ครุยวิทยฐานะในสหรัฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ครุยวิทยฐานะปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

ครุยวิทยฐานะอเมริกัน (อังกฤษ: academic regalia ออกเสียง ริ'เกเลีย) หรือ ครุยวิทยฐานะในสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับแสดงวิทยฐานะในสหรัฐอเมริกา มีลักษณะที่สำคัญคือ ตอนหน้าอกปิดทึบซ่อนเครื่องแต่งกายที่สวมไว้ภายในสนิท (ยกเว้นปริญญาดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ใช้เสื้อเปิดอก แบบบเดียวกับครุยวิทยฐานะในสหราชอาณาจักร) ครุยวิทยฐานะอเมริกันถือเป็นครุยวิทยฐานะที่เห็นได้เจนตาที่สุดในประเทศไทย (นิยมเรียกว่า ครุยแบบตะวันตก หรือ เสื้อคลุมวิทยฐานะ) รองลงมาจากครุยวิทยฐานะแบบไทย

ลักษณะทั่วไป[แก้]

ครุยปริญญาตรีของวิทยาลัยสมิท (Smith College)
ครุยวิทยฐานะแบบอเมริกันนิยมสวมโดยปิดด้านหน้า ซ่อนเครื่องแต่งกายภายในไว้สนิท

เสื้อ[แก้]

โดยทั่วไป ระดับปริญญาตรี นิยมใช้เสื้อคลุมอย่างง่าย แขนเสื้อเป็นแขนปลายตัดเฉียง[1]หรือตัดตรง[2]ก็ได้ ไม่มีผ้าคลุมไหล่ โดยอาจจะมีพู่สี (tassel) หรือผ้าพาดบ่า (stole)[3]สีตามคณะหรือมหาวิทยาลัยกำหนดประดับตามสมควร ที่สาบบ่าและไหล่ทำเป็นจีบ ระดับปริญญาโทนิยมใช้เสื้อคลุมแขนยาวเสมอชายเสื้อ เจาะช่องตรงกลางให้แขนของผู้สวมสอดออกมาได้ ประกอบด้วยผ้าคลุมไหล่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก ระดับปริญญาเอกนิยมใช้เสื้อคลุมสีสดใสแขนยาวเสมอข้อมือ ประดับแถบกำมะหยี่ที่แขนจำนวนสามแถบ ประกอบผ้าคลุมไหล่ขนาดใหญ่[4] ผู้มีตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยอาจสวมครุยปริญญาเอกได้ตามความเหมาะสม[5]

ผ้าคลุมไหล่[แก้]

ผ้าคลุมไหล่เป็นเครื่องแสดงฐานะปริญญาโทและเอก หากจำแนกตามวิธีการจำแนกครุยวิทยฐานะของโกรฟ (Groves classification system) แล้วจะได้ว่าเป็นรูปทรงชนิดง่าย s5[6] คือตอนหลังเป็นเพียงแถบผ้าทำเป็นบ่วงทรงรีประดับตกแต่งอย่างง่าย ๆ เท่านั้น ตอนหน้าเป็นรูปบั้งคล้ายกรองคอของตัวละครโขน ด้านนอกนิยมใช้ผ้าหรือวัสดุแบบเดียวกับตัวเสื้อ[7] ด้านในนิยมใช้ผ้าต่วน คือ ผ้ามันสะท้อนแสงทำเป็นสีต่าง ๆ ที่ขอบประดับด้วยแถบผ้าตามสมควร ความยาวของผ้าคลุมไหล่ขึ้นกับระดับการศึกษา ยิ่งสูงก็ยิ่งใช้ผ้าคล้องคอที่ทิ้งตัวยาว[8]

บัณฑิตอาจสวมผ้าคลุมไหล่ก่อนเข้าพิธี หรือไปสวมในพิธีก็ได้ แล้วแต่กำหนดการของมหาวิทยาลัย[9]

หมวก[แก้]

นอกเหนือจากเสื้อและผ้าคลุมไหล่แล้ว บัณฑิตมักจะสวมหมวกด้วย โดยปริญญาตรีและโทจะสวมหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส (mortarboard) พร้อมพู่ทรงยาวสีตามที่คณะหรือมหาวิทยาลัยกำหนด ติดปลายเส้นด้ายที่ห้อยจากกลางกระหม่อม เพื่อให้บัณฑิตเด็ดไปเป็นที่ระลึก ส่วนปริญญาเอกจะสวมหมวกทรงหกหรือแปดเหลี่ยม (tam) ประดับพู่สีหรือพู่ทองทรงเดียวกับปริญญาตรีและโท

ความแตกต่างกับครุยแบบอังกฤษ[แก้]

ครุยวิทยฐานะอเมริกันต่างจากครุยวิทยฐานะอังกฤษตรงที่ครุยแบบอังกฤษ ตอนหน้าอกจะเปิดออกเสมอ โดยมักจะพับส่วนที่เคยเชื่อมต่อกันให้แบะออก และประดับด้วยแถบผ้าไหมหรือสำรดตามสมควร แต่แบบอเมริกันจะปิดตอนหน้าอกเสมอ แม้ว่าในระเบียบจะระบุไว้ว่าอาจเปิดตอนหน้าอกออกได้บ้าง[10] ทั้งนี้ยังพอมีข้อยกเว้นคือ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (เฉพาะระดับปริญญาเอก)

ผ้าคลุมไหล่หรือคล้องคอ แบบอเมริกันนิยมใช้ทรงอย่างง่าย คือตอนหลังเป็นแผ่นผ้าทรงรูปลิ้่นทิ้งตัวไปด้านหลัง ตอนหน้ามีขนาดใหญ่ดุจกรองคอของตัวละคร แต่แบบอังกฤษมีได้หลายแบบ ทั้งแบบเป็นถุงทิ้งตัวไปด้านหลังชั้นเดียว หรือถุงสองชั้นพร้อมแผ่นรอง บ้างก็มีลักษณะเป็นแบบลิ้น ตอนหน้าของผ้าคล้องคอมีขนาดเล็กสำหรับใช้สวมลงใต้เนกไทหรือกลัดไว้ที่เสื้อแอ นอกจากนี้ ครุยแบบอังกฤษทุกระดับไม่ประดับแถบกำมะหยี่ปลายตัดเพื่อระบุระดับการศึกษา แต่ครุยแบบอเมริกันจะมีการประดับเฉพาะในระดับปริญญาเอก

ระดับปริญญาตรีและโท ทั้งแบบอังกฤษและอเมริกันต่างใช้หมวกทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่พู่ของแบบอังกฤษจะเป็นเส้นไหมหลายเส้นกระจุกที่ปุ่มกลมกลางกระหม่อม ไม่เหมือนแบบอเมริกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนในระดับปริญญาเอก ในอังกฤษอาจใช้หมวกทรงกลมมีปีกและเอวที่เรียกว่า tudor bonnet ที่เอวหมวกมีเส้นไหมกลมรัดโดยรอบแล้วทิ้งปลายเป็นพู่ไป แต่ในสหรัฐอเมริกาจะใช้หมวกทรงหกหรือแปดเหลี่ยมพร้อมพู่

ตัวอย่างการใช้ในประเทศไทย[แก้]

แม้ครุยวิทยฐานะอเมริกันจะเป็นที่นิยมในประเทศไทย (แม้อากาศร้อน) ก็ตาม แต่ครุยวิทยฐานะแบบอเมริกันดั้งเดิมได้ถูกปรับเปลี่ยนไปทั้งสิ้น ทั้งการสวมผ้าคล้องคอในระดับปริญญาตรี (เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล[11] มหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง[12]) และการประดับแถบกำมะหยี่ที่แขนในระดับต่ำกว่าปริญญาเอก คงเหลือแต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้นที่คงใช้ครุยวิทยฐานะแบบอเมริกันแท้อยู่ แม้ว่าจะต่างไปจากการใช้ในปัจจุบันบ้างก็ตาม กล่าวคือ ระดับปริญญาตรีใช้เสื้อคลุมอย่างเดียวมีพู่สีตามคณะคล้องรอบคอเสื้อ (แต่บางมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ นิยมใช้ผ้าพาดบ่าสีต่าง ๆ หรืออาจจะไม่มีผ้าพาดบ่าเลยก็ได้) ระดับปริญญาโทใช้เสื้อคลุมแขนยาวปลายตัน มีช่องสอดมือตรงกลาง พร้อมผ้าคลุมไหล่ ระดับปริญญาเอกใช้เสื้อคลุมแขนยาวพร้อมแถบกำมะหยี่ หมวกที่ใช้เป็นหมวกทรงสี่เหลี่ยมพร้อมพู่ทรงยาวทุกระดับ (แต่ในสหรัฐฯ นิยมใช้หมวกทรงหกหรือแปดเหลี่ยมกับปริญญาเอก)[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. "University of Pennsylvania. History of Academic Regalia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-24. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
  2. Stephen Wolgast, "King's Crowns: The History of Academic Dress at King's College and Columbia University," Transactions of the Burgon Society 9 (2009), p. 122.
  3. "University of Texas at Austin. Regalia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-13. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
  4. Eugene Sullivan, ‘Academic Costume Code and Ceremony Guide,’ American Colleges and Universities, 16 ed., New York: Walter de Gruyter, 2001, p. 1860.
  5. Eugene Sullivan, ‘Academic Costume Code and Ceremony Guide,’ American Colleges and Universities, 16 ed., New York: Walter de Gruyter, 2001, p. 1860, Some Permissible Exceptions.
  6. Stephen Wolgast et al., "The Intercollegiate Code of Academic Costume: An Introduction," Transactions of the Burgon Society 9 (2009), pp. 16-17.
  7. Sullivan. The Academic Costume Code, Hoods
  8. Eugene Sullivan, ‘Academic Costume Code and Ceremony Guide,’ American Colleges and Universities, 16 ed., New York: Walter de Gruyter, 2001, p. 1860, Hoods;Length.
  9. Commencement Guide for master’s and doctoral candidates | May 2015 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Accessed 05/26/2015
  10. David T. Boven. American Universities’ Departure from the Academic Costume Code. เก็บถาวร 2016-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Transactions of the Burgon Society, 9 (2009), pages 156–174
  11. "ข้อบังคับ มม. ว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ พ.ศ. ๒๕๕๔" (PDF). มหาวิทยาลัยมหิดล. 3 February 2011.
  12. มหาวิทยาลัยรามคำแหง (28 August 2015). "พรฎ.ว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของ มร. พ.ศ.2558" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
  13. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (10 May 2016). "ประกาศ มก. เรื่อง ชื่อปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของ มก. พ.ศ.2559" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.