คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ |
พรรคการเมืองหลักที่เกี่ยวข้อง
|
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย |
คดียุบพรรคการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นคดีประวัติศาสตร์ที่พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย (พ.ศ. 2545) ในคดีกลุ่มที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าในคดีกลุ่มที่ 2 ถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยในข้อกล่าวหา เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการไต่สวนพยานครบถ้วนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 ต่อมาตุลาการรัฐธรรมนูญแต่ละคน ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตนออกมาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกลางในช่วงบ่ายจนถึงเกือบเที่ยงคืนของวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 เริ่มจากคดีกลุ่มที่ 2 ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุตลอดการอ่านคำวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ สรุปว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ส่วนอีก 4 พรรคมีความผิดจริง จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี
ระหว่างการอ่านคำวินิจฉัย รัฐบาล ทหาร และตำรวจ ได้เตรียมพร้อมรองรับกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่คาดว่าอาจออกมาเคลื่อนไหว โดยเตรียมพร้อมประกาศใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีเกิดสถานการณ์รุนแรง แต่ในที่สุดไม่มีเหตุการณ์เคลื่อนไหวรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น
ประวัติ
[แก้]คดียุบพรรคมีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ต่อมานาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า พรรคไทยรักไทยได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค พรรคไทยรักไทยร้องเรียนกลับว่าถูกพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กใส่ร้ายพรรคตน
กกต. มีความเห็นว่าทั้ง 5 พรรค กระทำความผิดตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และได้ส่งสำนวนต่อนาย พชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (ประเทศไทย) เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 พรรค
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ส่งผลให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าถูกยกเลิกไปด้วยกัน และได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่มีจำนวน 9 คน [1] ขณะเดียวกันได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 กำหนดให้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังคงบังคับใช้ต่อไป และกรณีที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคนาน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนาย พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นและร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน อันเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้มีการปลอมเอกสาร เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
โดยระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2549 พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต และ พล.ท.ผดุงศักดิ์ กลั่นเสนาะ นายทหารคนสนิทของพล.อ.ธรรมรักษ์ ได้มอบเงินรวม 3,675,000 บาท แก่นางฐัติมา ภาวะลี ผู้ประสานงานพรรคแผ่นดินไทย เป็นค่าใช้จ่าย ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ได้ร่วมกับนายทวี สุวรรณพัฒน์ นายยุทธพงศ์หรือนายพงษ์ศรี ศิวาโมกข์และนายธีรชัยหรือต้อย จุลพัฒน์ มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้ นาย ชก. โตสวัสดิ์ ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อนำไปให้นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ไปใช้จ่ายในการนำสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง และใน วันที่ 6 และวันที่ 8 มีนาคม 2549 นายทวีได้นำเงินไปให้นาย ชก. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพัฒนาชาติไทยรวม 1,190,000 บาท การกระทำของ พล.อ.ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพรรคไทยรักไทย ขอให้ มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 ข้อ 3
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยที่ท้องสนามหลวง กล่าวหาการบริหารงานของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็น "ระบอบทักษิณ" ใส่ร้าย พ.ต.ท. ทักษิณ ด้วยข้อความเท็จว่า ระบอบทักษิณ ทำลายประชาธิปไตยแทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ สร้างความแตกแยกของคนในชาติ มีการทุจริตอย่างมโหฬาร เพื่อจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พ.ต.ท. ทักษิณ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย
- นายทักษะนัย กี่สุ้น ผู้ช่วย นาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นำ น.ส. นิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ราษฎร จ.ตรัง เพื่อสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า แล้วไปลงสมัคร ส.ส. ที่ จ.ตรัง โดยใช้เอกสารอันเป็นเท็จว่า เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ไม่น้อยกว่า 90 วัน แล้วใส่ร้ายว่า กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยว่าเป็นผู้ว่าจ้างให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
- นายไทกร พลสุวรรณ ในฐานะตัวแทนนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจ้างให้นายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่า แถลงข่าวใส่ร้ายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างสมาชิกพรรคชีวิตที่ดีกว่าลงสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จ
- สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อยู่เบื้องหลังร่วมกันขัดขวางการสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรับสมัคร จ.สงขลา
อัยการสูงสุด เห็นว่าการกระทำตามข้อ 1-4 เป็นการกระทำของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรค เพื่อประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 66 (2) และ (3)
คำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
[แก้]โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยนางสาวอิสราหรือ พรณารินทร์ ยงค์ประสิทธิ์ หัวหน้าพรรคและเป็นผู้แทนของพรรค กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2) และ (3)
คำร้องให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทย
[แก้]โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปว่า เนื่องจากพรรคพัฒนาชาติไทย โดยนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทยและเป็นผู้แทนของพรรคกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการ ปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2)
คำร้องให้ยุบพรรคแผ่นดินไทย
[แก้]โดยข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปว่าพรรคแผ่นดินไทย โดยนายบุญอิทธิพลหรือบุญบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทยเป็นผู้แทนของพรรค กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญและกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2) และ (3)
พระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคการเมือง
[แก้]วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์ อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ในขณะนั้น พร้อมคณะตุลาการศาลปกครอง และข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง จำนวน 20 คน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเสื้อครุยตุลาการศาลปกครอง เนื่องในโอกาสการจัดงาน พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในโอกาสนี้ได้มีพระราชดำรัสกับคณะผู้เข้าเฝ้าฯ มีใจความสำคัญว่าการพิพากษาคดีนี้เป็นการตัดสินใจที่สำคัญ ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็จะเกิดความเดือดร้อนทั้งนั้น แต่ผู้พิพากษาก็มีหน้าที่ที่จะวิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าว และมี "ความรับผิดชอบที่จะทำให้บ้านเมืองไม่ล่มจม" [5][6][7]
ท่าทีของบุคคลสำคัญหลังพระราชดำรัส
[แก้]จากพระราชดำรัสครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายออกมาน้อมรับ และเชื่อว่าน่าจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายดีขึ้น
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เท่าที่ได้ฟังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สรุปได้ 5 ประเด็น [7] คือ
- สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทรงเดือดร้อนพระทัย เหมือนกับนำเคราะห์มาให้ท่านอีก
- เรื่องที่จะตัดสินกันในอีกไม่กี่วันนี้ เป็นเรื่องสำคัญ มีผลกระทบต่อบ้านเมืองเพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายกันไป ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรก็มีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่เสมอ
- ทางที่ดีที่สุดคือศาลต้องกล้าหาญและสุจริตในการตัดสิน
- เมื่อตัดสินแล้วต้องใช้สติปัญญาของทุกคนอธิบายผลที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนทุกระดับได้เข้าใจในผลการตัดสิน
- ท่านทรงอวยพรให้ปลอดภัยโชคดี
ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ยอมรับว่าห่วง แต่เท่าที่เตรียมการไว้แล้วไม่น่าจะการมีการชุมนุมใหญ่ เพราะเราได้เตรียมทำความเข้าใจกับประชาชนมาพอสมควร ว่าควรยึดถือคำวินิจฉัยของศาล หากเราไม่ยึดถือศาล ต่อไปจะไม่มีอะไรเป็นหลักยึดในด้านความยุติธรรม อย่างที่เขาพูดกันว่าควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายในกระบวนการยุติธรรม" พร้อมกับลดระยะเวลาการเยือนจีนให้สั้นลง เพื่อกลับประเทศไทยในวันที่ 29 พฤษภาคม [7]
นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และรองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การตัดสินคดีจะเป็นไปตามหลักนิติศาสตร์ ส่วนจะมีการยุบพรรคหรือไม่ ต้องดูว่าอัยการฟ้องอย่างไร ขอให้ศาลทำอะไร และข้อเท็จจริงในคดีเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ สิ่งที่จะสนองพระราชดำรัส คือการกระทำด้วยเหตุด้วยผลตามหลักกฎหมายที่จะต้องสามารถอธิบายหลักกฎหมายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ คำนึงถึงภาวะรอบด้านทุกอย่างให้ครบถ้วน [7]
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า พรรคต้องน้อมรับพระราชดำรัส ใช้เป็นหลักปฏิบัติคือการช่วยกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกมาเป็นเช่นไร พร้อมจะรับและดำเนินงานทางการเมืองต่อไป โดยยึดหลักสันติวิธีและยึดมั่นตามระบอบรัฐสภา [7]
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นไปในทิศทางเดียวกันโดยกล่าวว่า สิ่งที่ควรคิดกันคือทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเดือดร้อน หรือเกิดความเดือดร้อนน้อยที่สุด เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ประสงค์จะเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นในรูปแบบใดทั้งสิ้น ดังนั้นการเคลื่อนไหวอะไรก็ตามของฝ่ายที่คิดหรือหวังผลที่จะให้เกิดความรุนแรง จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ [7]
การไต่สวนและคำวินิจฉัย
[แก้]ผู้พิพากษาคดียุบพรรคการเมือง
[แก้]ผู้พิพากษาคดียุบพรรคการเมืองมีทั้งหมด 9 คน ซึ่งทั้งหมดมีดังนี้ [1]
- อาจารย์ ปัญญา ถนอมรอด (ประธานศาลฎีกา เป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อักขราทร จุฬารัตน (ประธานศาลปกครอง เป็นรองประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- ศาสตราจารย์พิเศษ หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- ศาสตราจารย์พิเศษ สมชาย พงษธา (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- นายนุรักษ์ มาประณีต (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- ศาสตราจารย์พิเศษ ธานิศ เกศวพิทักษ์ (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- นายจรัญ หัตถกรรม (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
- นายวิชัย ชื่นชมพูนุท (ตุลาการรัฐธรรมนูญ)
ตุลาการรัฐธรรมนูญได้แบ่งการพิจารณาคดีออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย โดยการไต่สวนพยานนัดแรกเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 และไต่สวนพยานอย่างต่อเนื่องทุกวันอังคาร รวมทั้งสิ้น 14 นัด โดยการไต่สวนพยานพยานนัดสุดท้าย คือ วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้มีการสืบพยานฝ่ายอัยการผู้ร้องไปทั้งสิ้น 31 ปาก พยานพรรคไทยรักไทย ผู้ถูกร้องที่ 1 จำนวน 19 ปาก พยานพรรคพัฒนาชาติไทยผู้ถูกร้องที่ 2 จำนวน 2 ปาก และพยานพรรคแผ่นดินไทย ผู้ถูกร้องที่ 3 จำนวน 1 ปาก
- กลุ่มที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยการไต่สวนพยานนัดแรกเริ่มขึ้นเมื่อ 18 มกราคม 2550 และไต่สวนพยานอย่างต่อเนื่องทุกวันพฤหัสบดี รวมทั้งสิ้น 12 นัด โดยการไต่สวนพยานนัดสุดท้าย คือ วันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา
ตามกำหนดการของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญมีกำหนดอ่านคำวินิจฉัยของกลุ่มที่ 2 ก่อน (พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า) ในเวลา 13.30 น. หลังจากนั้นจะอ่านคำวินิจฉัยกลุ่มที่ 1 (พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย) ในเวลา 14.30 น. [8] อย่างไรก็ตาม การอ่านคำวินิจฉัยใช้เวลานานหลายชั่วโมงจนเกินกำหนดการ ทั้งนี้ได้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่องและสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย
สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 2
[แก้]เวลา 13.30-17.45 น. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย กรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มีมติยกคำร้องที่ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และมีคำสั่งให้ยุบ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อ กรรมการบริหารพรรค เป็นจำนวน 9 คน มีกำหนด 5 ปี [9][10] สามารถสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ [11]
กรณีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า โดยกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) และ (3) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาพยานหลักฐานที่ปรากฏตามทางไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ยังมีผลบังคับใช้อยู่โดยไม่ได้ถูกยกเลิกตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 3 เหมือนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540
- นายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถส่งเรื่องร้องเรียนคดีนี้ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาของ กกต. เพราะเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
- การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองส่งเรื่องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างเหตุรวม 8 ประเด็น และอัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคโดยอ้างเหตุเพียง 4 ประเด็นถือว่าอัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่จำต้องตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งอัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะไม่ใช่กรณีอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
- การที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงวันมีคำวินิจฉัยเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น มีผลต่อการดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ไม่มีผลเป็นการยกเลิกหรือเพิกถอนการกระทำของพรรคการเมืองที่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค จึงไม่ทำให้ข้อกล่าวหาที่มีต่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าตามคำร้องของอัยการสูงสุดต้องตกไป
- การที่หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จัดให้มีการปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ส่อแสดงให้เข้าใจได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และบุคคลร่วมรัฐบาลบางคนมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี การนำเรื่องดังกล่าวมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นวิสัยของประชาชนทั่วไปย่อมกระทำได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ส่วนการกล่าวปราศรัยหรือชักชวนให้ลงคะแนนในช่อง "ไม่ประสงค์จะลงคะแนน" เป็นสิทธิ์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 326 (4) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 56 จึงไม่เป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคไทยรักไทยผู้สมัครรับเลือกตั้ง และชักจูงให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองใดที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง
- ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ รู้เห็นเป็นใจให้นายทักษนัย กี่สุ้น นำนางสาวนิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังแล้วจัดแถลงข่าวว่าพรรคไทยรักไทยเป็นผู้ว่าจ้างบุคคลทั้งสามนั้น ฟังได้ว่านายทักษนัย พาผู้สมัครทั้งสามไปสมัครสมาชิกพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยรู้ว่าผู้สมัครทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ครบ 90 วันจริง แต่นายสาทิตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือสนับสนุนการกระทำของนายทักษนัย และฟังไม่ได้ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ จัดแถลงข่าวใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยว่าเป็นผู้ว่าจ้างผู้สมัครทั้งสาม
- ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายไทกร พลสุวรรณ ว่าจ้างนายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่าใส่ร้ายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น กรณีฟังไม่ได้ว่านายไทกร ว่าจ้างให้นายวรรธวริทธิ์ใส่ร้ายนายสุวัจน์ แต่เป็นเรื่องที่นายไทกร แสวงหาพยานหลักฐานจากนายวรรธวริทธิ์ เนื่องจากนายไทกรเชื่อว่าพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง
- ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรของนางสาวปัทมา ชายเกตุ กับพวกที่ จ.สงขลา ฟังได้ว่ามีการขัดขวางจริง แต่กรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีส่วนร่วมในการขัดขวางดังกล่าว
- ที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จให้แก่นางสาวนิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และนายสุวิทย์ อบอุ่น ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่ครบ 90 วัน นำไปเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ฟังได้ว่า นางสาวอิสรา หรือพรณารินทร์ ยวงประสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองอันเป็นเท็จโดยรู้อยู่ว่าบุคคลทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ครบ 90 วันจริง
สำหรับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดห้าปี ตั้งแต่วันมีคำสั่งยุบพรรคตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 นั้น เห็นว่าการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มิให้ผู้บริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน แต่การมีกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้ ประกาศ คปค. จึงมีผลบังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจึงให้ยกคำร้องในส่วนที่ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) (3) โดยเป็นการกระทำที่ขาดจิตสำนึกที่ดีต่อประชาชน ไม่คำนึงถึงความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศชาติ จึงให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าและให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 9 คน ตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง ฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2549 มีกำหนด 5 ปี ตั้งแต่วันมีคำสั่งยุบพรรคตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3
สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 1
[แก้]เวลา 18.15-23.40 น. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย โดยมีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้งสามพรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรค เป็นจำนวน 111 คน, 19 คน, และ 3 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี [12][13] สามารถสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ [14]
กรณีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง และพยานหลักฐานทั้งหมด ของคู่กรณีโดยละเอียด ได้มี คำวินิจฉัย ในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายโดยมีรายละเอียดสรุปดังนี้
- คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 35
- การยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง หากปรากฏต่อนายทะเบียน ไม่ว่าจากผู้ใด นายทะเบียนมีอำนาจแจ้งอัยการสูงสุดเพื่อให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้
- การสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่จำต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 19 วรรคสองและวรรคสาม และเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของนายทะเบียนพรรคการเมือง มิใช่การดำเนินการตามคำสั่งของ กกต. จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งระเบียบ กกต. ข้อ 40
- พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีศักดิ์และสถานะทางกฎหมายเท่ากับพระราชบัญญัติทั่วไป การยกเลิกหรือการทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลบังคับจึงต้องมีกฎหมายยกเลิกหรือมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับแทน เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นก่อนจึงยังไม่ระงับสิ้นไป และการกระทำอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังมีความผิดต่อไปด้วย คำชี้แจงของสำนักงานเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครอง เป็นเพียงความเห็นจึงไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายและไม่มีผลทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับสิ้นผลใช้บังคับ
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 328 ให้อำนาจองค์กรนิติบัญญัติตรากฎหมายที่มีผลเป็นการยกเลิกหรือยุบพรรคการเมืองได้ มิได้มีความหมายเลยไปถึงว่าองค์กรนิติบัญญัติจะตรากฎหมายลงโทษพรรคการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (2) (3) และ (4) ไม่ได้ จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่เกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพของบุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 262 ให้สิทธิเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะโต้แย้งได้ หาได้ให้สิทธิพรรคไทยรักไทยที่จะโต้แย้งเรื่องดังกล่าวได้
- เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว ย่อมมีอำนาจใช้ดุลยพินิจสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 63 วรรคสาม ได้ทันที ไม่ต้องมีคำสั่งให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการตามวรรคสองก่อน
- การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งถูกยกเลิกไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าวนั้น หามีผลเป็นการยกเลิกความผิดที่ได้กระทำไปแล้วไม่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน
- ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยรับจ้างพรรคไทยรักไทยจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. แก้ไขข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย เพื่อให้ครบ 90 วัน โดยมีพรรคไทยรักไทยเป็นผู้สนับสนุน และพรรคพัฒนาชาติไทยกับพรรคแผ่นดินไทย ออกหนังสือรับรองสมาชิกพรรคของตนอันเป็นเท็จเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง
- พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นกรรมการบริหารพรรคคนสำคัญของพรรคไทยรักไทย และได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรคดำเนินการเพื่อให้พรรคไทยรักไทยสามารถกลับคืนสู่อำนาจได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพรรคไทยรักไทย พรรคไทยรักไทยไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกล่าวหา ทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้งทั้งที่ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย ถือได้ว่าการกระทำของพลเอก ธรรมรักษ์ และนายพงษ์ศักดิ์ เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคไทยรักไทย นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยและการรับเงินจากพล.อ.ธรรมรักษ์ เป็นผู้แทนของพรรคพัฒนาชาติไทย ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญทวีศักดิ์เป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคพัฒนาชาติไทย นายบุญาบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทย รู้เห็นยินยอมให้นางฐัติมา ภาวะลี รับเงินจากพล.อ.ธรรมรักษ์ ทั้งยังออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกพรรคอันเป็นเท็จ ถือได้ว่าการกระทำของนายบุญาบารมีภณเป็นการกระทำและมีผลผูกพันพรรคแผ่นดินไทย
- การกระทำของพรรคไทยรักไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การกระทำของพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เข้าหลักเกณฑ์ที่ถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- การกระทำของพรรคไทยรักไทยเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง และไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคไทยรักไทย ส่วนพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทยเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของผู้ก่อตั้งหรือคณะกรรมการบริหารพรรค มิได้มีสภาพความเป็นพรรคการเมืองอยู่เลย จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคทั้งสองด้วย
- ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ใช้บังคับกับเหตุยุบพรรคตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 (1) (2) และ (3) เพราะความในมาตรา 66 (1) (2) และ (3) มีความหมายชัดเจนว่าเป็นบทบัญญัติที่ห้ามกระทำการอยู่ในตัว เมื่อพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวก็อาจถูกยุบพรรคการเมืองได้ จึงมีผลเท่ากับเป็นข้อต้องห้ามมิให้พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวนั่นเอง
- ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ที่ให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เพื่อมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่า บุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะแก่สภาพสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้ ประกาศ คปค. จึงมีผลบังคับย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้
- การที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะเกิดเหตุลาออกจากตำแหน่งก่อนวันมีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ลบล้างผลของการกระทำที่พรรคการเมืองได้กระทำในขณะที่กรรมการบริหารพรรคผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดผลที่ไม่ควรจะเป็น และการบังคับเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ย่อมตกเป็นอันไร้ผล คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวได้
คณะตุลาการจึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน พรรคพัฒนาชาติไทย 19 คน และพรรคแผ่นดินไทย 3 คน มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
เหตุการณ์หลังการวินิจฉัยคดี
[แก้]หลังทราบคำพิพากษาแล้วในส่วนของพรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรค ที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะน้อมรับมติศาล ได้เดินทางกลับไปที่พรรคและประกาศพร้อมกับสมาชิกพรรคและกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนพรรคว่า ไม่ขอรับคำตัดสิน เพราะเป็นคำตัดสินจากปากกระบอกปืน [15]
นายปัญญา ถนอมรอด ประธานคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า คณะตุลาการมีมติไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยมติ 9 ต่อ 0 มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย ด้วยมติ 9 ต่อ 0 และมีมติให้ตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ด้วยมติ 6 ต่อ 3 โดย 3 เสียงข้างน้อยมาจากตุลาการจากศาลฎีกา ซึ่งมีความเห็นว่า แม้จะมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค แต่ไม่เห็นด้วยที่จะนำประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 มาย้อนหลังใช้บังคับเพื่อกำหนดโทษ ในขณะที่ 6 เสียงข้างมาก เห็นว่าเมื่อมีความผิดถึงขั้นยุบพรรค ก็ควรกำหนดโทษกับผู้บริหารพรรคที่ทำผิด ในฐานะเป็นตัวแทนพรรค [16][17]
ก่อนหน้าการวินิจฉัยคดีในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันประเด็นหนึ่ง คือ พรรคที่ถูกยุบจะไปจดทะเบียนใหม่ในชื่อเดิมหรือคล้ายชื่อเดิมได้หรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์และไทยรักไทยมีความเห็นว่าทำได้ แต่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ออกมายืนยันทั้งก่อนหน้าและภายหลังการวินิจฉัยคดีว่าทำไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาในการชำระบัญชีต่าง ๆ ให้เสร็จภายใน 6 เดือน ตามมาตรา 68 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และยังมีประกาศ คปค. ฉบับที่ 15 และ 27 เกี่ยวกับการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ [18]
ข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ
[แก้]หลังจากที่ตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตัดสินคดีแล้ว ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินและคำวินิจฉัยคดีอย่างกว้างขวาง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 คนได้ศึกษาคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และเสนอบทวิเคราะห์เพื่อแสดงความเห็นทางกฎหมายต่อคำวินิจฉัย [19] ประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์กันมาก เช่น:
- การตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี อาจจะผิดหลักการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายต่อบุคคล นอกจากนี้ คำประกาศของคปค. ฉบับที่ 27 (ที่กำหนดโทษตัดสิทธิ์) ยังละเมิด มาตรา 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอีกด้วย [20]
- ความชอบธรรมขององค์กร ทั้งในเรื่องของการจัดตั้ง (มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร) และความเป็นอิสระและเป็นกลางของคณะตุลาการ [20]
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า "คำตัดสินยุบพรรคคือการรัฐประหารซ้ำ เพื่อตอกย้ำให้ผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน ทวีความมั่นคงขึ้น" [21]
กรณีสินบนคดียุบพรรค
[แก้]เดือนมิถุนายน 2550 เกิดกรณีการร้องเรียนว่ามีข้าราชการพยายามติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญในการตัดสินคดียุบพรรค [22] โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่ามีข้าราชการศาลยุติธรรมกับอดีตตำรวจยศพันตำรวจเอก นิติศาสตร์ รุ่น 09 พยายามเสนอสินบนให้ตุลาการรัฐธรรมนูญ
วันที่ 18 มิถุนายน 2550 นายจรัญได้ส่งเอกสารหลักฐานเป็นกระดาษ 2 แผ่นให้สำนักประธานศาลฎีกา เอกสารแผ่นหนึ่งระบุลายมือชื่อ หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในตุลาการรัฐธรรมนูญ ทำบันทึกถึงประธานศาลฎีกาในฐานะประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 1 พ.ย. 2549 แจ้งว่ามีนิติศาสตร์ รุ่น 09 (เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า คือ พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อดีต ผกก.สภ.ต.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม) อ้างภรรยาเป็นหนี้บุญคุณกับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาของทักษิณ อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มาพูดทำนองวิ่งเต้นเกี่ยวกับคดี แต่ตนได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้เรียกนายจรัญเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 จากนั้นวันที่ 6 สิงหาคม 2550 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงมีความเห็นว่าข้อร้องเรียนกรณีดังกล่าวมีมูล และเสนอประธานศาลฎีกาให้มีคำสั่งเพิ่มเติม โดยวันที่ 7 สิงหาคม ประธานศาลฎีกามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้น [23] มีนายวีระศักดิ์ รุ่งรัตน์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นประธาน นายชวลิต ตุลยสิงห์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายกีรติ กาญจนรินทร์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ ร่วมเป็นกรรมการ กำหนดเวลาสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน หากเสร็จไม่ทันสามารถยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ขอขยายเวลาสอบสวนได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วันตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) โดยวันที่ 10 สิงหาคม พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีสินบนยุบพรรคการเมือง ได้นำสำนวนคดีไปมอบให้ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. หรือไม่
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 พลิกประวัติ-ผลงาน ‘9 ตุลาการรัฐธรรมนูญ’ ผู้ตัดสินคดีประวัติศาสตร์ เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 29 พฤษภาคม 2550
- ↑ คำแถลงการณ์ปิดคดีของพรรคไทยรักไทย เก็บถาวร 2007-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ฉบับปรับปรุงถ้อยคำเพื่อเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต)
- ↑ "ย้อนรอยคดียุบ 5 พรรคการเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-05-30.
- ↑ "ประชาธิปัตย์...ผนึกกำลัง พร้อมนำ"ความจริง"สู้"อธรรม"" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-05-30.
- ↑ ไทยรัฐ, ในหลวงทรงแนะคดียุบพรรค ต้องป้องกันไม่ให้ชาติล่มจม, 24 พฤษภาคม 2550
- ↑ กรุงเทพธุรกิจ, ในหลวงทรงกังวลวิกฤติชาติ รับสั่งศาล'ป้องกันบ้านเมืองล่มจม' เก็บถาวร 2007-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 พฤษภาคม 2550
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 ไทยโพสต์, อักขราทร:ล็อบบี้ผมตายไม่มีคำพิพากษาหลุดใช้นิติศาสตร์ตัดสิน/น้อมรับพระราชดำรัสทั่วหน้า เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 26 พฤษภาคม 2550
- ↑ ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2007-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 24 พฤษภาคม 2550
- ↑ ปชป.รอด! หลุดทุกข้อหา-สั่งยุบ ปชต.ก้าวหน้าถอนสิทธิ 5 ปี เก็บถาวร 2007-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2550
- ↑ ปชป.ฉลุย-รอดคดียุบพรรค ประชาธิปไตยก้าวหน้าโดนหนัก เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2550
- ↑ ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 2 เก็บถาวร 2007-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ทรท.ตายยกเข่ง! สั่งยุบพรรค-ตัดสิทธิ กก.บห.5 ปี 111 คน เก็บถาวร 2007-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2550
- ↑ สั่งยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์ กก.บริหารพรรค 111 คน เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 พฤษภาคม 2550
- ↑ ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, สรุปคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คดีกลุ่มที่ 1 เก็บถาวร 2007-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ “อ๋อย” โวย! ตัดสินไม่เป็นธรรม-ปลุกระดม ปชช.ต่อต้าน คมช.! เก็บถาวร 2007-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 31 พฤษภาคม 2550
- ↑ ไทยรักไทยถูกยุบ-ปชป.รอด อีก3พรรคเล็กโดนเชือดด้วย 31 พฤษภาคม 2550
- ↑ เผยมติตุลาการฯ ยุบไทยรักไทยเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เก็บถาวร 2007-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 31 พฤษภาคม 2550
- ↑ ไทยโพสต์, คมช.ฮึ่ม'ไม่มีเลือกตั้ง'ถ้ายุบพรรคแล้ววุ่นวาย เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 23 พฤษภาคม 2550
- ↑ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และคณะ, บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกรณีการยุบพรรคการเมือง, ประชาไท, เรียกดูเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ↑ 20.0 20.1 ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, ความยอมรับของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ, ประชาไท, เรียกดูเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ↑ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, การยุบพรรคคือการรัฐประหารเงียบที่ทำลาย ปชต.รัฐสภายิ่งกว่ารัฐประหาร 19 ก.ย., ประชาไท, 4 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ↑ กรุงเทพธุรกิจ, ผลสอบ”สินบนยุบพรรค”มีมูลเสนอปธ.ศาลฎีกามีคำสั่งเพิ่มเติมพรุ่งนี้ เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 6 สิงหาคม 2550
- ↑ มติชน, ตร.ยื่นป.ป.ช.สอบ"บิ๊กศาล" ติดสินบน"ยุบพรรค"[ลิงก์เสีย], 11 สิงหาคม 2550
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ผู้จัดการออนไลน์, รวมข่าวคดียุบพรรคทั้งหมด เก็บถาวร 2007-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ปิยบุตร แสงกนกกุล, ชำแหละคำวินิจฉัยคดียุบพรรค, ประชาไท, 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550 - บทความวิชาการวิจารณ์คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 (คดียุบพรรค)
- ผู้จัดการรายวัน, ประธานศาลฎีกาชี้ ประกาศคปค.ย้อนหลัง ทำ 111 ทรท.เหลือสิทธิต่ำกว่าประชาชน, เรียกดูจาก เว็บไซต์ประชาไท เมื่อ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550
- ชำนาญ จันทร์เรือง, ข้อค้างคาใจในคำวินิจฉัยคดียุบพรรค, เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ, เรียกดูจากเว็บไซต์ประชาไท เมื่อ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2550