ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนสคัพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ควีนส์คัพ (ฟุตบอล))
ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนสคัพ
ก่อตั้ง1970; 54 ปีที่แล้ว (1970)
จำนวนทีม32
ทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดเกาหลีใต้ มหาวิทยาลัยฮันยาง (7 ครั้ง)

ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนสคัพ (อังกฤษ: Queen's Cup Football Tournament) เป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรประจำปีของประเทศไทย การแข่งขันจัดโดย ภาคีสโมสรควีนสคัพ โดยมีการจัดการแข่งขันขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2513 แต่ได้งดการแข่งขันเป็นจำนวน 7 ครั้ง ได้แก่ ในปี 2518, 2528, 2541, 2544, 2548, 2550, 2551 และเว้นวรรคการแข่งขันหลังจาก ครั้งที่ 34 (ปี 2553 จนถึง ปัจจุบัน) สำหรับถ้วยรางวัลของการแข่งขันนั้น ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2513

ประวัติการแข่งขัน[แก้]

การแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรในประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับอย่างหนึ่งคือ ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ซึ่งเป็นถ้วยที่ทาง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ รับรองและเป็นถ้วยหลักที่ทำการแข่งขัน แต่ว่า การแข่งขันฟุตบอลกระชับในระดับสโมสร เพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขัน ยังไม่มีหนัก โดยได้มีความพยายามจัดการแข่งขันในปี 2508 โดยเป็น สโมสรทหารอากาศ ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลกระชับมิตรสโมสรในระบบทัวร์นาเม้นต์ โดยแข่งเป็นกระชับมิตรสามเส้า ระหว่าง สโมสรธนาคารกรุงเทพ สโมสรทหารอากาศ และสโมสรตำรวจ ชิงถ้วย ผู้บัญชาการทหารอากาศ แต่ก็เป็นการจัดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น[1]

จนกระทั่งในปี 2513 บุญชู โรจนเสถียร นายกสโมสรธนาคารกรุงเทพ (ในขณะนั้น) ไดมีดำริที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับกระชับมิตรสโมสร โดยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อขอพระบรมราชานุญาต ใช้ชื่อการแข่งขันนี้ว่า การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ควีนสคัพ) ซึ่งก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศล และเพื่อให้สโมสรต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าแข่งขันเพื่อหาประสบการณ์ รวมไปถึงเป็นเวทีในการคัดเลือกนักฟุตบอลในระดับสโมสร เพื่อเข้าสู่สารระบบฟุตบอลทีมชาติไทย

โดยได้เชิญสโมสรต่างๆ อีก 5 สโมสรเข้าร่วมการแข่งขัน อาทิ[1]:

  1. สโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทย
  2. สโมสรกีฬาราชวิถี
  3. สโมสรทหารอากาศ
  4. สมาคมหัวเฉียวจีนแคะแห่งประเทศไทย
  5. สโมสรกีฬาราชประชานุเคราะห์

โดยกำหนดจะให้มีการแข่งขันเป็นประจำทุกปี โดยทุกสโมสรผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยในครั้งแรก ให้ สโมสรธนาคารกรุงเทพ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ในฐานะผู้ริเริ่มจัดการแข่งขัน

สโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขัน[แก้]

สโมสรที่ร่วมแข่งขัน ฟุตบอลฯ ควีนสคัพ นั้น จะแตกต่างกับการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยในหลายประเทศ โดยใน ฟุตบอลฯ ควีนสคัพ สโมสรที่เข้าร่วมร่วมแข่งขัน จะต้องเป็นสโมสรที่เป็นสมาชิกของ ภาคีสโมสรควีนสคัพ จึงจะมีสิทธิในการแข่งขัน ซึ่งจะเห็นได้จาก การแข่งขันในบางครั้งที่จะมีสโมสรฟุตบอลจังหวัดแข่งขันในนามของสโมสรอื่น และในการแข่งขันหลายครั้งก็จะมีการเชิญสโมสรฟุตบอล จากต่างประเทศมาร่วมแข่งขัน ซึ่งแตกต่างกันการแข่งขันฟุตบอลถ้วยในหลายประเทศ อาทิ เอฟเอคัพ (อังกฤษ) คอปปาอิตาเลีย (อิตาลี) หรือ ยูเอสโอเพนคัพ (สหรัฐอเมริกา) ที่การแข่งขันฟุตบอลถ้วยจะให้เฉพาะทีมสโมสรในประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทีมทุกระดับในประเทศร่วมแข่งขัน ทีมที่เล่นในลีกระดับล่างจะมีโอกาสได้แข่งขันกับทีมที่เล่นในลีกระดับสูง และการแข่งขันฟุตบอลถ้วยเหล่านั้นจะแข่งขันในช่วงระยะเวลาคั่นระหว่างการแข่งขันฟุตบอลลีก

รางวัลชนะเลิศ[แก้]

ถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ[แก้]

สโมสรที่ชนะเลิศการแข่งขัน จะได้รับถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือผู้แทนพระองค์ โดยตัวถ้วยมีความสูง 1.25 เมตร น้ำหนักรวม 10.5 กิโลกรัม โดยทำด้วยเงินแท้ 95% มีพระปรมาภิไธยย่อ "สก." สลักอยู่บนตัวถ้วย โดยเป็นถ้วยพระราชทานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[2]

เข็มควีนส์สตาร์[แก้]

หลังจากการแข่งขัน ฟุตบอลฯ ควีนสคัพ จบลง ฝ่ายจัดการแข่งขันจะคัดเลือกนักฟุตบอลที่ทำผลงานได้ดีกับสโมสรในการแข่งขัน และ มารยาทดี มีน้ำใจนักกีฬา ให้รับเชิญมาติดทีมเฉพาะกิจ ในนาม ทีมควีนส์สตาร์ ซึ่งจะได้รับเข็มควีนส์สตาร์นี้ เป็นที่ระลึก และ จะมีการจัดฟุตบอลนัดพิเศษตามโอกาสเห็นสมควร[3]

ทำเนียบผลการแข่งขัน[แก้]

ครั้งที่ ปี ชนะเลิศ ผลการแข่งขัน รองชนะเลิศ
1 2513 ธนาคารกรุงเทพ 0 - 0 ทหารอากาศ
ธนาคารกรุงเทพ และ ทหารอากาศ (ชนะเลิศร่วมกัน)
2 2514 อินโดนีเซีย จาการ์ตา ปุตรา 1 - 0 ราชวิถี
3 2515 ราชประชา 2 - 1 การท่าเรือฯ
4 2516 ราชวิถี 1 - 0 ธนาคารกรุงเทพ
5 2517 ทหารอากาศ เกาหลีใต้ ฮันยัง
ทหารอากาศ และ ฮันยัง (ชนะเลิศร่วมกัน)
ปี 2518 ไม่มีการแข่งขัน
6 2519 ราชวิถี 0 - 2 ญี่ปุ่น ยันมาร์ ดีเซล
7 2520 การท่าเรือฯ เกาหลีใต้ ฮันยัง
การท่าเรือฯ และ ฮันยัง (ชนะเลิศร่วมกัน)
8 2521 การท่าเรือฯ 3 - 1 ราชประชา
9 2522 การท่าเรือฯ 0 - 0 จีน ออร์กัสเฟิร์ส
การท่าเรือฯ และ ออร์กัสเฟิร์ส (ชนะเลิศร่วมกัน)
10 2523 การท่าเรือฯ 3 - 2 จีน ออร์กัสเฟิร์ส
11 2524 ราชประชา 1 - 0 จีน ปักกิ่ง
12 2525 ทหารอากาศ 2 - 0 เกาหลีใต้ ฮันยัง
13 2526 ธนาคารกรุงเทพ 2 - 1 การท่าเรือฯ
14 2527 เกาหลีใต้ ฮันยัง 1 - 1
(ลูกโทษ 4 - 3)
การท่าเรือฯ
ปี 2528 ไม่มีการแข่งขัน
15 2529 จีน เซี่ยงไฮ้ 4 - 2 เดนมาร์ก โคเบนเฮาท์
16 2530 การท่าเรือฯ 2 - 0 ธนาคารกรุงไทย
17 2531 เกาหลีใต้ ฮันยัง 1 - 0 ราชประชา
18 2532 เกาหลีใต้ ฮันยัง 3 - 1 ทหารอากาศ
19 2533 เกาหลีใต้ ฮันยัง 1 - 0 ตำรวจ
20 2534 เกาหลีใต้ ฮันยัง 0 - 0
(ลูกโทษ 6 - 5)
ธนาคารกสิกรไทย
21 2535 กัมบะ โอซะกะ 4 - 3 ทหารอากาศ
22 2536 การท่าเรือฯ
23 2537 ธนาคารกสิกรไทย 4 - 2 ราชวิถี
24 2538 ธนาคารกสิกรไทย 2 - 1 ราชประชา
25 2539 ธนาคารกสิกรไทย 1 - 1
(ลูกโทษ 4 - 3)
สินธนา
26 2540 ธนาคารกสิกรไทย 1 - 0 ราชนาวี
ปี 2541 ไม่มีการแข่งขัน
27 2542 เกาหลีใต้ ฮันยัง 3 - 1 ราชประชา
28 2543 ธนาคารกรุงเทพ 2 - 2
(ลูกโทษ 5 - 3)
สินธนา
ปี 2544 ไม่มีการแข่งขัน
29 2545 โอสถสภา 3 - 2 สินธนา
30 2546 โอสถสภา 1 - 0 ทศท โทรคมนาคม
31 2547 โอสถสภา
ปี 2548 ไม่มีการแข่งขัน
32 2549 ราชนาวี 1 - 0 ธนาคารกรุงไทย
ปี 2550 - 2551 ไม่มีการแข่งขัน
33 2552 เกาหลีใต้ ฮาเลลูย่า 1 - 0 บีอีซี เทโรศาสน
34 2553 ธนาคารกรุงไทย-บีจี 4 - 1 เพื่อนตำรวจ

ปัญหาในการจัดการแข่งขัน[แก้]

แม้ว่าการแข่งขันฟุตบอลฯ ควีนส์คัพ จะได้รับความนิยม และเป็นการแข่งขันฟุตบอลในระดับสโมสรที่ได้รับการยอมรับรายการหนึ่งในระดับประเทศ และ ระดับเอเชีย แต่เนื่องด้วยการที่เมื่อมีการจัดการแข่งขัน สโมสรสมาชิกที่เป็นภาคี ที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จะต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันเอง ซึ่งเฉลี่ยแล้ว จำเป็นต้องใช้เงินอย่างน้อย 8-10 ล้านบาท ซึ่งกอปรกระแสการรับชมฟุตบอลไทยซบเซา จึงทำให้ในช่วงระยะเวลาการแข่งขันครั้งหลังๆ จึงไม่ค่อยมีการจัดการแข่งขันบ่อยเหมือนช่วงก่อนๆ[4] รวมไปถึงสโมสรภาคีสมาชิก ที่บางสโมสรได้มีการยุบทีมไป หรือไม่ได้ทำการแข่งขันฟุตบอลในระดับสูงๆ รวมไปถึงข้อบังคับ ที่สโมสรที่จะเข้าแข่งขัน ต้องเป็นสโมสรในภาคีสมาชิก จึงทำให้ความสนใจในรายการนี้ลดน้อยถอยลงตามไปด้วย[4]

อย่างไรก็ดี ก็ได้มีความพยายามจัดการแข่งขันอีกครั้ง โดยทาง สโมสรฟุตบอลชลบุรี ได้พยายามที่จะจัดให้มีการแข่งขันอีกครั้ง ในปี 2554[5] และ 2559[6] แต่ก็ติดปัญหาตารางจัดการแข่งขัน ที่ไม่เอื้ออำนวยให้มีการจัดการแข่งขัน จึงทำให้ไม่มีการจัดการแข่งขันมานานจนถึงปัจจุบัน

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 https://www.facebook.com/queencup2513/photos/a.101492384732245/101399494741534/?type=3&theater อ้างอิง จาก สูจิบัตรการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ. 2513 - เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
  2. สูจิบัตร ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ครั้งที่ 28 - เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
  3. https://www.facebook.com/queencup2513/photos/a.101492384732245/101464504735033/?type=3&theater อ้างอิง จาก สูจิบัตรการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ. 2513 - เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
  4. 4.0 4.1 http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=5360.0;wap2 เก็บถาวร 2021-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ควีนส์คัพวิกฤติ ทุนสูงหาภาคีจัดไม่ได้ - คมชัดลึก (เผยแพร่ต่อใน เว็บไซต์ไทยแลนด์สู้ๆ)
  5. https://www.komchadluek.net/news/sport/87652 ควีนส์คัพหน35ป่วน ไร้เวลา-ไม่มีเจ้าภาพ ส่อเลื่อนไปจัดปีหน้า - คมชัดลึก
  6. https://www.dailynews.co.th/sports/510301 บอล"ควีนส์คัพ"คืนชีพเล็งจัดต้นปีหน้า - เดลินิวส์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลสถิติ