กลีบท้ายทอย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คอร์เทกซ์ท้ายทอย)

Brain: สมองกลีบท้ายทอย
กลีบต่างๆ ของสมองมนุษย์ สมองกลีบท้ายทอยมีสีแดง
ผิวด้านใน (medial) ของซีกสมองด้านซ้าย, สมองกลีบท้ายทอยมีสีส้ม, ส่วนที่เรียกว่า cuneus ถูกแยกออกจากรอยนูนรูปลิ้น (lingual gyrus) โดย ร่องแคลคารีน
Latin lobus occipitalis
Gray's subject #189 823
Part of ซีรีบรัม
Artery posterior cerebral artery
NeuroNames hier-122
MeSH Occipital+Lobe
NeuroLex ID birnlex_1136

สมองกลีบท้ายทอย หรือ กลีบท้ายทอย (อังกฤษ: occipital lobe, lobus occipitalis) เป็นกลีบสมองที่เป็นศูนย์ประมวลผลของการเห็นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งโดยมากประกอบด้วยเขตต่างๆ ทางกายวิภาคของคอร์เทกซ์สายตา[1]

คอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐม เป็นส่วนเดียวกับ เขตบร็อดแมนน์ 17 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า V1 ซึ่งในมนุษย์ อยู่ที่สมองกลีบท้ายทอยใกล้กลาง (medial) ภายในร่องแคลคารีน (calcarine sulcus) เขต V1 นั้น บ่อยครั้งดำเนินต่อไปทางด้านหลังของสมองกลีบท้ายทอย และบ่อยครั้งเรียกว่า คอร์เทกซ์ลาย (striate cortex) เพราะเป็นเขตที่ระบุได้โดยริ้วลายขนาดใหญ่ของปลอกไมอีลิน ที่เรียกว่า ลายเจ็นนารี (Stria of Gennari)

ส่วนเขตมากมายอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ประมวลผลทางสายตาที่อยู่นอก V1 เรียกว่า เขตคอร์เทกซ์สายตานอกคอร์เทกซ์ลาย (extrastriate cortex) ซึ่งแต่ละเขตมีกิจเฉพาะของตนในการประมวลข้อมูลทางสายตา รวมทั้งการประมวลผลด้านปริภูมิ ด้านการแยกแยะสี และการรับรู้การเคลื่อนไหว ชื่อของสมองกลีบท้ายทอย (occipital lobe) เป็นชื่อสืบมาจากกระดูกท้ายทอย (occipital bone) ซึ่งมาจากคำในภาษาละตินว่า ob ซึ่งแปลว่า "ท้าย" และ caput ซึ่งแปลว่า "ศีรษะ"

กายวิภาค[แก้]

รูปไหว สมองกลีบท้ายทอยมีสีแดง อยู่ในสมองซีกซ้าย

สมองกลีบท้ายท้อย 2 กลีบ เป็นกลีบที่เล็กที่สุดในบรรดากลีบสมอง 4 คู่ในเปลือกสมองของมนุษย์ เป็นกลีบที่อยู่ท้ายสุดของกะโหลกศีรษะ เป็นส่วนของสมองส่วนหน้า (forebrain) กลีบสมองในคอร์เทกซ์ไม่ได้ถูกกำหนดโดยลักษณะใดลักษณะหนึ่งของโครงสร้างภายใน แต่ว่าโดยกระดูกกะโหลกศีรษะเหนือกลีบสมองเหล่านั้น ดังนั้น สมองกลีบท้ายทอยจึงถูกนิยามว่า เป็นส่วนของเปลือกสมองที่อยู่ภายใต้กระดูกท้ายทอย

กลีบสมองทั้งหมดตั้งอยู่บน tentorium cerebelli ซึ่งเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากเยื่อดูรา ที่แบ่งซีรีบรัมออกจากซีรีเบลลัม กลีบสมองที่เป็นคู่ๆ ถูกแยกออกจากกันโดยโครงสร้างให้อยู่ในซีกสมองทั้ง 2 ข้าง โดย cerebral fissure ริมส่วนหน้าของสมองกลีบท้ายทอย มีรอยนูนสมองกลีบท้ายทอย (occipital gyri) ด้านข้างหลายส่วน ซึ่งแยกออกจากกันโดยร่องสมองกลีบท้ายท้อย (occipital sulcus) ที่อยู่ด้านข้างเช่นกัน

ส่วนต่างๆ ของสมองกลีบท้ายทอย ทางด้านในของแต่ละซีกสมอง ถูกแยกออกจากกันโดยร่องแคลคะรีน (calcarine sulcus) ซึ่งมีรูปเป็นตัวอักษร Y. เหนือร่องแคลคะรีนนั้น เป็นส่วนที่เรียกว่า cuneus และส่วนใต้ร่องแคลคะรีน เป็นส่วนที่เรียกว่ารอยนูนรูปลิ้น (lingual gyrus) (ดูรูปที่ 2 จากด้านบนบทความ)

ความเสียหายต่อเขตสายตาขั้นปฐม (primary visual cortex) ส่วนต่างๆ ในสมองกลีบท้ายทอย อาจจะทำให้บุคคลมองไม่เห็นเป็นบางส่วน หรือมองไม่เห็นโดยสิ้นเชิง[2]

หน้าที่[แก้]

ส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของสมองกลีบท้ายทอยก็คือ คอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐม (primary visual cortex)

เซลล์รับแสง (photoreceptor cell) ในเรตินา ส่งข้อมูลแสงไปทางลำเส้นใยประสาทตา ไปยังนิวเคลียสงอคล้ายเข่าด้านข้าง (lateral geniculate nucleus) ผ่านวิถีประสาทนิวเคลียสงอคล้ายเข่า-คอร์เทกซ์ลาย (geniculostriate pathway) ไปยังคอร์เทกซ์สายตา ซึ่งแต่ละข้างรับข้อมูลดิบจากครึ่งด้านนอกของเรตินา ที่อยู่ในด้านศีรษะเดียวกัน และจากครึ่งด้านในของเรตินา ที่อยู่ในด้านศีรษะตรงกันข้ามกัน

ส่วน cuneus รับข้อมูลทางตาจากส่วนบนของเรตินาด้านตรงข้ามของศีรษะ ซึ่งมีข้อมูลของลานสายตา (visual field) ด้านล่าง ส่วนรอยนูนรูปลิ้นรับข้อมูลจากส่วนล่างของเรตินาด้านตรงข้ามของศีรษะ ซึ่งมีข้อมูลของลานสายตาด้านบน สองส่วนนี้รวมกันโดยกิจเรียกว่า "คอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐม" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เขตบร็อดแมนน์ 17"

จากเรตินา ข้อมูลสายตาถูกส่งผ่านสถานีย่อย คือนิวเคลียสงอคล้ายเข่าด้านข้าง (lateral geniculate nucleus) ซึ่งอยู่ในทาลามัส ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังคอร์เทกซ์ เซลล์ประสาทที่อยู่ด้านหลังในเนื้อเทาของสมองกลีบท้ายทอยด้านหลัง ถูกจัดระเบียบเป็นแผนที่ทางปริภูมิของลานสายตา การสร้างภาพของสมองโดยกิจ เช่น fMRI แสดงรูปแบบการตอบสนองของเนื้อเยื่อคอร์เทกซ์ของกลีบสมองทั้งสอง ที่คล้ายๆ กันกับเรตินา เมื่อลานสายตาประสบกับรูปแบบที่มีกำลัง

ถ้าสมองกลีบท้ายทอยซีกหนึ่งเสียหาย อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียการเห็นประเภท homonymous hemianopsia[3] คือมีส่วนของลานสายตาด้านเดียวกันที่สูญเสียไปในตาทั้งสองข้าง รอยโรคที่สมองกลีบท้ายทอยอาจจะทำให้เกิดประสาทหลอนทางตา ส่วนรอยโรคในเขตประสาทสัมพันธ์ ในสมองกลีบข้าง สมองกลีบขมับ และสมองกลีบท้ายทอย มีความสัมพันธ์กับภาวะเสียการระลึกรู้สีเหตุสมอง (cerebral achromatopsia[4]) ภาวะไม่รู้ความเคลื่อนไหว (akinetopsia) และภาวะเสียการเขียน (agraphia[5])

ความเสียหายต่อคอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐม ซึ่งอยู่บนผิวของสมองกลีบท้ายทอยด้านหลัง สามารถทำให้ตาบอด เนื่องจากมีช่องในแผนที่ทางตาบนผิวของคอร์เทกซ์สายตา ที่เกิดจากรอยโรค[6]

กายวิภาคโดยกิจ[แก้]

สมองกลีบท้ายทอยแบ่งออกเป็นเขตการเห็น (visual areas) หลายเขต ในแต่ละเขตมีแผนที่สมบูรณ์ของโลกทางการเห็น ถึงแม้ว่า จะไม่มีตัวบ่งชี้ทางกายวิภาคที่แยกแยะเขตเหล่านี้ (ยกเว้นลายเส้นที่เด่นในคอร์เทกซ์ลาย) นักสรีระวิทยาก็ได้ใช้อิเล็กโทรด เพื่อสำรวจการทำงานของเซลล์ประสาทในเขต แล้วแบ่งคอร์เทกซ์ออกเป็นเขตต่างๆ กันโดยกิจ

เขตที่แบ่งโดยกิจเขตแรกก็คือคอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐม (คอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐม) ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางเฉพาะที่ (local orientation) ความถี่ปริภูมิ[7] และคุณลักษณะต่างๆ ของสี คอร์เทกซ์สายตาขั้นปฐมส่งสัญญาณไปยังเขตต่างๆ ของสมองกลีบท้ายทอยในทางสัญญาณด้านล่าง (คือ เขตสายตา V2 และเขตสายตา V4) และในทางสัญญาณด้านหลัง (คือ เขตสายตา V3 และเขตสายตา MT และ dorsomedial area)

โรคลมชักกับสมองกลีบท้ายทอย[แก้]

งานวิจัยเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่า สภาพประสาทเฉพาะอย่างบางอย่าง มีผลต่อโรคลมชักที่สมองกลีบท้ายทอยแบบ idiopathic[8] แบบ symptomatic (idiopathic occipital lobe epilepsies)[9]

การชักที่สมองกลีบท้ายทอย ถูกเหนี่ยวนำโดยแสงสว่างฉับพลัน หรือภาพทางตาที่มีสีหลายสี ซึ่งเรียกว่าตัวกระตุ้นกระพริบ (flicker stimulation) ที่มักจะมาจากโทรทัศน์ ส่วนการชักแบบนี้เรียกว่า การชักไวต่อภาพ (photo-sensitivity seizure) คนไข้ที่ประสบการชักที่สมองกลีบท้ายทอย บรรยายการชักของตนว่า มีการเห็นสีที่สดใส เป็นการเห็นที่พร่ามัวมาก และบางคน ก็มีการอาเจียน ภาวะนี้ มักจะถูกเหนี่ยวนำในเวลากลางวัน โดยโทรทัศน์ วิดีโอเกม หรือการกระตุ้นแบบกระพริบอย่างใดอย่างหนึ่ง[10]

การชักที่สมองกลีบท้ายทอย เป็นการชักที่จำกัดอยู่ในสมองกลีบท้ายทอย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแบบไม่มีเหตุอะไร หรืออาจจะถูกเหนี่ยวนำด้วยตัวกระตุ้นทางตาภายนอก โรคชักที่สมองกลีบท้ายทอยมีแบบ idiopathic[8] แบบ symptomatic[11] และแบบ cryptogenic [12][13] ภาวะแบบ symptomatic เริ่มเกิดในวัยใดก็ได้ และในขั้นใดก็ได้หลังจากหรือระหว่างการเป็นไปของโรคที่เป็นเหตุของการชัก ในขณะที่แบบ idiopathic มักจะเริ่มเกิดขึ้นในวัยเด็ก[14]

โรคชักที่สมองกลีบท้ายทอยเกิดขึ้นใน 5%-10% ของโรคชักทั้งหมด[15]

ภาพต่างๆ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุและอ้างอิง[แก้]

  1. "SparkNotes: Brain Anatomy: Parietal and Occipital Lobes". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-31. สืบค้นเมื่อ 2008-02-27.
  2. Schacter, D. L., Gilbert, D. L. & Wegner, D. M. (2009). Psychology. (2nd ed.). New Work (NY): Worth Publishers.
  3. ตาบอดครึ่งซีก (hemianopsia) เป็นการสูญเสียลานสายตาที่เป็นไปตามแนวกลางด้านตั้ง (vertical midline) ในตา โดยปกติเกิดขึ้นที่ทั้งสองตา แต่มีบางกรณีเกิดที่ตาข้างเดียว กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ มีการสูญเสียการเห็นส่วนของลานสายตาด้านซ้ายหรือด้านขวา ที่มีเหตุมาจากตาทั้งสองข้างหรือข้างเดียว ส่วน homonymous hemianopsia (ตาบอดครึ่งซีกแบบ homonymous) เป็นการการสูญเสียลานสายตาด้านเดียวกัน ในตาทั้งสองข้าง กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ homonymous hemianopsia เป็นประเภทหนึ่งของโรคตาบอดครึ่งซีก ที่เกิดขึ้นที่ตาทั้งสองข้าง
  4. ภาวะเสียการระลึกรู้สีเหตุสมอง (cerebral achromatopsia) คือความบกพร่องในการรับรู้สี ที่เกิดขึ้นเพราะรอยโรคในซีกสมองด้านหนึ่งหรือสองด้าน ที่รอยต่อของสมองกลีบขมับและสมองกลีบท้ายทอย (temporo-occipital junction)
  5. ภาวะเสียการเขียน (agraphia) เป็นสภาวะที่ไม่สามารถเขียนหนังสือมีเหตุมาจากโรคทางสมอง สภาวะเสียการเขียนเป็นรูปแบบอย่างหนึ่งของภาวะเสียการสื่อความ (aphasia) ซึ่งเป็นสภาวะที่ไร้ความสามารถในการสื่อความ หรือความสามารถนั้นมีความขัดข้อง
  6. Carlson, Neil R. (2007). Psychology : the science of behaviour. New Jersey, USA: Pearson Education. p. 115. ISBN 978-0-205-64524-4.
  7. ในคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรม ความถี่ปริภูมิ (spatial frequency) เป็นลักษณะเฉพาะของโครงสร้างชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ ที่เคลื่อนที่ไปในปริภูมิอย่างเป็นคาบๆ ความถี่ปริภูมิวัดได้โดยองค์ประกอบรูปไซน์ (sinusoidal component) ที่กำหนดโดยการแปลงฟูรีเย ของโครงสร้างที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กันในช่วงระยะทางหนึ่ง หน่วยวัดสากลของความถี่ปริภูมิก็คือรอบต่อเมตร (cycles per meter)
  8. 8.0 8.1 โรคชักแบบ idiopathic (แปลว่า เกิดขึ้นเอง, ไม่รู้สาเหตุ) เป็นโรคที่โดยทั่วไปสันนิษฐานว่า เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง (ที่ผิดปกติ) ในการควบคุมระบบประสาทขั้นพื้นฐาน
  9. Chilosi, Anna Maria; Brovedani (November 2006). "Neuropsychological Findings in Idiopathic Occipital Lobe Epilepsies". Epilepsia. 47 (s2): 76–78. doi:10.1111/j.1528-1167.2006.00696.x. PMID 17105468. S2CID 23702191.
  10. Destina Yalçin, A., Kaymaz, A., & Forta, H. (2000). Reflex occipital lobe epilepsy. Seizure, 9(6), 436-441.
  11. โรคชักแบบ symptomatic (แปลว่า มีอาการ, แบบทั่วไป) เกิดจากรอยโรคที่ทำให้เกิดการชัก ไม่ว่ารอยโรคนั้นจะเป็นในจุดเดียวเช่นเนื้องอก หรือเกิดจากความบกพร่องในระบบเมแทบอลิซึมที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางในสมอง
  12. โรคชักแบบ cryptogenic (แปลว่า ไม่รู้สาเหตุ) เกี่ยวข้องกับรอยโรคที่คิดว่ามี แต่ว่า ยากที่จะค้นพบ หรือไม่สามารถจะค้นพบได้ในการตรวจสอบ
  13. Adcock, Jane E; Panayiotopoulos, Chrysostomos P (31 October 2012). "Journal of Clinical Neurophysiology". Occipital Lobe Seizures and Epilepsies. 29 (5): 397–407. doi:10.1097/wnp.0b013e31826c98fe. PMID 23027097.
  14. Adcock, Jane E. Journal of Clinical Neurophysiology Volume 29 (2012). 'Occipital Lobe Seizures and Epilepsies. DOI: 10.1097/WNP.0b013e31826c98fe
  15. Adcock, J. E.; Panayiotopoulos, C. P. (2012). Occipital Lobe Seizures and Epilepsies. Journal of Clinical NeuroPhysiology. 29(5), 397-407. doi: 10.1097/WNP.0b013e31826c98fe