ความขัดแย้งที่ซันริซูกะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ความขัดแย้งที่ซันริซูกะ
อุปกรณ์และอาวุธของกลุ่มผู้ประท้วงคัดค้านการก่อสร้างท่าอากาศยาน
วันที่22 มิถุนายน พ.ศ. 2509 – ปัจจุบัน
สถานที่จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น
สาเหตุรัฐบาลญี่ปุ่นก่อสร้างท่าอากาศยานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อยู่อาศัย
วิธีการการนั่งประท้วง, การเดินขบวน, การบุกยึด, การลอบวางระเบิด
คู่ขัดแย้ง
สันนิบาตกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างท่าอากาศยานนาริตะซันริซูกะ-ชิบายามะ
รัฐบาลญี่ปุ่น

ความขัดแย้งที่ซันริซูกะ (ญี่ปุ่น: 三里塚闘争) เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับชุมชนเกษตรกรในเมืองซันริซูกะในขณะนั้น (ปัจจุบันคือเมืองนาริตะ) ซึ่งรวมถึงเกษตรกร ผู้อยู่อาศัย และผู้ที่คัดค้านการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ (ขณะนั้นชื่อท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวใหม่) โดยเกิดจากเหตุที่รัฐบาลตัดสินใจก่อสร้างท่าอากาศยานในเมืองซันริซูกะโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้อยู่อาศัยในเมืองนั้น

ในอดีต เคยเกิดเหตุการณ์ประท้วงครั้งหนึ่งโดยกลุ่มผู้คัดค้านซึ่งมีผู้ประท้วงสูงสุดถึง 17,500 คน โดยมีตำรวจต่อต้านการจลาจลเข้ามาในหลายโอกาส และเคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำลายท่าอากาศยานมาแล้ว 10 ครั้งตั้งแต่เปิดใช้งานท่าอากาศยานมากว่า 50 ปี

จุดชนวนความขัดแย้ง[แก้]

ความต้องการด้านการบินและการวางแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่[แก้]

ตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการด้านการบินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศที่รวดเร็ว จึงมีความกังวลว่าท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวอาจบรรจุคนได้ถึงขีดจำกัดใน พ.ศ. 2513[1][2] แต่ในขณะนั้น การขยายท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เนื่องจากมีปัญหาด้านทรัพยากรเป็นอย่างมาก[3] คณะรัฐมนตรีนำโดย ฮายาโตะ อิเกดะ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ลงมติอนมุติให้มีการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505[4]

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2506 กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้วางแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ "ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวใหม่" โดยได้มีการวางแผนว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 23 ตารางกิโลเมตร[5] ซึ่งในบริเวณดังกล่าวรวมถึงเขตเมืองโทมิซาโตะ ยาจิมาตะ และเมืองอื่นๆ อีกหลายเมืองในจังหวัดจิบะและจังหวัดอิบารากิ เมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน คณะกรรมการด้านการบินได้รายงานถึงกระทรวงคมนาคมว่าแนะนำให้เลือกเขตเมืองโทมิซาโตะเป็นเขตก่อสร้าง โดยไม่ได้อ้างอิงว่าจะได้ที่ดินบริเวณนั้นมาใช้ในการก่อสร้างได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีนำโดย เอซากุ ซาโต นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้แถลงเกี่ยวกับวางแผนการก่อสร้างในเขตเมืองโทมิซาโตะอย่างไม่เป็นทางการและอย่างไม่คาดคิด โดยพื้นที่ที่จะใช้ในการก่อสร้างที่วางแผนไว้กินเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของเมืองโทมิซาโตะ และอาจนำมาสู่การสูญหายของเมืองหลายเมืองได้ ประกอบกับในขณะนั้น การใช้อากาศยานยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนทั่วไปมากนัก ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นกังวลว่าการก่อสร้างท่าอากาศยานจะเป็นการรบกวนสิ่งแวดล้อมในบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางเสียง หรือปัญหาอื่นๆ ก็ตาม โดยก่อนหน้านั้นมีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างท่าอากาศยาน ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรและพรรคที่คัดค้านการก่อสร้างในครั้งนี้ด้วย (ซึ่งได้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นและพรรคประชาธิปไตยสังคมญี่ปุ่น) และยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ในบริเวณดังกล่าวที่ไม่ทราบข่าวสารเกี่ยวกับการก่อสร้างด้วย จนทำให้คณะรัฐมนตรีต้องชะลอการตัดสินใจการก่อสร้างนี้ไปก่อน[6][7]

การกำหนดสถานที่ก่อสร้างใหม่[แก้]

จนถึง พ.ศ. 2509 กระแสการคัดค้านก็ไม่มีท่าทีที่จะเบาลง จนรัฐบาลกังวลว่าการก่อสร้างอาจจะนำไปสู่การหยุดชะงัก คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงต่อรองกับโทกุจิ วาคาซะ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ทาเกโตะ โทโมโน นายกเทศมนตรีจังหวัดชิบะ และโชจิโร คาวาชิมะ ผู้ช่วยประธานพรรคเสรีประชาธิปไตยในขณะนั้นอย่างลับๆ[6] โดยได้ตัดสินใจกำหนดสถานที่ก่อสร้างใหม่ไปยังไร่โกเรียว ซึ่งอยู่ห่างจากแห่งเดิม 4 กิโลเมตรไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดการเวนคืนที่ดินส่วนบุคคล และยังมีการคาดการณ์ว่าจะชดใช้ชุมชนเกษตรกรรมในบริเวณเมืองซันริซูกะซึ่งเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยความยากจนเมื่อมีเงินมากพอที่จะสามารถชดใช้ได้ จนรัฐบาลได้ตัดสินใจเลือกบริเวณเขตเมืองซันริซูกะเป็นสถานที่ก่อสร้างเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2509[8][7] โดยมีกำหนดเสร็จสิ้นในปลาย พ.ศ. 2516[9]

การรวมตัวกันของกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างท่าอากาศยาน[แก้]

Three interlocked identical white rings on a solid red background
Red flag with white kanji characters
สัญลักษณ์ของสันนิบาตกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างท่าอากาศยานนาริตะซันริซูกะ-ชิบายามะ (บน) ธงที่ใช้ในการเดินขบวนของกลุ่มผู้ประท้วง (ล่าง)

เนื่องจากมีประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวคัดค้านการก่อสร้างเป็นส่วนมาก จึงมีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างท่าอากาศยานซึ่งอาศัยอยู่ในเขตเมืองซันริซูกะและชิบายามะเมื่อ พ.ศ. 2509[2]

รัฐบาลได้พยายามหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดินของกลุ่มผู้อยู่อาศัยที่มีเหตุผลด้านสังคมและการเงิน[10] แต่รัฐบาลก็ใช้วิธีต่างๆ ในการเวนคืนที่ดินของผู้อยู่อาศัยหลายคน ทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวยังคงไม่พอใจและคัดค้านการก่อสร้าง[2] โดยกลุ่มผู้คัดค้านได้มีการซื้อที่ดินที่อยู่ภายในสถานที่ก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2509[6][11] ทำให้ในเดือนเดียวกัน นายกเทศมนตรีในขณะนั้นกล่าวว่าจะดำเนินการกับกลุ่มผู้คัดค้านที่มีการซื้อที่ดินภายในสถานที่ก่อสร้างทั้งหมด กลุ่มผู้คัดค้านจึงตอบโต้ด้วยการเดินขบวน การนั่งประท้วง และการร้องทุกข์ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

เมื่อเช้าวันที่ 10 ตุลาคม ตำรวจต่อต้านการจลาจลประมาณ 1,500 คนได้เข้ามาภายในบริเวณสถานที่ก่อสร้างเพื่อติดตั้งเสาสังเกตการณ์ โดยกลุ่มผู้คัดค้านได้เข้ามาขัดขวางด้วยการนั่งประท้วง แต่ถูกตำรวจต่อต้านการจลาจลปราบปรามอย่างรุนแรงภายใต้ข้อหาละเมิดกฎการจราจร จึงสามารถติดตั้งเสาสังเกตการณ์ได้สำเร็จ[12]

การเพิ่มขึ้นของความขัดแย้ง[แก้]

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2512 มีการจัดพิธีปิดไร่โกเรียว และมีการประท้วงของผู้คัดค้าน และกลุ่มผู้ที่ประท้วงที่เป็นเยาวชนได้บุกทำลายห้องประชุม ทำให้แกนนำประท้วงกลายเป็นผู้ต้องหาไปทั่วประเทศ โดยสามารถจับกุมอิซซากุ โทมุระ และแกนนำคนอื่นๆ อีก 13 คนได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2512 ภายใต้ข้อหาการบุกยึดถนนและการกีดขวางรถเกลี่ยดินที่เข้ามาทำงานก่อสร้าง[10][9]

บริษัทที่ดูแลท่าอากาศยานได้อาศัยอำนาจรัฐในการเวนคืนพื้นที่ของผู้อยู่อาศัยที่เหลือเพื่อใช้ในการก่อสร้างโดยตลอด[2] เมื่อ พ.ศ. 2513 ทางบริษัทได้มีการสำรวจที่ดินบริเวณที่ยังไม่ได้ถูกซื้อ[13] โดยระหว่างการสำรวจ มีกลุ่มผู้คัดค้านนำสิ่งปฏิกูลเน่า สารคลอโรพิกริน และก้อนหินขว้างปาเข้าไปในสถานที่ที่มีการสำรวจ และต่อสู้กับกลุ่มคนในบริษัทโดยใช้ค้อนเคียวและไม้ไผ่ และกลุ่มผู้คัดค้านยังสร้างป้อมปราการในบริเวณดังกล่าว รวมถึงบริเวณใต้ดินด้วย แต่ได้ถูกนำออกไปในภายหลัง[14]

A tower constructed from metal scaffolding, surrounded by brush and trees.
หอคอยที่สร้างในสถานที่ก่อสร้างโดยสมาชิกกลุ่มผู้คัดค้าน

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ฟูมิโอะ ซันโนมิยะ สมาชิกกลุ่มผู้คัดค้านคนหนึ่งที่เป็นเยาวชนได้ฆ่าตัวตาย โดยทิ้งจดหมายซึ่งกล่าวว่าเขาเกลียดผู้ที่นำท่าอากาศยานมาสู่ที่แห่งนี้มาก และเขาหมดแรงที่จะต่อสู้แล้ว โดยในปีนั้น ความขัดแย้งเริ่มรุนแรงขึ้น จนส่งผลให้มีตำรวจต่อต้านการจลาจลเสียชีวิต 3 คนโดยได้รับบาดเจ็บสาหัส[14]

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2515 ทางท่าอากาศยานมีการทดสอบการบิน กลุ่มผู้คัดค้านจึงได้สร้างหอคอยสูง 60.6 เมตร (200 ฟุต) ภายในบริเวณเขตประชิดของรันเวย์ A เพื่อขัดขวางการทดสอบการบิน และยังคัดค้านการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันแบบไอพ่นจากท่าเรือชิบะ ส่งผลให้การเปิดใช้งานต้องชะลอไป

การเปิดใช้งานท่าอากาศยาน[แก้]

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประกาศจะเปิดใช้งานท่าอากาศยานภายในปีดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 เมษายน มีกลุ่มผู้คัดค้านออกมาชุนนุมประท้วงประมาณ 17,500 คนในสวนสาธารณะซันริซูกะ[6] ส่งผลให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้คัดค้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้ง แต่การก่อสร้างก็ยังดำเนินต่อไป จนการเปิดใช้งานท่าอากาศยานในส่วนรันเวย์แรกต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2521 แต่ก่อนที่จะเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 26 มีนาคม กลุ่มผู้คัดค้านได้เข้าบุกยึดบริเวณหอบังคับการบินของท่าอากาศยาน รวมทั้งได้ทำลายอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในท่าอากาศยาน ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมากจนต้องเลื่อนการเปิดใช้งานท่าอากาศยานไปอีก พร้อมกันนั้นได้มีการใช้มาตรการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยภายในท่าอากาศยานอย่างเข้มงวด จนในที่สุดสามารถเปิดใช้งานได้อย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม แต่ในขณะนั้นก็ยังมีกลุ่มผู้คัดค้านตั้งรกรากอาศัยอยู่ภายในบริเวณท่าอากาศยานเป็นจำนวนมาก[9][15]

หลังจากการเปิดใช้งานท่าอากาศยาน ก็ยังมีกระแสคัดค้านเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้มีการต่อรองกันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้คัดค้านในเบื้องหลังอยู่หลายครั้ง แต่การต่อรองก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีข่าวรั่วไหลไปยังสื่อมวลชน ส่งผลให้เกิดการปราบปรามกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างอย่างรุนแรง[4][14] โดยเกิดเหตุโจมตีท่าอากาศยานแบบกองโจรถึง 511 ครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนถึง พ.ศ. 2560[16]

กลุ่มผู้คัดค้านและท่าอากาศยานนาริตะในปัจจุบัน[แก้]

สโลแกนของผู้ต่อต้านสนามบินนาริตะความว่า "เราจะไม่ยอมให้พื้นที่เพาะปลูกของเราถูกยึด"

แม้ว่าท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวจะแปรเปลี่ยนเป็นสนามบินระหว่างประเทศแล้ว แต่สนามบินนาริตะก็ยังเป็นสนามบินนานาชาติอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น[17]

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) มีคำพิพากษาให้รื้อถอนหอคอยและโครงสร้างอื่น ๆ ที่สร้างโดยกลุ่มผู้ต่อต้านสนามบินบริเวณโดยรอบไร่นาใกล้กับรันเวย์แท็กซี่ [18] ระหว่างปฏิบัติการรื้อถอนได้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจปราบจลาจลประมาณร้อยนายและผู้ประท้วงประมาณ 50 คน ฝ่ายต่อต้านได้มีการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หลายรูปแบบ เช่น การปีนขึ้นไปบนยอดหอคอย [19] มีผู้ถูกจับกุมสามคนในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการของตำรวจ [20] ถือเป็นความขัดแย้งที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุคโชวะจนถึงปัจจุบัน


ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 衣本, 啓介 (1 December 2010). "羽田空港の歴史". 科学技術振興機構. สืบค้นเมื่อ 4 February 2018.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 1916-2003., Sumiya, Mikio; 1916-2003., 隅谷三喜男 (1996). Narita no sora to daichi : tōsō kara kyōsei e no michi. Tōkyō: Iwanami Shoten. ISBN 978-4000015462. OCLC 36940077.{{cite book}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  3. 新東京国際空港公団 (March 1987). "新東京国際空港公団 20年のあゆみ". Lithos. 20 (6): 503–504. doi:10.1016/0024-4937(87)90033-8. ISSN 0024-4937.
  4. 4.0 4.1 Narita no monogatari : 1978 narita kaiko kara. Oowada, Takeshi., Kano, Mikio., 大和田, 武士, 鹿野, 幹男. Ron Shobo Shuppan. April 2010. ISBN 9784845501960. OCLC 703354754.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  5. "新東京国際空港の建設". 国土交通省. สืบค้นเมื่อ 27 January 2018.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 東京新聞千葉支局/大坪景章 編 (April 1978). "ドキュメント成田空港 傷だらけの15年". 東京新聞出版局.
  7. 7.0 7.1 朝日新聞社朝日ジャーナル編集部 (May 1970). 三里塚 反権力の最後の砦. 三一新書. ISBN 978-4380700088.
  8. 佐藤, 文生 (2012). "はるかなる三里塚". TANSO. 2012 (254): 209–212. doi:10.7209/tanso.2012.209. ISSN 0371-5345.
  9. 9.0 9.1 9.2 Narita kūkō 365nichi : 1965-2000. Haraguchi, Kazuhisa, 1960-, 原口, 和久, 1960-. 崙書房. 2000. ISBN 978-4845510672. OCLC 675862815.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  10. 10.0 10.1 1943-, Fukuda, Katsuhiko; 1943-, 福田克彦 (2001). Sanrizuka ando soiru (Dai 1-han ed.). Tōkyō: Heigensha. ISBN 978-4938391263. OCLC 50391770.{{cite book}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  11. 1922-2017., Kitahara, Kōji; 1922-, 北原鉱治 (1996). Daichi no ran Narita tōsō : Sanrizuka Hantai Dōmei Jimu Kyokuchō no 30-nen. Tōkyō: Ochanomizu Shobō. ISBN 978-4275016294. OCLC 36737662.{{cite book}}: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์)
  12. Shikyoku., Asahi Shinbunsha. Narita; 成田支局., 朝日新聞社. (1998). Doramukan ga nari yande : moto Hantai Dōmei jimukyokuchō Ishige Hiromichi Narita o kataru. 石毛博道, 1949-, 朝日新聞社. Tōkyō: Yotsuya Raundo. ISBN 978-4946515194. OCLC 170200142.
  13. "第93回国会(臨時会) 答弁書第三号別表四". 参議院. 16 January 1971. สืบค้นเมื่อ 14 October 2017.
  14. 14.0 14.1 14.2 Sanrizuka moyu : Hokuso daichi no nomindamashi. Ito, Mutsumi., Shima, Hiroyuki., Ishige, Hiromichi, 1949-, Kato, Taisuke, 1989-, 伊藤, 睦, 島, 寬征. Heigensha. May 2017. ISBN 9784938391607. OCLC 996318988.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  15. Nobuo., Maeda; 前田伸夫. (2005). Tokumei kōshōnin yōchiya. Tōkyō: Asukomu. ISBN 978-4776202592. OCLC 170036204.
  16. "成田空港~その役割と現状~ 2017年度』 資料編 1(209頁)". 成田国際空港株式会社. November 2017. สืบค้นเมื่อ 11 December 2017.
  17. "航空:空港管理状況 - 国土交通省". www.mlit.go.jp. สืบค้นเมื่อ 17 March 2023.
  18. "反対派やぐらの撤去始まる 成田空港内の農地で強制執行(共同通信)". Yahoo!ニュース (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-17. สืบค้นเมื่อ 17 March 2023.
  19. "成田空港、やぐら撤去や土地の明け渡しを強制執行…県警機動隊と反対派の小競り合いも". 読売新聞オンライン (ภาษาญี่ปุ่น). 15 February 2023. สืบค้นเมื่อ 17 March 2023.
  20. "成田空港建設反対派の建物など強制的に撤去 妨害疑いで3人逮捕 | NHK". NHKニュース. สืบค้นเมื่อ 17 March 2023.