ข้ามไปเนื้อหา

ความเหนือกว่าเทียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความเหนือกว่าเทียม (อังกฤษ: Illusory superiority) เป็นความเอนเอียงทางประชาน ที่บุคคลประเมินคุณสมบัติหรือความสามารถของตนเทียบกับคนอื่นเกินจริง ซึ่งเห็นได้ชัดในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเชาวน์ปัญญา ความสามารถในการทำงานหรือการสอบ หรือการมีคุณลักษณะหรือลักษณะบุคลิกภาพที่น่าชอบใจ เป็นการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก (positive illusion) ชนิดหนึ่งที่เกี่ยวกับตนเอง เป็นปรากฏการณ์ที่ศึกษากันในสาขาจิตวิทยาสังคม

มีคำภาษาอังกฤษอื่น ๆ ที่หมายถึงคำนี้รวมทั้ง above average effect (ปรากฏการณ์เหนือกว่าโดยเฉลี่ย) superiority bias (ความเอนเอียงว่าเหนือกว่า) leniency error (ความผิดพลาดแบบปรานี) sense of relative superiority (ความรู้สึกว่าเหนือกว่าโดยเปรียบเทียบ) หรือภาษาอังกฤษผสมภาษาละตินว่า primus inter pares effect[1] และ Lake Wobegon effect (ปรากฏการณ์ทะเลสาบโวบีกอน) ซึ่งเป็นทะเลสาบในเมืองนวนิยายที่ ๆ "หญิงทั้งหมดแข็งแรง ชายทุกคนรูปหล่อ และเด็กทั้งปวงเหนือกว่าเด็กธรรมดา"[2] ส่วนคำว่า "illusory superiority" ได้ใช้เป็นครั้งแรกโดยนักจิตวิทยาคู่หนึ่งในปี 1991[1]

ในสถานการณ์ต่าง ๆ

[แก้]

ปรากฏการณ์นี้พบเมื่อบุคคลเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งในสถาบันการศึกษา เช่นความสามารถในการเรียน การสอบ และระดับเชาวน์ปัญญาโดยทั่วไป ในสถานที่ทำงาน เช่น ความสามารถในการทำงาน ในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ เช่นการประเมินว่าตนเป็นที่นิยมขนาดไหน และมีลักษณะบุคลิกภาพที่น่าชอบใจต่าง ๆ เช่น ความซื่อสัตย์หรือความมั่นใจในตน มากน้อยแค่ไหน และแม้แต่ในเรื่องการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน[1]

เพื่อที่จะแสดงปรากฏการณ์เหนือกว่าเทียม โดยเปรียบเทียบกับกลุ่ม จะต้องกล่าวถึงปัญหาสองอย่างก่อน อย่างหนึ่งก็คือความไม่ชัดเจนของคำว่า คนปานกลาง (average) แม้ว่ามันจะเป็นไปได้โดยเหตุผลที่สมาชิกโดยมากของเซตจะมีค่าเหนือค่ามัชฌิม ถ้าการกระจายตัวของค่าต่าง ๆ เบ้มาก ยกตัวอย่างเช่น ค่ามัชฌิมของจำนวนขาต่อคนจะน้อยกว่า 2 เล็กน้อยถ้ามีบางคนที่มีขาน้อยกว่า และไม่มีใครเลยที่มีขามากกว่า ดังนั้น งานทดลองต่าง ๆ จะเปรียบเทียบผู้ร่วมการทดลองกับค่ามัธยฐาน (median) ของกลุ่มที่ใช้เปรียบเทียบ เพราะว่าโดยนิยามแล้ว เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่ค่าโดยมากในเซตจะมีค่าเหนือกว่าค่ามัธยฐาน

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ผู้ร่วมการทดลองอาจจะตีความปัญหาไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ร่วมการทดลองมีนิยามของความเป็นผู้ใจกว้างไม่เหมือนกัน อาจจะเป็นไปได้ที่คนโดยมากในกลุ่มจะรู้สึกว่าตนใจกว้างกว่าคนอื่น เพราะมีนิยามที่ไม่เหมือนกัน[3] ซึ่งเป็นปัญหาที่ยืนยันแล้วโดยการทดลองที่ให้อิสรภาพในการตีความต่าง ๆ กัน แต่เมื่อให้นิยามโดยเฉพาะที่ชัดเจน ก็จะยังพบปรากฏการณ์นี้เหมือนเดิม[4]

ความสามารถทางประชาน

[แก้]

ระดับเชาวน์ปัญญา

[แก้]

ผลหลัก ๆ อย่างหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ในเรื่องระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) ก็คือ ปรากฏการณ์ดาวนิ่ง (Downing effect) ซึ่งเป็นความโน้มเอียงที่บุคคลที่มี IQ ต่ำกว่าโดยเฉลี่ยที่จะประเมิน IQ ของตนสูงเกินไป และบุคคลที่มี IQ สูงกว่าโดยเฉลี่ยจะประเมิน IQ ตัวเองต่ำเกินไป เป็นปรากฏการณ์ที่พบเป็นครั้งแรกในงานศึกษาข้ามวัฒนธรรมของ ดร. ดาวนิ่ง เกี่ยวกับระดับเชาวน์ปัญญาที่คนรู้สึกว่าคนต่าง ๆ มี งานศึกษาของเขายังพบด้วยว่า การประเมิน IQ ของผู้อื่นอย่างถูกต้อง ขึ้นอยู่กับระดับเชาวน์ปัญญาของตน ซึ่งหมายความว่า ยิ่งมีเชาวน์ปัญญาน้อยเท่าไร ก็จะสามารถประเมิน IQ ของผู้อื่นอย่างถูกต้องน้อยลงเท่านั้น ดังนั้น คนที่มีเชาน์ปัญญาต่ำ ก็จะให้คะแนนตนเองสูงกว่าคนอื่น แต่คนที่มีเชาวน์ปัญญาสูง แม้จะสามารถประเมิน IQ ของผู้อื่นได้ดีกว่าโดยทั่วไป แต่ก็ยังจะให้คะแนนคนที่มี IQ ใกล้ ๆ ตัวเองว่ามี IQ สูงกว่า

ความต่างกันระหว่างระดับ IQ จริง ๆ กับระดับ IQ ที่ตนคิด ดูเหมือนจะต่างกันระหว่างเพศ คือ โดยเฉลี่ย ชายมักจะประเมินปัญญาของตนเกินไป 5 คะแนน ในขณะที่หญิงมักจะประเมินปัญญาของตนต่ำไป 5 คะแนน[5][6]

ความจำ

[แก้]

ปรากฏการณ์นี้พบในงานศึกษาที่เปรียบเทียบความจำโดยแจ้งเอง (self-report) เช่นที่พบในผู้สูงวัยในปี 1999 งานศึกษานี้มีผู้ร่วมการทดลองอายุระหว่าง 46-89 ปีโดยให้เปรียบเทียบความจำของตนกับบุคคลอายุราวเดียวกัน กับบุคคลอายุ 25 ปี และกับตัวเองเมื่ออายุ 25 ปี งานวิจัยแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองมีปรากฏการณ์นี้เมื่อเปรียบเทียบตนเองกับทั้งคนอายุราวเดียวกัน และกับคนที่อายุน้อยกว่า แต่ว่านักวิจัยแจ้งว่า การตัดสินใจที่ไม่ตรงความจริงเช่นนี้ มีสหสัมพันธ์เชิงผกผันกับอายุเพียงแค่เล็กน้อย คือ คนที่สูงวัยกว่าลดระดับความสามารถของตนตามอายุเพียงแค่เล็กน้อย ซึ่งต่างจากความเชื่อสามัญโดยทั่ว ๆ ไป[7]

งานทดสอบประชาน

[แก้]

ในงานศึกษาที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลปี 1999 (Kruger & Dunning) นักวิจัยให้งานโดยเฉพาะ ๆ กับผู้ร่วมการทดลอง เช่น ให้แก้ปัญหาทางตรรกศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ วิเคราะห์คำถามเกี่ยวกับไวยากรณ์ และให้ตัดสินใจว่าเรื่องตลก ตลกหรือไม่ แล้วให้ประเมินผลงานของตนเทียบกับคนอื่น ๆ ในกลุ่ม การทำกิจทั้งสองนี้ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลงานที่ตนคิดว่าตนได้ เทียบกับผลงานที่ได้จริง ๆ[8]

ผลที่ได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามผลงานที่ได้จริง ๆ แล้วพบว่า บุคคลทั้ง 4 กลุ่มประเมินผลงานของตนว่าเหนือกว่าโดยเฉลี่ย ซึ่งก็หมายความว่า กลุ่มที่ได้คะแนนจริงต่ำที่สุด (คือ คน 1/4 ที่ได้คะแนนต่ำสุด) มีความเอนเอียงว่าตนเหนือกว่าในระดับสูง โดยที่ผู้ทำงานวิจัยให้เหตุผลว่า บุคคลที่ทำงานได้แย่ที่สุดก็เป็นคนที่รู้จักทักษะในการทำงานเหล่านี้ได้แย่ที่สุดด้วย ซึ่งเป็นสมมติฐานที่มีหลักฐานสนับสนุน คือ หลังจากที่ผ่านการฝึก บุคคลเหล่านี้สามารถประเมินความสามารถตนเองได้ดีขึ้น และสามารถทำงานได้ดีขึ้นด้วย[8]

ผลของปรากฏการณ์นี้พบสูงสุดในคนที่ต้องให้คะแนนตัวเองเกี่ยวกับความสามารถที่ตนไม่มี เพราะว่ามีความแตกต่างกันมากที่สุดระหว่างผลงานที่ได้จริง ๆ (ซึ่งอยู่ในช่วงท้าย ๆ) และคะแนนที่ให้กับตนเอง (ที่ประเมินตนสูงกว่าโดยเฉลี่ย) รูปแบบเฉพาะเช่นนี้ต่อมาเรียกว่า ปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์ (Dunning-Kruger effect) ซึ่งหมายถึงความเอนเอียงทางประชานที่คนไม่มีทักษะหรือไม่มีฝีมือแสดงปรากฏการณ์นี้ คือประเมินความสามารถของตนสูงกว่าความจริงมาก ซึ่งนักวิจัยให้เหตุผลว่า เป็นการขาดความสามารถทาง metacognition ที่จะรู้จักความขาดทักษะของตนเอง[8]

งานศึกษานี้ที่มีชื่อว่า "ไม่มีทักษะและก็ไม่รู้ด้วย - การไม่รู้จักการขาดความสามารถของตนเอง สามารถนำไปสู่การประเมินตัวเองเกินไปได้อย่างไร (Unskilled and Unaware of It: How Difficulties in Recognizing One's Own Incompetence Lead to Inflated Self-Assessments" ต่อมาได้ชนะรางวัลล้อแบบขำ ๆ เชิงให้คิดในปี 2000 คือรางวัลอิกโนเบล[9]

ต่อมาในปี 2003 มีงานศึกษาที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลเหมือนกัน (Dunning & Ehrlinger) ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนมุมมองต่อตัวเองเมื่อได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอก คือผู้ร่วมการทดลอง ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย ได้ทำข้อทดสอบเกี่ยวกับความรู้ด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งข้อทดสอบบางชุดตั้งใจจะให้มีผลเชิงบวกต่อการมองตัวเอง และบางชุดตั้งใจจะให้มีผลเชิงลบ แล้วจึงให้คะแนนกับตัวเอง ผู้ที่ได้ชุดทดสอบเชิงบวกให้คะแนนตัวเองมากกว่าอย่างสำคัญต่อผู้ที่ได้ข้อทดสอบเชิงลบ[10] ต่อมางานศึกษาในปี 2004 ขยายงานนี้เพื่อทดสอบความไวความรู้สึกต่อผู้อื่น และความรู้สึกที่ผู้ร่วมการทดลองมีเกี่ยวกับความไวความรู้สึกของตน[11]

ส่วนงานในปี 2006 ได้ให้หลักฐานท้วงว่า ปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์ไม่ชัดเจน เพราะว่า แบบจำลองที่เสนอในงานปี 2002 งานหนึ่งว่า การประเมินความสามารถผิดเป็นเรื่องเกิดขึ้นกับคนทุก ๆ ระดับทักษะ (noise) โดยบวกเพิ่มกับความเอนเอียงในการประเมินตัวเองเกินจริงคือปรากฏการณ์นี้ (bias) ซึ่งรวมกันเรียกว่าแบบจำลอง noise-plus-bias เพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์ที่พบในงานปี 2002 ได้[12] แต่ว่างานศึกษาปี 2008 (Dunning, Kruger, et al) ให้หลักฐานยืนยันปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์ว่าเป็นการขาดทักษะในเรื่องนั้น ๆ ที่ทำให้บุคคลที่มีทักษะแย่ที่สุดประเมินความสามารถของตนเกินความจริง หลังจากพยายามทดสอบคำอธิบายหรือทฤษฎีที่เป็นไปได้อื่น ๆ[13]

ความเก่งในงานการศึกษาและงานอื่น ๆ

[แก้]

ในงานสำรวจคณะอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเนบราสกา อาจารย์ 68% ให้คะแนนว่าตนอยู่ในระดับท็อป 25% ในเรื่องความสามารถในการสอน[14] และในงานสำรวจที่คล้าย ๆ กัน นักศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจ (MBA) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 87% ให้คะแนนความเก่งเรียนของตนเหนือกว่าจุดมัธยฐาน[15]

สิ่งที่พบในงานวิจัยเกี่ยวกับความเหนือกว่าเทียม สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น การซื้อขายเป็นจำนวนมากในตลาดหุ้น เพราะว่าคนซื้อขายแต่ละคนคิดว่าตัวเองเก่ง และจะประสบความสำเร็จ[16] และจำนวนการฟ้องคดีที่ไปถึงศาลจริง ๆ เพราะว่า เนื่องจากปรากฏการณ์นี้ ทนายเป็นจำนวนมากเชื่อเกินจริงว่าตนจะชนะ[17]

ตัวเอง เพื่อน และคนที่มีภาวะคล้ายกัน

[แก้]

งานศึกษาแรก ๆ ที่พบปรากฏการณ์นี้ทำโดยองค์กรที่จัดการบริหารการสอบ SAT ในปี 1976[18] คือมีการแนบใบสำรวจไปกับข้อสอบ SAT (ที่มีนักเรียนสอบประมาณล้านคนทุกปี) โดยให้นักเรียนให้คะแนนตนเองเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ระดับมัธยฐานไม่ใช่ที่ระดับมัชฌิม เกี่ยวกับคุณลักษณะเชิงบวกที่คลุมเครือหลายอย่าง ในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ นักเรียน 70% ให้คะแนนตนเองสูงกว่าจุดมัธยฐาน ในเรื่องการเข้ากับผู้อื่นได้ดี 85% ให้คะแนนตนสูงกว่าจุดมัธยฐาน โดยมี 25% ที่ให้คะแนนตนในท็อป 1%

งานวิจัยปี 2002[19] พบปรากฏการณ์นี้ในบริบทของสังคม โดยผู้ร่วมการทดลองเปรียบเทียบตนกับเพื่อน หรือคนที่มีภาวะคล้ายกันอื่น ๆ ในเรื่องคุณลักษณะเชิงบวก เช่น ความตรงเวลาและความไวความรู้สึกของผู้อื่น และคุณลักษณะเชิงลบ เช่น ความเชื่อคนง่ายและความไม่สม่ำเสมอ ผลงานแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนตนดีกว่าเพื่อน แต่ให้คะแนนเพื่อนดีกว่าคนที่มีภาวะคล้ายกันคนอื่น ๆ แต่ผลที่พบในงานวิจัยเหล่านี้ มีปัจจัยบรรเทา (moderating factor) หลายอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไป

งานวิจัยอื่น ๆ ก็พบผลคล้าย ๆ กันที่ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนแก่เพื่อนดีกว่าคนมีภาวะเดียวกันอื่น ๆ[20][21][22] โดยมีนักวิจัยที่แสดงว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลของความเอนเอียงต่อกลุ่มใน (ingroup bias) และเสนอว่า นี่มีแรงจูงใจจากความต้องการของบุคคลที่จะมีเอกลักษณ์ทางสังคมเชิงบวก (positive social identity)

ความเป็นที่นิยม

[แก้]

ในงานปี 2001 ผู้ร่วมการทดลองได้รับคำถามเกี่ยวกับมิตรภาพกับเพื่อน แล้วให้ประเมินความเป็นที่นิยมของตน และโดยใช้การวิเคราะห์เครือข่ายสังคม (social network analysis) นักวิจัยจึงสามารถแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองรู้สึกว่าตนเป็นที่นิยมเกินความจริง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนตนเอง[23]

ความสุขเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคู่

[แก้]

นักวิจัยได้พบปรากฏการณ์นี้ในงานศึกษาเกี่ยวกับความพอใจของผู้ร่วมการทดลองในความสัมพันธ์กับคู่ ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้ร่วมการทดลองรู้สึกว่าความสัมพันธ์กับคู่ของตน ดีกว่าของคนอื่นโดยเฉลี่ย แต่ก็คิดว่า คนโดยมากมีความสุขกับความสัมพันธ์ของตน งานนี้ยังพบหลักฐานด้วยว่า ผู้ร่วมการทดลองยิ่งให้คะแนนสูงเรื่องความสุขเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตนเท่าไร ก็ยิ่งคิดว่าความสัมพันธ์ของตนดีกว่าเท่านั้น ปรากฏการณ์นี้ในผู้ร่วมการทดลองเป็นตัวเพิ่มความพอใจในความสัมพันธ์ของตน เพราะพบโดยเฉพาะในชายว่า ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับความรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ของตนดีกว่า และกับความเชื่อว่า คนอื่นน้อยคนที่ไม่มีความสุขในเรื่องความสัมพันธ์ของตน ในขณะที่ในหญิง ความพึงพอใจขึ้นอยู่กับความเชื่อว่า คนโดยมากมีความสุขในเรื่องความสัมพันธ์ของตน[24] ส่วนอีกงานศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้ร่วมการทดลองจะเปลี่ยนเป็นสู้แก้ตัว (defensive) เพิ่มขึ้น ถ้าคนอื่นเห็นว่า คู่ของตนประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะด้านไหนมากกว่า และมักจะโอ้อวดความสำเร็จของตนและดูถูกความสำเร็จของคู่

สุขภาพ

[แก้]

ปรากฏการณ์นี้ก็พบในงานศึกษาที่ทำโดยแจ้งเองเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสุขภาพในปี 1998 งานศึกษาถามผู้ร่วมการทดลองว่า ตนหรือว่าคนในภาวะเดียวกันกับตน มีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพหรือไม่ดีต่อสุขภาพบ่อยครั้งแค่ไหน ผู้ร่วมการทดลองรายงานว่า ตนมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพบ่อยครั้งกว่าคนในภาวะเดียวกันโดยเฉลี่ย และมีพฤติกรรมที่ไม่ดีบ่อยครั้งน้อยกว่า ซึ่งเป็นผลตามที่คาดหวังเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ เป็นผลที่รายงานทั้งพฤติกรรมก่อนงานศึกษา และพฤติกรรมที่คาดหวังในอนาคต[25]

ความสามารถในการขับรถ

[แก้]

งานศึกษาปี 1981 สำรวจนักเรียน 161 คนในประเทศสวีเดนและสหรัฐอเมริกา โดยให้เปรียบเทียบความปลอดภัยและฝีมือในการขับรถเทียบกับคนอื่น ๆ ที่ร่วมการทดลอง สำหรับฝีมือการขับรถ ตัวอย่าง 93% ในสหรัฐ และ 69% ในสวีเดน จัดตัวเองให้อยู่ในท็อป 50% คือสูงกว่าจุดมัธยฐาน ในเรื่องความปลอดภัย ตัวอย่าง 88% ในสหรัฐ และ 77% ในสวีเดน จัดตัวเองอยู่ในท็อป 50%[26] งานวิจัยปี 1986 พบผลคล้าย ๆ กัน โดยให้ผู้ร่วมการทดลอง 178 คนประเมินคะแนนของตนในมิติ 8 มิติเกี่ยวกับฝีมือการขับรถ (เช่นเกี่ยวกับ "อันตราย-ปลอดภัย" และ "เกรงใจเห็นใจผู้อื่น-ไม่เกรงใจไม่เห็นใจผู้อื่น") มีแต่ส่วนน้อยเท่านั้นที่ให้คะแนนตัวเองน้อยกว่าโดยเฉลี่ย (คือจุดกึ่งกลางของคะแนนตามมิติ) ไม่ว่าจะมิติไหน และเมื่อพิจารณาทั้ง 8 มิติร่วมกัน ก็พบว่า ผู้ร่วมการทดลอง 80% ประเมินตัวเองว่าดีกว่าคนขับรถโดยเฉลี่ย[27]

งานสำรวจหนึ่งพบว่า 36% ของผู้รับการสำรวจเชื่อว่าตนขับรถดีกว่าโดยเฉลี่ยเมื่อใช้โทรศัพท์ในกิจเช่นส่งข้อความหรืออีเมล เทียบกับผู้ขับรถคนอื่นที่ใช้โทรศัพท์ในแนวเดียวกัน ในขณะที่ 44% พิจารณาว่าตนเป็นคนปานกลาง (average) และ 18% ต่ำกว่าโดยเฉลี่ย[28]

ความเอนเอียง

[แก้]

ผู้ร่วมการทดลองกล่าวถึงตนเองในเชิงบวกเมื่อเทียบกับคนอื่น ซึ่งรวมทั้งเมื่อกล่าวถึงตนเองว่ามีโอกาสที่จะมีความเอนเอียง (bias) น้อยกว่าผู้อื่น เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า จุดบอดเรื่องความเอนเอียง (bias blind spot) ซึ่งเป็นผลที่ทำซ้ำได้โดยนักวิจัยอื่น ๆ

ความแตกต่างทางวัฒนธรรม

[แก้]

วรรณกรรมเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้โดยมากมาจากงานศึกษาในสหรัฐอเมริกา แต่ว่า งานวิจัยที่ตรวจสอบปรากฏการณ์ในกลุ่มประชากรโดยเฉพาะกลุ่มเดียว อาจจะไม่เป็นจริงสำหรับจิตสภาพมนุษย์ของทั้งโลก และดังนั้น งานวิจัยเร็ว ๆ นี้ (เช่นในปี 2007) จึงตรวจสอบคุณลักษณะต่าง ๆ และปริมาณของการเคารพตน (self-esteem) ทั่วโลก ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ปรากฏการณ์นี้แตกต่างกันในวัฒนธรรมต่าง ๆ[29]

งานบางงานแสดงว่า คนเอเชียตะวันออกมักจะประเมินความสามารถของตนต่ำเกินจริง โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะปรับปรุงตนเองและเข้ากับผู้อื่นได้[30][31]

ความเคารพตน

[แก้]

แม้ว่าจะมีหลักฐานเป็นจำนวนมากที่แสดงว่า คนจะยกตัวเองเมื่อเทียบกับผู้อื่นในเรื่องลักษณะนิสัยต่าง ๆ แต่ความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์นี้กับความเคารพตน (self-esteem) ยังไม่ชัดเจน แต่ทฤษฎีว่า ผู้ที่เคารพตนสูงธำรงความเคารพระดับสูงเช่นนี้ได้ก็เพราะให้คะแนนแก่ตนสูงกว่าคนอื่น ดูเหมือนจะมีหลักฐานบ้าง มีรายงานว่า ผู้ร่วมการทดลองที่ไม่มีภาวะซึมเศร้า ให้คะแนนว่าตนควบคุมเหตุการณ์ที่มีผลเป็นบวก มากกว่าคนในภาวะเดียวกัน แม้ว่าผลที่ได้จะเท่ากันในระหว่างสองคนนั้น[32]

แต่ว่า ก็ยังมีงานศึกษาที่พบว่า นักศึกษาที่ไม่มีภาวะเศร้าซึม จะให้คะแนนนักศึกษาด้วยกันต่ำกว่าตนเอง ไม่ใช่ให้คะแนนตัวเองสูงกว่า โดยอธิบายว่านักศึกษาสามารถระลึกถึงบุคลิกภาพเชิงลบของคนอื่นได้มากกว่าของตน[33]

ควรตั้งข้อสังเกตว่า งานศึกษาเหล่านี้ไม่ได้แยกแยะระหว่างบุคคลที่เคารพตนสูงโดยควรหรือไม่ควร เพราะว่ามีงานศึกษาอื่นที่พบว่า คนที่เคารพตนสูงบางครั้งอาจจะไม่แปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวก (คือเป็นคนที่เคารพตนโดยควร)[34] และว่า บุคคลที่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ (self-determined) ที่มีบุคลิกภาพที่อำนวยการพัฒนาและการศึกษา มักจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการแปลสิ่งเร้าผิดเหล่านี้น้อยกว่า[35] ดังนั้น แม้จะเป็นไปได้ว่า ปรากฏการณ์นี้สัมพันธ์กับความเคารพตนสูงที่ไม่ควร แต่ว่า คนเคารพตนสูงโดยควร จะไม่มีปรากฏการณ์นี้

ความสัมพันธ์กับสุขภาพจิต

[แก้]

นักจิตวิทยาเมื่อก่อนมีแนวคิดว่า การมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับตนเป็นเรื่องจำเป็นต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี[3] แต่แนวคิดนี้ถูกคัดค้านโดยงานวิจัยปี 1988 ที่นักวิจัยคู่หนึ่ง (Taylor & Brown) อ้างว่า บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีมักจะมีการแปลสิ่งเร้าผิดทางประชาน (cognitive illusion) เหล่านี้ คือ ปรากฏการณ์นี้ การแปลสิ่งเร้าผิดว่าควบคุมได้ (illusion of control) และความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี (optimism bias)[3] ซึ่งกลายเป็นแนวคิดใหม่ทรงอิทธิพล จนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงกับสรุปว่า การชักนำให้เกิดความเอนเอียงเหล่านี้อาจจะใช้เป็นวิธีบำบัดรักษาได้[36] แต่ตั้งแต่นั้นมา งานวิจัยต่อ ๆ มาได้บั่นทอนข้อสรุปเช่นนั้น และให้หลักฐานใหม่ ๆ ที่สัมพันธ์ปรากฏการณ์นี้กับผลลบต่อบุคคล[3]

ข้อโต้แย้งอย่างหนึ่งต่องานวิจัยของ Taylor & Brown ก็คือ การจัดว่าบุคคลเป็นผู้มีสุขภาพจิตดีหรือไม่ดี มาจากคำตอบที่แจ้งเองของผู้ร่วมการทดลอง แทนที่จะใช้กฎเกณฑ์ที่เป็นกลาง ๆ (หรือเป็นปรวิสัย)[36] ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่า คนที่มักจะยกย่องตัวเอง (self-enhancement) ก็จะโอ้อวดว่า ตนปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ดีขนาดไหน ถึงกับมีนักวิจัยที่อ้างว่า กลุ่มที่นับว่ามีสุขภาพจิตปกติ ความจริงรวมคนพวกที่ "ปฏิเสธ (ความจริง) เพื่อป้องกันตน" ซึ่งเป็นคนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการแปลสิ่งเร้าผิดเชิงบวกมากที่สุด[36]

งานศึกษาตามยาว (longitudinal study) พบว่า ความเอนเอียงยกย่องตัวเองสัมพันธ์กับทักษะทางสังคม (social skill) ที่ไม่ดี และการปรับตัวที่ไม่ดีทางจิตวิทยา (psychological maladjustment) ในงานทดลองอีกงานหนึ่ง ที่ให้ผู้สังเกตการณ์ต่างหากประเมินวิดีโอการสนทนาระหว่างชายและหญิง บุคคลที่ยกย่องตัวเองมักจะมีพฤติกรรมทางสังคมที่มีปัญหา เช่น ความเป็นปรปักษ์ (hostility) หรือความหงุดหงิดง่าย (irritability)[3] แต่ว่างานศึกษาปี 2007 พบว่า ความเอนเอียงเกี่ยวกับการยกย่องตน สัมพันธ์กับประโยชน์ทางจิตบางอย่าง (เช่นความรู้สึกว่าอยู่เป็นสุข) แต่มีผลลบต่อความสัมพันธ์ทางสังคมอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมต่อต้านสังคม[37]

การสร้างภาพทางสมอง

[แก้]

ระดับที่บุคคลมองตนเองว่ามีความน่าพอใจมากกว่าบุคคลปานกลาง (average) สัมพันธ์กับการทำงานที่ลดลงในสมองส่วน orbitofrontal cortex และ dorsal anterior cingulate cortex ซึ่งแสดงนัยว่า ปรากฏการณ์สัมพันธ์กับบทบาทของเขตสมองเหล่านี้ คือการประมวล "การควบคุมทางประชาน" (cognitive control)[38]

ทฤษฎีที่ใช้อธิบาย

[แก้]

การประมวลข้อมูลโดยมีสัญญาณรบกวน

[แก้]

บทความในวารสาร Psychological Bulletin ปี ค.ศ. 2012 บอกเป็นนัยว่า ปรากฏการณ์นี้ (และความเอนเอียงประเภทอื่น ๆ) สามารถอธิบายได้โดยกลไกทางทฤษฎีสารสนเทศ (information-theoretic generative mechanism) ที่สมมติว่า มีการแปลสังเกตการณ์หรือหลักฐานที่เป็นกลาง ๆ (หรือเป็นปรวิสัย) โดยมีตัวกวนหรือสัญญาณกวน (noise) ไปเป็นค่าประเมินที่เป็นอัตวิสัย (คือการกำหนดตัดสินใจของตน)[39] งานศึกษาเสนอว่า กลไกทางประชานที่เป็นมูลฐานของปรากฏการณ์ คล้ายกันอย่างสำคัญกับการผสมรวมความจำที่ประกอบด้วยสัญญาณกวน ที่มีผลเป็นความเอนเอียงในการพิทักษ์รักษาข้อมูล (conservatism bias) หรือความมั่นใจมากเกินไป (overconfidence) คือ หลังจากที่เราทำงานอะไร เราจะปรับการประเมินผลงานของเราเอง มากกว่าที่เราปรับการประเมินผลงานของคนอื่น ซึ่งก็หมายความว่า การประเมินผลงานของคนอื่นพิทักษ์รักษาข้อมูลเดิมโดยไม่รวมข้อมูลใหม่มากกว่าการประเมินผลงานของเราเอง และความแตกต่างระหว่างความเอนเอียงในการพิทักษ์รักษาข้อมูลในการประเมินงานของคนอื่น กับการประเมินงานของเราเอง กว้างใหญ่พอที่จะมีผลเป็นปรากฏการณ์นี้ และเพราะทฤษฎีเกี่ยวกับสัญญาณกวน เพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ และเป็นทฤษฎีที่ง่ายและตรงไปตรงมามากที่สุดในบรรดาทฤษฎีอื่น ๆ ที่ใช้คำอธิบายเกี่ยวกับฮิวริสติก พฤติกรรม และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม[18] ดังนั้นทฤษฎีสัญญาณกวน ก็มีโอกาสที่จะเป็นกลไกให้เกิดปรากฏการณ์นี้มากที่สุดตามหลักมีดโกนอ็อกคัม เพราะเป็นสมมติฐานที่มีข้อสมมติน้อยที่สุด

การสรรหาอย่างเลือกเฟ้น

[แก้]

การสรรหาอย่างเลือกเฟ้น (selective recruitment) เป็นแนวคิดที่ว่า เมื่อบุคคลเปรียบเทียบกับคนในกลุ่มเดียวกัน บุคคลจะเลือกจุดแข็งของตนและจุดอ่อนของผู้อื่น เพื่อที่จะให้ตนดูดีกว่าโดยทั่ว ๆ ไป งานปี 1980 ตรวจสอบทฤษฎีนี้เป็นครั้งแรก แต่เป็นงานทดลองเรื่องความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี (optimism bias) ไม่ใช่เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้โดยตรง งานวิจัยให้ผู้ร่วมการทดลองลงคะแนนว่า พฤติกรรมอะไรบางอย่างมีโอกาสที่จะเพิ่มหรือลดโอกาสปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตที่จะเกิดกับตน แล้วพบว่า บุคคลจะมีความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดีน้อยกว่าเมื่อเห็นคำตอบของผู้อื่น[40]

ส่วนงานวิจัยปี 1986 เสนอทฤษฎีว่า เมื่อเปรียบเทียบตนกับคนกลุ่มเดียวกันโดยเฉลี่ย ในเรื่องคุณลักษณะหรือความสามารถอะไรอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ บุคคลจะเลือกบุคคลเป้าหมายที่มีคะแนนต่ำกว่าในเรื่องนั้น เพื่อที่ตนเองจะดูดีกว่าคนปานกลาง (average) เพื่อที่จะทดสอบทฤษฎี นักวิจัยให้ผู้ร่วมการทดลองเปรียบเทียบตนกับบุคคลเป้าหมายโดยเฉพาะ (เพื่อนสนิท) แล้วพบว่า ปรากฏการณ์นี้ลดลงเมื่อใช้เป้าหมายเฉพาะแทนที่จะใช้คำคลุมเครือเช่น คนปานกลาง แต่ว่า ผลเช่นนี้อาจจะไม่สม่ำเสมอหรือเชื่อถือไม่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะสามารถมีผลจากความเป็นจริงว่า บุคคลชอบเพื่อนสนิทของตนมากกว่าบุคคลปานกลาง และจะให้คะแนนเพื่อนของตนมากกว่า ดังนั้น เพื่อนอาจจะไม่ใช่บุคคลเปรียบเทียบที่เป็นกลาง[20]

การมีตนเป็นศูนย์

[แก้]

ทฤษฎีอีกอย่างหนึ่งที่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้ก็คือ การมีตนเป็นศูนย์ (egocentrism) ซึ่งเป็นแนวคิดว่า บุคคลให้ความสำคัญและความหมายกับความสามารถ ลักษณะนิสัย และพฤติกรรมของตนมากกว่าของคนอื่น ตามทฤษฎีนี้ บุคคลจะประเมินตัวเองเกินจริงเมื่อเทียบกับผู้อื่นเพราะให้ความสำคัญกับตนมากกว่า งานวิจัยปี 1999 (Kruger) เสนอใช้ทฤษฎีนี้กับผลที่พบในการศึกษา ซึ่งให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนความสามารถของตนในงานที่ง่ายและยาก แล้วพบว่า บุคคลจะให้คะแนนตนเองสูงกว่าจุดมัธยฐานในงานที่จัดว่า ง่าย อย่างสม่ำเสมอ และจะให้คะแนนต่ำกว่าจุดมัธยฐานในงานที่จัดว่า ยาก อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าความสามารถจริงของตนจะเป็นอย่างไรในงานนั้น ดังนั้นงานทดลองนี้ พบปรากฏการณ์ดีกว่าโดยเฉลี่ย (better-than-average effect) เมื่อบอกผู้ร่วมการทดลองว่าตนจะประสบความสำเร็จ และพบปรากฏการณ์แย่กว่าโดยเฉลี่ย (worse-than-average effect) เมื่อบอกผู้ร่วมการทดลองว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ โดยผู้วิจัยอธิบายว่า มีการตั้งหลัก (anchor) ให้คะแนนต่อตัวเอง แต่ให้คะแนนคนอื่นโดยปรับ (adjust) ไปทางทิศทางเดียวกันกับคะแนนตัวเองน้อยเกินไป (คือไม่ให้คะแนนคนอื่นดีหรือแย่เท่ากับให้ตัวเอง) และผลงานแสดงว่า ปรากฏการณ์เหนือกว่าเทียมนี้ ไม่ได้มีอย่างทั่วไปเหมือนกับที่เคยคิด[41]

การให้ความใส่ใจ

[แก้]

ทฤษฎีที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ focalism คือแนวคิดว่า มีการให้ความสำคัญกับวัตถุที่กำลังใส่ใจมากกว่า คืองานศึกษาปรากฏการณ์นี้โดยมาก เพ่งความสนใจไปที่ตนมากกว่า เพราะคำถามบ่อยครั้งจะยกตนเองขึ้นก่อนเป้าหมายที่ใช้เปรียบเทียบ (เช่น "จงเปรียบเทียบคุณเองกับบุคคลปานกลาง") ตามทฤษฎีนี้ บุคคลนั้นจึงให้ความสำคัญต่อความสามารถหรือลักษณะของตน มากกว่าของบุคคลเปรียบเทียบ ดังนั้น ถ้าใช้คำถามที่กลับตำแหน่งของตนและบุคคลเปรียบเทียบ (เช่น "จงเปรียบเทียบบุคคลปานกลางกับตัวคุณเอง") ปรากฏการณ์นี้ควรจะลดระดับลง[42]

งานวิจัยเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ มักจะพุ่งความสนใจไปที่ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดีมากกว่าปรากฏการณ์นี้ และงานวิจัยสองงานพบว่า ระดับความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดีลดลง เมื่อให้ผู้ร่วมการทดลองเปรียบเทียบบุคคลปานกลางกับตนเอง คือเมื่อกลับตำแหน่งการเปรียบเทียบ[43][44]

ส่วนงานวิจัยในปี 2003 ศึกษาทฤษฎีนี้กับปรากฏการณ์นี้โดยตรง แล้วพบว่า เมื่อให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินโอกาสที่จะชนะเกมที่แข่งขันกัน ผลการประเมินเกินจริงจะลดลงเมื่อถามถึงโอกาสชนะของผู้อื่นแทนที่จะถามถึงโอกาสของตน (โดยเป็นเกมที่ไม่ตนชนะก็ผู้อื่นชนะ)[45]

การเปรียบเทียบบุคคลหรือวัตถุกับกลุ่ม

[แก้]

แนวคิดนี้ (ของ Giladi & Klar) เสนอว่า บุคคลหนึ่ง ๆ ในกลุ่มมักจะประเมินตนสูงกว่าจุดมัชฌิมหรือจุดมัธยฐานของกลุ่มนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าให้บุคคลประเมินฝีมือการขับรถของตนเทียบกับคนอื่นในกลุ่มทั้งหมด บุคคลนั้นมักจะให้คะแนนตนสูงกว่าคนปานกลาง (average) นอกจากนั้นแล้ว คนโดยมากในกลุ่มก็มักจะให้คะแนนตนสูงกว่าโดยเฉลี่ย งานวิจัยพบปรากฏการณ์นี้เกี่ยวกับความสามารถมนุษย์ในด้านต่าง ๆ[46] ดังนั้น ทฤษฎีนี้จึงเสนอว่า บุคคลจริง ๆ ไม่ได้ประเมินตนสูงกว่าคนปานกลาง (average) เพราะเข้าข้างตนเอง แต่ปรากฏการณ์นี้เกิดจากความโน้มเอียงทั่ว ๆ ไปที่จะประเมินบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือวัตถุใดวัตถุหนึ่ง ว่าดีกว่าโดยเฉลี่ย

ความโน้มเอียงสู่จุดอุดมคติ

[แก้]

งานวิจัยในปี 2005 เสนอแนวคิดว่า บุคคลไม่ได้ทบทวนและคิดถึงความสามารถ พฤติกรรม และลักษณะต่าง ๆ ของตนอย่างตั้งใจ แล้วเปรียบเทียบกับของคนอื่น แต่ว่า บุคคลน่าจะมี "ความโน้มเอียงอัตโนมัติที่จะชักสิ่งที่มีค่าทางสังคม เข้าสู่ลักษณะอุดมคติ"[18] ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบุคคลประเมินตนว่าซื่อสัตย์ บุคคลนั้นก็มักจะกล่าวถึงลักษณะนั้นเกินความจริงโน้มเอียงไปสู่ระดับความซื่อสัตย์อุดมคติที่ตนมี จุดสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ระดับอุดมคตินี้อาจไม่ใช่เป็นจุดยอด ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องความซื่อสัตย์ บุคคลที่พูดตรงความจริงอย่างซื่อบื้อตลอดอาจจะพิจารณาได้ว่า ไม่มีมรรยาท ดังนั้น ระดับอุดมคติจะต่าง ๆ กันไปในบุคคลต่าง ๆ

ทฤษฎีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสังคม

[แก้]

ปรากฏการณ์นี้อาจจะไม่มีแหล่งกำเนิดทางสังคม เพราะว่า การตัดสินวัตถุที่ไม่มีวิญญาณอื่น ๆ ก็บิดเบือนอย่างคล้าย ๆ กัน[46]

ปัจจัยบรรเทา

[แก้]

แม้ว่าปรากฏการณ์นี้จะค่อนเข้าข้างตนเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดเสมอไป ระดับของปรากฏการณ์มีปัจจัยบรรเทาหลายอย่าง ผลงานวิจัยปี 2005 ให้ตัวอย่างหลัก ๆ ไว้ ดังที่จะกล่าวต่อไป[18]

การตีความหรือความคลุมเครือของลักษณะ

[แก้]

งานปี 2005 พูดถึงปัจจัยบรรเทาที่เป็น "มิติในการตัดสินใจ" (judgement dimension) ซึ่งหมายถึงความเป็นรูปธรรม (concrete) หรือนามธรรม (abstract) ของความสามารถหรือลักษณะที่ต้องการประเมิน[18] งานวิจัยปี 1997 พบว่า บุคคลจะประเมินตนเองสูงกว่า เมื่อสิ่งที่ถามสามารถตีความได้หลายอย่าง[47] ยกตัวอย่างเช่น ค่านิยมทางสังคมเช่น ความเป็นที่นิยม (popularity) และความรูปงาม (attractiveness) สามารถตีความได้กว้างกว่าลักษณะอื่น ๆ เช่น ความเฉลียวฉลาด หรือความสามารถทางกาย[48] และค่าประเมินตนที่ต่าง ๆ กันในลักษณะเหล่านี้ อาจจะมาจากความจำเป็นที่จะมีทัศนคติเกี่ยวกับตนเองที่พอเชื่อได้[49]

แนวคิดว่า ความคลุมเครือมีผลต่อปรากฏการณ์นี้ ได้หลักฐานสองอย่างจากงานวิจัยที่ศึกษากลุ่ม 2 กลุ่ม คือ ในกลุ่มแรก ผู้ร่วมการทดลองได้รับกฎเกณฑ์เพื่อประเมินลักษณะ และในอีกกลุ่มหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองมีอิสระที่จะประเมินลักษณะตามกฎเกณฑ์ของตน งานวิจัยพบว่า ผลของปรากฏการณ์นี้มีระดับสูงกว่าในกลุ่มผู้ร่วมการทดลองที่ใช้กฎเกณฑ์ของตนเอง[50]

วิธีการเปรียบเทียบ

[แก้]

วิธีการที่ใช้ในงานวิจัยมีอิทธิพลต่อผลต่างที่พบของปรากฏการณ์ งานวิจัยโดยมากใช้การเปรียบเทียบระหว่างบุคคลกับผู้ร่วมกลุ่มโดยเฉลี่ย โดยแบ่งเป็น 2 อย่างคือ การเปรียบเทียบโดยตรง และโดยอ้อม การเปรียบเทียบโดยตรงมีการใช้มากที่สุด คือให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนตนเองและผู้ร่วมกลุ่มโดยเฉลี่ย โดยให้ในแผ่นคะแนนเดียวกัน มีค่าเริ่มตั้งแต่ "ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย" ไปจนถึง "สูงกว่าค่าเฉลี่ย"[51] ซึ่งมีผลเป็นผู้ร่วมการทดลองแสดงปรากฏการณ์นี้ในระดับสูงสุด[52] นักวิจัยได้เสนอว่า เป็นอย่างนี้ก็เพราะเป็นการเปรียบเทียบที่ใกล้ชิดระหว่างบุคคลและบุคคลปานกลาง แต่ว่า ถ้าใช้วิธีนี้ ก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่า ผู้ร่วมการทดลองประเมินตัวเองเกิน หรือประเมินบุคคลอื่นต่ำเกินไป หรือว่าทั้งสอง

ส่วนวิธีโดยอ้อมให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนตนและผู้ร่วมกลุ่มโดยเฉลี่ย บนคะแนนคนละแผ่น และขนาดของปรากฏการณ์นี้คำนวณโดยลบคะแนนที่ให้กับตนด้วยคะแนนที่ให้กับบุคคลปานกลาง (ถ้ามีค่าต่างที่สูงกว่าก็จะหมายถึงมีปรากฏการณ์นี้ที่สูงกว่า) แม้ว่าการเปรียบเทียบแบบอ้อมจะใช้น้อยกว่า แต่ก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติของปรากฏการณ์นี้มากกว่าว่า ผู้ร่วมการทดลองประเมินตนเองเกินไป หรือว่าประเมินบุคคลปานกลางต่ำไป[51]

บุคคลเป้าหมาย

[แก้]

บุคคลเป้าหมายเป็นปัจจัยบรรเทาที่พื้นฐานที่สุดของปรากฏการณ์นี้ และมีประเด็นสองเรื่องที่ต้องพิจารณา สำหรับเรื่องแรก งานวิจัยในปรากฏการณ์นี้ไม่เหมือนงานวิจัยอื่นเพราะว่าบุคคลเป้าหมายที่ใช้เปรียบเทียบกับตนเอง เป็นบุคคลปานกลางที่มีโดยสมมุติ แทนที่จะเป็นคนใดคนหนึ่งจริง ๆ งานวิจัยปี 1995 พบว่า ปรากฏการณ์นี้มีขนาดน้อยกว่า แม้ว่าจะยังมีอยู่ เมื่อผู้ร่วมการทดลองเปรียบเทียบตนกับบุคคลที่มีอยู่จริง ๆ (คือเป็นผู้ร่วมการทดลองที่นั่งอยู่ในห้องเดียวกัน) ซึ่งต่างจากการเปรียบเทียบกับบุคคลปานกลาง ซึ่งแสดงนัยว่า การวิจัยในเรื่องนี้เอง อาจจะทำให้เกิดความเอนเอียง ดังนั้นจึงพบผลต่างที่มีขนาดใหญ่กว่าที่อาจจะพบในชีวิตจริง[51]

การทดลองต่อมาสืบหาความแตกต่างกันระหว่างบุคคลเป้าหมาย โดยกำหนดกลุ่ม 4 กลุ่มที่ผู้ร่วมการทดลองอยู่ใกล้ไกลกับบุคคลเป้าหมายไม่เท่ากัน คือ บุคคลที่อยู่ในห้องเดียวกัน บุคคลในวีดีโอ บุคคลในบทความ และบุคคลปานกลาง งานวิจัยพบว่า เมื่อผู้ร่วมการทดลองอยู่ไกลจากบุคคลเป้าหมาย (ในวีดีโอและในบทความ) ผลต่างของปรากฏการณ์นี้มีมากกว่า นักวิจัยจึงเสนอว่า ผลต่างของปรากฏการณ์นี้สามารถลดได้โดยปัจจัย 2 อย่าง คือ การมีบุคคลเป้าหมายเป็นบุคคลโดยเฉพาะ ๆ และการอยู่ร่วมกับบุคคลนั้นจริง ๆ

สำหรับเรื่องที่สอง งานวิจัยปี 1995 ตรวจสอบว่า ความรู้สึกในเชิงดูถูกของคำว่า "เฉลี่ย" (average) จะมีผลต่อระดับปรากฏการณ์นี้หรือไม่ คือถ้าการใช้คำว่า average จะเพิ่มระดับปรากฏการณ์หรือไม่ จึงมีการทดลองที่ให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินตนเอง บุคคลปานกลาง และบุคคลที่นั่งใกล้ ๆ ดังที่กล่าวในการทดลองก่อน โดยมีความต่าง ๆ กัน ผู้วิจัยพบว่า ผู้ร่วมการทดลองประเมินตนเองสูงสุด ตามด้วยบุคคลจริง และตามด้วยบุคคลปานกลาง แต่ว่า บุคคลเฉลี่ยได้การประเมินที่สูงกว่าจุดมัธยฐานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแสดงว่า คำว่า average ไม่ได้มีผลลบต่อทัศนคติเกี่ยวกับบุคคลปานกลาง[51]

การควบคุมได้

[แก้]

ปัจจัยบรรเทาสำคัญอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ก็คือระดับที่บุคคลเชื่อว่า ตนสามารถควบคุมหรือเปลี่ยนคะแนนของลักษณะที่ประเมินได้ งานวิจัยในปี 2005 เสนอว่า ลักษณะเชิงบวกที่บุคคลเชื่อว่าสามารถควบคุมได้ทำให้เกิดความเอนเอียงเข้าข้างตนมากกว่า ในขณะที่ลักษณะเชิงลบที่บุคคลเชื่อว่าควบคุมไม่ได้ จะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการยกย่องตัวเอง (self-enhancement)[18] ซึ่งมีหลักฐานในงานปี 1985 (Alicke 1985) ที่พบว่า บุคคลจะให้คะแนนตนเองสูงกว่าบุคคลปานกลางเกี่ยวกับลักษณะเชิงบวกที่ควบคุมได้ และต่ำกว่าบุคคลปานกลางเกี่ยวกับลักษณะเชิงลบที่ควบคุมไม่ได้ แนวคิดดังที่เสนอในงานวิจัยว่า การเชื่อว่าตนเป็นเหตุของความสำเร็จของตน แต่ปัจจัยอื่น ๆ เป็นเหตุของความล้มเหลว เป็นความเอนเอียงที่เรียกว่าความเอนเอียงเข้าข้างตนเอง (self-serving bias)

ความแตกต่างระหว่างบุคคล

[แก้]

ลักษณะบุคลิกภาพมีความต่างกันมากระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยบรรเทาปรากฏการณ์นี้ ตัวอย่างอย่างหนึ่งก็คือการเคารพตน (self-esteem) งานปี 1986 พบว่า การประเมินลักษณะเชิงบวกของตนเองของผู้ร่วมการทดลองที่เคารพตนสูง มีระดับปรากฏการณ์นี้สูงกว่าผู้ที่เคารพตนต่ำ[53] งานวิจัยปี 2002 ก็พบผลคล้ายกัน แต่พบเพิ่มด้วยว่า ผู้ที่เคารพตนสูงตีความลักษณะที่คลุมเครือเข้าข้างตนเองมากกว่า เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีความเคารพตนสูง ผู้ไม่ได้ตีความเช่นนี้[19]

ปรากฏการณ์แย่กว่าคนปานกลาง

[แก้]

ตรงข้ามกับที่บางคนเชื่อ งานวิจัยพบว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ทั่วไปกับทุกคน จริง ๆ แล้ว งานวิจัยเร็ว ๆ นี้กลับพบผลตรงกันข้ามในงานทดสอบที่ยากกว่ามากมาย[54]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Hoorens, Vera (1993). "Self-enhancement and Superiority Biases in Social Comparison". European Review of Social Psychology. Psychology Press. 4 (1): 113–139. doi:10.1080/14792779343000040.
  2. Pinker, Steven (2011). The Better Angels Of Our Nature. Penguin. p. 590. ISBN 978-0-141-03464-5.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Colvin, C. Randall; Block, Jack; Funder, David C (1995). "Overly Positive Self-Evaluations and Personality: Negative Implications for Mental Health". Journal of Personality and Social Psychology. American Psychological Association. 68 (6): 1152–1162. doi:10.1037/0022-3514.68.6.1152. PMID 7608859.
  4. Dunning, David; Meyerowitz, Judith A; Holzberg, Amy D (1989). "Ambiguity and self-evaluation: The role of idiosyncratic trait definitions in self-serving assessments of ability". Journal of Personality and Social Psychology. American Psychological Association. 57 (6): 1082–1090. doi:10.1037/0022-3514.57.6.1082. ISSN 1939-1315.
  5. Davidson, Janet E.; Downing, C. L. (2000). "Contemporary Models of Intelligence". ใน Sternberg, Robert J. (บ.ก.). Handbook of Intelligence. pp. 34–50. doi:10.1017/CBO9780511807947.004. ISBN 9780511807947.
  6. Furnham, Adrian; Moutafi, Joanna; Chamorro-Premuzic, Tomas (March 2005). "Personality and Intelligence: Gender, the Big Five, Self-Estimated and Psychometric Intelligence". International Journal of Selection and Assessment. 13 (1): 11–24. CiteSeerX 10.1.1.329.4360. doi:10.1111/j.0965-075X.2005.00296.x. S2CID 6859485.
  7. Schmidt, Iris W.; Berg, Ina J.; Deelman, Betto G. (1999). "Illusory Superiority in Self-Reported Memory of Older Adults". Aging, Neuropsychology, and Cognition. 6 (4): 288–301. doi:10.1076/1382-5585(199912)06:04;1-B;FT288.
  8. 8.0 8.1 8.2 Kruger, Justin; Dunning, David (1999). "Unskilled and Unaware of It: How Difficulties in Recognizing One's Own Incompetence Lead to Inflated Self-Assessments". Journal of Personality and Social Psychology. 77 (6): 1121–34. doi:10.1037/0022-3514.77.6.1121. PMID 10626367.
  9. "The 2000 Ig Nobel Prize Winners". Improbable Research. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-11. สืบค้นเมื่อ 2008-05-27.
  10. Ehrlinger, Joyce; Dunning, David (January 2003). "How Chronic Self-Views Influence (and Potentially Mislead) Estimates of Performance". Journal of Personality and Social Psychology. 84 (1): 5–17. doi:10.1037/0022-3514.84.1.5. PMID 12518967. S2CID 4143192.
  11. Ames, Daniel R.; Kammrath, Lara K. (September 2004). "Mind-Reading and Metacognition: Narcissism, not Actual Competence, Predicts Self-Estimated Ability". Journal of Nonverbal Behavior. 28 (3): 187–209. CiteSeerX 10.1.1.413.8323. doi:10.1023/B:JONB.0000039649.20015.0e. S2CID 13376290.
  12. Burson, Katherine A; Larrick, Richard P; Klayman, Joshua (2006). "Skilled or Unskilled, but Still Unaware of It: How Perceptions of Difficulty Drive Miscalibration in Relative Comparisons" (PDF). Journal of Personality and Social Psychology. 90 (1): 60–77. doi:10.1037/0022-3514.90.1.60. PMID 16448310.
  13. Ehrlinger, Joyce; Johnson, Kerri; Banner, Matthew; Dunning, David; Kruger, Justin (2008). "Why the unskilled are unaware: Further explorations of (absent) self-insight among the incompetent". Organizational Behavior and Human Decision Processes. 105 (1): 98–121. doi:10.1016/j.obhdp.2007.05.002. PMC 2702783. PMID 19568317.
  14. Cross, P. (1977). "Not can but will college teachers be improved?". New Directions for Higher Education. 17: 1–15. doi:10.1002/he.36919771703.
  15. "It's Academic". Stanford GSB Reporter. 2000-04-24. pp. 14–15. อ้างอิงใน Zuckerman, Ezra W.; Jost, John T (2001). "What Makes You Think You're So Popular? Self Evaluation Maintenance and the Subjective Side of the "Friendship Paradox"" (PDF). Social Psychology Quarterly. American Sociological Association. 64 (3): 207–223. doi:10.2307/3090112. JSTOR 3090112. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
  16. Odean, T. (1998). "Volume, volatility, price, and profit when all traders are above average". Journal of Finance. 53 (6): 1887–1934. doi:10.1111/0022-1082.00078.
  17. Neale, MA; Bazerman, MH (1985). "The effects of framing and negotiator overconfidence on bargaining behaviours and outcomes". Academy of Management Journal. 28 (1): 34–49.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 Alicke, Mark D.; Govorun, Olesya (2005). "The Better-Than-Average Effect". ใน Alicke, Mark D; Dunning, David A; Krueger, Joachim I (บ.ก.). The Self in Social Judgment. Studies in Self and Identity. Psychology Press. pp. 85–106. ISBN 978-1-84169-418-4. OCLC 58054791.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  19. 19.0 19.1 Suls, Jerry; Lemos, Katherine; Stewart, H. Lockett (2002). "Self-Esteem, Construal, and Comparisons With the Self, Friends, and Peers" (PDF). Journal of Personality and Social Psychology. 82 (2): 252–261. doi:10.1037/0022-3514.82.2.252. PMID 11831414.
  20. 20.0 20.1 Perloff, L.S.; Fetzer, BK (1986). "Self-other judgments and perceived vulnerability to victimization". Journal of Personality and Social Psychology. American Psychological Association. 50 (3): 502–510. doi:10.1037/0022-3514.50.3.502.
  21. Brown, J.D. (1986). "Evaluations of self and others: Self-enhancement biases in social judgments". Social Cognition. 4 (4): 353–376. doi:10.1521/soco.1986.4.4.353.
  22. Tajfel, H.; Turner, JC. "The social identity theory of intergroup behaviour". ใน Worchel, S; Austin, WG (บ.ก.). Psychology of intergroup relations (2nd ed.). pp. 7–24. ISBN 0-12-682550-5.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  23. Zuckerman, Ezra W.; Jost, John T (2001). "What Makes You Think You're So Popular? Self Evaluation Maintenance and the Subjective Side of the "Friendship Paradox"" (PDF). Social Psychology Quarterly. American Sociological Association. 64 (3): 207–223. doi:10.2307/3090112. JSTOR 3090112. สืบค้นเมื่อ 2009-08-29.
  24. Buunk, B.P. (2001). "Perceived superiority of one's own relationship and perceived prevalence of happy and unhappy relationships". British Journal of Social Psychology. 40 (4): 565–574. doi:10.1348/014466601164984.
  25. Hoorens, V.; Harris, P (1998). "Distortions in reports of health behaviours: The time span effect and illusory superiority". Psychology and Health. 13 (3): 451–466. doi:10.1080/08870449808407303.
  26. Svenson, Ola (February 1981). "Are We All Less Risky and More Skillful Than Our Fellow Drivers?" (PDF). Acta Psychologica. 47 (2): 143–148. doi:10.1016/0001-6918(81)90005-6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 22 July 2012.
  27. McCormick, I. A.; Walkey, F. H.; Green, D. E. (June 1986). "Comparative Perceptions of Driver Ability: A Confirmation and Expansion". Accident Analysis & Prevention. 18 (3): 205–208. doi:10.1016/0001-4575(86)90004-7. PMID 3730094.
  28. "24% of Drivers Admit to Coming Close to Causing an Accident While Texting". 15 July 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2016-03-11.
  29. Heine, S. J.; Hamamura, T (2007). "In Search of East Asian Self-Enhancement". Personality and Social Psychology Review. 11 (1): 4–27. doi:10.1177/1088868306294587. PMID 18453453. S2CID 2843126.
  30. DeAngelis, Tori (Feb 2003). "Why We Overestimate Our Competence". Monitor on Psychology. 34 (2): 60. doi:10.1037/e300052003-031. สืบค้นเมื่อ 7 March 2011.
  31. Falk, Carl F.; Heine, Steven J.; Yuki, Masaki; Takemura, Kosuke (2009). "Why Do Westerners Self-Enhance More than East Asians?" (PDF). European Journal of Personality. 23 (3): 183–203. doi:10.1002/per.715. S2CID 30477227.
  32. Martin, D.J.; Abramson, L.Y.; Alloy, L.B. (1984). "Illusion of control for self and others in depressed and non-depressed college students". Journal of Personality and Social Psychology. 46: 126–136. doi:10.1037/0022-3514.46.1.125.
  33. Kuiper, N.A.; Macdonald, M.R. (1982). "Self and other perception in mild depressives". Social Cognition. 1 (3): 223–239. doi:10.1521/soco.1982.1.3.223.
  34. Compton, William C. (1992). "Are positive illusions necessary for self-esteem: a research note". Personality and Individual Differences. 13 (12): 1343–1344. doi:10.1016/0191-8869(92)90177-Q.
  35. Knee, C.R.; Zuckerman, M. (1998). "A nondefensive personality: Autonomy and control as moderators of defensive coping and self-handicapping". Journal of Research in Personality. 32 (2): 115–130. doi:10.1006/jrpe.1997.2207.
  36. 36.0 36.1 36.2 Shedler, Jonathan; Martin Mayman; Melvin Manis (1993). "The Illusion of Mental Health". American Psychologist. American Psychological Association. 48 (11): 1117–1131. doi:10.1037/0003-066X.48.11.1117. PMID 8259825.
  37. Sedikides, Constantine; Horton, Robert S; Gregg, Aiden P (2007). "The Why's the Limit: Curtailing Self-Enhancement With Explanatory Introspection". Journal of Personality. Wiley Periodicals. 75 (4): 783–824. doi:10.1111/j.1467-6494.2007.00457.x. ISSN 0022-3506. PMID 17576359.
  38. Beer, JS; Hughes, BL. (2010). "Neural systems of social comparison and the "above-average" effect". Neuroimage. 49 (3): 2671–2679. doi:10.1016/j.neuroimage.2009.10.075. PMID 19883771.
  39. Hilbert, Martin (2012). "Toward a synthesis of cognitive biases: How noisy information processing can bias human decision making". Psychological Bulletin. 138 (2): 211–237. Full ArticlePDF
  40. Weinstein, N.D. (1980). "Unrealistic optimism about future life events". Journal of Personality and Social Psychology. American Psychological Association. 39 (5): 806–820. doi:10.1037/0022-3514.39.5.806.
  41. Kruger, J. (1999). "Lake Woebegon be gone! The "below-average effect" and the egocentric nature of comparative ability judgments". Journal of Personality and Social Psychology. 77 (2): 221–232. doi:10.1037/0022-3514.77.2.221. PMID 10474208.
  42. Schkade, D.A.; D. Kahneman (1998). "Does living in California make people happy? A focussing illusion in judgments of life satisfaction". Psychological Science. 9 (5): 340–346. doi:10.1111/1467-9280.00066.
  43. Otten, Wilma; Van Der Pligt, Joop (1966). "Context effects in the measurement of comparative optimism in probability judgments" (PDF). Journal of Personality and Social Psychology. 15: 80–101. doi:10.1521/jscp.1996.15.1.80.
  44. Eiser, J. Richard; Pahl, Sabine; Prins, Yvonne R.A. (January 2001). "Optimism, Pessimism, and the Direction of Self–Other Comparisons". Journal of Experimental Social Psychology. 37 (1): 77–84. doi:10.1006/jesp.2000.1438.
  45. Windschitl, Paul D.; Kruger, Justin; Simms, Ericka Nus (2003). "The Influence of Egocentrism and Focalism on People's Optimism in Competitions: When What Affects Us Equally Affects Me More" (PDF). Journal of Personality and Social Psychology. 85 (3): 389–408. doi:10.1037/0022-3514.85.3.389. PMID 14498778. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-03-11.
  46. 46.0 46.1 Giladi, EE; Klar, Y (2002). "When standards are wide of the mark: Nonselective superiority and inferiority biases in comparative judgments of objects and concepts". Journal of Experimental Psychology: General. 131 (4): 538–551. doi:10.1037/0096-3445.131.4.538.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  47. Sedikides, Constantine; Strube, Michael J. (1997). "Self-Evaluation: To Thine Own Self Be Good, To Thine Own Self Be Sure, To Thine Own Self Be True, and To Thine Own Self be Better". Advances in Experimental Social Psychology. Vol. 29. pp. 209–269. doi:10.1016/S0065-2601(08)60018-0. ISBN 9780120152292.
  48. Reeder, Glenn D.; Brewer, Marilynn B. (January 1979). "A Schematic Model of Dispositional Attribution in Interpersonal Perception". Psychological Review. 86 (1): 61–79. doi:10.1037/0033-295X.86.1.61. S2CID 17999914.
  49. Swann, William B.; Buhrmester, Michael D. (2003). "Self-Verification: The Search for Coherence". ใน Leary, Mark R.; Tangney, June Price (บ.ก.). Handbook of Self and Identity. Guilford Press.
  50. Dunning, D.; Meyerowitz, J.A.; Holzberg, A.D. (1989). "Ambiguity and self-evaluation: The role of idiosyncratic trait definitions in self-serving assessments of ability". Journal of Personality and Social Psychology. 57 (6): 1082–1090. doi:10.1037/0022-3514.57.6.1082.
  51. 51.0 51.1 51.2 51.3 Alicke, M.D.; Klotz, M.L.; Breitenbecher, D.L.; Yurak, T.J.; Vredenburg, D.S. (1995). "Personal contact, individuation, and the better-than-average effect". Journal of Personality and Social Psychology. 68 (5): 804–825. doi:10.1037/0022-3514.68.5.804.
  52. Otten, W.; Van; der Pligt, J. (1966). "Context effects in the measurement of comparative optimism in probability judgments". Journal of Social and Clinical Psychology. 15: 80–101.
  53. Brown, J.D. (1986). "Evaluations of self and others: Self-enhancement biases in social judgments". Social Cognition. 4 (4): 353–376. doi:10.1521/soco.1986.4.4.353.
  54. Moore, D.A. (2007). "Not so above average after all: When people believe they are worse than average and its implications for theories of bias in social comparison". Organizational Behaviour and Human Decision Processes. 102 (1): 42–58. doi:10.1016/j.obhdp.2006.09.005.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]