คดีฆ่าคนที่เกาะเต่า

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คดีฆ่าคนที่เกาะเต่า
สถานที่พบศพ
วันที่15 กันยายน 2557
ประเภทการฆ่าคนและข่มขืนกระทำชำเรา
เป้าหมายฮันนาห์ วิตเธอริดจ์ และเดวิด มิลเลอร์
ผลผลกระทบระยะสั้นต่อการท่องเที่ยวของเกาะเต่า
เสียชีวิต2 คน
จับ2 คน
คดีความดูด้านล่าง
คดีระหว่างพนักงานอัยการ กับซอ ลิน และเว พิว
สาระแห่งคดี
คำฟ้อง ลักลอบเข้าเมืองโดยไม่ผ่านการอนุญาต, พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต, เจตนาฆ่าคนตาย, โทรมหญิง, ฆ่าคนเพื่อปกปิดความผิดอื่น, ลักทรัพย์
คำขอ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา, พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และให้คืนหรือชดใช้ทรัพย์
คู่ความ
โจทก์ พนักงานอัยการจังหวัดเกาะสมุย
จำเลย

  • ซอ ลิน, ที่ 1
  • เว พิว, ที่ 2
ศาล
ศาล ศาลจังหวัดเกาะสมุย
ผู้พิพากษา

  • มนต์ชัย โพธิ์ทอง
  • นิตยา วัฒนะชีวะกุล
  • พิมพ์ศศิ จันทร์สว่าง
พิพากษา
" ประหารชีวิต "
คดีหมายเลขดำที่ 2040/2557
ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2557
กฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา, พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
เว็บไซต์
คำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีฆ่าคนที่เกาะเต่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2557 เมื่อนักท่องเที่ยวชาวบริติช 2 คน ชื่อ ฮันนาห์ วิตเธอริดจ์ (Hannah Witheridge) และเดวิด มิลเลอร์ (David Miller) ถูกพบเป็นศพบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยพบศพดังกล่าวบนหาดทรายรีระหว่างเวลา 4 ถึง 5 นาฬิกา ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการเสียชีวิต ผู้เสียหายทั้งสองถูกตีหลายครั้งที่ศีรษะ วิตเธอริดจ์ถูกข่มขืนกระทำชำเรา และมิลเลอร์จมน้ำ

การสืบสวนหาตัวผู้ต้องสงสัยและการพิจารณาคดีอาญาในเวลาต่อมาถูกสื่อต่างประเทศ องค์การสิทธิมนุษยชน และผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายวิจารณ์อย่างกว้างขวาง คนงานเข้าเมืองผิดกฎหมายชาวพม่าสองคนถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้ก่อเหตุสองสัปดาห์ต่อมา โดยอาศัยหลักฐานดีเอ็นเอเป็นหลัก ผู้ต้องสงสัยทั้งสองในทีแรกถูกปฏิเสธการเข้าถึงการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และตำรวจใช้การทรมานและการข่มขู่เพื่อรีดเอาคำรับสารภาพ นักพยาธิวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายวิจารณ์ตำรวจว่าจัดการหลักฐานไม่ถูกวิธี ทำให้ที่เกิดเหตุปนเปื้อน และไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนศาลถูกวิจารณ์ว่าเร่งรัดการไต่สวนที่กินเวลาเพียง 18 วัน และไม่เปิดให้จำเลยมีเวลาเตรียมตัวมากพอ ในเดือนธันวาคม 2558 จำเลยทั้งสองถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานฆ่าคนและตัดสินประหารชีวิต ทั้งสองพยายามอุทธรณ์คำพิพากษาแต่ไม่เป็นผล แต่ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาในปี 2563 ลดโทษประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต

แม้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเกาะเต่าลดลงในช่วงหลังเกิดเหตุ แต่สุดท้ายก็มีผลต่อการท่องเที่ยวบนเกาะเต่าในระยะยาวไม่มากนัก

เบื้องหลัง[แก้]

เกาะเต่าตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะนักท่องเที่ยวยอดนิยมขนาดเล็กที่สุดในบรรดาสามเกาะในอ่าวไทย[1] เกาะมีประชากรท้องถิ่น 2,000 คน มีคนงานเข้าเมืองชาวพม่าอีก 5,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 2,000 คนเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย[2] เกาะเต่าได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวแบบสะพายกระเป๋า และขึ้นชื่อเรื่องสิ่งมีชีวิตทะเลและการดำน้ำสกูบา มีโรงแรมและรีสอร์ตบนเกาะกว่า 100 แห่ง และถือว่าเป็นศูนย์กลางการดำน้ำใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2557[2] มีนักท่องเที่ยวประมาณ 500,000 คนต่อปี เหตุฆ่าคนดังกล่าวเป็นคดีฆ่าคนตายบนเกาะครั้งแรกในรอบแปดปี[3]

ผู้เกี่ยวข้อง[แก้]

ฮันนาห์ วิตเธอริดจ์ อายุ 23 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเอสเซ็กซ์จากเฮมส์บี ประเทศอังกฤษ และเดวิด มิลเลอร์ อายุ 24 ปี เป็นบัณฑิตวิศวกรรมโยธาและโครงสร้างจากเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นเขตสังกัดของบริเตน[1][4] ทั้งสองเดินทางถึงเกาะในวันที่ 25 สิงหาคม 2557[5] ทั้งสองพบกับที่เกาะเต่าโดยพักที่โรงแรมเดียวกัน[6]

เหตุฆ่าคน[แก้]

มิลเลอร์และวิตเธอริดจ์ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายที่บาร์กับเพื่อนในคืนเกิดเหตุกับบุคคลอื่นอีกประมาณ 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างด้าว ก่อนออกไปด้วยกันหลังเวลา 01.00 น.[3][5][7] ศพทั้งสองถูกพบที่หาดทรายรีอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ระหว่างเวลา 4 ถึง 5 นาฬิกา โดยคนทำความสะอาดชายหาดชาวพม่า[1][8][9] ทั้งสองศพอยู่ห่างกัน 20 เมตร และอยู่ห่างจากโรงแรมที่พักอยู่ประมาณ 30 เมตร พบจอบเปื้อนเลือดซึ่งเชื่อว่าเป็นอาวุธสังหาร และตะบองไม้ใกล้กับศพ ร่วมกับเสื้อผ้าของผู้เสียหาย[10][3][7] หลังเกิดเหตุ ผู้อยู่อาศัยบนเกาะกั้นท่าเรือเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่อาจก่อเหตุเดินทางออกจากเกาะ[5]

ผลการชันสูตรพลิกศพเผยว่าทั้งสองถูกตีด้วยวัตถุแข็ง มิลเลอร์มีแผลที่ศีรษะ รอยข่วนบนหลัง และน้ำในปอดซึ่งบ่งชี้ว่าจมน้ำ[1][3] ส่วนวิตเธอริดจ์ถูกข่มขืนกระทำชำเราและตีหลายครั้งที่ศีรษะและใบหน้า ทั้งสองศพอยู่ในสภาพกึ่งเปลือย[11]

การสอบสวน[แก้]

ทางการเกรงว่าเหตุดังกล่าวจะกระทบต่อการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ จึงได้เร่งรัดการสืบสวนคดี ตำรวจถูกกดดันให้เร่งมือ ซึ่งสุดท้ายมีผลกระทบต่อวิธีการสืบสวน[12][2] ทีแรกตำรวจตั้งข้อสังเกตว่าผู้ใดที่อาจเป็นผู้กระทำความผิด โดยกล่าวหาหลายคนโดยไม่มีหลักฐานประจักษ์[13] พวกเขามุ่งสนใจบุคคลต่างด้าว โดยโฆษกตำรวจอ้างว่า คนไทยจะไม่ทำแบบนี้[8] ตำรวจสงสัยบุคคลอย่างน้อยสองคนว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยอาศัยชุดดีเอ็นเอสองชุดที่พบบนศพของวิตเธอริดจ์ พวกเขาทดสอบดีเอ็นเอบุคคลกว่า 200 คนบนเกาะ ซึ่งจำนวนมากเป็นคนงานเข้าเมือง[3][14] คนงานเข้าเมืองที่ถูกสอบสวนหลายคนร้องทุกข์ว่าตำรวจสาดน้ำร้อนใส่ระหว่างการสอบสวน ซึ่งตำรวจปฏิเสธ หลังในทีแรกไม่พบดีเอ็นเอตรงกับคนงานเข้าเมืองคนใด จึงหันความสนใจไปยังนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่สัมพันธ์กับผู้เสียหาย[2] โดยเน้นนักท่องเที่ยวชาวบริติชที่อยู่ร่วมห้องกับมิลเลอร์เป็นผู้ต้องสงสัย พร้อมคาดว่าเป็น "อาชญากรรมความหึงหวง" เขาถูกตามตัวทั้งประเทศก่อนตำรวจรีบปล่อยเบาะแส[10][5] ท่ามกลางแรงกดดันให้รีบจับคนร้ายโดยเร็ว เมื่อไม่พบผู้ก่อเหตุหลังเวลาล่วงไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ ตำรวจก็ออกชื่อผู้ต้องสงสัยอื่นอีกหลายคนไม่เว้นวัน[2]

สองสัปดาห์หลังพบศพ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ตำรวจจับกุมชายสองคนที่รับสารภาพในอีกสองวันต่อมา Zaw Lin และ Wai Phyo[15] คนงานเข้าเมืองผิดกฎหมายชาวพม่าวัย 22 ปีจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ซึ่งทำงานในอุตสาหกรรมการโรงแรม ทั้งสองไม่มีประวัติอาชญากรรมมาก่อน[1][8][11] ผู้ต้องสงสัยรายที่สามซึ่งเป็นคนงานเข้าเมืองชาวพม่าเช่นเดียวกัน ถูกปล่อยตัวในชั้นสอบสวน[2] ระหว่างการสอบสวนนานหลายชั่วโมง โดยตำรวจใช้คนขายอาหารชาวพม่าเป็นล่าม[14] ผู้ต้องสงสัยให้การว่าพวกตนมีความปรารถนาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายหลังมีอารมณ์ทางเพศเมื่อเห็นผู้ตายทั้งสองคนจูบกันบนหาด[2][16] ตำรวจพบว่าดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัยตรงกับตัวอย่างคราบอสุจิที่ได้จากศพของวิตเธอริดจ์ จากจอบที่ใช้เป็นอาวุธสังหาร และจากก้นบุหรี่ที่พบใกล้ศพ[2][16] ตำรวจยังระบุว่าพบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของมิลเลอร์ในบ้านของ Zaw Lin[17] แม้มีรายงานก่อนหน้านี้ว่าเพื่อนของผู้เสียหายเป็นผู้มอบโทรศัพท์ดังกล่าวให้ตำรวจเอง[2] ตำรวจบังคับให้ผู้ต้องสงสัยทำแผนประกอบคำรับสารภาพต่อหน้าสื่อ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกฎหมายประณามว่าละเมิดสิทธิได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม[8]

Zaw Lin และ Wai Phyo ถอนคำให้การหลังมีทนายความกงสุลจากประเทศพม่า และกล่าวว่าคำให้การของพวกตนเกิดขึ้นภายใต้การถูกขู่เข็ญว่าจะทำร้าย ทั้งกล่าวหาว่าถูกทุบตี ปล่อยให้เปลือยกายอยู่ในห้องที่เยือกแข็ง และขู่ช็อตไฟฟ้าและวิสามัญฆาตกรรม[1][18] พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิเสธเรื่องการทรมานเพื่อให้ได้รับคำสารภาพ[18] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพยายามสอบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ผู้แทนตำรวจไม่มาประชุมในการนัดหมายทั้งสี่ครั้ง[1]

ทีมจำเลยจากกรุงเทพมหานครซึ่งมีทนายความเกือบ 20 คน ได้รับอนุญาตให้พบผู้ต้องสงสัยทั้งสองเพียงครึ่งชั่วโมง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเกาะสมุยปฏิเสธคำร้องขอให้ชะลอการไต่สวนและให้จำเลยมีเวลาเตรียมต่อสู้คดี[19][14] จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้เห็นรายงานตำรวจ 900 หน้าที่ส่งให้แก่อัยการจนการพิจารณาคดีเริ่ม ในทีแรกอัยการปฏิเสธรายงานนี้ โดยขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดบางประการ ให้สารนิเทศเพิ่มเติม และให้รายงานรัดกุมยิ่งขึ้น[17] ในเดือนธันวาคม 2557 ผู้ต้องสงสัยถูกฟ้องคดีอาญาอุกฉกรรจ์ห้าข้อหา ได้แก่ การฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การฆ่าเพื่ออำพรางความผิด การข่มขืนกระทำชำเรา การเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการพำนักอยู่ในประเทศโดยไม่มีใบอนุญาต[2] Wai Phyo ยังถูกตั้งข้อหาลักโทรศัพท์ของมิลเลอร์[20]

การพิจารณาคดีและการพิพากษาลงโทษ[แก้]

การพิจารณาคดี 18 วันเริ่มขึ้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ในศาลจังหวัดเกาะสมุย[1][2] ผู้ต้องสงสัยได้รับความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีจากทนายความสองคนจากสภาทนายความแห่งประเทศไทย ด้วยความช่วยเหลือจากเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ[2][11] กับทั้งมีผู้สังเกตการณ์จากผู้แทนองค์การนิรโทษกรรมสากลและกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้สาธารณะจดบันทึก[2]

ฝ่ายจำเลยแย้งว่าการสอบสวนมีข้อบกพร่องเนื่องจากการจัดการหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์อย่างไม่ถูกต้อง การขาดการมีผู้แทนทางกฎหมายระหว่างการสอบสวน และการข่มขู่พยาน[2][21] จำเลยอ้างว่าผู้ต้องสงสัยถูกใช้เป็นแพะรับบาปเพราะเป็นคนงานเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง วันที่ 10 กรกฎาคม ศาลสั่งให้ทดสอบดีเอ็นเอซ้ำ[1] ด้านตำรวจเผยว่าตัวอย่างจากศพของวิตเธอริดจ์ถูกใช้หมดแล้ว[22] แต่ยังหาตัวอย่างดีเอ็นเอจากอาวุธสังหารได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศพบว่าดีเอ็นเอบนจอบไม่ตรงกับผู้ต้องสงสัย[2] ด้านทนายจำเลยหาสาธารณชนที่เต็มใจมาให้การในการพิจารณาคดีได้ยาก เพราะหลายคนกลัวได้รับผลกระทบ[1][2]

มีรายงานว่ากล้องวงจรปิดหลายตัวใกล้กับที่เกิดเหตุใช้การไม่ได้ และตำรวจไม่ตรวจสอบกล้องใกล้กับท่าเรือ การวิเคราะห์ดีเอ็นเอในคดีซึ่งไม่ถูกตรวจสอบหรือพิสูจน์ยืนยันอย่างเป็นอิสระจากตำรวจมีการส่งให้แก่ศาลเป็นความย่อยาว 1 หน้า และมีหน้าสนับสนุนอีก 4 หน้า ซึ่งบางส่วนเขียนด้วยมือและมีรอยแก้ไข[13][23] Jan Taupin นักนิติวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียที่ทนายความจำเลยใช้เป็นพยาน อ้างว่าลำดับเวลาการพิสูจน์ดีเอ็นเอมีความเคลือบคลุม กล่าวคือ การวิเคราะห์ตัวอย่างดีเอ็นเออย่างรวดเร็วในเวลาต่ำกว่า 12 ชั่วโมงนั้นเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะ "การดึงดีเอ็นเอจากตัวอย่างผสมนั้นยากและกินเวลา" สุดท้าย Taupin ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นให้การ และทนายความจำเลยไม่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาจนแถลงการณ์ปิด[13] รายงานสื่อตั้งข้อสังเกตว่าอาจเนื่องจากทนายความจำเลยเกรงว่าการเรียกผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศอาจดูเหมือนเป็นการบ่อนทำลายระบบยุติธรรมของไทย และอาจทำให้ผู้พิพากษามีอคติจนมีผลเสียต่อการต่อสู้คดี[24]

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 Zaw Lin และ Wai Phyo ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าคนโดยผู้พิพากษาสามคน และถูกตัดสินประหารชีวิต[11][25] คำพิพากษาลงโทษมาจากหลักฐานดีเอ็นเอเป็นหลัก[2] Wai Phyo ยังถูกพิพากษาลงโทษฐานลักโทรศัพท์และแว่นกันแดดจากศพของมิลเลอร์ ด้านทนายความจำเลยกล่าวว่าจะอุทธรณ์คดีโดยเร็วที่สุด และจะมองหาช่องโหว่เพื่ออุทธรณ์[21] ในเดือนพฤษภาคม 2559 และ 2560 ความพยายามอุทธรณ์คำพิพากษาไม่เป็นผลในศาลเกาะสมุยและศาลสูงตามลำดับ[26] ศาลฎีกาพิพากษายืนโทษในเดือนสิงหาคม 2562 โดยระบุว่าตำรวจจัดการคดีได้อย่างถูกต้องและหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ "ชัดเจน น่าเชื่อถือ และละเอียด"[11][27]

มีการลดโทษประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิตในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 หลังมีพระราชกฤษฎีกาเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[4][15] ด้านครอบครัวของมิลเลอร์ยินดีกับการลดโทษดังกล่าว[28]

ปฏิกิริยา[แก้]

การสอบสวนถูกวิจารณ์จากสื่อต่างประเทศ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย องค์การนิรโทษกรรมสากลแถลงว่าประเทศไทยจะต้องเริ่มการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาการทรมานและการปฏิบัติมิชอบของตำรวจ องค์การฯ ยังต้องข้อกังวลต่อการขาดที่ปรึกษาทางกฎหมายก่อนมีคำรับสารภาพ ตลอดจนความยากลำบากในการแปลภาษาและตีความ[18][29][6] ฮิวแมนไรตส์วอตช์กล่าวว่าคดีนี้ "น่ากังวลใจอย่างยิ่ง" และเรียกร้องให้มีการทบทวนคำพิพากษาในกระบวนการอุทธรณ์ที่โปร่งใสและเป็นธรรม[12] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า พฤติการณ์แวดล้อมการจับกุมคนงานชาวพม่าสองคนน่าเคลือบคลุมสงสัย ทำให้เกิดความประทับใจว่าผู้ต้องสงสัยไม่ทราบสิทธิของพวกตนและยังไม่เกิดความยุติธรรม[30]

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์ระหว่างประเทศกล่าวว่า ฝ่ายจำเลยจะต้องได้รับเวลาและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมเพื่อสำรวจว่าการทำลายหลักฐานตามที่มีการกล่าวหาในคดีนี้เหมาะสมและหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือไม่ และต้องทดสอบคดีโดยรวม หลายคนตั้งข้อกังวลว่าการปนเปื้อนทำให้เกิดความสงสัยต่อหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ ด้วยพบว่ามีข้าราชการ นักหนังสือพิมพ์ และนักท่องเที่ยวเดินเตร่อยู่รอบที่เกิดเหตุ และตำรวจไม่ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกหรือเป็นอิสระเก็บหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์[1][13] พรทิพย์ โรจนสุนันท์ นักนิติวิทยาศาสตร์ ให้การในการพิจารณาคดีว่าการจัดการที่เกิดเหตุนั้นจัดการได้เลว[13] เฟลิซิตี เจร์รี (Felicity Gerry) กล่าวว่าการพิจารณาคดีเร่งรัดเกินไปและไม่ยุติธรรมต่อฝ่ายจำเลย ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าการสอบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์นั้นขาดความสามารถและอาจใส่ความผู้ต้องสงสัย[31]

ความเห็นในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ เขียนว่า "แทบไม่มีใครเชื่อว่า [Zaw Lin และ Wai Phyo] ฆ่านักท่องเที่ยวชาวอังกฤษอย่างโหดร้ายจริง ๆ" โดยเสริมว่า "ในสื่อไทยทุกประเภท มีความเห็นพ้องว่า Win และ Zaw Lin เป็นแพะรับบาป"[32] ความเห็นในหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งระบุว่า "ความกังขาของสาธารณชนอย่างล้นหลาม ... เกิดจากชื่อเสียยาวนานของตำรวจในการจับแพะรับบาปที่ยากจนและไร้อำนาจเพื่อช่วยอาชญากรผู้ร่ำรวยที่สามารถซื้อความบริสุทธิ์ได้"[2] ข่าวลือเริ่มแพร่สะพัดโดยผู้อยู่อาศัยบนเกาะกล่าวว่าเกาะนี้ถูกมาเฟียคุมอยู่ที่ "มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ร้ายที่แท้จริง" และอ้างว่าตำรวจกำลังปกปิดพวกเขา[33][34]

การประท้วงในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนตุลาคม 2557 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรสอบสวนด้วยตนเอง

คำพิพากษาว่ามีความผิดส่งผลให้เกิดอย่างกว้างขวางในประเทศพม่า[2] ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยทั้งสองซึ่งพวกเขาเชื่อว่าบริสุทธิ์และเป็นแพะรับบาป[35][36] การประท้วงนี้ทำให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โกรธโดยเชื่อว่าการประท้วงดังกล่าวเป็นอุบาย "ปลุกปั่น" เพื่อให้ร้ายรัฐบาล เขาประกาศว่าจะ "สั่งการหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหมด ... ติดตามผู้อยู่เบื้องหลังการเดินขบวนในประเทศพม่า"[36][37]

ประยุทธ์ยังกล่าวว่า "ปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมีอยู่เสมอ พวกเขาคิดว่าประเทศของเราสวยงามและปลอดภัย ก็เลยทำอะไรที่อยากทำ พวกเขาใส่บิกินี่และเดินไปไหนก็ได้ พวกเขาคิดว่าใส่บิกินี่แล้วปลอดภัยเหรอ...เว้นแต่ว่าไม่สวย" ต่อมาเขากล่าวขอโทษหลังเผชิญกับปฏิกิริยาทางลบของสาธารณะ[38][39] รัฐบาลสหราชอาณาจักรแสดงความกังวลต่อการสืบสวน และเรียกตัวทูตไทยในกรุงลอนดอนเข้าพบเพื่อหารือ[14][40] แม้ในทีแรกไม่ได้รับอนุญาตให้ช่วยสืบสวน แต่สุดท้ายผู้สังเกตการณ์ของตำรวจบริติชได้รับอนุญาตให้ช่วยเหลือ[2] แต่ได้ใช้เวลาบนเกาะเต่าเพียงสองชั่วโมงและไม่ได้พบกับผู้ต้องสงสัยและทนายความจำเลย ข้อค้นพบของผู้แทนฯ ไม่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ[2][8] ประยุทธ์กล่าวว่าผู้แทนรัฐบาลบริติชและพม่าถูก "จำกัดให้สังเกตการณ์" และต้อง "เคารพกระบวนการของเรา"[19]

เหตุฆ่าคนดังกล่าวร่วมกับการเสียชีวิตและการหายสาบสูญของนักท่องเที่ยวกรณีอื่น ๆ ทำให้แทบลอยด์บริติชขนานนามเกาะเต่าว่าเป็น "เกาะมรณะ"[39] การศึกษาในปี 2559 เขียนว่าคดีดังกล่าวเป็นการทดสอบลิตมัสของระบบยุติธรรมไทย "ทำร้ายภาพลักษณ์ของไทยและอำนาจด้านกฎหมายและความสงบเรียบร้อยในระดับโลกของประเทศอย่างร้ายแรง"[2]

ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว[แก้]

รัฐบาลไทยกังวลว่าเหตุฆ่าคนดังกล่าวอาจมีผลต่อการท่องเที่ยวในประเทศ มีข่าวว่านายกรัฐมนตรีโทรศัพท์ไปสอบถามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อสอบถามเรื่องการสืบสวนเป็นรายวัน[2] ในระหว่างการสืบสวน กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางไปเกาะเต่าในวันที่ 28 กันยายนเพื่อพยายามสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว[41] เธอยังเสนอให้มีสายรัดข้อมือพิสูจน์รูปพรรณแก่นักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มความปลอดภัย แต่ต่อมายกเลิกความคิดนี้ไปอย่างรวดเร็ว[2] นายกเทศมนตรีตำบลเกาะเต่าประกาศการตั้งสถานีตำรวจแห่งใหม่ที่มีตำรวจประจำอยู่เต็มเวลา 40 นาย เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 5 นาย มีการกำหนดให้คนงานเข้าเมืองชาวพม่าขึ้นทะเบียนกับตำรวจเพื่อลดคนงานผิดกฎหมายและป้องกันการให้สินบน[1][42]

แม้ว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเกาะเต่าจะลดลงในช่วงหลายเดือนหลังเกิดเหตุฆ่าคน แต่ก็มีผลกระทบระยะยาวต่อการท่องเที่ยวบนเกาะเพียงเล็กน้อย[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 Campbell, Charlie (16 July 2015). "This Septic Isle: Backpackers, Bloodshed and the Secretive World of Koh Tao". Time. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 2.23 2.24 Cohen, Erik (2016-09-01). "Contesting narratives: the Koh Tao tourists murders". Asian Anthropology. 15 (3): 207–224. doi:10.1080/1683478X.2016.1204021. ISSN 1683-478X.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Olarn, Kocha (18 September 2014). "Police: Still no suspect in killings of Britons on idyllic Thai island". CNN.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 "Thai king commutes death sentence of UK pair's killers". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-08-16. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Halliday, Josh (16 September 2014). "British tourists murdered in Thailand". The Guardian.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 "Thailand murders: Amnesty International call for police torture probe". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-12-24. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  7. 7.0 7.1 Henderson, Barney (15 September 2014). "Two British tourists found dead on Thai island of Koh Tao". The Telegraph.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 "Suspects in Thai Tourist Murders Face Dubious Trial". Time. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  9. James, Bob (15 September 2014). "Manhunt underway after brutal murder of 2 British tourists on Koh Tao". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-03-05.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. 10.0 10.1 Campbell, Charlie (23 September 2014). "What the Murder of Two British Tourists Tells Us About Thailand's Dark Side". Time. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 Regan, Helen; Puranasamriddhi, Angie (29 August 2019). "Thailand's Supreme Court upholds death penalty for men convicted of murdering British backpackers". CNN.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. 12.0 12.1 Walker, Oliver Holmes Peter (2015-12-24). "Thailand backpacker murders: Burmese workers sentenced to death". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-01-29.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 Head, Jonathan (24 December 2015). "Thailand beach murders: A flawed and muddled investigation". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 Fuller, Thomas (2014-10-14). "Hearings Open Into Killings of Two British Tourists on Thai Island (Published 2014)". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  15. 15.0 15.1 "Thai king commutes death sentence for Myanmar men in British tourist murder case". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2020-08-14. สืบค้นเมื่อ 2021-02-01.
  16. 16.0 16.1 Olarn, Kocha; Armstrong, Paul (3 October 2014). "Burmese men confess to killing British tourists on Koh Tao, Thai police say". CNN.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. 17.0 17.1 Campbell, Charlie (10 October 2014). "The Investigation Into Thailand's Backpacker Slayings Is Officially a Farce". Time. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. 18.0 18.1 18.2 McKirdy, Euan (9 October 2014). "Migrants accused of murder of British couple in Thailand recant confessions". CNN.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. 19.0 19.1 "Thai Dictator Faces Ire Over Murder Probe". Time. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  20. "Koh Tao murder suspects plead not guilty". Bangkok Post. 9 December 2014. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. 21.0 21.1 Paul, Armstrong (24 December 2015). "Burmese pair to be executed for murder of British tourists on Koh Tao, Thailand". CNN.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. Fuller, Thomas (2015-12-24). "2 Sentenced to Death in Killing of British Tourists in Thailand (Published 2015)". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  23. Burney, Ian; Hamlin, Christopher (2019). Global Forensic Cultures. Johns Hopkins University Press. p. 247.
  24. Burney, Ian; Hamlin, Christopher (2019). Global Forensic Cultures. John Hopkins University Press. p. 248.
  25. "Thailand murders: Two men found guilty and face death for UK killings". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-12-24. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  26. "Thai beach murders: Convicted men lose death sentence appeal". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2017-03-01. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  27. "Thai beach murders: Death sentence upheld by Supreme Court". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-08-29. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  28. "Backpacker's family 'grateful' for Thai king's clemency". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-08-16. สืบค้นเมื่อ 2021-02-01.
  29. "Myanmar suspects 'recant confessions'". Bangkok Post. 9 October 2014. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  30. Ashayagachat, Achara (8 October 2014). "Koh Tao pair claim they were tortured before confessing". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  31. Mortimer, Caroline (26 April 2016). "Thai beach murders: DNA investigation into death of British backpackers Hannah Witheridge and David Miller 'incompetent at best'". The Independent.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  32. Dawson, Alan (12 October 2014). "The big issue: The unsolved murders". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  33. Phillips, Tom (26 December 2014). "Koh Tao murders: suspects in killing of David Miller and Hannah Witheridge say they were framed". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  34. Walker, Peter (2014-11-23). "Koh Tao's dark side: dangers of island where Britons were murdered". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-03-06.
  35. "Thai officials on alert as Myanmar protests spread". Bangkok Post. 26 December 2015. สืบค้นเมื่อ 2021-03-07.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  36. 36.0 36.1 "Prayut lashes out at Myanmar Koh Tao protestors". Bangkok Post. 28 December 2015. สืบค้นเมื่อ 2021-03-07.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  37. "Prawit suspects Koh Tao plot". Bangkok Post. 29 December 2015. สืบค้นเมื่อ 2021-03-07.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  38. "Koh Tao 'an island in shock'". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.
  39. 39.0 39.1 Paddock, Richard C.; Suhartono, Muktita (2018-11-03). "Thai Paradise Gains Reputation as 'Death Island'". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  40. Halliday, Josh (13 October 2014). "Foreign Office calls in Thai diplomat over murder inquiry concerns". The Guardian.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  41. Chaolan, Surapong (29 September 2014). "3 sought for Koh Tao murders". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-03-05.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  42. "Island killings prompt stiffer worker rules". Bangkok Post. 23 September 2014. สืบค้นเมื่อ 2021-01-28.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)