ข้ามไปเนื้อหา

คริสตินาแห่งซัคเซิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คริสตินาแห่งซัคเซิน
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์
ประติมากรรมของสมเด็จพระราชินีคริสตินาแห่งเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน โดยเคลาส์ เบิร์ก ประมาณปี ค.ศ. 1530
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
ครองราชย์21 พฤษภาคม ค.ศ. 1481–
20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1513
ราชาภิเษก14 พฤษภาคม ค.ศ. 1483
โบสถ์พระนางมารี,
โคเปนเฮเกน
ก่อนหน้าโดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค
ถัดไปอิซาเบลลาแห่งออสเตรีย
สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์
ครองราชย์ค.ศ. 1483–
20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1513
ก่อนหน้าโดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค
ถัดไปอิซาเบลลาแห่งออสเตรีย
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
ครองราชย์6 ตุลาคม ค.ศ. 1497–
สิงหาคม ค.ศ. 1501
ราชาภิเษก4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1499
ก่อนหน้าคริสตินา อับราฮัมสด็อทเทอ
ถัดไปอิซาเบลลาแห่งออสเตรีย
พระราชสมภพ25 ธันวาคม ค.ศ. 1461
ทอร์เกา, รัฐผู้คัดเลือกซัคเซิน
สวรรคต8 ธันวาคม ค.ศ. 1521 (พระชนมายุ 59 พรรษา)
โอเดนเซ[1], เดนมาร์ก
ฝังพระศพมหาวิหารนักบุญคนุต
คู่อภิเษกพระเจ้าฮันส์แห่งเดนมาร์ก
(แต่ง 1449, ตาย 1513)
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
คริสทีน ฟ็อน ซัคเซิน
ราชวงศ์เว็ททีน(โดยประสูติ)
อ็อลเดินบวร์ค (โดยเสกสมรส)
พระราชบิดาแอ็นสท์ อีเล็คเตอร์แห่งซัคเซิน
พระราชมารดาเอลิซาเบธแห่งบาวาเรีย อีเล็คเตรสแห่งซัคเซิน
ศาสนาโรมันคาทอลิก

คริสตินาแห่งซัคเซิน (25 ธันวาคม ค.ศ. 1461 - 8 ธันวาคม ค.ศ. 1521) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก, นอร์เวย์ และสวีเดน จากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฮันส์แห่งเดนมาร์ก

พระชนม์ชีพ

[แก้]

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ

[แก้]

ประสูติในปี 1461 เป็นธิดาในแอ็นสท์ อีเล็คเตอร์แห่งซัคเซินกับเอลิซาเบธแห่งบาวาเรีย อีเล็คเตรสแห่งซัคเซิน คริสตินาได้หมั้นหมายกับเจ้าชายฮันส์แห่งเดนมาร์ก พระราชโอรสในพระเจ้าคริสเตียนที่ 1 แห่งเดนมาร์ก ในค.ศ. 1477 ขณะมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ในปีถัดมาคริสตินาเสด็จไปพร้อมขบวนขนาดใหญ่ไปยังเมืองวอร์เนอมุนเดอ ซึ่งทรงได้รับการต้อนรับจากข้าราชบริพารชาวเดนมาร์กจำนวนมาก[2] ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสที่ปราสาทโคเปนเฮเกน วันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1478[2] พระราชพิธีอภิเษกสมรสนี้เป็นที่กล่าวขานว่ามีความยิ่งใหญ่มาก มีขบวนอัศวิน และเจ้าสาวทรงฉลองพระองค์ชุดลายปักทองสีแดง เสด็จในรถม้าพระที่นั่งทองคำ[3]

สัญญาการอภิเษกสมรสระบุว่า พระนางคริสตินาจะต้องได้รับรายได้ประจำปี 4,000 กิลเดอร์ รวมถึงสิทธิในการใช้ปราสาทและที่ดินศักดินาบางส่วนพร้อมทั้งเรื่องการทำธุรกิจและภาษี "โดยที่ทรงดำรงเป็นเจ้าผู้ครองนคร" มีการเขียนระบุไว้ว่า ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์ฮันส์จะสามารถซื้อสิทธิ์เหล่านั้นจากพระนางได้ในมูลค่า 40,000 กิลเดอร์[4]

ในค.ศ. 1481 หลังการสวรรคตของพระเจ้าคริสเตียนที่ 1 คริสตินาทรงได้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก ตามพระราชสวามีที่ได้สืบราชบัลลังก์ต่อ พระนางไม่ทรงได้รับการสวมมงกุฎจนกระทั่งมีการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในค.ศ. 1483 ณ โบสถ์พระนางมารี เมืองโคเปนเฮเกน และทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ด้วยเช่นกัน

ช่วง 20 ปีแรกของการอภิเษกสมรส มีข้อมูลบันทึกถึงสมเด็จพระราชินีคริสตินาน้อยมาก และเชื่อว่าพระนางทรงอุทิศพระองค์เพื่อครอบครัวของพระนาง ทรงมีพระโอรสธิดารวม 6 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายฮันส์, เจ้าชายแอร์นสท์, เจ้าชายคริสเตียน, เจ้าชายยาค็อบ, เจ้าหญิงเอลิซาเบธ และเจ้าชายฟรันซ์ เจ้าชายฟรันซ์นั้นตั้งพระนามตามนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี เจ้าชายฮันส์นั้นสิ้นพระชนม์เมื่อยังเป็นทารก ส่วนเจ้าชายแอร์นสท์และเจ้าชายฟรันซ์นั้นสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์[5] ส่วนเจ้าหญิงเอลิซาเบธต่อมาได้อภิเษกสมรสกับโยอาคิมที่ 1 เนสทอร์ อีเล็คเตอร์แห่งบรันเดินบวร์ค และทั้งสองพระองค์อาจทรงเป็นพระราชชนกและพระราชชนนีในนักบวชชื่อ ยาค็อบเดอะดาเชียน ทั้งสองพระองค์ไม่ประทับในโคเปนเฮเกนมากนัก แต่ทรงโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่ปราสาทนุเคอปิง ในเกาะฟึน ซึ่งเป็นสถานที่ประทับที่พระราชินีคริสตินาทรงโปรด ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่าพระนางทรงเข้าไปเกี่ยวข้องในการเมืองเดนมาร์กในช่วงต้นที่ดำรงเป็นสมเด็จพระราชินี[3]

สมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงได้รับการกล่าวขานว่าทรงเคร่งศาสนา และจะทรงพระกันแสงทุกครั้งในคราวที่พระนางไม่สามารถเสด็จไปร่วมพิธีมิสซาได้ ในค.ศ. 1497 พระเจ้าฮันส์และสมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงก่อตั้งโบสถ์นักบุญแคลร์, โคเปนเฮเกน

"ของขวัญตอนเช้า" และ/หรือ "พันเทลเลน"

[แก้]
พระบรมสาทิสลักษณ์ คริสตินาแห่งซัคเซิน สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก วาดราวศตวรรษที่ 16 ไม่ปรากฏชื่อผู้วาด

เมื่อคริสตินาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก ในช่วงนั้นราชอาณาจักรตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมือง สหภาพคาลมาร์กำลังจะล่มสลายด้วยความแตกแยกภายในสหภาพ จนกระทั่งค.ศ. 1483 พระเจ้าฮันส์ทรงได้รับการยอมรับให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งนอร์เวย์ แต่สวีเดนนั้นไม่ยอมรับพระองค์ในตอนแรก พระองค์จึงทำการปราบปรามชาวสวีเดนด้วยการเข้ายึดครองเกาะก็อตลันด์[5] ในค.ศ. 1490 พระองค์ต้องทรงแบ่งอาณาเขตดัชชีให้กับเจ้าชายเฟรเดอริก พระราชอนุชา[6] ในค.ศ. 1497 พระเจ้าฮันส์ทรงร่วมมือกับกลุ่มขุนนางสวีเดนกลุ่มหนึ่งเพื่อยึดอำนาจในสวีเดน และทำให้ทรงได้รับการยอมรับในฐานะพระมหากษัตริย์สวีเดน[7] นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพระราชทานที่ดินศักดินาจำนวนหนึ่งเป็น "ของขวัญตอนเช้า" (Morgengave [มอร์เกินเกล];) แก่สมเด็จพระราชินีคริสตินา (เป็นอสังหาริมทรัพย์ตลอดชีพ) ในความหมายของ "ของขวัญตอนเช้า" ในยุโรปสมัยกลางคือ สินสอดทองหมั้นที่จะมอบให้ในวันถัดจากวันแต่งงาน ในสมัยก่อน เจ้าสาวเท่านั้นที่จะได้รับสินสอดทองหมั้น ซึ่งเป็นเงินที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าเพื่อประกันทรัพย์สินส่วนตัวของฝ่ายหญิงในกรณีที่เธอไม่มีลูกและไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายในการสืบทอดมรดกจากสามี พระราชินีทรงได้รับ "ปราสาทเออเรอบรูและที่ดินศักดินาเออเรอบรู พร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ติดกัน จากนั้นทรงได้ที่ดินนาร์เก, นอร์ดันสโคห์, แวร์มลันด์ และดัลลันด์" เป็นไปได้ว่าของขวัญตอนเช้านี้ตั้งใจให้พระราชินีเพื่อแน่ใจว่าสวีเดนจะยังคงรวมในสหภาพคาลมาร์ต่อไป[7] พระนางยังทรงได้รับพระราชทานที่ดินศักดินาในเดนมาร์กด้วย ได้แก่ ที่ดินเนสบีโฮเวิดและที่ดินทรานแคร์[8] และตั้งแต่ค.ศ. 1501 พระนางยังทรงได้รับที่ดินในเมืองรีเบ, คอเลงและแอสเซินส์อีกด้วย[9]

อย่างไรก็ตามในกรณีเหล่านี้อาจเป็นเรื่องของ "พันเทลเลน" (pantelen; ภาษานอร์เวย์) ซึ่งก็คือ พันเทลเลนเป็นทรัพย์สินที่ผู้ถือครองมีไว้เป็นหลักประกันหลังจากให้พระมหากษัตริย์กู้ยืมเงินในช่วงยุคศักดินาในสแกนดิเนเวีย นั่นก็คือ แม้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ แต่ผู้ถือครองเป็นผู้ได้รับรายได้ เช่น ค่าปรับ ค่าเช่าที่ดิน และภาษีจากทรัพย์สินดังกล่าว จนกว่าพระมหากษัตริย์จะไถ่ถอนหลักประกันนั้น พันเทลมีกำหนดระยะเวลาเสมอ ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า สมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงให้พระราชสวามีกู้ยืมพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ในการสงครามในสวีเดน แต่เมื่อการสงครามไม่สำเร็จ พระมหากษัตริย์ทรงต้องชดใช้เงินคืนพระราชินีสำหรับ "ของขวัญตอนเช้า" ที่ถูกข้าศึกยึดไปและต้องชดใช้คืนเงินกู้ และทรัพย์สินที่พระมหากษัตริย์ถือครองในเดนมาร์กจะต้องถูกจัดสรรให้พระราชินีแทน[9]

สมเด็จพระราชินีภายใต้การคุมขังของสวีเดน

[แก้]
โบสถ์สตูร์ชีร์กาน ข้างปราสาทเทรียครูนูร์ สต็อกโฮล์ม ภาพวาดราว ค.ศ. 1570

ในค.ศ. 1497 พระเจ้าฮันส์ได้ถูกเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน สองปีถัดมา สมเด็จพระราชินีคริสตินาได้ตามเสด็จพระองค์ไปยังสวีเดน และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1499 ทั้งสองพระองค์ได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีแห่งสวีเดนที่เมืองอุปซอลา อย่างไรก็ตาม พระเจ้าฮันส์ไม่ทรงสามารถปราบปรามขบวนการต่อต้านพระองค์ในสวีเดนได้ในค.ศ. 1500 และในค.ศ. 1501 สมเด็จพระราชินีทรงตามเสด็จไปยังสวีเดนอีกเพื่อร่วมหารือถึงแผนการป้องกันชายแดนฟินแลนด์จากการรุกรานของรัสเซีย ในการเสด็จเยือน ค.ศ. 1501 พระนางทรงพบว่า กษัตริย์ทรงมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับเอเดล ยันสเคก หนึ่งในนางสนองพระโอษฐ์ของพระนาง ทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาวใหญ่โต และพระนางทรงจบความสัมพันธ์กับพระราชสวามีโดยพฤตินัย แต่ยังคงอภิเษกสมรสกันในนาม

นอกจากปัญหาส่วนพระองค์ ยังเกิดปัญหาทางการเมือง เมื่อการที่พระเจ้าฮันส์และพระราชินีทรงพำนักในสวีเดน ก่อให้เกิดความหวาดระแวงของชาวสวีเดนฝ่ายต่อต้านสหภาพคาลมาร์ เมื่อสมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงประกาศว่า พระนางจะทรงเข้าร่วมพิธีมิสซาที่โบสถ์สตูร์ชีร์กานเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในสต็อกโฮล์ม แต่พระเจ้าฮันส์ทรงปฏิเสธคำขอของพระราชินี จนมีบันทึกว่าพระราชินีทรงพระกันแสงอ้อนวอน เมื่อพระเจ้าฮันส์ทรงสังเกตเห็นว่า พระราชินีและข้าราชบริพารเสด็จมาเข้าเฝ้าพระองค์พร้อมกลุ่มชาวสวีเดน ทหารรักษาพระองคืกลับยิงปืนเข้าใส่กลุ่มชาวสวีเดนเพราะพวกเขาเชื่อว่า พวกขุนนางสวีเดนจับองค์พระราชินีเป็นองค์ประกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวสวีเดนกลุ่มนั้นเพียงต้องการคุ้มกันพระราชินีให้เสด็จกลับปราสาทเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีต่อพระนางเท่านั้น[3] เหตุนี้ทำให้พระเจ้าฮันส์ยิ่งไม่กลายเป็นที่นิยมในหมู่ชาวสวีเดน

ซึ่งสภาราชอาณาจักรสวีเดนลงมติเป็นเอกฉันท์วิพากษ์วิจารณ์การปกครองของกษัตริย์ฮันส์อย่างรุนแรง และตำหนิพฤติกรรมของเจ้าพนักงานที่ดินชาวเดนมาร์กในสวีเดน พระมหากษัตริย์และพระราชินีเดนมาร์กต้องทรงตกตะลึงเมื่อคณะผู้แทนพระองค์จากรัสเซียของอีวานที่ 3 แห่งรัสเซีย เจ้าชายแห่งมอสโกเดินทางมาเข้าเฝ้าอย่างไม่คาดคิด พวกเขาร้องขอให้พระเจ้าฮันส์ทรงกระทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับเจ้าชายอีวานที่ 3 และคณะทูตได้เปิดเผยต่อขุนนางสวีเดนว่า การโจมตีฟินแลนด์โดยกองทัพชาวรัสเซียนั้นอยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันนี้ นั่นคือเพื่อช่วยเหลือให้พระเจ้าฮันส์แห่งเดนมาร์กได้ครองราชบัลลังก์สวีเดน[10]

เมื่อทราบถึงข้อตกลงที่ไม่ชอบมาพากลของรัสเซียนี้ทำให้ชาวนาและขุนนางสวีเดนลุกฮือก่อกบฏต่อพระเจ้าฮันส์ ซึ่งยังคงประทับอยู่ในสต็อกโฮล์ม เรียกว่า สงครามการปลดกษัตริย์ฮันส์และสงครามเดนมาร์ก-สวีเดน (1501-1512) ในขณะที่ขุนนางใหญ่อย่าง สเตียน สตูเร อดีตผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสวีเดน ได้ถอนความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ฮันส์เช่นกัน 2 วันต่อมา คือ วันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1501 กษัตริย์เสด็จขึ้นเรือพระที่นั่งและเสด็จหนีออกจากเมืองไปพร้อมเอเดล ยันสเคก พระสนม ปล่อยให้สมเด็จพระราชินีคริสตินาบัญชาการกองทัพป้องกันพื้นที่พระราชวังสต็อกโฮล์ม หรือปราสาทเทรียครูนูร์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องจากทรงพระประชวรเกินกว่าจะเสด็จหนีได้ พระราชินีทรงได้รับการช่วยเหลือจากทูเร ยอนสัน[11] ในขณะที่น้องชายของเขาคือ อีริค ยอนสัน ไปเข้าร่วมฝ่ายกบฏ[12] โดยได้ทำการล้อมที่เทรียครูนูร์ วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1501 ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม สมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงเจรจากับฝ่ายกบฏ แต่ระหว่างเจรจาได้เกิดเพลิงไหม้ในเมือง พื้นที่ของสต็อกโฮล์ม 1 ใน 4 ถูกเพลิงไหม้ ท่ามกลางความโกลาหลในช่วงที่ชาวเมืองดิ้นรนเพื่อรักษาชีวิตและทรัพยืสินของตน พวกกบฏจึงใช้โอกาสนี้เข้ายึดเมือง ในเอกสารของผู้นำกบฏ 17 คน กล่าวหาว่า คนของสมเด็จพระราชินีคริสตินาเป็นผู้ยุยงให้เกิดการเผาเมือง และสมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงออกประกาศตอบโต้ว่า พวกกบฏกลุ่มนี้วางเพลิงเผาเมือง โดยทรงแจ้งว่า พระนางไม่ได้ประโยชน์อะไรถ้าทรงเผาเมืองที่พระนางยังคงประทับและถูกปิดล้อมอยู่[13]

สมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงถูกกองทัพกบฏปิดล้อมปราสาท ซึ่งพระนางทรงมีพระชนมายุครบ 40 พรรษาในวันคริสต์มาสอีฟ ชาวสวีเดนออกมาถากถางว่า กษัตริย์ฮันส์หลบหนีไปกับนางสนมโดยทิ้งพระราชินีไว้เพียงลำพัง พวกเขาจึงเสนอให้สมเด็จพระราชินีเสด็จหนีออกไปพร้อมเหล่าพระและขุนนางทั้งหมด โดยจะเปิดทางให้เสด็จออกไป แต่พระราชินีปฏิเสธ พระนางทรงคาดการณ์ว่าทรงมีทหารราว 1,000 นายในปราสาท เพียงพอที่จะฝ่าวงล้อมและยึดเมืองสต็อกโฮล์มคืนได้ และพระนาง-ทรงพยายามดำเนินการตามแผนการอยู่หนึ่งครั้ง โดยทรงบัญชาให้ยิงปืนใหญ่และบุกออกไปทางประตูปราสาทในคืนฤดูหนาว แต่ก็ถูกบีบให้ถอยร่นกลับเข้าไป เหตุการณ์นี้ทำให้มีกองทัพขนาดใหญ่ต้องเข้ามาควบคุมในสต็อกโฮล์ม โดยบิชอปชาวสวีเดน เฮมมิง กาด[14] มีทหารติดอาวุธประจำการ 4,000 นาย โดยได้รับการสนับสนันจากประชาชนสต็อกโฮล์มบางส่วน ซึ่งประชาชนมีเพียง 7,000 คน ในขณะนั้น และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนกองทัพกบฏเท่าไร จึงทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดกันระหว่างกองทัพของกาด และประชาชนสต็อกโฮล์ม และหลายครั้งที่เรือประมงฝ่ายเดนมาร์กสามารถแอบออกมาจากปราสาทและกลับไปพร้อมปลาที่จับได้ หลังจากนั้น ชาวเมืองก็ถูกกาดกล่าวหาว่าช่วยเหลือพรรคพวกพระราชินี ในเดือนธันวาคม เทศมนตรีเมืองคนหนึ่งจากทั้งหมดมีสองคน กระทำการเกินขอบเขต โดยสั่งหักแขนของชาวนาคนหนึ่ง ก่นด่าชาวบ้านและสั่งให้พวกเขาเก็บข้าวของและออกไป กลุ่มชาวนาได้เดินทางไปฟ้องสภาราชอาณาจักรและขู่ว่าจะทำตามคำพูดของเทศมนตรีคนนั้น โดยจะรวมพลออกจากสต็อกโฮล์มให้หมด ให้พวกขุนนางป้องกันเมืองจากพวกเดนมาร์กเอาเอง ขณะนั้นพวกเขายังไม่แน่ใจว่า พระเจ้าฮันส์จะทรงรวบรวมกำลังมาโจมตีได้มากน้อยเพียงใด ทั้งฝ่ายที่ล้อมและฝ่ายที่ถูกล้อมต่างก็มีปืนใหญ่ แต่ไม่ทรงพลังพอที่จะทำลายกำแพงปราสาทได้ ในวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1501 พระราชินีทรงบัญชาให้ยืงปืนใส่ฝ่ายสวีเดน ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของโบสถ์สตูร์ชีร์กาน ชาวสวีเดนได้สร้าง "ฉากกั้น" ซึ่งน่าจะทำเป็นกำแพงไม้ แต่กระสุนปืนใหญ่กลับทะลุเข้ามาและสังหารคนไป 2 คน ทำให้การยิงปืนใหญ่เป็นที่น่าหวาดกลัวในหมู่ประชาชนมากขึ้น กระสุนปืนใหญ่ในสมัยนั้นมีขนาดใหญ่มาก ไม่ระเบิด แต่เมื่อกระทบกับใคร เศษกระดูกของเหยื่อจะกระเด็นออกไปทุกทิศทุกทางด้วยแรงที่มากพอ ที่เศษกระดูกเหล่านั้นจะฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่นได้ กระสุนลูกหนึ่งถูกแปลงเป็นสะเก็ดระเบิดมนุษย์[15]

หลังจากผ่านไปหกเดือน ผู้ที่ถูกปิดล้อมก็คงยังไม่หมดเสบียงอาหาร แต่ดลับเกิดโรคระบาดได้แพร่กระจายไปในปราสาท สมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงบันทึกรายงานว่า เหงือกของทหารบวมขึ้น ฟันของพวกเขาหลวม พวกเขาเคี้ยวอาหารไม่ได้ มีอาการตะคริว และไม่สามารถเดินได้ พระนางทรงคาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากอาหารรสเค็มและบูด แต่ความจริงแล้วเป็นอาการของโรคลักปิดลักเปิด นั่นคือ การขาดวิตามินซี แม้ว่าพระราชินีจะทรงคาดการผิด แต่พระนางและเหล่าผู้นำสามารถรับมือได้ และมีการรับประทานอาหารที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากอาหารรสเค็มอย่างเดียว[16]

วันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1502 กองทัพสวีเดนได้เข้าโจมตีครั้งสุดท้ายและบุกไปถึงกำแพงปราสาทชั้นใน ที่นั่นมีการต่อต้านอย่างรุนแรงจนทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจากันแทน ฝ่ายที่ถูกปิดล้อมไม่ทราบว่ากองทัพของพระเจ้าฮันส์กำลังจะเสด็จมา ตามบันทึกของสต็อกโฮล์ม มีผู้รอดชีวิตเพียง 70 คนจากจำนวนพันคน และมีเพียง 10 คนเท่านั้นที่ไม่ได้รับอันตราย[17] สมเด็จพระราชินีคริสตินาประกาศยอมจำนนวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1502 สงครามครั้งนี้เป็นการปิดล้อมที่ยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์สหภาพคาลมาร์ วันที่ 12 พฤษภาคม กองทัพเรือของพระเจ้าฮันส์ได้ขึ้นบกที่นอกเมือง ปัจจุบันคือ เกาะยูร์กอร์เดน หลังจากถูกล้อมอยู่นานถึง 7 เดือน พระองค์เสด็จมาถึงช้ากว่ากำหนดสามวัน เมื่อปราสาทพังลง พระองค์ก็หันหลังกลับและล่องเรือกลับเดนมาร์ก ทรงสูญเสียราชบัลลังก์สวีเดนไปโดยปริยาย[17]

สมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงสละพระราชอำนาจการปกครองปราสาทเพื่อแลกกลับการเสด็จกลับเดนมาร์กพร้อมข้าราชบริพารโดยสวัสดิภาพ พระนางเสด็จไปมอบพระองค์แก่ท่านผู้หญิงอิงเงอบอร์ก ท็อท ภริยาของสเตียน สตูเร ซึ่งมาเข้าเฝ้าพระนางที่ปราสาทและติดตามพระนางไปประทับที่คอนแวนต์ แต่ผู้สำเร็จราชการ สเตียน สตูเร ผู้อาวุโสกลับละเมิดสนธิสัญญาและจับสมเด็จพระราชินีคริสตินาไปคุมขัง ซึ่งการกระทำของเขาถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไร้เกียรติ พระราชินีถูกคุมขังเป๋นนักโทษเวลา 1 ปีครึ่ง ครั้งแรกทรงถูกคุมขังที่โบสถ์ไฟรเออร์ดำ ต่อมาย้ายไปคุมขังที่โบสถ์ไฟร์เออร์เทา และสุดท้ายคุมขังที่โบสถ์วัดสเตนา การคุมขังพระราชินีนั้นค่อนข้างโหร้ายมากจนพระนางไม่สามารถเสวยอะไรได้ การปฏิบัติของชาวสวีเดนต่อพระราชินีคริสตินาอย่างโหดร้าย ทำให้พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก กษัตริย์เดนมาร์กองค์ต่อมาที่เป็นพระราชโอรส กระทำการที่โหดร้ายต่อชาวสวีเดนเช่นกัน สภาราชอาณาจักรเดนมาร์กประณามการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อพระราชินีคริสตินาในขณะถูกจองจำ ชาวสวีเดนต้องการจะปล่อยตัวพระนางเพื่อแลกกับการที่กษัตริย์ฮันส์ต้องคืนปราสาทและป้อมปราการที่ยังทรงยึดครองอยู่ในสวีเดน พระคาร์ดินัลเรย์มงด์ เปโรลต์ ซึ่งทำการค้าผ่อนปรนในกลุ่มนอร์ดิก สั่งให้ปล่อยองค์ราชินีด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มพ่อค้าชาวลือเบ็ค ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1503 พระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างเคร่งขรึมจากพระราชโอรสองค์ใหญ่และขุนนางเดนมาร์ก หลังจากออกจากราชอาณาจักรไปสามปี ผู้สำเร็จราชการสเตียน สตูเร นำเสด็จพระนางมายังชายแดน ซึ่งเจ้าชายคริสเตียนทรงรับพระนางที่เมืองฮัล์มสตา[18]

การสร้างสถานะพระราชอำนาจของสมเด็จพระราชินี

[แก้]
รายละเอียดฉากประดับแท่นบูชาของเคลาส์ เบิร์ก

ไม่นานหลังเสด็จกลับมา สมเด็จพระราชินีทรงก่อตั้งโบสถ์นักบุญคลารา, โคเปนเฮเกน สำหรับแม่ชีคณะฟรันซิสกัน และทรงก่อตั้งอีกแห่งหนึ่งในโอเดนเซ[2]

ในปีต่อมา สมเด็จพระราชินีทรงแยกกันประทับกับกษัตริย์ เป็นการแยกกันโดยพฤตินัย สมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงได้รับอิสรภาพในค.ศ. 1504 พระนางสามารถเสด็จไปเยี่ยมพระราชธิดาคือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งได้เสกสมรสกับโยอาคิมที่ 1 เนสทอร์ อีเล็คเตอร์แห่งบรันเดินบวร์ค[2] พระนางเสด็จไปเยี่ยมมาร์กาเรเทอแห่งซัคเซิน ดัชเชสแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค พระขนิษฐา และเสด็จการจาริกแสวงบุญที่สแตร์นแบร์คและบัดวิลสแน็ค เมื่อเสด็จกลับเดนมาร์ก พระนางทรงประทับที่โอเดนเซ เพื่อให้ไกลจากพระมหากษัตริย์[19] และเป็นการแสดงให้เห็นว่าราชสำนักเดนมาร์กขณะนั้นเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี ซึ่งเป็นการช่วงชิงอำนาจอย่างลับๆ[20]

สมเด็จพระราชินีทรงผูกมิตรกับขุนนางจำนวนหนึ่งที่สามารถสนับสนุนพระนางได้ คือ ตระกูลรอนโนว์, กูลเดินสเตียร์เนอ, บีลเลอ และมาร์ซวิน[21] พระนางยังคงมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าชายเฟรเดอริก ดยุคแห่งฮ็อลชไตน์ พระราชอนุชาของกษัตริย์[22] ราชินีทรงใช้ทั้งขุนนางและผู้ที่ไม่ใช่ขุนนางในการบริหารทรัพย์สินและที่ดินของพระองค์ พระนางจึงได้รับการสนับสนุนจากพวกเขา[23] เบื้องหลังเครือข่ายสมเด็จพระราชินีคือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้การอุปถัมภ์กับลูกค้าในสมัยนั้น สมเด็จพระราชินีจะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สำคัญซึ่งห้อมล้อมด้วยกลุ่มคนที่เป็นเสมือนลูกค้าที่ได้ประโยชน์จากพระนางจำนวนมาก และพระนางก็จะให้ลูกค้าเหล่านั้นบริหารทรัพย์สินจำนวนมากของพระนาง และจะเป็นการแสดงพระราชอำนาจทางเศรษฐกิจ[24] พระนางแสดงสถานะของความเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์นี้หลากหลายวิธี เช่น พระนางทรงซื้อผ้าราคาแพงเพื่อนำมาตัดเย็บเครื่องแบบข้าราชบริพารของพระนางเอง พระนางทรงซื้ออาหารมากมายและหรูหรา และทรงจ้างเคลาส์ เบิร์กให้สร้างฉากประดับแท่นบูชาในวิหารนักบุญคนุต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในศาสนาของพระนาง[25] และแสดงสถานะพระราชอำนาจของสมเด็จพระราชินี[26] พระนางทรงเป็นพระมารดาอุปถัมภ์แก่เหล่าลูกค้าและลูกๆ ของพวกเขา และยังทรงช่วยจัดงานแต่งงานให้แก่ลูกค้าหลายรายอีกด้วย[27] พระนางทรงจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายของแพทย์ให้กับลูกค้าของพระนาง[28] และทรงพระราชทานค่าใช้จ่ายการทำศพ (รวมถึงพิธีศพ) แก่ลูกค้าเหล่านั้น[29] และในส่วนของขุนนางและกลุ่มไม่ใช่ขุนนางที่เป็นลูกค้านั้น ก็มองพระนางเสมือนบุคคลสำคัญสำหรับความก้าวหน้าในอาชีพของพวกเขา[30] ที่พวกเขาสามารถก้าวเข้าสู่ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ซึ่งพระนางอาจทรงได้รับประโยชน์ในภายหลัง

ราชสำนักของพระนางแยกเป็นเอกเทศมี แอนเนอ ไมน์สทอร์ฟ นางสนองพระโอษฐ์ของพระนางเป็นหัวหน้าผู้ดูแล และตั้งอยู่ในที่ดินพระราชมรดกของพระนางคือ ปราสาทเนสบีโฮเวิดในโอเดนเซ และพระราชินีทรงประทับร่วมกับพระราชโอรสองค์เล็ก คือ เจ้าชายฟรันซ์ พระนางทรงจัดราชสำนักใหญ่โตพร้อมแขกเหรื่อมากมาย แต่แทบไม่มีการเสด็จเยือนของกษัตริย์มายังราชสำนักนี้เลย[3]

การฆาตกรรมที่ไม่คลี่คลาย

[แก้]

ค.ศ. 1504 เลนส์มานด์ (ตำแหน่ง เจ้าพนักงานจัดการที่ดิน) ของสมเด็จพระราชินีคริสตินาในเขตศักดินาเนสบีโฮเวิด ชื่อ อ็อทโท พอร์สเฟลด์ ถูกสังหารอย่างเป็นปริศนา[19] เรื่องราวที่เล่าดูเหมือนว่า ระหว่างที่เขาไปพักกับพลเมืองคนหนึ่งในโอเดนเซ ชื่อ ฮันส์ เครมเมอร์ เขาถูกทำให้บาดเจ็บสาหัสโดย คนุต เคเยลด์เซน ซึ่งเป็นพ่อครัวประจำตัวบิชอป ในทำนองเดียวกันกับคนุต ฟรีส สมาชิกสภาเมือง ก็ถูกทำให้บาดเจ็บโดยสเตฟเฟน ทึสเก[31] ซึ่งทั้งสเตฟเฟน ทึสเก, คนุต เคเยลต์เซน และบิชอปเยนส์ แอนเดอเซน เบลเดนัคล้วนเป็นคนของพระเจ้าฮันส์[21] ในตอนแรกไม่มีการพิจารณาคดีใดๆ แต่ดูเหมือนว่าพระมหากษัตริย์จะทรงปกป้องคนของพระองค์จากการสืบสวนของพระราชินี โดยสมเด็จพระราชินีทรงจัดงานศพอย่างยิ่งใหญ่ให้แก่พอร์สเฟลด์เพื่อแสดงพระราชอำนาจของพระนางและท้าทายบิชอปเบลเดนัค โดยมีขบวนแห่ศพขนาดใหญ่ผ่านกลางเมืองโอเดนเซและมีม้านำเข้าไปยังโบสถ์ สามเดือนต่อมา สมเด็จพระราชินีทรงนำศพของคนของพระนางออกมาแห่ขบวนอีกครั้ง เพื่อให้พระมหากษัตริย์ได้ทอดพระเนตรขบวนแห่ศพอีกครั้งผ่านหน้าต่างห้องประทับของพระองค์[32]

ฉากประดับแท่นบูชาในโอเดนเซ

[แก้]
รายละเอียดฉากประดับแท่นบูชาสมเด็จพระราชินีคริสตินา

สมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงมีความสนพระทัยในงานศิลปะและการดนตรี พระนางทรงอุปถัมภ์เหล่านักดนตรี นักเขียนและจิตรกร ในโบสถ์เกรย์เฟรียร์ส (โอเดนเซ) พระนางทรงมีพระบัญชาให้ตกแต่งหลุมฝังศพซึ่งปัจจุบันยังคงมีการอนุรักษ์ไว้ โดยทรงให้สร้างประติมากรรมพระเจ้าฮันส์และตัวพระนางเองประดับอยู่ ภายใต้การดูแลของเคลาส์ เบิร์ก มีการสร้างฉากประดับแท่นบูชาที่แสดงรูปของพระราชวงศ์ทั้งหมด[33] นอกจากนี้เมื่อคราวเสด็จกลับเดนมาร์กพระนางทรงก่อตั้งคอนแวนต์คณะกลาริสในโคเปนเฮเกนและโอเดนเซ[34] พระนางยังทรงอุปถัมภ์งานเขียนของพระไมเคิลแห่งโอเดนเซ[34] พระนางทรงเป็นคาทอลิกสายวิพากษ์ ทรงปรารถนาให้เกิดการปฏิรูปศาสนจักรโรมันคาทอลิก และทรงอุปถัมภ์คณะภราดานักบุญกลาราแห่งมอนเตฟาลโกและนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี และยังทรงสนับสนุนลอริดส์ บรานด์เซน ผู้ทำงานเพื่อปฏิรูปวินัยของสำนักคอนแวนต์ในเดนมาร์ก[34] พระนางทรงยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ทำการกุศลมากมาย

การชดเชยทรัพย์สินที่สูญเสียไป

[แก้]

สมเด็จพระราชินีคริสตินาทรงตามเสด็จพระราชสวามีไปยังคาบสมุทรจัตแลนด์ ซึ่งเป็นการเสด็จเยือนครั้งสุดท้ายในรัชกาล[35]

หลังจากพระเจ้าฮันส์เสด็จสวรรคตในค.ศ. 1513 พระนางทรงดำรงเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงและประทับที่ปราสาทเนสบีโฮเวิดใกล้เมืองโอเดนเซ ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์[35] ซึ่งมีคำถามเกิดขึ้นว่า พระนางทรงได้รับค่าชดเชย "ของขวัญตอนเช้า" และค่าใช้จ่ายที่ทรงต้องเสียให้แก่สงครามของพระราชสวามีอย่างครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งพระนางไม่ทรงเคยได้รับการชดเชยในส่วนนี้เลย ในค.ศ. 1517 ที่ดินศักดินารูกอร์ดถูกโอนให้แก่สมเด็จพระพันปีหลวง การโอนทรัพย์สินเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ทรงพยายามยึดคืนพระราชอำนาจในสวีเดน จึงอาจเป็นเพราะสมเด็จพระพันปีหลวงเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่สงครามของพระราชโอรส พระนางก็จะทรงได้รับการชดเชยทรัพย์สินนี้คืนมาได้ในที่สุด[36]

บั้นปลายพระชนม์ชีพและคดีความ

[แก้]

หลังพระราชสวามีสวรรคต พระนางคริสตินาทรงเริ่มแสดงพระราชอำนาจหลังจากทรงถูกพระราชสวามีขัดขวางมาเป็นระยะเวลานาน อดีตกษัตริย์ฮันส์ทรงแต่งตั้งเยนส์ แอนเดอเซน เบลเดนัค คนสนิทเป็นบิชอปแห่งฟึนสืบต่อจากบิชอปคาร์ล รอนโนว์[37] ในค.ศ. 1517 พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 พระราชโอรสของพระนางได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ เบลเดนัคและคนอีกหลายคนถูกราชสำนักกล่าวหาในวันแฮร์เดว่า ติดหนี้ค้างชำระต่อพระมหากษัตริย์หลายรายการ และตามความในพงศาวดารสกิบบี้ ที่ว่า "เขายังแสดงความไม่เคารพต่อสมเด็จพระราชินีคริสตินา พระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ และทำให้พระนางพิโรธยิ่งนักที่เขาสังหาร อ็อทโท พอร์สเฟลด์ ขุนนางซึ่งเป็นมหาดเล็กของพระนาง" บิชอปเยนส์ แอนเดอเซนจึงถูกจับกุมในค.ศ. 1517[38] และสภาเมืองโอเดนเซได้พิพากษาให้ปรับคนุต เคเยลด์เซน ซึ่งเป็นพ่อครัวประจำตัวบิชอป การพิจารณาคดีบิชอปแห่งโอเดนเซและฟึนนี้เป็นแผนการทางการเมืองที่นำโดยสมเด็จพระพันปีหลวงคริสตินา พระราชโอรสของพระนาง อดีตเสนาบดีของพระนางและบุตรชายของเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่จงรักภักดีต่อพระนางในเมืองคอเดง[39] ได้มีการแต่งตั้งพระฟรันซิสกันชาวดัตช์ชื่อ วินเซนส์ เคมเป เป็นบิชอปแทนที่เบลเดนัค[40]

หลังจากพระนางสวรรคต พระบรมศพได้ถูกฝังที่โบสถ์เกรย์เฟรียร์ส (โอเดนเซ) โดยฝังอยู่ในเขตแม่ชีคณะฟรันซิสกัน เมื่อโบสถ์เกรย์เฟรียร์สถูกทำลาย มีการเคลื่อนย้ายพระบรมศพและสิ่งของมาฝังที่มหาวิหารนักบุญคนุต ในค.ศ. 1805[35] ปลายรัชสมัยพระเจ้าคริสเตียนที่ 7 แห่งเดนมาร์ก

พระราชโอรสธิดา

[แก้]

พระเจ้าฮันส์และพระราชินีคริสตินา ทรงมีพระราชโอรสธิดาร่วมกัน 6 พระองค์ ได้แก่

พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ หมายเหตุ
เจ้าชายฮันส์ ค.ศ. 1479 ค.ศ. 1480 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
เจ้าชายแอร์นสท์ ค.ศ. 1480 ค.ศ. 1480 สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์
พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1481 25 มกราคม ค.ศ. 1559 พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก สวีเดนและนอร์เวย์ ทรงมีทายาท
เจ้าชายยาค็อบ ค.ศ. 1484 ค.ศ. 1566 อาจเป็นพระองค์เดียวกับยาค็อบเดอะดาเชียน
เจ้าหญิงเอลิซาเบธ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1485 10 มิถุนายน ค.ศ. 1555 อภิเษกสมรสกับโยอาคิมที่ 1 เนสทอร์ อีเล็คเตอร์แห่งบรันเดินบวร์ค ในปีค.ศ. 1502 ทรงมีทายาท
เจ้าชายฟรันซ์ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1497 1 เมษายน ค.ศ. 1511

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Heise, s. 571
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Heise, s. 572
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Jorgensen, Ellen; Skovgaard, Johanne (1910). Danske dronniger; fortaellinger og karakteristikker af Ellen Jorgensen og Johanne Skovgaard. Robarts - University of Toronto. Kobenhavn H. Hagerup.
  4. Jespersen 2006, p. 12f. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFJespersen2006 (help)
  5. 5.0 5.1 Jespersen 2006, p. 11. sfn error: multiple targets (2×): CITEREFJespersen2006 (help)
  6. Jespersen, s. 11f
  7. 7.0 7.1 Jespersen, s. 12
  8. Jespersen, s. 14
  9. 9.0 9.1 Jespersen, s. 15
  10. Øystein Hellesøe Brekke: Knut Alvssons krig (s. 90-92), forlaget Vigmostad Bjørke, Bergen 2017, ISBN 978-82-419-1453-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  11. https://www.geni.com/people/Ture-Jönsson-Tre-rosor/6000000001230082152
  12. Øystein Hellesøe Brekke: Knut Alvssons krig (s. 101)
  13. Øystein Hellesøe Brekke: Knut Alvssons krig (s. 130)
  14. Hemming Gadh – Store norske leksikon
  15. Øystein Hellesøe Brekke: Knut Alvssons krig (s. 131-34)
  16. Øystein Hellesøe Brekke: Knut Alvssons krig (s. 172)
  17. 17.0 17.1 Øystein Hellesøe Brekke: Knut Alvssons krig (s. 173)
  18. Christine Av Sachsen – Norsk biografisk leksikon
  19. 19.0 19.1 Jespersen, s. 18
  20. Jespersen, s. 18ff
  21. 21.0 21.1 Jespersen, s. 20
  22. Jespersen, s. 24
  23. Jespersen, s. 25f
  24. Jespersen, s. 114
  25. Jespersen, s. 116
  26. Jespersen, s. 27
  27. Jespersen, s. 117
  28. Jespersen, s. 118
  29. Jespersen, s. 121
  30. Jespersen, s. 122
  31. Jespersen, s. 18f
  32. Jannie Iwankow Søgaard: "På historisk vandring i byen", Kristeligt Dagblad 30. august 2019
  33. Jespersen, s. 26f
  34. 34.0 34.1 34.2 Dansk Biografisk Leksikon
  35. 35.0 35.1 35.2 Heise, s. 573
  36. Jespersen, s. 17
  37. 719 (Salmonsens konversationsleksikon / Anden Udgave / Bind I: A—Arbejdergilder)
  38. Jespersen, s. 28
  39. Jespersen, s. 29
  40. Jespersen, s. 30

อ้างอิง

[แก้]
ก่อนหน้า คริสตินาแห่งซัคเซิน ถัดไป
โดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
(ราชวงศ์โอลเดนบวร์ก)

(ค.ศ. 1481 – 1513)
ว่าง
ลำดับถัดไป
อิซาเบลลาแห่งออสเตรีย
ว่าง
ลำดับก่อนหน้า
โดโรเธียแห่งบรันเดินบวร์ค

สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์
(ราชวงศ์โอลเดนบวร์ก)

(ค.ศ. 1483 – 1513)


ว่าง
ลำดับก่อนหน้า
คริสตินา อับราฮัมสด็อทเทอร์

สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
(ราชวงศ์โอลเดนบวร์ก)

(ค.ศ. 1497 – 1501)