ข้าวลืมผัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ข้าวลืมผัว เป็นข้าวเหนียวดำพื้นเมือง ลักษณะต้นสีเขียว คอรวงสีเขียว ต้นเตี้ย ระยะน้ำนมมีเม็ดมีสีม่วงแดง สาแหรกสีเขียว มีกลิ่นหอมตั้งแต่แตกกอจนถึงออกรวง ที่จัดว่าอายุเบา ไวต่อช่วงแสง (ปลูกในฤดูนาปี)

ประวัติ[แก้]

ข้าวลืมผัว ปลูกโดยกลุ่มชาติพันธุ์ม้งหรือพี่น้องม้ง ที่บ้านรวมไทยพัฒนาที่ 3 ตำบลรวมไทย พัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก โดยจะปลูกในสภาพไร่พื้นที่สูง (สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 650 เมตร) อยู่ในกลุ่มพันธุ์ข้าวเหนียวดำที่พี่น้องม้งเรียกรวมๆกันว่า "เบล้ฉัง" และปลูกเพื่อใช้ทำขนมพิเศษในโอกาสปีใหม่ โดยจะนำข้าวไปนึ่ง แล้วตำให้เหนียว ห่อด้วยใบตอง ย่างไฟจนหอม รับประทานกับน้ำอ้อย นมข้นหวาน หรือน้ำตาล เรียกว่า "จั๋ว" ในภาษาไทยจะเรียกว่า "พิซซ่าม้ง"

ในปี 2533 นายพนัส สุวรรณธาดา ตำแหน่งในขณะนั้น คือ เจ้าพนักงานการเกษตร 5 ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ได้นำมาคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ครั้งแรก ระหว่าปี 2534-2538 และทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ในปี 2539 เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้ไปให้พี่น้องม้งเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป แต่ด้วยวิธีการปลูกแบบชาวเขาที่มักปลูกข้าวหลายพันธุ์ใกล้กันหรือปลูกด้วยกัน ทำให้ข้าวเหนียวลืมผัวมีเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์อื่นปน และไม่เป็นพันธุ์บริสุทธิ์ เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ ในปี 2550 ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก และศูนย์วิจัยข้าวแพร่ จึงได้เริ่มทำการคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์อีกครั้ง และในวันที่ 9 มีนาคม 2555 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ข้าว มีมติรับรองพันธุ์ข้าวเหนียวลืมผัว

ที่มาของชื่อ[แก้]

ในระหว่างการคัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ครั้งแรก พี่น้องม้งที่เป็นคนงานให้นักวิจัยได้เล่าถึงความอร่อยของพันธุ์ข้าวนี้ว่า "อร่อยมากจนภรรยารับประทานเองหมด จนลืมแบ่งไว้ให้สามี" นักวิจัย จึงพูดเล่นๆว่า "อย่างนี้ก็เป็นข้าวลืมผัวน่ะสิ" ไม่ได้หมายถึงรับประทานแล้วจะลืมผัวเหมือนที่เข้าใจกัน[ต้องการอ้างอิง]

การปลูก[แก้]

  • ปลูกในช่วงที่เริ่มฝนของพื้นที่ ตามปกติในภาคเหนือมีสภาพที่เหมาะสมจะอยู่ ในช่วงกลาง-ปลายเดือนพฤษภาคม
  • พื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 400-800 เมตร ควรเป็นที่โล่ง และมีลมพัดผ่าน
  • อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างฤดูปลูก ไม่เกิน 25 ํซ
  • ดินร่วนซุย หรือดินร่วนเหนียว

หากปลูกในสภาพเช่นนี้จะได้เมล็ดที่อ้วน สีม่วงดำ คุณค่าทางโภชนาการสูง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 343-455 กก./ไร่

มีผลผลิตต่ำ และอ่อนแอต่อโรค เช่น โรคไหม้ กิ่งบนใน ข้อต่อใบ และคอรวง โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง โรคเมล็ดด่าง โรคดอกกระถิน และแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนห่อใบข้าว หนอนกอ แมลงบั่ว ศัตรูพวกหนูตัวเล็กๆ และนก

ลักษณะเด่น[แก้]

ข้าวลืมผัว มีลักษณะเด่น คือ เมื่อหุงสุก จะมีกลิ่นหอม ลักษณะสัมผัสเมื่อแรกเคี้ยวจะกรุบหนึบ ภายในนุ่มเหนียว และหอมกรุ่นในปาก

คุณค่าทางโภชนาการ[แก้]

ข้าวลืมผัว มีสารอาหาร เช่น

  • กรดแอสดอร์บิก
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ โอเมกา 3 ,โอเมกา 6, โอเมกา 9
  • วิตามินอี และบี
  • แกมมา-โอไรซานอล
  • แอนโทไซยานิน
  • ธาตุเหล็ก
  • แคลเซียม
  • สังกะสี
  • แมงกานีส

การพัฒนา[แก้]

จากผลงานการวิจัยโดย ดร.อัจฉราพร ณ ลำปาง เนินพลับ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว พบว่า ข้าวเหนียวดำลืมผัวมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวเหนียว ที่บริโภคทั่วไปมาก และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวเจ้าสีพันธุ์ทั่วไป ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระรวมต่างๆ จึงมีแนวโน้มที่ดีในการนำสารสกัดจากข้าวเหนียวพันธุ์ลืมผัวมาพัฒนาเป็นยาต้านโรคอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต

อ้างอิง[แก้]

  • กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,2555,ข้าวลืมผัว...มรดกของแผ่นดิน,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  • กองวิจัยและพัฒนาข้าว (กวข.),2555,พันธุ์ข้าวรับรองปี 2555 (2 พันธุ์),[online],Available : http://www.brrd.in.th/main/index.php?option=com_content&view=article&id=669:brrd-255501&catid=70:certification&Itemid=65 [วันที่สืบค้น 24 พฤษภาคม 2558].
  • แนวหน้า,2558,ต่อยอด 'ข้าวเหนียวลืมผัว' พัฒนายาต้านโรคอัลไซเมอร์,[online],Available :http://www.naewna.com/local/144999[วันที่สืบค้น 24 พฤษภาคม 2558].