเฟลมิชคนสำคัญ เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1526 ที่เมืองอารัสในประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1609 ที่เมืองไลเดินในประเทศเนเธอร์แลนด์ปัจจุบัน อาจถือว่ากลือซียึสเป็นนักพฤกษศาสตร์ผู้เป็นผู้นำคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ของสาขาพืชกรรมสวน

กลือซียึสได้รับการศึกษาด้านการแพทย์ที่มงเปอลีเยกับกีโยม รงเดอแล (Guillaume Rondelet) ศาสตราจารย์แพทย์ศาสตร์คนสำคัญ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นแพทย์ตามที่ได้ร่ำเรียนมา ในปี ค.ศ. 1573 กลือซียึสก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลสวนสมุนไพรหลวงในกรุงเวียนนาโดยจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 2 และเป็นพนักงานห้องพระบรรทม แต่รับตำแหน่งอยู่ไม่นานก็ถูกปลดเมื่อจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1576 หลังจากออกจากเวียนนาในปลายคริสต์ทศวรรษ 1580 แล้ว กลือซียึสก็ไปทำงานอยู่ที่แฟรงก์เฟิร์ตก่อนที่จะได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยไลเดินในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1593 กลือซียึสเป็นผู้ช่วยในการก่อตั้งสวนพฤกษศาสตร์อย่างเป็นทางการของยุโรปเป็นแห่งแรก ๆ ที่ไลเดิน คือ "สวนพฤกษศาสตร์ไลเดิน" (Hortus Botanicus Leiden) รายละเอียดของพืชที่ปลูกที่บันทึกไว้สามารถทำให้สามารถรื้อฟื้นการสร้างสวนเดียวกันนั้นขึ้นใหม่ได้ไม่ไกลจากส่วนเดิมเท่าใดนัก

ในด้านประวัติศาสตร์การสวน กลือซียึสเป็นผู้มีชื่อเสียงไม่แต่ในด้านความรู้ความสามารถแต่ยังในด้านการสังเกตเกี่ยวกับการแตกสีของทิวลิป — ที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงได้ทราบกันว่าเกิดจากไวรัส — ที่ทำให้ดอกทิวลิปแตกออกเป็นสีต่าง ๆ และมีลักษณะเป็นเปลว หรือขนนกที่นำไปสู่การเก็งกำไรการซื้อหัวทิวลิปที่เชื่อกันว่าจะแตกสีในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "ความคลั่งทิวลิป"[1] ที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ในคริสต์ทศวรรษ 1630 กลือซียึสเป็นผู้วางรากฐานการขยายสายพันธุ์ทิวลิปและระบบการซื้อขายหัวทิวลิปที่กลายมาเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน

กลือซียึสมีงานแปลและงานเขียนหลายชิ้นซึ่งรวม หนังสือสัตววิทยาและพฤกษศาสตร์โพ้นทะเลสิบเล่ม (Exoticorum libri decem) ไว้ด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. Garber, Peter M. (1989), "Tulipmania", Journal of Political Economy, 97 (3): 535–560, doi:10.1086/ {{citation}}: ตรวจสอบค่า |doi= (help)

ดูเพิ่ม[แก้]