ข้ามไปเนื้อหา

ความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร–สหรัฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร – สหรัฐ
Map indicating location of สหราชอาณาจักร and สหรัฐ

บริเตนใหญ่

สหรัฐ
นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ และประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ ร่วมกันแถลงข่าว ณ ห้องตะวันออกของทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

ความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร-สหรัฐ เปิดกว้างในทุกทุกด้านและขยายความสัมพันธ์กันตลอดช่วงสี่ศตวรรษที่ผ่านมา แรกเริ่มในปี พ.ศ. 2150 เมื่ออังกฤษสถาปนาเขตพักพิงถาวรแห่งแรกขึ้นบนพื้นทวีปอเมริกาเหนือ เขตพักพิงแห่งนี้มีชื่อว่า เจมส์ทาวน์

ในยุคที่สหรัฐยังเป็นอาณานิคมทั้งสิบสาม ทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษด้วยกันคู่ ซึ่งทั้งสองรัฐถูกผูกมัดเข้าด้วยกันทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ภาษาแม่ ระบบยุติธรรม วัฒนธรรม รวมทั้งความเกี่ยวดองกันทางสายเลือดและเครือญาติ ชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษในสหรัฐจึงสามารถย้อนต้นตระกูลกลับไปได้หลายชั่วอายุคน

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีทั้งสงคราม การก่อกบฏ สันติภาพและความบาดหมางต่อกัน จนกระทั่งท้ายที่สุดทั้งสองก็กลายเป็นทั้งเพื่อนและพันธมิตรต่อกัน ความสัมพันธ์อันหยั่งรากลึกนี้ดำเนินมาถึงจุดสูงสุดและถาวรเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ สายสัมพันธ์พิเศษ ซึ่งถูกอธิบายโดยนักวิจารณ์ชั้นแนวหน้าอย่าง คริสเตียน อามันพัวร์ ว่าเป็น "พันธมิตรหลักแห่งแอตแลนติก"[1] เช่นเดียวกับประธานวุฒิสมาชิกด้านกิจการยุโรปของสหรัฐ ฌอง ชาฮีน ที่ยอมรับใน พ.ศ. 2553 ว่าเป็น "หนึ่งในเสาหลักแห่งเสถียรภาพของทั่วทั้งโลก"[2]

ปัจจุบัน นโยบายด้านการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรฉบับล่าสุดกล่าวถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐว่าเป็น "หุ้นส่วนความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่สำคัญที่สุด"[3] ขณะที่นโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐเองก็ยืนยันเช่นกันว่าสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ยืนยงที่สุด[4][5] ซึ่งเห็นได้จากสภาพทางสังคมที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งในด้านการเมือง ความเชื่อมโยงกันของการค้า การพาณิชย์ การเงินการคลัง เทคโนโลยี การศึกษา เช่นเดียวกับด้านศิลปะและวิทยาการ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกันของรัฐบาลและหน่วยงานทางการทหาร เช่น ปฏิบัติการทางการทหารและปฏิบัติการรักษาสันติภาพร่วมกัน นอกจากนี้โดยปกติแล้วประธานาธิบดีแห่งสหรัฐจะเป็นบุคคลแรกในโลกที่จะส่งจดหมายแสดงความยินดีในการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรคนใหม่ ในทางกลับกัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรก็จะส่งจดหมายแสดงความยินดีเป็นบุคคลแรกในโลกเช่นเดียวกัน สหรัฐยังเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับที่สหราชอาณาจักรเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ

เมื่อรวมทั้งสองประเทศเข้าด้วยกันแล้วจะพบว่าการค้าของทั้งสองประเทศมีสัดส่วนมหาศาลเมื่อเทียบกับการค้าทั่วโลก อีกยังมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมอย่างมากต่อประเทศและดินแดนอื่น ๆ ทั่วโลก สหราชอาณาจักรและสหรัฐยังเปนสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศ แองโกลสเฟียร์ มีประชากรรวมกันมากกว่า 370 ล้านคนในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งทั้งสองประเทศมีส่วนทำให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่หลายส่วนของโลก

จากการสำรวจความคิดเห็นของบีบีซีเวิลด์เวอร์วิสในปี พ.ศ. 2556 พบว่า ร้อยละ 74 ของชาวอเมริกันมองว่าสหราชอาณาจักรมีอิทธิพลในทางบวก ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 14 มองอิทธิพลของสหราชอาณาจักรในแง่ลบ แต่ชาวสหราชอาณาจักรกลับมองอิทธิพลของสหรัฐในแง่บวกและแง่ลบเท่ากันที่ร้อยละ 46 อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2556 พบว่าร้อยละ 58 ของชาวสหราชอาณาจักรยังคงมีทัศนะที่ชื่นชอบสหรัฐ[6]

ข้อเปรียบเทียบ

[แก้]
ข้อเปรียบเทียบ
สหราชอาณาจักร

สหรัฐ
ประชากร 62,042,780 310,176,650
พื้นที่ 244,820 ตารางกิโลเมตร (94,526 ตารางไมล์) 9,826,630 ตารางกิโลเมตร (3,794,066 ตารางไมล์)
ความหนาแน่นของประชากร 246 คนต่อตารางกิโลเมตร (637 คนต่อตารางไมล์) 31 คนต่อตารางกิโลเมตร (80 คนต่อตารางไมล์)
เมืองหลวง ลอนดอน วอชิงตัน ดี.ซี.
เมืองใหญ่ที่สุด ลอนดอน – 7,556,900 (13,945,000 คนในเขตมหานคร) นครนิวยอร์ก – 8,363,710 (19,006,798 คนในเขตมหานคร)
รัฐบาล ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ระบบเวสต์มินสเตอร์) สหพันธ์สาธารณรัฐ (ระบบประธานาธิบดี)
ภาษาที่ใช้พูดกันทั่วไป ภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษ
ศาสนาหลัก ศาสนาคริสต์ 71.8%, ไม่มีศาสนา (อเทวนิยม) 15.1%, ไม่ประกาศชัดเจน 7.8%, ศาสนาอิสลาม 2.8%, ศาสนาฮินดู 1%, ศาสนาซิกซ์ 0.6%, ศาสนายูดาย 0.5%, ศาสนาพุทธ 0.3% ศาสนาคริสต์ 78.4%, ไม่มีศาสนา (อเทวนิยม) 16.1%, ศาสนายูดาย 3%, ศาสนาอิสลาม 2.9%, อื่น ๆ 1.2%, ศาสนาพุทธ 0.7%, ศาสนาฮินดู 0.4%
กลุ่มชาติพันธุ์ คนผิวขาว 92.1%, คนเอเชียใต้ 4% คนผิวดำ, 2%, หลายชาติพันธุ์ 1.2%, ชาวจีน 0.4%, อื่น ๆ 0.4% คนผิวขาว 74%, สเปนและลาติน 14.8%, แอฟริกัน-อเมริกัน 13.4%, อื่น ๆ 6.5%, เอเชีย 4.4%, มากกว่าสองเชื้อชาติ 2.0%, ชนพื้นเมือง 0.68%, ชาวฮาวายและชนพื้นเมืองบนเกาะแปซิฟิค 0.14%
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 2.772 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (43,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน) 14.441 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ($47,440 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน)
ชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษ 224,000 คน (ชาวอเมริกันโดยกำเนิดที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร) 678,000 คน (ชาวอังกฤษโดยกำเนิดที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ)
งบประมาณด้านการกลาโหม 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับปี พ.ศ. 2552-2553)[7] 6.637 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับปี พ.ศ. 2553)[8]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ต้นกำเนิด

[แก้]
เรือเมย์ฟลาวเออร์ทำการขนส่งผู้แสวงบุญสู่โลกใหม่ ในปี พ.ศ. 2163 ดังที่ปรากฏในรูปวาด เดอะเมย์ฟลาวเออร์ในท่าเรือแห่งพลีมัธ ของวิลเลียม ฮาลแซล วาดขึ้นในปี พ.ศ. 2425

วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2122 เซอร์ฟรานซิส เดรก นักสำรวจชาวอังกฤษผู้ซึ่งเดินทางด้วยเรือใบชื่อโกลเดนไฮด์ ล่องไปถึงยังท่าเรือบนพื้นแผ่นดินแห่งหนึ่งของโลกใหม่ ซึ่งเขาเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า โนวา อัลบียอน (Nova Albion) เป็นภาษาละตินที่แปลว่า บริเตนใหม่ (New Britain) และอ้างเอกสิทธิ์แห่งอังกฤษเหนือดินแดนนั้น แต่บริเวณท่าเรือที่เขากล่าวถึงนั้นกลับไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แท้จริงได้และยังคงเป็นปริศนา ซึ่งจากแผนที่โบราณหลายฉบับเช่นของ โจโดคัส ฮอนดิอุส นักวาดแผนที่ชาวเฟลมิช ได้กล่าวไว้ว่าสถานที่ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาตั้งอยู่บริวเณที่เป็นรัฐบาฮากาลิฟอร์เนียในปัจจุบัน ในปัจจุบันทฤษฎีที่แพร่หลายและได้รับการสนับสนุนโดยนักประวัติศาสตร์ก็คืออันที่จริงแล้ว ฟรานซิส เดรกได้ล่องเรือไปเทียบท่าที่ทางเหนือของแคลิฟอร์เนียใกล้กับพอยต์เรย์ ไม่ห่างจากสะพานโกลเดนเกตในปัจจุบันมากนัก ส่วนอีกสถานที่ที่มักจะอ้างกันบ่อยครั้งก็คือ เวลโคฟ, รัฐออริกอน

ในปี พ.ศ. 2128 ความพยายามของอังกฤษในการก่อตั้งอาณานิคมครั้งแรกก็คืออาณานิคมโรอาโนค หรือที่รู้จักกันในชื่อ อาณานิคมที่สาบสูญ นำโดย เซอร์วอลเตอร์ ราเลจ์, ผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ แต่ในท้ายที่สุดอาณานิคมแห่งนี้ก็ล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2130 เนื่องจากเสบียงอาหารที่ได้รับมีไม่แน่นอนตลอดจนการปล่อยปะละเลยของเหล่าชาวอาณานิคม อาณานิคมถาวรแห่งแรกของอังกฤษบนพื้นทวีปอเมริกาเหนือก็คือนิคมเจมส์ทาวน์ในอาณานิคมเวอร์จิเนีย ก่อตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ในฐานะอาณานิคมบนกรรมสิทธิ์ (Charter colony) เมื่อ เรือซูซานคอนสแตนส์, เรือดิสคัฟเวอร์รี และเรือก็อดสปีด เข้าเทียบชายฝั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2150 ส่วนชาวแอฟริกันผิวดำถูกส่งขึ้นบนภาคพื้นทวีปเป็นครั้งแรกที่เวอร์จิเนียประมาณปี พ.ศ. 2162 ซึ่งบุคลคลเหล่านี้ถูกถือว่าเป็นทาสในสัญญาการค้า ในปี พ.ศ. 2167 อาณานิคมเวอร์จิเนียก็สิ้นสุดความเป็นอาณานิคมบนกรรมสิทธิ์ภายใต้การบริหารงานของบริษัทเวอร์จิเนียแห่งลอนดอน และได้กลายมาเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษในปี พ.ศ. 2241 ส่วนเมืองหลวงก็ถูกย้ายจากเจมส์ทาวน์ลึกเข้าไปในแผ่นดินบริเวณพื้นที่การเกษตรตอนกลางของอาณานิคม และตั้งชื่อว่าวิลเลียมส์เบิร์ก ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ

กลุ่มผู้ตั้งรกรากเหล่านี้เดิมเป็นชาวโปรแตสแตนท์กลุ่มเล็ก ๆ ที่มีรากเหง้าอยู่ในอังกฤษและสาธารณรัฐดัตช์ ซึ่งพวกเขาก็ได้ร่าง เมย์ฟลาวเออร์คอมแพค ขึ้น ซึ่งเอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารทางราชการฉบับแรกในการปกครองตนเองของเหล่าผู้ตั้งรกราก และยังให้อำนาจพิเศษในการปกครองตนเองระหว่างการเดินทางบนเรืออีกด้วย ต่อมาชาวโปรแตสแตนท์กลุ่มพิเศษนี้ก็ได้ล่องมากับเรือ เมย์ฟลาวเออร์ เมื่อมาถึงยังภาคพื้นทวีป เหล่าผู้ตั้งรกรากก็ได้สถาปนาอาณานิคมพลีมัธขึ้นในปี พ.ศ. 2163 โดยนายวิลเลียม แบรดฟอร์ด ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการคนแรกของอาณานิคม และต่อมากลุ่มเพียวริตันก็ได้สถาปนาอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์ขึ้นในปี พ.ศ. 2172 พร้อมกับผู้ตั้งรกรากจำนวนสี่ร้อยคน ผู้ที่พยายามจะปฏิรูปคริสตจักรแห่งอังกฤษเสียใหม่ด้วยการจัดตั้งคริสตจักรแห่งใหม่ที่มีความบริสุทธิ์มากกว่าบนผืนแผ่นดินของโลกใหม่

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2165 สิทธิบัตรหลวงจากแผ่นดินแม่ซึ่งได้รับการยินยอมจากเฟอร์ดินันโด จอร์จส์ และจอห์น เมสัน แห่งคณะกรรมาธิการพลีมัธสำหรับนิวอิงแลนด์ (Plymouth Council for New England) มีราชโองการให้จัดตั้งจังหวัดเมน มีพื้นที่ในแนวเหนือ - ใต้ระหว่างเส้นละติจูดที่สี่สิบ และเส้นละติจูดที่สี่สิบแปด ส่วนพื้นที่ในแนวตะวันออก - ตะวันตกกินพื้นที่ระหว่างชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ (ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก) ไปจนสุดทะเลฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ (ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก)

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ผู้ทรงลงพระนามาภิไธยกรรมสิทธิ์หลวงในการจัดตั้งจังหวัดแมริแลนด์

ในปี พ.ศ. 2175 กรรมสิทธิ์หลวงถูกลงพระนามาภิไธยโดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งใจความมีราชโองการจัดตั้งอาณานิคมในครอบครอง (Proprietary Colony) หรือที่รู้จักกันในนามจังหวัดแมริแลนด์ และยังกำหนดไว้ว่าอาณานิคมแห่งนี้จะต้องถูกปกครองดูแลโดยเหล่าผู้ที่สืบสายเลือดมาจากบารอนแห่งบัลติมอร์ ซึ่งปัจจุบันได้หายสาบสูญไปหมดจนกลายมาเป็นตำแหน่งเพียเรจแห่งไอร์แลนด์ (Peerage: เป็นตำแหน่งหนึ่งของขุนนาง) และจังหวัดแมริแลนด์นี้ถูกจัดตั้งขึ้นก็เพื่อให้เป็นอาณาเขตที่ปลอดภัยสำหรับชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ตั้งรกรากอยู่บนพื้นทวีปอเมริกาเหนือ

ในปี พ.ศ. 2179 อาณานิคมโรดไอแลนด์และพื้นที่เกษตรกรรม (Colony of Rhode Island and Providence Plantations) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยโรเจอร์ วิลเลียมส์ ผู้เป็นนักเทววิทยา, นักเทศน์และนักภาษาศาสตร์ ซึ่งได้รับมาจากหัวหน้าชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองชื่อคานอนิคัส ผู้ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าได้ส่งโรเจอร์และพวกพ้องมาเพื่อทำการตั้งรกรากที่นี่

ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2179 ได้มีการสถาปนาอาณานิคมคอนเนทิคัตขึ้น เดิมรู้จักกันในนามอาณานิคมแม่น้ำ (River Colony) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่หลบภัยของบุคคลสำคัญในกลุ่มเพียวริตัน ภายหลังรัฐคอนเนทิคัตได้กลายมาเป็นสมรภูมิอันนองเลือดระหว่างชาวอังกฤษกับชนอเมริกันพื้นเมืองในสงครามเปกอต (Pequot War) ตลอดช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1630

ในปี พ.ศ. 2206 กรรมสิทธิ์หลวงถูกลงพระนามาภิไธยให้สถาปนาจังหวัดแคโรไลนา เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ซึ่งปกครองโดยเจ้าผู้ครอบครอง (Lords Proprietor) อันประกอบไปด้วยขุนนางอังกฤษแปดคน ภายใต้การนำอย่างไม่เป็นทางการโดยแอนโธนี แอชลีย์ คูเปอร์ เอิร์ลแห่งแชฟเทอร์เบอร์รีที่ 1 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านไปเรื่อย ๆ ภายในจังหวัดได้มีการแบ่งแยกออกเป็นเขตต่าง ๆ ทีละเล็กทีละน้อย ขณะที่ชาวอาณานิคมไม่ยอมรับในรายชื่อผู้ลงสมัครเป็นคณะรัฐบาล ท้ายที่สุดการแบ่งแยกออกจากกันได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2272 เมื่อจังหัวแคโรไลนาถูกยุบและแบ่งออกเป็นสองอาณานิคมหลวงคือ จังหวัดนอร์ทแคโรไลนาและจังหวักเซาท์แคโรไลนา ตามความเห็นชอบของเจ้าผู้ครอบครองเจ็ดในแปดคน ซึ่งได้ทำการขายผลประโยชน์ที่ดินของตนไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2282 จังหวัดเซาท์แคโรไลนาได้ทำการแบ่งแยกดินแดนในฐานะอาณานิคมร่วมออกไปอีก โดยทำการสถาปนาอาณานิคมซึ่งลงโทษโดยกฎหมายสำหรับลูกหนี้ รู้จักกันในนามจังหวัดจอร์เจีย ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทั้งนี้จังหวัดจอร์เจียยังถูกสถาปนาให้เป็นรัฐกันชนระหว่างส่วนที่เหลือของบริติชอเมริกากับฟลอริดาของสเปนที่อยู่ทางใต้

หลังจากที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบของความเป็นอาณานิคม ในตอนท้ายนิวสวีเดนและนิวเนเธอร์แลนด์ก็สิ้นสุดตัวเองลงในปี พ.ศ. 2198 และในปี พ.ศ. 2207 ตามลำดับ ต่อมาอาณานิคมเดลาแวร์และเมืองหลวงนิวคาสเซิลได้ถูกสถาปนาขึ้นแทนโดยชาวอังกฤษ

ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2179 นิวเนเธอร์แลนด์สิ้นสุดการเป็นอาณานิคมลงในขณะที่สาธารณรัฐดัตช์ยอมสละอำนาจของตนเอง อังกฤษได้รับดินแดนส่วนนั้นมาปกครองในฐานะอาณานิคม ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2208 พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ผู้ซึ่งเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นดยุกแห่งยอร์ค ทรงลงพระนามาภิไธยในกรรมสิทธิ์หลวงให้สถาปนาจังหวัดนิวยอร์ก ดังนั้นเมืองนิวอัมสเตอร์ดัมจึงถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นนิวยอร์กด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากดัตช์สู่อังกฤษ ในปี พ.ศ. 2217 จังหวัดนิวเจอร์ซีย์ตั้งชื่อตามเกาะเจอร์ซีย์ แยกเขตการปกครองออกมาจากจังหวัดนิวยอร์ก ซึ่งในจังหวัดนิวเจอร์ซีย์ยังแบ่งเขตบริหารออกเป็นสองเขตคือนิวเจอร์ซีย์ตะวันออกและนิวเจอร์ซีย์ตะวันตก การแยกเขตการปกครองในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากดยุกแห่งยอร์คค้างชำระหนี้สินให้แก่เซอร์จอร์จ คาร์ตเรต จึงแบ่งที่ดินบางส่วนของจังหวัดนิวยอร์กชำระแทน

เดอะเควกเคอร์ (The Quaker: สมาคมเคร่งศาสนาแห่งหนึ่งในอังกฤษ) หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า เดอะเรลิกเจียสโซไซตีออฟเฟรนด์ส (the Religious Society of Friends) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่ามนุษย์แต่ละคนสามารถเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้ เดิมเควกเคอร์มีถิ่นกำเนิดที่แผ่นดินอังกฤษก่อนจะแพร่ขยายมายังอเมริกา แต่หนทางของเควกเคอร์ในอเมริกาก็ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทีเดียว พวกเขาเคยถูกเนรเทศออกจากอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์ซึ่งถูกปกครองด้วยกลุ่มเพียวริตันผู้เป็นศัตรู ดังนั้นเหล่าเควกเคอร์จึงอพยพย้ายถิ่นไปยังจังหวัดนิวเจอร์ซีย์ จนในที่สุดหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มนามว่าวิลเลียม เพนน์ ได้รับรางวัลพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์หลวงจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ในปี พ.ศ. 2224 เพื่อสถาปนาจังหวัดเพนซิลเวเนียซึ่งในท้ายที่สุดเควกเคอร์ทั้งหลายก็ลงหลักปักฐานเป็นการถาวร ณ ดินแดนแห่งนี้ ต่อมานครฟิลาเดลเฟียได้กลายมาเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเพนซิลเวเนียและใหญ่เป็นอันดับสองในจักรวรรดิอังกฤษรองจากลอนดอน เช่นเดียวกับที่มันได้กลายมาเป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าและการพาณิชย์บนภาคพื้นทวีปอเมริกา

ไม่นานภายหลังจากเขตปกครองแห่งนิวอิงแลนด์ล่มสลายลงในปี พ.ศ. 2232 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะรวบรวมอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์, อาณานิคมพลีมัธ, จังหวัดนิวแฮมป์เชอร์, จังหวัดเมน, อาณานิคมโรดไอแลนด์และพื้นที่เกษตรกรรม, อาณานิคมคอนเนทิคัต และเคาน์ตีแนร์แรแกนเซตหรือคิงส์โพรวินซ์ ทั้งนี้การรวมตัวกันอย่างถาวรของอาณานิคมพลีมัธและเกิดอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2234 โดยการสถาปนาอาณานิคมใหม่ที่รู้จักกันในนามจังหวัดอ่าวแมสซาชูเซตส์

จังหวัดนิวแฮมป์เชอร์เคยเป็นอาณานิคมหลวงของอังกฤษ ถูกสถาปนาขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2234 ต่อมากรรมสิทธิ์หลวงถูกประกาศเป็นกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2235 โดยพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ซึ่งทั้งสองพระองค์ต่างก็ครองราชบัลลังก์อังกฤษและสกอตแลนด์ร่วมกัน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการสถาปนาจังหวัดอ่าวแมสซาชูเซตส์

การอพยพ

[แก้]

ระหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 จำนวนผู้อพยพชาวอังกฤษและชาวเวลส์ที่ไปยังอาณานิคมทั้งสิบสามมีมากถึง 350,000 คน แต่ในศตวรรษถัดมาหลังจากได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสหภาพ พ.ศ. 2250 กลับกลายเป็นว่าชาวสกอตแลนด์และชาวไอริชคือผู้อพยพกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เดินทางไปยังอเมริกา[9]

อาณานิคมทั้งสิบสามแห่งล้วนเกี่ยวข้องกับการค้าทาสแทบทั้งสิ้น ทาสที่อาศัยอยู่ในอาณานิคมทางตอนกลางและอาณานิคมในภูมิภาคนิวอิงแลนด์ส่วนมากทำงานเป็นผู้รับใช้ตามบ้าน, ช่างฝีมือ และแรงงาน ส่วนทาสที่อยู่ในอาณานิคมทางใต้ทำงานอยู่ในภาคการเกษตรเป็นหลักเช่น การปลูกข้าว, การปลูกฝ้าย และการปลูกต้นยาสูบ ในทำนองเดียวกัน, พ่อค้าจำนวนมากยังเป็นผู้บุกเบิกการค้าและการพาณิชย์มาสู่อาณานิคมทั้งสิบสาม โดยการนำสินค้าที่เหลือจากความต้องการภายในส่งกลับสู่อังกฤษ ซึ่งส่งผลประโยชน์ต่อแผ่นดินแม่อย่างมากจากวัตถุดิบที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านี้

สงครามฝรั่งเศส-อเมริกันอินเดียนปะทุขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2297 ถึง พ.ศ. 2306 เป็นสงครามย่อยบนพื้นทวีปอเมริกาเหนือในสงครามเจ็ดปี ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งของฝรั่งเศสกับราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในอเมริกาเหนือ ผลที่ตามมาคืออังกฤษได้เข้าครอบครองนิวฟรานส์โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่ม อีโรกัวส์ (Iroquois Confederation) และหลังสงครามสิ้นสุดลง คู่กรณีในสงครามทั้งหมดได้ทำการลงนามในสนธิสัญญาแห่งปารีส พ.ศ. 2306 ซึ่งระบุไว้ว่าฝรั่งเศสต้องยกอำนาจอธิปไตยทั้งหมดเหนือหลุยเซียนาบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีให้แก่อังกฤษหรือที่รู้จักกันในภายหลังว่า อินเดียนรีเซิร์ฟ (Indian Reserve) อันเป็นการยืนยันว่าอังกฤษคือเจ้าอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดบนทวีปอเมริกาเหนือ

การปฏิวัติอเมริกา

[แก้]
มรณกรรมของนายพลวอร์เรน ณ สมรภูมิบันเคอร์ฮิลล์ วาดโดยจอห์น ทรัมบูล, พ.ศ. 2318

อาณานิคมทั้งสิบสามต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการปกครองตนเองมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อยและยังต้องพบกับข้อจำกัดทางการค้าที่มากขึ้นไปอีก เนื่องจากนโยบายของแผ่นดินแม่ที่มีความเข้มงวดและเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น ผลลัพธ์อื่นที่ตามมาก็คือก่อให้เกิดความยากลำบากในการค้าและไปจำกัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาณานิคม มันยังทำให้พ่อค้าชาวอังกฤษกอบโกยผลประโยชน์ไปได้มากมาย ซ้ำร้ายชาวอาณานิคมยังต้องมามีส่วนร่วมในการชดใช้หนี้สินที่อังกฤษกระทำไว้ในช่วงสงครามเจ็ดปี ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2308 - พ.ศ. 2318 จากประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ไม่มีการควบคุมและไม่มีผู้แทนพระองค์อย่างเป็นทางการของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ตามมาด้วยการสังหารหมู่ที่บอสตัน เมื่อกองทัพหลวงอังกฤษหรือที่รู้จักกันในนาม พลทหารอังกฤษชุดแดง (British Redcoats) เปิดฉากยิงพลเรือนในปี พ.ศ. 2313 ส่งผลให้เกิดการก่อกบฏของชาวอาณานิคมที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรงไปทั่วทุกหนแห่ง ก่อนหน้านี้รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านพระราชบัญญัติด้านภาษีออกมาหลายฉบับตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติตราไปรษณียากร พ.ศ. 2308 ตามมาด้วย พระราชบัญญัติชา พ.ศ. 2316 เป็นต้น ซึ่งพระราชบัญญัติชานี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ชาวอาณานิคม ตามมาด้วยการประท้วงโดยการปลอมตัวเป็นชาวอินเดียแดงแล้วลอบขึ้นไปบนเรือขนใบชาของอังกฤษ จากนั้นทำการโยนหีบใบชาทั้งหมดทิ้งลงไปในอ่าวบอสตัน ประชาชนทั่วไปรู้จักเหตุการณ์นี้กันในนามกรณีชาที่บอสตัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2317 รัฐสภาอังกฤษจึงตอบโต้การท้าทายดังกล่าวด้วยการผ่านพระราชบัญญัติที่ชาวอาณานิคมเรียกกันในนาม พระราชบัญญัติสุดทน (Intolerable Acts) ในที่สุดลำดับเหตุการณ์ที่กล่าวมาในข้างต้นก็ได้กระตุ้นให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวอาณานิคมกับกองทัพหลวงอังกฤษที่สมรภูมเลกซิงตันและคอนคอร์ดในปี พ.ศ. 2318 และจากการปะทะกันในครั้งนี้เองที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชัยชนะของอังกฤษที่สมรภูมิบันเคอร์ฮิลล์ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันก็ยิ่งปลุกปั่นความตึงเครียดให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันนั้นเองที่เป้าหมายในการประกาศเอกราชจากอังกฤษก็ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนส่วนมากของสังคมที่รู้จักกันในนาม กลุ่มผู้รักชาติ (Patriots) แต่ก็มีกลุ่มคนส่วนน้อยที่ยังต้องการให้อังกฤษปกครองพวกเขาต่อไปโดยรู้จักกันในนาม กลุ่มผู้ภักดี (Loyalists) อย่างไรก็ดีเมื่อมีการจัดการประชุมสภาคองเกรสแห่งภาคพื้นทวีปครั้งที่สองขึ้นที่ฟิลาเดลเฟียในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2318 การประชุมดำเนินไปภายใต้การควบคุมของเหล่าผู้มีชื่อเสียงเช่น เบนจามิน แฟรงคลิน, ทอมัส เจฟเฟอร์สัน, จอห์น แฮนคอค, แซมูเอล อดัมส์ และ จอห์น อดัมส์ ทั้งหมดได้หารือและตัดสินใจในที่สุดว่าจะทำการเรียกร้องเอกราชอย่างเต็มขั้นจากประเทศแม่ จึงก่อให้เกิดคำประกาศอิสรภาพสหรัฐในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2319 และลงนามในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2319 ตามมาด้วยการส่งไปยังอังกฤษและขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัย การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเด็ดเดี่ยวและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงเวลานั้น

ความพ่ายแพ้ของลอร์ดคอร์นวอลลิส วาดโดยจอห์น ทรัมบูล แสดงให้เห็นถึงการยอมแพ้ของกองทัพราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ต่อกองทัพราชอาณาจักรฝรั่งเศส (ซ้าย) และกองทัพสหรัฐ (ขวา) นับเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติอเมริกัน

ในช่วงต้นของสงครามกองทัพแห่งสหราชอาณาจักรต้องถอยร่นไปยังฮาลิแฟก โนวาสโกเชีย ระหว่างการบุกที่บอสตันโดยพลทหารของฝ่ายอาณานิคม พ.ศ. 2319 อย่างไรก็ตามในการบุกนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์กองทัพของอาณานิคมก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้นับหลายร้อยครั้งเฉกเช่นเดียวกับการบุกที่ฟิลาเดลเฟีย ทั้งในสมรภูมิคิปส์เบย์ สมรภูมิลองไอแลนด์ สมรภูมิไวต์เพลน สมรภูมิแบรนดีไวน์ และที่สมรภูมิเยอรมันทาวน์ ในขณะที่กองทัพแห่งภาคพื้นทวีปซึ่งนำโดยจอร์จ วอชิงตัน พ่ายแพ้ให้แก่สหราชอาณาจักรที่สมรภูมิฮาเลมไฮต์ส, สมรภูมิพรินส์ตัน และที่สมรภูมิเทรนตัน นอกจากนี้การเข้ายึดครองนครนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟียของกองทัพสหราชอาณาจักรยังพิสูจน์ในขั้นต้นได้ถึงชัยชนะของอังกฤษที่มีต่อเหล่าผู้ก่อการกบฏ ก่อนในท้ายที่สุดพวกเขาจะอพยพออกไปจากเมืองทั้งสองในปี พ.ศ. 2320 และในปี พ.ศ. 2321 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าอังกฤษจะประสบชัยชนะจากการโอบล้อมป้อมติคอนเดโกราใน พ.ศ. 2320 แต่ยุทธการซาราโตกาของฝ่ายอังกฤษกลับต้องพบกับความพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพแห่งภาคพื้นทวีปภายใต้การนำของโฮราติโอ เกตส์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปจากสมรภูมิซาราโตกา ต่อมาสงครามก็ดุดเดือดขึ้นจากการเข้ามาแทรกแทรงของราชอาณาจักรฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2321 ในช่วงของการโอบล้อมที่สะวันนาห์ พ.ศ. 2322 ที่กองทัพผสมระหว่างสหรัฐกับราชอาณาจักรฝรั่งเศสได้ประสบความล้มเหลวในความพยายามกอบกู้เมืองสะวันนาห์กลับมาเป็นของฝ่ายตนอีกครั้งภายหลังถูกฝ่ายอังกฤษเข้ายึดเมื่อปีก่อนหน้า ในสมรภูมิการสู้รบในภาคใต้ กองทหารอาสาสมัครของฝ่ายอาณานิคมกุมชัยชนะเหนือพื้นที่อาณานิคมทางใต้เป็นส่วนมาก จนกระทั่งการโอบล้อมที่ชาร์ลส์ตันได้เกิดขึ้นและฝ่ายอังกฤษก็เข้ายึดเมืองได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2323 ส่วนในสมรภูมิแคมเดินและสมรภูมิอาคารศาลที่กิลฟอร์ดฝ่ายอังกฤษก็กลับมามีชัยชนะอย่างเด็ดขาดด้วยกลยุทธ์ที่เฉียบแหลม ซึ่งค่าใช้จ่ายภายในกองทัพอังกฤษจะเพิ่มสูงขึ้นตามว่าวันเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป อีกทั้งฝ่ายอังกฤษเองก็ยิ่งอ่อนแอลงทุกขณะอันมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บล้มตายของพลทหารจำนวนมากและการคลาดแคลนกำลังพล จุดเปลี่ยนสถาการณ์ของสงครามการปฏิวัติอเมริกันมาถึงพร้อมกับการปะทุขึ้นของสมรภูมิคิงส์เมาต์เทนในปี พ.ศ. 2323 และสมรภูมิคาวเพนส์ในปี พ.ศ. 2324 เมื่อกองทัพฝ่ายอาณานิคมภายใต้การบัญชาการของนายพลแดเนียล มอร์แกน มีชัยชนะเหนือกองพลทหารม้าภายใต้การบัญชาการของบานาสเตอร์ ทาร์ลตัน พลทหารลำดับที่หนึ่งแห่งกองทหารม้าราชองครักษ์ และด้วยข้อจำกัดในการรบอันเนื่องมาจากยุทธวิธีเลห์กลของฝ่ายอาณานิคมทำให้ยุทธศาสตร์ในระยะยาวของผู้บัญชาการรบฝ่ายอังกฤษเช่น โทมัส เกจ, เซอร์วิลเลียม ฮาวว์, เฮนรี คลินตัน, จอห์น เบอร์กิยง และที่มีชื่อเสียงที่สุดคือลอร์ด ชาร์ลส์ คอร์นวอลลิส ประสบความล้มเหลวในการสู้รบกับกองทัพฝ่ายอาณานิคมและกองทัพฝรั่งเศส จุดจบของสงครามมาถึงในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2324 เมื่อชาร์ลส์ โอฮารา ผู้ใต้บังคับบัญชาของลอร์ดคอร์นวอลลิส ยอมแพ้และมอบดาบประจำแหน่งให้แก่เบนจามิน ลิงคอร์น ผู้ใต้บังคับบัญชาของจอร์จ วอชิงตัน ณ การโอบล้อมที่ยอร์คทาวน์

พ.ศ. 2326 - 2350

[แก้]
จอร์จ แฮมมอนด์ อุปทูตสหราชอาณาจักรประจำสหรัฐคนแรก

การค้าขายระหว่างสองประเทศกลับมาดำเนินตามปกติภายหลังสงครามยุติลง สหราชอาณาจักรอนุญาตให้มีการส่งออกไปยังสหรัฐทุกรูปแบบ แต่ห้ามไม่ให้สหรัฐส่งออกอาหารบางประเภทไปยังอาณานิคมอีนดีสตะวันตกของตน การส่งออกของสหราชอาณาจักรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงระดับ 3.7 ล้านปอนด์ฯ ในขณะที่นำเข้าจากสหรัฐมีมูลค่าเพียง 750,000 ปอนด์ฯ ความไม่สมดุลทางการค้านี้เองที่ทำให้สหรัฐขาดแคลนทองคำในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2328 ประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม (plenipotentiary minister; ปัจจุบันเป็น เอกอัครราชทูต; ambassador) ประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ พระเจ้าจอร์จที่ 3 มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต้อนรับเขาเป็นอย่างดี ในปี พ.ศ. 2334 สหราชอาณาจักรส่งอุปทูตคนแรกนามว่า จอร์จ แฮมมอนด์ ไปประจำสหรัฐ เมื่อสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2336 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักรหยุดชะงักจนเกือบจะทำสงครามต่อกัน ความตึงเครียดดังกล่าวยุติลงด้วยสนธิสัญญาเจย์ในปีถัดมา อันก่อให้เกิดทศวรรษแห่งการค้าที่รุ่งเรืองและสงบสุขระหว่างสองชาติ[10] นักประวัติศาสตร์มาร์แชล สเมลเซอร์ โต้แย้งว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการเลื่อนสงครามกับสหราชอาณาจักรออกไปเสียมากกว่า หรืออย่างน้อยก็เลื่อนสงครามออกไปจนกระทั่งสหรัฐแข็งแกร่งพอที่จะได้รับชัยชนะในสงคราม[11] นักประวัติศาสตร์ แบรดฟอร์ด เพิร์ชคินส์ กลับโต้แย้งแนวคิดของสเมลเซอร์ ว่าแท้จริงแล้วสนธิสัญญาเจย์เป็นจุดเริ่มต้นของ สายสัมพันธ์พิเศษ ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐ ในทรรศนะของเพิร์ชคิน สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นตัวช่วยนำพาช่วงเวลาแห่งความสงบสุขระหว่างสองรัฐเป็นเวลารวมสิบปี ซึ่งเข้าได้กล่าวสรุปไว้ว่า "ช่วงหนึ่งทศวรรษดังกล่าวนั้นอาจได้รับการขนานนามว่า การกระชับมิตรครั้งที่หนึ่ง ก็ว่าได้"

เป็นเวลาสิบกว่าปีที่พื้นที่แนวหน้าสงบสุข การเล็งเห็นคุณค่าร่วมกันของพาณิชยกรรมระหว่างสองประเทศ การยุติความขัดแย้งในการยึดเรือลำต่างๆ และการผลักดันขุมอำนาจที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม[12]

ตั้งแต่สนธิสัญญาเจย์มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2337 สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ทลายความตึกเครียดซึ่งเพิร์ชคินส์สรุปไว้ว่า: "ตลอดช่วงทศวรรษแห่งสงครามและความสงบสุขของโลก รัฐบาลชุดถัดๆ มาของรัฐจากสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกสามารถที่จะนำมาและดำรงไว้ซึ่งมิตรภาพระหว่างกัน อันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่จริงใจต่อกัน"[13] นักประวัติศาสตร์ โจเซฟ เอลลิส มองว่าสนธิสัญญาอีกด้านหนึ่งให้ประโยชน์เอื้อแก่ฝ่ายสหราชอาณาจักร ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของนักประวัติศาสตร์ส่วนมากที่ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า:

สนธิสัญญาเจย์เป็นการต่อรองอันชาญฉลาดของสหรัฐ สนธิสัญญาเดิมพันกับอังกฤษ ชาติมหาอำนาจยุโรปผู้มีอิทธิพลที่สุดในโลกในอนาคตข้างหน้า แทนที่จะเป็นฝรั่งเศส ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงคำทำนาย สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวให้การยอมรับถึงอธิปไตยเต็มขั้นของเศรษฐกิจสหรัฐในการค้ากับสหราชอาณาจักร เป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้าหลังของลัทธิมอนโร (พ.ศ. 2366) สนธิสัญญายังช่วยให้สหรัฐพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงภายในให้เทียบเท่าสหราชอาณาจักร อันนำมาซึ่งเกราะกำบังที่จะช่วยปกป้องสหรัฐจากภาวะการณ์ที่ไม่แน่นอนของโลกตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงสงครามกับสหราชอาณาจักรไปจนกระทั่งสหรัฐมีความสามารถทางเศรษฐกิจและการเมืองมากพอที่จะต่อสู้อย่างไม่เสียเปรียบ[14]

สหรัฐประกาศแสดงตนว่าเป็นกลางในสงครามรหะว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศส (พ.ศ. 2336 - 2358) และสร้างผลกำไรมากมายจากการขายเสบียงอาหารและท่อนซุงให้แก่ทั้งสองฝ่าย ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ต่อต้านสนธิสัญญาเจย์บางส่วน เนื่องจากความกังวลของเขาที่ว่าสนธิสัญญาอาจทำให้ฝ่ายต่อต้านสาธารณรัฐนิยมซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองของเขาจะแข็งแกร่งขึ้น แต่เมื่อเจฟเฟอร์สันเข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีฯ ในปี พ.ศ. 2344 เขาก็ไม่ได้ล้มเลิกสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว เขายังให้เอกอัครราชทูตวิสามัญฯ หัวสหพันธรัฐนิยม รูฟัส คิง ดำรงตำแหน่งเดิมในกรุงลอนดอนต่อไป เพื่อเจรจาต่อร้องในประเด็นละเอียดอ่อนอย่างการชำระเงินสดและการปักปันเขตแดน ซึ่งการเจรจาประสบผลสำเร็จด้วยดีในภายหลัง ต่อมามิตรภาพระหว่างสองชาติก็ดำเนินมาสู่ความตึงเครียดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2348 ก่อนนำไปสู่สงคราม พ.ศ. 2355 ในท้ายที่สุด เจฟเฟอร์สันปฏิเสธที่จะรื้อฟื้นสนธิสัญญาเจย์ในสนธิสัญญามอนโร-พิงค์นีย์ พ.ศ. 2349 ทั้งที่เจรจาและได้รับความเห็นสอบจากคณะทูตสหรัฐ ณ กรุงลอนดอน เจฟเฟอร์สันกลับเลือกที่จะไม่ส่งร่างสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาสูง (วุฒิสภาสหรัฐ)

การค้าทาสระหว่างประเทศถูกปราบปรามภายหลังที่ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ผ่านร่างพระราชบัญญัติเลิกการค้าทาสในปี พ.ศ. 2350 และสหรัฐก็ผ่านร่างพระราชบัญญัติลักษณะเดียวกันในปีเดียวกันนั้นเอง

สงครามปี พ.ศ. 2355

[แก้]
ภาพวาดในจินตภาพของศิลปินแสดงให้เห็นถึงการทิ้งระเบิด ณ สมรภูมิแห่งบัลติมอร์ ในปี พ.ศ 2355 อันเป็นแรงบันดาลใจให้ฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ ได้ประพันธ์เนื้อร้องของ เดอะสตาร์สแปงเกิลด์แบนเนอร์ อันเป็นเพลงชาติแห่งสหรัฐ

สหรัฐได้ทำการคว่ำบาตรทางการค้าตามพระราชบัญญัติการคว่ำบาตรทางการค้า พ.ศ. 2350 ซึ่งเป็นการตอบโต้สหราชอาณาจักรที่ปิดล้อมฝรั่งเศสทางทะเล อันเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหล่าพ่อค้าผู้เป็นกลาง และมีผลให้เกิดความชะงักงันในการค้าระหว่างสหรัฐและฝรั่งเศสตลอดช่วงของสงครามนโปเลียน ราชนาวีอังกฤษยังได้ทำการเขาตรวจจับเรือทุกลำของสหรัฐและยัดเยียดข้อหาให้แก่ลูกเรือว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในการหนีทหารของกองทัพแห่งสหราชอาณาจักร[15]

สงครามปี พ.ศ. 2355 ถูกริเริ่มโดยสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีเจมส์ แมดิสัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อปกป้องสิทธิทางการค้าของสหรัฐและเสรีภาพทางทะเลของประเทศที่วางตัวเป็นกลาง อีกกระแสสนับสนุนหนึ่งมาจากชาวอเมริกันผู้โกรธแค้นกองทัพแห่งสหราชอาณาจักรที่ให้การช่วยเหลือชนอเมริกันพื้นเมือง ต่อสู้ปกป้องที่ดินของตนจากนักบุกเบิกชาวอเมริกัน รวมไปถึงความกระตือรือร้นของสหรัฐในการขยายดินแดนทางทิศตะวันตกและทิศเหนือที่สะท้อนให้เห็นถึงคตินิยมความเชื่อในเทพลิขิต[16]

ภายใต้แผนการรุกรานอเมริกาเหนือของอังกฤษ สหรัฐได้ทำการทำลายเมืองยอร์ก เมืองหลวงของอาณานิคมและตามมาด้วยชัยชนะในเดือนเมษายน พ.ศ. 2356 ณ สมรภูมิยอร์ก ส่งผลให้ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2357 สหรัฐเผชิญการตอบโต้จากอังกฤษในเหตุการณ์เผาทำลายแห่งวอชิงตัน อาคารกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐถูกรื้อทำลาย ส่วนทำเนียบขาวก็ถูกเผาจนวอด ต่อมาฝ่ายอังกฤษก็ได้ตอกย้ำชัยชนะของตนในสมรภูมิบลาเดนส์เบิร์ก บางส่วนของการรุกคืบเข้าไปยังอเมริกาเหนือของอังกฤษโดยกองกำลังสหรัฐ เช่น สมรภูมิชาโต-กวัย ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2356 และในเดือนถัดมา ณ สมรถภูมิไครส์เลอร์ฟาร์ม ต่างถูกขับไล่และผลักดันออกจากดินแดนโดยกองกำลังอังกฤษ อย่างไรก็ตามกองกำลังของสหรัฐเองก็ได้รับชัยชนะในหลายๆ สมรภูมิ เช่นที่สมรภูมิเทมส์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ 2356 และในสมรภูมิลองวูดส์ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2357 ต่อมานาวิกโยธินสหรัฐฯ เข้ายึดครองบริเวณเกรตเลกส์ได้โดยสมบูรณ์ด้วยการเอาชนะราชนาวีอังกฤษ ณ สมรภูมิทะเลสาบอีรี เดือนกันยายน พ.ศ. 2356 และในสมรภูมิปลาตต์สบูร์ฟ ในเดือนเดียวกัน ฝ่ายอังกฤษจึงจำเป็นต้องถอยร่น ณ สมรภูมิบัลติมอร์ ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2356 และรวมถึงในอีกสามวันถัดมา

ต่อมาได้มีการเจรจาระหว่างกันจนนำไปสู่สนธิสัญญาเกนต์ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามด้วยการรื้อฟื้นสถานะ รัฐแห่งสภาวะก่อนสงคราม (ละติน: status quo ante bellum) ซึ่งทำให้อาณาเขตของทั้งสองฝ่ายไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด ผู้แทนเจรจาฝ่ายสหรัฐ อัลเบิร์ต แกลลาติน ได้แถลงยอมรับว่า

ภายใต้พฤติการณ์อันไร้ซึ่งความสิริโสภาแห่งสากลโลก อเมริกาในสภาวะสงครามมิสามารถบีบบังคับบริเตนใหญ่ให้จำนนด้วยยุทธ์นาวีใดๆ ระหว่างการพิพาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิสามารถบีบบังคับให้เกิดการตกลงข้อกำหนดใดก็ตามอันไร้ซึ่งความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย และวาระแห่งสันติภาพอันจะอำนวยประโยชน์ให้มากที่สุดเห็นจะหลีกไม่พ้น "รัฐแห่งสภาวะก่อนสงคราม"

ด้านสหราชอาณาจักรยังคงไว้ซึ่งสิทธิในการ อิมเพรสเมนต์ (Impressment: พระราชบัญญัติที่สามารถนำบุรุษคนใดก็ตามเข้าร่วมราชนาวีโดยการบีบบังคับและโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ถูกใช้โดยราชนาวีอังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19) ส่วนสหรัฐเองก็เลิกล้มข้อโต้แย้งดังกล่าวเพื่อรักษาสันติภาพ[17]

ในความเป็นจริงแล้ว ข้อถกเถียงในพระราชบัญญัติอิมเพรสเมนต์ดังกล่าวได้รับข้อยุติอย่างกว้างขวางไม่นานหลังจากมีการประกาศสงคราม เมื่อรัฐบาลสหรัฐโดยร่างพระราชบัญญัติอิมเพรสเมนต์ พ.ศ. 2355 บังคับให้พลเมืองอเมริกันต้องพำนักอยู่ภายในสหรัฐโดยต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี, ยับยั้งการให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีกองทัพและการวิจารณ์รัฐบาลโดยฝ่ายอังกฤษ ต่อมาปัญหานี้ได้รับข้อยุติเมื่อสงครามสิ้นสุดลงโดยการลงนามของประธานาธิบดีเจมส์ แมดิสัน[18][19][20]

สหราชอาณาจักรยินยอมที่จะปล่อยตัวเชลยและทาสที่สามารถจับกุมมาได้เนื่องจากเป็นหนึ่งในข้อตกลงสันติภาพ หากแต่สหรัฐต้องยอมจ่ายค่าเชลยทาสเหล่านี้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 350,000 ปอนด์สเตอร์ลิงในภายหลัง ในขณะที่แผนการจัดตั้งพื้นที่กันชนโดยใช้กลุ่มชนอเมริกันพื้นเมืองในเขตโอไฮโอและมิชิแกนล้มเหลวไม่เป็นท่าเนื่องจากเกิดความขัดแย้งในกลุ่มชนอเมริกันพื้นเมืองเอง ส่วนสหรัฐเพิกเฉยที่จะรับประกันมาตราที่สิบในบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติต่อชนอเมริกันพื้นเมือง [21]

ก่อนที่คำประกาศยุติสงครามจะถูกส่งไปถึงผู้บังคับบัญชาในสนามรบ กองกำลังสหรัฐภายใต้การนำของนายพลแอนดรูว์ แจ็กสัน ได้ทำการผลักดันกองกำลังอังกฤษ ณ สมรภูมินิวออร์ลีนส์ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2358 ไม่นานหลังจากนั้นกองกำลังสหรัฐก็พ่ายแพ้ ณ ป้อมโบว์เยอร์ โดยกองกำลังอังกฤษภายใต้การนำของจอห์น แลมพาร์ต แต่ในท้ายที่สุดแล้วสงครามแห่งปี พ.ศ. 2355 ก็ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งอันยาวนานระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยแห่งความสงบสุขระหว่างทั้งสองชาติ ผู้ซึ่งในอีกเกือบศตวรรษต่อมาได้กลายเป็นพันธมิตรสำคัญของกันและกัน

นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า "ต่างฝ่ายต่างโหยหาซึ่งสงครามแห่งปี พ.ศ. 2355, หากแต่ในระยะเวลาอันสั้นแล้วสงครามนั้นไร้ซึ่งความจำเป็นอย่างน่าอนาถใจ"[22]

ความขัดแย้งช่วง พ.ศ. 2358 - 2403

[แก้]
เคาน์ตีออริกอนและเขตโคลัมเบีย ทอดยาวจากเส้นรุ้งที่ 42 องศาเหนือ ถึงเส้นรุ้งที่ 54 องศา 40 ลิปดาเหนือ บริเวณที่ถูกเน้นสีคือบริเวณที่มีความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายมากที่สุด

ลัทธิมอนโรอันเป็นคำประกาศของประธานาธิบดีเจมส์ มอนโรแห่งสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2366 เพื่อตอบสนองต่อข้อแนะนำที่ให้สหรัฐแถลงการณ์ร่วมกับฝ่ายสหราชอาณาจักร ในการแสดงเจตจำนงของสหรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติยุโรปชาติใดก็ตามที่ลุกล้ำเข้ามายึดครองดินแดนในซีกโลกตะวันตก แต่กระนั้นสหรัฐเองก็ยังได้รับประโยชน์จากแนวโน้มที่พบบ่อยในนโยบายของสหราชอาณาจักรและการบังคับใช้นโยบายดังกล่าวของราชนาวีอังกฤษ

ภายหลังจากเหตุการณ์ความตื่นตระหนกแห่ง พ.ศ. 2380 หลายๆ รัฐในสหรัฐต่างพากันผิดนัดชำระพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถือครองโดยเหล่านักลงทุนชาวอังกฤษ บรรดานายธนาคารที่ลอนดอนจึงหลีกเลี่ยงการถือครองพันธบัตรรัฐบาลนับแต่นั้นเป็นต้นมา แต่เปลี่ยนไปลงทุนอย่างมากในพันธบัตรระบบขนส่งทางรางของสหรัฐแทน[23] หลายครั้งที่นายพลชาวอเมริกันนามว่า วินฟีลด์ สกอตต์ ได้แสดงให้เห็นถึงการทูตอันเฉียบแหลมด้วยการลดทอนการใช้อารมณ์ส่วนตัวและการประณีประนอม[24] สกอตต์เข้าแก้ปัญหากรณีแคโรไลน์ในปี พ.ศ. 2380 กลุ่มกบฏชาวบริติชนอร์ทอเมริกัน (British North American) หลบหนีมายังนิวยอร์ก และใช้เรืออเมริกันลำเล็กที่ชื่อว่า แคโรไลน์ เป็นพาหนะในการลักลอบส่งเสบียงให้กับกลุ่มกบฏที่เหลืออยู่ในอเมริกาเหนือของอังกฤษหลังจากล้มเหลวในการก่อจลาจล ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2380 ทางการอังกฤษจึงนำทหารบุกเข้าเผาทำลายเรือ ส่งผลให้เกิดการประท้วงทางการทูต ตามมาด้วย ความเกรงกลัวอังกฤษ หรือ แองโกลโฟเบีย (Anglophobia) และเหตุการณ์อื่นๆ ตามมา

ความตึงเครียดจากความคลุมเครือของเส้นเขตแดนระหว่างรัฐเมน-รัฐนิวบรันสวิกส่งผลให้เกิดสงครามอารูสโตก (Aroostook War) ระหว่างคนตัดไม้ในปี พ.ศ. 2382 ซึ่งสงครามดังกล่าวไม่ปรากฏมีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการใช้อาวุธปืนต่อสู้กัน เพียงแต่พยายามรักษาศักดิ์ศรีของประเทศชาติของตนและขยายอาณาบริเวณในการตัดไม้เพิ่มเติม ทั้งสองฝ่ายต่างถือครองแผนที่เก่าฉบับหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายมีอรรถคดีที่ดีกว่าฝ่ายตน ดังนั้นการเจรจาประณีประนอมจึงเกิดขึ้นโดยง่ายในสนธิสัญญาเวบสเตอร์-แอชเบอร์ตัน พ.ศ. 2385 (Webster-Ashburton Treaty) ที่ยุติข้อขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดนลง[25] ในปี พ.ศ. 2402 สงครามหมู (Pig War) อันปราศจากการนองเลือด ยุติข้อถกเถียงและคำถามถึงเส้นเขตแดนระหว่างอเมริกาเหนือของอังกฤษและสหรัฐบริเวณเกาะซานฮวนและเกาะกัลฟ์ แต่ภายหลังมีการลงนามสนธิสัญญาเคลย์ตัน-บุลเวอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็ได้รับการพัฒนาไปสู่ขั้นสำคัญอีกขั้นหนึ่ง

ระหว่างปี พ.ศ. 2387 - 2391 ทั้งสองชาติมีความขัดแย้งกันในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาบริเวณออริกอน โดยส่วนมากแล้วพื้นที่ดังกล่าวไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ทำให้วิกฤตความขัดแย้งรอบใหม่นี้จบลงอย่างง่ายดายด้วยการแบ่งอาณาบริเวณดังกล่าวให้แก่สองฝ่ายโดยเท่าเทียมกัน อังกฤษได้พื้นที่ที่เป็นรัฐบริติชโคลัมเบียในปัจจุบันไป ส่วนสหรัฐได้พื้นที่ที่เป็นรัฐวอชิงตัน, รัฐไอดาโฮ และรัฐออริกอนในปัจจุบันไป จากนั้นสหรัฐได้หันความสนใจไปยังเม็กซิโกที่ได้แสดงท่าทีข่มขู่จะก่อสงครามจากการที่สหรัฐเข้ายึดครองดินแดนเท็กซัส อังกฤษพยายามบรรเทาท่าทีที่เกรี้ยวกราดของชาวเม็กซิกันลงแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เมื่อสงครามได้ปะทุขึ้น อังกฤษได้วางท่าทีที่เป็นกลาง ผลของสงครามทำให้สหรัฐได้ดินแดนแคลิฟอร์เนียมา ที่ซึ่งอังกฤษแสดงท่าทีที่สนใจเพียงเล็กน้อย[26]

สงครามกลางเมืองอเมริกัน

[แก้]
ภาพวาดเรือ ซีเอสเอส อลาบามา ที่ฝ่ายสหพันธรัฐอเมริกาใช้โจมตีเรือสินค้า

ในสงครามกลางเมืองอเมริกัน เป้าหมายหลักของฝ่ายสหพันธรัฐอเมริกา (ฝ่ายใต้) ก็คือการยอมรับสถานภาพความเป็นรัฐจากสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ซึ่งคาดการณ์ว่าจะนำประเทศทั้งสองไปสู่สงครามกับสหรัฐและจะทำให้ฝ่ายสหพันธ์ฯ ได้รับเอกราช แต่ด้วยการทูตอัญชาญฉลาดของฝ่ายสหรัฐ (ฝ่ายเหนือ) ทำให้ไม่มีประเทศใดให้การยอมรับสถานภาพความเป็นรัฐดังกล่าว สงครามระหว่างสหรัฐกับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจึงได้รับการหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตาม มีความรู้สึกจากหลายฝ่ายภายในสหราชอาณาจักรว่าควรสนับสนุนฝ่ายใต้เพื่อทำให้สหรัฐอ่อนแอลง[27] ในช่วงต้นของสงครามสหราชอาณาจักรได้ออกถ้อยแถลงประกาศความเป็นกลาง (proclamation of neutrality) ในขณะที่สมาพันธรัฐอเมริกากลับถือเอาด้วยตัวเองว่าสหราชอาณาจักรจะต้องเข้าร่วมสงครามอย่างแน่นอน เพราะต้องปกป้องแหล่งเพาะปลูกฝ้ายอันเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร ด้วยแนวคิดนี้เองเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้ฝ่ายสมาพันธ์ฯ เกิดความมั่นใจมากเพียงพอที่จะเข้าสู้รบในสงครามกับฝ่ายสหรัฐ แต่ถึงกระนั้นฝ่ายใต้กลับไม่เคยปรึกษาหารือกับชาวยุโรปเลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายยังส่งนักการทูตไปยังยุโรปล่าช้ากว่าฝ่ายเหนืออีกด้วย และเมื่อก่อนสงครามจะเริ่มในเดือนเมษายน พ.ศ. 2404 พลเมืองฝ่ายใต้ (ซึ่งดำเนินการโดยปราศจากอำนาจรัฐ) ได้ทำการหยุดส่งวัตถุดิบฝ้ายไปยังยุโรป โดยหวังที่จะให้เกิด การต่อรองทางการทูตด้วยฝ้าย (cotton diplomacy) แต่แผนการดังกล่าวกลับประสบความล้มเหลวเนื่องจากสหราชอาณาจักรทำการกักตุนวัตถุดิบฝ้ายไว้ในคลังสินค้าจนเต็ม ทำให้ฝ้ายที่กักตุนไว้นั้นมีราคาถีบตัวสูงขึ้น จนกระทั่งเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบฝ้ายอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2405[28]

กรณีเทรนต์ (Trent Affair) ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2404 เกือบลุกลามกลายเป็นสงคราม เมื่อเรือรบของนาวิกโยธินสหรัฐหยุดเรือพลเรือนของสหราชอาณาจักร อาร์เอ็มเอส เทรนต์ และนำตัวนักการทูตฝ่ายสมาพันธ์ฯ สองคนนามว่า เจมส์ เมอร์เรย์ เมสัน และจอห์น สไลเดิลล์ ออกจากเรือลำดังกล่าว ด้านสหราชอาณาจักรเตรียมเข้าสู่สงครามและต้องการให้ปล่อยตัวนักการทูตดังกล่าวในทันที ประธานาธิบดีอับราฮัม ลองคอร์น จึงได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวตามคำเรียกร้อง เหตุการณ์ดังกล่าวจึงยุติลงอย่างเงียบๆ[29]

สหราชอาณาจักรตระหนักดีว่าการยอมรับเอกราชของสหพันธรัฐอเมริกา (ฝ่ายใต้) จะเป็นการจุดชนวนสงครามกับสหรัฐ (ฝ่ายเหนือ) ที่ซึ่งเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรพึ่งพาการค้ากับสหรัฐอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเข้าเมล็ดพันธ์พืชราคาถูก ถ้าหากสงครามปะทุขึ้น แน่นอนว่าฝ่ายสหรัฐจะหยุดการส่งออกเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ทันที อีกทั้งสหรัฐยังจะเปิดฉากสงครามเต็มรูปแบบกับเรือสินค้าของสหราชอาณาจักรอีกด้วย

ทั้งที่มีการแสดงท่าทีเกรี้ยวกราดและการประท้วงอย่างหนักหน่วงจากสหรัฐ ทางการกรุงลอนดอนอนุญาตให้เรือ ซีเอสเอส อลาบามา ที่สหราชอาณาจักรต่อขึ้น ออกจากท่าเรือไปโจมตีเรือสินค้าภายใต้ธงนาวีของสหพันธรัฐอเมริกา สงครามสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2408 ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดต่อกรณีดังกล่าวในปี พ.ศ. 2414 ด้วยการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นทองคำมูลค่า 15.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[30]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2406 ประธานาธิบดีลิงคอล์นได้ประกาศเลิกทาส ซึ่งได้รับเสียงสนุนอย่างมากจากฝ่ายเสรีนิยมในสหราชอาณาจักร โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรคาดการณ์ว่าการเลิกทาสดังกล่าวจะจุดชนวนสงครามระหว่างเชื้อชาติและทำให้ฝ่ายสมาพันธ์ฯ เสียเปรียบในสงคราม เช่น การสูญเสียการควบคุมท่าเรือและแม่น้ำสายหลักหลายสาย โอกาสที่ฝ่ายใต้จะชนะสงครามจึงน้อยลงทุกขณะ[31]

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19

[แก้]

ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1860 ในขณะที่ชาวอเมริกาไม่พอใจกับท่าที่ของสหราชอาณาจักรและแคนาดาระหว่างสงครามกลางเมืองอเมริกัน ภายหลังสงครามกลางเมือง ชาวไอริชกลุ่มเฟเนียนร่วมกันสมคบคิดแผนการและพยายามรุกรานแคนาดา แต่หน่วยงานรัฐของสหรัฐกลับไม่ให้ความสนใจ[32] ซึ่งแม้แผนการของกลุ่มเฟเนียนจะล้มเหลวไป แต่นักการเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชที่มีอิทธิพลภายในพรรคเดโมแครตมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกร้องเอกราชให้ไอร์แลนด์มากขึ้นและสร้างวาทกรรมต่อต้านสหราชอาณาจักรที่เรียกว่า ม้วนหางราชสีห์ (twisting the lion's tail) ซึ่งใช้เป็นนโยบายหาเสียงหลักในการชักจูงคะแนนเลือกตั้งจากชาวไอริช[33]

สหราชอาณาจักรยังคงยึดมั่นในหลักการค้าเสรีเช่นเดียวกับประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐและเยอรมนี ซึ่งทั้งสองประเทศ (เช่นเดียวกับแคนาดา) ต่างพากันขึ้นอัตราภาษีศุลกากร อุตสาหกรรมหนักของสหรัฐเติบโตเร็วกว่าสหราชอาณาจักร จนกระทั่งในคริสต์ทศวรรษที่ 1890 จึงสามารถเอาชนะอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของสหราชอาณาจักรและสินค้าชนิดอื่นๆ ที่ถูกส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลกได้[34] อย่างไรก็ตาม กรุงลอนดอนยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก แม้การลงทุนส่วนมากในลอนดอนจะมุ่งไปสู่การลงทุนในระบบรางรถไฟของสหรัฐ ส่วนกิจการเดินเรือสมุทรและการประกันภัยของสหรัฐยังคงล้าหลังสหราชอาณาจักรอยู่มาก[35]

"การรุกราน" ของสินค้าอเมริกันในตลาดสหราชอาณาจักรนี้ส่งผลให้เกิดการตอบโต้[36]ด้วยการขึ้นอัตราภาษีศุลกากร ที่ซึ่งแม้จะถูกขึ้นด้วยการพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่อัตราภาษีใหม่ก็ไม่ถูกบังคับใช้จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 1930 ดังนั้นนักธุรกิจสหราชอาณาจักรจึงจำใจที่จะต้องสูญเสียตลาดไป ไม่เช่นนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนและปรับปรุงกอจการของตนให้ทันสมัยขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมรองเท้าได้รับผลกระทับจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากสหรัฐ สหรัฐยังได้ยึดตลาดรองเท้าสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องจักรในอังกฤษอีกด้วย ด้วยเหตุนี้บริษัทสัญชาติสหราชอาณาจักรจึงตระหนักได้ว่าพวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันนี้ได้ พวกเขาจะต้องปรับเปลี่ยนหลักการทำงาน การใช้แรงงาน และความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรม นอกจากนี้พวกเขายังต้องปรับวิธีคิดในการทำให้ตลาดรองเท้ามีอุปสงค์ด้านการแต่งกายเพื่อความสวยงาม (แฟชั่น) มากกว่าอุปสงค์ด้านการใช้งาน[37]

ข้อพิพาทเส้นเขตแดนเวเนซุเอลาและอะแลสกา

[แก้]

วิกฤตการณ์เวเนซุเอลา พ.ศ. 2438 ปะทุขึ้นเมื่อสหราชอาณาจักรและเวเนซุเอลามีข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างประเทศเวเนซุเอลาและบริติชกายอานา ซึ่งเป็นอาณานิคมใต้อาณัติของจักรวรรดิอังกฤษ โดยประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์และเลขาธิการแห่งรัฐ (รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ) ริชาร์ด โอลนีย์ เรียกร้องให้มีอนุญาโตตุลาการระหว่างกัน[38] ต่อมาในปี พ.ศ. 2442 จึงได้มีคำชี้ขาดยกดินแดนผืนใหญ่ให้แก่บริติชกายอานา[39] ผลของคำชี้ขาดดังกล่าวทำให้สหรัฐใช้โอกาสนี้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติในแถบละตินอเมริกา พร้อมกับยืนหยัดเคียงข้างชาติละตินอเมริกาต่อต้านการรุกล้ำของจักรวรรดิอังกฤษ แต้ในขณะเดียวกันก็ยังใช้ท่าทีที่จริงใจและเป็นมิตรในการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหราชอาณาจักร[40][41]

นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการระงับข้อพิพาทด้วยสนธิสัญญาโอลนีย์-เปาน์เซโฟต พ.ศ. 2440 (The Olney-Pauncefote Treaty of 1897) ซึ่งถูกร่างขึ้นเพื่อให้มีผลบังคับใช้ระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2440 โดยกำหนดให้มีการอนุญาโตตุลาการสำหรับเหตุพิพาทครั้งใหญ่ๆ และแม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชนและชนชั้นนำ ร่างสนธิสัญญานี้กลับถูกตีตกไปโดยวุฒิสภาสหรัฐที่รู้สึกอิจฉาบุริมสิทธิ์ของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว ทำให้ร่างสนธิสัญญาไม่เคยถูกบังคับใช้จริง[42]

ภาพเขียนการกระชับมิตรครั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2441 แสดงให้เห็นการจับมือกันระหว่างลุงแซมและจอห์น บูล ในขณะที่โคลัมเบียและบริเทนเนียนั่งจับมือคู่กันอยู่ทางด้านหลัง

แม้กระนั้นเองก็ยังมีการใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทอื่นๆ เช่น ข้อพิพาทเส้นเขตแดนระหว่างอะแลสกาและแคนาดา ซึ่งผลของการอนุญาโตตุลาการทำให้ฝ่ายแคนาดารู้สึกถูกทรยศ เดิมทีเมื่อสหรัฐซื้ออะแลสกามากจากรัสเซียในปี พ.ศ. 2410 มีการลากเส้นเขตแดนระหว่างอะแลสกาและแคนาดาอย่างคร่าวๆ ทำให้เส้นเขตแดนค่อนข้างที่จะคลุมเครือ ข้อพิพาทปะทุขึ้นในปี พ.ศ. 2438 เมื่อมีกระแสการตื่นทองในยูคอน ทำให้บรรดานักขุดทองจำเป็นต้องผ่านอะแลสกาก่อนจึงจะเข้าสู่ยูคอนได้ โดยทางแคนาดาเองก็ต้องการให้มีการลากเส้นเขตแดนใหม่เพื่อจะได้มีทางออกสู่ทะเลและท่าเรือเป็นของตัวเอง แม้สะหรัฐอเมริกาจะยื่นข้อเสนอให้แคนาดาเช่าท่าเรือของตนในระยะยาวแล้วก็ตาม แต่แคนาดาก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวไป ข้อพิพาทนี้จึงดำเนินเข้าสู้ขั้นตอนการอนุญาโตตุลาการและได้รับการคลี่คลายในปี พ.ศ. 2446 ผลของอนุญาโตตุลาการยกประโยชน์ให้ฝ่ายสหรัฐ เนื่องด้วยผู้พิพากษาจากสหราชอาณาจักรพร้อมด้วยผู้พิพากษาจากสหรัฐ 3 คน มีคำชี้ขาดแย้งกับผู้พิพากษาจากแคนาดา 2 คน ในคณะอนุญาโตตุลาการ ก่อให้เกิดทัศนิคติที่ขมขื่นจากสาธารณชนแคนาดา ที่รู้สึกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติถูกสังเวยให้กับสุนทรียภาพระหว่างสหราชอาณาจักร-สหรัฐด้วยน้ำมือของลอนดอน[43]

การกระชับมิตรครั้งใหญ่

[แก้]

การกระชับมิตรครั้งใหญ่คือวาทกรรมจำเพาะที่ใช้อธิบายการโน้มเข้ามาบรรจบกันระหว่างเป้าประสงค์ทางการเมืองและสังคมของสหรัฐและสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ พ.ศ. 2438 จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้นในปี พ.ศ. 2457 แม้ว่าประชากรไอริชที่เป็นคาทอลิกในสหรัฐจะมีส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราชของไอร์แลนด์ และบางครั้งก่อให้เกิดวาทศาสตร์ต่อต้านสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งก็ตาม[44]

สัญญาณที่เด่นชัดที่สุดของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสองชาติในช่วงของการกระชับมิตรครั้งใหญ่คือท่าทีของสหราชอาณาจักรระหว่างสงครามสเปน-อเมริกัน เมื่อการโจมตีจากสงครามเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2442 ในช่วงแรกสหราชอาณาจักรมีนโยบายสนับสนุนจักรวรรดิสเปนและการปกครองของสเปนเหนือคิวบา เนื่องจากตระหนักได้ว่าหากสหรัฐสามารถยึดครองและผนวกคิวบาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนได้สำเร็จ อาจเป็นภัยคุกคามและอันตรายต่อผลประโยชน์ทางการค้าและการพาณิชย์ของอังกฤษ รวมถึงการปกครองของตนเหนือหมู่เกาะอินเดียตะวันตก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สหรัฐให้หลักประกันอย่างแท้จริงว่าจะมอบเอกราชแก่คิวบา ซึ่งต่อมาเกิดขึ้นจริงในปี พ.ศ. 2445 ภายใต้ข้อกำหนดที่ถูกบัญญัติไว้ในคำแปรญัตติเพลตต์ (Platt Amendment) ฝ่ายอังกฤษจึงล้มเลิกนโยบายดังกล่าวและแปรพักตร์ไปเข้ากับฝ่ายสหรัฐในที่สุด ต่างจากมหาอำนาจในยุโรปส่วนมากที่เข้ากับฝ่ายสเปน สหรัฐจึงสนับสนุนสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามบัวร์เป็นการตอบแทน แม้ว่ามีชาวอเมริกันจำนวนมากเข้าข้างฝ่ายบัวร์ซึ่งเป็นฝ่ายศัตรูก็ตาม[45]

ชัยชนะในสงครามสเปน-อเมริกันนับเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดินิยมอเมริกัน (American imperialism) ทั้งนี้ประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ยังได้สร้างกองเรือ เกรทไวต์ฟลีท (Great White Fleet) เพื่อแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพทางทะเลของสหรัฐ โดยเป็นกองเรือน่านน้ำทะเลลึก (blue-water navy) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองรองจากราชนาวีอังกฤษในด้านขนาดของกองเรือและแสนยานุภาพ[46][47]

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

[แก้]
พลทหารชาวอเมริกันขณะรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5

ช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สหรัฐมีนโยบายอย่างเคร่งครัดที่จะวางตัวเป็นกลาง และมีความเต็มใจที่จะส่งออกสินค้าทุกชนิดไปยังประเทศได้ก็ตามที่สนใจจะสั่งซื้อ ในขณะที่ฝ่ายเยอรมนีไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้ทุกชนิดจากการสกัดกั้นของสหราชอาณาจักร จึงทำให้การค้าของสหรัฐอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งก่อนหน้าสงคราม การค้าในตลาดพันธบัตรและตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐมีสหราชอาณาจกัรเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ แต่เมื่อสงครามปะทุขึ้น สหราชอาณาจักรกู้สินเชื่อจำนวนมากจากธนาคารในนิวยอร์ก และเมื่อสภาพคล่องเกิดการฝืดเคืองในช่วงปลายปี พ.ศ. 2459 ส่งผลให้สหราชอาณาจักรประสบกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน[48]

ในขณะที่สงครามดำเนินไป ก็ค่อยๆ เกิดทัศนคติที่ต่อต้านเยอรมนีขึ้นอย่างช้าๆ ในหมู่สาธารณชนชาวอเมริกัน โดยเฉพาะเมื่อเกิดระลอกของเหตุการณ์ความโหดเหี้ยมในเบลเยียม พ.ศ. 2457 และเหตุการณ์จมเรืออาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย ในปี พ.ศ. 2458 ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันและชาวไอริชผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกเรียกร้องให้สหรัฐไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงคราม แต่ยิ่งสงครามดำเนินไป กลุ่มสนับสนุนสงครามกลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 เยอรมนีทบทวนยุทธศาสตร์การทำสงครามเรือดำน้ำเป็นแบบไม่จำกัดขอบเขต และตระหนักดีว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะนำไปสู่การทำสงครามกับสหรัฐ เยอรมนีจึงแก้เงื่อนไขดังกล่าวด้วยการเชื้อเชิญเม็กซิโกให้เข้าร่วมสงครามกับเยอรมนีในการต่อสู้กับสหรัฐผ่านโทรเลขซิมแมร์มันน์ และโทรเลขฉบับดังกล่าวนับเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สหรัฐประกาศสงครามต่อเยอรมนีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2460 เดิมทีชาวอเมริกันวางแผนที่จะจัดส่งเงิน อาหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ไปสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป แต่ไม่นานนักก็เป็นที่ประจักษ์ว่าสหรัฐจำเป็นจะต้องส่งพลทหารนับล้านนายไปสู้รบในแนวรบด้านตะวันตก[49]

สหรัฐส่งทหารไปยังยุโรปจำนวนสองล้านนาย ภายใต้การบัญชาการของนายพลจอห์น เจ. เพิร์ชชิง และเพิ่มจำนวนขึ้นเมื่อสงครามใกล้สิ้นสุดลง[50] ทั้งนี้เกิดความคลางแคลงใจถึงความสามารถของกองทหารเดินเท้าจากสหรัฐในหมู่กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ซึ่งในปี พ.ศ. 2460 ขาดการฝึกฝนและประสบการณ์อย่างหนัก เมื่อสงครามย่างเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 2461 พลหารอเมริกันก็ถูกส่งมายังยุโรปในอัตรา 10,000 คนต่อวัน ส่วนเยอรมันกลับมีจำนวนทหารลดลงเนื่องจากขาดแคลนกำลังพลทดแทน

แม้ว่าประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ต้องการจะใช้สงครามครั้งนี้เป็นบทเรียนเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ แต่การเจรจาตกลงหลักการสิบสี่ข้อซึ่งอยู่ในสนธิสัญญาแวร์ซาย แสดงให้เห็นถึงสถานะทางการทูตของเขาที่ถูกลดความสำคัญลงจากชัยชนะในสงคราม เส้นเขตแดนของชาติในยุโรปถูกลากขึ้นใหม่บนพื้นฐานของการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง ยกเว้นเยอรมนีภายใต้สาธารณรัฐไวมาร์ที่เพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นใหม่ นอกจากนี้ การชดเชยทางการเงินยังตกเป็นภาระของชาวเยอรมัน อันเป็นผลจากการที่ฝรั่งเศสต้องการมอบสันติภาพซึ่งแฝงไปด้วยบทลงโทษให้แก่เยอรมนี แม้จะมีเสียงประท้วงมาจากอังกฤษและสหรัฐก็ตาม[51] ทั้งยังถือเป็นการแก้แค้นสำหรับความขัดแย้งกับเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อีกด้วย

ช่วงระหว่างสงครามโลก

[แก้]

นโยายการต่างประเทศที่สำคัญของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2464 คือ "การบ่มเพาะความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสหรัฐ" ส่งผลให้สหราชอาณาจักรตัดสินใจไม่ทบทวนความร่วมมือทางการทหารกับญี่ปุ่นขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากในขณะนั้นญี่ปุ่นพัฒนาประเทศจนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิก[52]

สหรัฐให้การสนับสนุนการประชุมนาวิกวอชิงตัน (Washington Naval Conference) ในปี พ.ศ. 2465 จนบรรลุผลสำเร็จ ช่วยให้การแข่งขันด้านแสนยานุภาพทางนาวิกโยธินระหว่างประเทศยุติลงไปนับทศวรรษ โดยช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของความเป็นผู้นำโลกด้านนาวิกโยธินของราชนาวีอังกฤษ และปรากฏเป็นรอยด่างพล้อยในสนธิสัญญานาวิกวอชิงตัน พ.ศ. 2465 ที่ซึ่งสหรัฐและสหราชอาณาจักรตกลงร่วมกันที่จะจำกัดจำนวนเรือรบตามสัดส่วนระวางน้ำหนักเป็นตัน อย่างไรก็ดีเมื่อถึง พ.ศ. 2475 สนธิสัญญาแห่งปี พ.ศ. 2465 ก็ไม่ได้รับการทบทวนใหม่ นำไปสู่การแข่งขันด้านแสนยานุภาพทางนาวิกโยธินระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอีกครั้ง[53]

ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1920 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสองฝ่ายดำเนินไปอย่างปกติฉันท์มิตร ในปี พ.ศ. 2466 ลอนดอนเจรจากับกระทรวงการคลังสหรัฐเรื่องภาระหนี้สินจากสงครามจำนวน 978 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงที่ติดค้างตนอยู่ โดยสัญญาว่าจะทำการชำระอย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนเงิน 34 ล้านปอนด์ฯ ในระยะเวลา 10 ปี จากนั้นจะชำระเป็นจำนวนเงิน 40 ล้านปอนด์ฯ ในระยะเวลา 52 ปี ซึ่งแนวคิดนี้มีจุดประสงค์ให้สหรัฐปล่อยสินเชื่อแก่เยอรมนี เพื่อให้เยอรมนีนำเงินจำนวนดังกล่าวมาจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่สหราชอาณาจักร จากนั้นสหราชอาณาจักรจึงจะนำเงินก่อนนี้มาชำระหนี้สินที่ติดค้างกับสหรัฐ ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 การชำระหนี้สินจากเยอรมนีทั้งหมดยุติลง และในปี พ.ศ. 2475 สหราชอาณาจักรจึงระงับการชำระหนี้สินให้แก่สหรัฐ จนกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2488 หนี้สินก้อนดังกล่าวจึงได้รับการชระคืนจนหมดสิ้น[54]

บน: กลุ่มผู้ว่างงานรวมตัวกันอยู่ด้านหน้าสำนักจัดหางานในกรุงลอนดอน พ.ศ. 2473
ล่าง: ฝูงชนรวมตัวกันนอกธนาคารแห่งสหรัฐ (Bank of United States) ในนครนิวยอร์กหลังทราบข่าวการล้มละลายในปี พ.ศ. 2474

สหรัฐปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ แม้กระนั้นเองการไม่เข้าร่วมนี้ส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อนโยบายทางการทูตของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตามสหรัฐเลือกที่จะเข้าร่วมในส่วนภาระหน้าที่ภาคปฏิบัติของสันนิบาตชาติ อันนำความพึงพอใจมาให้แก่สหราชอาณาจักร แต่ก็นำมาซึ่งประเด็นถกเถียงอันละเอียดอ่อนในหมู่สาธารณชนเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐต่อสันนิบาตชาติ เช่น การประชุมนานาชาติครั้งสำคัญอย่างการประชุมนาวิกวอชิงตัน พ.ศ. 2465 ที่อยู่นอกเหนือการดูแลของสันนิบาตชาติ ทั้งนี้สหรัฐเลือกที่จะไม่ส่งผู้แทนอย่างเป็นทางการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการในสันนิบาตชาติ แต่กลับส่ง "ผู้สังเกตการณ์" อย่างไม่เป็นทางการเข้าร่วมในที่ประชุมแทน

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สหรัฐให้ความสนใจเพียงแต่ปัญหาภายในและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จนนำไปสู่นโยบายการโดดเดี่ยวตนเอง ต่อมาเมื่อสภาคองเกรสผ่านร่างพระราชบัญญัติเพิ่มอัตราพิกัดศุลกากรในปี พ.ศ. 2473 สหราชอาณาจักรจึงตอบโต้ด้วยการเพิ่มอัตราพิกัดศุลกากรของตนกับชาติคู่ค้า เช่น สหรัฐ แต่ให้สิทธิประโยชน์พิเศษด้านศุลกากรกับประเทศภายในเครือจักรภพอังกฤษ สหรัฐแสดงความไม่พอใจด้วยการเรีกยร้องให้สหราชอาณาจักรยกเลิกสิทธิประโยชน์เหล่านี้ในปี พ.ศ. 2489 แลกกับหนี้สินก้อนโต[55]

มูลค่าการค้าขายทั่วโลกดิ่งลงถึงสองในสาม ในขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐหดตัวจาก 848 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2472 เป็น 288 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2475 หดตัวลงเกือบสองในสามหรือร้อยละ 66[56]

เมื่อสหราชอาณาจักรจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยเศรษฐกิจ ณ กรุงลอนดอน พ.ศ. 2476 (London Economic Conference) เพื่อช่วยแก้สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์กลับทำให้การประชุมต้องสะดุดลงด้วยการปฏิเสธที่จะเข้าร่วม[57]

ความตึงเครียดในประเด็น ปัญหาไอริช (Irish question) ผ่อนคลายลงด้วยเอกราชของไอร์แลนด์ในการสถาปนาเสรีรัฐไอร์แลนด์ พ.ศ. 2465 ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชได้บรรลุเป้าประสงค์ของตน ผู้นำของชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชกลุ่มดังกล่าว โจเซฟ พี. เคนเนดี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำสหราชอาณาจักร (ณ ราชสำนักเซนต์เจมส์) และได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสังคมชั้นสูงของลอนดอน เคนเนดีสนับสนุนนโยบายที่โอนอ่อนต่อเยอรมนีของนายกรัฐมนตรีเนวิลล์ เชมเบอร์เลน และเมื่อสงครามปะทุขึ้นอีกครั้ง เขาได้ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่าโอกาสการอยู่รอดของสหราชอาณาจักรนั้นช่างมัวหม่น ต่อมาเมื่อวินสตัน เชอร์ชิล ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี พ.ศ. 2483 เคนเนดีก็สูญเสียอิทธิพลของตนทั้งในลอนดอนและวอชิงตัน ดี.ซี.[58][59]

สงครามโลกครั้งที่สอง

[แก้]

สงครามเย็น

[แก้]

ช่วงหลังสงครามเย็น

[แก้]
การเผาทำลายบ่อน้ำมันในคูเวตในช่วงของสงครามอ่าวเปอร์เซีย

ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เมื่อสหรัฐได้กลายมาเป็นชาติอภิมหาอำนาจเพียงชาติเดียวในโลก ภัยคุกคามใหม่ก็ได้ปะทุขึ้นและเผชิญหน้ากับสหรัฐรวมไปถึงชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในนาโต โดยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2533 สหรัฐเริ่มเตรียมพร้อมกองกำลังของตน จนต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 สหรัฐจึงเปิดฉากใช้กำลังทางทหารร่วมกับกองทัพอังกฤษในการเข้าปลดปล่อยคูเวตจากการยึดครองของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งเป็นการทำสงครามร่วมกันของสองกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลกในสงครามอ่าวเปอร์เซีย

ในปี พ.ศ. 2540 พรรคแรงงานแห่งอังกฤษได้รับเสียงข้างมากในสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ร่วมกับประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ร่วมกันแสดงถึง แนวทางที่สาม ในการอธิบายถึงลัทธิอุดมการณ์กลาง-ซ้ายของพวกเขา ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษได้แสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยการแสดงออกถึงความเศร้าโศกและความตกตะลึงต่อการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งฮิลลารี คลินตัน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐในขณะนั้นก็ได้เดินทางไปร่วมพิธีศพของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในวันที่ 6 กันยายนด้วย นอกจากนี้ตลอดช่วง พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2542 ทั้งสหรัฐและสหราชอาณาจักรยังได้ส่งกองทัพของตนร่วมในการรักษาสันติภาพระหว่างสงครามคอซอวอ

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายและสงครามอิรัก

[แก้]

การปล่อยตัวอับเดลบาเซต อัล-เมกราฮี

[แก้]

ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552 รัฐบาลสกอตแลนด์ภายใต้การนำของอเล็กซ์ ซัลมอนด์ ประกาศว่าจะปล่อยตัวอับเดลบาเซต อัล-เมกราฮี ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ซึ่งอัล-เมกราฮีเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุก่อการร้ายที่คร่าชีวิตชาวอเมริกัน 169 คน และชาวสหราชอาณาจักร 40 คน ในเหตุการณ์ระเบิดสายการบินแพนแอม เที่ยวบินที่ 103 เหนือเมืองล็อกเกอร์บี สกอตแลนด์ ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2531 โดยอัล-เมกราฮีถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี พ.ศ. 2544 แต่ถูกปล่อยตัวหลังได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายและคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน ฝ่ายสหรัฐกล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่มีความปราณีต่อญาติผู้เสียชีวิตและไม่เห็นแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุระเบิดดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าว "ไม่เหมาะสมอย่างมาก"[60] อย่างไรก็ตาม หลุยส์ ซัสแมน เอกอัครราชทูตสหรัฐกล่าวว่าแม้การที่สกอตแลนด์ตัดสินใจปล่อยตัวอับเดลบาเซต อัล-เมกราฮีจะทำให้สหรัฐรู้สึกเสียใจอย่างมาก แต่ความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักรจะยังคงดำเนินไปอย่างเต็มที่และเข้มแข็งเช่นเดิม[61] ส่วนรัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของกอร์ดอน บราวน์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจดังกล่าว กอร์ดอน บราวน์กล่าวในการแถลงข่าวว่าไม่มี 'บทบาท' ใดๆ ในการตัดสินใจครั้งนี้[62] ต่อมาอับเดลบาเซต อัล-เมกราฮี เสียชีวิตในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ด้วยวัย 60 ปี

การรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก

[แก้]

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 เกิดการระเบิดและจมลงของแท่นขุดเจาะน้ำมัน ดีพวอเทอร์ฮอไรซัน ในอ่าวเม็กซิโก ส่งผลให้เกิดแรงเสียดทานในความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐ และยังก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านสหราอาณาจักรขึ้นในหมู่ประชาชนบางส่วน แม้ว่าแท่นขุดเจาะดำเนินการทั้งหมดและมีเจ้าของเป็นบริษัทอเมริกันที่ชื่อ ทรานส์โอเชียน แต่นักวิจารณ์ก็มักจะอ้างถึง บริติชปิโตรเลียม หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า บีพี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2541[63][64] ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของสหราชอาณาจักร นอกจากนี้นักการเมืองในสหราชอาณาจักรยังได้แสดงความวิตกกังวลถึงความรู้สึกต่อต้านสหราชอาณาจักรในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันอีกด้วย[65][66] โทนี่ เฮย์เวิร์ด ซีอีโอของบริษัทบริติชปิโปรเลียมจึงกลายเป็นบุคคลที่ถูกชาวอเมริกันเกลียดชังมากที่สุด[67] ในทางกลับกัน การตราหน้าบีพีว่าเป็นปีศาจในทางสาธารณะ, การทำให้ภาพพจน์ของบริษัทย่ำแย่ บวกกันกับคำแถลงการณ์ของประธานาธิบดีโอบามาเกี่ยวกับบริษัท ได้ก่อให้ความรู้สึกต่อต้านสหรัฐในอังกฤษเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะคำกล่าวของวินซ์ เคเบิล, เลขาธิการด้านธุรกิจแห่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ว่า "มันชัดเจนแล้วว่าบางวาทกรรมในสหรัฐนั้นมันสุดโต่งและไร้ประโยชน์"[68] เหตุผลทางด้านกองทุนเงินบำนาญ, การสูญเสียรายได้เข้าคลัง และผลกระทบอื่นๆ ได้ทำให้เกิดปัญหาทางการเงินในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหราชอาณาจักร การพบปะกันของประธานาธิบดีบารัก โอบามาและนายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันช่วยบรรเทาความตึงเครียดทางการทูตนี้ลง ประธานาธิบดีโอบามากล่าวไว้ว่า สายสัมพันธ์พิเศษ ยังคงพาดโยงสหราชอาณาจักรและสหรัฐเข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ดีความรู้สึกต่อต้านสหรัฐและความรู้สึกต่อต้านสหราชอาณาจักรในหมู่ประชาชนของทั้งสองประเทศยังคงปรากฏให้เห็นและดำเนินต่อไป

สถานะปัจจุบัน

[แก้]
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 ทรงต้อนรับประธานาธิบดี, บารัก โอบามา และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง, มิเชลล์ โอบามา ณ พระราชวังบัคคิงแฮม ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552
ประธานาธิบดีบารัก โอบามา และนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน สนทนากันบริเวณสนามหญ้าทางทิศใต้ของทำเนียบขาว วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นโยบายฉบับปัจจุบันของทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรกล่างถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐไว้ว่าเป็น "หุ้นส่วนความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่สำคัญที่สุด"[3] ในโลก ขณะเดียวกันกับที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ, ฮิลลารี คลินตัน ก็ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์นี้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 เช่นกันว่ายังคง "ยืนหยัดท้าทายต่อกาลเวลา"[69]

วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2552, กอร์ดอน บราวน์ เยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ ระหว่างการเยือนนั้น นายกอร์ดอนบราวน์ได้มอบด้ามเสียบปากกาแกะสลักจาก เรือเอชเอ็มเอส แกนเน็ต ซึ่งเป็นเรือที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้าทาสนอกชายฝั่งทวีปอเมริกา ทางด้านประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็ได้มอบกล่องของขวัญที่ภายในบรรจุดีวีดีจำนวน 25 แผ่น ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ประกอบด้วย สตาร์ วอร์ส และ อี.ที. เพื่อนรัก ซึ่งแผ่นภาพยนตร์เหล่านี้จะไม่สามารถเล่นกับเครื่องเล่นดีวีดีส่วนใหญ่ที่จำหน่ายนอกสหรัฐได้[70] ส่วนภรรยานายกอร์ดอน, นางซาราห์ บราวน์ ก็ได้มอบของขวัญแก่บุตรสาวทั้งสองของประธานาธิบดีนั้นก็คือ ซาชาและมาเลีย เป็นเสื้อผ้าจากร้านขายเครื่องนุ่งห่ม ท็อปช็อป ของอังกฤษ พร้อมกับหนังสือที่ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ในสหรัฐฯ ทางด้านนางมิเชลล์ โฮบามา ก็ได้มอบเฮลิคอปเตอร์ของเล่น มารีนวัน จำนวน 2 ลำแก่บุตรชายของนายกอร์ดอน บราวน์[71] และในการเยือนครั้งนี้นายกอร์ดอน บราวน์ ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐ ซึ่งน้อยครั้งนักที่ผู้นำรัฐบาลจากต่างชาติจะมีโอกาสพิเศษเช่นนี้

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552 นางมิเชลล์ โอบามาและบุตรสาวทั้งสองคนคือ ซาชา โอบามา และมาเลีย โอบามา ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 เป็นการส่วนตัว ในการเยือนครั้งนี้ บุตรสาวทั้งสองได้มีโอกาสเยี่ยมชมห้อง สเตทรูม ภายในพระราชวังบัคคิงแฮมถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสนทนากันเกี่ยวกับการทำสวน ชนบท และแฟชั่น ที่ต่างก็ชื่นชอบเช่นเดียวกัน[72] การเยือนในครั้งนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นเนื่องจากนางมิเชลล์สัมผัสพระหัตถ์และพระปฤษฏางค์ (หลัง) ของสมเด็จพระราชินีนาถอย่างเปิดเผย ทำให้มีคนออกมาวิจารณ์ว่าเป็นการมิบังควร ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทมิได้ทรงสนพระทัยในเรื่องดังกล่าว[73]

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ผลสำรวจของมูลนิธิแกลอัพ ซึ่งสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 1,023 คนทางโทรศัพท์ พบว่า 36 เปอร์เซ็นต์มองสหราชอาณาจักรเป็น "มิตรสหายอันล้ำค่าที่สุดของประเทศ" ตามมาด้วยแคนาดา ญี่ปุ่น อิสราเอล และเยอรมนี[74] นอกจากนี้ผลสำรวจยังบอกอีกด้วยว่ากว่า 89 เปอร์เซ็นต์ มองสหราชอาณาจักรว่าเป็นประเทศที่ชื่นชอบของชาวอเมริกัน รองจากแคนาดาที่มีคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับผลสำรวจของสถาบันวิจัยพิว ในปี พ.ศ. 2552 พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของชาวอังกฤษนิยมชมชอบสหรัฐ[75]

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หนังสือพิมพ์กรอบเช้ารายวันของอังกฤษ เดอะเดลี่เทเลกราฟ ซึ่งอ้างอิงหลักฐานจากวิกิลีกส์ ได้รายงานว่าทางการสหรัฐได้รับข้อมูลที่มีความอ่อนไหวง่ายเกี่ยวกับคลังสรรพาวุธนิวเคลียร์ของอังกฤษ (ซึ่งระบบขีปนาวุธนำวิธีทั้งหมดถูกผลิตและกักเก็บไว้ในสหรัฐ) ว่าอังกฤษได้ทำการจัดส่งอาวุธดังกล่าวให้แก่รัสเซียในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อกระตุ้นให้รัสเซียลงนามในสนธิสัญญานิวสตาร์ท โดยศาสตราจารย์มัลคอล์ม ชาลเมอร์สแห่งสำนักงานสถาบันเพื่อการกลาโหมและความมั่นคงศึกษาแห่งกองทัพสหราชอาณาจักร (Royal United Services Institute for Defence and Security Studies) พิจาณาว่ากรณีดังกล่าวอาจสร้างความสั่นคลอนราชการลับของสหราชอาณาจักรได้ โดยการที่รัสเซียอาจจะสามารถล่วงรู้มาตรวัดและขนาดของยุทโธปกรณ์อังกฤษ[76]

25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี บารัก โอบามา เขาได้กล่าวสุทรพจน์ในหลากหลายประเด็น ณ รัฐสภาอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐ[77]

ข้าพเจ้ามาในวันนี้เพื่อที่จะมาเน้นย้ำถึงหนึ่งในพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุด และแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยรู้จัก มันถูกกล่าวขานกันมานานแล้วว่าสหราชอาณาจักรและสหรัฐได้แบ่งปันสายสัมพันธ์พิเศษนี้ร่วมกัน

— บารัก โอบามา

ไม่กี่วันก่อนการลงประชามติเอกราชสกอตแลนด์ พ.ศ. 2557 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวต่อสาธารณชนเน้นย้ำส่วนได้เสียของสหรัฐในการเป็นหุ้นส่วนกับสหราชอาณาจักรที่ "เข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียว" ที่ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็น "หนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่เราจะมี"[78]

ประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ และนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ยังคงดำเนินสายสัมพันธ์พิเศษของทั้งสองประเทศไปตามปกติ ทางสหรัฐได้นำรูปสลักครึ่งตัวของวินสตัน เชอร์ชิล กลับไปประดับไว้ในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวตามเดิม นอกจากนี้ในช่วงที่เทเรซา เมย์ เยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ ยังได้เน้นย้ำถึงรกรากของครอบครัวทางฝ่ายแม่ที่มาจากสกอตแลนด์อีกด้วย[79][80]

การค้าและการลงทุน

[แก้]

สหรัฐถือว่าเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร การจับจ่ายใช้สอยของชาวอเมริกันในผลิตภัณฑ์ของสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 มีมูลค่ารวมกว่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ[81] ส่วนมูลค่าโดยรวมของการส่งออกและนำเข้าระหว่างสองรัฐมีมูลค่า 107.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีเดียวกัน[82] ทั้งสหรัฐและสหราชอาณาจักรต่างก็เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในโลกร่วมกัน ในปี พ.ศ. 2548 การลงทุนโดยตรงของสหรัฐในสหราชอาณาจักรมีมูลค่ารวม 324 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การลงทุนโดยตรงของสหราชอาณาจักรในสหรัฐมีมูลค่ารวม 282 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[83]

ในการแถลงข่าวที่อ้างอิงถึงสายสัมพันธ์พิเศษหลายครั้งในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556 ณ กรุงลอนดอน รัฐมนตรีการต่างประเทศของสหรัฐ จอห์น เคอร์รี กล่าวต่อรัฐมนตรีการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร วิลเลียม เฮก ว่า

เราไม่เพียงแต่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของกันและกัน แต่ข้อเท็จจริงคือว่าในทุกๆ วัน ผู้คนเกือบหนึ่งล้านคนเดินทางไปสหรัฐเพื่อทำงานกับบริษัทของสหราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่ในสหรัฐ เช่นเดียวกับที่คนอีกเกือบหนึ่งล้านคนเดินทางมาสหราชอาณาจักรเพื่อทำงานกับบริษัทของสหรัฐที่ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ดังนั้นเราทั้งสองจึงมีสายสัมพันธ์อันใหญ่หลวงระหว่างกันอย่างชัดเจน และเราทั้งสองสัญญาที่จะทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักร-สหรัฐและสายสัมพันธ์สหรัฐ-สหภาพยุโรปแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะนำพาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของพวกเรา[84]

— จอห์น เคอร์รี

การท่องเที่ยว

[แก้]

ชาวอังกฤษมากกว่า 4.5 ล้านคน ท่องเที่ยวในสหรัฐทุกทุกปี ซึ่งมีมูลค่าการใช้จ่ายประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ชาวอเมริกันประมาณ 3 ล้านคน เดินทางไปท่องเที่ยวยังสหราชอาณาจักรทุกทุกปี มูลค่าการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ[85]

การคมนาคม

[แก้]

ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของผู้โดยสารจากท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ ประมาณการณ์กันว่าในปี พ.ศ. 2551 ผู้โดยสารกว่า 2,802,870 คน ใช้บริการเที่ยวบินตรงจากสนามบินลอนดอนฮีทโธรว์ไปยังสนามบินนิวยอร์กจอห์น เอฟ. เคนเนดี ในแต่ละวันโดยไม่มีวันหยุด[86] ขณะที่สายการบินบริติชแอร์เวย์เริ่มให้บริการเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง "คองคอร์ด" ระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติวอชิงตันดัลเลสกับลอนดอนฮีทโธรว์ ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ต่อมาหลังจากศาลฎีกาของสหรัฐฯ พิพากษากลับลำให้สามารถเปิดเที่ยวบินความเร็วเหนือเสียงเหนือน่านฟ้านครนิวยอร์กได้ หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามเปิดทำการเที่ยวบินดังกล่าว ส่งผลให้เที่ยวบินคองคอร์ดระหว่างลอนดอนฮีทโธรว์-นิวยอร์กจอห์น เอฟ. เคนเนดี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520 โดยใช้เวลาทำการบิน 3 ชั่วโมงครึ่ง และท้ายที่สุดการให้บริการเที่ยวบินเหนือเสียงก็ยุติลงในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2546[87]

นอกจากนี้ยังมีบริษัทคูนาร์ดไลน์ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรืออังกฤษ และบริษัทคาร์นิวัล คอร์เปอร์เรชั่น ให้บริการเรือเดินสมุทรในช่วงฤดูกาลต่าง ๆ ระหว่างเซาแธมป์ตันกับนิวยอร์ก โดยใช้เรืออาร์เอ็มเอสควีนแมรี 2 และ เอ็มเอสควีนวิกตอเรีย[88]

ปัจจุบันทั้งสหรัฐและสหราชอาณาจักรยังคงใช้มาตราแบบอังกฤษในการจราจรระหว่างกัน

วัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

วรรณกรรม

[แก้]

ด้านวรรณกรรมเองก็มีสายสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ แม้จะมีมหาสมุทรแอตแลนติกคั้นกลางแต่ก็ไม่อาจจะห้ามความนิยมต่อวรรณกรรมของทั้งสองประเทศได้เลย หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนก็คือความนิยมที่มีต่อนักเขียนอังกฤษในสหรัฐเช่น วิลเลียม เชกสเปียร์, ชาร์ลส์ ดิกคินส์, เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน, แจ็กกี้ คอลลินส์ และเจ. เค. โรว์ลิง ขณะเดียวกันนักเขียนชาวอเมริกันเองก็ได้รับความนิยมในสหราชอาณาจักรเช่น แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์, มาร์ก ทเวน, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และแดน บราวน์ เช่นเดียวกับเฮนรี เจมส์ นักเขียนชาวอเมริกันผู้ย้ายไปยังเกาะอังกฤษในภายหลัง ซึ่งเขาเองเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในทั้งสองประเทศ ที. เอส. อีเลียต เองก็ได้ย้ายไปยังอังกฤษในปี พ.ศ. 2457 และได้รับสัญชาติอังกฤษในปี พ.ศ. 2470 อีเลียตมีชื่อเสียงจากการเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมและมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการวรรณกรรมอังกฤษในยุคสมัยใหม่[89]

สื่อสิ่งพิมพ์

[แก้]

หนังสือพิมพ์บรอดชีต นิวยอร์กไทมส์ มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการหนังสือพิมพ์อังกฤษ โดยหนังสือพิมพ์บอร์ดชีตประจำวันอาทิตย์ชื่อดังของอังกฤษที่อย่าง ดิออบเซิร์ฟเวอร์ เองก็ถูกจัดว่ามีรูปแบบที่คัดลอกมาจากนิวยอร์กไทมส์[90]

ภาพยนตร์

[แก้]

ในยุคสมัยปัจจุบันมีการร่วมงานทางด้านบันเทิงกันนับครั้งไม่ถ้วนระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐ ตัวอย่างเช่นภาพยนตร์ฮอลลีวูดยอดนิยมของสตีเวน สปีลเบิร์ก และจอร์จ ลูคัส ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้ชมชาวอังกฤษ ขณะที่ภาพยนตร์อย่างเจมส์ บอนด์ และแฮร์รี่ พอตเตอร์ทุกภาค ได้รับความนิยมอย่างมหาศาลในสหรัฐ เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์การ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ ที่ยังคงสร้างความทรงจำอันน่าประทับใจต่อผู้ชมชาวอังกฤษเสมอมา ทั้งผู้ชมวัยหนุ่มสาวและวัยชราเป็นเวลากว่า 100 ปี รวมไปถึงภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวอังกฤษผู้โด่งดังอย่างอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก เองก็ยังคงทรงพลังในหมู่แฟนคลับผู้ภักดีในสหรัฐอย่างต่อเนื่อง และตัวอัลเฟรดเองก็ยังมีอิทธิพลต่อผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของสหรัฐในปัจจุบันหลายคนเช่น จอห์น คาร์เพนเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการภาพยนตร์แนวสยองขวัญ นอกจากนี้แล้ววิธีและกระบวนการผลิตภาพยนตร์ยังมักถูกแบ่งปันกันระหว่างทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกนักแสดงทั้งจากอังกฤษและอเมริกาไปจนถึงการเลือกสถานที่ถ่ายทำทั้งในลอนดอนและฮอลลีวูดเอง

ละครเวที

[แก้]

ละครบรอดเวย์แห่งนครนิวยอร์กถูกนำไปแสดง ณ โรงละครเวสต์เอนด์ในกรุงลอนดอนมานานนับปี ละครเวทีอันโด่งดังหลายต่อหลายเรื่องที่นำไปแสดงเช่น ไลออนคิง, กรีส, วิคท์ และเรนท์ ส่วนละครภายใต้การกำกับของอังกฤษก็ได้แก่ มัมมามิอา! รวมถึงละครอีกหลายเรื่องของแอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบลอร์ เช่น โจเซฟแอนด์ดิอะเมซิงเทคนิคคัลเลอร์ดรีมโคต, แคท และ เดอะแฟนธ่อมออฟดิโอเปร่า ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากบนเวทีบรอดเวย์ นอกจากนี้แล้วบทละครแนวตลก, แนวประวัติศาสตร์ และแนวโศกนาฏกรรม ที่ประพันธ์โดยกวีชาวอังกฤษอย่างวิลเลียม เชกสเปียร์ เองก็ได้รับความนิยมอย่างสูงจากวงการละครเวทีสหรัฐ

โทรทัศน์

[แก้]
เดอะซิมป์สันส์ รายการโทรทัศน์ยอดนิยมของสหรัฐ

ทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐเองต่างก็รายการโทรทัศน์ที่เหมือนกัน ซึ่งต่างก็มีการนำออกอากาศระหว่างกัน หรือไม่ก็มีการสร้างสรรค์ขึ้นมาเองแต่มีต้นแบบมาจากอีกฝ่าย โดยรายการโทรทัศน์ยอดนิยมของอังกฤษหลายต่อหลายรายการถูกนำมาดัดแปลงขึ้นใหม่ในสหรัฐตลอดหลายปีหลังมานี้เช่น ดิออฟฟิศ, ฮูวอนส์ทูบีอะมิลเลียนแนร์?, สตริคท์ลีคัมแดนซิง (ในสหรัฐ: แดนซิงวิทเดอะสตาร์) และ ป็อปไอดอล (ในสหรัฐ: อเมริกันไอดอล) เช่นเดียวกับที่รายการโทรทัศน์ของสหรัฐที่ถูกนำไปออกอากาศในอังกฤษเช่น เดอะซิมป์สันส์, โมเดิร์นแฟมิลี่, เซาท์พาร์ก, แฟมิลี่กายส์, เฟรนด์ส และหลายภาคของ ซีเอสไอ: ไครม์ซีนอินเวสติเกชัน

บรรษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งบริเตน หรือเรียกโดยย่อว่า บีบีซี สถานีโทรทัศน์สาธารณะของอังกฤษ ได้ทำการออกอากาศ 2 ช่องรายการในสหรัฐคือ บีบีซีอเมริกา และ บีบีซีเวิลด์นิวส์ ส่วนสถานีโทรทัศน์ของสหรัฐที่ร่วมมือในการออกอากาศกับบีบีซีก็คือ พีบีเอส ก็ได้ทำการออกอากาศรายการโทรทัศน์ของอังกฤษซ้ำอีกครั้งในสหรัฐเช่น มอนตีพีทอนส์ฟลายอิงเซอร์คัส, คีพพิงอัพแอพแพเรนเซส, ด็อกเตอร์ฮู, โนวา และ แมสเตอร์พีซเธียร์เตอร์ นอกจากนี้บีบีซียังร่วมงานบ่อยครั้งกับเครือข่ายโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมสัญชาติอเมริกันอย่าง เอชบีโอ อีกด้วย โดยออกอากาศภาพยนตร์ชุดสั้นของอเมริกาในสหราชอาณาจักรอย่าง โรม, จอห์น อดัมส์ (ภาพยนตร์ชุด), แบนด์ออฟบราเธอร์ส, และ เดอะแกเธอริงสตอร์ม ในทำนองกันกับที่ ดิสคัฟเวอรี่ แชนแนล โทรทัศน์สัญชาติอเมริกันและหุ้นส่วนของบีบีซี ที่ได้ทำการออกอากาศรายการของอังกฤษในสหรัฐเช่น แพลนเน็ตเอิร์ธ และ บลูแพลนเน็ต ซึ่งในภายหลังรู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ บลูแพลนเน็ต: ซีส์ออฟไลฟ์ โดยเป็นฉบับดัดแปลงของสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีสถานีโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นความสนใจในสังคมของสหรัฐที่ชื่อว่า ซี-สแปน ได้ทำการออกอากาศรายการ คำถามของนายกรัฐมนตรี ของอังกฤษทุกวันอาทิตย์ด้วย

ในช่องโทรทัศน์ดิจิทัลของอังกฤษบางแห่งยังสามารถรับชมช่องโทรทัศน์ของสหรัฐได้โดยตรงเช่น ฟ็อกซ์นิวส์ รวมไปถึงช่องโทรทัศน์สำหรับผู้ชมชาวอังกฤษอย่าง ซีเอ็นบีซียุโรป, ซีเอ็นเอ็นยุโรป, อีเอสพีเอ็นคลาสสิก (สหราชอาณาจักร), คอมเมดีเซ็นทรัล (สหราชอาณาจักร) และ เอฟเอ็กซ์ (สหราชอาณาจักร) ส่วนซูเปอร์โบวล์รายการแข่งขันชิงชนะเลิศอเมริกันฟุตบอลของเอ็นเอฟแอลซึ่งถูกจัดขึ้นทุกเดือนกุมภาพันธ์ของปี ก็ถูกออกอากาศในสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525[91]

ดนตรี

[แก้]
การมาถึงสหรัฐของวงดนตรีร็อกสัญชาติอังกฤษ เดอะบีตเทิลส์ และการไปปรากฏตัวในรายการ ดิเอ็ดซัลลิแวนโชว์ ในปี พ.ศ. 2507 นับเป็นจุดเริ่มต้นของ "การแทรกซึมของสหราชอาณาจักร"

ศิลปินอเมริกันอย่าง มาดอนนา, ทิน่า เทอร์เนอร์, แชร์, ไมเคิล แจ็กสัน, บิง ครอสบี, เอลวิส เพรสลีย์, บ็อบ ดิลลัน, ไดอาน่า รอสส์, บริทนีย์ สเปียร์ส, คริสตินา อากีเลรา, แฟรงก์ ซินาตรา และบียอนเซ่ โนวส์ ทั้งล้วนแล้วแต่โด่งดังในสหราชอาณาจักร ส่วนศิลปินอังกฤษอย่าง เดอะบีตเทิลส์, เดอะโรลลิงสโตนส์, สติง, เดอะฮู, เชอร์ลีย์ บาสซีย์, ทอม โจนส์, เดวิด โบวี, สไปซ์เกิลส์, บีจีส์, เอมี ไวน์เฮาส์, เลโอนา ลูวิส, เอลตัน จอห์น (ผู้ซึ่งประพันธ์เพลง แคนเดิลอินเดอะวินด์ เป็นหนึ่งในซิงเกิลที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของโลก) และ โคลด์เพลย์ ประสบความสำเร็จอย่างมากมายในตลาดสหรัฐ จึ่งเป็นเที่ชัดเจนว่าวงการดนตรีของทั้งสองประเทศมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นและมั่นคง

ในสหราชอาณาจักร ภาพยนตร์ฮอลลีวูดรวมไปถึงละครเวทีบรอดเวย์หลายเรื่องมีดนตรีประกอบที่สร้างสรรค์โดยนักอำนวยเพลงชาวอเมริกันหลายคนเช่น จอร์จ เกิร์ชวิน, รอดเจอร์สและแฮมเมอร์สไตน์, เฮนรี แมนซินี, จอห์น วิลเลียมส์, อลัน ซิลเวสตริ, เจอร์รี โกลด์สมิธ และเจมส์ ฮอร์เนอร์

ดนตรีเซลติคของสหราชอาณาจักรมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อดนตรีอเมริกัน[92] โดยจะเฉพาะอย่างยิ่งต่อดนตรีพื้นบ้านในภาคใต้ของสหรัฐ ซึ่งเป็นดนตรีที่สืบทอดมาจากดนตรีเซลติคและดนตรีพื้นบ้านของอังกฤษในยุคอาณานิคม ซึ่งดนตรีพื้นบ้านทางภาคใต้นี้เองได้ให้กำเนิดแนวดนตรีคันทรีและดนตรีพื้นบ้านอเมริกัน[93]

การถือกำเนิดขึ้นของแนวดนตรีแจ๊ซ ดนตรีสวิง บิ๊กแบนด์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งร็อกแอนด์โรล ทั้งหมดล้วนแล้วแต่กำเนิดขึ้นบนแผ่นดินอเมริกา ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาวงดนตรีร็อกยุคหลังของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะวงดนตรีร็อกอังกฤษอย่างเดอะบีตเทิลส์ และเดอะโรลลิงสโตนส์ ขณะเดียวกันกับที่แนวดนตรีอเมริกันยุคก่อนหน้าอย่างบลูส์เองก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวดนตรีอิเล็กทริกร็อกของอังกฤษ[94]

มรดก

[แก้]
ภาพถ่ายประธานาธิบดีโอบามาขณะทำงานบน เดอะรีโซลูตเดสก์ ในห้องทำงานรูปไข่ภายในทำเนียบขาว ซึ่งเป็นโต๊ะทำงานไม้แกะสลักด้วยมือซึ่งถูกส่งมายังสหรัฐทางเรือสำเภา เอชเอ็มเอสรีโซลูต (ค.ศ.1850) ในฐานะของขวัญพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2423

สหรัฐถูกรายล้อมไปด้วยมรดกสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมมากมายกับแผ่นดินแม่ หนึ่งในนั้นก็คือภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาแม่ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐ ทั้งสองชาติจึงถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ด้วยกัน อย่างไรก็ดีภาษาอังกฤษที่ถูกพูดกันในสองประเทศก็ยังคงมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในการสะกด, การออกเสียง และความหมายของคำ[95]

นอกจากนี้ระบบกฎหมายของสหรัฐโดยส่วนมากแล้วก็มีพื้นฐานมาจากกฎหมายจารีตของอังกฤษ เช่นเดียวกับที่ระบบบริหารราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็มีแบบอย่างมาจากฝ่ายอังกฤษ เช่น ศาลท้องถิ่นและเจ้าพนักงานมณฑล (นายอำเภอ) และในสหรัฐยังคงมีผู้ศรัทธาอย่างสูงในศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ แตกต่างกับในสหราชอาณาจักรที่เสื่อมความนิยมลงไปมาก โดยนิกายโปรเตสแตนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐก็ล้วนสืบเชื้อสายมาจากคริสเตียนชาวอังกฤษที่ถูกนำมายังโลกใหม่ผ่านทางคณะมิชชันนารีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เช่นกลุ่มแบ็บติสต์และกลุ่มเมธอดิสต์ เช่นเดียวกับกลุ่มคอนเกรกาชันนอลิสต์และกลุ่มเอพิสคอเพเลียนส์

ทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐต่างก็ใช้ระบบที่ถูกเรียกกันทั่วไปว่า เศรษฐกิจแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon economy) ซึ่งมีการจัดเก็บภาษีและการควบคุมจากรัฐในระดับต่ำ ในทางกลับกันรัฐบาลก็จัดหาและอำนวยสวัสดิการทางสังคมแก่พลเมืองในระดับกลางถึงต่ำเช่นกัน[96]

วันชาติสหรัฐซึ่งตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม อันเป็นวันที่ประกาศเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษในปี พ.ศ. 2319 เช่นเดียวกับ เดอะสตาร์สแปงเกิลด์แบนเนอร์ เพลงชาติสหรัฐ ซึ่งถูกเขียนมาจากเหตุการณ์ที่กองกำลังอเมริกันเอาชนะกองกำลังอังกฤษได้ ณ บัลติมอร์ ในสงครามปี พ.ศ. 2355

การเยือนอย่างเป็นทางการของทั้งสองฝ่าย

[แก้]

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนและการเยือนอย่างเป็นทางการของทั้งสองรัฐเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายประธานาธิบดีแห่งสหรัฐและฝ่ายพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร เช่น ในตลอดช่วงพระชนม์ชีพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการหลายครั้ง ได้ทรงพบปะกับประธานาธิบดีถึง 12 คน ได้แก่ แฮร์รี เอส. ทรูแมน, ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์, จอห์น เอฟ. เคนเนดี, ริชาร์ด นิกสัน, เจอรัลด์ ฟอร์ด, จิมมี คาร์เตอร์, โรนัลด์ เรแกน, จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช, วิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช, บารัก โอบามา และดอนัลด์ ทรัมป์ (ทรงมิได้พบปะกับประธานาธิบดีในช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์เพียงคนเดียวคือ ลินดอน บี. จอห์นสัน)[97]

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร[98][99]
วันที่ พระราชวงศ์อังกฤษ สถานที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน รายละเอียด
7 - 11 มิถุนายน
พ.ศ. 2482
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี - วอชิงตัน ดี.ซี.
- นครนิวยอร์ก
- ไฮด์ ปาร์ค (นิวยอร์ก)
- เสด็จพระราชดำเนินเยือนคณะรัฐบาล ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และประทับพักแรมที่ทำเนียบขาว
- เสด็จพระราชดำเนินไปวางพวงมาลา ณ สุสานทหารนิรนาม ในสุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน
- เสด็จพระราชดำเนินเยือน เมาท์เวอร์นอน อันเป็นบ้านพักตากอากาศส่วนตัวของประธานาธิบดีในรัฐเวอร์จิเนีย
- ทรงไปปรากฏพระองค์ในงานเวิร์ลแฟร์ประจำปี พ.ศ. 2482 ในนครนิวยอร์ก
- เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังบ้านพักส่วนตัวของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์
17 – 20 ตุลาคม
พ.ศ. 2500
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และ เจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ - เจมส์ทาวน์และวิลเลียมสเบิร์ก
(รัฐเวอร์จิเนีย)
- วอชิงตัน ดี.ซี.
- นครนิวยอร์ก
- เสด็จพระราชดำเนินเยือนคณะรัฐบาล ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
- เข้าร่วมพิธีการฉลองครบรอบ 350 ปีเขตพักพิงเจมส์ทาวน์
- เสด็จประทับพักแรม ณ นครนิวยอร์ก ก่อนจะเสด็จล่องเรือพระที่นั่งกลับสหราชอาณาจักร
6 – 9 กรกฎาคม
พ.ศ. 2519
- ฟิลาเดลเฟีย
- วอชิงตัน ดี.ซี.
- นครนิวยอร์ก
- ชาร์ลอตต์สวิลล์ (รัฐเวอร์จิเนีย)
- นิวพอร์ตและโพรวิเดนซ์
(รัฐโรดไอแลนด์)
- บอสตัน
- เสด็จพระราชดำเนินเยือนคณะรัฐบาล ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
- เสด็จพระราชดำเนินไปตลอดตามแนวฝั่งทะเลด้านตะวันออกของสหรัฐ
- ทรงร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีการประกาศอิสรภาพของสหรัฐขณะเสด็จพระราชดำเนินกลับบนเรือยอร์ชพระที่นั่งบริแทนเนีย
26 กุมภาพันธ์ -
7 มีนาคม
พ.ศ. 2526
- ซานดีเอโก
- ปาล์มสปริงส์
- ลอสแอนเจลิส
- ซานตาบาบารา
- ซานฟรานซิสโก
- อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี
(รัฐแคลิฟอร์เนีย)
- ซีแอตเทิล (รัฐวอชิงตัน)
- เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ
- เสด็จพระราชดำเนินไปตลอดตามแนวฝั่งทะเลด้านตะวันตกของสหรัฐโดยเรือยอร์ชพระที่นั่งบริแทนเนีย
- เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังบ้านพักส่วนตัวของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน บนภูเขาซานตาเยส ณ บ้านพักแรนโชเดลซีโล
14 – 17 พฤษภาคม
พ.ศ. 2534
- วอชิงตัน ดี.ซี.
- บัลติมอร์ (รัฐแมรีแลนด์)
- ไมอามีและแทมปา (รัฐฟลอริดา)
- ออสติน
- ซานแอนโตนีโอและฮูสตัน
(รัฐเท็กซัส)
- เลกซิงตัน (รัฐเคนทักกี)
- เสด็จพระราชดำเนินเยือนคณะรัฐบาล ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
- เสด็จพระราชดำเนินไปยังการประชุมร่วมของรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐ
- เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังรัฐเคนทักกี
- เสด็จพระราชดำเนินเยือนภาคใต้ของสหรัฐ
3 – 8 พฤษภาคม
พ.ศ. 2550
- ริชมอนด์
- เจมส์ทาวน์และวิลเลียมสเบิร์ก
(รัฐเวอร์จิเนีย)
- หลุยส์วิลล์ (รัฐเคนทักกี)
- กรีนเบลต์ (รัฐแมรีแลนด์)
- วอชิงตัน ดี.ซี.
- เสด็จพระราชดำเนินเยือนคณะรัฐบาล ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
- เสด็จพระราชดำเนินไปยังการประชุมของรัฐสภาแห่งรัฐเวอร์จิเนีย
- ทรงเข้าร่วมพิธีการฉลองครบรอบ 400 ปีเขตพักพิงเจมส์ทาวน์
- เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดขององค์การนาซา
- เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานรำลึกสงครามโลกครั้งที่สองแห่งชาติ ณ ลานเนชันแนลมอลล์
- เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยังการแข่งม้าเคนทักกีเดอร์บีครั้งที่ 133
6 กรกฎาคม
พ.ศ. 2553
- นครนิวยอร์ก - เสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการเพื่อกล่าวพระราชดำรัส ณ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
- เสด็จพระราชดำเนินเยือนอนุสรณ์สถานเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และทรงไว้อาลัยเหยื่อในเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน
- เสด็จพระราชดำเนินไปทรงไว้อาลัยเหยื่อชาวบริติชในเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ณ สวนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ 11 กันยายน ในฮันโนเวอร์สแควร์
การดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ[100]
วันที่ ประธานาธิบดีและสตรีหมายเลขหนึ่ง สถานที่เยือน รายละเอียด
26 – 28 ธันวาคม
พ.ศ. 2461
วูดโรว์ วิลสัน และ เอดิธ วิลสัน - ลอนดอน
- คาลิเซิล
- แมนเชสเตอร์
- เยือนราชสำนักสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการและพักแรม ณ พระราชวังบักกิงแฮม
- เข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ
- เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรี
- ไปเยือนบ้านเกิดของมารดาและต้นตระกูลของมารดาซึ่งเป็นชาวอังกฤษเป็นการส่วนตัว รู้จักกันในนาม "สายทางแห่งหัวใจ"
7 – 9 กรกฎาคม
พ.ศ. 2525
โรนัลด์ เรแกน และ แนนซี เรแกน - ลอนดอน
- วินเซอร์
- เยือนราชสำนักสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการและพักแรม ณ พระราชวังวินด์เซอร์
- เข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ
- เข้าร่วมการประชุมของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร
18 – 21 พฤศจิกายน
พ.ศ. 2546
จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และ ลอรา บุช - ลอนดอน
- เซดจ์ฟีลด์
- เยือนราชสำนักสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการและพักแรม ณ พระราชวังบักกิงแฮม
- เข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ
- วางพวงหรีด ณ สุสานทหารนิรนามในแอบบีเวสต์มินสเตอร์
- เข้าเยี่ยมนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร โทนี แบลร์ เป็นการส่วนตัว ณ บ้านพักทางเหนือของแคว้นอังกฤษ
24 พฤษภาคม
พ.ศ. 2554
บารัก โอบามา และ มิเชลล์ โอบามา - ลอนดอน - เยือนราชสำนักสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการและพักแรม ณ พระราชวังบักกิงแฮม
- เข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ
- กล่าวสุนทรพจน์ ณ รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร
- เข้าถวายของกำนัลเนื่องในโอกาสงานอภิเษกสมรสแด่ดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์
- เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
- เข้าเยี่ยมนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เดวิด คาเมรอน
3 - 5 มิถุนายน
พ.ศ. 2562
ดอนัลด์ ทรัมป์ และ เมลาเนีย ทรัมป์ - ลอนดอน
- พอร์ตสมัท
- เยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการและพักแรม ณ คฤหาสน์วินฟีลด์
- เข้าร่วมพิธีต้อนรับ ณ​ สวนพระราชวังบักกิงแฮม
- เข้าร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ
- วางพวงหรีด ณ สุสานทหารนิรนามในเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์
- เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
- เข้าเยี่ยมนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เทรีซา เมย์
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และ ประธานาธิบดีคนที่ 43 แห่งสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบขาว พ.ศ. 2550 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และ ประธานาธิบดีคนที่ 40 แห่งสหรัฐ โรนัลด์ เรแกน บนหลังม้า ณ สวนเกรทพาร์ค, พระราชวังวินด์เซอร์ ระหว่างการเยือนสหราชอาณาจักรของประธานาธิบดีเรแกน พ.ศ. 2525 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี ณ งานเวิร์ลแฟร์ในนครนิวยอร์ก พ.ศ. 2482

ความสัมพันธ์ทางการทูต

[แก้]

ภาพ

[แก้]
วินสตัน เชอร์ชิล และ แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ระหว่างการพบปะกันอย่างลับๆ นอกชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ พ.ศ. 2484 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พร้อมด้วย เอเลนอร์ รูสเวลต์ ณ กรุงลอนดอน พ.ศ. 2485 แอนโทนี เอเดน พบปะกับแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ณ การประชุมที่เกแบ็ก พร้อมกับเอเลนอร์ รูสเวลต์ และวินสตัน เชอร์ชิล พ.ศ. 2486 เอเลนอร์ รูสเวลต์, เจ้าหญิงอลิซ เค้านท์เตสแห่งแอธโลน และ เคลเมนต์ไทน์ เชอร์ชิล ณ การประชุมที่เกแบ็กครั้งที่สอง พ.ศ. 2487 ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ และวินสตัน เชอร์ชิล พร้อมด้วย พลเอกเบอร์นาร์ด มอนโกเมอรี่ ณ การประชุมนาโต พ.ศ. 2494
ริชาร์ดและแพทริเชีย นิกสัน พร้อมด้วย เฮโรลด์และแมรี วิลสัน ณ สนามหญ้าทิศใต้ของทำเนียบขาว พ.ศ. 2513 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และ นางแพทริเชีย นิกสัน พ.ศ. 2513 ริชาร์ด นิกสัน กับ ดยุกและดัชเชสแห่งวินเซอร์ พ.ศ. 2513 เจอรัลด์และเบ็ตตี ฟอร์ด ร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารในตอนเที่ยงของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ณ ทำเนียบขาว พ.ศ. 2519 มาร์กาเรต แทตเชอร์ และ จิมมี คาร์เตอร์ ขณะกำลังอ่านคำจารึกด้านหน้าของโต๊ะทำงานรีโซลูตภายในห้องทำงานรูปไข่, ทำเนียบขาว พ.ศ. 2522
โรนัลด์ เรแกน ขณะกล่าวคำปราศรัย ณ รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2525 โรนัลด์และแนนซี แรแกน พร้อมกับ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ณ บ้านพักแรนโช เดล ซีโล พ.ศ. 2526 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าฟ้าหญิงไดอานา ฉายพระรูปพร้อมกับ โรนัลด์และแนนซี แรแกน ณ ทำเนียบขาว พ.ศ. 2528 จอห์น ทราโวลต้าเต้นรำกับไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ณ ทำเนียบขาว พ.ศ. 2528 นายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ และ ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ขณะเดินสนทนากัน ณ แคมป์เดวิด พ.ศ. 2529
โรนัลด์และแนนซี เรแกน พร้อมกับ มาร์กาเรตและเดนนิส แทตเชอร์ ยืนถ่ายรูปในช่วงต้นของงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ ณ ทำเนียบขาว พ.ศ. 2531 จอร์จ บุช และ จอห์น เมเจอร์ ขณะยืนร่วมกันแถลงข่าว ณ แคมป์เดวิด พ.ศ. 2535 บิล คลินตัน และ โทนี แบลร์ ขณะโอบกอดกันและกัน ณ งานแถลงข่าวในนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี พ.ศ. 2542 จอร์จและลอรา บุช พร้อมด้วย เจ้าชายแห่งเวลส์และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ณ ทำเนียบขาว ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการ พ.ศ. 2548 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะพระราชดำเนินตรวจแถวทหาร ณ สนามหญ้าทิศใต้ของทำเนียบขาว พ.ศ. 2550
โทนี แบลร์ ได้รับรางวัลเหรียญแห่งเสรีภาพจาก จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เมือปี พ.ศ. 2551 กอร์ดอน บราวน์ และ บารัก โอบามา ขณะพบปะกัน ณ ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว พ.ศ. 2551 เดวิด คาเมรอน และ บารัก โอบามา ในช่วงของการประชุมจียี่สิบที่โทรอนโต พ.ศ. 2553 เดวิด คาเมรอน และ บารัก โอบามา โบกมือทักทายจากระเบียงเทอเรซฝั่งใต้ พร้อมด้วยคู่สมรส ซาแมนธา คาเมรอน และ มิเชลล์ โอบามา ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 เดวิด คาเมรอน และ บารัก โอบามา ณ การประชุมจีแปดครั้งที่ 39 เคาน์ตีแฟร์มานาจ ไอร์แลนด์เหนือ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kiran Chetry, T.J. Holmes, Christine Romans, Christiane Amanpour, Suzanne Malveaux, Nic Robertson, 'President Obama/Prime Minister Brown G-20 Summit Press Conference' (1 April 2009), CNN: American Morning, CNLM.
  2. Panel I of A Hearing of the senate Foreign Relations Committee (Part 4) (21 January 2010), Federal News Service, FEDNWS.
  3. 3.0 3.1 "FT.com / Home UK / UK – Ties that bind: Bush, Brown and a different relationship". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-01. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  4. Alex Spillius, 'Special relationship Britain and America share fundamental values, Clinton tells Miliband', The Daily Telegraph (4 February 2009), p. 12.
  5. David Williamson, "U.S. envoy pays tribute to Welsh Guards' courage", The Western Mail (26 November 2009), p. 16.
  6. Opinion of the United States
  7. "The Top 15 Military Spenders, 2008". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-28. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  8. "A New Era of Responsibility" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-08-08. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  9. Ember et al 2004, p. 49.
  10. Perkins (1955)
  11. Marshall Smelser, The Democratic Republic, 1801–1815 (1968).
  12. Perkins p. vii
  13. Bradford Perkins, The First Rapprochement: England and the United States, 1795–1805 (1955) p. 1.
  14. Joseph Ellis, Founding Brothers: The Revolutionary Generation (2000) pp. 136–7.
  15. Donald R Hickey, The War of 1812: A Forgotten Conflict (1989), pp. 11, 107-110.
  16. The Collins Encyclopedia of Military History, Dupey & Dupey, BCA 1994, p. 870.
  17. Kate Caffrey: The Lion and the Union, (1978), p. 270.
  18. See Donald R Hickey: The War of 1812 (1989), pp. 11, 110.
  19. James F. Zimmerman: Impressment of American Seamen (1925), pp. 55–61, 67–68.
  20. Federal Republican (Georgetown), 8 February 1813.
  21. "History of the War of 1812". สืบค้นเมื่อ 2009-08-10.
  22. Bradford Perkins, Prologue to War, England and the United States, 1805–1812 (1961), p. 426.
  23. Ralph W. Hidy and Muriel E. Hidy, "Anglo-American Merchant Bankers and the Railroads of the Old Northwest, 1848–1860," Business History Review (1960) 34#2 pp. 150–169 in JSTOR
  24. Scott Kaufman, and John A. Soares, "'Sagacious Beyond Praise'? Winfield Scott and Anglo-American-Canadian Border Diplomacy, 1837–1860," Diplomatic History, (2006) 30#1 pp p57-82
  25. Howard Jones, "Anglophobia and the Aroostook War," New England Quarterly (1975) 48#4 pp. 519–539 in JSTOR
  26. David M. Pletcher, The Diplomacy of Annexation: Texas, Oregon, and the Mexican War (1973).
  27. Amanda Foreman, A World on Fire: Britain's Crucial Role in the American Civil War (2012)
  28. Howard Jones, Union in Peril: The Crisis over British Intervention in the Civil War (1992)
  29. Charles Francis Adams, "The Trent Affair," American Historical Review (1912) 17#3 pp. 540–562 in JSTOR
  30. Adams (1925)
  31. Howard Jones (2002). Abraham Lincoln and a New Birth of Freedom: The Union and Slavery in the Diplomacy of the Civil War. U of Nebraska Press. pp. 83–84.
  32. Niall Whelehan, The Dynamiters: Irish Nationalism and Political Violence in the Wider World, 1867–1900 (Cambridge, 2012)
  33. Michael J. Hogan (2000). Paths to Power: The Historiography of American Foreign Relations to 1941. Cambridge U.P. p. 76.
  34. Marc-William Palen, "Protection, Federation and Union: The Global Impact of the McKinley Tariff upon the British Empire, 1890-94," Journal of Imperial & Commonwealth History (2010) 38#3 pp 395-418, online
  35. Simon Mollan, and Ranald Michie, "The City of London as an International Commercial and Financial Center since 1900," Enterprise & Society (2012) 13#3 pp 538-587 online
  36. Matthew Simon and David E. Novack, "Some Dimensions of the American Commercial Invasion of Europe, 1871-1914: An Introductory Essay," Journal of Economic History (1964) 24#4 pp. 591-605 in JSTOR
  37. R. A. Church, "The Effect of the American Export Invasion on the British Boot and Shoe Industry 1885-1914," Journal of Economic History (1968) 28#2 pp. 223-254 in JSTOR
  38. Nelson M. Blake, "Background of Cleveland's Venezuelan Policy," American Historical Review (1942) 47#2 pp. 259–277 in JSTOR
  39. Allan Nevins, Grover Cleveland (1932) p 647
  40. Nevins, 550, 647–648
  41. R. A. Humphreys, "Anglo-American Rivalries and the Venezuela Crisis of 1895," Transactions of the Royal Historical Society (1967) 17:131–164 in JSTOR
  42. Nelson M. Blake, "The Olney-Pauncefote Treaty of 1897," American Historical Review, (1945) 50#2 pp. 228-243 in JSTOR
  43. David G. Haglund, and Tudor Onea, "Victory without Triumph: Theodore Roosevelt, Honour, and the Alaska Panhandle Boundary Dispute," Diplomacy and Statecraft (March 2008) 19#1 pp 20–41.
  44. William C. Reuter, "The Anatomy of Political Anglophobia in the United States, 1865–1900," Mid America (1979) 61#2 pp 117-132.
  45. John Dumbrell (2009). America's Special Relationships: Allies and Clients. Taylor & Francis. p. 31.
  46. Henry J. Hendrix, Theodore Roosevelt's Naval Diplomacy: The U.S. Navy and the Birth of the American Century (2009)
  47. Mark Albertson, They'll Have to Follow You!: The Triumph of the Great White Fleet (2008) excerpt and text search
  48. May, Ernest R. The World War and American Isolation, 1914–1917 (1959)
  49. Ronald Spector, "'You're Not Going to Send Soldiers Over There Are You!': The American Search for an Alternative to the Western Front 1916–1917," Military Affairs (1972) 36#1 pp. 1–4 in JSTOR
  50. J Ellis & M Cox, The WW1 Databook (Aurum press 2001) p. 245
  51. Allen (1954)
  52. C. J. Low and M. L. Dockrill, eds. The Mirage of Power: volume 3: The documents: British Foreign Policy 1902-22 (1972) p. 647
  53. Carolyn J. Kitching, Britain and the Problem of International Disarmament, 1919–1934 Rutledge, 1999 online
  54. A.J.P. Taylor, English History, 1914–1945 (1965) pp 202-3, 335
  55. Richard Pomfret (1997). The Economics of Regional Trading Arrangements. Oxford University Press. p. 58.
  56. Frederick W. Jones, ed. The Economic Almanac 1956 (1956) p 486
  57. Jeannette P. Nichols, "Roosevelt's Monetary Diplomacy in 1933," American Historical Review, (1951) 56#2 pp. 295-317 in JSTOR
  58. Hollowell; Twentieth-Century Anglo-American Relations (2001)
  59. David Nasaw, The Patriarch: The Remarkable Life and Turbulent Times of Joseph P. Kennedy (2012) pp 281-486
  60. Keesing's Contemporary Archives Volume 55, (August, 2009) Page 49368
  61. "Ambassador: US-UK ties intact despite Lockerbie". Associated Press.
  62. Jones, Sam (25 August 2009). "Lockerbie bomber's Libya reception 'repulsed' Brown". The Guardian. UK. สืบค้นเมื่อ 25 August 2009.
  63. Stolberg, Sheryl Gay (June 12, 2010). "Across Atlantic, Much Ado About Oil Company's Name". The New York Times. New York: New York Times. สืบค้นเมื่อ June 12, 2010.
  64. Fifield, Anna (June 12–13, 2010). "frills and spills". London: Financial Times. สืบค้นเมื่อ June 13, 2010.
  65. Eaglesham, Jean (June 11, 2010). "Frills and spills". London: Financial Times. สืบค้นเมื่อ June 13, 2010.
  66. Rachman, Gideon (June 15, 2010). "Love and loathing across the ocean". London: Financial Times. สืบค้นเมื่อ June 16, 2010.
  67. Kennedy, Helen (June 2, 2010). "BP's CEO Tony Hayward: The most hated -- and most clueless -- man in America". NY Daily News. New York. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-06. สืบค้นเมื่อ June 12, 2010.
  68. Evans, Judith (June 10, 2010). "Boris Johnson attacks Americas anti-British rhetoric on BP". The Times. London.
  69. "US hails 'special ties' with UK". BBC News. February 3, 2009. สืบค้นเมื่อ May 26, 2010.
  70. Tim Walker (18 March 2009). "Gordon Brown is frustrated by 'Psycho' in No 10". The Daily Telegraph. London.
  71. "Obama's Blockbuster Gift for Brown: 25 DVDs –". Fox News. March 6, 2009.
  72. "Queen's secret Palace tour for Obama girls revealed amid Trooping The Colour festivities". Hello Magazine.
  73. Chua-Eoan, Howard (April 1, 2009). "The Queen and Mrs. Obama: A Breach in Protocol". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-26. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  74. "Poll ranks Canada second in list of top U.S. allies". CTV Global Media. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  75. Spence, Matt (July 24, 2009). "President Obama makes US popular in Europe again, Pew poll says". Times Online. London. สืบค้นเมื่อ May 26, 2010.
  76. "WikiLeaks cables: US agrees to tell Russia Britain's nuclear secrets". The Telegraph. 4 February 2011. สืบค้นเมื่อ 6 February 2011.
  77. Full video of the speech. http://www.youtube.com/watch?v=oxDhUjM8D4Q
  78. http://www.bbc.com/news/uk-scotland-scotland-politics-27713327
  79. "Donald Trump appreciates very special relationship between U.S. and U.K." The Washington Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2017-02-09.
  80. "Trump, UK prime minister emphasise 'special relationship' at White House". USA TODAY (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-02-09.
  81. "Trade and Investment with the United States". UK Trade and Investment.[ลิงก์เสีย]
  82. "Top Trading Partners – Total Trade, Exports, Imports". U.S. Census Bureau.
  83. "Trade and Investment with the United States". Foreign TradeX. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-01. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  84. "Press Conference by Kerry, British Foreign Secretary Hague". United Kingdom Foreign and Commonwealth Office, London: U.S. Department of State. September 9, 2013. สืบค้นเมื่อ 8 December 2013.
  85. "UK & USA relations". UK in the USA Foreign and Commonwealth Office. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-16. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  86. "UK Airport Statistics". BAA.
  87. "Concorde". Super 70's.
  88. "Transatlantic Crossings". Cunard. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-02. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  89. John Worthen, T. S. Eliot: A Short Biography (2011)
  90. THE OBSERVER TO FEATURE NEW YORK TIMES WEEKLY SUPPLEMENT | Press office | guardian.co.uk
  91. "American Football: The whole nine yards: The NFL comes to Wembley". The Independent. London. October 25, 2008. สืบค้นเมื่อ May 26, 2010.
  92. "Traditional Celtic Music's Contributions to American Music".
  93. "Origins of Country Music". Country Music Hall of Fame and Museum.
  94. "Pop and Rock Music in the 60s A Brief History". Spectropop.
  95. "Differences Between American and British English".
  96. "The Two Types of Capitalism". innovationzen.com. 19 October 2006.
  97. "The Queen, Presidents And Protocol". CBS News. March 31, 2009.
  98. "The Royal Visit: June 7–12th, 1939".
  99. "State Visit". Embassy of the U.S. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-28. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.
  100. "Visit of President Bush to the United Kingdom November 18–21, 2003". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-27. สืบค้นเมื่อ 2011-05-03.